บันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน นี้ ตีความจากหนังสือ ‘Poor Students, Rich Teaching: Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty’ (Revised Edition, 2019) เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง มีปัญหาการเรียน และเคยเป็นครูมาก่อน เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู ผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้ เป็นชุดความรู้ที่เหมาะสมต่อ ครูเพื่อศิษย์ ที่สอนนักเรียนที่มีพื้นฐานขาดแคลน ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยนักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ
บันทึกที่ 24 สร้างการเรียนอย่างเห็นคุณค่านี้ เป็นบันทึกที่ 3 ใน 4 บันทึก ภายใต้ชุดความคิดสร้างความเอาใจใส่ของนักเรียน (engagement mindset) ตีความจาก Chapter 17: Engage Students for a Deeper Buy-In
สาระหลักของบันทึกนี้คือ เป้าหมายของการเรียนรู้คือเปลี่ยนแปลงสมอง หากนักเรียนเข้าเรียนด้วยสมองที่อยู่กับกิจกรรมเพียงครึ่งๆ กลางๆ ผลการเรียนรู้ก็จะครึ่งๆ กลางๆ ด้วย โดยที่สมองมีการเปลี่ยนแปลงน้อย สภาพที่สมองอยู่กับการเรียนเต็มร้อย เป็นสภาพที่นักเรียนเรียนเพราะเห็นคุณค่า ครูจึงต้องเริ่มต้นการสอนด้วยการทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการเรียนนั้น นักเรียนต้องตอบคำถาม “ทำไม” ได้ ทำไมจึงต้องเรียนบทเรียนนี้
เปลี่ยนจากเรียนตามครู (Compliance Learning) เป็นเรียนตามที่ตนต้องการ (Choice Learning)
การเรียนรู้ในห้องเรียนมี 2 แบบ คือ เรียนแบบจำใจ (compliance learning) กับเรียนเพราะชอบ เพราะอยากเรียน (choice learning) นักเรียนจำนวนไม่น้อย ตกอยู่ในกลุ่มแรก เป็นหน้าที่ของครู ที่จะต้องย้ายกลุ่มนักเรียน ไปไว้ในกลุ่มหลังให้หมด เพื่อให้เกิดการเรียนที่ทรงพลัง และจารึกเข้าไปในสมองของนักเรียน รวมทั้งเพื่อให้บรรยากาศในห้องเรียนมีชีวิตชีวา มีความสุข
การเรียนแบบจำใจเรียนของนักเรียน เป็นตัวบั่นทอนชีวิตครู เพราะเมื่อนักเรียนไม่เข้าใจ ครูก็ต้องสอนซ้ำ สมมุติว่า ครูต้องสอนซ้ำวันละ 10 นาที ก็เท่ากับปีละกว่า 25 ชั่วโมงที่ครูต้องทำงานเพิ่มโดยไม่จำเป็น
ครูที่เริ่มคาบเรียนด้วยการกระตุ้นความตื่นตัว (arousal) โดยให้แก้ปัญหา ให้เล่นเกม หรือเล่าโจ๊ก ช่วยให้สมองตื่นตัวพร้อมเรียน คือสมองตื่น ว่องไว และอยู่ในสภาพที่มีฮอร์โมนเพื่อการเรียนรู้หลั่งออกมา แต่ยังไม่ใช่สภาพสมองที่หิวการเรียน ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า buy-in และเห็นคุณค่าของการเรียน (relevance) ที่สมองตอบคำถาม “ทำไม” ได้ ทำไมจึงต้องเรียนบทเรียนนี้
ผมขอเพิ่มเติมว่า สมองมนุษย์มีความฉลาดอยู่ในตัว คือรู้จักผ่อนพัก เพื่อให้สมองไม่เหนื่อยเกินไป หากตอบคำถาม “ทำไม” ไม่ได้ หรือตอบได้ไม่ชัดเจน สมองจะเข้าสู่สภาพ ‘เกียร์ว่าง’ และจะไม่จำบทเรียนนั้น
เพื่อให้ครูนำนักเรียนเข้าสู่สภาพพร้อมเรียน มีแรงบันดาลใจต่อการเรียน ครูต้องเข้าใจ 3 ขั้นตอนของการเตรียมพร้อม คือ ขั้นเริ่มต้น (set up) ขั้นอยากเรียน (buy-in) และขั้นเห็นคุณค่า (relevance)
เตรียมความพร้อม 3 ขั้นตอน: เริ่มต้น อยากเรียน และเห็นคุณค่า
จะเห็นว่า ผู้เขียนแยกแยะการเตรียมความพร้อมต่อการเรียนของนักเรียน ละเอียดออกไปถึง 3 ขั้นตอน โดยที่ต้องไม่สับสน หรือปนขั้นตอนดังกล่าว เครื่องมือ 3 ขั้นตอนนี้จะได้ผลดีต้องการ ‘ตัวช่วย’ 4 ประการคือ (1) ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน (2) บรรยากาศในห้องเรียน (3) ความคาดหวังของนักเรียนต่อผลสำเร็จในการเรียน และ (4) ความสัมพันธ์ของครู กับตัวช่วยทั้ง 3 ประการข้างต้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างสภาพจิตใจ หรือสภาพสมองของนักเรียน ที่พร้อมเรียนสูงสุด
เริ่มต้น (setup)
อาจเริ่มต้นด้วยเครื่องมือปลุกเร้าความตื่นตัว (arousal) เช่นใช้คำถามกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น “นักเรียนอยากทำการทดลองที่สนุกสุดๆ ไหม” หรือ ปลุกเร้าด้วยท่าทีกระตือรือร้นของครู “ว้าว ครูรู้สึกตื่นเต้นที่จะสอนตอนนี้มาก ทุกคนกรุณายืนขึ้น…”
เขาแนะนำประโยคต่อไปนี้
“ครูมีเรื่องสำคัญให้นักเรียนทำ กรุณายืนขึ้น” แรงดึงดูดคือ ความอยากรู้อยากเห็น (curiosity)
“ครูกำลังจะบอกบางเรื่องที่จะทำให้นักเรียนแปลกใจ” แรงดึงดูดคือ ความคาดหวัง (anticipation)
“ทุกคนกรุณายืนขึ้น เรากำลังจะทำการทดลอง เมื่อเสียงดนตรีเริ่มขึ้น ให้เดินไปแตะโต๊ะที่ไม่ใช่โต๊ะของตัวเอง 5 โต๊ะแล้วยืนรอคำสั่งต่อไป”
การปลุกเร้าขั้นเริ่มต้นนี้สำคัญมาก หากนักเรียนยังคงง่วงเหงาหาวนอน กระบวนการเตรียมความพร้อมอีก 2 ขั้นตอนต่อไป จะไม่ได้ผล ในขั้นตอนแรกนี้ หวังผลให้การไหลเวียนเลือดเพิ่มขึ้น และเพิ่มสารเคมีเพื่อการเรียนรู้ในสมอง
อยากเรียน (buy-in)
เป้าหมายของขั้นตอนนี้ เพื่อให้นักเรียนเข้าใจความหมายของสิ่งที่กำลังจะเรียน คือตอบคำถาม “ทำไม” ได้ ทำไมจึงต้องเรียนบทเรียนนี้ เป็นการดึงความสนใจเข้าสู่บทเรียน และพร้อมเข้าสู่การเตรียมความพร้อมขั้นตอนต่อไป เครื่องมือของขั้นตอนนี้ คือคำพูดของครูต่อไปนี้
“ขอให้ทุกคนหายใจเข้าออกยาวๆ ถ้านักเรียนพร้อมที่จะเรียนสิ่งที่น่าพิศวง จงกระทืบเท้าสองครั้ง” แรงดึงดูดคือการเรียนรู้
“นี่คือปัญหาธรรมดาๆ ที่ไม่เคยมีลูกศิษย์ของครูคนใดเคยแก้ปัญหาได้ภายใน 3 นาที ครูให้เวลา 3 นาที ให้นักเรียนจับคู่กับเพื่อนที่นั่งติดกัน ช่วยกันทำโจทย์ พร้อม? เริ่ม!” แรงดึงดูดคือ การทำงานเป็นทีม เพื่อแก้โจทย์อย่างรวดเร็ว ซึ่งนักเรียนคนก่อนๆ ไม่เคยทำได้
“ต่อไปนี้คือความรู้ที่จะช่วยให้นักเรียนได้เกรดที่อยากได้” แรงดึงดูดคือเกรดที่สูงขึ้น
“ครูมีงานให้ทำที่จะช่วยให้นักเรียนไม่ต้องใช้เวลาอ่านหนังสือนานๆ เป็นงานที่ใช้เวลาไม่กี่นาที พร้อมหรือยัง” แรงดึงดูดคือ จะมีเวลาเล่นกับเพื่อนมากขึ้น
“เรามาเรียนรู้วิธีที่จะช่วยให้นักเรียนจำเรื่องราวได้ดีขึ้นในช่วงสอบ โดยใช้เวลาเรียนลดลง ดีไหม” แรงดึงดูดคือ ทำข้อสอบได้ง่ายขึ้น และลดเวลาเรียนลง
หลักการคือ ให้นักเรียนได้ชิมเรื่องราวการเรียนรู้ส่วนหนึ่ง ก่อนจะเรียนบทเรียนทั้งหมด
เห็นคุณค่า (relevance)
ในสองขั้นตอนแรก เป็นการปลุกสมองและร่างกายให้ตื่น ตามด้วยการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ความคาดหวัง และความท้าทาย ต้องตามด้วยขั้นตอนที่สาม คือการเห็นคุณค่าหรือความหมายของบทเรียน ซึ่งจะทำให้การเตรียมความพร้อมมีผลระยะยาว
คุณค่าที่ดึงดูดนั้นเรียนเปลี่ยนไปตามวัย เด็กอายุ 5 ขวบ เน้นที่ความรู้สึกมั่นคง และสนุก สำหรับนักเรียนอายุ 15 ปี เน้นที่การได้รับการยอมรับจากเพื่อน และรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง
เขาแนะนำแรงขับเคลื่อนความรู้สึกเห็นคุณค่า 10 ตัว เป็นแรงขับเคลื่อนจากภายในตัวเอง 5 ตัว และแรงขับเคลื่อนผ่านปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น 5 ตัว ดังต่อไปนี้
แรงขับเคลื่อนภายใน
- สร้างความมั่นคงปลอดภัย (security)
- ให้ความเป็นอิสระ (autonomy)
- สร้างอัตลักษณ์ (identity)
- ให้ความรู้สึกว่าทำได้ดี (mastery)
- เชื่อมโยงกับเป้าหมายชีวิตในมิติที่ลึก (deep meaning)
แรงขับเคลื่อนผ่านปฏิสัมพันธ์
- สถานะทางสังคม
- ผูกมิตร
- มีคุณค่า
- เชื่อมโยงสู่เป้าหมายยิ่งใหญ่
- พิสูจน์ตัวเอง
หลักการคือ เราอาจสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากการมีตัวกระตุ้น แต่หากจะให้สนใจระยะยาว เราต้องเห็นคุณค่าหรือความหมายต่อตัวเรา
ใช้ตัวช่วยดึงดูด
การสร้างความสนใจเรียนของนักเรียน ในเบื้องต้น เน้นการสร้างพลัง (energy) และสร้างแรงส่ง (momentum) แต่จะให้นักเรียนรักเรียนต่อเนื่อง ต้องให้นักเรียนเห็นคุณค่าอย่างชัดเจน ของการเรียน ต่อชีวิตของตนเองในขณะนั้น และตามช่วงอายุของนักเรียน
ตัวช่วยดึงดูดนักเรียนสู่การเห็นคุณค่าของการเรียนต่อชีวิตของตนเอง มีมากมายหลากหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม การเคลื่อนไหว (kinesthetic-ช่วยให้นักเรียนได้จับ คลำ โยน เล่น สิ่งของนั้น), กลุ่มวัสดุสิ่งของ (สำหรับเอามาโชว์), กลุ่มการท่องเที่ยว (ออกไปนอกห้องเรียน ไปยังบางสถานที่ เพื่อเรียนรู้), กลุ่มดนตรี (ใช้ดนตรีแสดงประเด็นการเรียนรู้), กลุ่มทัศนศิลป์ (สร้างโปสเตอร์เพื่อบอกเป้าหมายการเรียนรู้ หรือบอกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น), กลุ่มการละคร (แสดงท่าทางที่สะท้อนความคิดหรือเหตุการณ์), กลุ่มงานอดิเรก (ให้นักเรียนแชร์งานอดิเรกของตน เมื่อเรียนมาถึงเรื่องนั้น), กลุ่มเสรี (autonomy-อนุญาตให้นักเรียนแสดงความเชื่อมโยงของเรื่องที่เรียนกับชีวิตของตนได้โดยอิสระ), กลุ่มกิจกรรมตามเทศกาล (เชื่อมโยงกับเรื่องราวตามข่าว), กลุ่มสร้างกล่องลับ (ภายในกล่องมีสาระการเรียนรู้ที่กำลังเรียน), กลุ่มออกแบบภายใน (ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการจัดห้องให้เหมาะต่อการเรียนรู้สาระนั้นๆ), กลุ่มเครื่องแต่งกาย (แต่งตัวตามตัวละครในเรื่องที่เรียน)
ตัวช่วยดึงดูดให้เห็นว่าการเรียนมีคุณค่าเชื่อมโยงกับชีวิตจริงในนักเรียนระดับอนุบาลถึง ม.6 มีมากกว่า 50 อย่าง และมีบอกไว้ในหนังสือ ‘Teach Like a Pirate’ (Burgess, 2012) และ ‘How to Motivate Reluctant Learners’ (R. Jackson, 2011) โดยมีตัวอย่างตัวดึงดูดทางสังคมในนักเรียนระดับประถมและมัธยม ดังในตารางข้างล่าง
มีครูมัธยมในสหรัฐอเมริกา ผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ ใช้การบรรลุระดับคะแนนสำหรับการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียน เป็นแรงดึงดูดคุณค่า นอกจากนั้น ครูท่านนี้ยังใช้คะแนนคณิตศาสตร์ของโรงเรียนใกล้ๆ ที่มีผลการเรียนดีกว่า มาเป็นตัวเปรียบเทียบและกระตุ้นให้นักเรียนช่วยกันเอาชนะโรงเรียนที่สมมุติว่าเป็นคู่แข่งนั้น ครูท่านนี้ได้ชื่อว่าเป็นครูคณิตศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จสูง
ใช้คำถาม
เขาแบ่งระดับคำถามเป็น good questions กับ great questions และบอกว่า good questions ช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น การเห็นคุณค่า และการใคร่ครวญสะท้อนคิด ส่วน great questions ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศของห้องเรียน และอาจถึงกับเปลี่ยนชีวิตของนักเรียน การใช้คำถาม หรือการถาม-ตอบ ในชั้นเรียน ที่ทำอย่างถูกต้อง ช่วยเพิ่ม effect size ของผลการเรียนสูงถึง 0.81 โดยที่กิจกรรมนี้ต้องการ การมีส่วนร่วม ความรู้สึกปลอดภัยที่จะถาม การมีเป้าหมายที่ความเข้าใจที่ลึก และการดำรงสัมพันธภาพที่ดี ตรงนี้ผมขอขยายความว่า ในส่วนของครู ต้องไม่ตั้งคำถามแบบไล่ต้อนให้จนมุม ต้องตั้งคำถามแบบหนุนการเรียนรู้ ในส่วนของนักเรียน นักเรียนต้องรู้สึกสบายใจที่จะถาม โดยไม่กลัวถูกเยาะเย้ยว่าโง่
เขาแนะนำว่า คำถามมี 5 ประเภท ได้แก่
- คำถามเพื่อตรวจสอบความรู้เดิม (discovery questions) ใช้เมื่อพบว่ามีนักเรียนบางคนไม่เข้าใจ หรือเรียนล้าหลังเพื่อนๆ อาจตั้งคำถามในทำนอง “อธิบายให้ครูและเพื่อนๆ ฟังหน่อย ว่าเธอมีความรู้เกี่ยวกับน้ำขึ้นน้ำลงอย่างไรบ้าง”
- คำถามที่ช่วยยกระดับการเรียนรู้ (essential questions) มี 2 แบบ (1) ช่วยให้เข้าใจกว้างขึ้น เช่น “ปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงมีผลอย่างไรต่อชีวิตมนุษย์” (2) ช่วยให้เข้าใจสาระที่เรียนอย่างถูกต้องชัดเจน
- คำถามที่ช่วยการสรุปสาระการเรียนรู้ เช่น “สาระการเรียนรู้สำคัญในคาบนี้มีอะไรบ้าง”
- คำถามที่ช่วยการขยายความ ก่อนใช้คำถามชนิดนี้ควรถามคำถามเชิงสรุปสาระการเรียนรู้ และได้คำตอบที่ชัดเจนเสียก่อน ตัวอย่างคำถามเช่น “ความรู้ที่เรียนในวันนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราอย่างไรบ้าง”
- คำถามเพื่อรวบรวมข้อมูลหลักฐาน (evidence-gathering questions) ใช้ในกรณีที่นักเรียนกำลังถกเถียงกัน หรือแบ่งจุดยืนออกเป็นหลายฝ่าย “บอกครูได้ไหมว่าหลักฐานที่แสดงว่าข้อโต้แย้งของเธอถูกต้องมีอะไรบ้าง” “ฝ่ายตรงข้ามจะโต้แย้งว่าอย่างไร ทำไม” “เธอมีข้อเท็จจริงอะไร ที่ฝ่ายตรงข้ามไม่มี”
วิธีสร้างบรรยากาศตั้งคำถามและตอบคำถามอย่างคึกคักสนุกสนานทำได้หลายแบบ เช่นเขียนคำถามไว้บนกระดานหน้าชั้น เขียนชื่อนักเรียนแต่ละคนลงกระดาษม้วนใส่ลงในกล่อง ให้นักเรียนอาสาสมัครเป็นผู้จับชื่อนักเรียนที่จะเป็นผู้ตอบ (หากจับได้ตัวเอง ให้จับใหม่) หากนักเรียนที่ถูกขานชื่อตอบไม่ได้ ครูบอกว่าให้เวลาคิดอีกสองสามนาที แล้วจับชื่อนักเรียนคนอื่นต่อไป หลังจากนั้นจึงกลับมาให้นักเรียนคนเดิมตอบ
เมื่อนักเรียนตอบ ครูควรตั้งคำถามต่อ “รู้ได้อย่างไรว่าคำตอบที่ให้เป็นคำตอบที่ถูกต้อง” เมื่อนักเรียนตอบ ครูกล่าวคำขอบคุณ และบอกว่า “ครูชื่นชมที่เธอช่วยทำให้การเรียนรู้มีชีวิตชีวา ช่วยบอกครูอีกนิดได้ไหมว่า …”
ครูต้องตั้งคำถามด้วยความรัก ให้เกียรตินักเรียนในด้านที่เขาต้องการการยอมรับนับถือจากเพื่อนๆ ห้ามทำให้นักเรียนเสียหน้าหรืออับอายเป็นอันขาด หลักการสำคัญคือ ‘ค้นหาให้พบ’ ‘ค้นหาเพิ่ม’ และผลักดันต่อ ด้วยท่าทีให้เกียรติ และให้คุณค่าต่อสิ่งที่นักเรียนรู้ และความเจริญก้าวหน้าของนักเรียนแต่ละคน
วิจารณ์ พานิช
11 พ.ค. 62
อ่านบทความ วิจารณ์ พานิช สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน เพิ่มเติมได้ ที่นี่