- กลไก Shame Dynamic จะถูกจิตใต้สำนึกสะกิดให้ทำงานทันทีที่สัมผัสถึงบรรยากาศคับข้องใจแบบเดิมๆ หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่ตกอยู่ในสถานะที่รู้สึกไร้ค่าและถูกลิดรอนอำนาจ ถ้าลูกมีความขัดแย้งรุนแรงกับพ่อแม่โดยไม่ได้รับการคลี่คลาย ในอนาคตเขาก็จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมจะทำซ้ำความบาดหมางเดิมอยู่ตลอดเพราะกลไกปิดกั้นนี้จะติดตัวไป
- อุปสรรคส่วนใหญ่ที่ทำให้ปัญหาคาราคาซัง คือ ทิฐิที่คิดหมกมุ่นถึงต้นตอความผิดใจกันและโมเมนท์ที่โดนอีกฝ่ายสาดอารมณ์เข้าใส่ ยิ่งแล้วใหญ่ถ้าพ่อแม่บางคนทำแค่ “ปรับอารมณ์” ทะเลาะกันรุนแรงแล้วทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เด็กจะยิ่งทับถมความรู้สึกห่างเหินไปเรื่อยๆ
- การทบทวนตัวเองและคลี่คลายความบาดหมางที่มีกับลูก คือ การตัดไฟแต่ต้นลม พ่อแม่จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะสังเกตและหา Shame Dynamic ของตัวเองให้เจอเพื่อสร้างเส้นทางใหม่ไม่ซ้ำแผลเดิมและเพื่อทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้น
อ่าน ความขัดแย้ง และวิธีสงบศึกกับลูกด้วยดี ตอน 1 คลิก
ปมบาดแผลของพ่อแม่ส่งผลอย่างไรถึงลูก
เมื่อผิดใจอย่างรุนแรงกับผู้ใหญ่ ลูกอาจรู้สึกคับข้องใจไปจนถึงหมดคุณค่าในตัวเองได้เลยทีเดียว ยิ่งพ่อแม่ใช้อารมณ์บีบคั้นรุนแรง ความคับข้องใจจากความบาดหมางอาจพัฒนาสู่ภาวะเข้าสังคมไม่ได้เพราะคิดว่าตัวเองด้อยกว่าเพื่อนและปรับตัวยืดหยุ่นไม่เป็น ซึ่งนอกจากจะกลายเป็นบุคลิกติดตัวไปในที่สุด การอยู่ในครอบครัวที่บาดหมางกันเป็นเวลานาน พัฒนาการทางจิตใจอาจพลอยได้รับความเสียหายไปด้วย
สถานะความสัมพันธ์กับลูกสังเกตดูได้ไม่ยาก ถ้าผิดปกติ สัญญาณมีให้เห็นตั้งแต่การปลีกตัวจากพ่อแม่ ไม่ปฏิสัมพันธ์ หลบสายตา หน้าบึ้งใส่ ไปจนกระทั่งแสดงออกก้าวร้าวไม่เคารพ บางกรณีอาจพูดคุยปกติแต่วางระยะห่างเหิน คุยแต่เรื่องจิปาถะไม่ลงลึกถึงความรู้สึกภายในระหว่างกันเลย ต่างฝ่ายต่างฟังแต่เสียงตัวเอง ยิ่งถ้าพ่อแม่มีปมเก่าแล้วไม่เคยทบทวนทำความเข้าใจกับตัวเองอย่างหมดจด ปล่อยให้ความห่างเหินกับลูกลุกลามเป็นความบาดหมางขั้นรุนแรง ความแตกแยกก็ยิ่งยากจะเยียวยา
กลไก Shame Dynamic จะถูกจิตใต้สำนึกสะกิดให้ทำงานทันทีที่สัมผัสถึงบรรยากาศคับข้องใจแบบเดิมๆ หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่ตกอยู่ในสถานะที่รู้สึกไร้ค่าและถูกลิดรอนอำนาจ ถ้าลูกมีความขัดแย้งรุนแรงกับพ่อแม่โดยไม่ได้รับการคลี่คลาย ในอนาคตเขาก็จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมจะทำซ้ำความบาดหมางเดิมอยู่ตลอดเพราะกลไกปิดกั้นนี้จะติดตัวไป การทบทวนตัวเองและคลี่คลายความบาดหมางที่มีกับเขาคือการตัดไฟแต่ต้นลม พ่อแม่จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะสังเกตและหา Shame Dynamic ของตัวเองให้เจอเพื่อสร้างเส้นทางใหม่ไม่ซ้ำแผลเดิมและเพื่อทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้น
เตรียมพร้อมก่อนสงบศึก
จะสงบศึกได้ พ่อแม่ต้องเป็นฝ่ายริเริ่มเปิดใจและปล่อยวางอารมณ์ที่มีลงเพื่อหันหน้าเข้าหาลูกแล้วปรับความเข้าใจ จุดเริ่มต้นคือการทำใจให้เป็นกลางที่สุด ถ้ายังบูดบึ้งแผ่รังสีมืดหม่นให้ลูกกลัวก็คงยากที่จะประสานรอยบาดหมางได้สนิท อุปสรรคส่วนใหญ่ที่ทำให้ปัญหาคาราคาซังคือทิฐิที่คิดหมกมุ่นถึงต้นตอความผิดใจกันและโมเมนท์ที่โดนอีกฝ่ายสาดอารมณ์เข้าใส่ ยิ่งแล้วใหญ่ถ้าพ่อแม่บางคนทำแค่ “ปรับอารมณ์” ทะเลาะกันรุนแรงแล้วทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เด็กจะยิ่งทับถมความรู้สึกห่างเหินไปเรื่อยๆ
ทำใจให้เป็นกลางทำอย่างไร?
อันดับแรก ถอยกลับไปพิจารณาประเด็นปัญหาด้วยมุมมองของคนนอก ปลีกตัวมาใคร่ครวญเพียงลำพัง ปลงใจเสียก่อนว่าข้อพิพาทบางเรื่องต้องใช้เวลา อย่ากดดันว่าจะแก้ได้ทันที ทั้งลูกและเราต่างต้องใช้เวลาจัดการความรู้สึก อย่าหมกมุ่นครุ่นคิดจนอ่อนล้า ทำใจให้สบายด้วยการหายใจให้ลึกๆและหากิจกรรมผ่อนคลายตัวเอง วางทิฐิหรือความคิดเล็กคิดน้อยต่างๆลง
เมื่อจิตใจสงบและไตร่ตรองสถานการณ์อย่างรอบด้านดีแล้วค่อยคิดหาวิธีเข้าหาลูกและจังหวะเวลาที่เหมาะๆ ใช้ความสุขุมเยือกเย็นเป็นกำลัง อย่าใจร้อนเข้าหาลูกถ้าไม่แน่ใจว่าจะคุมอารมณ์ได้หรือแม้แต่สัมผัสเขาขณะพลุ่งพล่าน ถ้าเกิดโมโหและทะเลาะกันอีกระหว่างปรับความเข้าใจ ปัญหาจะยิ่งบานปลายซับซ้อนเกินแก้ไขกว่าเดิม
คำถามที่พ่อแม่ต้องใคร่ครวญและตอบให้ได้คือ
- เรารู้สึกคับข้องใจกับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ในอดีตหรือมีความบาดหมางใดติดค้างอยู่บ้าง
- ความสัมพันธ์ที่มีกับลูกในตอนนี้เป็นสะท้อนปมในใจอย่างไร
- การกระทำใดของลูกที่กระตุ้นให้เราตอบโต้ด้วยความรุนแรงอย่างขาดสติ
พิจารณาความรู้สึกทั้งของตนเองและจากมุมมองของลูกว่าเขาต้องเผชิญกับอะไรระหว่างความบาดหมางนี้ อย่าหลงลืมว่าเขาอ่อนแอและเปราะบางมากแค่ไหน ความรู้สึกที่ลูกกำลังประสบอาจน่ากลัวและหนักหนากว่าที่เราคิด ยิ่งเด็กเล็กแรงทนทานต่อความอ้างว้างและการถูกเมินเฉยจากผู้ใหญ่ไม่มี พ่อแม่จึงไม่ควรปล่อยให้ภาวะมึนตึงกินเวลานานเด็ดขาด
ลงมือคลี่คลายความขัดแย้ง
ระลึกเสมอว่าเด็กไม่สามารถฟื้นความสัมพันธ์เองได้ถ้าพ่อแม่ไม่เป็นฝ่ายเริ่ม หนทางประสานรอยบาดหมางที่ดีที่สุดคือความเข้าใจทั้งตนเองและความรู้สึกนึกคิดของลูก อาจารย์ฮาร์ทเซลแนะนำไว้คร่าวๆดังนี้
- เริ่มด้วยการพูดเปิดอกกับลูก “ตอนเราทะเลาะกันมีแต่ความอึดอัดใจ พ่อกับแม่อยากปรับความเข้าใจกับลูกนะ มานั่งคุยให้เข้าใจกันเถอะ” ระหว่างปรับความเข้าใจให้เลือกนั่งในระดับเดียวกับเขาเพื่อสามารถสบตาและส่งผ่านความใกล้ชิด (เด็กโตอาจต้องให้ระยะห่างสักเล็กน้อยก่อน)
- ใช้โอกาสนี้สังเกตเรียนรู้ลักษณะนิสัยที่เขาเป็นระหว่างปรับความเข้าใจ มีเมตตาให้เยอะ ให้เวลาเขาจัดการความรู้สึกถ้าเขายังไม่พร้อม เลี่ยงคำพูดทำร้ายจิตใจ การบีบคั้นให้พูด ตัดสินคำตอบ ไม่กล่าวโทษแม้เขาจะกวนโมโห ไม่ตอบโต้แม้ลูกจะกล่าวโทษ รับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจแล้วพูดทวนมุมมองและสิ่งที่เขารู้สึก
- พูดถึงเหตุการณ์ต้นตอความผิดใจกันโดยเอ่ยถึงอารมณ์ของกันและกัน คำต่อว่าต่อขานที่เกิดขึ้น และอธิบายให้เขารู้ว่าบางครั้งผู้ใหญ่ก็อาจเผลอฟิวส์ขาดได้ ให้ลูกรู้ว่าการทะเลาะมีปากเสียงกันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการอยู่ร่วมกัน เราสามารถแก้ไขปรับจูนความสัมพันธ์กันได้เสมอ
วัยและพื้นนิสัยของเด็กมีผลต่อวิธีที่เขาใช้รับมือกับความบาดหมาง เด็กเล็กจะยังไม่สามารถรับมือความสัมพันธ์ลบได้เลย โตมาหน่อยเป็นวัยก่อนเข้าเรียนจะตอบโต้ความขัดแย้งกับพ่อแม่ด้วยการเรียกร้องยิ่งกว่าเดิมเพราะสิ่งที่วัยนี้ต้องการมากที่สุดคือสัมผัสอ่อนโยนทางกายและภาษาสัญญาณจากพ่อแม่ว่าแคร์เขาเต็มที่ ในขณะที่เด็กโตจะรับมือความขัดแย้งและเปิดรับคำอธิบายได้มากกว่า ถ้าลูกอยู่ในวัยอนุบาล พ่อแม่อาจใช้วิธีเล่นติ๊ต่างด้วยตุ๊กตา ทำเป็นตัวละครสมมติ เล่านิทานหรือวาดรูปมาง้อลูกให้เปิดใจ เด็กโตจำเป็นต้องมีการพูดคุยปรับความเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและทบทวนความรู้สึกที่เขามีต่อพ่อแม่เป็นกิจจะลักษณะเพื่อหาจุดแก้ไขที่เหมาะสมร่วมกัน
ประสบการณ์สติขาดผึงใส่ลูกและการคลี่คลายความบาดหมาง
คุณหมอซีเกลเองก็มีประสบการณ์การทะเลาะผิดใจกับลูกชายวัยรุ่นในร้านขายของเล่นครั้งหนึ่งเพราะเผลอฟิวส์ขาดจากคำพูดของลูก คุณหมอแชร์เรื่องราวและวิธีปรับความเข้าใจไว้ตอนหนึ่งในหนังสือว่า
ผมเคยสัญญากับลูกชายว่าจะพาเขาไปซื้ออุปกรณ์เล่นเกมชิ้นใหม่แล้วปรากฏว่าช่วงเวลาที่ว่างเพียงช่วงเดียวในสัปดาห์ที่พาเขาไปนั้นมีนัดประชุมสำคัญต่อพอดี ผมกับลูกต้องซื้อของให้เสร็จภายในครึ่งชั่วโมงซึ่งกระชั้นชิดมาก แต่ผมคิดว่ายังไงก็ดีกว่าผิดสัญญากับลูก ปรากฏว่าด้วยความรีบเราจึงงดมื้อเที่ยงเพื่อไปที่ร้านเลย ลูกหยิบของที่ต้องการราคายี่สิบเหรียญได้แล้วแต่พอตอนกำลังคิดเงินเขาดันหันไปเจอเกมเบสบอลราคาแพงที่เพิ่งออกใหม่แล้วเกิดอยากได้ ผมไม่ได้เตรียมใจและเงินมาซื้อของชิ้นที่สองจึงปฏิเสธเขาทันที แต่ลูกก็เถียงว่าเขามีเงินเก็บอยู่หกสิบห้าเหรียญแค่ให้ผมออกไปก่อน ผมก็ยังปรามให้เขาเลือกเกมส์ที่ราคาถูกกว่า เราทุ่มเถียงกันเรื่องค่าของเงินจนเลยเถิดไปเทศนาให้เขาอย่าเอาตามอย่างเพื่อนมากนัก ตอนนั้นผมทั้งหิวและห่วงนัดสำคัญ หงุดหงิดอยู่เป็นทุน คิดว่าเขาได้คืบจะเอาศอก ผมจึงบ่นว่าอเมริกันชนเป็นพวกบ้าวัตถุไปกันหมดจนเด็กเสียคน
“เกมสี่สิบเหรียญไม่ใช่ถูกนะ ลูกควรวางแผนก่อนที่จะปุบปับซื้อ พอใจสิ่งที่ตัวเองมีสิ จะซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าไม่ได้หรอก กลับไปคิดดูก่อนถ้าอยากซื้อ อาทิตย์หน้ากำเงินกลับมายังทัน ไว้พ่อพามา”
“ตอนนี้ผมก็มีเงินอยู่แล้วแค่ไม่ได้เอามา นี่ก็คิดมาแล้ว เงินเก็บผมเองนะ พ่อจะมาห้ามไม่ได้”
“พ่อไม่ซื้อให้ เราต้องไปกันแล้ว”
“ได้ ไว้เดี๋ยวถึงบ้านผมจะบอกให้แม่พามานี่แล้วซื้อให้”
“แม่เค้าไม่พามาหรอก”
“พามาแน่ แม่เป็นใหญ่ในบ้าน ไม่ใช่พ่อ แม่พาผมมาแน่”
“หยุดเลย ไม่ต้องไปบอกแม่ให้เขาวุ่นวายพามา”
“ผมจะบอก แม่พาผมมาแน่”
“เลิกเถียง ไม่งั้นลูกก็จะไม่ได้ไอ้ที่เราถ่อมาซื้อกันด้วย”
“ผมจะบอกแม่ว่าพ่อใจร้าย แม่เค้าไม่ทำแบบพ่อหรอก”
“ถ้ายังไม่หยุด อย่าหวังว่าจะได้ไอ้นี่กลับบ้านเลย”
“เอาเลย ผมให้แม่ซื้อให้ก็ได้”
ผมหมดความอดทน โยนกล่องอุปกรณ์ลงเคาน์เตอร์โครมก่อนจะลากลูกชายขึ้นรถ ระหว่างทางลูกร้องไห้พร้อมกับต่อว่าต่อขานว่าผมเป็นพ่อที่เอาแต่อารมณ์ เขาขู่ว่าวันหน้าเขาจะเอาคืนผมทางใดทางหนึ่งบ้าง ได้ยินแบบนั้นผมฉุดอารมณ์ไม่อยู่จึงด่าว่าเขารุนแรงและสั่งให้เขางดเล่นเกมสิบเดือน
พอถึงบ้าน อย่างแรกเลยคือเขาวิ่งไปฟ้องแม่ว่าผมดุด่าเขายังไงบ้าง ผมเองเย็นนั้นเสร็จธุระแล้วจึงได้สงบสติอารมณ์ในห้องและใช้เวลาพักใหญ่ใคร่ครวญถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ผมทะเลาะกับลูกครั้งใหญ่ทั้งที่เมื่อเช้าเรายังหยอกล้อกันสนุกสนานและวางแผนจะไปซื้อเกมร้านของเล่นด้วยกัน สีหน้าตอนลูกบอกว่าอยากได้เกมเบสบอลออกใหม่นั้น ตาเป็นประกายด้วยความตื่นเต้น เขาบอกผมว่าจะสอนให้ผมเล่นกับเขาด้วยแต่ตอนนั้นผมมัวแต่กังวลเรื่องประชุมและคิดว่าแค่พาเขาไปที่ร้านได้ทันเวลาก็ดีแล้ว ส่วนที่เขาบอกว่าจะซื้อเกมด้วยเงินของเขาเอง ผมก็ไม่เข้าใจตัวเองว่าทำไมถึงต้องห้ามปรามเขาเสียขนาดนั้น ผมระลึกได้ในที่สุดว่าตัวเองฟิวส์ขาดตอนที่เขาพาดพิงถึงแม่เพื่อเอาชนะผม ตอนนั้นผมไม่สนใจว่าลูกรู้สึกยังไงอีกต่อไป เห็นเขาเป็นเด็กอวดดีได้คืบจะเอาศอก ซึ่งถ้าอธิบายด้วยหลักข้างต้นคือผมกับลูกเสียความควบคุมเพราะคันเร่งกับเบรกในหัวทำงานพร้อมกัน (อารมณ์เตลิดเพราะถูกอีกฝ่ายต่อต้าน)
เมื่อผมนั่งทบทวนจนเข้าใจตัวเองและสถานการณ์อย่างรอบด้านแล้ว ผมก็ไปเคาะห้องเขาแล้วเข้าไปนั่งลงข้างเตียงที่เขากำลังร้องไห้ ผมเริ่มเป็นฝ่ายเอ่ยขอโทษเขา เขาเมินหน้าหนีในตอนแรก ผมจึงบอกเขาว่าพ่ออยากปรับความเข้าใจกับเขา และเรื่องที่ร้านผมเองเป็นฝ่ายผิด เขาบอกว่าเขาอยากได้เกมเบสบอลมานานแล้วเพียงแต่ผมไม่รู้ เขาโกรธที่ผมห้ามไม่ให้เขาซื้อทั้งที่เป็นเงินเขา ผมจึงเล่าความกังวลเรื่องประชุมให้เขาฟังและที่ว่าผมโมโหหิวด้วย มาตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่าเขาอยากได้เกมส์และวางแผนไว้มาตลอดเพียงแต่ผมหมกมุ่นกับตัวเองจนมองไม่เห็นความตื่นเต้นของเขา ผมกอดและขอโทษเขาที่พูดจาแย่ๆและขาดสติ ผมเข้าใจและจะเคารพสิทธิเรื่องการใช้เงินของเขาต่อจากนี้ จากนั้นผมอธิบายว่าการที่เขาอ้างแม่คือการล้ำเส้นที่ทำให้ผมฟิวส์ขาด เรากอดกัน หลังจากนั้นผมกับภรรยาหารือกันว่าเราจะพาเขาไปซื้อเกมอาทิตย์หน้าแล้วเราก็พูดคุยเรื่องที่ทะเลาะกันพร้อมหน้าอีกครั้งทั้งครอบครัว ผมกับลูกเล่าความรู้สึกในวันนั้นกันอย่างออกรสชาติได้เสียน้ำตาอีกเล็กน้อยแล้วก็หัวเราะใส่กันเพราะต่างฝ่ายต่างเลียนแบบท่าทางของอีกฝ่ายตอนโกรธกันสนุกสนาน
คุณหมอซีเกลและอาจารย์ฮาร์ทเซลย้ำว่าสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งที่พ่อแม่ทุกคนจำเป็นต้องมีอยู่เสมอคือ “สติ” และ “ความรับผิดชอบในหน้าที่พ่อแม่” ซึ่งหมายถึงการรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกและการกระทำตนเองให้ได้ สามารถเห็นสาเหตุปัจจัยที่นำไปสู่เรื่องผิดใจกับลูกอย่างรอบด้านและพร้อมไตร่ตรองหาวิธีแก้ไขโดยไม่มีทิฐิว่าใครเป็นคนผิดหรือเริ่มความขัดแย้ง พ่อแม่ต้องเป็นฝ่ายหันหน้าเข้าหาลูกโดยไม่มีข้อแม้เพื่อประสานข้อบาดหมางให้แล้วแก่ใจกันทั้งสองฝ่าย ไม่ปล่อยผ่านจนรอยร้าวลุกลามสู่ความแตกแยกในอนาคต
รองลงมาคือต้องมีเมตตาต่อตนเองและพร้อมที่จะเข้าใจทุกความรู้สึกลบที่เกิดขึ้นระหว่างเลี้ยงลูก เช่น เครียด ท้อแท้ที่เขาดื้อไม่หยุด โทษตัวเองที่รู้สึกแย่กับเขาหรือรู้สึกผิดที่เผลอตะวาด ทุบตีใช้อารมณ์ลงไป ซึ่งหากไร้ความเมตตาต่อตนเอง จมกับความรู้สึกผิดหรือโทษตัวเองว่าเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีตลอดเวลา สิ่งที่ตามมาคือจิตใจจะถอยห่างจากความสัมพันธ์โดยอัตโนมัติ ผู้ใหญ่จะยิ่งมีช่องว่างในใจกับลูกมากขึ้น ความห่างเหินจะยิ่งทำให้สายสัมพันธ์ย่ำแย่ลงไปอีก
ดังนั้นจงปล่อยวางในการเลี้ยงลูกและรักตัวเองให้เป็นด้วย ทบทวนทำความเข้าใจและยอมรับในตัวเองให้ได้ก่อน จากนั้นค่อยๆเรียนรู้และก้าวไปพร้อมกับเขาด้วยการหันหน้าเข้าหากัน พยายามเข้าใจเขาในแบบที่เขาเป็น หมั่นใช้อารมณ์ขันกับเสียงหัวเราะเป็นยาใจ อย่าปล่อยให้การทะเลาะผิดใจกันหยุมหยิมธรรมดาล่วงเลยและทับถมเป็นชนวนให้เกิดความห่างเหินกับลูก พ่อแม่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบเยียวยาสมานความสัมพันธ์ให้กลับมาดีดังเดิม ทบทวนตัวเองและความรู้สึกของลูกควบคู่กันเสมอ เปิดใจยอมรับผิดให้ได้เมื่อทำพลาด และหมั่นแบ่งปันความคิด อารมณ์ความรู้สึกระหว่างกันในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ คือหนทางช่วยกระชับความสัมพันธ์และสร้างความอบอุ่นไว้ใจขึ้นดังเดิม