- ‘โรม ชิษณ์ชาภา พานิช’ ผู้หญิงฉลาด งดงามและเต็มไปด้วยศักยภาพ ผู้ซึ่งเรียกตนเองว่า ‘Transwoman หรือผู้หญิงข้ามเพศ และมีความทรงจำอันบาดลึกในวัยเด็กจากการถูกตัดผมหน้าเสาธง ซึ่งสำหรับเธอแล้วสิ่งที่ตัดไปไม่ใช่แค่เส้นผม แต่มันคือ ‘ส่วนเสี้ยวตัวตน’ ของเธอที่ถูกทำให้แตกสลายลงต่อหน้าสาธารณะ
- โรงเรียนอันเต็มไปด้วยกฎแห่งความ ‘ปรกติ’ กลายเป็นดั่งโรงทรมานคนข้ามเพศให้เจ็บปวดและรู้สึกไม่ปลอดภัยจากการข่มเหง หนำซ้ำกฎระเบียบก็ไม่ได้ถูกออกแบบมามาเพื่อความหลากหลาย และเธอก็โตขึ้นมาในสังคมพร้อมกับความรู้สึกว่าแทบไม่มีสถานที่ใด ‘ปลอดภัย’
- หลายคนมองว่าเธอเข้มแข็ง แต่เธอกลับรู้สึกว่าคนที่ ‘อดทน’ ต่อการถูกบีบให้อยู่ในกรอบเกณฑ์อันไม่เป็นธรรม แต่เป็นที่ยอมรับของสังคมต่างหากที่เข้มแข็ง โรมมองว่าคนอย่างเธอที่สุดท้ายก็ต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องนั้นเป็นคนอ่อนแอ เพราะฉากหน้าที่กล้าหาญได้ช่วยบดบังเธอ ที่กำลังร้องไห้จนไม่มีน้ำตาจะร้องแล้ว
“แม้ฉันจะมีจู๋ และถูกบีบบังคับให้พกมันติดตัวไปไหนต่อไหน แต่ฉันรู้ตัวเสมอว่า ฉันเป็นเด็กผู้หญิง.. พวกเขาตบตี ที่ฉันร้องไห้ พวกเขาต่อยเด็กหญิง ผ่านร่างกายที่เป็นเด็กชายของฉัน” – นั่งคุยกับจิ๋ม โดย อีฟ เอนส์เลอร์
1.
โรม ชิษณ์ชาภา พานิช ผู้หญิงฉลาด ฉะฉาน งดงาม เต็มไปด้วยความรู้และศักยภาพ ภายใต้ประกายฉานฉายเรืองรองเหล่านี้ เธอมีความทรงจำในวัยเด็กอันบาดลึกจากการถูกกระชากเส้นผมขึ้นมาตัดที่หน้าเสาธงต่อหน้าเพื่อนและเด็กนักเรียนอื่นทั้งโรงเรียน เพราะเธอทำผิดกฎระเบียบ
สำหรับเธอ สิ่งที่ตัดไป มันไม่ใช่แค่เส้นผม มันคือ ส่วนเสี้ยวตัวตนของเธอที่ถูกทำให้แตกสลายลงต่อหน้าสาธารณะ และมันคือเรื่องราวต่อจากนั้นที่เธอถูกบังคับให้ขอโทษอาจารย์ที่ตัดผมเธอด้วยการเดินเข้าไปกราบท่าน เธอบอกว่ารู้สึกอับอาย แต่คำนี้ก็ไม่พอบรรยายความรู้สึกภายในที่ซับซ้อนกว่านั้นของโรม ผู้ซึ่งเรียกตนเองว่า ‘Transwoman หรือผู้หญิงข้ามเพศ
สำหรับเธอ โรงเรียนกลายเป็นดั่งโรงทรมานคนข้ามเพศ(ซึ่งโรมใช้รวมถึงคนที่ความรับรู้ในใจไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด แต่ยังไม่มีโอกาสผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงด้วย)ให้เจ็บปวดและรู้สึกไม่ปลอดภัยจากการข่มเหง ล้อเลียน ด้อยค่า หัวเราะเยาะ ฯลฯ หนำซ้ำกฎระเบียบก็ไม่ได้ถูกออกแบบมามาเพื่อความหลากหลาย เฉกเช่นกรณีของโรม เด็กหญิงข้ามเพศในโรงเรียนจะต้องดำรงชีวิตตามกฎของเด็กชายในทุกมิติ.. ในแต่ละวันที่ผ่านไป..
2.
โรงเรียนอันเต็มไปด้วยกฎแห่งความ ‘ปรกติ’ และความสงบเรียบร้อย ขับเน้นให้โรมรู้สึกชัดเจนว่าร่างกายชายที่ ‘สวมอยู่’ ไม่ตรงกับความรู้สึกภายในแห่งตัวตนที่เป็นหญิงของเธอ เธอโตขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกว่าแทบไม่มีสถานที่ใด ‘ปลอดภัย’ เว้นแต่ในห้องนอนและในละครโทรทัศน์ซึ่งเป็นสถานที่ที่เธอเป็นผู้หญิงได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะมีใครมารังแก
เธอเล่าให้ฟังว่าผู้ชายที่โรงเรียนมักแกล้งแหย่เธอด้วยการจับนม (หญิงสาวได้รับฮอร์โมนตั้งแต่อายุ 14 ปี) จับก้น ดังนั้น ยิ่งเวลาต้องไปเข้าค่ายนอนรวม อาบน้ำรวม เธอยิ่งรู้สึกไม่ปลอดภัย และในสิ่งแวดล้อมทำนองนี้ บางทีเธอก็ต้องแอ๊บแมนให้รู้สึกปลอดภัยขึ้น
แม่เลี้ยงเดี่ยวผู้แข็งแกร่งและโอบอุ้มของเธอซึ่งคอยสนับสนุนให้เธอเป็นตัวเองตามที่เป็น ถูกถามว่า “เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นกระเทย?” ไม่เพียงแค่นั้น ในวัยเด็กเธอยังต้องฟังคำเหยียดหยาม หรือไม่ก็ตีขลุมว่าอัตลักษณ์ทางเพศแบบนี้ต้องไปทำงานเต้นกินรำกิน เอาเงินไปเลี้ยงผู้ชาย ฯลฯ อีกทั้งมีอคติว่าไม่สามารถไปทำวิชาชีพอย่างแพทย์หรือนักกฎหมายได้ ทั้งที่ความจริงต่อมาก็คือ โรมได้ทุนจนเรียนจบนิติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(ABAC)
3.
ในช่วงวัยรุ่น เธอเล่าว่าถูกกระทำชำเราและไปสถานีตำรวจด้วยความรู้สึกของผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกล่วงเกิน ทว่าเธอถูกซักถามโดยตำรวจชายในที่เปิดเผยต่อหน้าผู้คนซึ่งเดินไปมา ทำให้เธอรู้สึกอึดอัดมาก และจวบจนบัดนี้ที่เรื่องราวดังกล่าวผ่านพ้นไปเนิ่นนานแล้ว เธอก็ยังต้องเจอบรรดาผู้ชายไทยที่เข้ามาตั้งคำถามกับเธอซ้ำซากว่า “ผ่าหรือยัง?” พอเธอตอบว่าผ่าแล้ว ประโยคที่มักตามมาก็คือ “ขอลอง”
เหมือนตอนที่เธอจำต้องไปเกณฑ์ทหาร มีผู้ชายในหน่วยเกณฑ์ติดต่อขอให้เธอออกไปหาเขาที่โรงแรม หญิงสาวรู้สึกอึดอัดและถามว่าให้ไปทำไม เขาบอกว่าอยากลอง อยากกอด แต่ไม่ได้จริงจังอะไร ยังมีกรณีอื่นที่เธอไม่ยอมให้ผู้ชายร่วมเพศ ผู้ชายจึงขอให้ อมให้ ครั้นเมื่อเธอปฏิเสธ เขาก็พูดขึ้นว่า “ปกติกระเทยชอบอมอยู่แล้วไม่ใช่หรอ?” !! บางครั้ง ผู้ชายก็ลวนลามเธอพร้อมกับคำแก้ตัวที่ว่า ถ้าเธอ “เป็นผู้หญิงจริงๆ เขาก็จะให้เกียรติมากกว่านี้” ! และการไม่ใช่ ‘ผู้หญิงจริงๆ’ ก็คือถ้อยคำที่ชายที่ชอบโรมและโรมก็ชอบด้วย ใช้เป็นเหตุผลที่ไม่สามารถไปต่อแน่นหนักกับเธอได้..
บุปผางามที่แสวงหาความรักจริงจังมาตลอดทราบดีว่ามีผู้หญิงข้ามเพศที่สมหวังในรัก เธอไม่ได้อยากนำอัตลักษณ์ดังกล่าวไปผูกโยงกับความช้ำรัก เพียงแค่เมื่อใดที่เธอเผลอ ความคิดที่ว่าเธอเป็นดอกไม้ปลอมก็มักผุดขึ้นในใจ..
4.
ยังมีความยากลำบากอีกมากมายที่ไม่ได้บอกเล่า บ่อยครั้ง คนที่ไม่มีประสบการณ์บางอย่างนั้นไม่มีวันเข้าใจ ไม่อยากจะเข้าใจและยังอาจกระหน่ำซ้ำเติมอีกด้วย
ชีวิตของโรมไม่ง่าย หลายคนมองว่าเธอเข้มแข็ง แต่เธอกลับรู้สึกว่าคนที่อดทนต่อการถูกบีบให้อยู่ในกรอบเกณฑ์อันไม่เป็นธรรมแต่เป็นที่ยอมรับของสังคมต่างหากที่เข้มแข็ง ส่วนคนอย่างเธอซึ่งในที่สุดก็ต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องนั้น เธอรู้สึกว่าเป็นคนอ่อนแอ …ฉากหน้าที่กล้าหาญได้ช่วยบดบังเธอซึ่งกำลังร้องไห้จนไม่มีน้ำตาจะร้องแล้ว
ในวันนี้ เธอในฐานะนักกฎหมายรู้จักใช้ พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ เพื่อต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ที่เธอรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม หลายครั้งเธอฟังเรื่องราวของน้อง ๆ transgender และอยากต่อสู้แทน แต่เธอก็เคารพน้องๆ ซึ่งยังไม่พร้อมจะใช้ชื่อตนเป็นผู้เสียหายด้วยเหตุผลที่อ่อนไหวหลายประการ
และในวันนี้ แนวคิดอื่นๆ เกี่ยวกับความเป็นผู้หญิงของเธอเปลี่ยนไปจากอดีตที่เธอเคยพยายามประพฤติตนให้สอดคล้องกับความเป็น ‘ผู้หญิงดี’ ตามพิมพ์โรงเรียนรัฐบาล เธอก้าวข้ามแม้แต่สิ่งเหล่านั้นและไม่นำมันมากดทับตัวเองซ้อนเข้าไปอีก ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียบร้อยและไม่จำเป็นต้องแสดงความเป็นหญิง (feminine) ตามแบบฉบับที่ถูกบ่มเพาะ หรืออาจจะไม่ได้ทำตามตำรับหญิง ‘ดี’ แบบที่ระบอบชายเป็นใหญ่ต้องการ
บนพื้นภูเขาแห่งหนึ่งซึ่งปกคลุมด้วยทุ่งดอกไม้กินอาณาเขตสุดสายตา เคล้ากลิ่นอบอุ่นหอมหวานของวานิลลาจางๆ โรม มีสำนึกในความเป็นหญิงอย่างเต็มเปี่ยม ❄
อ้างอิง
“พวกเขาตบตีเด็กหญิง ผ่านร่างกายที่เป็นเด็กชายของฉัน” จาก นั่งคุยกับจิ๋ม (The Vagina Monologues), โดย อีฟ เอนส์เลอร์ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มูลนิธิหยดธรรม
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276