- สำหรับพ่อแม่ ‘กรุ๊ปไลน์ผู้ปกครอง’ บั่นทอนและทำร้ายครูมากกว่าที่คิด
- นอกจากภาระการสอนแล้ว ครูจำนวนมากถูก ‘สาดอารมณ์ใส่’ ทั้งจากเด็กและครอบครัว ส่งผลให้ไหล่บ่าครูหนักอึ้งไปด้วยความเครียด
- ครูก็คือมนุษย์คนหนึ่ง พวกเขาหรือเธอจึงต้องการการบำบัด ปลดปล่อย และ มีสิทธิ์ปิดโทรศัพท์
ถ้าคุณมีโอกาสเป็นผู้ปกครองของเด็กนักเรียนยุคไซเบอร์ (หรืออาจไม่ได้เป็น แต่อ่านดูเพื่อรับรู้วิถีชีวิตของครูยุคใหม่ก็ไม่ผิดนะคะ ^^) คุณอาจเข้าใจสถานการณ์หรือร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ ‘กรุ๊ปไลน์ห้องเรียน’ หน้าที่ของกรุ๊ปไลน์ประเภทนี้ คือการแจ้งข่าวสารทั้งเรื่องกิจกรรม เรื่องเด็กคนนั้นคนนี้ยังไม่ส่งการบ้าน ไม่เข้าเรียน รายงานคะแนนสอบ กระทั่งปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนรายวัน ให้กับผู้ปกครอง ‘ทั้งห้อง’ ได้รับทราบ
หลายๆ ครั้ง Notification ยังคงดัง แม้เวลาจะล่วงเลยเป็นเวลา 3-4 ทุ่มไปแล้ว เข้าใจว่าเหตุผลส่วนหนึ่ง เป็นเพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำงานในเวลากลางวัน ช่วงเวลา ‘หลังเลิกงานของผู้ปกครอง’ จึงเป็นเวลาพูดคุยกับคุณครูไปโดยปริยาย
ทันทีกับที่ได้เห็นบทความ ‘When Students Are Traumatized, Teachers Are Too’ (เมื่อนักเรียนมีบาดแผลทางจิตใจ, คุณครูก็ด้วยเหมือนกัน) โดยเอมิลีนา มิเนโร (Emelina Minero) ผู้ช่วยบรรณาธิการ (Assistant Editor) ชุมชนผู้เผยแพร่บทความทางการศึกษาออนไลน์ Edutopia โดยองค์กรไม่แสวงกำไรด้านการศึกษาที่ชื่อ The George Lucas Educational Foundation ก็พลันคิดถึงเรื่อง ‘กรุ๊ปไลน์ห้องเรียน’ ที่เด้งเตือนตลอดเวลาเข้า
บทความชิ้นนี้พูดถึงความป่วยไข้และความทุกข์ยากด้านอารมณ์ของคนเป็นครู ผู้ต้องรับมือ ให้คำปรึกษา รองรับอารมณ์ และการต้องเป็นหนึ่งในผู้รับรู้ความรุนแรงจากทางบ้านที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กๆ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้ครูกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่ายๆ
ตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ ครูพิ้งค์-นีติรัฐ พึ่งเดช เมื่อครูวัยรุ่น ขอไปสอนที่โรงเรียนชุมชนคลองเตย ครูพิงค์กล่าวถึงปัญหาหนึ่งของครูที่ต้องรับมือกับเด็กๆ ที่เผชิญหน้ากับความรุนแรงในครอบครัว และอยู่ในชุมชนที่มีปัญหาสังคม ปัญหายาเสพติด และปัญหาความรุนแรงด้านอื่นๆ ไว้ว่า
“บางทีก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า เด็กที่นี่เฮี้ยวจริงๆ ด่าครู พกมีด เสพยา การที่ครูเจออะไรอย่างนี้ทุกวันแล้วไม่ได้รับการเยียวยาเลย หันไปหาเพื่อน เพื่อนก็พังเหมือนกัน มันก็บั่นทอน หมดไฟได้ง่ายๆ เหมือนกัน”
ตรงกับที่ อเล็กซ์ เชฟริน (Alex Shevrin) อดีตผู้นำครู โรงเรียนเซ็นเตอร์พอยท์ (Centerpoint School) โรงเรียนที่ออกแบบโครงสร้างการทำงานด้านการเยียวยาสภาพจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นมุมผ่อนคลาย มุมเดินเล่น ดนตรี และชั่วโมงให้ครูได้มาปรึกษาปัญหาและทำกลุ่มบำบัดซึ่งกันและกัน
เชฟรินกล่าวว่า “มันไม่ใช่เรื่องที่เราจะแสร้งทำว่าเราเป็นหุ่นยนต์ เป็นครูที่ไม่มีความรู้สึก ซึ่งผมเชื่อว่าครูหลายๆ คนพยายามบอกตัวเองให้เป็นเช่นนั้น (เพื่อบำบัดตัวเองจากความเครียด)”
อลิเซีย เฟอร์กูสัน การ์เซีย (Alysia Ferguson Garcia) ครูคนหนึ่งอธิบายประสบการณ์ของเธอผ่านบทความชิ้นดังกล่าวว่า “ตอนที่คุณเรียนเป็นครู หรือมีความฝันอยากจะเป็นครู คุณอาจคิดว่าหน้าที่ของคุณคือการเตรียมสอน หาวิธีมาช่วยให้เด็กๆ เข้าใจบทเรียน แต่เราไม่เคยถึงเรื่อง ‘อารมณ์’ เราไม่เคยคิดว่านั่นคือหนึ่งในเนื้องานของเหล่าคุณครู ฉันเป็นคนหนึ่งที่ถูกเด็กๆ ทำให้เจ็บปวด ถูกพวกเขาสาดอารมณ์ใส่ และมันยากสำหรับฉันที่จะทิ้งเรื่องราวของเด็กๆ หรือความเจ็บปวดที่พวกเขาแบกรับเอาไว้แล้วกลับบ้านไปพักหลังการสอน”
การ์เซียกำลังพูดถึง ‘การถูกสาดอารมณ์ใส่’ จากเรื่องเล่าของเด็กๆ ที่ถูกทำร้ายทำลายโดยครอบครัว บ้างถูกคุกคามทางเพศจากคนใกล้ชิด บ้างถูกทำร้ายทางจิตใจหรือวาจา และหลายๆ กรณีที่เราเรียกรวมๆ ว่า ‘ปัญหาสังคม’
ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ‘Trauma’
ข้อมูล Centers for Disease Control and Prevention (CDC) รายงานว่า เด็กชาวอเมริกันเกินครึ่ง เคยผ่านประสบการณ์ถูกทำร้าย คุกคาม เพิกเฉยไม่สนใจ ความรุนแรงทางร่างกาย หรือปัญหาครอบครัวด้านอื่นๆ ซึ่งผลกระทบจากความรุนแรงที่ว่านี้ มีผลอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมเสี่ยงในอนาคต เช่น เป็นโรคติดสุราเรื้อรัง ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย หรือปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ แต่ผลระยะใกล้ คือบุคลิกในด้านความสัมพันธ์ เช่น มีปัญหาเรื่องการเข้าหาคนอื่น การมองโลกในแง่ร้าย ตั้งแง่
แต่สำหรับครู ผู้ต้องทำงานกับเด็กๆ ที่มีปัญหาโดยตรง พวกเขาต้องรับฟังและแก้ปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘เป็นพยานบุคคลสำคัญในเหตุการณ์ดังกล่าวจากการฟัง’
“การที่ต้องรับฟังประสบการณ์เลวร้าย ในที่สุดผู้รับฟังก็จะกลายเป็นพยานบุคคลต่อความเจ็บปวด ต่อเหตุการณ์รุนแรงนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
คือคำอธิบายจากสมาคมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาอเมริกัน (American Counseling Association)
สิ่งที่เกิดขึ้นกับสมองของคุณครู
งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า ‘ความเครียด’ คือตัวการสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสมอง ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมและกลไกของร่างกายในการตั้งรับกับสถานการณ์ต่างๆ เช่น ความดันเลือด ระบบหายใจ การหลั่งสารอะดรีนาลีน และรวมทั้งพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าต่างๆ เช่น เมื่อทำนายว่าเด็กคนไหนมีปัญหา ก็อาจหลีกเลี่ยง หลบหนีสังคม ไม่ไปกินข้าวหรือพบปะกับเพื่อนฝูง เริ่มมาทำงานสาย เหล่านี้เป็นต้น
วิธีแก้ไขปัญหา
เช่นเดียวกับที่ครูพิ้งค์อธิบายไว้ วิธีแก้ปัญหาของเธอและกลุ่ม Teacher For Thailand ก็คือการ ‘บำบัดกลุ่ม’ แม้จะไม่ได้ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นวิธีที่เธอบอกว่าจำเป็น การ์เซียก็เช่นเดียวกัน เธออธิบายว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคนดูดซับอารมณ์หม่นหมองของเธอออกไปบ้าง และไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดเท่านั้น แต่มีโรงเรียนที่ออกแบบตั้งแต่สถาปัตยกรรมของตัวตึกเรียน ออกแบบกระบวนการพักผ่อน และกำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจนให้ครูได้มีเวลาบำบัดกันเอง ทั้งหมดนี้แฝงฝังลงไปในแผนการทำงาน ไม่ใช่แค่ให้ทำในเวลาว่าง
โรงเรียน Centerpoint School รัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐ คือโรงเรียนที่ว่านั้น เพราะสิ่งที่โรงเรียนนี้ให้ความสำคัญ คือเวลาผ่อนคลายของคุณครู นอกจากกระบวนการที่ว่าไปข้างต้น Centerpoint School ยังมีออกแบบให้โรงเรียนมีพื้นที่ออกกำลังกาย เช่นโรงยิม พื้นที่ขี่จักรยาน หรือกระทั่งคอร์สสอนเย็บผ้า
แต่หากโรงเรียนในบ้านเรา หรือสิ่งแวดล้อมของคนทำงานด้านการศึกษาในบ้านเรายังไม่เอื้ออำนวยเช่นนี้ การ์เซีย ผู้ไดรับเทคนิคการสอนและการหาวิธีผ่อนคลายจากสมาคมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาอเมริกัน เธออธิบายว่า
“ต้องคอยเช็คตารางงานของตัวเอง ถ้ารู้สึกว่ามันเครียดเกินไป ก็ต้องหยุดและหาวิธีเอาออก อย่ารอให้ความรู้สึกท่วมท้น หรือรู้สึกเครียดจนตัวจะระเบิด”
หาพาร์ทเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นคนรัก เพื่อนครูที่สนิท หรือใครก็ตามที่จะคอยระบายออกได้ ไม่เช่นนั้นต้องกำหนดเวลาปิดโทรศัพท์ หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่เราจะไม่ทำงานเลยจริงๆ และอีกหนึ่งวิธีที่การ์เซียแนะนำก็คือ ก่อนกลับบ้าน ให้คุณครูหยุดนิ่งเพื่อเขียนไดอารียาวๆ อธิบายความรู้สึกของตัวเองและสิ่งที่เผชิญมาตลอดทั้งวัน แล้วทิ้งมันเอาไว้ที่โต๊ะทำงาน ไม่เอากลับบ้านไปด้วย
“มันง่ายมากจริงๆ ที่จะปล่อยให้งาน หรือการสอนเข้ามาครอบงำและกัดกินคุณ แต่งานสอน คือการสร้างความสมดุลให้กับชีวิตด้วย สิ่งที่ฉันทำ คือทุกครั้งที่กลับบ้าน จะปิดโทรศัพท์และยกให้เรื่องของตัวเอง ลูกสาว และครอบครัวขึ้นมาเป็นความสำคัญอันดับแรกๆ” การ์เซียกล่าว
หมายความว่า คุณครูชาวไทยทุกคน อาจต้องทบทวนและจัดตารางเวลาในการตอบไลน์ผู้ปกครองกันใหม่แล้วนะคะ