- เมื่อพูดถึง ‘ปิตาธิปไตย’ หลายคนอาจนึกถึงโลกที่ ‘ผู้ชายเป็นใหญ่’ และมีอำนาจมากเสียจนกดทับสิทธิเสียงของผู้หญิง กลุ่มคนที่มีเพศสภาพตรงข้ามซึ่งพ่วงมากับแนวคิดที่ว่ามีแต่ความอ่อนแอ อ่อนไหว และไร้พลัง แต่แน่ใจแล้วหรือว่ามีแค่ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของโลกปิตาธิปไตย
- หากทำความเข้าใจให้ดี เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าทั้งชายและหญิงต่างก็ตกเป็นเหยื่อของสังคมปิตาธิปไตยที่เราอาศัยอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยกันทั้งหมด
- บทความนี้กล่าวถึงเหยื่ออีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ตรงตามกรอบ ‘ลูกผู้ชาย’ และกำลังเจ็บปวดและดิ้นรนในโลกปิตาธิปไตยอยู่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อผู้อ่านอ่านบทความนี้จบ เราจะมีความเข้าใจกับกลลวงของสังคมที่ชายเป็นใหญ่ตรงกันว่า ‘ในโลกที่ชายเป็นใหญ่ ผู้ชายเองก็ตกเป็นเหยื่อ’
“ทำตัวแมนๆ หน่อย” “ร้องทำไม เป็นลูกผู้ชายหรือเปล่า”
เราอาจเคยได้ยินคำพูดเหล่านี้กันบ่อยๆ ในช่วงก่อนหน้านี้ที่ผู้คนยังไม่ตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศเหมือนอย่างในปัจจุบัน ในเวลานั้น แม้แต่ตัวเราเองก็ต้องเคยรู้สึกว่าการที่เห็นผู้ชายแสดงความอ่อนไหวทางอารมณ์ออกมาเป็นเรื่องที่ผิดแปลกอย่างมาก เพราะเราถูกปลูกฝังมาว่ากลุ่มคนที่สามารถอ่อนแอได้มีแต่ผู้หญิงผู้เปราะบางเท่านั้น
แต่แท้จริงแล้ว ใครเป็นผู้กำหนดว่าผู้ชายต้องเข้มแข็ง?
คำตอบก็คือระบบปิตาธิปไตยที่เชิดชูผู้ชายให้ใฝ่หาความเป็นใหญ่และมีอำนาจเหนือกว่า ในขณะเดียวกันก็กดเพศตรงข้ามอย่างผู้หญิงลงต่ำ และยังกดกลุ่มผู้ชายด้วยกันที่ไม่ตรงตามลักษณะลูกผู้ชายลงด้วยเช่นเดียวกัน อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วผู้ชายกลุ่มไหนที่จะไร้อำนาจ และโดนกีดกัน เป็นอีกกลุ่มผู้เคราะห์ร้ายของสังคมชายเป็นใหญ่
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจลำดับชั้นของเหล่าคุณผู้ชายกันเสียก่อน นักวิชาด้านสังคมวิทยาชื่อ Robert Connell ได้จัดลำดับความยิ่งใหญ่ของผู้ชายออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ตามชาติพันธุ์ ผิวสี ชนชั้น โดบแบ่งได้ ดังนี้
- ‘กลุ่มมหาอำนาจ’ (hegemony) กลุ่มผู้ชายกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจเหนือกว่าผู้อื่น ส่วนมากมักจะเป็นบุคคลสาธารณะผู้ทรงอิทธิพล เช่น ดารานักแสดง นักกีฬา ไปจนถึงนักการเมือง นักธุรกิจอย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้ก็เป็นเพียงกลุ่มประชากรขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับอัตราประชากรเพศชายทั้งหมด
- กลุ่มต่อมาคือกลุ่มที่มี ‘ความเป็นชายแบบรอง’ (subordination) คือเหล่าบรรดาผู้ชายที่ไม่ค่อยตรงกรอบคำว่าลูกผู้ชาย เขาอาจเป็นผู้ชายที่ไม่มีร่างกายซึ่งเต็มไปด้วยกล้ามตามนิยามคำว่า ‘แมน’ หรืออาจเป็นผู้ชายที่มีความอ่อนไหวทางอารมณ์มาก คนกลุ่มนี้มักโดนลดทอนคุณค่าด้วย ‘ความเป็นผู้หญิง’ เช่น การต่อว่าล้อเลียนว่าเหมือนเพศตรงข้าม
- ‘กลุ่มผู้สมรู้ร่วมคิด’ (complicity) กลุ่มนี้มักเป็นประชากรชายส่วนมากที่เรามักพบเจอในสังคม โดยรูปแบบของผู้ชายในกลุ่มนี้คือ มีพฤติกรรมล้อเลียนกดขี่เพศตรงข้ามและอาจกีดกันเพศเดียวกันที่เป็นรองเพื่อให้ตนเองรู้สึกว่ามีอำนาจ นอกจากนี้พวกเขายังมีแนวโน้มมากที่จะสนับสนุนการกระทำของผู้ชายที่มีอิทธิพลแม้ว่าจะไม่ถูกต้องด้วย
- กลุ่มสุดท้ายคือ ‘กลุ่มชายขอบ’ (maginalization) คนกลุ่มนี้จะมีอำนาจต่างกันไปในแต่ละบริบท เช่น นักกีฬาผิวดำชื่อดังในสังคมที่ไม่ได้มีการเหยียดผิว เขาจะเป็นมหาอำนาจ แต่ในโลกเหยียดสีผิว
เขาจะกลายเป็นเพียงคนชายขอบที่ไม่สามารถมีสิทธิมีเสียงและไร้อำนาจ นอกจากนี้ ผู้ที่มีเพศสภาพเป็นผู้ชายในกลุ่ม LGBTQ+ เองก็จะถูกผลักให้เป็นคนชายขอบไปโดยปริยายเช่นเดียวกัน เพราะมีความเป็นผู้หญิงสูง
จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ผู้ชายทุกคนที่จะมีอำนาจในโลกปิตาธิปไตย มีเพียงประชากรส่วนน้อยมากเท่านั้นที่จะได้รับการเชิดชูเกียรติในฐานะผู้ชายแมนๆ เลยเป็นความหนักใจให้เหล่าชายที่รองลงมาจำนวนมาก ที่จะต้องดิ้นรนทำตัวเป็นลูกผู้ชายตามขนบทางสังคม การอุปสมบทและการเกณฑ์ทหารจึงกลายเป็นภาระหน้าที่ที่ทำให้ผู้ชายได้แสดงความเป็นลูกผู้ชายไปอย่างเสียไม่ได้ เราจึงอาจกล่าวได้ว่าสังคมปิตาธิปไตยนั้นยกย่องแต่ผู้ชายที่อยู่ในกลุ่มมหาอำนาจและไม่เหลียวแลกลุ่มคนอื่นอีก ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม
แต่แม้แต่กลุ่มมหาอำนาจที่ได้รับการเชิดชูก็อาจตกเป็นเหยื่อของปิตาธิปไตยได้เหมือนกัน ความมีอำนาจของผู้ชายกลายเป็นดาบสองคม ในแง่หนึ่ง ผู้ชายจะได้รับชื่อเสียง อำนาจ สิทธิพิเศษต่างๆ แต่อีกแง่หนึ่งอำนาจเหล่านั้นก็อาจทำให้ผู้ชายตกเป็นเหยื่อได้เหมือนกัน
ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ คงต้องกล่าวถึงประเด็นที่กำลังเป็นกระแสในช่วงนี้อย่างคดีของ Johnny Depp และ Amber Heard
Johnny Depp และยาพิษของปิตาธิปไตย
เมื่อแอมเบอร์ เฮิร์ด ออกมากล่าวหาจอห์นนี่ เดปป์ เรื่องการทำร้ายทางคำพูดและร่างกาย คนส่วนใหญ่เชื่อเธอแทบจะในทันที แม้ว่า Johnny Depp จะปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีต่อเขาก็ตาม คดีนี้ได้จุดชนวนความเป็น Feminist ขึ้นให้แพร่กระจายเป็นวงกว้าง เนื่องจากเป็นช่วงต่อของกระแสที่ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นมีข่าวการกดขี่ผู้หญิงมากมายจนเกิดกระแส #Metoo ขึ้นมา ผู้คนเริ่มตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศ ทำให้ในที่สุดผู้หญิงและผู้ชายมากมายได้ออกมาสนับสนุนและเข้าข้างแอมเบอร์ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ขณะเดียวกันทางฝั่งเดปป์ก็ถูกต่อต้านอย่างหนัก เขาถูกถอดออกจากภาพยนตร์หลายเรื่อง โดยที่ไม่มีใครคิดจะสืบหาที่มาที่ไปและความจริงเบื้องหลังเลย
ทว่า เมื่อเดปป์ตัดสินใจลุกขึ้นสู้คดี เราก็ได้พบกับเรื่องราวที่คาดไม่ถึง เมื่อหลักฐานทุกอย่างชี้ชัดว่าจริงๆ แล้วเหยื่อของความรุนแรงคือเดปป์ไม่ใช่แอมเบอร์ และเรายังได้พบเรื่องราวอีกมากบนสื่อสังคมออนไลน์ด้วยว่ามีผู้ชายอีกจำนวนไม่น้อยที่โดนทารุณกรรมและตกเป็นเหยื่อ
มีผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าเหยื่อเพศชายครึ่งหนึ่งไม่สามารถบอกใครได้ว่าพวกเขาตกเป็นเหยื่อของการทารุณกรรมในครอบครัว เพราะภาพลักษณ์ของความเป็นผู้ชาย นอกจากนี้ โอกาสที่ผู้ชายจะได้บอกเล่าความรุนแรงที่พวกเขาประสบก็น้อยกว่าเหยื่อที่เป็นผู้หญิงถึงสองเท่าครึ่ง
เหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะสังคมปิตาธิปไตย ที่ปลูกฝังให้ทุกคนมีความเชื่อว่าผู้ชายไม่ใช่เพศที่จะถูกล่วงละเมิดหรือโดนทำร้ายร่างกายและจิตใจได้ เพราะผู้ชายเป็นเพศที่มีสรีระร่างกายแข็งแรงมากกว่า และมีความแข็งกร้าวมากกว่าในด้านอารมณ์ พวกเขาจึงไม่สามารถพูดเกี่ยวกับความรู้สึกอ่อนไหวของพวกเขาในที่สาธารณะได้ แต่ผู้ชายไม่ใช่กลุ่มคนที่มีความรุนแรงและแข็งแกร่งโดยธรรมชาติ และผู้หญิงเองก็ไม่ได้อ่อนแออ่อนไหวโดยเนื้อแท้
นี่คือตัวอย่างการทำงานที่สำคัญของสังคมชายเป็นใหญ่ ระบบร้ายกาจซึ่งถูกสร้างขึ้นในโครงสร้างทางสังคมของเรา
หลายครั้งที่ปิตาธิปไตยปกป้องผู้ชายจากการกระทำแย่ๆ ของพวกเขา แต่ในขณะเดียวกันมันก็กลายอำนาจอาบยาพิษย้อนมาทำร้ายผู้ชายได้เช่นกัน เหมือนในกรณีของจอห์นนี่ เดปป์
ในปัจจุบันที่การต่อสู้ทางกฎหมายอันขมขื่นระหว่างจอห์นนี่ เดปป์และแอมเบอร์ เฮิร์ดยังคงดำเนินต่อไป แฮชแท็ก #AbuseHasNoGender ก็ได้กลายเป็นไวรัลบนสื่อสังคมออนไลน์ และจุดชนวนให้เกิดการอภิปรายเกี่ยวกับการทารุณกรรมในผู้ชาย คนส่วนมากเริ่มเข้าใจและตระหนักว่าแม้แต่ผู้ชายที่ดู ‘เข้มแข็ง’ หรือ ‘ก้าวร้าว’ ก็สามารถถูกรังแกและถูกเหยียดหยามได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ดี การที่แอมเบอร์ทำร้ายเดปป์ด้วยการยืมมือปิตาธิปไตยจะทำให้โลกเริ่มไม่ไว้ใจผู้หญิง และส่งผลเสียต่อผู้หญิงส่วนมาก แต่ก็ไม่ควรเป็นเหตุผลที่ต้องหยุดเชื่อผู้หญิง เพราะยังมีผู้หญิงอีกมากที่อาจจะไม่มีใครเชื่อและเข้ามาช่วยเหลือถ้าต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
ในโลกที่ชายเป็นใหญ่ เราทุกคนต่างเป็นเหยื่อ และทุกคนกำลังดิ้นรนในวิถีของตนเอง บ้างก็เล่นตามบทบาท บ้างก็ต่อสู้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความเข้าใจสำคัญที่สุด
นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราไม่ควรมองว่าปิตาธิปไตยเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และเป็นเหตุผลที่เราทุกคนควรตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศให้มากขึ้น
อ้างอิง
Amber Heard’s Case Is Actually a Perfect Example of How Patriarchy Works