- ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา เขียนถึงการแสดงเรื่อง Swan Lake ในประเด็นเกี่ยวกับ “ลักษณะที่เราปฏิเสธหรือไม่ตระหนักรู้ว่ามีอยู่ในตัวเองหรือด้านที่ยังดิบ ทั้งนี้ ไม่ได้จำกัดแค่ด้านร้าย” นี่คือนิยามง่ายๆ ของเงามืด (Shadow) ของเรา ยิ่งเรารู้จักเงามืดในตัวเองมากเท่าไหร่ เราก็มีอิสรภาพทางใจและทางความสัมพันธ์มากขึ้นเท่านั้น
- เงามืดที่เราไม่ตระหนักรู้จะหาทางสร้างสมดุลให้เรา โดยอาจปรากฏขึ้นเป็นการเสพติดความสัมพันธ์กับคนที่แสดงเงามืดของเรา ซึ่งอาจเป็นความสัมพันธ์ที่เรื้อรังหรือเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
- เช่น คนที่เคยชินกับการทำตามความต้องการของคนอื่นมากกว่าตัวเอง ย่อมดึงดูดคนที่ชอบชี้นำให้วนเวียนอยู่ในชีวิต หรือใครคนหนึ่งพยายามทำตามกฎเกณฑ์ มีมาตรฐานความซื่อสัตย์ซื่อตรงสูง ทว่าอยู่มาวันหนึ่งเขากลับรู้สึกถึงแรงดึงดูดอย่างแรงกล้าให้คบกับคนขี้โกงและเล่นไม่ซื่อ
“แสงยิ่งสว่างมากเท่าไหร่ เงาก็ยิ่งมืดมากเท่านั้น” – คาร์ล กุสตาฟ ยุง
นิทานที่จะเล่าต่อไปนี้มาจากการแสดงเรื่อง Swan Lake ซึ่งแต่งโดยไชคอฟสกี (ชื่อเต็ม Pyotr Ilyich Tchaikovsky) โครงเรื่องดังกล่าวไม่ทราบแน่ชัดว่ามาจากที่ใด หากแต่เป็นไปได้ว่ามาจากนิทานพื้นบ้านรัสเซียและเยอรมัน คณะแสดงต่างๆ เล่าเรื่อง Swan Lake อยู่หลายเวอร์ชัน กระนั้น แกนเรื่องที่มีร่วมกันก็คือตัวละครต่างๆ ในเรื่อง ล้วนทำให้เราเห็นภาพชัดเจนของลักษณะที่ได้รับการพิจารณาว่าดีงาม และขั้วตรงข้ามอันเป็นเงามืด (Shadow) ที่ถูกขัดเกลาให้ผลักไสออกจากนิสัยของเรา ซึ่งส่งผลให้มนุษย์มีแนวโน้มต้องแสดงหรือรับรู้เฉพาะพฤติกรรมอันเป็นที่ยอมรับและทิ้งส่วนที่เหลือไว้ในเงามืด*
ทั้งนี้ ขอนิยามเงามืดใหม่อย่างเรียบง่ายเพื่อความสะดวกต่อการนำไปประยุกต์ใช้ว่า เป็นลักษณะที่เราปฏิเสธหรือไม่ตระหนักรู้ในตัวเอง หรือด้านที่ยังดิบซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ด้านร้าย (รวมกรณีกลับกันที่เราโอบกอดเฉพาะด้าน ‘ร้ายๆ’ แต่ปฏิเสธคุณความดีภายในตัวเองด้วย) ยิ่งเรารู้จักเงามืดในตัวเองมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็มีอิสรภาพทางจิตใจมากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะมีความสงบสันติมากขึ้นในการสัมพันธ์กับคนอื่น และคนกลุ่ม ‘อื่น’
1.
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ ปราสาทเยอรมันโบราณซึ่งตั้งตระหง่านโอบล้อมด้วยขุนเขาและสายน้ำ มีการจัดงานฉลองครบรอบวันคล้ายวันเกิดของเจ้าชายซิกฟรีด ในวันนั้นเองเขาได้เข้าไปในป่าพร้อมกับของขวัญวันเกิดจากมารดา ในป่านั้นเขาได้พบกับทะเลสาบลึกลับซึ่งมีฝูงหงส์ร่อนพลิ้วอยู่เหนือผืนน้ำ เมื่อแสงจันทร์แห่งราตรีทอประกายระยับบนผืนทะเลสาป หงส์สวมมงกุฎก็ปรากฏร่างเป็นสาวผู้มีความงามอันบริสุทธิ์ขึ้นต่อหน้า เธอมีนามว่าโอเด็ตต์ ซิกฟรีดทราบจากโอเด็ตต์ว่าตัวเธอเองและหญิงสาวอีกมากมายถูกพ่อมดผู้มีอำนาจมนตร์ดำชื่อ ฟอน รอธบาร์ต (Von Rothbart) สาปให้กลายเป็นหงส์ และหนทางเดียวที่จะถอนคำสาปดังกล่าวก็คือ ต้องมีชายหัวใจบริสุทธิ์มอบสัญญารักแด่เธอ
วันต่อมาได้มีการจัดงานเพื่อให้ซิกฟรีดเลือกเจ้าสาว โดยมีหญิงสาวมากมายมาร่วมงาน หนึ่งในนั้นคือสาวงามผู้มีรูปโฉมเหมือนโอเด็ตต์ไม่ผิดเพี้ยน ทว่าแท้จริงแล้วเธอคือ โอดีล ลูกสาวของพ่อมดรอธบาร์ต ซึ่งรอธบาร์ตเพียงแต่เสกให้โอดีลมีรูปโฉมเหมือนกับโอเด็ตต์เท่านั้น ด้วยความเข้าใจผิด ซิกฟรีดจึงสารภาพรักและขอแต่งงานกับโอดีล โอเด็ตต์ตัวจริงที่แอบมองอยู่ผละหนีออกไปทำให้ซิกฟรีดตื่นจากความลวง เขาวิ่งตามโอเด็ตต์ตัวจริงไปยังทะเลสาบ แต่แล้วรอธบาร์ตกับโอดีลก็ตามมาปรากฏร่างเป็นอสูรกายคล้ายนก รอธบาร์ตลำเลิกให้ซิกฟรีดแต่งงานกับลูกสาวของเขาตาม ‘พันธะสัญญา’ ทว่าซิกฟรีดยอมกระโดดน้ำตายไปกับคนรัก ฉับพลันนั้น หญิงสาวทั้งหลายที่เคยถูกสาปก็คืนร่างจากหงส์กลายเป็นมนุษย์อีกครั้ง… คำสาปสิ้นฤทธิ์แล้ว
2.
ตามท้องเรื่อง พ่อมดรอธบาร์ตมีอำนาจมืด และลูกสาวของเขาก็มีเล่ห์กลแพรวพราว ทั้งคู่เป็นเหมือนขั้วตรงข้ามของซิกฟรีดกับโอเด็ตต์ ที่คนหนึ่งถูกเล่าให้เป็นพระเอกแต่ไร้ซึ่งอำนาจเมื่อเทียบกับพ่อมด ส่วนอีกคนก็ถูกเล่าให้เป็นนางเอกผู้มีความงามอันขาวบริสุทธิ์ แต่ถูกขังในร่างหงส์ในเวลากลางวัน สองคู่ความสัมพันธ์นี้ เปรียบเหมือนลักษณะที่เป็นเงามืดและแสงสว่างในตัวเราเอง และเราอาจแสดงลักษณะบางอย่างบ่อยครั้งในชีวิตประจำวันก็ได้เพียงแค่เราไม่รู้ตัว ความไม่รู้ตัวนี้เองที่ทำให้เราไร้อำนาจเหนือตนเอง ซึ่งก็คือการมีอิสรภาพทางใจน้อย
นักจิตบำบัดท่านหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทำบำบัดตามแนวทางของคาร์ล ยุง (จิตแพทย์ผู้ก่อตั้งจิตวิทยาวิเคราะห์ เกิดที่สวิตเซอร์แลนด์ (1875-1961)) เคยถ่ายทอดกรณีศึกษาเกี่ยวกับคนไข้ให้ฟัง โดยเล่าขนานไปกับเทพนิยายจีนซึ่งมีโครงสร้างคล้าย Swan Lake ทำนองว่านางเอกเป็นเทพีใสๆ ที่แสนดีและรักกับชายคนหนึ่งอยู่ แต่ต่อมาเธอถูกแย่งคนรักโดยนางยั่วพราวเสน่ห์ นางเอกเศร้าโศกกระทั่งเสื่อมสภาพทิพย์ กระนั้น คนไข้แสดงทั้งลักษณะของทั้ง ‘นางเอก’และ ‘นางร้าย’ ในเทพนิยาย ทั้งนี้ ด้านที่คนไข้ยังไม่ตระหนักถึงหรือปฏิเสธก็คือเงามืดของคนไข้เอง
ในแวดวงทางศาสนาและจิตวิญญาณ เราอาจเจอการทอดเงามืดที่เข้มข้นกว่านั้นอีก ศาสนาต่างๆ มักมีตัวอย่างของบุคคลที่ใสสว่างบริสุทธิ์ เช่น ศาสดาหรือนักบุญ ซึ่งทอดเงามืดเป็นมาร เป็นซาตาน เป็นปิศาจ ภาพด้านสว่างทำให้ผู้ปฏิบัติตามหลักศาสนาบางส่วนรู้สึกว่าตนจะดีพอก็ต่อเมื่อเป็นไปตามอุดมคติบางอย่างแล้วเท่านั้น
Rob Preece อาจารย์ด้านภาวนาในสหราชอาณาจักร ผู้เป็นทั้งนักจิตบำบัดและมีความรู้จิตวิทยาสายคาร์ล ยุงด้วย เคยเล่าไว้ในหนังสือว่าเขาเคยรู้สึกไร้ค่าและเห็นแก่ตัวเมื่อเทียบกับอุดมคติของพระโพธิสัตว์ ส่วนพระเทวทัตซึ่งมีลักษณะเป็นเงามืดของพระพุทธเจ้าก็อาจรู้สึกแบบนี้ด้วย
นอกจากแวดวงศาสนาแล้ว แวดวงความเคลื่อนไหวทางสังคมก็ทอดเงามืดไม่น้อยไปกว่ากัน กระนั้น เจ้าปู่แห่งการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอันอยุติธรรมก็ยังจงใจแสดงลักษณะที่ชอบความเหลื่อมล้ำบ้าง ไม่ชอบความเหลื่อมล้ำบ้างให้ศิษยานุศิษย์ดูเป็นวิทยาทานเสมอ ในที่สุดแล้วคงไม่มีใครที่มีแค่ลักษณะตามอุดมคติหรืออุดมการณ์ไหนได้ตลอดไป มีก็แต่เพียงสภาวะอย่างนั้นอย่างนี้ที่เกิด-ดับๆ แล้วเราเอามาลากเส้นต่อจุดเองว่าเราเป็นแค่สิ่งซึ่งแสดงคุณค่าที่เรายึดถืออยู่ แล้วจุดไหนที่เราไม่ชอบก็มักโยนไปให้คนอื่น ซึ่งมันจะอันตรายมากขึ้นหากมีกลุ่มคนพร้อมใจกันโยนลักษณะที่ปฏิเสธไปให้กลุ่มอื่น เฉกเช่นที่นาซีเยอรมันโยนเงามืดไปที่ชาวยิว
มีตัวอย่างให้เห็นทั้งเรื่องครูทางจิตวิญญาณ ผู้ปฏิบัติธรรมและนักเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งหลาย ซึ่งในที่สุดแล้วก็จำเป็นต้องยอมรับอีกด้านหนึ่งของตนเอง แม้จะเป็นเรื่องเจ็บปวดเพราะมันอาจเชื่อมโยงกับความรู้สึกผิด บาดแผลแห่งความไร้ค่าและการไม่ใช่คนพิเศษ แต่ความเจ็บปวดก็จะนำไปสู่การเติบโต และสู่ความกรุณาต่อผู้ ‘อื่น’ อย่างแท้จริงได้ (อ่านเพิ่มเติมใน The Wisdom of Imperfection ที่อ้างอิง)
ในจิตบำบัดสายยุงและที่ได้รับอิทธิพลจากยุง นักบำบัดมักพบว่าผู้เข้ารับการบำบัดทาบตัวเองอยู่กับบุคลิกลักษณะเพียงด้านเดียวเป็นเวลานาน กระทั่งวันหนึ่งเขารู้สึกอึดอัดในการดำเนินชีวิต บ้างก็ถึงขั้นทรมานสาหัส ในกระบวนการบำบัดเขาจะได้เผชิญกับลักษณะบางอย่างในตัวที่ละเลยไป พื้นที่ของการบำบัดจึงเป็นเหมือนทะเลสาปในป่าห่างไกลบ้านอันคุ้นเคย ที่ซึ่งเขาจะได้เจอกับเงามืดของตัวเอง
การที่นักบำบัดสามารถทำให้เขาตระหนักรู้ข้อมูลบางอย่างที่ไม่เคยรับรู้ และโอบกอดลักษณะที่ไม่อยากจะรับรู้ในตัวเองได้นั้น ช่วยให้คนไข้ปลดล็อคตัวเองจากความคับข้อง และดำเนินชีวิตได้อย่างโปร่งโล่งมากขึ้น นอกจากนั้นก็ยังลดความเสี่ยงอันตรายจากความสัมพันธ์กับคนที่แสดงลักษณะอันเป็นเงามืดของเราด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราพยายามจะเป็น ‘คนดี’ ตามอุดมคติราวกับโอเด็ตต์ผู้อ่อนโยน และรับรู้เฉพาะด้านที่เราคิดว่าดี โดยที่มองไม่เห็นเงามืดของตนเองเลย เราก็ไม่สมดุล
จากนั้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในชีวิต เงามืดที่เราไม่ตระหนักรู้ก็จะหาทางสร้างสมดุลให้เราโดยอาจไปปรากฏอยู่ในการเสพติดความสัมพันธ์กับคนที่แสดงลักษณะอันเป็นเงามืดของเราอย่างที่สุด ซึ่งมักทำให้ทุกข์และอาจมีการทำร้ายร่างกายร่วมด้วย เราจึงกลายเป็นหอคอยที่รอวันพังทลายลงมา โดยความสัมพันธ์ลักษณะดังกล่าวอาจเกิดขึ้นมาอย่างเรื้อรัง แต่เราตัดไม่ขาด หรืออีกแบบคือ อยู่ดีๆ ก็สนใจคนที่เรารู้ว่าอันตรายขึ้นมาอย่างรุนแรงโดยฉับพลัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่อยากคบค้ากับคนลักษณะดังกล่าวเลย
ตัวอย่างความสัมพันธ์กับเงามืดอย่างเรื้อรัง คนที่ยอมคนอื่นมาตลอดและเคยชินกับการทำตามความต้องการของคนอื่นมากกว่าตัวเองย่อมดึงดูดคนที่ชอบใช้อำนาจชี้นำให้วนเวียนอยู่ในชีวิต คนลักษณะนี้บางคนก็ถึงขนาดรู้สึกถูกปฏิเสธหรือรู้สึกผิดอย่างง่ายดายเมื่อคนอื่นไม่พอใจเขา แม้ในเรื่องที่เขาไม่ผิด (มักเกี่ยวข้องกับบาดแผลในอดีตแต่ขอละไว้กล่าวในวาระถัดไป) กระทั่งวันหนึ่งเขาแบกรับการทำตัวเป็นประชากรชั้นสองที่ให้ความต้องการของคนอื่นสำคัญกว่าของเขาเองเสมอไม่ไหวแล้ว จิตใจที่อลหม่านของเขาบ่งบอกว่าลักษณะอันมีอำนาจของพ่อมดรอธบาร์ตในตัวที่เขาไม่ยอมรับรู้หรือไม่กล้าใช้นั้น ต้องการขึ้นมามีบทบาทบ้างแล้ว
นี่ทำให้นึกถึงยักษ์นนทกผู้ล้างเท้าให้เหล่าเทวดาและถูกเทวดาเล่นผมจนหัวล้านซึ่งภายหลังเขาไปเกิดเป็นยักษ์ทรงพลานุภาพชื่อทศกัณฐ์ อันเป็นภาพที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภายในใจแบบที่กล่าวไป
อย่างไรก็ดี หลายกรณีคนลักษณะนี้ก็ต้องเตือนตัวเองว่าอย่าทำตัวเองให้เป็น ‘เหยื่อ’ เพราะบางคนที่มาสัมพันธ์กับเราก็ไม่ได้เจตนาจะชี้นำหรือใช้อำนาจกับเราถึงเพียงนั้น ทว่าหากเราเอาแต่แสดงถ้าทีคล้อยตามความต้องการของอีกฝ่าย อีกฝ่ายก็ย่อมไม่อาจรู้ใจและรอมชอมให้ถูกใจเราได้
ตัวอย่างความสัมพันธ์กับเงามืดอย่างฉับพลัน ใครคนหนึ่งพยายามทำตามกฎเกณฑ์มาตลอด เขามีมาตรฐานเรื่องความซื่อสัตย์ซื่อตรงสูง เขาหลีกเลี่ยงคบค้ากับคนเจ้าเล่ห์ซึ่งพลิกลิ้นอย่างง่ายดายเพื่อโกยประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เขาใช้ชีวิตราวกับถูกแช่แข็งในร่างหงส์ขาว ทว่าอยู่มาวันหนึ่ง เขากลับรู้สึกถึงแรงดึงดูดอย่างแรงกล้าให้สมาคมกับคนขี้โกงไร้สัจจะ แม้เขารู้แน่ว่านี่เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่นำไปสู่สันติสุขแล้วเขาก็พังพินาศจริงๆ และตระหนักในที่สุดว่า บางเวลา เขาก็ไม่ได้ซื่อตรงขนาดที่ตัวเองคิด และบางครั้งเขาก็เล่นเกมเพื่อเจรจาต่อรองเหมือนกัน
กระบวนการตระหนักรู้เงามืดในตนเองอาจเป็นเรื่องเจ็บปวดปางตาย แต่ก็ช่วยปลดบ่วงปิศาจให้เขาเป็นอิสระจากความสัมพันธ์อันเป็นพิษในที่สุด ในสังคมไทยบางส่วน เรามักจะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นความสัมพันธ์กับเจ้ากรรมนายเวร แต่ในทางจิตวิทยานั้น เรากำลังสัมพันธ์กับเงามืดของตนเอง
เมื่อเราเต็มใจที่จะรู้จักกับเงามืดของตน และยอมให้ตัวตนคับแคบที่ถูกขังอยู่ในลักษณะชุดหนึ่งชุดเดียวตายจากไป ตัวตนใหม่ก็ผุดขึ้นข้ามพ้นทวิลักษณ์ เรามีความทั่วถ้วนและอิสรภาพมากขึ้น และเสี่ยงน้อยลงที่จะตกอยู่ในอำนาจของคนอื่น อีกทั้งมีแนวโน้มน้อยลงที่จะมองว่าคนอื่นชั่วร้ายไปอย่างสุดโต่งกระทั่งเกิดความชอบธรรมให้เราทำร้ายเขา
ซิกฟรีดและโอเด็ตต์ช่วยปลดล็อคให้หงส์ทั้งหลายในทะเลสาบหลุดจากอำนาจคำสาปกลายเป็นคนใหม่เพราะพวกเขาได้รู้จักเงามืดของตน นี่แหละคือของขวัญวันเกิดจากมารดาของซิกฟรีด
เพียงเรารู้จักกับเงามืดของตนเอง ก็เป็นการทำประโยชน์อย่างหนึ่งให้กับโลกแล้ว