Skip to content
การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Education trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skills
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
Myth/Life/Crisis
26 March 2021

นางพญางูขาว: เราตัดสินใจด้วยหัว หรือด้วยใจ มากกว่ากัน?

เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • ทางจิตวิทยามีการจำแนกแนวโน้มในการตัดสินใจที่มนุษย์ใช้อยู่ 2 วิธี คือแบบ Thinking ใช้หัวตัดสิน คิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผลตามตรรกะ และแบบ Feeling ตัดสินใจด้วยความรู้สึก มีการประเมินคุณค่าที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละคนเป็นกรณีไป
  • เมื่อสองวิธีการตัดสินใจดังกล่าวถูกนำมาใช้ในความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์บางอย่างหากให้ตัดสินใจเอาตามเหตุผลแล้วดูไม่น่ารอดและอาจจะควรรีบทำให้มันจบไป แต่เมื่อใช้ความรู้สึกตัดสินก็อาจจะอยากดันทุรังไปต่อให้จงได้เพื่อตอบสนองคุณค่าทางจิตใจบางอย่าง เช่น ทำงานที่นี่ต่อดีหรือไม่ หรือถ้าต้องปลดพนักงาน ควรปลดคนไหนออก ฯลฯ
  • ภัทรารัตน์ อธิบายเรื่องนี้ผ่าน 2 ตัวละครจากตำนานนางพญางูขาว ‘ไป๋ซู่เจริน’ และ ‘ภิกษุฝาไห่’ และแบบทดสอบว่าคุณเป็นคนที่ใช้ ‘สมอง’ หรือ ‘ใจ’ ในการตัดสินมากกว่ากัน

ตำนานนางพญางูขาว《白蛇传》เป็นหนึ่งในสี่ยอดนิทานพื้นบ้านของจีน เชื่อกันโดยยังไม่เป็นที่ยุติว่า แต่เดิมเป็นเรื่องเล่าที่เริ่มขึ้นสมัยราชวงศ์ถัง โดยมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาค่อนข้างมากสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ และเริ่มปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในงานซึ่งค้นพบในช่วงราชวงศ์หมิงชื่อจองจำงูขาวชั่วนิรันดร์ในเจดีย์เหลยเฟิง《白娘子永鎮雷峰塔》(白娘子 สามารถแปลได้ว่า แม่นางสกุลไป๋ ส่วน ‘ไป๋’ ในบริบทอื่นๆ แปลได้หลายอย่างเช่น ขาวหรือกระจ่าง เป็นต้น)  

แนวเรื่องพื้นฐานของตำนานนางพญางูขาวที่เล่าขานกันมานั้นไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ทว่ารายละเอียดมีความหลากหลายมาก ตำนานท้องถิ่นเก่าๆ วาดภาพเธอเป็นนางปิศาจสาวสวยที่มาล่อลวงชายหนุ่ม บางเวอร์ชั่นบรรยายว่า แม้แต่นักพรตเต๋าและภิกษุแห่งพุทธศาสนาก็มิอาจปราบนางได้ กระทั่งต้องอัญเชิญพระโพธิสัตว์กวนยินมาปราบ เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของ Lindsay Emerson ที่ว่าความแตกต่างของเนื้อเรื่องโดยเฉพาะตอนจบมักเป็นเครื่องแสดงว่าคนเล่าเข้าข้างอุดมการณ์ฝ่ายไหนระหว่างเต๋า ขงจื้อ หรือพุทธศาสนา อันเป็นสามสายธารสำคัญในประวัติศาสตร์ปรัชญาศาสนาของจีนซึ่งปฏิสัมพันธ์กันอยู่ในตำนานนี้ 

นางพญางูขาวบำเพ็ญพรตมา 1,000 ปีถึงสามารถกลายร่างเป็นมนุษย์ ครั้นได้ร่างมนุษย์แล้ว นางก็เดินทางไปยังทะเลสาบตะวันตก (ซีหู – 西湖) ที่นครหังโจว ณ ทะเลสาบ นางพญางูในร่างมนุษย์นามว่าไป๋ซู่เจริน (白素贞) ได้พบกับบัณฑิตหนุ่ม สวู่เซียน (许仙) หลังจากที่เขาเพิ่งไหว้มารดาผู้ล่วงลับ และไม่นานนัก พวกเขาก็หลงรักและแต่งงานกัน

Lindsay Emerson ลงความเห็นต่อพื้นภูมิของนางพญางูว่ามีความเป็นเต๋า (道)เนื่องจากมีเรื่องการบำเพ็ญพรตไปเพื่อให้ได้ฤทธิ์และความมีอายุยืน ส่วนสวู่เซียนที่เพิ่งแสดงความกตัญญูผ่านการไหว้มารดาผู้วายชนม์นั้น น่าจะเป็นภาพแทนของลัทธิขงจื้อ แต่เดิมสวู่เซียนมีรายได้จากร้านขายยาซึ่งไม่ได้มากมายอะไรนัก ในขณะที่ซู่เจรินสามารถเนรมิตเงินทองและบ้านช่องห้องหอ พูดง่ายๆ ว่าสวู่เซียนได้เมียรวย ซู่เจรินเหนือชั้นกว่าสามีทั้งสถานะทางโลกและทางฤทธิ์เหนือโลก และไม่ต้องเชื่อฟังสามี ดังนั้น แม้แนวเรื่องสมัยใหม่จะเน้นความรักแท้ของซู่เจรินมากกว่าจะทำให้นางเป็นปิศาจชั่วดังเนื้อเรื่องในเวอร์ชั่นเก่า แต่ความสัมพันธ์หญิงเหนือชายลักษณะนี้นับว่าค่อนข้างแหวกอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ที่แทรกซึมอยู่ในแนวคิดของลัทธิขงจื้อและพุทธศานาจีนยุคโบราณไปมากถึงขั้นพลิกกลับเลยทีเดียว 

ยังมีอีกตัวละคร คือ ภิกษุฝาไห่ (法海 ในที่นี้ขอแปลว่า ห้วงสมุทรแห่งกฎเกณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาในที่นี้) เขาเป็นพระเถระในพุทธศาสนา ทว่ามีบทบาทดั่งมารผจญความรักของนางพญางูกับสวู่เซียน เขาก็เหมือนไป๋ซู่เจรินที่บางเวอร์ชั่นก็ถูกทำให้เป็นผู้ร้ายโดยสมบูรณ์ แต่ที่เห็นส่วนใหญ่จะวาดภาพว่าฝาไห่เบียดเบียนผู้อื่นเพียงเพราะเขาเชื่อจริงๆ ว่าซู่เจรินอันตรายร้ายกาจ และคิดว่าตัวเองมีหน้าที่ทางศีลธรรมที่ต้องปราบงู หรือเขามีความเชื่อแบบเถรตรงว่าการที่งูกับคนอยู่ร่วมนั้นผิดกฎสวรรค์เลยต้องจับแยก 

ในที่สุดฝาไห่ก็สามารถขังนางพญางูไว้ในเจดีย์เหลยเฟิง ซึ่งเรื่องราวต่อจากนี้มีสามแบบหลักๆ แต่ที่คนจีนชอบเล่ากัน คือ ซู่เจรินได้ให้กำเนิดบุตรชายก่อนถูกขังในเจดีย์ และภายหลังบุตรของนางเติบโตขึ้นและกลายจอหงวนเรืองนาม เขาได้กลับไปยังเจดีย์เพื่อถวายเครื่องบูชาแด่มารดาและด้วยความกตัญญูจึงทำให้เจดีย์ที่ใช้ขังมารดาพังทลายลงมา ซู่เจรินจึงได้กลับมาอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง

ไป๋ซูเจิน เป็นตัวละครที่ตัดสินใจไปตามความรู้สึก (ประเมินค่า) ส่วนบุคคล และให้ความสำคัญกับการรักษาความสัมพันธ์มากกว่าตัดสินใจตามกฎเกณฑ์ที่เอาไว้ใช้กับคนหมู่มาก 

ส่วนภิกษุฝาไห่ในเวอร์ชั่นที่เขาไม่ได้เป็นตัวร้ายโดยสิ้นเชิง มีแนวโน้มจะตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยพยายามหากฎ หรือมาตรฐานที่ใช้ได้กับทุกอย่าง ถ้าหากฝาไห่รับรู้ได้เฉพาะว่าตนเองตัดสินใจแบบใช้เหตุผลจากหัวสมอง ไป๋ซู่เจรินก็อาจเป็นร่างปรากฏของการตัดสินใจแบบใช้ใจที่ถูกฉายมาจากจิตไร้สำนึก (unconscious) ซึ่งฝาไห่ยังไม่ตระหนักรู้ว่ามีอยู่ในตัวเอง นอกจากนี้ ไป๋ซู่เจรินในความรับรู้ของฝาไห่ยังถูกทาบด้วยภาพลักษณ์วิญญาณฝ่ายหญิง (Anima) ในลักษณะของหญิงร้ายทรงเสน่ห์ที่อาจทำให้ชายพังพินาศ หากฝาไห่ใช้พลังงานแบบหยาง (阳) ซึ่งเชื่อมกับความเป็นชายและความแข็งกร้าวไปจนถึงที่สุดแล้ว สตรีซู่เจรินก็อาจเป็นการตีกลับมาของพลังงานหยิน (阴) อันเชื่อมโยงกับความอ่อนโยนและเต็มไปด้วยความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ ซึ่งซ่อนอยู่ในหยาง ดังนั้น การตัดสินใจแยกคู่รักงูกับคนของฝาไห่จึงอาจมาจากการใช้หัวหรือใช้ใจก็ได้ ขอไม่ฟันธงเพื่อเปิดสู่การถกเถียงต่อยอดไว้ ณ ที่นี้ 

แบบทดสอบวิธีการตัดสินใจ ดูว่าคุณมีแนวโน้ม ‘ใช้หัว’ หรือ ‘ใช้ใจ’ 

ในเรื่องวิธีการตัดสินใจ ทางจิตวิทยามีการจำแนกแนวโน้มในการตัดสินใจอยู่ 2 วิธี นั่นคือแบบ Thinking และ Feeling ซึ่งจะขอเรียกเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่าใช้หัวและใช้ใจ แบบใช้หัวมักตัดสินใจบนฐานการคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผลตามตรรกะ ส่วนแบบที่ตัดสินใจด้วยความรู้สึก มักมีการประเมินคุณค่าที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละคนเป็นกรณีไป ทั้งนี้ เราจะได้เห็นรายละเอียดอื่นๆ ตอนทำแบบทดสอบในบทความ

โดยทั่วไปคนเราก็ใช้วิธีตัดสินใจทั้งสองอย่างผสมผสานกันไปและไม่ได้แยกสองวิธีออกจากกันได้ชัดขนาดนั้น แต่เพื่อความเข้าใจ จะขอยกตัวอย่างที่ทำให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนมากขึ้นระหว่างวิธีตัดสินใจทั้งสองแบบดังกล่าว สมมติว่าบริษัทหนึ่งกำลังขาดทุนและจำเป็นต้องปลดพนักงานออกเพื่อลดต้นทุน โดยมีตัวเลือกที่จะปลดออก 2 คน คนหนึ่ง เป็นหนุ่มโสดอายุราว 30 ปี เขาทำเงินให้บริษัทในแต่ละปีมากทีเดียวแต่เงินเดือนของเขาไม่สูงนัก ส่วนพนักงานอีกท่านทำงานให้บริษัทนี้มาแต่ยังหนุ่ม เขามีลูกสองคนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ช่วงหลังๆ ผลงานเขาตกไปอย่างยิ่งเนื่องจากปัญหาสุขภาพ ในขณะที่เงินเดือนเขาสูงลิ่วนำหน้าชายคนแรกไปมาก

การตัดสินใจที่เน้นใช้ใจ มีแนวโน้มจะเห็นใจชายอายุ 50 มากกว่าด้วยเหตุผลส่วนตัวต่างๆ ของเขา เช่น เขาทำงานที่นี่มานานแล้วอันแสดงถึงความภักดีต่ององค์กร อีกทั้งเขามีลูกอีกสองคนที่ยังต้องดูแล และอายุก็มากแถมยังมีปัญหาสุขภาพด้วยจึงอาจหางานใหม่ได้ยาก เป็นต้น ส่วนการตัดสินใจที่เน้นใช้หัวก็มีแนวโน้มจะเลือกปลดชายอายุ 50 ออก ซึ่งคนที่พิจารณาคุณค่าส่วนบุคคลอาจเห็นว่าเขาใจร้ายหรือเถรตรงเกินไป ทว่าแท้จริงแล้วเขาเป็นคนที่แสดงความเห็นใจด้วยการเข้าไปแก้ปัญหา โดยใช้หลักคิดตามข้อเท็จจริงของการลดต้นทุนและพยายามจะไม่เลือกที่รักมักที่ชังต่างหาก

เมื่อสองวิธีการตัดสินใจดังกล่าวถูกนำมาใช้ในความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์บางอย่างหากให้ตัดสินใจเอาตามเหตุผลแล้วดูไม่น่ารอดและอาจจะควรรีบทำให้มันจบไป แต่เมื่อใช้ความรู้สึกตัดสินก็อาจจะอยากดันทุรังไปต่อให้จงได้เพื่อตอบสนองคุณค่าทางจิตใจบางอย่าง เราไม่ได้ใช้วิธีตัดสินใจทั้งสองนี้เฉพาะในความสัมพันธ์กับผู้คน แต่รวมไปถึงความสัมพันธ์กับงานด้วย เช่น ทำงานที่นี่ต่อดีหรือไม่ หรือถ้าต้องปลดพนักงาน ควรปลดคนไหนออกเหมือนกรณีที่กล่าวไปข้างต้น ฯลฯ

แล้วคุณล่ะ ชอบตัดสินใจด้วยวิธีใช้หัวหรือใช้ใจมากกว่ากัน? 

คุณจะได้เห็นตัวเองคร่าวๆ ผ่านแบบทดสอบ ซึ่งเมื่ออ่านแต่ละข้อความแล้ว คุณสามารถตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ และถ้าใช่ ใช่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่แบบทดสอบนี้เป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆ มนุษย์ยังมีความหลากหลายอื่นๆ อีก ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องยึดติดกับลักษณะที่ได้จากแบบทดสอบมากเกินไป

  1. สนใจว่าข้อถกเถียงนั้นๆ สมเหตุสมผลไหม และไม่ได้ใส่ใจว่าใครเป็นคนพูด
  2. รู้สึกว่ายากที่จะแยกข้อโต้แย้งออกจากผู้ที่สร้างข้อโต้แย้ง  
  3. ใช้มาตรฐานบางอย่างด้วยความคงเส้นคงวากับทุกคนอย่างเสมอกัน 
  4. ปรับมาตรฐานสำหรับตัดสินใจไปตามคุณลักษณะ ความต้องการ คุณค่าต่างๆ อีกทั้งผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับคนแต่ละคน นอกจากนี้ก็มักจะแสดงความห่วงใยด้วยการรับฟังและแสดงความเห็นอกเห็นใจ   
  5. แสวงหาความจริงที่ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง และไม่ลังเลที่จะถามคำถามเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน  
  6. เห็นว่าการรักษาความสัมพันธ์ สำคัญกว่าการหาข้อเท็จจริง และหลีกเลี่ยงที่จะถามคำถามถ้าอาจจะไปกระทบความรู้สึกอีกฝ่าย
  7. มักแสดงความเห็นที่ตรงมากๆ จนบางครั้งดูไม่รักษาน้ำใจหรือหยาบคาย มีความต้องการจะพัฒนาสิ่งที่พัฒนาได้ให้ดีขึ้น
  8. ต้องการรับรองคุณค่าของมุมมองคนอื่น และเชื่อในเรื่องการยอมรับคนอย่างที่เขาเป็น

หากคุณตอบเลขคี่เยอะ คุณมีแนวโน้มที่จะชอบตัดสินใจบนฐานการวิเคราะห์ด้วยตรรกะเหตุผลมากกว่า และหากตอบเลขคู่เยอะก็มีแนวโน้มจะชอบตัดสินใจผ่านการประเมินคุณค่าที่ขึ้นอยู่กับการมองของปัจเจกมากกว่า

คนอื่นอาจมองว่าคนประเภทเลขคี่ว่าเถรตรงเกินไปหรือใจร้ายในหลายสถานการณ์ หรืออาจถูกมองว่าคิดว่าตัวเองเหนือกว่าหรือมีระยะห่างกับคนอื่น ส่วนคนประเภทที่เลือกเลขคู่เยอะก็อาจจะถูกมองว่าถืออารมณ์เป็นใหญ่ หรืออินกับคนอื่นง่ายเกินไป แต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว เราทุกคนใช้วิธีตัดสินใจทั้งสองแบบผสมผสานกันไป ซึ่งในชีวิตจริงก็ยากจะแยกออกจากกันอย่างชัดเจนได้ 

และไม่ว่าคุณจะมีแนวโน้มการตัดสินใจแบบไหน ก็สามารถเรียนรู้จากคนที่แตกต่างจากเราได้เสมอ  

อ้างอิง 
Asian Folklore Studies Vol. 51, No. 1 (1992), pp. 51-66 “From Folklore to Literate Theater: Unpacking Madame White Snake” โดย Whalen Lai
Jung A very short Introduction โดย Anthony Stevens
Looking at TYPE โดย เอิร์ล C. Page ตีพิมพ์โดย Center for Applications of Psychological Type, MBTI step II USES’s Guide
The Legend of the Lady White Snake; An Analysis of Daoist,
Buddhist and Confucian Themes โดย Lindsay Emerson
《从嫁鸡随鸡到半边天》จากตำราวิชาภาษาจีน 4 เรียบเรียงโดย ร.ศ.สมชาย สุขะการค้า ภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

Tags:


Author:

illustrator

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา

ชอบอยู่กับต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ผืนน้ำ เที่ยวไปในโบราณสถาน และเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในเงามืด เราเองยังต้องเรียนรู้และขัดเกลาอะไรอีกมาก รู้สึกขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้ฟังเรื่องราวของทุกคนนะ (Line ID: patrasuwan)

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • Alexithymia-nologo
    How to enjoy life
    พูดไม่ออก บอกไม่ถูก? เมื่อใจรู้สึก แต่ปากกลับบอกไม่ได้ว่าคืออารมณ์อะไร: Alexithymia ภาวะไร้คำให้กับอารมณ์

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • RelationshipSocial Issues
    Toxic Masculinity: เมื่อ ‘ชายแทร่’ คือผลไม้พิษ สังคม-ครอบครัวต้องสร้างการเรียนรู้ใหม่…ไม่มีใครเหนือใครในความเป็นมนุษย์

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy life
    เพราะ ‘ข่าวร้าย’ มักดึงดูดใจกว่า ‘ข่าวดี’: Doomscrolling พฤติกรรมเสพข่าวร้ายไม่หยุด ที่ต้องหยุดตัวเองก่อนเสียสุขภาพจิต

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • love-hate-relationship-nologo
    Relationship
    Love-Hate Relationship: จะอยู่อย่างไรให้ไหว เมื่อคนในครอบครัวคือคนที่ทั้งรักและเกลียด?

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Relationship
    Love Bombing: เมื่อการทุ่มเทความรักมากมายเป็นเพียงเหยื่อล่อไปสู่ความสัมพันธ์ท็อกซิก

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel