- ศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน จังหวัดน่าน เป็นสถานศึกษาที่เกิดจากชาวบ้านในชุมชน ลุกขึ้นมาจัดการศึกษาให้ลูกหลานของพวกเขาด้วยตัวเอง โดยปักธงไว้ที่การเน้นเรียนวิชาชีวิตและไม่ทิ้งวิชาการ
- ห้องเรียนของเด็กๆ ชาวห้วยพ่านกว้างมาก ริมน้ำน่าน ริมห้วย กลางสนาม ในป่า ในวัด นาข้าว และไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ พระ ชาวบ้าน หรือต้นไม้ ทุกคนสามารถเป็นครูได้
- ผลลัพธ์ของการที่ชุมชนลุกขึ้นจัดการศึกษาด้วยตัวเอง นอกจากลูกหลานของพวกเขาไม่ต้องลำบากเดินทางไกลแล้ว ยังทำให้เด็กๆ เกิดจิตสำนึกรักในบ้านเกิดของตัวเองและเห็นคุณค่าของธรรมชาติมากขึ้นด้วย
ภาพ: รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา, โกวิท โพธิสาร
ความซับซ้อนคล้ายกับกำลังเข้าสู่ดินแดนที่ลึกลับ การเดินทางฝ่าเส้นทางถนนลูกรังลัดเลาะไปตามภูเขาจนฝุ่นดินแดงฟุ้งกระจาย เพื่อพบกับหมู่บ้านบนพื้นที่ราบที่มีภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่เป็นแม่น้ำน่านและลำน้ำห้วยพ่านไหลผ่าน มีป่ากว่าหมื่นไร่โอบกอดไว้เต็มพื้นที่ นี่คืออาณาบริเวณของชุมชนบ้านห้วยพ่าน ตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน
ย้อนไปในอดีตช่วง พ.ศ. 2502 – 2514 ในยุคที่มีการต่อสู้ทางความคิดด้านการเมืองระหว่างกองทัพของรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการยึดพื้นที่ในป่าทึบบนภูเขาสูงในอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เพื่อเป็นฐานที่ตั้งในการต่อสู้ โดยใช้แนวขุนเขาธรรมชาติเป็นกำบังเพื่อปิดกั้นสร้างความปลอดภัย ทำให้ขณะนั้นการเดินทางและการติดต่อสื่อสารเป็นไปได้อย่างยากลําบาก ต้องใช้เวลาเดินทางเท้าถึง 5-7 วันเพื่อข้ามกลับไปในอำเภอใกล้เคียง และยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร สงครามยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นมากเท่านั้น เป็นเหตุให้ชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ จำนวน 7 ครอบครัว ตัดสินใจอพยพอุ้มลูกจูงหลานหนีจากภัยสงคราม บ้างก็ไปอยู่กับญาติพี่น้องต่างหมู่บ้าน บ้างก็เดินทางตามหาถิ่นฐานใหม่ จนพวกเขามาบรรจบกันที่พื้นที่ชุมชนบ้านห้วยพ่านแห่งนี้
เมื่อรัศมีความห่างไกลกลายเป็นตัวแปรที่สำคัญ ในอดีตชาวบ้านในชุมชนห้วยพ่านจึงถูกตัดขาดโลกภายนอกและกลายเป็นดินแดนลึกลับท่ามกลางพงไพรอย่างสมบูรณ์ บ้านของพวกเขาไม่มีถนนลาดยางเข้าหมู่บ้าน สองข้างทางไม่มีเสาไฟฟ้า ไม่มีระบบน้ำประปา ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ และไม่มีโรงเรียน…
หลังยุติสงครามบ้านเมืองเข้าสู่การพัฒนา ชาวชุมชนห้วยพ่านเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างคน พวกเขาจึงรวมตัวกันเรียกร้องและก่อตั้งโรงเรียน โดยช่วยกันออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นของตัวเอง ปักธงที่การเน้นเรียนวิชาชีวิตและไม่ทิ้งวิชาการ เพื่อสร้างทางเลือกในการศึกษาสําหรับเด็กในหมู่บ้านโดยเฉพาะ นับเป็นครั้งแรกๆ ในประเทศไทยที่เราเห็นชาวบ้าน (ที่เป็นชาวบ้านจริงๆ) ลุกขึ้นมาเรียกร้องจนเกิดการปฏิรูปการศึกษาให้ลูกหลานของพวกเขาด้วยตัวเอง
ความห่างไกลคืออุปสรรคทางการศึกษา
สมบูรณ์ ใจปิง ผู้ใหญ่บ้านแห่งหมู่บ้านห้วยพ่านและผู้อำนวยการศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน เล่าให้ฟังว่า ประเด็นหลักๆ ที่ชาวห้วยพ่านต้องสร้างโรงเรียนขึ้นมาเอง เพราะทนเห็นสภาพเด็กๆ ในชุมชนที่ต้องไปเรียนในสถานที่ห่างไกลไม่ไหว
“ในอดีตแม้ว่าเด็กๆ ในหมู่บ้าน จะได้ไปเรียนที่โรงเรียนสงเคราะห์ชาวเขา แต่ก็มีโควตาจำกัดแค่เพียงหมู่บ้านละไม่กี่ที่นั่งเท่านั้น ทำให้มีเด็กอีกหลายคนไม่ได้เรียนหนังสือ หรือต้องไปเรียนไกลข้ามอำเภอ สมัยผมเป็นเด็ก ผมมีโอกาสได้เรียน แต่ต้องเดินทางเท้าจากบ้าน 6 กิโลฯ เช้า-เย็น 12 กิโลฯ”
ภาพเด็กๆ ฝ่าแดด ฝ่าฝน เดินเท้าไปโรงเรียนไกล ทำให้ผู้ใหญ่สมกล้าพูดได้เต็มปากว่าสิ่งนี้คือ ปมด้อยทางการศึกษาของพี่น้องชาวห้วยพ่าน
“รุ่นปู่รุ่นพ่อพวกเราสู้รบ จับปืนยิงกัน ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสืออยู่แล้ว พอรุ่นผมก็มีคนที่ยังไม่ได้เรียนหนังสืออีก นี่คือปมด้อยทางการศึกษาของพี่น้องในชุมชน เราต้องหนีอยู่ตลอดเวลา พอได้ขึ้นมาเป็นผู้นำผมบอกกับตัวเองไว้ว่าเราต้องมีโรงเรียน เพราะการจะพัฒนาอะไรสักอย่างมันต้องเริ่มที่คน ถ้าเรามีการศึกษาที่ดีเราก็จะพัฒนาชุมชนได้”
ผู้ใหญ่สมชวนคิดให้เห็นภาพอีกว่า การศึกษาที่ผ่านมา นักเรียนต้องเรียนประถม 6 ปี มัธยม 6 ปี แปลว่าเราส่งลูกหลานของเราออกไปข้างนอกนานถึง 12 ปี พอเขากลับบ้านเกิด วิถีชีวิต ความคิด รากเหง้าทางวัฒนธรรม สำนึกรักในชุมชนก็เลือนรางหายไปเกือบหมด ไม่ต่างจากกอไผ่ไม่มีหน่อเกิดขึ้นมาใหม่ สักวันกอไผ่ต้นนั้นมันก็เริ่มหักและหลุดไป ความล่มสลายก็จะเกิดขึ้นในที่สุด เด็กจำนวนน้อยที่ออกจากบ้านไปแล้วเขาจะหวนกลับคืนชุมชน ถึงเขากลับมาก็อาจจะรู้สึกไม่เหมือนเดิมกับชุมชน ความรักต่อชุมชนก็หายไป
“ยิ่งเวลาผมเห็นพ่อแม่ส่งเด็กน้อยอายุ 7-8 ขวบ ไปเรียนไกลๆ หรือไปอยู่โรงเรียนประจำ มันหดหู่ใจมากนะ แทนที่เด็กน่าจะได้อยู่กับครอบครัวของตัวเอง ยิ่งเด็กเล็กก่อนเข้าวัยประถม เขาควรจะอยู่กับพ่อแม่ให้มากที่สุดไม่ใช่หรือ” ผู้ใหญ่สมตั้งคำถาม
แต่การสร้างโรงเรียนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ในขณะที่ผู้ใหญ่สมพยายามขอโรงเรียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เขาต้องเจอกับนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กสวนกลับ แต่ผู้ใหญ่สมไม่ยอมแพ้ พยายามหาลู่ทางเรื่อยๆ จนได้มาเจอกับ ครูหน่อง-วิทิต เติมผลบุญ แห่งมูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน และเครือข่าย ผู้ใหญ่สมไม่รีรอที่จะแจกแจงความต้องการและปัญหาด้านการศึกษาที่เกิดในชุมชน
หลังจากนั้นพวกเขาก็ช่วยกันทำงาน เพื่อขบคิด ตกผลึก จนชาวบ้านกว่า 45 หลังคาเรือนลงมติร่วมกันว่า ‘ชุมชนเราต้องสร้างศูนย์การเรียนฯ ให้ลูกหลานของเรา’ นำไปสู่การลงขัน เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์มาก่ออิฐ โบกปูน จนเกิดเป็นบ้านเรียนดินขึ้นได้สำเร็จ เมื่อปี 2555 และเปิดการเรียนการสอนครั้งแรกในปี 2556
“ตอนนั้นผมมั่นใจว่าปัญหาด้านการศึกษาของชาวห้วยพ่านจะถูกแก้ไข”
ผู้ใหญ่สมขยายความว่า ตั้งแต่เห็นชาวบ้านมาช่วยกันปั้นบล็อกดินเพื่อสร้างอาคารเรียน มันทำให้รู้ว่า ‘พวกเราเอาจริงแน่’ เพราะชาวบ้านทุกคนเต็มที่ มีการกำหนดเวลาและเช็คชื่อชาวบ้านที่มาลงแรงช่วยก่อสร้าง ถ้าใครไม่เอาด้วย ไม่มาช่วยทำ เวลาไปไร่ไปนาก็มีเรื่องคุยกับคนอื่น ถ้าใครขาดก็มาชดเชย
“จนถึงวันนี้ผมมานั่งมองศูนย์การเรียนที่สร้างเสร็จแล้ว มันก็ไม่ใช่น้อยๆ นะ พอมาถึงวันนี้มันภูมิใจมาก มันเห็นภาพวันที่เราร่วมมือร่วมแรง ไม่ได้มองเรื่องเงินทองหรือค่าตอบแทน เขาอยากได้โรงเรียนให้ลูกหลานของพวกเขาอยู่ใกล้ๆ แค่นั้นเอง”
หลักสูตรที่ไม่เหมือนใคร อาคารเรียนไม่ต้องใหญ่ แต่ห้องเรียนกว้างมาก
ความมีชีวิตชีวาและอาการตื่นเต้นจนเก็บซ่อนแทบไม่ไหวที่เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้วในวันเปิดเทอมวันแรก ภาพนักเรียนและผู้ปกครองชาวห้วยพ่านต่างเดินทางมาที่ศูนย์การเรียนฯ แห่งนี้ ตั้งแต่ดวงตะวันยังไม่โผล่ขึ้นจากขอบฟ้า ครูมนยังจำได้ดี
ศรัณย์พร รัตสีโว หรือ ครูมน ครูเพียงคนเดียวที่สอนประจำในศูนย์การเรียนฯ แห่งนี้ ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีไล่รายชื่อของนักเรียนทั้งหมดให้เราฟัง เพราะปัจจุบันมีนักเรียนเพียง 15 คน นับรวมตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยมปีที่ 3 โดยเด็กๆ ทุกคนจะถูกเรียกนำหน้าด้วยคำว่า ‘พี่’ ทุกครั้ง เช่น พี่แนน ป.4 พี่ไอซ์ ป.3 พี่นิว ป.2 เป็นเทคนิคหนึ่งที่ครูมนนำมาช่วยให้เด็กๆ รู้สึกว่าตัวเองเติบโตแล้ว พวกเขาจึงต้องมีความรับผิดชอบตัวเองและดูแลเพื่อนๆ คนอื่นได้ด้วย
เด็กๆ 15 คน ที่เรียนอยู่ในศูนย์การเรียนฯ นี้ ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อยู่ในชุมชน ตอนเช้าเราจะเห็นภาพเด็กๆ พากันเดินมาเรียน หากมีเวลาเหลือพวกเขาก็จะวิ่งเล่นเพื่อรอเวลาเข้าแถวเคารพธงชาติ ก่อนช่วยกันเก็บกวาดใบไม้ ก่อนเข้าเรียนในคาบแรก
ครูมนเล่าให้ฟังว่า โดยพื้นเพไม่ใช่คนห้วยพ่านตั้งแต่กำเนิด ครูมนย้ายตามสามีมาเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ช่วงแรกยังไปๆ มาๆ ระหว่างห้วยพ่านและอำเภอทุ่งช้าง เพราะครูเปิดร้านซ่อมคอมพิวเตอร์อยู่ที่นั่น แต่หลังจากนั้นครูมนได้รับคัดเลือกให้เข้ามาทำงานเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านห้วยพ่าน (อสม.) ซึ่งเป็นช่วงที่ก่อสร้างศูนย์การเรียนฯ กอปรกับเป็นช่วงเดียวกันกับที่ครูคนเดิมที่เคยสอนประจำอยู่ศูนย์การเรียนฯ ลาออก และมีการประกาศรับสมัครครูคนใหม่พอดี
“แต่ตอนนั้นเราไม่กล้าที่จะสมัครเป็นครูนะ เราคิดว่าเราไม่มีคุณสมบัติพอ เราจบแค่ ม.6 และคิดว่าตัวเองสอนไม่ได้ แต่สุดท้ายชุมชนก็คัดเลือกให้เรามาเป็นครู”
แม้ครูมนไม่ได้สอนที่ศูนย์การเรียนฯ ตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ครูมนเป็นหนึ่งในคนที่ลงแรงกายและใจเข้ามาช่วยสร้างศูนย์การเรียนฯ แห่งนี้ขึ้นมาพร้อมกับชาวบ้านคนอื่นๆ ดังนั้นภาพที่ครูมนเห็นมาตลอดก่อนที่จะเข้ามาเป็นครูก็คือภาพความยากลำบากของเด็กๆ ที่ต้องเดินทางไปเรียนไกลบ้าน
“ถ้าฝนตกเมื่อไรแปลว่า เด็กๆ ออกไปไหนไม่ได้เลยต้องอยู่ในชุมชนอย่างเดียว หรือออกไปได้แต่กว่าจะถึงโรงเรียนก็สาย เด็กๆ ลำบากพอสมควรในการออกไปเรียนข้างนอก และสิ่งที่เรามองเห็นได้ชัดคือการที่ผู้ปกครองไม่สามารถอยู่ใกล้ชิดกับลูกหลานได้ มีอาการความเป็นห่วงเยอะแยะมากมาย ไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน”
นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ครูมนสอนนักเรียนได้ 5 ปีแล้ว ระหว่างทางครูมนไม่นิ่งดูดาย เร่งตักตวงและแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากการเข้าอบรมกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงใช้วิธีลักจำ หยิบวิธีการจัดการห้องเรียนจากโรงเรียนต้นแบบอื่นๆ มาปรับใช้กับเด็กห้วยพ่าน จนสามารถออกแบบกระบวนการสอนที่เหมาะกับเด็กห้วยพ่านได้ในที่สุด
“ก่อนเด็กๆ จะเรียนทุกคาบ เราจะทำกระบวนการจิตศึกษาก่อน เพื่อพาเด็กๆ สำรวจว่าขณะนั้นตัวเองรู้สึกอย่างไร เหมือนเป็นการเช็คอิน ต่อไปเราให้เด็กๆ เลือกกันว่าวันนี้เขาอยากเรียนอะไร เช่น เด็กๆ ส่วนมากยกมืออยากเรียนคณิตศาสตร์ เราก็พาเรียนคณิตศาสตร์ ให้เด็กเลือกเองได้เลย พอเรียนเสร็จครูพาทำจิตศึกษาอีกรอบเพื่อให้เด็กสำรวจตัวเองว่าจากเนื้อหาคาบที่แล้วเขาได้ความรู้ใหม่อะไรมาบ้าง จากนั้นก็พาเขาทำ ‘ปลาดาว’ โดยให้เด็กๆ มานอนหงาย ฟังเพลงสบายๆ ฟังเสียงธรรมชาติ พักผ่อนร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่วิชาต่อไป ซึ่งกระบวนการเช่นนี้เราได้โมเดลมาจากโรงเรียนลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรีมย์”
พอถึงช่วงบ่าย ครูมนอธิบายให้ฟังต่อว่าตอนนี้กำลังทดลองใช้กระบวนการเรียน PBL หรือการเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) มาปรับใช้ในห้องเรียน โดยขณะนี้กำลังทำโครงงานเรื่องสวนผักและสารเคมี ให้เด็กๆ ตั้งต้นคิดจากปัญหาและสิ่งที่เขาอยากรู้ เช่น มีวิธีการใดบ้างที่จะลดสารเคมีในผัก
ท่ามกลางความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม ครูมนและผู้ใหญ่สมบอกตรงกันว่า ทุกตารางนิ้วในชุมชนห้วยพ่านคือห้องเรียน
“เราสร้างการเรียนโดยเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง ที่ผ่านมาถ้าเด็กๆ อยากจะเรียนเรื่องเลี้ยงควาย เรื่องเข้าไร่เข้านา มาเรียนคุณภาพน้ำจากแมลงในวิชานักสืบสายน้ำ ทำให้รู้ทุกเรื่อง ดิน น้ำ ป่า ความมั่นคงทางอาหาร ทั้งหมดที่กล่าวมาเราก็ยังไม่ทิ้งวิชาที่เป็นกลุ่มสาระต่างๆ
ณ วันนี้ห้วยพ่านมีห้องเรียนที่ใหญ่มาก ป่าประมาณหมื่นกว่าไร่ แม่น้ำมี 3-4 สาย เด็กว่ายน้ำเก็บไก (สาหร่าย) หาปู หาปลา เรามีทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมดีๆ เยอะมาก ดังนั้นเราจะทำอะไรให้เด็กรู้จักธรรมชาติ วัฒนธรรม และบูรณาการควบไปกับการเรียนตามระบบ” ผู้ใหญ่สมบอก
เช่นเดียวกับครูมน ที่บอกว่า เด็กๆ ห้วยพ่านสามารถเรียนได้ทุกที่ ริมน้ำน่าน ริมห้วย กลางสนาม ในป่า ในวัด นาข้าว ที่สำคัญทุกคนสามารถเป็นครูได้หมด ผู้ปกครองก็เป็นครูได้ พระ ชาวบ้าน ต้นไม้ก็สามารถเป็นครูได้
การเรียนแบบห้วยพ่านคือเติมเต็มทั้งสองฝ่าย “ครูไม่ได้มาสอนเขาอย่างเดียว เด็กๆ ก็สอนในเรื่องที่ครูไม่รู้ เช่น ภาษาลัวะ (ภาษาท้องถิ่นของชาวห้วยพ่าน) สอนการไปทำเกษตร ทำไร่ ทำสวน ที่เด็กๆ มีความเชี่ยวชาญ เพราะพ่อแม่ถ่ายทอดความรู้ให้ เขาก็เอามาแบ่งปันให้เรา”
พระอาจารย์สุนทร สุภาวโร ภิกษุประจำวัดในชุมชนห้วยพ่าน เป็นหนึ่งในครูของเด็กๆ นอกจากพระอาจารย์จะแพร่หลักศาสนาให้กับเด็กๆ แล้ว ยังถ่ายทอดวิชาอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น วิชาสมุนไพร วิชานั่งสมาธิ
“การให้เด็กรู้จักสรรพคุณของสมุนไพรในป่า เผื่อพวกเขาจะนำความรู้เหล่านี้ไปบอกต่อกับพ่อแม่ ชาวบ้านที่เจ็บป่วย หรือผู้เฒ่าผู้แก่ที่นอนติดเตียง เช่น เห็ดหลินจือ มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเก๊าท์ นำไปต้มและกิน เมื่อเวลามีอาการจะช่วยลดอาการบวมแดงอักเสบบริเวณข้อต่อที่เป็นอาการของโรคเก๊าท์ได้”
แต่ดูเหมือนว่าผลพลอยได้ของการสอนเรื่องสมุนไพรในป่าของพระอาจารย์ ไม่เพียงแค่ทำให้เด็กๆ มีความรู้เรื่องสมุนไพรเท่านั้น แต่มันคือการทำให้เห็นว่าบ้านของพวกเขามีทรัพยากรที่ดีอยู่มากแค่ไหน และพวกเขาควรจัดการกับทรัพยากรล้ำค่าเหล่านั้นอย่างไร
“เวลาเราสอนต้องย้อนให้เขารู้ว่าการที่เห็ดจะเกิดมันต้องมีความชื้นนะ ถ้าพ่อแม่ใครไปเผาป่าให้มันแห้ง เห็ดมันก็จะไม่เกิด เราก็จะไม่มีอาหาร มียา เพื่อความสมดุลของป่าเราก็ต้องอนุรักษ์ลำธาร ต้นไม้ ให้มากๆ การมีป่าคือการมีคุณสมบัติมหาศาล เหมือนเรามีซูเปอร์มาร์เก็ตก็ว่าได้” นี่คือสิ่งที่พระอาจารย์ทิ้งท้ายไว้
เกิด เติบโต เรียนรู้ อยู่ในบ้าน
ปฏิเสธไม่ได้หากนึกถึงการสร้างโรงเรียนหรือแหล่งเรียนรู้ขึ้นมาสักแห่ง เรามักจะมองว่าเป็นเรื่องของคนใหญ่คนโตที่ต้องเป็นผู้จัดการดูแลและสร้างมันขึ้นมา แต่วันนี้ชาวห้วยพ่านได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า…การศึกษาอยู่ที่ชุมชนก็ได้
ปัจจุบันศูนย์การเรียนชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่านกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 ผลคะแนนสอบติดระดับท็อปของประเทศอาจไม่ใช่ดอกผลทางการศึกษาของที่นี่ แต่ผลลัพธ์ที่เห็นอย่างชัดเจนคือ คาแรคเตอร์ของเด็กๆ ที่เปลี่ยนไป พวกเขากล้าพูด กล้าถาม กล้าคิด กล้าแสดงออก รวมถึงมีจิตสำนึกรักในบ้านเกิด รักสิ่งแวดล้อม เห็นคุณค่าของธรรมชาติในบ้านตัวเองมากขึ้น
“ผมว่าเรามาถูกทางและนี่คือสิ่งที่ใช่สำหรับการศึกษา ทุกวันนี้เราจะให้ลูกหลานเป็นอย่างไร จะให้อยู่กับชุมชนไหมหรือให้เขาไปอยู่ที่อื่น ผมว่าภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งสำคัญ โลกมันแคบลงแล้ว ชาวห้วยพ่านต้องเรียนและช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกหลานของเรา วันนี้เด็กๆ ในศูนย์การเรียนฯ ได้เจอแขกบ่อย เขากล้าพูด กล้าถาม กล้าคิด กล้าทำมากขึ้น เขากล้าคุยกับแขกที่เข้ามาเที่ยวในชุมชน เขาพาเดินดูบ้านของตัวเอง ถึงแม้เขาจะยังเรียนไม่จบ แต่ประเมินจากความกล้าของเขาแล้ว ผมว่าเด็กที่นี่ใช้ได้เลย” ผู้ใหญ่สมบอกกับเรา
“เวลาไปพูดที่ไหน ผมบอกเสมอว่า ผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่อีกตำแหน่งผมเป็นผู้อำนวยการศูนย์การเรียนฯ ที่ไม่มีค่าตอบแทนอะไรสักอย่าง มีแต่ตัวและหัวใจ เราทุกคนภูมิใจที่ได้ทำเพื่อให้ลูกหลานได้เรียนที่นี่ ได้มีที่เรียน ทำให้ชุมชนได้เป็นที่รู้จักและได้เป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ”
เหมือนที่ พี่แนน-ด.ญ.วรรณิภา ใจปิง, พี่ไอซ์-ด.ช.วัชระพล แปงอุด สองนักเรียนในศูนย์การเรียนฯ ทิ้งท้ายไว้กับเราว่า ความฝันของพวกเขาคือการกลับมาช่วยแม่ทำไร่ที่บ้านและอยากทำงานรับจ้างอยู่ในชุมชนแห่งนี้โดยที่ไม่คิดอยากจะย้ายไปอยู่ที่ไหน