- ‘ปม ความขัดแย้ง หรือบาดแผล (trauma)’ ที่ส่งผลรุนแรงและยาวนานมาจากหลายสาเหตุ ยิ่งเกิดเมื่ออายุน้อยเท่าไรก็ยิ่งเป็นบาดแผลที่เราไม่ค่อยรู้ตัว แต่อันที่จริงบาดแผลเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาแม้กระทั่งตอนโต เพียงแค่สิ่งที่อยู่กับเรามาตั้งแต่วัยเด็กอาจอยู่ลึกจนบางทีเราลืมไป เลยมีผลกับตัวเราเยอะเพราะไม่เคยเข้าใจมันมาก่อน
- ทำความเข้าใจ ทบทวนตัวเอง ปลดล็อกข้อสงสัย กับ หมอโบว์ – พญ.วินิทรา แก้วพิลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เรื่องปมอดีตฝังลึกที่เราอาจหลงลืมไปตั้งแต่วัยเด็ก แต่ปมนั้นไม่เคยสูญหาย ยังคอยกำกับแบบแผนการใช้ชีวิตในปัจจุบัน
- “ไม่มีพ่อแม่ที่เพอร์เฟค 24 ชั่วโมง ไม่ว่าเราจะพยายามแค่ไหนมันก็ต้องมีจุดสร้างความขัดแย้ง เกิดปมบางอย่างได้อยู่ดี ถ้ารู้ตัวทันว่าสิ่งที่เรากำลังทำมันเป็นปัญหาของเรา เราจัดการตัวเองก่อน แต่ถ้าเผลอไปทำอะไรที่รุนแรง ลูกเสียใจ สิ่งที่เราทำได้คือ ก็เสียใจไปกับเค้าด้วย พ่อแม่ก็ขอโทษลูกได้”
อาจเคยได้ยินหลายคนวิเคราะห์ หรืออันที่จริงเราต่างก็เคยทบทวนด้วยตัวเองและรู้อยู่เต็มใจว่า พฤติกรรมที่เราแสดงออก เป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติต่อบางสิ่ง มาจากความต้องการลึกๆ ในจิตใจ เกิดขึ้นจากร่องรอยของเหตุการณ์วัยเด็ก ถ้าจำได้ก็ได้ตั้งต้นเข้าใจความต้องการของตัวเอง ถ้าจำไม่ได้ หลายครั้งทำให้เกิดความทุกข์ – เอ๊ะ… เรื่องแค่นี้ทำไมมีอิทธิพลกับเราจัง คนอื่นไม่เห็นรู้สึกแบบเดียวกันเราเลย?
“ส่วนใหญ่เราพบว่า ปม ความขัดแย้ง หรือบาดแผล (trauma) มักเกิดขึ้นจากครอบครัว ยิ่งเกิดตอนเราอายุน้อยเท่าไรก็มักเป็นบาดแผลที่เราไม่ค่อยรู้ตัวและอาจส่งผลกับเราตั้งแต่เด็ก แต่ปมไม่ได้เกิดขึ้นจากครอบครัวเสมอไป ปมอาจเกิดจากที่โรงเรียน กับเพื่อน กับครู หรือกับผู้ใหญ่ จริงๆ trauma ยังเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาแม้กระทั่งเราโตแล้ว แต่สิ่งที่อยู่กับเรามาตั้งแต่วัยเด็กมันอาจอยู่ลึกเข้าไปจนบางทีเราลืมไปแล้ว เลยมีผลกับตัวเราเยอะเพราะเราไม่เคยเข้าใจมันมาก่อน”
คือคำอธิบายของ พญ.วินิทรา แก้วพิลา (หมอโบว์) จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และอาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ต่อประเด็นเรื่อง trauma หรือ บาดแผลฝังใจ ที่มีผลทางจิตวิทยา และคอยกำกับแบบแผนการใช้ชีวิตในปัจจุบัน
คุณหมอยังอธิบายต่อไปว่า นอกจาก trauma ซึ่งเกิดจากบาดแผลหรือเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจที่รุนแรงแล้ว การกระทบกระเทือนทางใจจากเหตุที่อาจเล็กลงมาเช่น ปม หรือ ความขัดแย้ง (conflict) ในอดีตอื่นๆ ก็อาจส่งผลต่อการสร้างแบบแผน วิธีแก้ปัญหา บุคลิกภาพของเราได้เช่นกัน
ตลอดเดือน มีนาคม ถึง พฤษภาคม The Potential ตั้งใจทำงานประเด็น Family Psychology หรือ จิตวิทยาครอบครัว หนึ่งในเนื้อหาที่อยากพูดถึงคือ ปม และ บาดแผลในวัยเด็กนั้น อาจมีเหตุมาจากพ่อแม่ หรือแม้กระทั่ง เป็นปมของพ่อแม่ ที่เกิดจากปู่ย่าตายาย และยังผลส่งต่อแบบแผนเหล่านั้นไปยังลูกอีกที
ปม (conflict) และ บาดแผลฝังใจ (trauma) คืออะไร เกิดขึ้นอย่างไร มีผลต่อวิธีคิด ความกลัว และบุคลิกภาพภายในของเราอย่างไร ทำอย่างไรเราจึงจะรู้จัก เข้าใจ และอยู่กับมันได้อย่างไม่เป็นปัญหา ทั้งอธิบายวิธีตัดตอน และฟื้นคืนสภาวะความเจ็บปวดนั้น เสร็จสรรพในบทความเดียว
ถ้าไม่ใช่กลุ่มโรค เช่น ออทิสติก สมาธิสั้น เคสที่คุณพ่อคุณแม่พาน้องๆ มาพบคุณหมอ มักเป็นเคสแบบไหน
ที่เจอเยอะ จะเป็นปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ ความก้าวร้าว หรือเป็นปัญหาด้านการเรียน แต่หลังจากที่ประเมินแล้วอาจจะพบปัญหาอื่น เช่น ความขัดแย้งในครอบครัว ความคาดหวังของพ่อแม่กับลูกที่ตอบสนองได้ไม่ตรงกัน
พูดได้ไหมว่าเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์และไม่ใช่กลุ่มโรค มีปัญหาจากความสัมพันธ์ทางบ้านเป็นหลัก ถ้าไม่ใช่ ปัญหาทางจิตเวชมีสาเหตุจากอะไรบ้าง
ปัญหาทางจิตเวชมักจะเจอร่วมกันหลายปัจจัย ต้องอธิบายก่อนว่าปัญหาทางจิตเวชส่วนใหญ่ จะเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยทางกายภาพ (Biological), ปัจจัยทางจิตใจ (Psychology) และ ปัจจัยทางสังคม (sociology)
ปัจจัยทางกายภาพ (Biological) เป็นปัจจัยภายใน เช่น การทำงานของสมอง พันธุกรรม และอื่นๆ เช่น พื้นอารมณ์ (temperament) ของเด็กแต่ละคนต่างกัน เด็กบางคนอาจจะปรับตัวง่าย ไม่ค่อยเกิดอารมณ์ทางด้านลบง่ายๆ แต่บางคนปรับตัวยากและเซนส์ซิทีฟต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ แม้ว่าจะเป็นพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน พื้นอารมณ์อาจจะคนละเรื่องกันเลยก็ได้ คือเค้าเกิดมามีแบบแผนพื้นอารมณ์แบบนั้นเลยโดยที่ไม่ขึ้นกับว่าพ่อแม่เลี้ยงเค้ายังไง ต่อมาคือปัจจัยทางจิตใจ (Psychological) ซึ่งอาจเป็น สติปัญญา วิธีคิด วิธีการปรับตัว สุดท้าย ปัจจัยทางสังคม (Sociology) ตรงนี้แบบแผนการเลี้ยงดูของพ่อแม่ โรงเรียน เพื่อน สังคม มีส่วนทำให้เด็กโตขึ้นมาและสร้างแบบแผนการเอาตัวรอดในชีวิต หรือ อาจจะสร้างปมหรือทำให้เกิดปัญหาขึ้นก็ได้
เราพบว่า ปม ความขัดแย้ง หรือบาดแผล (trauma) ที่ส่งผลรุนแรงและยาวนาน มักเกิดขึ้นจากครอบครัว ยิ่งเกิดตอนเราอายุน้อยเท่าไร ก็มักเป็นบาดแผลที่เราไม่ค่อยรู้ตัวและอาจส่งผลกับเราตั้งแต่เด็ก
แต่ปมไม่ได้เกิดขึ้นจากครอบครัวเสมอไป ปมอาจเกิดจากที่โรงเรียน กับเพื่อน กับครู หรือกับผู้ใหญ่ จริงๆ trauma ยังเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาแม้กระทั่งเราโตแล้ว แต่สิ่งที่อยู่กับเรามาตั้งแต่วัยเด็กมันอาจอยู่ลึก เข้าไปจนบางทีเราลืมไปแล้ว มันเลยมีผลกับตัวเราเยอะเพราะเราไม่เคยเข้าใจมันมาก่อน
พอถึงตรงนี้ก็อยากจะเสริมว่า ไม่อยากให้รู้สึกกังวลหรือกลัวจนเกินไป จนต้องคอยไปตรวจหาว่าเรามีปมไหม จะเป็นอะไรไหม เป็นพ่อแม่จะต้องเลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้มีปมเลย จริงๆ แล้วการมีปม หรือ ที่เราต่างคนต่างมีแบบแผนการเอาตัวรอดต่างๆ เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดได้ ไม่ได้แปลว่าถ้าเรามีปมแล้วพ่อแม่เราเลวร้ายหรือเป็นคนไม่ดี กลับกัน, ก็ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ที่ดีต้องเลี้ยงลูกให้ไม่มีปมอะไรเลย พ่อแม่เรา หรือ ตัวเราเองยังไงก็ต้องมีความผิดพลาดได้บ้าง เพราะเราก็ยังเป็นคนธรรมดา และถึงแม้พ่อแม่จะทำเต็มที่แค่ไหน หลายครั้งในความเป็นเด็กก็อาจมีข้อจำกัดในความเข้าใจได้เสมอ ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนกันครั้งสองครั้ง แต่ที่เหลืออีกร้อยหรืออีกพันครั้ง เราแสดงถึงความสัมพันธ์ที่ดี และมีความหมาย อันนั้นก็จะช่วยให้เด็กๆ เติบโตมาอย่างมีความสุขได้
พอจะยกตัวอย่างการทำงานร่วมกันของปัจจัยทางจิตเวชให้เห็นภาพได้ไหมคะ
ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่มาปรึกษาว่าลูกมีปัญหาการเรียน แต่ในปัญหาการเรียนบอกได้หลายอย่างเลย บางคนอาจเป็นเรื่องสมาธิสั้น บางคนมีปัญหาเรื่องการอ่านเขียน เช่น LD (Learning disorder) หรืออาจจะมาจากการเลี้ยงดูก็ได้ เช่น พ่อแม่อาจคาดหวังกับลูกเรื่องเรียน หรือบางทีอาจเป็นเรื่องค่านิยมสังคมไทยที่เน้นทักษะวิชาการมากเป็นพิเศษก็ได้ หรืออาจจะมีสาเหตุมาจากผลรวมของหลายปัจจัยได้
ประเด็นเรื่อง ปม บาดแผลทางจิตใจ ทับซ้อนกับภาวะอารมณ์โดยธรรมชาติ เส้นแบ่งของภาวะอารมณ์ที่ผิดปกติ ไปสู่การเกิดปมหรือบาดแผลทางจิตใจมีเส้นแบ่งมั้ย เริ่มพัฒนาจากตรงไหนกัน
เด็กแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการทางอารมณ์ต่างกันอยู่แล้ว สมมุติเด็ก 2-3 ขวบ ก้าวร้าว ลงไปดิ้นกับพื้น สิ่งนี้อาจเป็นพฤติกรรมตามพัฒนาการของเค้า เค้ายังควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ซึ่งมันก็เป็นโอกาสที่พ่อแม่จะสอนเด็กเรื่องอารมณ์ว่านี่คืออารมณ์อะไร เพราะอารมณ์เป็นเรื่องข้างใน เวลาที่อารมณ์เกิดขึ้นกับเด็กเล็กๆ เค้ายังไม่มีชื่อเรียกมัน พ่อแม่อาจสอนได้ว่า “นี่ลูกกำลังโกรธอยู่นะ ลูกโกรธที่แม่ไม่ซื้อของนี้ให้ใช่มั้ย” การเรียนรู้เรื่องอารมณ์คือการรู้ว่าภาวะนี้คืออะไร เกิดอะไรขึ้นกับเรา เกิดเพราะอะไร และเป็นไปตามพัฒนาการ แต่หลังจากเกิดขึ้นแล้วจะจัดการอารมณ์โกรธอย่างไร พ่อแม่ก็จะมีส่วนช่วย
ขณะที่บางครอบครัวมองว่า นี่ก้าวร้าวนะ อาจจะดุ ควบคุม ตี หรือทำให้ลูกกลัวเพื่อหยุดอารมณ์ ในแง่นี้พ่อแม่อาจเรียนรู้มาจากประสบการณ์การเติบโตของตัวเอง มองว่าความโกรธนี่ไม่ดีนะ แล้วอาจไปจัดการกับลูก ลูกอาจจะหยุด กลัว แต่แอบต่อต้านอยู่ข้างใน ซึ่งแต่ละบ้านมีกระบวนการดูแลอารมณ์ที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน จากนั้นมันก็จะส่งผลต่อไป
เช่น ในอนาคตเด็กคนนี้จะมองความโกรธยังไง? อาจมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเค้า เกิดขึ้นได้ หรือบางคนมองว่า ไม่ และปฏิเสธอารมณ์โกรธตรงนี้ไปเลยและอาจแสดงออกมาในรูปแบบอื่น เช่น มีปัญหาทางพฤติกรรมเกิดขึ้น หรือแสดงอารมณ์ก้าวร้าวแบบอื่น
เวลาพูดถึงปม เราควรเริ่มอธิบายจากตรงไหน?
ปมมันกว้างมากเลยเนอะ ถามว่าทุกคนมีปมมั้ย? มีเหมือนกันหมด ปมอาจจะเป็นแค่ความขัดแย้ง (conflict) เล็กๆ ระหว่างทางที่เราโตขึ้นมาแต่ความขัดแย้งนั้นมีผลต่อชีวิตเราก็ได้ ถ้าเป็นปมเล็กๆ น้อยๆ มันอาจไม่ได้เป็นปัญหามาก แต่ปมบางคนอาจใหญ่มากจนเรียกว่า trauma และส่งผลกระทบที่รุนแรงพอสมควร
อย่างไรก็ตาม เด็กทุกคนที่เกิดมา ยังไงก็มี conflict หรือความขัดแย้งที่เกิดเป็นปมอยู่แล้ว ไม่มีพ่อแม่คนไหนตอบสนองลูกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์และได้ตลอด 24 ชั่วโมง และถึงแม้พ่อแม่จะตอบสนองได้เยอะ แต่ในมุมมองของเด็กคนหนึ่ง ซึ่ง ณ วันนั้นเค้าไม่เข้าใจเหตุผลมาก ได้ข้อมูลไม่ครบ เค้าก็ตีความเรื่องราวนั้นจากโลกของเค้าเอง ซึ่งเค้าอาจมองว่าสิ่งที่พ่อแม่ให้มา เค้าไม่ได้รับการตอบสนอง มัน ยังไม่พอ ยังขาดไปก็ได้ อันนี้ถือว่าเป็นปมมั้ย? ก็อาจจะเป็นปมก็ได้ บางทีมันก็มีหลากหลายมาก เราชี้แจงแบ่งประเภทปมได้ยาก แต่ทุกคนมีปมเหมือนกันหมด
เวลาอธิบายปมหรือความขัดแย้งในใจคนอาจอธิบายได้ยากเพราะขึ้นอยู่กับประสบการณ์และเรื่องราวของแต่ละบุคคล แต่เราพอจะอธิบายกระบวนการเกิดขึ้นของปม หรือ ความขัดแย้งของเราได้มั้ย?
ตามทฤษฎีจิตวิทยาที่เป็นกลุ่ม Humanistic หรือ positive psychology จะมองว่าทุกคนเกิดมาอย่างมีคุณสมบัติ (quality) และทรัพยากร (resource) ด้านบวก (positive) อย่างสมบูรณ์ในตัวเอง แต่ระหว่างทางของการเติบโตอาจต้องเจอกับสิ่งหรือเรื่องราวที่ไม่ตอบสนองในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ สถานการณ์ทางสังคม โรงเรียน เพื่อนหรืออะไรก็ตามแต่ที่ส่งผลกระทบต่อมุมมอง โลกทัศน์ต่อตัวเราเอง ต่อผู้คน และต่อโลกใบนี้ บังเอิญมีบางอย่างมากระทบใจอย่างรุนแรง พอกระทบ เราก็ต้องปรับตัว การปรับตัวก็จะไปสร้างแพทเทิร์นที่เรียกว่า “แผนการเอาตัวรอด”
เช่น เด็กบางคนเกิดแบบแผนการเอาตัวรอดว่า ต้องเป็นเด็กดีนะ ถ้าเป็นเด็กดี คุณแม่จะรัก ต้องเอาใจคุณพ่อคุณแม่นะ ต้องทำตัวให้เป็นที่รักและเป็นที่ต้องการ จึงจะอยู่รอดได้ ในขณะที่เด็กบางคนอาจเกิดโลกทัศน์หรือแบบแผนว่า พ่อแม่พึ่งพาไม่ได้ การจะอยู่รอดได้เราจะต้องไม่พึ่งใคร ต้องดูแลตัวเอง ต้องเข้มแข็ง ต้องไม่เปิดความรู้สึกให้ใคร ต้องไม่ไปแตะอารมณ์พวกนี้ อันนี้เป็นตัวอย่างว่าสองคนนี้ก็จะเป็นบุคลิกภาพที่ต่างกัน มีการใส่ใจและมีปัญหาในชีวิตที่แตกต่างกัน
มันจะเกิดจากสิ่งแวดล้อมในการเติบโตมาแล้วสรุปหรือการตัดสินใจ (make decision) ในชีวิตว่า ถ้าเราจะเอาตัวรอดในโลกใบนี้ เราควรจะทำตัวอย่างไร เราควรจะมองคนอื่นหรือมองตัวเองอย่างไร พอตัดสินใจแล้วเค้าก็สร้างแบบแผนขึ้นมา สร้างแล้วเค้าก็จะใช้มัน แบบแผนไหนที่ได้ผล เราก็จะใช้แบบแผนนั้น แล้วเราก็จะดูฟีดแบกไปเรื่อยๆ ว่า แบบแผนไหนใช้ได้ผล เมื่อได้ผลเราก็จะใช้ไปเรื่อยๆ แบบแผนนั้นก็ถูกส่งเสริมขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งเราใช้แบบแผนไหนเก่ง เราก็จะใช้อันนั้น ทุกคนที่โตมาก็จะมีแพทเทิร์นที่ใช้ในการดำเนินชีวิตเป็นของตัวเอง พอเราใช้มันนานๆ มันก็ฟอร์มตัว ยึดติดว่านี่คือตัวตนของเรา แบบแผนของเรา พอเราใช้มันเยอะเกินไป ใช้มันเก่งเกินไป เราก็อาจเจอปัญหาอีกด้านหนึ่ง
เช่น ถ้าเราเชื่อว่าเราต้องเป็นเด็กดี ต้องทำตัวให้เป็นที่รักและเป็นที่ต้องการแล้วยึดกับมันมากเกินไป พอโตขึ้นมาเราก็อาจจะเกิดความกังวลบ่อยๆ กลัวว่าจะทำให้ใครไม่พอใจ หรือทำให้เค้าผิดหวัง จริงๆความรู้สึกแบบนี้ก็เกิดได้กับทุกคน แต่กับบางคนมันอาจจะมากซะจนทำให้เราป่วย หรือ ชีวิตเราย่ำแย่ได้ อาจจะไปได้ถึงขั้นว่า “ ถ้าเค้าไม่รักหรือ ไม่เห็นค่าเรา เราก็อยู่ไม่ได้” มันจะกระเทือนกับคนนั้นมาก ในขณะที่คนบางคน “คนนี้ไม่ชอบชั้นก็ไม่เป็นไร ชั้นไม่แคร์ ชั้นดูแลตัวเอง” แบบนี้ก็ได้ ซึ่งการที่บางคนจะเป็นจะตายกับบางเรื่อง ก็เพราะนั่นคือแบบแผนที่เค้าใช้มาตลอด การจะไปดึงแบบแผนนั้นออก มันก็ยากลำบาก เรายึดกับแบบแผนไหนเยอะ มันก็จะมีเรื่องผลเสียในแบบต่างๆ
แบบแผนที่ว่ามีอะไรบ้าง
การสร้างแบบแผนก็เหมือนการสร้างบุคลิกภาพ (personality) ขึ้นมา ถามว่ามีกี่แบบ? ตอบยาก เพราะมีเยอะและหลายทฤษฎีมาก ถ้าเป็นทฤษฎีจิตบำบัดซาเทียร์ จะพูดถึง coping หรือวิธีการที่เราใช้แก้ปัญหาว่ามี 4 แบบ เช่น วิธีการโทษคนอื่น (Blaming), ยอมตามคนอื่น(Placating), อาจเป็นสายใช้เหตุผล (Superreasonable) และ สายหนีปัญหา (Irrelevant) คือทำเฉไฉไปเลย หรือ ทฤษฎีบุคลิกภาพอื่น ที่นี่ (ภาคจิตเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี) จะสนใจนพลักษณ์ (Enneagram) หรือบุคลิกภาพ 9 แบบ* แต่ละคนถูกผลักดัน (drive) ด้วยกิเลสต่างๆ และมี coping หรือวิธีแก้ปัญหาที่ไม่เหมือนกัน บางคนถูกผลักด้วยอารมณ์โกรธเป็นหลัก บางคนเป็นอารมณ์กังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ บางคนเป็นอารมณ์กลัว แต่ละบุคลิกภาพมีอารมณ์ที่เป็นแรงขับและโลกทัศน์ที่แตกต่างกัน
การรู้เรื่องพวกนี้ช่วยเราอย่างไร
อืม (นิ่งคิด) ถ้าเทียบกับการดูดวง เวลาที่ดูดวงแล้วบอกว่า “อ๊ะ แม่นอะ” ที่เราบอกว่า “แม่น” แปลว่า เราเคยเห็นแพทเทิร์นแบบนี้ของตัวเอง ปกติแล้วอาจเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าเราเป็นคนแบบไหน แต่การเรียนรู้เรื่องพวกนี้คล้ายเป็นแผนที่ให้รู้ว่ามันมีแบบแผนไหนบ้างและให้เราเทียบว่าเราคล้ายแบบไหนมากกว่ากัน แต่การอ่านแผนที่เล่นๆ ที่บ้านก็คงไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าการถือแผนที่ลงไปเดินในพื้นที่จริง การลงไปเดินจริง… สิ่งที่สำคัญที่สุดซึ่งคือการสังเกตตัวเอง (self awareness) การสังเกตตัวเองในปัจจุบันขณะ หรือแม้แต่การสะท้อนตัวเองย้อนหลังจากเหตุการณ์ต่างๆ จะเป็นเครื่องมือให้เรากลับมามองตัวเองชัดขึ้น ช่วยสะท้อนการใช้ชีวิตเราได้ว่าเรามีชีวิตแบบไหน เราตัดสินใจแบบนี้เพราะอะไร อะไรผลักดันเรา
ถ้ารู้แล้วว่าที่เราใช้แบบแผนนี้ ตัดสินใจแบบนี้เพราะประสบการณ์ในอดีตผลักดันเรา เราจะแก้ความกลัว ปัญหาในจิตใจเราได้มั้ย?
ได้นะ บางทีเราไม่รู้นะว่าเราทุกข์เพราะอะไร พ่อแม่บางคนทุกข์มาก ทำไมลูกเราสอบตกหลายวิชามากเลย เค้าก็พยายามบอกให้ลูกอ่านหนังสือ ให้ทำนู่นทำนี่เพื่อให้ลูกได้คะแนนดีขึ้น แต่พ่อแม่ก็เครียดมากและยังกังวลไปถึงอนาคตของลูก แต่ถ้าพ่อแม่ได้ย้อนกลับมาดูว่า เอ๊ะ… ที่เผลอตวาดลูกเพราะความโกรธ จริงๆ แล้วเพราะกลัวใช่มั้ยว่าอนาคตลูกจะแย่ กลายเป็นว่าสิ่งนี้ทำให้เค้ารู้ที่มาที่ไปว่าทำไมถึงต้องโกรธขนาดนั้น “อ๋อ… เพราะว่ากลัวนี่นา”
จะเห็นว่าความกลัวเป็นของเรา(พ่อแม่) เป็นสัมภาระเก่าของพ่อแม่ หลายครั้งเราต้องการให้ลูกมาขจัดความกลัวของเรา เช่น ถ้าลูกเรียนดี ก็เป็นหลักประกันว่าในอนาคตลูกน่าจะสบาย ถ้าลูกมีอนาคตที่ดี เราก็จะสบายใจ ความกลัวก็จะหายไป
แทนที่พ่อแม่จะเอาพลังงานไปปรับลูกเยอะแยะมากมาย ก็ให้กลับมาสำรวจที่ตัวเองว่า จริงๆ แล้ว เรากลัวอะไร เรากังวลเกินไปรึเปล่า? บางครั้งเรากังวลอนาคตมากเกินไป แปลว่าเรากำลังใส่ใจลูกในอนาคตมากกว่าลูกคนปัจจุบัน? หลายครั้งลูกในปัจจุบันก็ทุกข์มากเลยนะ เพราะพ่อแม่ไม่ยอมรับสิ่งที่เค้าเป็น ยังทำไม่ได้ ผลการเรียนไม่ดี ยังไม่รับผิดชอบ ยังดูแลตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ห่วงลูกในอนาคตเลยกดดันลูกคนปัจจุบันเพื่อที่ลูกในอนาคตจะได้มีความสุข ตรงนี้คงต้องทบทวนว่าแล้วลูกในปัจจุบันล่ะ? ทำยังไงที่จะอยู่กับลูกในปัจจุบันอย่างมีความสุข ถ้าลูกในปัจจุบันมีความสุขและเราก็เชื่อมั่นในศักยภาพเค้า ค่อยๆ ดูแลกัน ในอนาคตเค้าน่าจะเอาตัวรอดได้ในแบบหนึ่ง ในแบบหนึ่งนะ (ย้ำ) อาจจะไม่ใช่ในแบบที่พ่อแม่คาดหวัง
คุณหมอเคยกล่าวว่า การบำบัดของคุณหมอไม่ใช่การบำบัดแค่น้องๆ แต่บำบัดพ่อแม่ด้วย
ส่วนหนึ่งค่ะ พ่อแม่พาเด็กมารักษาเพราะปัญหาอย่างหนึ่ง แต่บางทีปัญหานั้นอาจไม่ได้อยู่ที่เด็กแต่เป็นความคาดหวังของพ่อแม่ บางครั้งก็ต้องบำบัดพ่อแม่เกี่ยวกับความกลัวและความคาดหวัง จริงๆ ความคาดหวังไม่ได้เป็นปัญหาหรอก เพราะปกติพ่อแม่ก็ต้องคาดหวังสิ่งดีๆให้ลูกเป็นธรรมดา แต่สิ่งสำคัญคือต้องระวังและใส่ใจเรื่องการแสดงออกของความคาดหวังรวมถึงการแสดงออกความผิดหวัง
จริงๆ แล้วเด็กเซนส์ซิทีฟมากนะ บางทีเค้าอาจจะยังพูดหรือสื่อสารด้วยภาษาไม่ชัดเจน แต่เค้ารับอารมณ์ สีหน้า พลังงาน แววตา ของคนรอบข้างได้แม้ไม่มีการสื่อสารกัน เช่น เวลาพ่อแม่โกรธ ผิดหวัง หรือ พ่อแม่ทะเลาะกัน ไม่คุยกันเลย เกิดความตึงเครียดในครอบครัว แม้ไม่ได้ต่อว่ากัน แต่เด็กรับรู้ความเครียดเหล่านี้ได้
ปัญหาบางอย่างอาจแก้ลำบาก เช่น ในเด็กบางคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ทางกายภาพจริงๆ เช่น มีปัญหาทางสติปัญญา จุดนี้ก็ทำให้พ่อแม่ทั้งเป็นห่วง กลัว และคาดหวังด้วย ก็ต้องคุยกับพ่อแม่ให้เค้ายอมรับธรรมชาติ
พูดยากเหมือนกัน?
(พยักหน้า) บางเคสเด็กมีปัญหากับพ่อแม่ เด็กมีปัญหาด้านอารมณ์เนื่องมาจากปัญหาการเลี้ยงดู หลายครั้งพ่อแม่พาเด็กมาหาหมอ คาดหวังให้หมอแก้พฤติกรรมจากในห้องตรวจ ซึ่งเป็นไปได้ยาก หลายครั้งหมอไม่สามารถแก้ปัญหาที่ตัวเด็กในห้องตรวจได้ เพราะเด็กไม่แสดงปัญหากับหมอแต่เป็นเฉพาะกับพ่อแม่ งานส่วนใหญ่เราเลยต้องช่วยแนะนำพ่อแม่ เกี่ยวกับการสื่อสารและการดูแลอารมณ์ของลูก พ่อแม่ต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจเด็กและปรับเปลี่ยนวิธีการอยู่กับลูกของเค้า
จากปม หรือความขัดแย้งระดับเล็ก ไปสู่บาดแผลทางจิตใจ หรือ trauma ได้อย่างไร
trauma เป็นความขัดแย้งที่รุนแรงมากกว่า หมายถึง การมีเหตุการณ์เข้ามากระทบกระเทือนคนๆ หนึ่งทางกายภาพหรือทางจิตใจแล้วมีผลกระทบหลงเหลือต่อไปในอนาคต อาจทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตหรือทางร่างกายก็ได้ ตัวผลกระทบรุนแรงพอสมควรที่จะทำให้เราเปลี่ยนมุมมอง ทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ trauma อาจทำให้บางคนรู้สึกถูกทอดทิ้ง ถูกปฏิเสธไม่ใส่ใจ ถูกทำให้อับอายขายหน้ามากๆ หรืออะไรที่มันรุนแรงมาก เช่น การถูกทำร้ายทางร่างกายหรือ ทางเพศ
บางครั้งอาจเกิดจากเหตุการณ์เล็กๆ ที่ไต่ระดับเพิ่มความขัดแย้งไปเรื่อยๆ หรือเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่กังวลว่าลูกจะสอบตก “ทำไมผลสอบได้เท่านี้ ทำไมไม่พยายามกว่านี้” จุดนี้เริ่มเป็นความขัดแย้ง ลูกอาจตอบกลับด้วยอารมณ์ก็ได้ ซึ่งก็อาจจะกลายเป็นเริ่มทะเลาะกันรุนแรงจน พ่อแม่อาจจะเผลอพูดสิ่งที่ทำร้ายจิตใจ เช่น ตัดพ่อตัดลูก หรือไล่ออกจากบ้าน เป็นต้น นี่ก็อาจเกิด trauma ขึ้นได้ถ้าคำพูดนี้ไปกระทบกระเทือนจิตใจ
ความขัดแย้งเกิดกับพ่อแม่ก่อน (เป็นห่วงเรื่องอนาคตของลูก กลัวว่าลูกจะสอบตก) พอแสดงออกไปแบบนั้นก็ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างแม่กับลูก พอขัดแย้ง ลูกก็เกิด conflict ในใจและแสดงออกมา ถ้าต่างคนต่างไม่เข้ามาดูแลภายในใจตัวเองมันก็จะเกิดปัญหาที่ใหญ่ขึ้นๆ
จากความขัดแย้ง ไปสู่ trauma นำไปสู่การแสดงออกหรือพฤติกรรมอะไรได้บ้าง?
เป็นได้หลายแบบ เช่น บางคนเป็นกลุ่มเก็บประสบการณ์เข้ามาข้างในก็อาจทำให้ซึมเศร้า บางคนมีพฤติกรรมแสดงออกภายนอก อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ เช่น ขโมยของ หรือ วัยรุ่นบางคนอาจใช้สารเสพติด หรือพฤติกรรมอะไรก็ตามที่เป็นการแสดงออกเพื่อหนีปัญหา ซึ่งมีหลากหลายมาก
ซับซ้อนมากเลยนะคะ เพราะพฤติกรรมที่แสดงออกเหมือนภูเขาน้ำแข็ง เราไม่รู้ว่ามันเกิดจากปมหรือความกลัวแบบไหนที่อยู่ลึกลงไปใต้ภูเขา
วิธีจัดการ trauma คงต้องย้อนกลับมาที่เรื่องภายใน ทฤษฎีซาเทียร์จะพูดว่า ตัวพฤติกรรมหรืออาการไม่ใช่ปัญหา
เช่น เด็กอยากฆ่าตัวตาย หลายครั้งเราก็ไปวุ่นกับการพยายามหยุดพฤติกรรมอย่างเดียว อันนั้นไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง ปัญหาที่แท้จริงอยู่ข้างใน อะไรทำให้เค้าอยากฆ่าตัวตายละ? การฆ่าตัวตายเป็นทางออกของการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นทางออกที่ยังไม่ดีนัก ถ้าเรามัวแต่ไปจัดการหรือวุ่นวายกับการจัดการพฤติกรรม สุดท้ายก็ไม่ได้แก้ปมหรือ trauma ข้างใน
แง่หนึ่ง ปมสร้างปัญหา เป็นเหตุผลให้เรามีพฤติกรรมเชิงลบ ขณะที่อีกด้าน ปมเป็นเชื้อเพลิงในการพัฒนาตัวเอง
เบื้องต้น เวลาเราจะทำความเข้าใจคุณลักษณะในคน มันไม่มีคุณลักษณะไหนที่ดีหรือแย่ เช่น เรามีไฟ ไฟมีพลังในตัวเอง เราจะมองว่าไฟดีหรือแย่ก็บอกได้ยาก เราอาจใช้ไฟทำอาหาร ให้ความร้อน ให้ความอบอุ่น แง่นี้ไฟมีประโยชน์ แต่ถ้าร้อนไป ไฟก็อาจทำอันตรายผู้อื่นได้ มันอยู่ที่ว่าเราจะใช้คุณสมบัตินั้นในทางไหน ไฟก็เหมือนกับแบบแผนที่เราหรือเด็กแต่ละคนใช้เพื่อเอาตัวรอด ถ้าเราใช้มันในทางที่ดีมันก็พาเรารอดมาได้ถึงทุกวันนี้ แต่ถ้าใช้มันมากเกินไป มันก็เกิดปัญหา
ทฤษฎีจิตวิทยาสายคาร์ล ยุง (Carl Gustav Jung) อธิบายว่าเวลาที่เราเติบโตขึ้นมา เราสร้างแบบแผนบางอย่างขึ้น มันจะมีแบบแผนที่เรายึดถือ เราชอบมัน เรายอมรับว่านี่คือตัวตนของเรา และเราก็ทิ้งแบบแผนบางอย่างที่เราบอกว่านี่ไม่ใช่ตัวตนของเรา เราวางมัน เราเอามันไปไว้ที่อื่น ที่เป็นแบบนี้ เช่น เพราะเราเติบโตในครอบครัวที่ไม่โอเคกับความโกรธ ฉะนั้น ทุกครั้งที่แม่เกิด conflict กับลูก ลูกก็ต้องทำตามแม่อย่างเดียวเลย บ้านนี้ไม่มีใครแสดงอารมณ์โกรธเพราะมองว่าความโกรธเป็นสิ่งไม่ดี แล้วเค้าก็สร้างแบบแผนเป็นคนเอาใจคนอื่น พอเค้าโตขึ้นมา แบบแผน “เอาใจคนอื่น” จะเป็นแบบแผนที่เค้ายึดถือ ส่วนสิ่งที่เค้าทิ้งไปคือตัวตนที่มีพลังความโกรธ ตัวตนแห่งการยืนยันสิทธิ์ ตัวตนมีความแรง ตัวตนนี้เค้าไม่เอา
แต่ธรรมชาติของคนเราต้องมีหลายๆ อย่าง เพราะเราต้องเจอคนดี/ไม่ดี เจอเหตุการณ์ที่เอาใจต่อไปไม่ได้แล้ว ก็ต้องมีอารมณ์อีกด้านเกิดขึ้นเหมือนเป็นเงาเสมอ ทีนี้เวลาที่เค้าเกิดความโกรธหรือความก้าวร้าวขึ้น เค้าไม่ยอมรับ เค้าจะยอมรับตัวตนอีกด้านได้ยาก มันก็เลยทำให้เกิดเป็น conflict ในตัวเอง และไม่รู้ว่าเราจะจัดการยังไง เพราะ conflict ข้างนอกก็ทำให้เกิด conflict ข้างใน
คาร์ล ยุง อยากกระตุ้นการพัฒนาการรับรู้ตัวตนอื่นๆ ที่เราไม่เอา เพราะถ้าเราบอกว่าเรายึดกับความเป็นคนดี เป็นคน nice ชอบตามใจคนอื่น เราจะชอบไปมีปัญหากับคนที่เค้ายืนยันสิทธิ์ คนที่กล้าพูด กล้าขัดแย้ง เราอาจไม่ได้ทะเลาะกับเค้าตรงๆ แต่เราจะไม่ชอบคนเหล่านี้เลย ซึ่งชีวิตของเราอาจจะไปเจอกับพลังงานแบบนี้ที่เราไม่ชอบมากๆ แต่เราทิ้งพาร์ทนี้ไปแล้ว เลยทำให้เราไม่เข้าใจโลกอีกส่วนหนึ่ง และนั่นเป็นสิ่งที่เราขาด เพราะเราไม่ยืนยันพลังของตัวเอง ไม่ยืนยันสิทธิ์ที่มี ไม่ยอมใช้ความก้าวร้าว ซึ่งจริงๆ ความก้าวร้าวมันก็มีประโยชน์ของมันถ้าใช้ให้ถูก
ทฤษฎีคาร์ล ยุง อยากให้เรา integrate ทั้งสองพาร์ท รู้จักใช้พาร์ททั้งสองพาร์ทเข้าด้วยกัน เพราะถ้าสองพาร์ทมันแยกออกจากกันชัดเจนมาก มันจะเกิดอาการที่เป็นทางจิตเวชได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะทางจิตบางอย่างได้เหมือนกัน การทำให้เราสอดคล้องกลมกลืนกับตัวเองจะทำให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น เราจะไม่ตัดสินคนอื่นง่ายๆ เราจะเข้าใจว่ามันก็มีประโยชน์นะที่คนเราจะยืนยันสิทธิ์ตัวเอง มีประโยชน์กับสังคมนะที่มีคนแบบนี้อยู่ ถ้าไม่มีคนแบบนี้เลย ก็อยู่ยาก
ทั้งหมดนี้ เราเลือกแบบแผนให้ตัวเองไม่ได้ เพราะมาจากอดีตหรือประสบการณ์ที่เราเองก็เลือกไม่ได้
ภาพในอดีตที่ผ่านมาเราอาจเลือกไม่ได้ และเราทำดีที่สุดแล้ว สังคมหรืออะไรต่างๆ ทำให้เราโตมาเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเรากลับมาตระหนัก สำรวจตัวเอง ทำ inner work หรือสำรวจภายใน เราจะเลือกได้ คล้ายๆ ทำความเข้าใจว่า “เราไม่ต้อง nice ตลอดก็ได้หนิ” ทำไมเราต้อง nice ละ? เพราะเรากลัวไง กลัวคนจะมองเราไม่ดี ไม่ยอมรับเรา แต่จะเป็นอะไรมั้ยที่ทุกคนไม่จำเป็นต้องรักเรา แค่คนบางคนรักเราพอมั้ย? ทบทวนว่าเรายอมทิ้งบางส่วนเพื่อเป็นตัวเราจริงๆ ได้รึเปล่า
ความขัดแย้ง ปม กระทั่ง trauma หายหรือถูกเยียวยาได้มั้ย?
เวลาที่เราเจอเรื่องราวโหดร้ายรุนแรง เราไม่เข้าใจทั้งตัวเองและคนอื่น เรื่องราวประเภทนี้มีผลกระทบด้านลบเยอะกว่าจนอาจทำให้บางคนหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงหรือไม่แตะเรื่องนี้อีกเลย พอหลีกเลี่ยง มันก็เลยยังส่งผลในสมองเรา แต่เพราะเรื่องราวนี้ถูกบันทึกในสมองและอารมณ์ เมื่อมีเหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นอีก เราจะรู้สึกแบบนี้ จะปฏิบัติแบบนี้อย่างเป็นอัตโนมัติ ถูกจูนกลับไปที่ล็อกเดิม แพทเทิร์นเดิม ถ้าเราไม่กลับไปดูตรงนั้นเลยมันก็เหมือนเทปที่เปิดเล่นวนซ้ำไปเรื่อยๆ แต่ถามว่าเปลี่ยนแปลงได้มั้ย? เปลี่ยนแปลงได้ ด้วยการย้อนกลับไปฟังเทปใหม่แล้วอัดเทปทับประสบการณ์เก่า แต่ก่อนจะทำแบบนั้น เราต้องกลับไปทำความเข้าใจเทปนั้นใหม่ก่อน
บางคนมองว่า พ่อแม่โหดร้ายทารุณกับเรามาก เราจะย้อนกลับไปเพื่อทำความเข้าใจพ่อแม่ใหม่ “เฮ้ย ตอนนั้น สถานการณ์ในชีวิตของแม่มันรุนแรงมากนะ ไม่มีเงิน ไม่มีอะไร และแม่ก็โตมาในชีวิตที่ยากลำบากมากเลยนะ เค้าก็โตมากับพ่อแม่ของเค้า (ตาและยาย) ที่เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าดูแลเค้ามาดีหรือไม่ดียังไง” พอทำความเข้าใจแล้วจะเห็นว่าในสิ่งที่เค้าทำมันมีทั้งบวกทั้งลบ และทำให้เข้าใจมากขึ้น
เหมือนเรารีไรท์เรื่องราวหรืออัดทับประสบการณ์ที่เลวร้าย แทนที่เราจะเป็นเหยื่อ เป็นผู้ถูกกระทำ กลายเป็นว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์นั้น และยังได้เห็นศักยภาพตัวเองด้วยว่า “เฮ้ย ในภาวะที่แม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ส่วนหนึ่งที่เราโตมาได้ก็เพราะการดูแลตัวเองและยังดูแลน้องๆ ด้วยนะ
การเห็นเรื่องเล่าในมุมใหม่ที่เราไม่เคยเห็น มันเติมอารมณ์ด้านบวกหรือการยอมรับขึ้นมาได้ เหมือนการอัดทับสมองที่เคยบันทึกของเก่าไว้ วิธีนี้ทำให้เราเปลี่ยนได้ พอเราเจอเหตุการณ์คล้ายเดิม เราก็จะเปลี่ยนมุมมอง อารมณ์ที่เจอก็จะเปลี่ยนไป
การรีไรท์หรือทบทวนประวัติศาสตร์ตัวเอง จำเป็นมั้ยที่จะต้องมีใครมาช่วยรับฟัง ช่วยถาม ช่วยชำระ หรือเราทวนด้วยตัวเองได้?
จริงๆ เราทวนกับตัวเองได้ แต่การมีคนอยู่กับเราอาจช่วยทำให้ง่ายและเร็วกว่า เพราะเวลาเราเล่าอะไรให้ใครสักคนฟัง มันมีการตอบสนอง มีแววตา มีพลังงานดีส่งมา บางทีเล่าเรื่องเศร้าเพื่อนเราน้ำตาคลอไปด้วย แค่นั้นเราก็ถูกเยียวยาไปในตัวเอง เหมือนได้รับพลังบางอย่างที่เค้าส่งให้เรา หรือ บางครั้งเราก็ต้องการมุมมองใหม่จากคนอื่น
เคยมีเคสหนึ่งที่เคยดูแลตอนเป็นแพทย์ประจำบ้านใหม่ เป็นเคสผู้หญิงใจดีและเข้าอกเข้าใจคนอื่น ต่อมาถูกสามีนอกใจ เธอทุกข์มาก ซึมเศร้า ไม่มีกำลังใจมีชีวิต มาคุยกับหมอสองครั้งเราก็ช่วยเค้าไม่ได้มาก แต่เราก็ชื่นชมเค้าที่เค้าให้อภัยและไม่มีความเคียดแค้นสามี ครั้งที่สามคนไข้มาหาด้วยสีหน้าและพลังงานที่เปลี่ยนไป ดีขึ้นมาก เค้าเล่าว่า จากเดิมที่ไม่เคยกล้าเล่าให้เพื่อนฟัง ก็ไปลองเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง เพื่อนฟังๆ ไปแล้วโกรธแทนเธอ จนเพื่อนของผู้หญิงคนนั้นพูดขึ้นมาว่า “เฮ้ย แล้วทำไมเธอไม่โกรธ?” พอมาคิดๆ ดู ก็เพิ่งรู้ว่า เออ… มันโกรธได้นะ ตอนแรกผู้หญิงคนนี้คงรู้สึกอยากปล่อยวางและไม่ควรโกรธ ปรากฎว่าเพื่อนทำหน้าที่สะท้อนด้านอื่นๆ ว่า “เราโกรธได้นะ” พอโกรธได้ พลังงานบางอย่างก็ได้ปลดปล่อยออกมา อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างเฉพาะของเคสนี้นะ ไม่ได้หมายความว่าเคสอื่นจะแก้ปัญหาด้วยแบบนี้ได้
อันนั้นอาจเป็นพาร์ทการเยียวยาตัวเองของผู้ใหญ่ แต่ trauma ในเด็ก ฟื้นคืนได้มั้ย ทำยังไงให้เด็กกลับมาไว้ใจ มีความมั่นใจอีกครั้ง
เด็กก็กลับมาได้ คนเรามีคุณสมบัติฟื้นฟูตัวเองที่เราเรียกว่ามี resilience สมมุติเราเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่มีข้อจำกัด มีต้นทุนจำกัด และเราก็มีปัญหา มี trauma หลายอย่าง แต่ถ้าเกิดเราไปเจอครูที่ดี เจอเพื่อนที่ดี ผู้ใหญ่ที่ดีสักคน แค่หนึ่งความสัมพันธ์ที่มีความหมายก็สามารถเปลี่ยนคนๆ หนึ่งได้ กระทั่งโตขึ้นแล้วเจอกับแฟนหรือเจอเพื่อนคนหนึ่งที่เปลี่ยนความสัมพันธ์ นี่ก็เปลี่ยน trauma ได้จากการได้เรียนรู้ว่าจริงๆ มันมีความสัมพันธ์ที่มั่นคง เชื่อถือได้ เรามีคนที่ดีและเราก็เป็นคนที่ดี มีคนยอมรับ มีความสัมพันธ์ที่ดีได้
คุยกันถึงตรงนี้ พ่อแม่หลายคนอาจหนักใจแล้วว่าเผลอสร้างปมให้กับลูกหรือเปล่า เพราะแม้แต่เรื่องเล็กน้อยก็กลายเป็นปมยิ่งใหญ่ของลูกได้
ไม่มีพ่อแม่ที่เพอร์เฟค 24 ชั่วโมง ไม่ว่าเราจะพยายามแค่ไหนมันก็ต้องมีจุดสร้างความขัดแย้ง เกิดปมบางอย่างได้อยู่ดี ถ้ารู้ตัวทันว่าสิ่งที่เรากำลังทำมันเป็นปัญหาของเราเอง เราจัดการตัวเองก่อน แต่ถ้าเผลอไปทำอะไรที่รุนแรง ลูกเสียใจ สิ่งที่เราทำได้คือ ก็เสียใจไปกับเค้าด้วย พ่อแม่ก็ขอโทษลูกได้
แสดงให้เค้าเห็นว่าเราเสียใจนะ ขอโทษเค้า ทำให้เห็นว่าเรารักเค้านะ เราเข้าใจเค้านะ ความผิดพลาดมันเกิดขึ้นได้ เราย้อนกลับไปสร้างโอกาสในการเรียนรู้อะไรดีๆ ได้เสมอ
เราจะดูได้ยังไงว่าเด็กคนหนึ่ง มีปม มีบาดแผล
จริงๆ แล้ว เราไม่ต้องไปคอยตรวจหาว่ามีปมมั้ยหรอก เราก็แค่ทำความรู้จักลูกให้มากขึ้น ใช้เวลากับเค้า สังเกตเค้า เรียนรู้เค้า ลูกเราสนใจอะไร ชอบอะไร อารมณ์หรือนิสัยใจคอเป็นยังไง ปกติเค้าพูดคุยกับเรามากน้อยแค่ไหน ลองสังเกตสีหน้า แววตา น้ำเสียง เหมือนเราคอยใส่ใจเค้า พูดคุยกับเค้า เด็กบางคนเริ่มเก็บตัว แยกตัวไปทำอย่างอื่น เด็กบางคนเริ่มมีอารมณ์รุนแรงขึ้นจากเดิม ลองสังเกตดู ถ้าเราใช้เวลากับเค้าเรื่อยๆ เราจะรู้ว่าลูกเริ่มเปลี่ยนไปแปลกๆ พ่อแม่ส่วนใหญ่จะ “เอ๊ะ” อยู่แล้ว แต่ถ้าเราไม่ค่อยได้ใส่ใจ เราเห็นเค้าเรียนได้ ทำอะไรได้ เราก็ไม่ได้ใส่ใจ พักผ่อนของเราไป เราก็จะไม่ค่อยเห็นเวลาที่มันเปลี่ยนแปลง ใช้เวลากับลูกให้เยอะ
ถ้าเริ่มรู้สึกแปลกๆ ก็ลองคุยกับลูกก่อน ถ้าคุยแล้วเกิดความยากลำบากใจก็อาจขอคำปรึกษาได้จากนักจิตวิทยา จิตแพทย์ นักจิตบำบัดสายต่างๆ ซึ่งการพามาพบคุณหมอก็ไม่ได้แปลว่าเค้าจะมีปัญหาจริงๆ บางเคสที่มาพบคุณหมอก็ไม่ได้มีปัญหา แต่หมออาจบอกว่า “โอเคค่ะ ปกติดีนะ” พ่อแม่จะได้สบายใจ
นพลักษณ์ (Enneagram) ศาสตร์ที่ช่วยให้รู้จักตัวเอง เข้าใจจุดอ่อน/จุดแข็งของคนแต่ละประเภท พร้อมเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น แบ่งคนออกเป็น 9 กลุ่มตามลักษณะนิสัย ดังนี้ 1.ผู้สมบูรณ์แบบ – อยู่กับความจริง มีหลักการและมโนธรรมสำนึก ดำเนินชีวิตตามอุดมคติของตนเอง 2.ผู้ช่วยเหลือ – เป็นคนอบอุ่น ดูแลห่วงใย และรับรู้ความต้องการของผู้อื่นได้ไว 3.ผู้ใฝ่สำเร็จ – กระตือรือร้น มองโลกในแง่ดี มั่นใจตัวเองและมีเป้าหมาย 4.คนโรแมนติก – อ่อนไหว อบอุ่น เข้าอกเข้าใจผู้อื่น 5.ผู้สังเกตการณ์ – สนใจหาความรู้ เก็บตัว ช่างวิเคราะห์และเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้เร็ว 6.นักปุจฉา – รับผิดชอบ ไว้ใจได้ เห็นคุณค่าครอบครัว เพื่อนฝูง หมู่คณะ 7.นักผจญภัย – กระตือรือร้น มีชีวิตชีวา มองโลกแง่ดี สรรสร้างสังคม 8.ผู้ปกป้อง – ตรงไปตรงมา พึ่งตนเอง มั่นใจ ปกป้องผู้อื่น 9.ผู้ประสานไมตรี – เปิดรับ ใจดี หนุนผู้อื่น สร้างสามัคคี |