- “ความสัมพันธ์รูปแบบนี้เกิดขึ้นกับประสบการณ์ในอดีตที่คุณเคยเจอรูปแบบความสัมพันธ์แบบนี้มา ถ้าคุณเกิดมามีพ่อแม่ที่ให้ความรักอย่างสมํ่าเสมอ เมื่อโตขึ้น ถ้าคุณเจอความสัมพันธ์ที่มันไม่สมํ่าเสมอ ไม่มั่นคง คุณก็คงรู้สึกว่ามันแปลกและตัดสินใจเดินออกมา เพราะที่ผ่านมาคุณเจอความรักที่มั่นคงตลอด แบบนี้ไม่ใช่ความรักที่ดีที่คุณเคยได้รับจากความอบอุ่นของพ่อแม่ กลับกันถ้าคุณได้รับความรักที่ไม่มั่นคงจากพ่อแม่มาตลอด เวลาเจอความรักที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายในความสัมพันธ์มันก็อาจไม่ได้รู้สึกแปลกเพราะมันก็เป็นสิ่งที่เราเข้าใจผ่านจิตใต้สำนึกแล้วว่า …นี่คือความรักตั้งแต่ยังเด็ก”
- “สำหรับใครหลายคนไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอยู่ในความสัมพันธ์ที่บั่นทอน เพราะต้องทนเจ็บปวดกับความรู้สึกที่ไม่มั่นคง ระแวงอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับบางคนก็เป็นเรื่องที่เขายินยอม เพราะอย่างน้อยก็ดีกว่าการได้อยู่คนเดียวกับอารมณ์เหงา เศร้า โดดเดี่ยว ไม่เป็นที่รักซึ่งมันเจ็บปวดกว่าการถูกกระทำโดยคนรักหลายเท่า ดังนั้นการอยู่ในความสัมพันธ์ที่เจ็บปวดจึงอาจเป็นอีกทางเลือกและไม่ใช่ทางเลือกสำหรับใครหลายคน”
วันหนึ่งคุณมีโอกาสได้เดทกับผู้ชายคนหนึ่งที่ชอบมานาน คุณทั้งสองมีคํ่าคืนที่สุดแสนโรแมนติก คืนนั้นผ่านไปรวดเร็ว เช้าวันต่อมา คุณรีบส่งข้อความไปหาเขาเพื่อหวังว่าเราจะได้มีบทสนทนาที่ต่อเนื่องและทำความรู้จักกันให้ลึกซึ้งเพิ่มเติม แต่เขากลับทําตัวเหมือนไม่เคยรู้จักคุณมาก่อน และค่อยๆ ถอยห่างออกไป
เมื่อคุณรู้ว่ามีบางอย่างผิดปกติ จึงพยายามส่งข้อความไปหาเขามากขึ้น เพื่อหวังว่าเขาจะตอบกลับมาบ้าง บางทีเขาอาจกำลังยุ่งจึงไม่ได้ตอบหรืออาจมีเหตุผลอื่นที่ทำให้เขาไม่สะดวกตอบกลับในช่วงเวลานั้น แต่เขาก็ไม่สนใจและยังคงเฉยชา เมื่อพยายามถึงจุดหนึ่ง คุณจึงตัดสินใจถอยออกห่างเพราะไม่รู้จะทําอย่างไรต่อไป เข้าใจและยอมรับว่านี่อาจเป็นคำปฏิเสธที่นุ่มนวลกลายๆ ก็ได้
แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้นเขาก็กลับมาทําดีกับคุณอีก ณ จุดนั้น คุณรู้สึกว่าอารมณ์ที่กำลังโหยหาความรักของคุณได้รับการตอบสนองอีกครั้ง เขาได้เข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายคล้ายจิ๊กซอว์ที่ลงตัวพอดี คุณรู้สึกมีความสุข ราวอยู่บนสรวงสวรรค์
แต่แล้ว… เมื่อกลับมาอยู่ในความสัมพันธ์จริงๆ เนื้อเพลงของวง Klear ก็ขึ้นมาในหัว “ตกลงว่า เธอจะเอายังไงกับฉัน ไม่รู้เธอมาแบบไหน เธอจะดีหรือเธอจะร้ายก็ฉันยังไม่เข้าใจ…”
เดี๋ยวเขาก็ดีกับคุณ เดี๋ยวก็ปฏิบัติกับคุณเหมือนไม่ใช่คนรักจนคุณเดาใจเขาไม่ถูก ความรู้สึกไม่เข้าใจสับสนนี้ทําให้คุณตัดสินใจไม่ได้สักทีว่าจะอยู่ในความสัมพันธ์นี้ต่อ หรือจะทําอย่างไรต่อไป
สถานการณ์นี้อาจะเรียกได้ว่า ความสัมพันธ์ที่เสพติด (Addictive Relationship)
โดยทีล สวอน (Teal Swan) นักเขียนชาวอเมริกันได้ทำความเข้าใจความสัมพันธ์ประเภทนี้ โดยประยุกต์มาจากงานทดลองของผู้ชายชื่อ B.F. Skinner และทีม ที่ได้นําหนูมาทดลองในกรง โดยมีสถานการณ์เงื่อนไขว่า ถ้าหนูเหยียบคาน หนูจะได้เม็ดอาหาร ผลลัพธ์ก็เดาไม่ยากเลยคือหนูจะหมกหมุ่นอยู่กับการเหยียบคาน ในการทดลองกลับกัน หนูจะไม่ได้รับอาหารใดๆ ไม่ว่ากดหรือไม่ก็ตาม ปรากฎว่าความสนใจของหนูก็ค่อย ๆ ลดลงตามลําดับ
สิ่งที่เหมือนกันของการทดลองสองรูปแบบนี้คือ รูปแบบที่สามารถ “คาดเดา” ได้ว่า อาหารจะหล่นลงมาหรือไม่
ต่อมานักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าถ้าทําให้หนูเดารูปแบบไม่ได้ว่าอาหารจะหล่นตอนไหน เดี๋ยวหล่นบ้างไม่หล่นบ้าง คล้ายเวลาเล่นการพนันที่คาดเดาไม่ได้ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร
ตอนแรกพวกเขาคิดว่าหนูก็คงจะลดความสนใจลงไปเรื่อยๆ แต่ปรากฏว่าหนูยิ่งหมกมุ่นมากกว่าเดิมอีกจนไม่สนใจดูแลตัวเองหรืออย่างอื่นเลย มันกดคานไปเรื่อยๆ เหมือนคนเสพติดและกำลังลงแดง โหยหาอาหารอยู่ตลอดเวลา การทดลองรูปแบบนี้เรียกว่า การเสริมแรงเป็นครั้งคราว (Intermittent Reinforecment)
จะเห็นได้ชัดว่าการเสริมแรงเป็นครั้งคราวทําให้เกิดการเสพติด ซึ่งจากตัวอย่างคือการมีรูปแบบความสัมพันธ์ที่เราคาดเดาไม่ได้เลยว่า อีกฝ่ายจะปฎิบัติตัวอย่างไรกับเรา จึงทําให้เราสับสน ไม่รู้ว่าต้องทําตัวอย่างไรกับเขา กระทั่งเกิดความกลัวและกังวลอยู่ในใจลึกๆ แต่เมื่อเขากลับมาทําดีกับเรา เราก็รู้สึกโล่งเหมือนได้ยกภูเขาออกจากอก ซึ่งเจ้าความรู้สึกท่วมท้นไปด้วยความสุขและโล่งนี้ ต้องระวังการตีความว่า ‘เรารักเขามาก เราจึงมีความสุขขนาดนี้’ เพราะนี่อาจเป็นเพียงแค่ความโล่งอกเพราะอารมณ์โหยหาได้รับการตอบสนองเพียงเท่านั้น เหมือนเรารู้สึกโล่งเวลาได้กินกาแฟแต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากาแฟดีเสมอไป
การตอบสนองอารมณ์ในความสัมพันธ์แบบนี้มักเกี่ยวกับ ‘ความต้องการ’ ลึกๆ ในใจมนุษย์ เช่น ต้องการความแน่นอน ความรัก ความใส่ใจ ความสําคัญ ซึ่งความต้องการเหล่านี้มักเป็นตัวขับเคลื่อนให้เราไปหาคนที่ให้ความรู้สึกแบบนี้ได้ ตามหลักทฤษฎีรางวัลและความต้องการพึงพอใจ (Reward/ Need Satisfaction Theory)
หลังจากที่อ่าน ถ้าคุณพบว่ากำลังอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนกระทําหรือถูกกระทําอย่าง ตั้งใจและไม่ตั้งใจ คุณกําลังอยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์ที่จะนําความเจ็บปวดไม่มีสิ้นสุดมาสู่ตัว
ทีล สวอนกล่าวต่อว่าบางคนอาจมีลักษณะความสัมพันธ์แบบหลีกหนี (Avoidant Attachment) คือ กลัวความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ทําให้เขาจะเสริมแรงอีกฝ่ายเป็นครั้งคราว (ไม่ต่อเนื่อง) กล่าวคือ ถ้าความสัมพันธ์ยังไม่แน่นอนนัก เขาก็อาจให้ความรัก ความห่วงใย แต่ถ้าความสัมพันธ์เริ่มใกล้ชิดมากขึ้น เขาก็จะค่อยๆ ถอยออกโดยไม่รู้ตัวด้วยซํ้าว่าตัวเองกําลังเสริมแรงแบบนั้น
อีกส่วนคือกลุ่มที่กระทําโดยจงใจอย่างรู้ตัว อาจเป็นการที่ผู้ชายคนหนึ่งสร้างเงื่อนไขว่าจะไม่คุยกับแฟนจนกว่าแฟนจะเลิกตอบแชทช้า ซึ่งปกติเขาอาจเป็นคนที่พูดจาหวานเสนาะหู แต่ก็ทำการหยุดเสริมแรง (การพูดจาหวานๆ) ด้วยการใช้คําพูดรุนแรงที่ตัวเองรู้ว่าอีกฝ่ายไม่ชอบ ทำไปเพื่อให้อีกคนปรับพฤติกรรม
จะเห็นได้ว่าจากกรณีตัวอย่าง 2 กรณีข้างต้น พฤติกรรมของการเสริมแรง หรือที่เรียกว่า การให้รางวัลและลงโทษแบบครั้งคราว ทําให้เกิดผลเสียต่อความสัมพันธ์ในระยะยาว
ระหว่างนี้คุณลองสังเกตดูนะครับว่าความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ของคุณเป็นแบบนี้หรือไม่ ถ้าเป็นแบบนี้… สิ่งที่จะเกิดขึ้นของผู้รับเลยคือ ความรู้สึกไม่มั่นคง (Insecure) ในใจ สับสน ไม่รู้จะทําตัวอย่างไร และสิ่งที่เขาจะทําต่อไปคือการคาดการณ์ว่าเขาควรทําอย่างไรเพื่อให้อีกฝ่ายไม่ทำในสิ่งที่ตนไม่ชอบหรือรู้สึกไม่มั่นคง
ถ้าเขารู้ว่าแฟนจะอารมณ์ดีเวลาที่ได้จับเนื้อต้องตัว เขาก็จะพยายามทําแบบนั้นเมื่อเห็นสัญญาณว่าแฟนกําลังจะอารมณ์เสีย ซึ่งผลเสียโดยตรงของคนที่พยายามควบคุม คือ ความรู้สึกไม่มั่นคง กังวลในใจเสมอว่าจะดีกับเราไหม เขาจะชอบเราไหม เขาอาจพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองทุกอย่าง และที่สําคัญคือ …บางครั้งตัวเขาเองอาจไม่ได้รู้สึกอยากทํา เพียงแต่ “ฝืน” ทํา เมื่อทําบ่อยเข้าก็กลายเป็นกดความต้องการและละเลยความรู้สึกของตัวเอง จนกระทั่งสูญเสียความเป็นตัวเอง อะไรก็ขึ้นอยู่แต่กับแฟนไปเสียหมด
หรือคุณอาจเป็นแฟนที่พยายามควบคุมโดยการทําสิ่งที่ตรงกันข้ามกับตัวอย่างด้านบนก็เป็นได้ ซึ่งจะเห็นว่าการควบคุมแบบนี้ เป็นการควบคุมเชิงจิตวิทยาที่ไม่ได้ใช้คำสั่ง แต่เป็นการวางเงื่อนไขทางจิตใจแทน
แล้วทําไมคุณถึงมีความสัมพันธ์แบบนี้ล่ะ ?
รูปแบบนี้เกิดขึ้นกับประสบการณ์ในอดีตที่คุณเคยเจอรูปแบบความสัมพันธ์แบบนี้มา ผมชอบการยกตัวอย่างในบทความที่อ้างอิงมาก เขาบอกทํานองว่า ถ้าคุณเกิดมามีพ่อแม่ที่ให้ความรักอย่างสมํ่าเสมอ เมื่อโตขึ้น ถ้าคุณเจอความสัมพันธ์ที่มันไม่สมํ่าเสมอ ไม่มั่นคง คุณก็คงรู้สึกว่ามันแปลกและตัดสินใจเดินออกมา เพราะที่ผ่านมาคุณเจอความรักที่มั่นคงตลอด แบบนี้ไม่ใช่ความรักที่ดีที่คุณเคยได้รับจากความอบอุ่นของพ่อแม่
ในทางกลับกันถ้าคุณได้รับความรักที่ไม่มั่นคงจากพ่อแม่มาตลอด เวลาเจอความรักที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายในความสัมพันธ์มันก็อาจไม่ได้รู้สึกแปลกเพราะมันก็เป็นสิ่งที่เราเข้าใจผ่านจิตใต้สำนึกแล้วว่า …นี่คือความรักตั้งแต่ยังเด็ก
แล้วจะมีความรักที่อบอุ่นได้อย่างไร ?
คําตอบคือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับพฤติกรรมข้างต้น หากลักษณะของการเสริมแรงแบบครั้งคราว (Intermittent Reinforcement) คือการคาดเดา เอาแน่เอานอนไม่ได้ สิ่งที่ต้องทําคือ ทําให้แน่นอน ถ้าให้ความรักก็ให้ตลอด ความสัมพันธ์ที่มั่นคงและปลอดภัยเกิดไม่ได้หากปราศจากความต่อเนื่อง เมื่อเราให้ความรักอย่างต่อเนื่องก็จะไม่ต้องมาคอยกังวลหรือสังเกตพฤติกรรม (โดยรู้ตัว หรือไม่รู้ตัว) เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเราจะได้รับความรัก ความกังวลในความสัมพันธ์ก็จะหายไป
ลองคิดดูว่าถ้าคุณมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงต่อเนื่องแบบนั้น คุณจะมีความสุขแค่ไหน ?
ทีล สวอนทิ้งท้ายถึงวิธีการสร้างความต่อเนื่องว่า คุณจะต้องตอบสนองความต้องการทางความรู้สึกของอีกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง เช่น
การสัมผัส การสื่อสาร การบอกรัก อะไรก็แล้วแต่ที่คุณและคู่รู้สึกว่ามันคือสิ่งสําคัญในความสัมพันธ์ ทํา… แม้บางครั้งอาจรู้สึกไม่อยาก สําคัญคือต้องใจเย็นกับตัวเอง พยายามทําความเข้าใจหาเหตุผลให้ตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไปว่า ทําไมถึงควรทําหรือไม่ควรทํา
และอีกอย่างคือ คุณจะต้องชัดเจนและไม่ละเลยความรู้สึกตนเอง อย่าพยายามทําอะไรที่ไม่ใช่ตัวเอง อย่ายอมให้คนอื่นมาควบคุมบงการ ฟังความรู้สึกตัวเองให้มากก่อนจะคิดจะพูดจะทําอะไร
แล้วถ้าสิ่งที่อีกฝ่ายอยากได้มันขัดกับความรู้สึกเราอย่างมาก ควรทําอย่างไร ?
คุณควรถามตัวเองว่าคุณยอมได้ไหม ถ้ามีประโยชน์ต่อ “ความสัมพันธ์” ทั้งเขาและเราก็ลองพยายามดู แต่ถ้าไม่มีประโยชน์หรือยังทําไม่ได้ก็ให้ลองสื่อสารกันดูว่า “จะทําอย่างไร”
ถ้าสุดท้ายไม่ไหวจริง ๆ จะออกจากความสัมพันธ์รูปแบบนี้อย่างไร ?
สำหรับใครหลายคนไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอยู่ในความสัมพันธ์ที่บั่นทอน เพราะต้องทนเจ็บปวดกับความรู้สึกที่ไม่มั่นคง ระแวงอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับบางคนก็เป็นเรื่องที่เขายินยอม เพราะอย่างน้อยก็ดีกว่าการได้อยู่คนเดียวกับอารมณ์เหงา เศร้า โดดเดี่ยว ไม่เป็นที่รักซึ่งมันเจ็บปวดกว่าการถูกกระทำโดยคนรักหลายเท่า ดังนั้นการอยู่ในความสัมพันธ์ที่เจ็บปวดจึงอาจเป็นอีกทางเลือกและไม่ใช่ทางเลือกสำหรับใครหลายคน
อันที่จริงถ้าจะเรียกความสัมพันธ์ก็คงไม่ถูกนัก เพราะดูเหมือนสิ่งที่ทั้งคู่โหยหาคือความรู้สึกร่วมระหว่างสองคน เช่น การมีคนมาตอบสนองอารมณ์เหงา โดดเดี่ยว การได้โทรคุยเวลาสองทุ่ม
เมื่อมองลึกไปในระดับบุคคล หลายอย่างก็คล้ายว่า
ไม่ใครก็ใครในความสัมพันธ์นี้เป็นเหมือนวัตถุตอบสนองทางอารมณ์ที่เพียงแค่มีไว้ให้อุ่นใจเท่านั้น
ซึ่งวงจรความสัมพันธ์ที่เสพติดนี้ดูเป็นวงจรที่ไม่มีสิ้นสุด และเป็นวงจรที่ออกไม่ง่ายเพราะเมื่อคนรักได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน อีกฝ่ายจะเข้ามาเป็นตัวตน (Identity) ของเรา จึงไม่แปลกที่คู่รักหลายคู่มักมีพฤติกรรมคล้ายกันหรือถูกทักว่าหน้าเหมือน ยิ้มเหมือน เมื่อจะออกจากความสัมพันธ์นั้นหมายถึงการต้องเสียตัวตนและกิจวัตรบางส่วนไป
จากที่เคยคุยโทรศัพท์ด้วยกันเวลาสองทุ่มก็ไม่มีอีกแล้ว จากที่เคยมีคนแบ่งปันสารทุกข์สุกดิบก็หายไป เหลือไว้เพียงเราคนเดียว
อย่างแรกที่อยากบอกคือ อย่าเข้าใจผิดว่าการเสพติดคือความรัก มีงานวิจัยบอกว่า บริเวณสมองที่ถูกกระตุ้นเวลาอยากโคเคนกับเวลาเห็นคนรักคือจุดเดียวกัน จึงกล่าวได้ว่าความรักก็คล้ายสารเสพติดชนิดหนึ่ง เหมือนคู่รักที่มีพฤติกรรมคาดเดาไม่ได้ ตอบสนองความต้องการไม่ต่อเนื่อง สามวันดีสี่วันร้ายจนทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัยอันนำมาซึ่งความรู้สึกระแวงต้องคิดโน่นนี่เสมอ
ในความสัมพันธ์ที่เสริมแรงเป็นครั้งคราว (Intermittent Reinforcement) หรือพูดง่าย ๆ ความสัมพันธ์ที่ให้ความรักบ้างไม่ให้บ้าง เมื่อคุณตัดสินใจออกจากความสัมพันธ์ อีกฝ่ายจะเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างที่คุณเคยอยากให้เป็นมาตลอด คุณจะพบว่าเขาอบอุ่น ให้ความรัก ปากหวาน เอาใจใส่ แต่นั่นอาจเป็นเพียงภาพลวงตา เขาจะหยุดทำเมื่อคุณกลับมาอยู่ในความสัมพันธ์ ดังนั้นระวังคนที่คาดเดาอารมณ์ยากให้ดี
อีกอย่าง เมื่อคุณลังเลที่จะออกจากความสัมพันธ์ให้ถามตัวเองให้ดีว่า “นี่ใช่ชีวิตที่คุณต้องการไหม”
ให้มองชีวิตยาว ๆ ว่าถ้าเป็นแบบนี้ไปอีก 1 ปี 5 ปี 10 ปี คุณจะยอมรับได้ไหม ระหว่างที่คิดให้หยุดนึกถึงคนอื่น ลองเงียบ หลับตา ฟังเสียงความรู้สึกแวบแรกที่โผล่เข้ามา นั่นจะเป็นคำตอบที่จริงใจที่สุดของคุณ
ท้ายสุด ความโหยหาคิดถึงมักมาในช่วงที่เราเจอตัวกระตุ้น (Stimulus) บางอย่าง
ยกตัวอย่าง เวลาเศร้าอีกฝ่ายมักคอยรับฟังอยู่เสมอ ตัวกระตุ้นคือ “ความเศร้า” สิ่งที่มาตอบสนองคือ “อีกฝ่าย” เมื่อเป็นวงจรกระตุ้น-ตอบสนองไปเรื่อย ๆ ก็เกิดเป็นพฤติกรรมที่เคยชินกับการได้รับการตอบสนอง
วิธีแก้คือ ลองสังเกตดูว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เราคิดถึงเขา เมื่อเห็นแล้วให้ลองเปลี่ยนการตอบสนองกับตัวกระตุ้นนั้น เช่น เวลาเศร้า ปกติคุยกับแฟนก็ลองเปลี่ยนไปคุยกับเพื่อน เล่นกับน้องหมา หรือปกติเราจะส่งสติ๊กเกอร์ไลน์มอร์นิ่งให้แฟนทุกเช้า เวลาเช้าอาจทำให้คุณคิดถึงแฟน แต่ให้ระลึกไว้ว่า “คุณอาจไม่ได้คิดถึงก็ได้ มันเป็นเพียงแค่ความเคยชิน” แล้วก็ทำสิ่งอื่นเช่น ส่งสติ๊กเกอร์ให้พ่อแม่แทน
ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์นำมาซึ่งนำมาซึ่งความกลัวและอ่อนแอในใจมนุษย์
ดังนั้น การหาใครสักคนมาอยู่เคียงข้างให้เขาช่วยประคองเรานับเป็นเรื่องที่ควรทำ เช่น ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยา เล่าความเศร้าให้คนรอบข้างฟัง
ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไป เพียงทำวันละเล็กน้อย ค่อยเป็นค่อยไป ลองนึกถึงตอนที่เรารักเขา อยู่ดี ๆ ก็ไม่ได้รักเลยซะหน่อย ความรู้สึกมันก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามกาลเวลา
เช่นเดียวกันถ้าจะลดความรู้สึกเหล่านี้ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป
สำคัญที่สุด คุณต้องเมตตากับตัวเองให้มาก ค่อยเป็นค่อยไปกับความรู้สึก อย่าอารมณ์เสียที่ตัวเองยังคิดถึงเขา อนุญาตให้ตัวเองทุกข์และฟังเสียงมันให้ชัด แล้วคุณจะรักตัวเองได้มากขึ้น และเมื่อหลุดจากวงจรนี้ เชื่อว่าคุณจะรู้สึกเหมือนเจอตัวตนที่หล่นหายไปในอดีต-ตัวตนที่สดใส มีความสุข ไม่ต้องพึ่งพาความรู้สึกใคร
ขอให้วันนี้เป็นวันที่ดีครับ 🙂