- โรงเรียนบ้านควนเก จังหวัดสตูล เป็นโรงเรียนที่นำวิชาโครงการฐานวิจัย (Research-Based Learning) หรือ RBL มาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการเรียนรู้ โดยหลักการคือให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระ ผ่านกิจกรรมหรือประสบการณ์ใกล้ตัว เช่น การศึกษาสีประกอบอาหารจากธรรมชาติ การทำขนมโรตีกรอบ รวมถึงการศึกษาพันธุ์ข้าวในชุมชนตัวเอง
- ผลลัพธ์ของ RBL นอกจากติดอาวุธให้เด็กกล้าคิด กล้าแสดงออก และได้เรียนในสิ่งที่เขาต้องการแล้ว ยังเชื่อมโยงพ่อแม่ โรงเรียน และชุมชน ให้เป็นหนึ่งเดียวกันโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง เพราะที่นี่ “ทุกคนเป็นครู”
ภาพ: โกวิท โพธิสาร
“ไม่ทะเลาะกัน สามัคคี เดินเป็นแถว อย่าแย่งกันถาม”
“เตรียมแบบสอบถาม แบบบันทึก และโทรศัพท์ให้พร้อม”
“5 คนคอยถาม, 3 คนคอยเขียน, 2 คนคอยอัดเสียง และ 2 คนคอยถ่ายรูป”
นี่คือข้อตกลงร่วมกันของเด็กๆ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านควนเก จังหวัดสตูล หลังจากระดมไอเดีย ช่วยกันเสนอข้อตกลง วางแผน และแบ่งหน้าที่กันเพื่อทำงานได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ
ก่อนเด็กๆ ทั้งหมดจะออกเดินทางลงพื้นที่จริง ในวิชาโครงงานฐานวิจัย (Research-Based Learning) หรือ RBL เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลในหัวข้อ ‘พืชสีสันจากธรรมชาติที่ใช้ประกอบอาหารได้’ โดยเลือกศึกษาสีจากพืช 4 ชนิด ได้แก่ กระเจี๊ยบ ขมิ้นชัน ใบเตย และอัญชัน ที่บ้านของ รออิฉ๊ะ รำวายกอ แม่ของ นุรอัยดา หมัดศรี นักเรียนหญิงอาสาสมัครผู้เปิดบ้าน พาเพื่อนๆ ชั้น ป.6 มาขอความรู้จากแม่ตัวเอง เพราะสวนหลังบ้านของเธอปลูกกระเจี๊ยบแดงและขมิ้นชันไว้หลายต้น
เมื่อเด็กๆ ป.6 เดินเท้ามาถึงบ้านของนุรอัยดา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชุมชนรอบๆ ไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก เด็กๆ ไม่รีรอเวลา ยกมือสวัสดีและแนะนำตัวกับแม่ของนุรอัยดา ก่อนจัดแจงหาที่นั่งของตัวเอง ยกกระดาษและสมุดที่พกมาจากห้องเรียนขึ้นมาเตรียมจดบันทึก
นักเรียนจำนวน 5 คนที่เป็นตัวแทนต่างผลัดกันถามคำถามและข้อสงสัยต่างๆ ในหัวข้อที่เตรียมมา ส่วนนักเรียนอีก 3 คนก็คอยจดและรวบรวมคำตอบที่ได้ไปประมวลต่อ โดยมีนักเรียนอีก 2 คน คอยอัดเสียงและถ่ายรูปเก็บเป็นข้อมูลไว้
ผลจากการลงมือครั้งนี้ ทำให้เด็กๆ พบว่า บ้านในชุมชนหมู่บ้านควนเกของพวกเขาปลูกกระเจี๊ยบ ขมิ้นชัน ใบเตย และอัญชันแทบทุกหลัง เพราะเป็นพืชที่ดูแลง่าย นำมาปรุงอาหารได้ เพียงแค่นำกระเจี๊ยบและขมิ้นชันมาต้ม เคี่ยว และสกัดโดยการตากแดด ก็สามารถทำเป็นอาหารได้หลายประเภท เช่น ขมิ้นชันมักจะถูกใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำแกงส้ม แกงผัดเห็ด กระเจี๊ยบมักนำไปคั้นเป็นน้ำ หรือใช้ทำขนมถั่วแปบ หากนำไปใส่ในข้าวเหนียวก็จะทำให้มีสีสันที่น่ารับประทาน เมื่อนำไปขายก็จะขายได้ในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งนอกจากสีสันที่สวยงามแล้ว สรรพคุณของพืชทั้งสองชนิดนี้ ยังช่วยลดความดันและแก้กระหาย ทำให้คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนมักใช้เป็นยาสมุนไพรอีกด้วย
กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตรงหน้า ทำให้ผู้เขียนในฐานะผู้สังเกตการณ์ มองเห็น ‘โอกาสแห่งการเรียนรู้’ บนความสนุกที่เกิดขึ้น
วิชาโครงงานฐานวิจัย (Research-Based Learning) หรือ RBL เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการเรียนรู้ โดยผ่านกิจกรรมหรือประสบการณ์ เป็นเทคนิคที่มุ่งให้นักเรียนพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระ ได้เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ลงไปเจอ สัมผัส ไปคลุกคลีกับสถานการณ์นอกห้องเรียนอย่างแท้จริง และสิ่งที่สำคัญที่เห็นได้ชัดไม่แพ้กัน คือแววตาแห่งความสุขและเสียงเจื้อยแจ้วของเด็กๆ ในการผลัดกันถาม แย่งกันพูด แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตัวเอง ช่วยสะท้อนว่าอย่างน้อยรูปแบบการเรียนเช่นนี้ ช่วยทำให้เด็กๆ กล้าแสดงออกและเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง
มากไปกว่านั้นนอกจากความสนุกสนานที่เกิดขึ้น การเรียนการสอนในวิชาโครงงานฐานวิจัย หรือ RBL ยังทำให้เห็นบทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้ามามีส่วนร่วมช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกๆ ของตัวเอง
เพราะทุกบ่ายวันศุกร์ โรงเรียนบ้านควนเกใช้เวลาตรงนี้ นำพ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามาเป็นครูสอนและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ลูกๆ ของพวกเขา ในนามกลุ่ม ‘ครูสามเส้า’ ซึ่งเราอาจไม่ค่อยพบเห็นวิธีการเรียนเช่นนี้ ในการเรียนกระแสหลักเท่าไรนัก
นี่จึงเป็นที่มาของการพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้อำนวยการ ครู พ่อแม่ เด็กนักเรียน ว่าทำไมโรงเรียนบ้านควนเก จังหวัดสตูล ถึงตัดสินใจนำ วิชาโครงงานฐานวิจัย หรือ RBL เข้ามาปรับใช้ในโรงเรียน และวิชานี้จะช่วยติดตั้งเครื่องมือหรือฝังแนวคิดอะไรให้เด็กได้ตกตะกอน จนเกิดเป็นทักษะติดตัวให้พวกเขานำไปใช้ในอนาคต
ฉากแรก: ก่อนมี วิชา RBL
“ที่ผ่านมาบ้านควนเกเป็นโรงเรียนที่ผลการสอบของเด็กถูกประเมินว่าค่อนข้างต่ำ แต่โชคดีที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีความร่วมมือของผู้ปกครองและชุมชนเหนียวแน่น เพียงแต่เป็นการร่วมมืออย่างไม่ถูกจุด เราจึงอยากเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ ถึงแม้ว่ามันอาจจะไม่ดีขึ้นแต่ก็คงไม่แย่กว่าเดิม”
อะหมาร สันนาหู ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนเก จังหวัดสตูล บอกว่าเหตุผลหลักคือมองเห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากระบบจัดการภายในโรงเรียนที่ไม่เข้มแข็ง การวัดผลในวิชาการของเด็กๆ ก็ไม่สูงมากนัก บวกกับจังหวัดสตูล ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอยู่แล้ว จากพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรม พ.ศ. 2562 จึงเริ่มขยับตัวและตัดสินใจเปลี่ยนแปลง
โดยนำการจัดการเรียนรู้แบบ โครงงานฐานวิจัย หรือ RBL เข้ามาใช้ เพื่อสอนและพัฒนาคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู ไม่เว้นแม้แต่ตัวเองซึ่งเป็นผู้อำนวยการ ผ่านการเรียนรู้ด้วยวิชาลงมือปฏิบัติ
“ยิ่งมี พ.ร.บ. รองรับ เราก็ยิ่งมั่นใจที่จะทำมากขึ้น มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากขึ้น โดยเรากำหนดคอนเซ็ปต์ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไว้ว่า เราจะพัฒนาจาก bottom up 80 เปอร์เซ็นต์ และ top down 20 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงการฟังเสียงและติดตามความเคลื่อนไหวของคนที่ลงไปปฏิบัติจริง จากล่างขึ้นมาสู่ด้านบนมากขึ้น
“อีกส่วนคือการต้องการให้ผู้ปกครองของเด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลบุตรหลานของพวกเขาอย่างถูกจุด เพราะแต่เดิมกลุ่มผู้ปกครองจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือโรงเรียนในเรื่องของการบำรุงระบบกิจกรรมต่างๆ เท่านั้น แต่ผมต้องการเปลี่ยน mindset ของเขาให้มาส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้ของลูกและเด็กๆ แทน”
เพราะการพัฒนาชีวิตของเด็กหนึ่งคน ไม่ควรเป็นหน้าที่ของใคร แต่ต้องรับผิดชอบกัน 3 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อะหมารยังจำเสียงตอบรับของเหล่าครูได้ดี เมื่อตัดสินใจนำ RBL เข้ามาปรับใช้ในโรงเรียนครั้งแรก
“ครูก็บอกกันว่า ผอ. เอาอะไรมาให้ทำอีก แค่นี้ก็ทำงานหนักจะตายแล้ว ภาระงานครูเยอะแยะ ไม่มีใครแฮปปี้สักคน มันก็หนักจริงๆ นั่นแหละ แต่การทำงานนี้มันจะหนักช่วงปีแรก ปีถัดไป ปีที่สอง ปีที่สาม เด็กก็จะนำกระบวนการได้ด้วยตัวเอง แต่การที่ครูรู้สึกว่ามันหนัก อาจเป็นเพราะครูยังอยู่ในวิถีเดิมๆ”
ไม่ต่างจากความรู้สึกของตัวเอง หากย้อนไปในการเรียนเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว อะหมารเคยเป็นครูที่มีไม้เรียวกับหนังสือเล่มเดียว แต่การเรียนเช่นนั้นมันใช้ไม่ได้แล้วในยุคนี้
“ฉะนั้นการที่ครูรู้สึกว่าหนักและเหนื่อย มันเป็นเพราะเรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน”
ฉากสอง: เมื่อมี RBL
หัวใจหลักในวิชาโครงงานฐานวิจัย RBL จะเริ่มจากการตั้งโจทย์ให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว หนึ่งในนั้นคือการสำรวจต้นทุนของชุมชนรอบๆ ตัวของเขา ทั้ง 5 ทุนเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็น ทุนทางปัญญา ทุนเงินตรา ทุนทรัพยากร ทุนมนุษย์ ทุนวัฒนธรรม จากนั้นเมื่อเด็กสำรวจเสร็จแล้วก็เปิดเวทีให้นักเรียนนำเสนอข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลว่าแต่ละทุนนี้มีอะไรบ้าง
ซึ่งแต่ละเรื่องก็จะเป็นเรื่องที่เด็กสนใจ เป็นเรื่องที่เด็กอยากเรียน ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนหาเหตุผลกันในชั้น สรุปมาเป็นโจทย์เพียงแค่เรื่องเดียวต่อปี เช่น เด็ก ป.6 สนใจศึกษาเรื่องสีธรรมชาติ จากดอกไม้และสมุนไพรในรั้วบ้าน โดยวิชา RBL จะแบ่งขั้นตอน ทั้งสิ้น 14 ขั้นตอน 5 หน่วยการเรียนรู้ ดังนี้
หน่วยการเรียนรู้ | ขั้นตอน |
‘ได้เรื่อง’ | 1. เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว เพื่อทำความรู้จักเรื่องที่จะทำ ได้รู้จักตนเอง รู้จักผู้อื่น รู้จักชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดของตัวเอง 2. สำรวจ/วิเคราะห์/จำแนกและเลือกเรื่อง เพื่อสำรวจเรื่องราวรอบตัว เช่น ทุนในชุมชน ทั้ง 5 ทุน ว่าพบอะไรบ้าง จากนั้น วิเคราะห์ข้อมูล และเลือกเรื่องที่สนใจขึ้นมาทำ |
‘ได้โครงงาน’ | 3. พัฒนาเป็นโจทย์วิจัย ช่วยกันเหลาประเด็นให้เล็กลง ค้นหาความสำคัญของเรื่องไปเขียนเป็นหลักการและเหตุผลของโครงงาน จากนั้นตั้งคำถามย่อยในสิ่งที่อยากรู้ให้ได้มากที่สุด 4. ออกแบบวิจัย ช่วยกันตรวจสอบคำถามวิจัย เพื่อค้นหาวิธีการหาคำตอบ กำหนดกลุ่มเป้าหมาย แหล่งเรียนรู้ และผลที่คาดว่าจะได้รับ 5. นำเสนอโครงงาน |
‘ได้ข้อมูล’ | 6. สร้างเครื่องมือในการเก็บข้อมูล เพื่อค้นหาวิธีเก็บข้อมูล เช่น การสัมภาษณ์ผู้รู้จริง 7. ลงพื้นที่เก็บข้อมูล 8. ตรวจสอบข้อมูล นำข้อมูลและประสบการณ์ที่ได้จากการลงพื้นที่ มาประเมิน วิเคราะห์ และสกัดผลออกมา |
‘ได้ทางเลือกใหม่’ | 9. คืนข้อมูลสู่ชุมชน 10. กำหนดทางเลือกใหม่ 11. จัดทำแผนปฏิบัติการ 12. ทดลองลงมือปฏิบัติ |
‘ข้อสรุป’ | 13. สรุปผล 14. นำเสนอผลการวิจัย |
เมื่อหันกลับมาเรียนรู้เรื่องใกล้ตัวแล้ว ในวิชา RBL ครูและนักเรียนยังจำเป็นต้องรีเซ็ตการสอนและเปลี่ยนวิธีคิดแบบเดิมๆ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนเก บอกว่า อันดับแรกที่จะทำให้กระบวนการเห็นผลคือ ‘ครูต้องเปลี่ยน’
“หนึ่ง–ครูต้องกล้าที่จะไม่สอน ครูเป็นเพียงผู้ส่งเสริมและกระตุ้นเท่านั้น สอง–ครูไม่ใช่เจ้าของวิชา แต่ครูมีหน้าที่ชี้แนะแนวทางให้เด็กได้ออกไปเรียนรู้หาคำตอบด้วยตัวเขาเอง สาม–เด็กมีความสุขขึ้น บนพื้นฐานที่ครูมีความเมตตากับเด็ก แม้เขาจะไม่เก่งหรือด้อยกว่าเพื่อนอย่างไร ครูก็จะค้นหาจุดที่เด็กถนัดและสนใจ และร่วมพัฒนาทักษะนี้ให้อยู่ในตัวเขา
“ส่วนในการสอนเราต้องใช้คำถามเป็นตัวตั้ง ในการพาเด็กไปสู่การทำกระบวนการ ซึ่งเราต้องฝึกครูก่อน เช่น ครูควรจะเลือกใช้คำถามปลายเปิดเยอะๆ ไม่ใช่การตั้งกรอบ คำว่า ‘ใช่หรือไม่’ เพราะครูเป็นผู้สอนและส่งต่อให้เด็ก ในการทำ RBL เด็กๆ จะต้องถามให้เป็น แต่กว่าเด็กจะเป็น ครูต้องเป็นก่อน การเรียนแบบก่อน เน้นให้ครูถามอย่างเดียวแต่ตอบไม่เป็น แต่การเรียนแบบใหม่จะทำให้เด็กและครูพัฒนา”
แต่เด็กจะเป็นอย่างไรไม่ใช่เพราะว่าโรงเรียนอย่างเดียว แต่พ่อแม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย เพราะทุกคาบบ่ายของวันศุกร์ โรงเรียนบ้านควนเกจะจัดชั่วโมงเรียนที่จัดสอนโดยกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้ามาเป็นครู หรือที่เรียกว่ากลุ่มครูสามเส้า โดยหัวข้อต่างๆ ที่เรียนล้วนเป็นเรื่องที่เด็กสนใจทั้งสิ้น
“ในช่วงเทศกาลฮารีรายอ เรารวมตัวกันเพื่อสอนทำขนมต้ม ซึ่งเป็นขนมประจำเทศกาล เด็กๆ ชอบมาก พอทำเสร็จก็ได้กิน ได้เอากลับบ้าน” ฟาตีม๊ะ ปาละวัล ผู้ปกครองของนักเรียนชั้น ป.3 และหนึ่งในสมาชิกครูสามเส้า เล่าให้ฟังถึงบทบาทของพ่อแม่ครู
นอกจากสอนทำขนม ก็ยังมีวิชาอื่นที่เคยนำมาสอนเด็กๆ ในคาบวันศุกร์ “เช่น งานจักสาน งานประดิษฐ์ เด็กชอบ เขาอยากเรียนรู้ อยากทำเป็น เพราะมันสนุก สวยงามมีสีสัน สอนแล้วสามารถเอาไปใช้ได้ นำไปประกอบอาชีพได้ด้วย เวลาที่ไม่มีงานทำ เหมือนเราตอนนี้ เราก็ทำจักสานขายเป็นอาชีพเสริม พวกกระเป๋าใส่ดินสอ แฟ้มหนังสือ ตะกร้า ช่วยลดการใช้จ่ายไปได้มาก เราทำใช้เองไม่ต้องซื้อ เราจึงอยากสอนให้เด็กๆ หรือลูกๆ ของเราให้เรียนรู้ตรงนี้ ถ้าเขาทำเป็น เขาก็เอาไปใช้ได้จริง แถมยังเป็นอาชีพในภายภาคหน้าได้”
แต่กว่าจะสังเคราะห์ออกมาเป็นวิธีนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพ่อแม่หลายๆ คน มักคิดว่าการที่ลูกมาโรงเรียนแล้ว กระบวนการต่อไปคือหน้าที่ของครู
“ผมอยากให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมกับลูกด้วยนะ ลูกคุณจะดีได้ ไม่ใช่แค่หน้าที่ของโรงเรียนอย่างเดียว คุณมีส่วนช่วยได้ ชุมชนก็ช่วยได้ จะด้วยคุณธรรม ด้วยความรู้ หรือทักษะต่างๆ ก็ตามแต่ เราต้องช่วยกันด้วยความเมตตา”
ผอ.อะหมาร ย้อนให้ฟังถึงวันแรกๆ ที่นำกระบวนการการเรียนรู้นี้เข้ามาทำในโรงเรียน พบว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่รู้สึกว่าการมาสอนหนังสือให้ลูกตัวเองเป็นภาระที่หนักและเหนื่อย และพวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีความรู้อะไร กังวลว่าตัวเองจะสอนลูกได้จริงไหม และการเรียนที่ดูทีเล่นทีจริง เช่น เรียนเรื่องสีธรรมชาติ เรียนเรื่องขนมโรตีกรอบ อาจทำให้เด็กเรียนวิชาหลักๆ ที่เป็นวิชาการด้อยลง
แต่พอได้ใช้เวลาและอดทนสักพัก กลุ่มผู้ปกครองได้เห็นลูกตัวเองเปลี่ยนไป ได้เห็นตัวตนของลูกมากขึ้น เช่น จากเด็กที่อยู่บ้านไม่พูด แต่ตอนนี้กลายเป็นผู้นำหน้าชั้นเรียนแล้ว กล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงออก เพราะได้เรียนในสิ่งที่เขาอยากเรียนจริงๆ ก็ยิ่งทำให้มั่นใจและช่วยคิดพัฒนาการสอนให้ดีขึ้น
ฉากปัจจุบัน: ผลการเปลี่ยนแปลง หลังมี RBL
อะหมาร บอกว่า “ในช่วง 6 เดือนที่ทดลองสอน RBL มา เด็กจะอยากมาโรงเรียนมากขึ้น เด็กหลังห้องที่เรียนไม่เก่งในวิชาหลัก จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าขึ้น เพราะเขาค้นพบสิ่งที่ชอบสิ่งที่เขาถนัดและสนใจ ได้มีบทบาทมากจากการที่เพื่อนแบ่งงานให้ทำ โดยที่เด็กไม่คิดว่านี่คือการเรียน เป็นวิชาเล่น ทำให้เขาอยากมาโรงเรียนเพื่อเล่น และได้พัฒนาทักษะต่างๆ โดยที่เขาไม่รู้ตัว เด็กพัฒนาทักษะ การคิด การจำแนกความรู้ การหาเหตุผล การนำเสนอ ความกล้าแสดงออก บทบาทผู้นำผู้ตาม การทำงานเป็นทีม ก็ได้จากวิชา RBL ทั้งหมด”
ในขณะเดียวกันการทดลองพาเด็กเรียน RBL ไปหนึ่งภาคเรียน มันกลับไม่ได้พัฒนาเพียงแค่นักเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบุคลากรต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการอีกด้วย
“มันมีประโยชน์ในด้านความคิด เราไม่ได้ต้องการทำโครงการเพื่อให้เด็กรู้แค่เรื่องสีของธรรมชาติ เรื่องขยะ เรื่องสละ เรื่องขนมโรตีกรอบ แต่เราสนใจองค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติมากกว่า กว่าจะมาเป็นโรตีกรอบ เด็กๆ ต้องไปค้นหา ไปพูดคุย ไปลงมือทำจริง ผ่านการวิเคราะห์ แก้ปัญหาต่างๆ ในโครงการฐานวิจัย แต่กว่าจะถึงปลายทาง เราจะดูว่าเด็กติดต่อประสานงานเป็นไหม เขาเอาเปรียบเพื่อนไหม นี่คือสิ่งที่เราต้องการให้เกิดกับเขา
“และเมื่อทำไปเรื่อยๆ มันจะพัฒนาข้างในตัวเราเอง ผมเองได้พัฒนาในแนวทางของผู้บริหาร ครูก็พัฒนาในแบบของครู ครูเป็นนักจัดการ เป็นกระบวนกรเรียนรู้ไม่ใช่แค่ผู้บอกความรู้ ชุมชนก็พัฒนากล้าคิดกล้าลงมือทำมากขึ้น เด็กก็กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงเหตุผล มีการคิดการวิเคราะห์ ทั้งหมดนี้เราทุกคนก็เหมือนได้พัฒนาร่วมกันผ่านโครงการ RBL ทั้งหมด”
ซึ่งการที่โรงเรียน ชุมชน เด็ก เปลี่ยนแปลงจนเป็นเนื้อเดียวกัน เห็นภาพร่วมกัน เห็นความฝันร่วมกัน มันเอื้อให้สังคม เกิดความรัก ความอบอุ่นต่อเด็ก
การที่ผู้ปกครองได้ให้ความรักและใส่ใจในเรื่องของการเรียนรู้ของลูก สภาพชุมชน สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญา ทำให้สังคมดีขึ้นและกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งหากจังหวัดสตูลสามารถสร้างการเรียนรู้แบบนี้ได้เต็มพื้นที่ เด็กสตูลก็จะรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาได้
“ผมหวังว่าในอนาคตเด็กจะมีทักษะชีวิต มีทักษะการทำงาน รักท้องถิ่น รักบ้านเกิด และเด็กต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะเราสร้างเด็กขึ้นมา อย่างน้อยให้เขารู้จักบ้านของตัวเอง เขาจะรักสตูล อยู่กับสตูลต่อไป ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ อยู่ๆ เด็กจะมีเองไม่ได้ ไม่ใช่ให้ครูไปสอนว่า ‘ลูกต้องแก้ปัญหานะ’ ‘ลูกต้องจัดการแบบนี้นะ’ อยู่ๆ จะมาบอกให้ทำมันไม่ได้ มันต้องสะสม ผ่านกระบวนการเรียน RBL ถ้าวันหนึ่งเขาไม่อยู่กับเรา อย่างน้อยพ่อแม่ก็จะสบายใจได้ว่า ลูกจะรู้เท่าทัน”
ฉะนั้นเมื่อเราถามและไล่ทวนความรู้สึกไปที่เด็กๆ ป.6 หลังจากจบวิชา RBL สำรวจพืชทั้ง 4 ชนิดในชุมชนบ้านควนเก เด็กๆ ตอบตรงกันว่า…
“หนูชอบเรียนแบบนี้ มันสนุก ได้ลงพื้นที่จริง ไม่ได้นั่งอยู่ในห้องเฉยๆ ตอนแรกที่ครูบอกว่าจะให้เรียนวิชานี้ก็งงๆ แต่ครูบอกว่าวิชานี้จะช่วยฝึกให้เราคิดเองและกล้าแสดงออก เทอมหน้าพวกหนูก็จบ ป.6 แล้ว ต้องไปเรียน ม.1 ที่โรงเรียนอื่น ไม่ได้เรียนแล้ว ก็คงเสียใจ” เสียงจาก เด็ก ป.6 บอกทิ้งท้ายไว้กับเรา
หมายเหตุ: โรงเรียนบ้านควนเก จังหวัดสตูล เป็นโรงเรียนหนึ่งในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.สตูล สนับสนุนการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศูนย์วิจัยด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สตูล
*พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ โครงการนำร่องเพื่อปฏิรูปการศึกษาที่จะให้โรงเรียนเป็นอิสระ บริหารจัดการตัวเอง มีการร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายและชุมชนในพื้นที่เพื่อร่วมกันออกแบบการศึกษาเพื่อผลิตคนคุณภาพที่ตอบโจทย์พื้นที่เอง นำร่องใน 6 จังหวัด ครอบคลุมจากเหนือสู่ใต้ ได้แก่ สตูล ศรีสะเกษ ระยอง เชียงใหม่ กาญจนบุรี และ จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) |