- หนังสือ ใจดีกับตัวเองบ้างก็ได้ เขียนโดย หมอจริง จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ที่ทำงานในสหรัฐอเมริกา (สำนักพิมพ์ DOT) คุณหมอตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อเป็นกำลังใจให้คนที่ใจร้ายกับตัวเองได้ก้าวออกจากวังวนของการต่อว่าและโทษตัวเอง ผ่านเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงผสมผสานกับงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ
ผมไม่เห็นด้วยกับมายาคติที่ว่า ‘พ่อแม่คือพระอรหันต์ของลูก’
สาเหตุที่ผมไม่เห็นด้วย ไม่ใช่เพราะผมเกลียดหรือไม่เคารพพ่อแม่ แต่เป็นเพราะคำๆ นี้ เปรียบเหมือนกับ ‘มีด’ ที่สังคมหยิบยื่นให้กับคนเป็นพ่อเป็นแม่
แม้พ่อแม่ส่วนมากจะใช้มีดเพื่อประกอบอาหารให้ลูกบ้าง ปกป้องลูกบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่ลูกทุกคนจะโชคดีแบบนั้น เพราะพ่อแม่บางคนก็ใช้มีดในทางที่ผิดและมักกวัดแกว่งมีดตามจังหวะอารมณ์จนเผลอสร้างรอยแผลแก่ลูกโดยไม่รู้ตัว
เมื่อสังคมติดกระดุมเม็ดแรกผิดด้วยการกำหนดสถานะอันสูงส่งเกินไปให้กับพ่อแม่ โดยลืมคิดไปว่าพ่อแม่เองก็เป็นปุถุชนมีรักโลภโกรธหลงและไม่ใช่ว่าทุกคนที่เปลี่ยนสถานะมาเป็นพ่อแม่แล้วจะใจเย็น มีเมตตา และเข้าอกเข้าใจลูกได้ทุกคน
ขณะเดียวกันพอสังคมสร้างพ่อแม่ในอุดมคติขึ้นมา ฝั่งลูกๆ เองก็ย่อมเกิดความคาดหวังว่าพ่อแม่ต้องมีเมตตาแบบพระอรหันต์เช่นกัน
ดังนั้น หากใครมีพ่อแม่ที่ประพฤติตนดั่งพระอรหันต์ของลูก ผมขอแสดงความยินดีจากใจจริง แต่ถ้าพ่อแม่ของคุณมักใช้อารมณ์นำเหตุผล ผมในฐานะลูกผู้มีวัยเด็กที่ไม่น่าประทับใจนักอยากแชร์ข้อคิดดีๆ ที่ได้รับจากหนังสือ ‘ใจดีกับตัวเองบ้างก็ได้’ ของหมอจริง จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่ The Queen’s Medical Center รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้จะไม่ได้ช่วยให้ผมหายทุกข์จากบาดแผลในวัยเด็กได้ทั้งหมด แต่มันก็ช่วยให้ผมเข้าใจพ่อกับแม่ของผมมากขึ้นในฐานะพ่อแม่ที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง
ในบางบทหมอจริงเขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่ บทที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษมีชื่อว่า ‘เมื่อเป็นผู้ใหญ่ เราเริ่มเรียนรู้ที่จะปล่อยความคาดหวังต่อพ่อแม่ไป’
หมอจริงชวนให้เราเปิดใจเผชิญหน้ากับความรู้สึก รวมถึงชวนให้ลองปิดสวิตช์ความเป็นตัวเองชั่วคราว เพื่อมองพ่อแม่ในมุมที่พ่อแม่เป็น
“ด้วยความที่พ่อแม่เติบโตขึ้นมาคนละยุคสมัยกับเรา ความคิด ทัศนคติ การมองโลกนั้นย่อมมีความต่างกันไม่มากก็น้อย พ่อแม่บางคนโตมาด้วยคำพูดดูถูก ก็ใช้คำพูดดูถูกเพื่อหวังให้ลูกนำมาเป็นแรงผลักดัน แต่อาจมีพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจว่าคนเรานั้นไม่เหมือนกัน คำพูดดูถูกถากถาง อาจเป็นแรงผลักดันสำหรับเขา แต่อาจเป็นคำพูดทิ่มแทง เหมือนมีดที่กรีดลงไปกลางใจของลูกก็ได้”
หลังอ่านประโยคนี้ ผมพยายามลองมองพ่อของผมในมุมที่เข้าข้างพ่อมากที่สุด ผมพบว่าพ่อของผมเองก็เคยเป็นเด็กที่ ‘น่าเห็นใจ’ ไม่ต่างอะไรกับผม
พ่อเกิดมาในครอบครัวที่ปู่เป็นดั่งเผด็จการสูงสุด ปู่มักใช้ความเด็ดขาดรุนแรงในการปกครอง ซึ่งแน่นอนว่าหากพ่อของผมฝ่าฝืนคำสั่งหรือทำให้ปู่ไม่พอใจ จุดจบของพ่อย่อมหนีไม่พ้นการถูกทำร้ายร่างกายหรือไม่ก็ถูกลากมาด่าต่อหน้าคนเยอะๆ จนอับอายขายหน้า ดังนั้นพ่อของผมจึงเรียนรู้เอาตัวรอดด้วยการปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่หือ ไม่เถียง ไม่ตั้งคำถาม และนั่นดูจะทำให้ชีวิตพ่อราบรื่นตราบจนปู่สิ้นลม
เมื่อพ่อเติบโตมาแบบนี้ ทั้งยังได้ดีจากการปฏิบัติตามคำสั่งของปู่ พ่อจึงนำโมเดลการเลี้ยงลูกของปู่มาใช้กับผม เพราะพ่อเชื่อด้วยใจจริงว่าวิธีนี้จะทำให้ผมได้ดีเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หมอจริงบอกว่าในกรณีที่ผู้ใหญ่บางคนไม่ได้ถูกเลี้ยงดูมาด้วยความรัก เมื่อผู้ใหญ่เหล่านั้นได้มาเป็นพ่อคนแม่คนอาจไม่สามารถแสดงความรักได้อย่างที่เขาตั้งใจ เพราะไม่มีใครเคยกอดเขา ปลอบเขา อยู่กับเขายามที่มีความทุกข์ ดังนั้นหนทางที่เราจะลดความเจ็บปวดในอดีตจึงไม่ใช่การรอให้พ่อแม่มาเปิดใจขอโทษเพราะเป็นไปได้ว่าพ่อแม่อาจลืมไปแล้วหรือไม่ก็ละอายเกินกว่าจะพูดมันออกมา แต่เป็นการที่เราปล่อยวางความคาดหวังต่อพ่อแม่เพื่อความสุขของตัวเราเอง
“ไม่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะสามารถปรับความเข้าใจได้ เพราะพ่อแม่บางคนอาจไม่ยอมรับฟัง หรืออาจอยากแก้ต่างพฤติกรรมของตัวเองในอดีต เพราะเราก็มีหน้าที่ดูแลจิตใจของเรา ส่วนพ่อแม่ก็มีหน้าที่ดูแลจิตใจของเขา เราอาจต้องพึ่งพาอาศัยกัน แต่ไม่จำเป็นต้องคาดหวังซึ่งกันและกัน
และไม่ว่าสุดท้ายแล้ว เราจะได้พูดกับพ่อแม่ถึงบาดแผลที่ท่านได้ทำไว้หรือไม่ การเยียวยาก็สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการมองพ่อแม่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง และปล่อยความคาดหวังที่เราอยากให้เขาเป็นออกไป”