- เพราะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ติด เขาและเพื่อนๆ จึงสร้างมหาวิทยาลัยปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกพ่อแม่ นี่คือพล็อตของหนังเรื่อง Accepted ภาพยนตร์ที่จะมาเสียดสีและตีแผ่ระบบการศึกษา
วัยรุ่นชายคนหนึ่งที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ติดสักที่ เพื่อให้รอดพ้นจากคำด่าและความผิดหวังของพ่อแม่ เขาและเพื่อนที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกันจึงสร้างมหาวิทยาลัยปลอมๆ เพื่อหลอกพ่อแม่ แต่ดันมีคนมาสมัครเรียนจริงๆ เสียนี่…
นี่คือพล็อตภาพยนตร์เรื่อง Accepted จากประเทศสหรัฐอเมริกาออกฉายเมื่อปี 2006 ว่าด้วยเรื่องของบาร์เทิลบี เกนส์ (Bartleby Gaines) เด็กหนุ่มที่กำลังเรียนจบเกรด 12 (หรือม.6 ในบ้านเรา) เขาก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบ สนใจ หรืออยากทำอะไร แต่เพราะกฎที่พ่อแม่ตั้งไว้ คือ เขาต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ ทำให้เป้าหมายของบาร์เทิลบีในช่วงเกรด 12 (หรือทั้งชีวิตในโรงเรียน) คือ เขาต้องเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้
แต่เพราะตัวบาร์เทิลบีไม่มีอะไรที่โดดเด่น ผลการเรียนก็ธรรมดาและออกจะแย่ด้วยซ้ำ แถมไม่ใช่นักกีฬาชื่อดังประจำโรงเรียน ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมอะไรสักอย่าง ถึงจะหว่านแหส่งใบสมัครไปหลายมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่มีที่ไหนตอบรับเขาสักแห่ง (แต่ก็นะ ถ้าเขาได้เข้ามหาวิทยาลัยตามที่หวังหนังเรื่องนี้คงจบภายใน 10 นาทีแรก)
หลังจากคนรอบตัวทะยอยสอบติดมหาวิทยาลัย รวมถึงเพื่อนสนิทของเขาอย่าง เชอร์แมน ชเรเดอร์ (Sherman Schrader) ความเครียดก็บังเกิดกับบาร์เทิลบีทันที เขาจะทำยังไงดี? ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนตอบรับเขาเลย บาร์เทิลบีตัดสินใจลองคุยกับพ่อแม่ว่า ตัวเองจะไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย พ่อแม่ตอบกลับด้วยสีหน้าที่งวยงงและถามว่า ‘เขาเป็นบ้าอะไร’
ขออนุญาตเล่าพื้นเพพ่อแม่บาร์เทิลบีพอให้เข้าใจตัวละครเพิ่ม กล่าวคือ เกนส์คนพ่อทำงานนอกบ้านในตำแหน่งพนักงานระดับสูงที่บริษัทแห่งหนึ่ง ส่วนเกนส์คนแม่เป็นแม่บ้านดูแลลูก เมื่อมีลูก พวกเขาก็คาดหวังและอยากให้ลูกเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ จะได้มีอนาคตดีๆ เหมือนกับตัวเอง
แม้บาร์เทิลบีจะงัดเหตุผลมาสู้ว่า เรียนมหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายมาก สิ้นเปลือง เอาเวลาไปทำงานหาประสบการณ์ดีกว่า แต่พ่อแม่บาร์เทิลบียื่นคำขาดว่า เขาต้องเรียนมหาวิทยาลัยเท่านั้น ยิ่งพอรู้ว่าบาร์เทิลบีสอบไม่ติดสักที่ สิ่งที่พ่อแม่มีให้กับบาร์เทิลบี คือ ความผิดหวัง ยิ่งตอนไปร่วมงานฉลองที่เชอร์แมนสอบติดมหาวิทยาลัยลัย ตลอดทั้งงานสีหน้าของพ่อแม่แสดงออกถึงความเศร้า ขณะที่พ่อแม่คนอื่นๆ ต่างคุยกันออกรสว่า ลูกตัวเองสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ไหนบ้าง แต่พวกเขาไม่สามารถร่วมวงได้
ความกดดันตกอยู่ที่บาร์เทิลบี สุดท้ายเขาก็ปิ๊งไอเดียว่า สร้างมหาวิทยาลัยปลอมๆ มาหลอกพ่อแม่ไปก่อนดีกว่า เพื่อซื้อเวลาระหว่างหามหาวิทยาลัยสอบเข้าใหม่ บาร์เทิลบีและเพื่อนๆ ที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกันช่วยกันสร้างมหาวิทยาลัยปลอมๆ ขึ้นมา ใช้ชื่อว่า The South Harmon Institute of Technology (หรือเรียกย่อๆ ว่า S.H.I.T.) แต่ด้วยระบบที่อาจจะสมจริงเกินไปทำให้มีคนสมัครเข้ามาเรียนเกือบ 300 คน! นั่นเป็นสิ่งที่พวกบาร์เทิลบีไม่ได้คิดไว้ และนี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวต่อมา
ครอบครัว
เราดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกตอนที่อยู่ม.ต้น สำหรับเรามันก็เหมือนหนังวัยรุ่นทั่วไปที่เล่าปัญหาของตัวเอก ทำให้เราลุ้นว่าพวกเขาจะแก้ปัญหาของตัวเองยังไง แต่พอมีโอกาสกลับมาดูในตอนที่เราสำเร็จการศึกษาแล้ว (ตามที่สังคมกำหนดไว้) เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ซึ่งภายนอกดูเหมือนหนังวัยรุ่นทั่วไป แต่ภายในอัดแน่นไปด้วยการเสียดสีและตีแผ่ระบบการศึกษา
ผู้ปกครองในเรื่องทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ลูกต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ เรามองว่าเพราะเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองลองทำแล้วและเห็นว่าการศึกษานี่แหละที่ทำให้ชีวิตพวกเขาดีจริงๆ มีอนาคตที่สดใสรออยู่ ซึ่งมันก็เป็นจริงในประสบการณ์ชีวิตพวกเขานั่นแหละ ทำให้เมื่อบาร์เทิลบีถามพ่อแม่ว่า ทำไมถึงอยากให้เขาเรียนมหาวิทยาลัยหนักหนา? พ่อแม่เขาก็ตอบกลับมาว่า ‘จะได้มีอนาคตไงล่ะ’ และคนที่เข้ามหาวิทยาลัยได้ก็คือคนที่จะประสบความสำเร็จ แต่สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่อาจไม่ได้มอง คือ ชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เส้นทางชีวิตที่เข้ามหาวิทยาลัยอาจจะเหมาะกับพ่อแม่ แต่อาจไม่ได้เหมาะกับลูกของเขา ‘ดี’ ของพวกเขากับ ‘ดี’ ของลูกนิยามอาจจะไม่เหมือนกัน
เรารู้สึกว่าตัวเองก็เหมือนบาร์เทิลบี (และคิดว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ก็เป็นเหมือนกัน) เราไม่รู้หรอกว่าชอบหรืออยากทำอะไร เราโตมากับคำพูดของพ่อแม่ที่ว่า ‘ต้องเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ให้ได้’ นั่นกลายเป็นเป้าหมายการเรียนของเราไปโดยปริยาย แต่อาจจะโชคดี (หรือโชคร้าย) กว่าบาร์เทิลบีที่ตอนม.6 เราพอรู้ว่าอยากจะเข้าคณะไหนและสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้
บางครั้งเราก็คิดว่า ทำไมพ่อแม่ต้องกดดันพวกเราขนาดนี้ ทำไมต้องบอกตลอดว่า ‘ต้องสอบเข้ามหาลัยให้ได้’ เขาไม่เข้าใจเราเลยหรอ? ลำพังเรียนในห้องก็หนักแล้ว ต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีก แต่พอดูหนังเรื่องนี้อีกรอบ เราสังเกตเห็นท่าทางของบาร์เทิลบีในฉากงานเลี้ยง เขาเองก็ไม่ได้มีความสุข แถมต้องเห็นพ่อแม่ที่ถูกพ่อแม่คนอื่นๆ ถามว่าลูกตัวเองสอบติดที่ไหน สีหน้าของพ่อแม่เขามันยิ่งตอกย้ำว่าเขาไม่สามารถทำตามสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังไว้ได้
เราเข้าใจว่าพ่อแม่เองก็มีความกดดันในแบบของเขา การอยู่ในสังคมที่เพื่อนๆ ชอบยกเรื่องลูกมาเล่าว่า ลูกตัวเองเรียนได้เกรดดี สอบเข้าโรงเรียนดีๆ ได้ มันก็กลายเป็นแรงกดดันที่พ่อแม่เจอและเผลอผลักให้ลูกต่อ (เราว่าหน้าตาทางสังคมก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับบางคน ไม่ใช่เรื่องผิด เปรียบเทียบกับตัวเราเองเวลาเห็นเพื่อนได้คะแนนดีๆ เราก็รู้สึกกดดัน) บางทีพ่อแม่อาจต้องถามตัวเองว่า เราไม่สนสิ่งที่สังคมยกยอมันได้ไหม แต่มาสนใจที่ความต้องการลูกแทน
ระบบการศึกษา
ภาพเด็กๆ ที่หนังนำเสนอมีทั้งเพื่อนสนิทของพระเอกอย่างเชอร์แมน ที่เขามีเป้าหมายแล้วว่าต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยฮาร์มอนให้ได้เพราะคนในตระกูลเข้าได้ทุกคน และเขาก็สามารถทำได้ (เขาจึงเป็นตัวแทนของคนที่ทำตามความคาดหวังของคนในครอบครัวสำเร็จ!) หรือรอรี่ เทรเยอร์ (Rory Thayer) เพื่อนสาวพระเอกที่บอกว่าตัวเองเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยกลุ่มไอวีลีก (Ivy League) ตั้งแต่อนุบาล พอไม่สามารถทำตามฝันได้มันทำให้เธอรู้สึกว่าทั้งชีวิตพังหมดแล้ว หรือวัยรุ่นชายคนหนึ่งที่สอบติดมหาวิทยาลัยของบาร์เทิลบีเขาบอกว่า ตอนที่พ่อแม่รู้ว่าเขาติดมหาวิทยาลัย นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาเห็นว่าพ่อแม่ภูมิใจในตัวเขา เด็กๆ ในเรื่อง (รวมถึงเรา) ต่างถูกสังคมหล่อหลอมว่าเป้าหมายการศึกษาของเราคือสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ ถ้าพลาด ทุกอย่างก็จบ
แต่สำหรับเราคิดว่าไม่ใช่ (แต่กว่าเราจะค้นพบได้ก็นะ เรียนจบแล้ว…) การศึกษามันเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เราค้นพบสิ่งที่ชอบ อย่างที่บอก เราไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร แล้วการจะค้นพบมัน คือ เราต้องออกไปหาประสบการณ์ไง เพื่อดูว่าเราชอบ-ไม่ชอบอะไร การศึกษาก็เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้เรารู้ มันเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ (แต่บางคนที่พ่อแม่มีแรงซับพอร์ต เขาอาจจะมีโอกาสเยอะกว่า ไม่ต้องพึ่งระบบการศึกษา) แต่เอาเข้าจริงพอไปเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเรากลับไม่มีเวลาให้เรื่องพวกนี้ เพราะทั้งเวลาและพละกำลังเราใช้ไปกับการเรียนทั้งหมด สุดท้ายเราจบออกมาโดยที่ไม่รู้ว่าจริงๆ มันเป็นสิ่งที่เราชอบ ต้องการหรือเปล่า?
ตอนที่บาร์เทิลบีตั้งใจอยากทำให้มหาวิทยาลัยนี้เป็นของจริง เขาเริ่มโดยปรึกษาลุงเบนที่ถูกจ้างให้เป็นอธิการบดีปลอมๆ ลุงเบนก็เคยเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย แต่เพราะทนกับระบบการศึกษาไม่ได้เขาจึงตัดสินใจลาออก ลุงเบนให้คำแนะนำบาร์เทิลบีว่า มหาวิทยาลัยก็เหมือนกับธุรกิจอย่างหนึ่งที่ต้องตอบสนองความต้องการของผู้เรียนที่จ่ายเงินเข้ามาเรียนเพื่อซื้อประสบการณ์
แต่ประสบการณ์ที่ทุกคนอยากได้ก็ไม่เหมือนกัน บาร์เทิลบีเริ่มต้นสร้างหลักสูตรด้วยการถามทุกคนว่า ‘อยากเรียนอะไร?’ ปฏิกิริยาตอบกลับของแต่ละคน คือ งงกับคำถามของเขาพร้อมกับถามกลับว่า ‘นั่นไม่ใช่หน้าที่ของมหาวิทยาลัยหรอ? ที่จะบอกว่าพวกเขาต้องเรียนอะไร’
เป็นเรา ถ้ามีคนมาถามแบบนี้ เราก็คิดว่าเขาคงถามไปตามหน้าที่ให้ดูว่า ‘เราใส่ใจคุณนะ’ แต่สุดท้ายสิ่งที่เราบอกกลับไม่เคยได้รับการตอบสนอง (เพราะมันก็มีปัจจัยอีกหลายอย่าง) เราแค่รู้สึกว่าตั้งแต่เรียนมาเราไม่เคยถูกถาม (แบบจริงๆ) ว่าอยากเรียนอะไร แถมเวลาได้เลือกก็คือเลือกสิ่งที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเตรียมให้แล้ว
วิชาเรียนในมหาวิทยาลัยบาร์เทิลบีที่เขาตั้งต้นจากความชอบของแต่ละคนจึงเต็มไปด้วยวิชาแปลกๆ อย่างวิชาขี้เกียจ101 วิชานั่งสมาธิในสวน วิชาทำสติ๊กเกอร์ติดท้ายรถ หรือวิชาเล่นสเก็ตบอร์ด (ด้วยความที่หนังเล่าอยู่ในบริบทปี 2006 ปัจจุบันมีวิชาแนวนี้เกิดขึ้นจริงๆ) สายตาคนนอกอาจจะมองว่านี่ไม่ได้เรียกว่าวิชา เป็นเรื่องไร้สาระ แต่ก็ขึ้นอยู่ที่การมอง ถ้ามองว่าวิชาคือสิ่งที่ต้องให้ความรู้ (นิยามความรู้ก็ตามที่สังคมกำหนดไว้) พวกนี้ก็อาจไม่ใช่วิชา แต่ถ้ามองว่าวิชาคือเรื่องอะไรก็ได้ที่เราเข้าไปเรียนรู้ เข้าไปมีประสบการณ์กับมัน สิ่งนี้ก็อาจจะใช่
เด็กพวกนี้ก็เหมือนบาร์เทิลบีที่ถูกมองว่าเป็นเด็กไม่เอาไหน แหกคอก ไม่มีอนาคต เพราะพวกเขาไม่สามารถทำตามแผนที่ระบบการศึกษากำหนดไว้ได้ สุดท้ายก็ถูกผลักออกจากสังคมแล้วถูกตัดสินว่าแย่ ทั้งๆ ที่จริงแล้ว เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่มีระบบไหนดีหรือเหมาะสมกับเด็กได้ทั้งหมด พวกเขาอาจไม่เก่งในสิ่งที่สังคมกำหนด แต่ยังมีสิ่งอื่นที่พวกเขาทำได้และทำได้ดี เพียงแต่ขอโอกาสให้ได้ทำ
มุมมองผู้ใหญ่ VS เด็ก
นอกจากเรื่องครอบครัว ระบบการศึกษาแล้ว หนังยังยกประเด็นมุมมองการมองโลกที่แตกต่างของผู้ใหญ่และเด็ก ทำให้เกิดความขัดแย้ง เพราะผู้ใหญ่คิดอย่าง เด็กคิดอีกอย่าง อย่างการเรียนมหาวิทยาลัยผู้ใหญ่มองว่าเป็นใบเบิกทางที่จะมีอนาคตดีๆ ในขณะที่เด็กกลับมองว่าอนาคตดีๆ ไม่จำเป็นต้องเข้ามหาวิทยาลัย
บ่อยครั้งด้วยมุมมองที่ขัดแย้ง ทำให้เด็กคิดว่า ‘ผู้ใหญ่ชอบตัดสินเรา พวกเขาไม่เคยสนใจสิ่งที่เราพูดที่เราคิด’ เราขอยกประโยคที่บาร์เทิลบีพูดตอนอยู่ในศาล จุดนี้ขออนุญาตวกกลับไปเล่าเรื่องย่อๆ ว่า หลังจากที่บาร์เทิลบีโดนเปิดโปงว่าเป็นมหาวิทยาลัยต้มตุ๋นและโดนสั่งปิด แต่เชอร์แมน (ที่ทุกข์ทรมานกับชีวิตในมหาวิทยาลัยที่เขาฝันไว้) ลองยื่นขอรับรองการจัดตั้งมหาวิทยาลัยจากสมาคมรับรองวิทยฐานะ (state board of accreditation) แต่คำขอพวกเขาถูกอธิบการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์มอน (มหาวิทยาลัยที่พวกเขาตั้งลอกเลียนแบบฟ้อง) เกิดเป็นฉากตัดสินในศาลว่าจะให้มหาวิทยาลัยของบาร์เทิลบีจัดตั้งได้ไหม
หลังจากฟังคำอธิบายของบาร์เทิลบี สีหน้าของคณะกรรมการดูไม่เชื่อสิ่งที่เขาพูด บาร์เทิลบีตัดสินใจพูดว่า
And it’s too bad that you judge us by the way we look and not by who we are. Just because you want us to be more like them when the truth is we’re not like them. And I am damn proud of that fact!
มันแย่มากที่คุณตัดสินเราจากสิ่งที่พวกคุณเห็นไม่ใช่สิ่งที่เราเป็น แค่เพราะคุณต้องการให้เราเป็นอย่างพวกคุณ ขณะที่ความจริงเราไม่ใช่ ซึ่งขอบอกเลยนะว่า เราชอบข้อเท็จจริงนี้มากๆ เลยเหอะ
เพราะภาพลักษณ์ภายนอกเป็นสิ่งที่เห็นง่ายที่สุด บางครั้งคนส่วนใหญ่ก็จะตัดสินสิ่งต่างๆ จากเปลือกบวกกับทัศนคติของตัวเองเป็นตัววัด (เราเองยังเผลอตัดสินหนังเรื่องนี้ว่าเป็นแค่หนังวัยรุ่นทั่วไปเลย) เหมือนผู้ใหญ่ในเรื่องที่ตัดสินไปแล้วว่าพวกบาร์เทิลบีห่วย ไม่มีอนาคต เพียงเพราะชีวิตพวกเขาไม่ตรงตามกรอบที่ผู้ใหญ่กำหนดไว้
แต่บางครั้งขณะที่เราบอกว่าผู้ใหญ่ตัดสินเรา เราเองก็อาจกำลังตัดสินผู้ใหญ่เหมือนกัน อย่างตอนท้ายที่ผลการตัดสินออกมา คณะกรรมการบอกกับบาร์เทิลบีว่า ‘พวกคุณก็อย่าตัดสินเขาเหมือนกัน’ ถึงพวกเขาจะดูเคร่งครัด ไม่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ แต่นั่นเป็นหน้าที่พวกเขาเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กๆ จะได้รับการศึกษาที่ดี สุดท้ายเราอาจต้องให้การตัดสินภาพลักษณ์ภายนอกเป็นแค่ปฏิกิริยาตอบกลับแรก แต่ไม่ควรนำมาใช้ในการประมวลผล หรือใช้ตัดสินว่าคนๆ นั้นหรือสิ่งนั้นเป็นอย่างไร ก่อนที่จะทำความเข้าใจให้กระจ่าง
การได้รับการยอมรับ
Accepted การถูกยอมรับ – สิ่งหนึ่งที่หนังบอกกับเรา การกระทำของตัวละครทั้งเรื่องไม่ว่าจะสร้างมหาวิทยาลัยปลอม พยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่พ่อแม่ต้องการ หรือทำตามคำสั่งที่ไม่มีเหตุผลของรุ่นพี่ นั่นก็เพราะพวกเขาอยากได้รับการยอมรับ กลายเป็นแรงกระตุ้นให้เขาทำสิ่งต่างๆ โดยลืมความผิดถูก ลืมเหตุผล
ถามว่าการได้รับการยอมรับสำหรับวัยรุ่นมันสำคัญยังไง? ในฐานะที่เราก็เป็นคนวัยเดียวกัน เราคิดว่ามันสำคัญมากๆ เพราะการยอมรับนั่นหมายถึงเรามีตัวตนในสายตาพ่อแม่ ในสังคม และจะได้รับความรักเป็นการตอบแทน ทำให้เราดิ้นรนตะเกียกตะกายเป็นคนที่พ่อแม่หรือสังคมอยากให้เป็น บาร์เทิลบีและเพื่อนก็เคยเป็นแบบนั้น แต่โชคดีที่สุดท้ายแล้วครอบครัวพวกเขาก็ยอมรับสิ่งที่เขาเป็น แต่ก็ยังมีคนอีกมากที่ไม่โชคดีแบบเขา
ชีวิตเรามันไม่เหมือนสูตรทำขนม ไม่มีสูตรตายตัวว่าทำแบบนี้แล้วจะประสบความสำเร็จ หรือถ้าเป็นแบบนี้เรียกว่าหมดอนาคต ชีวิตมันคือการทดลองและได้ทำสิ่งที่เราชอบ เพราะเป้าหมายในการใช้ชีวิตก็เพื่อให้เรามีความสุข สุดท้ายแล้วก็อาจจะเหมือนที่บาร์เทิลบีบอก เด็กอย่างพวกเราก็แค่อยากได้โอกาสจากผู้ใหญ่ การยอมรับและให้เราเติบโตอย่างมีความสุข