- อัครมีความสัมพันธ์แปลกๆ กับแม่ของเขา แม่ของอัครมีวิธีคิดว่าต้องเป็น ‘ผู้ให้’ อยู่ตลอดและจะรู้สึกอึดอัดมากหากต้องเป็นผู้รับ ด้วยบุคลิกภาพเช่นนี้ แม่ได้ดำเนินชีวิตในรูปแบบที่ทำให้อัครต้องเล่นบท ‘ผู้รับ’ มาตลอด แต่มันเริ่มเป็นการบีบคั้นที่แสนปวดร้าวอย่างยากจะทนทานเมื่อแม่ของเขาเพิ่งเกษียณอายุ
- กระนั้น วันหนึ่ง อัครก็เข้าใจได้ว่าเขาเผชิญความทุกข์อย่างเดียวกันกับแม่ของเขา อัครโอเคเฉพาะกับการเป็นผู้ให้ ในการไดอะล็อกสำรวจโลกภายใน อัครโดนย้อนถามเป็นฟ้าผ่าที่กลางใจว่า “คุณไม่รู้จักอนุญาตให้คนอื่นเป็น ผู้ให้บ้างหรือ?”
- อัครตระหนักว่าเขามีนิสัยเหมือนแม่ เขาเริ่มสังเกตและเห็นตัวเองเพิ่มเติมอีกว่า เวลาที่เขาดูแลเด็กหรือดูแลให้อาหารแมวโดยมีเจตนาส่งความรักออกไปด้วยนั้น เขารู้สึกถึงความรักมากกว่าตอนได้รับการดูแล อีกทั้งเขาเข้าใจลึกขึ้นอีกว่าเขาได้อาหารใจจากการเป็นผู้ให้ เช่น ความรู้สึกว่าได้ทำประโยชน์ เขามีค่า ชีวิตของเขามีความหมาย และรู้สึกไม่โดดเดี่ยว เขาจึงควรจะอนุญาตให้แม่ผู้เกษียณของเขาได้รู้สึกมีค่าเช่นนั้นด้วย
การเป็นผู้ให้มิได้มีแต่ด้านที่ดูดีเท่านั้น แต่มีด้านมืดด้วย ทั้งนี้ ดร.โศบา ศรีนิวาสัน (Shoba Sreenivasan) และดร.ลินดา อี. เวียนเบอร์เกอร์ (Linda E. Weinberger) อาจารย์ด้านจิตวิทยาทั้งสองแห่งมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียใต้ (USC) ได้แยกแยะด้านมืดของผู้ให้ไว้สามประเภท คือ
1 การให้ที่มีลักษณะที่ต้องการผลตอบแทน
2 การให้ที่มีรากมาจากการนับถือตนเองต่ำ
และ 3 การให้ที่แสดงความเสียสละเพื่อให้ผู้อื่นมาชื่นชม
นอกจากนี้ ก็ยังมีการให้จากเหตุผลอื่นๆ ซึ่งแม้จะดูดำมืดน้อยกว่าการให้ 3 ประเภทดังกล่าว แต่ก็สามารถทำให้คนที่เป็น ‘ผู้รับ’ ดู อ่อนแอกว่า หรือ ต่ำต้อยกว่า เช่นกัน อีกทั้งอาจทำให้คนที่จำเป็นต้องรับรู้สึกแย่ และสามารถกัดกร่อนสัมพันธ์ได้ทั้งสิ้น ดังตัวอย่างที่จะเห็นได้จากความสัมพันธ์กับอัครและแม่ของเขา
อัคร เป็นชายหนุ่มอายุราวยี่สิบเจ็ดปี เขามีพี่สาวหนึ่งคน ในอดีตนั้น ทั้งสองอยู่ร่วมกับแม่เป็นสามคนในบ้านซึ่งโดยรวมก็ถือว่าอบอุ่น กระนั้น นับแต่เป็นวัยรุ่น เขาเริ่มมีความขัดแย้งกับแม่มากขึ้น แต่อาศัยว่าเขาต้องไปเรียนที่ไกลๆ และจากนั้นก็เลือกทำงานที่ไกลบ้านจึงเลี่ยงปัญหาได้ด้วยการไม่อยู่บ้านมากนัก เขาได้ทำงานที่ชอบ มีเพื่อนฝูงที่สนทนากันเข้าใจและเกื้อกูลกัน เขามีความรื่นรมย์ในชีวิตอยู่พอสมควร ทว่า ทุกครั้งที่เขากลับบ้านด้วยความรู้สึกว่าอยากกลับไปช่วยพี่สาวดูแลแม่ ความสัมพันธ์กับแม่กลับทำให้เขารู้สึกติดขัดอยู่เรื่อยมา
อัครมีความสัมพันธ์แปลกๆ กับแม่ของเขามาเป็นเวลานานแล้ว นั่นเป็นต้นตอของความขัดแย้งเรื้อรังที่เกริ่นไว้ เพราะแม่ของอัครชินกับการเป็น ‘ผู้ให้’ อยู่ตลอด แม่รู้สึกอึดอัดหากต้องเป็นผู้รับ ซึ่งอัครก็พยายามเข้าใจว่าเขาและพี่สาวเป็นเหมือนชีวิตของแม่ อีกทั้งแม่เติบโตมาในบ้านของคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่ของตัวเอง จึงถูกบ่มเพาะให้ทำตัวเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นและดูแลคนอื่นมาตลอด
และยังมีเรื่องอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยแรงขับเช่นนี้ แม่ได้ดำเนินชีวิตในรูปแบบที่ทำให้อัครต้องเล่นบท ‘ผู้รับ’ อยู่เสมอ ความทรงจำอันเด่นชัดของอัครก็คือ เมื่อเขาปฏิเสธความช่วยเหลือจากแม่ หลายครั้งแม่จะหงุดหงิดและนำไปสู่อารมณ์ขัดแย้ง
ยิ่งช่วงที่แม่เพิ่งเกษียณอายุอันเป็นช่วงที่พี่สาวเขาย้ายไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว แม่ของอัครไม่ค่อยมีอะไรทำและอยากมีส่วนร่วมกับแทบทุกกิจกรรมต่างๆ ของอัคร โดยแม่ต้องทำตัวเป็น ‘ผู้ให้’ ด้วย บางครั้งอัครรู้สึกถึงขนาดว่าตนเป็นเหยื่อที่ต้องแบกรับบทบาท ‘ผู้รับ’ ไว้เลยด้วยซ้ำ แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ อัครจำยอมรับบท ‘ผู้รับ’ นับครั้งไม่ถ้วน ทำให้เขาต้องโดนหยามเหยียดจากญาติห่างไกลและคนแปลกหน้ามากมายที่เข้าใจผิดว่าอัครเป็นผู้ขอร้องให้แม่ช่วยทำอะไรต่างๆ ให้ แทนที่อัครจะทำเอง แม้แต่พี่สาวก็เคยแซวเล่นว่าอัครถูกพะเน้าพะนอทำให้อัครรู้สึกไม่ดี หนำซ้ำแฟนสาวของอัครก็มีท่าทีบางอย่างเมื่อเห็นแม่ของอัครต้องการทำสิ่งต่างๆ ให้เขาถึงเพียงนั้น การที่แม่พยายามมาให้ความช่วยเหลือและดูแลอัครในสิ่งที่เขาทำได้อยู่แล้วนั้นจึงเป็นเรื่องฝืนใจอัครอย่างมาก เพราะแท้จริงแล้วเขาเองก็ให้คุณค่าที่ตัวเองได้เป็นที่พึ่งแก่คนมากมายและมีความเป็น ‘ผู้ให้’ ไม่แพ้แม่เลย
กระนั้น มาวันหนึ่งอัครก็เข้าใจว่าเขาเผชิญความทุกข์อย่างเดียวกันกับแม่
อัครชอบที่จะเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับมาตั้งแต่แรกแล้ว แต่ไม่ใช่แค่อึดอัดกับแม่ที่ชอบแย่งเป็นผู้ให้ เขาอึดอัดเมื่อต้องทวงเงินหรือบริการจากคนอื่นด้วย อย่าว่าแต่รู้สึกไม่ค่อยปลอดโปร่งในการทวงเงินที่สมควรได้จากลูกค้าที่กะชักดาบเลย ขนาดลูกค้าเสนอเงินเพิ่มให้เพราะพอใจในงานที่เขาทำให้ เขายังต้องคิดอยู่พักใหญ่กว่าจะตอบรับ
ในการไดอะล็อกสำรวจโลกภายใน อัครโดนย้อนถามเป็นฟ้าผ่าที่กลางใจว่า “คุณไม่รู้จักอนุญาตให้คนอื่นเป็นผู้ให้บ้างหรือ?”
ฉับพลันนั้นอัครก็ตระหนักว่าเขามีนิสัยเหมือนแม่เป๊ะ ทั้งเขาและแม่อยากแต่จะเป็นผู้ให้กระทั่งไม่รู้จักเป็นผู้รับบ้างเลย หากอัครต้องคิดอยู่นานกว่าจะทวงเงินหรือยอมรับเงินที่เขาสมควรได้รับจากลูกค้า แม่เขาก็คงรู้สึกกระอักกระอ่วนไม่แพ้เขาในยามที่ต้องเป็น ‘ผู้รับ’ หากแม่เขารู้วิธีผ่อนปรนจิตใจแล้วอนุญาตให้ผู้อื่นเป็นผู้ให้บ้าง แม่เขาก็คงทำไปนานแล้ว
อัครเริ่มสังเกตและเห็นตัวเองเพิ่มเติมอีกว่าเวลาที่เขาดูแลเด็กหรือดูแลให้อาหารแมวโดยมีเจตนาส่งความรักออกไปด้วยนั้น เขารู้สึกถึงความรักมากกว่าตอนได้รับการดูแล อีกทั้งเขาเข้าใจลึกขึ้นอีกว่าการได้เป็นผู้ให้นั้นให้อาหารใจอันจำเป็น เช่น ความรู้สึกว่าเราได้ทำประโยชน์ เรามีค่า ชีวิตของเรามีความหมาย และรู้สึกไม่โดดเดี่ยว เขาจึงควรจะอนุญาตให้แม่ผู้เกษียณของเขาได้รู้สึกมีค่าเช่นนั้น
นับแต่นั้น อัครตระหนักถึง “การให้” โดย “อนุญาตให้คนอื่นเป็นผู้ให้” โดยเฉพาะกับแม่ของเขา แม้ว่าในหลายสถานการณ์ เขาต้องสวมบทบาทผู้รับและก็จะมีคนตัดสินเขาเหมือนเช่นเคย แต่อัครต้องเข้าใจเจตนาภายในของเขาเอง ซึ่งสำคัญกว่าความรับรู้ฉาบฉวยของคนอื่น นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ของอัครและลูกค้าก็ง่ายขึ้นด้วย เมื่ออัครเลิกทำตัวเป็นเหยื่อหรือพ่อพระ ลูกค้าของเขาก็ย่อมไม่ต้องเล่นบทคนโกงหรือผู้ได้รับความเมตตาจากอัครผู้แสนดี
อัครนึกถึงคำกล่าวที่ว่าบางทีคนอื่นก็ไม่ได้พูดคำว่ารักเราออกมาตรงๆ แต่มันผ่านประโยคที่ว่า “ให้ไปรับไหม? กินข้าวหรือยัง? ทำกับข้าวไว้ให้นะ” แต่อย่างไรเสีย ตอนนี้ความสัมพันธ์ของอัครกับแม่ของเขาคลี่คลายขึ้นอีกหน่อยแล้ว เมื่ออัครอนุญาตให้ตัวเองเป็นผู้รับด้วยท่าทีผ่อนคลายขึ้น พฤติกรรมของแม่เขาก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปในทางที่สมดุลขึ้นเช่นกัน ทุกวันนี้แม่ของอัครก็รู้จักเป็น ‘ผู้รับ’ การดูแลบ้างแล้ว ซึ่งแท้จริงก็คือ การให้โดยอนุญาตให้อัครเป็นผู้ให้ด้วย นั่นเอง