- The Potential ชวนคุย กิจกรรมชวนเพื่อนๆ แชร์ประสบการณ์ในห้องเรียน อะไรที่ยังจำฝังใจ อะไรที่ยังไม่ลืม เพื่อร่วมกันหาว่า การเรียนที่ไม่ได้มีแค่ความรู้เชิงวิชาการแต่มาพร้อม ‘เหตุผลเชิงอารมณ์‘ ให้ผลลัพธ์อะไรบ้าง
- คำตอบมีทั้งแบบจริงจังและสายตลก แต่ในความตลกก็ยังเห็นคีย์เวิร์ดบางอย่างที่บอกว่า ‘ก็ห้องเรียนไม่จำเป็นต้องเรียนอย่างเดียว แต่ต้องมีพื้นที่ให้เล่นจริงจังด้วย’
- ศักยภาพของผู้เรียนจะฉายแววได้ ถ้ามีครูที่เห็นหัวใจของเขา มีสายตาและคำพูดที่สร้าง ‘ความเชื่อมั่น’ ช่วยส่องสะท้อนให้เด็กได้มองเห็นศักยภาพตัวเองชัดเจนขึ้น
- ขณะเดียวกัน ครู -มนุษย์- เองก็ต้องการกำลังใจจากศิษย์และเพื่อนร่วมงานด้วยเช่นกัน
หลายครั้งที่คำพูดเดียว แต่ช่างชุบชูใจและผลักดันเราไปสู่การเปลี่ยนแปลงมหาศาล ขณะที่บางคำ บางช่วงเวลา สัมผัสเพียงแผ่วเบากลับทำให้เราต้องเดินหนี ไม่หันกลับไปอีกเลยตลอดกาล
เพราะเชื่อเช่นนั้นและอยากรู้ว่า ประสบการณ์ของแต่ละคนแตกต่างกันอย่างไร The Potential จึงชวนคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ‘ครูพูดอะไรที่ทำให้หัวใจเราพองโต’
หลังจากที่เราได้ชูตคำถามทางหน้าเพจเฟซบุ๊ค ปรากฏว่าโพสต์นี้ได้รับการตอบรับจำนวนมากทั้งจากนักเรียนและอดีตนักเรียน หลายๆ คำตอบให้เหตุผลใกล้เคียงกันว่า ‘ความสัมพันธ์’ มีผลต่อ ‘ลูกฮึด’ ในการเล่าเรียน เปิดหัวใจแห่งการเรียนรู้ เขายังคงจดจำจุดเปลี่ยนเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่มหาศาลจนถึงทุกวันนี้
เราเลยรวบรวมคำตอบของเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ มาจำนวนหนึ่ง โดยแบ่งเป็น
- คำพูดที่ทำให้หัวใจเราพองโต
- ครูไม่พูด แต่ ‘ทำให้เห็น’ จนหัวใจเราฟูฟ่อง
- คำตอบยอดฮิต ‘วันนี้ครูประชุม’ ‘ยกเลิกคลาส’ นะครับ
- คำพูดที่ทำให้หัวใจนักเรียนเกือบวาย ^^
- คำพูดอื่นๆ สุดประทับใจ
คำพูดที่ทำให้หัวใจเราพองโต
ผู้ที่เข้ามาร่วมให้ความเห็นบอกคล้ายกันหลายคนว่า คีย์เวิร์ดคำพูดที่ทำให้หัวใจพองโตคือคำว่า ‘เชื่อมั่น’ ครูเชื่อมั่นว่านักเรียนทำได้ แต่แค่คำพูดอย่างเดียวคงไม่ทำให้นักเรียนยังฝังคำนี้อยู่ในใจไปแสนนาน แต่อาจหมายรวมถึงสายตา น้ำเสียง วิธีการปฏิบัติของครูที่เด็กๆ รับรู้ได้ว่าครูจริงใจ ครูเชื่อเช่นนั้นจริงๆ
ความสามารถ ทักษะ ต้องพัฒนาอย่างไรไว้ว่ากัน แต่ความเชื่อมั่นว่าเด็กๆ พัฒนาได้ หลายๆ คนยืนยันว่าเขาใช้มันเป็นกำลังใจต่อสู้เพื่อพัฒนาตัวเองต่อ
แต่โพสต์ที่ทำให้หัวใจของแอดมิน The Potential และมีลูกเพจกดไลค์ (และเลิฟ) ตามไปด้วยมากเช่นกัน ขอยกให้กับคำตอบนี้นะคะ
ในหัวข้อนี้มีอีกหนึ่งคำตอบที่ทำให้ชวนหัวใจพองฟูเช่นกัน คือ
“คำว่าขอโทษจากครู มีครั้งหนึ่งเราโดนตีโดยไม่ได้ทำอะไรผิดเลย เหมือนวันนั้นแค่ครูอารมณ์ไม่ดีแล้วเราอยู่ตรงนั้น เราเลยโดนตี ตอนนั้นจำได้เลยว่าโกรธมาก แต่สักพักครูเดินมาบอกว่าขอโทษ ตอนนั้นเราทั้งอึ้งทั้งดีใจ ไม่คิดว่าครูจะเดินมาบอกขอโทษเรา คนที่เป็นผู้ใหญ่และเป็นครูกล้าเดินมาพูดว่าขอโทษนักเรียนที่อายุน้อยกว่า เรามองว่ามันต้องใช้ความกล้ามากในการพูด เรื่องนี้ทำให้เรารักและเคารพครูแบบนี้ไม่เคยลืมเลย” – Phon Pitchaya
สื่อความหมายอย่างจริงใจว่า ครูทำผิดได้ โกรธเป็น เพราะเป็นมนุษย์ แต่การขอโทษและยอมรับว่าตัวเองทำผิดโดยไม่เกี่ยงลำดับอาวุโส นั่นก็คือการปฏิบัติกันแบบมนุษย์เช่นกัน #รักเลย 🙂
ครูไม่พูด แต่ ‘ทำให้เห็น’ จนหัวใจเราฟูฟ่อง
ครูบางคนก็ ‘ไม่พูดว่ารักนะแต่จะแสดงออก’ ซึ่งคำตอบของหลายๆ คนยืนยันชัดว่า ครูไม่จำเป็นต้องพูดหรอก เด็กๆ รับรู้ได้ รับรู้และฝังเป็นประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพ ใช้พลังแห่งความใจดีของครูท่านนั้น เป็นพลังขับเคลื่อนไปอีกแสนนาน
คำตอบแบบนี้มีมากจนขึ้นชาร์ต จนต้องจัดเป็นหนึ่งหมวดหมู่เลยค่ะ แต่คำตอบที่โดนใจเราที่สุด ขอยกให้…
#ซึ้ง และเราอยากเน้นคีย์เวิร์ดที่คุณเกียรติภพ สรุปว่า ‘สิ่งที่ป้าใหญ่ทำ ทำให้รู้สึกว่ามีคนที่เอาใจใส่เราจริงๆ’ ไม่ใช่แค่คำที่ทำให้คนอ่านยิ้มมุมปาก แต่มันคือชีวิตและพลังขับเคลื่อนของเด็กคนหนึ่งจริงๆ
คำตอบยอดฮิต ‘วันนี้ครูประชุม’ / ‘ยกเลิกคลาส’ นะครับ
ส่วนคำตอบยอดฮิตสำหรับโพสต์นี้ต้องยกให้คำตอบเกี่ยวกับการ ‘ยกเลิกชั้นเรียน’ แอดมินเองก็เช่นกัน (อิอิ) เป็นช่วงเวลาสุดคลาสสิกสำหรับนักเรียนประถมและมัธยมเลยนะคะ เมื่อไหร่ที่ครูเดินเข้ามาให้ห้องแล้วเอ่ยประโยคทำนองนี้ เด็กๆ เป็นต้องแอบเฮในใจ หัวใจพองฟูไม่หยุดเลยทีเดียว
ตอนเด็กๆ เราก็อาจจะดีใจนะคะ แต่พอโตเป็นผู้ใหญ่และรู้ว่าทำไมครูถึงต้องมีประชุมเยอะมากขนาดนี้ มันก็จะเศร้าแทนครูไทยหน่อยๆ
แต่ลึกลงไปที่เด็กๆ (และอดีตเด็กอย่างเรา) ดีใจ อาจถึง “เด็กชอบเล่น มากกว่าเรียน” “เด็กมีความสุขที่ได้ว่างเว้นจากการเรียนในห้อง” ดังนั้น การเรียนรู้อาจจะไม่จำเป็นต้องมีครูที่ต้อง ‘สอนเสมอ’ ครูไว้ใจปล่อยให้เด็กเรียนจากการเล่นหรือทำกิจกรรมด้วยตัวเอง ความไร้สาระที่มาจากการเล่นอาจจะเป็นสิ่งมีสาระขึ้นมาก็ได้
การว่างเว้นจากสาระอาจเป็นการเรียนรู้อย่างมีความสุข ที่ทำให้เด็กหัวใจพองโตก็ได้นะ ^^
คำพูดที่ทำให้หัวใจนักเรียนเกือบวาย ^^
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ คำตอบสายตลกของเรามีหลายกลุ่มจนต้องแบ่งมาอีกหนึ่งประเภท ครั้งที่แล้วเราตลกแบบเจาะจงคือครูบอกเลิกคลาส แต่โพสต์นี้ตลกแบบสุขเศร้าเคล้าน้ำตา ไม่ว่าจะเป็น
- ถ้าไม่ตอบ ครูจะสุ่มเลขที่นะ
- นักเรียน ส่งการบ้าน
- ว่างมากเหรอ ครูจะนอน
และบางคำตอบ แม้จะตลก เห็นความสัมพันธ์บางอย่างของมนุษย์นักเรียนกับมนุษย์ครู แต่บางครั้งก็เป็นวีรกรรมขำขัน แต่บางครั้งก็… ฝังใจให้เราตั้งแง่กับระบบการศึกษาและคำว่าครูไปเลยก็มี
แต่โพสต์ที่ยกมานี้ ขอให้พื้นที่กับความ หัวเราะร่าแต่น้ำตาริน เหมือนเวลาเห็นเพื่อนโดนตีแต่เราแอบขำแล้วกันนะคะ ^^
คำพูดอื่นๆ สุดประทับใจ
ส่วนหัวข้อนี้เป็นข้อความที่เราได้แลกเปลี่ยนความเห็นจากผู้ที่ติดตามเพจ ชวนเราคิดต่อว่า ‘แล้วเคยเห็นนักเรียนพูดให้กำลังใจ จนหัวใจครูพองฟูบ้างไหม’ โดยมีข้อชวนกันคิดต่อว่า ไม่ใช่แค่เด็กที่ต้องการกำลังใจ ครูเองก็เช่นกัน ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ที่ทางทีมงานนำไปทำงานกันต่อไป ?
The Potential ชวนคุย
สุดท้ายแล้ว อยากชวนคุยค่ะว่า คำตอบทั้งหมดที่ได้มา สะท้อนอะไรบ้าง
สังเกตว่า ‘การพองโตของหัวใจ’ จากประสบการณ์ ได้ถูกบันทึกไว้ในความทรงจำอันยาวนาน เพราะนั่นเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การเรียนรู้ สอคคล้องกับทฤษฎีทางสมองกับการเรียนรู้ ที่สมองเรียนรู้ด้วยความรู้สึก (Emotional in Learning) ยิ่งรู้สึกมากทั้งรู้สึกสุขและทุกข์ จะเก็บจำเป็นประสบการณ์อย่างยาวนานในสมองส่วน working memory ส่วนเดียวกับ limbic system มันพร้อมใช้งานได้อยู่ตลอดเวลา ถ้าหยิบศักยภาพนั้นมาใช้ได้ถูกจังหวะและสถานการณ์
ศักยภาพของผู้เรียนจะฉายแววได้ ถ้ามีครูที่เห็นหัวใจของเขา สายตาที่มองเห็น คำพูดที่สร้าง ‘ความเชื่อมั่น’ จะช่วยส่องสะท้อนให้เด็กได้มองเห็นศักยภาพตัวเองชัดเจนขึ้น สำคัญอีกอย่าง คือ การกระทำที่แสดงถึง ‘ความเอาจริงเอาจัง’ เพราะอยากให้ลูกศิษย์ทำได้ ครูไม่เพียงรอคอยได้แต่ก็เร่งและขับเคี่ยวให้เขาทำได้จริง การอยู่ตรงนั้นกับผู้เรียน (being with the flow) จึงเป็นพฤติกรรมที่มีความหมายมากกับการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเห็นได้ชัด
ปิดท้ายด้วย ครูเองก็ต้องการ ‘พลังแห่งถ้อยคำ’ จากลูกศิษย์ เพื่อชุบชูจิตใจให้มีพลังในการสอนเช่นเดียวกัน เหมือนตั้งคำถามให้ครูเองได้ตระหนักดูแลพลังงานในการสร้างการเรียนรู้ของตัวเอง
เพราะการสอน ครูเองก็เผชิญหน้ากับความกลัว ความกังวล ที่มาจากความไม่รู้ของครูเช่นเดียวกัน ไม่รู้ว่าเด็กจะรู้เรื่องไหม ไม่รู้ว่าเด็กจะทำข้อสอบได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ครูเองก็รู้สึกผิด เพราะทุกครั้งการเรียนรู้มันอยู่ที่ขอบ ‘ครู คือ มนุษย์’ อีกคนหนึ่งที่กำลังยืนอยู่ตรงนั้น ที่มองเห็นลูกศิษย์กำลังก้าวข้ามขอบศักยภาพของตนเอง ได้อย่างมั่นคง