- บาดแผลทางใจหมายถึงความรู้สึกเจ็บปวดจนส่งผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจอย่างรุนแรง เช่น อุบัติเหตุ การสูญเสีย ความรุนแรงทางจิตใจ ร่างกาย หรือภัยธรรมชาติ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีบาดแผลทางใจจะพัฒนาเป็นโรค PTSD
- หลักการสำคัญของการนำความรู้เรื่องการดูแลบาดแผลทางใจไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือองค์กรมี 4 ข้อ ได้แก่ การตระหนัก การรับรู้ การตอบสนอง และการต่อต้านการสร้างบาดแผลทางใจซ้ำ
- สิ่งที่ยากที่สุดของการต้องอยู่กับบาดแผลทางใจคือการที่เราต้องก้าวไปข้างหน้าโดยที่ต้อง “รับผิดชอบความรู้สึกตัวเอง” ถ้าเราอยากมีความสุขเราก็ต้องค่อยๆ ถอนตัวเองออกจากความรู้สึกเหล่านั้น
เริ่มต้นบาดแผลทางใจถูกเรียกว่า ‘อาการช็อกจากกระสุน’ (shell shock) ซึ่งเป็นอาการที่มักพบในกลุ่มทหารผ่านศึก (veteran) ที่เผชิญสถานการณ์โหดร้าย ทั้งความรุนแรงจากการสูญเสีย การใช้ความรุนแรง
เรียกรวมๆ ว่าภาพที่น่าหดหู่ของสงคราม และภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเรียกและเพิ่มการวินิจฉัยเป็นโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์เลวร้าย (post-traumatic stress disorder) เข้าไปในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตของสมาคมจิตเวชศาสตร์ โดยมีอาการคร่าวๆ ดังนี้
1) เป็นผู้เผชิญ สังเกตการณ์ หรือได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต การทารุณกรรม
2) รู้สึกเหมือนเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นการนึกถึง ฝัน หรือรู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ (flashback)
3) พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ ผู้คน หรือสิ่งที่เกี่ยวข้อง
4) มีความคิดหรือความรู้สึกแง่ลบเปลี่ยนแปลงไปในแง่ลบ เช่น จำเหตุการณ์ไม่ได้ มองตัวเองแย่ รู้สึกเชิงลบ ถอยตัวออกหากจากคนอื่น
5) ตื่นตัวหรือการตอบสนองต่อเหตุการณ์มากเกินไป เช่น หงุดหงิด ระเบิดอารมณ์ง่าย สะดุ้งตกใจง่าย มีปัญหาสมาธิ หรือการนอนหลับ
6) อาการเหล่านี้รบกวนชีวิตจนเกิดปัญหา และมีระยะเวลามาก 1 เดือน
*เกณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น ยังมีรายละเอียดมากกว่านี้ หากสนใจสามารถปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรืออ่านเพิ่มเติมได้ที่คู่มือ DSM-V TR
เมื่อเริ่มมีการตระหนักถึงความรุนแรงและผลกระทบของบาดแผลทางจิตใจในกลุ่มทหารผ่านศึก ระหว่างเดียวกันกลุ่มผู้หญิง และเด็กก็พบว่าแม้ตนเองจะไม่เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายอย่างสงคราม แต่ตนเองก็มีบาดแผลทางจิตใจหรืออาการของโรค PTSD เช่นกัน ซึ่งมาจากการนึกย้อนถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในวัยเด็กได้ภายหลัง (delayed recall of memories) โดยเหตุการณ์มักจะเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัว และการล่วงละเมิดทางเพศ (sexual abuse) ส่งผลให้เกิดการถกเถียงด้วยว่าความทรงจำนั้นเป็นเรื่องจริง หรือเป็นเพียงอาการความจำผิด (false memory syndrome) แต่ก็ได้มีการค้นพบว่า อาการ PTSD สามารถเกิดขึ้นได้กับการทารุณกรรมหรือความรุนแรงในครอบครัวได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการค้นพบจึงเป็นเหตุการณ์พลิกวงการบาดแผลทางใจที่ทำให้สังคมค่อยๆ เห็นว่า อาการของ PTSD สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และบาดแผลทางใจก็เช่นกัน
หลายคนมักจะเชื่อมโยงว่าบาดแผลทางใจคือ โรค PTSD เพราะว่า PTSD ทำให้สังคมเห็นว่าบาดแผลทางใจสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจมนุษย์ได้อย่างรุนแรง
ถึงอย่างนั้น ทั้งสองอย่างก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน บาดแผลทางใจมีความหมายที่กว้างมากกว่านั้น ซึ่งหมายถึงความรู้สึกเจ็บปวดจนส่งผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจอย่างรุนแรง เช่น อุบัติเหตุ การสูญเสีย ความรุนแรงทางจิตใจ ร่างกาย หรือภัยธรรมชาติ แม้อาการของ PTSD มักจะเกิดจากเหตุการณ์ที่เป็นบาดแผลทางใจ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีบาดแผลทางใจจะพัฒนาเป็นโรคดังกล่าว เพราะมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ความเข้มแข็งทางจิตใจ การมีคนรอบข้างสนับสนุน และอื่นๆ นอกจากนั้น บาดแผลทางใจยังเป็นปัจจัยที่พัฒนาเป็นโรคจิตเวชอื่นๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น โรคทางบุคลิกภาพ เช่น โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบก้ำกึ่ง (BPD) หรือโรคทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว หรืออาจจะไม่ได้เป็นอะไรเลยก็ได้หากมีความเข้มแข็งทางจิตใจ การสนับสนุนจากคนรอบข้างที่เหนียวแน่น หรือพันธุกรรมที่ดี
กำเนิดวิธีการดูแลบาดแผลทางใจ (trauma-informed care)
เมื่อสังคมเริ่มตระหนักถึงการมีอยู่ของบาดแผลทางจิตใจ จึงเริ่มมีการพัฒนามุมมองของการดูแลบาดแผลทางใจ หรือ trauma-informed care โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงรูปแบบ ผลกระทบของบาดแผลทางจิตใจ รวมถึงวิธีในการดูแลและสร้างสังคมที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลทางใจซ้ำอีกครั้ง และส่งเสริมสังคมของการเยียวยาจิตใจ
การตระหนักถึงการดูแลบาดแผลทางใจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนมุมมองต่อการเข้าใจมนุษย์ จากปกติเรามักจะตั้งคำถามว่า “คุณผิดปกติตรงไหน” แต่เมื่อเข้าใจบาดแผลทางใจ เราจะค่อยๆ เข้าใจว่าบาดแผลทางใจเป็นมากกว่าโรคทางจิตเวชที่แบ่งคนออกเป็นโรคต่างๆ ผู้คนมีความซับซ้อนมากกว่าการแปะป้ายชื่อโรค คำถามที่เรามักจะถามจึงเปลี่ยนเป็น “เกิดอะไรขึ้นกับคุณ” ซึ่งแสดงถึงการพยายามทำความเข้าใจประสบการณ์ชีวิต เหตุการณ์ที่พบเจอ ความคิด ความรู้สึก มากกว่ามองว่าเขาผิดปกติด้วยโรคอะไรแล้วก็จบไป
การใส่ใจถึงประสบการณ์ที่ซับซ้อนของคนจึงเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนรู้สึกกล้าที่จะเป็นตัวเอง มากกว่าจมอยู่กับความรู้สึกว่าตัวเองผิดปกติ
หลักการสำคัญของการนำความรู้เรื่องการดูแลบาดแผลทางใจไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือองค์กรมี 4 ข้อ ได้แก่
1) การตระหนัก (realization) มีความเข้าใจผลกระทบของบาดแผลทางใจไม่ว่าจะต่อร่างกาย จิตใจ หรือสังคม ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคลหรือระดับหน่วยงานองค์กร
2) การรับรู้ (recognize) มีความรู้ว่าสัญญาณและอาการของบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร
3) การตอบสนอง (respond) เมื่อมีความเข้าใจเรื่องบาดแผลทางใจแล้วเราก็ควรนำองค์ความรู้ไปใช้ทั้งในชีวิตประจำวัน ในองค์กร หรือการสร้างนโยบายต่างๆ ที่คำนึงถึงมิติด้านบาดแผลทางใจมากขึ้น เริ่มตั้งแต่วิธีการทำงาน การคิด การปฏิบัติตัว เช่น การไม่ตัดสิน การตั้งใจฟัง การคำนึงถึงภูมิหลังทางชาติ ศาสนา หรือความเชื่อต่างๆ
4) การต่อต้านการสร้างบาดแผลทางใจซ้ำ (re-traumatization) เมื่อเรามีความเข้าใจเรื่องบาดแผลทางใจมากขึ้น เราจะยิ่งเห็นว่าบาดแผลทางใจเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อมนุษย์ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นบุคคล กลุ่ม ชุมชน สังคม ประเทศ และเป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่มีอนุภาคทำลายร้างมนุษย์ได้สูงมาก เราจึงควรหลีกเลี่ยงการสร้างบาดแผลทางใจเพิ่มขึ้น เพราะเห็นแล้วว่าผลกระทบนั้นใหญ่เพียงใด เช่น การไม่นำโรคทางจิตเวชมาล้อเล่น เพราะเรารู้ว่าคนที่เป็นโรคอาจไม่ได้สนุกหากบังเอิญมาได้ยิน
บาดแผลทางใจคืออะไร
ธรรมชาติของบาดแผลทางใจไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ที่ทำให้เราเจ็บปวด แต่ต้องเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อร่างกาย ความรู้สึก มุมมองต่อตัวเองหรือโลก เช่น ปัญหาภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ นอนไม่หลับ การเรียนแย่ ซึมเศร้า วิตกกังวล สมาธิสั้น ไม่เห็นคุณค่าตัวเอง คุมตัวเองไม่ได้ มีอาการเสพติด รู้สึกไร้ความหมาย ปัญหาความสัมพันธ์ ไม่ไว้ใจคนอื่น ทำร้ายคนอื่น
โดยผมนิยามว่า บาดแผลทางใจคือ เหตุการณ์เลวร้ายที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และรวมถึงสิ่งที่ดีๆ ที่อยากให้เกิดแต่ไม่ได้เกิดขึ้นในชีวิตด้วย นอกจากบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นจากการถูกทำร้ายทางร่างกายหรือจิตใจแล้ว บาดแผลทางใจยังสามารถเกิดจากการถูกเพิกเฉยได้ด้วย รูปแบบนี้มีความซับซ้อนตรงที่เราไม่สามารถสังเกตเห็นได้โดยตรง จึงมีความรู้สึกที่ซับซ้อนตรงที่เราไม่สามารถโกรธอีกฝ่ายได้เพราะอีกฝ่ายไม่ได้ทำร้ายเราตรงๆ ส่งผลให้เป็นความรู้สึกก้ำกึ่งระหว่างสงสัยในตัวเองกับโกรธบางอย่างที่ไม่มีคำตอบชัดเจน ดังนั้นการเพิกเฉยมักจะนำไปสู่บาดแผลทางใจที่ซับซ้อนและรุนแรง
ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่สำคัญมากกว่าเหตุการณ์ภายนอกนั้นเล็กหรือใหญ่ คือความรู้สึกที่เรามีต่อเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นคำว่า “เรื่องแค่นี้” ของแต่ละคนจึงต่างกัน บางคนมองเรื่องการที่เพื่อนไม่รอทานข้าวเป็นเรื่องเล็กน้อย สำหรับบางคนอาจมองเป็นการถูกทอดทิ้ง นอกจากนี้บาดแผลทางใจยังสามารถเกิดขึ้นได้กับคนที่ไม่ได้ประสบเหตุการณ์โดยตรง แต่เป็นการได้รับฟังหรือเป็นผู้สังเกตเหตุการณ์ด้วย (secondary trauma)
ประโยคที่ผมจำได้ขึ้นใจเมื่อไปเข้าอบรมเรื่องการดูแลบาดแผลทางใจในช่วง 3 ปีก่อนคือ เราควรให้ความสนใจกับการดูแลบาดแผลทางใจ เพราะมันคือสาเหตุของปัญหาพฤติกรรม ความรู้สึกที่ส่งผลต่อทั้งตัวบุคคล ความสัมพันธ์ สังคม และประเทศ
บาดแผลทางใจเหมือนกับระเบิดเวลาที่ยิ่งปกปิด ยิ่งกดทับ ยิ่งหลีกหนี มันยิ่งจะทวีความรุนแรงในการแสดงออก
หากเขาส่งสัญญาณว่าต้องการความสนใจแล้วเรายิ่งเมินเฉย เมื่อรับกับแรงกดทับของเราไม่ไหว เขาจะระเบิดตัวออกมา หากไม่เท่าทันสิ่งที่กระตุ้นบาดแผลทางใจ บาดแผลทางใจจะมีอำนาจในการควบคุมความคิด ความรู้สึกเราได้ แต่หากเรารู้ทันเท่า มันจะเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการที่เราจะควบคุมและเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง
บาดแผลทางใจสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. เหตุการณ์บาดแผลทางใจ (event trauma) มักเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนโต คนเจอมักจะจำเหตุการณ์ได้ อาจมีอาการคล้ายโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์เลวร้าย
2. บาดแผลทางใจที่ถูกส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ (inherited trauma) การส่งต่ออาจเกิดขึ้นได้ทั้งทาง DNA หรือรูปแบบการเลี้ยงดู ยกตัวอย่าง หากตายายไม่ค่อยใส่ใจเรื่องความรู้สึก แม่ก็อาจพัฒนาบุคลิกภาพเป็นคนที่ไม่ค่อยสนใจความรู้สึก เมินเฉยสิ่งที่เด็กรู้สึก เด็กจะรู้สึกเหมือนถูกปฏิเสธหรือทอดทิ้งทางอารมณ์
3. บาดแผลทางใจด้านพัฒนาการ (developmental trauma) มักเกิดขึ้นจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ถูกเพิกเฉยหรือทารุณกรรมซ้ำๆ เป็นประสบการณ์ที่คนมักจะจำไม่ได้แต่มีผลต่ออย่างยิ่งต่อความรู้สึก ซึ่งอาจถูกเรียกว่า บาดแผลทางใจในแง่ความสัมพันธ์ (relational trauma)
4. บาดแผลทางใจที่ซับซ้อน (complex trauma) เป็นบาดแผลทางใจที่มีความซับซ้อนที่อาจเกิดจากหลายเหตุการณ์รวมกันที่อธิบายไปในข้อ 1-3 ที่ผ่านมา มีความซับซ้อนในการรักษา ต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษในการทำความเข้าใจและรักษา
เมื่อเจอเหตุการณ์ที่ส่งผลให้เกิดความเครียด ร่างกายจะตอบสนองผ่านระบบประสาท 4 รูปแบบ ได้แก่
1) การต่อสู้ (fight) อาการที่สังเกตได้ชัด ได้แก่ หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว ม่านตาขยาย เป็นวิธีที่ร่างกายใช้เพื่อเตรียมตัวเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่อันตราย หรือเพื่อปกป้องตัวเองหรือคนอื่น อาจแสดงออกมาผ่านความก้าวร้าว โกรธ ความหงุดหงิด การเตรียมร่างกายเพื่อพร้อมพุ่งไปข้างหน้า
2) การหนี (flight) อาการที่สังเกตได้ ได้แก่ หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อตึงเครียด เป็นวิธีที่ใช้เพื่อเตรียมหนีออกจากสถานการณ์ที่เห็นว่าอันตราย อาจแสดงออกมาผ่านความวิตกกังวล หรือความกลัว
3) การแข็งทื่อ (freeze) อาการที่สังเกตเห็นได้คือ ร่างกายแข็ง รู้สึกเหมือนทุกอย่างหยุดค้าง คิดอะไรไม่ออก รู้สึกชา มักเกิดขึ้นเมื่อเจอเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงจนทำให้ไม่สามารถคิดหรือทำอะไรได้
4) การยอมตาม (fawn) เป็นการมุ่งสนใจไปที่ความต้องการผู้อื่นเพื่อสร้างความพอใจ รวมถึงหลีกหลี่ยงความขัดแย้ง ซึ่งพัฒนามาจากความโกรธที่ถูกกดทับ (repressed anger) และบาดแผลทางใจ
สิ่งที่ยากที่สุดของการต้องอยู่กับบาดแผลทางใจคือการที่เราต้องก้าวไปข้างหน้าโดยที่ต้อง “รับผิดชอบความรู้สึกตัวเอง”
ผมฟังครั้งแรกจากอาจารย์แล้วผมรู้สึกเห็นด้วยนะครับ เพราะการโยนปัญหาไปให้คนอื่นไม่ได้ช่วยให้เราจัดการปัญหาได้ ยิ่งโยนออกไปเยอะเราก็ยิ่งรู้สึกโกรธหรือสิ้นหวัง การรับผิดชอบจึงเป็นเหมือนการดึงอำนาจในการมีความทุกข์และสุขกลับมาที่ตัวเอง แต่เชื่อไหมครับ พอผมได้ทำจิตบำบัด (self-analysis) แล้วเจอบาดแผลทางใจของตัวเองทำให้รู้เลยว่าแนวคิดที่รู้สึกเห็นด้วยตอนเรียนมันไม่ได้ง่ายเหมือนที่คิด ยิ่งรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมเลยที่ต้องมาเจออะไรแบบนี้ ผมยิ่งก่นด่า โทษคนอื่น โกรธคนอื่น แล้วก็วนกับความรู้สึกแย่แบบนั้นอยู่หลายเดือน จนได้เรียนรู้ว่าสุดท้ายถ้าเราอยากก้าวข้าวผ่านมันไป เราอาจต้อง “ยอมรับ” สิ่งที่เกิดขึ้น แค่คำนี้ก็ยากแล้วครับ แต่เป็นแบบนั้นจริงๆ ครับ “มันเกิดขึ้นแล้ว..มันเกิดจริงๆ” ผมบอกตัวเองแบบนั้นหลายรอบมาก ต่อมาจึงเริ่ม “รับผิดชอบความรู้สึกตัวเอง” การรับผิดชอบไม่ใช่การบอกว่าเขาไม่ผิด แต่มันคือรับรู้ว่าเขาผิดแล้วเหตุการณ์ก็จบแล้ว ถ้าเราอยากมีความสุขเราก็ต้องค่อยๆ ถอนตัวเองออกจากความรู้สึกเหล่านั้น มันเป็นความรู้สึกที่ยากและซับซ้อนมากเลย ตอนนี้ก็ยังผ่านมันไปไม่ได้นะครับ แต่มันค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่าการโทษคนอื่นไม่ได้มีประโยชน์ (แม้จะอยากโทษมากแค่ไหนก็ตาม) และสุดท้ายชีวิตก็เป็นของเรา สุขภาพจิตที่ดีเกิดจากการที่เรามีอำนาจในการควบคุมชีวิตตัวเอง ไม่ใช่ควบคุมอะไรนะครับ แต่มันคือการควบคุมและรับผิดชอบความรู้สึกตัวเอง กระบวนการเยียวยาบาดแผลทางใจของผมใช้เวลานานมากครับ แล้วคิดว่าแต่ละคนก็คงใช้เวลาและวิธีการเยียวยาที่ต่างกันออกไป
เป็นเรื่องยากที่มนุษย์จะไร้ซึ่งบาดแผลทางใจ แนวคิดเรื่อง การดูแลบาดแผลทางใจ (trauma-informed care) จึงสำคัญมากในการจะสร้างสังคมที่ปลอดภัย และช่วยให้คนในครอบครัว สังคม และประเทศมีความสุข ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากมีเพียงบุคคลากรสุขภาพจิตที่พยายามขับเคลื่อน แต่มันจะเกิดขึ้นจากการที่ทุกคนมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับบาดแผลทางใจ ผมนึกถึงกรณีเจ้าชายวิลเลียมที่เพิ่งออกมาเล่าประสบการณ์บาดแผลทางใจของตัวเองที่เกิดขึ้นในจากการสูญเสียแม่หรือเจ้าหญิงไดอาน่าจากเหตุการณ์อุบัติเหตุรถยนต์ที่พระองค์ทรงแบกมาไว้ในใจมากกว่า 20 ปี ผมคิดว่ามันเป็นก้าวที่สำคัญของการที่สังคมเริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นของบาดแผลทางใจที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคนแม้กระทั่งคนที่เพียบพร้อมอย่างเจ้าชายวิลเลียม
สร้างพื้นที่ปลอดภัยต่อใจไปด้วยกันครับ
อ้างอิง
– เนื้อหาที่เขียนส่วนใหญ่มาจากช่วงที่ผมไปเรียน trauma-informed care, Colorado Professional Development Center และช่วงที่ไปเรียนเรื่องการดูแลบาดแผลทางใจจากสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย