- เพราะชีวิตคือความไม่แน่นอน เราจึงต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับ ‘ความซวย’ ที่เกิดขึ้นได้เสมอ แนวคิด ‘สโตอิก’ (Stoicism) คอยเตือนเราให้ดีลกับประสบการณ์ร้ายๆ อย่างมีวุฒิภาวะและด้วยจิตใจที่สงบ
- แก่นของสโตอิก คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่ทั้งสุขหรือทุกข์ในตัวมันเอง แต่เป็นวิธีตอบสนองของเราที่มีต่อเหตุการณ์นั้นๆ ต่างหาก
- สโตอิกมี 3 องค์ประกอบด้วยกัน ที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิต นั่นคือ อาเรเต้ การทุ่มเทในแบบที่เราจะไม่เสียใจภายหลัง, สนใจสิ่งที่ควบคุมได้ และ รับผิดชอบชะตาตัวเอง
ถ้าทุกวันนี้เรามองไปรอบตัวทางไหนแล้วเจอแต่ความเร่งรีบ ความโกลาหล เจอแต่พายุข่าวสารวิกฤติต่างๆ ถาโถมใส่จนรู้สึกว่าการแค่จะมีความสุขเล็กๆ แว่บขึ้นในใจ…ทำไมบางทีมันช่างยากจังเลย?
ขอแนะนำให้โดดกอดแนวคิด ‘สโตอิก’ (Stoicism) ที่วันนี้อยากจะมาขอแชร์มุมมองกัน บางทีมันอาจเป็นหนทางยั่งยืนที่ช่วยเยียวยาจิตใจคุณจากบาดแผล ช่วยให้มีกำลังใจในการเผชิญหน้าปัญหา ช่วยให้คุณพ้นทุกข์อย่างน้อยแม้ชั่วคราวก็ยังดี…
งอกใหม่ให้เบ่งบานกว่าเดิม
สโตอิก (Stoicism) คือปรัชญาที่มีรากเหง้ามาจากยุคกรีกโบราณ คอยเตือนเราให้ดีลกับประสบการณ์ร้ายๆ ที่บังเอิญเกิดขึ้นในชีวิตอย่างมีวุฒิภาวะและด้วยจิตใจที่สงบ
สโตอิกสอนเราว่า บางทีภัยพิบัติร้ายๆ เรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้น หรือแค่ความซวยต่างๆ ที่เราประสบพบเจอ ถ้ามันไม่ได้ถึงกับคร่าชีวิตเราไป และถ้าเราพอจะฝืนทนผ่านมันไปได้…อาจเป็นประตูสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิม
เพราะแก่นของสโตอิก คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่ทั้งสุขหรือทุกข์ในตัวมันเอง แต่เป็น วิธีตอบสนอง (Reaction) ของตัวเราเองที่มีต่อเหตุการณ์นั้นๆ ต่างหาก
สโตอิกเริ่มกลับมาได้รับความนิยมในปัจจุบันมากขึ้น สื่อหลากหลายแขนงนำไปพูดถึงกันอย่างออกรส ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? อาจเพราะชีวิตคนเราเดี๋ยวนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่ ‘ควบคุมไม่ได้’
- เราควบคุมไม่ให้เกิดโควิด-19 ไม่ได้
- เราควบคุมไม่ให้คนอื่นคิดร้านนินทาเราไม่ได้
- เราควบคุมไม่ให้สมาชิกครอบครัวเสียชีวิตกะทันหันไม่ได้
สิ่งร้ายๆ บางทีก็ยากที่จะหลีกเลี่ยง มันพุ่งเข้าชนเราโดยไม่รู้ตัว มันเล่นลอบกัดลับหลังเราในยามที่เผลอแต่ถ้าเรายังมีชีวิตรอด ทั้งหมดนี้จะทำให้เราเติบโตขึ้นจากภายใน เมื่อภายในแข็งแกร่งแล้ว ภายนอกจะแกร่งตาม
เราจะเห็นคำว่า ‘รอดชีวิต’ โผล่ขึ้นมาอยู่หลายครั้ง เพราะเรื่องราวของผู้ให้กำเนิดปรัชญานี้ ก็เคยรอดชีวิตจากเหตุการณ์ร้ายมาแล้ว
ปรัชญาจากยุคกรีกโบราณ
ราว 300 ปีก่อนคริสตกาล พ่อค้าผู้มั่งคั่งรายหนึ่ง สมญานามว่า ซีโนแห่งซิทิอุม (Zeno of Citium) ได้ออกเดินเรือสู่มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล ปลายทางคือ ท่าเรือพีเรอัส (Piraeus) แห่งกรุงเอเธนส์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตอนใต้ของประเทศกรีซ
ทว่า…เขาไม่มีโอกาสไปถึง ด้วยภัยพิบัติธรรมชาติที่ไม่คาดคิด ทำให้เรือเกิดอับปางลงกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แม้เขาจะรอดชีวิตมาได้ แต่สินค้าทั้งหมดที่บรรทุกลงเรือจมลงใต้มหาสมุทร ซึ่งนั่นหมายถึงทรัพย์สินความมั่งคั่งแทบทั้งหมดที่เขามีก็ว่าได้
ถ้าเราวัดค่าของคนจากเงินทองที่มี ซีโนได้เปลี่ยนสถานะกลายเป็นคนละคนในชั่วข้ามคืน จากสำเร็จเป็นล้มเหลว จากร่ำรวยเป็นยาจก จากมีหวังสู่สิ้นหวัง แต่นั่นอาจไม่ใช่กับ… ‘จากสุขเป็นทุกข์’ เพราะเหตุการณ์หลังจากนั้น นำมาสู่การกำเนิดปรัชญาสโตอิกดังที่เราจะได้รู้กัน
ในสถานะชายสิ้นเนื้อประดาตัว ชีวิตได้นำพาซีโนไปพบกับชายที่ชื่อ กราติส (Crates) ซึ่งยึดถือแนวคิดการใช้ชีวิตแบบไม่ยึดติดอารมณ์ ไม่พึ่งพาสิ่งใด เน้นการควบคุมความคิดทัศนคติของตัวเอง สวนกระแสความคิดคนส่วนใหญ่ในสังคมยุคนั้น แต่ไม่ใช่กับซีโนที่ชุดความคิดนี้กลายเป็นที่พึ่งทางใจและเปลี่ยนเขาให้เป็นคนที่มีความสุขสุดๆ แม้จะมีความมั่งคั่งน้อยสุดๆ
ในเวลาต่อมา เขาได้ออกเผยแพร่แนวคิดนี้ด้วยตัวเอง บนพื้นที่สาธารณะแห่งหนึ่ง เผอิญว่าสถานที่แห่งนี้ชื่อว่า ‘สโต’ จึงทำให้บรรดาผู้คนที่มารับฟังอย่างศรัทธาถูกขนานนามว่า ‘สโตอิก’ (Stoic) ไปโดยปริยาย แนวคิดสโตอิกจึงเริ่มผลิบานอย่างเป็นทางการนับแต่นั้นมา
3 จิ๊กซอว์หลอมรวมเป็นสโตอิก
สำหรับใครที่ชื่นชอบเฟรมเวิร์ก ชอบจำแบบมีหลักการเพื่อนำไปใช้ได้จริงและสื่อสารบอกคนอื่นต่อได้อย่างง่าย สโตอิกจะมีอยู่ 3 องค์ประกอบหลักด้วยกันที่จะประกอบขึ้นมาเป็นแนวคิดสโตอิกที่สมบูรณ์แบบ
1. อาเรเต้
คือการทุ่มเทเกินร้อยเวลาทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งในแบบที่เราจะไม่เสียใจในภายหลังเมื่อมองย้อนกลับไป แม้ว่าผลสุดท้ายมันจะออกมาไม่สำเร็จก็ตามที
สิ่งที่ใช้พึงระลึกถึงอาเรเต้ได้ง่ายๆ คือระหว่าง ‘สิ่งที่คุณสามารถทำได้ vs. สิ่งที่คุณลงมือทำจริงๆ’ สองอย่างนี้ดูคล้ายกันแต่มีความแตกต่างกันอยู่
เพราะคนเก่งบางคนความสามารถเป็นเลิศ ศักยภาพของเขาไปแตะถึง 100 ได้ไม่ยาก แต่เวลาลงมือปฏิบัติจริงกลับใส่ไม่สุด ทุ่มเทไปแค่ 50 ทำแบบครึ่งๆ กลางๆ พอผลลัพธ์ออกมาไม่ดีจึงมีแนวโน้มจะเสียใจผิดหวังเมื่อมองย้อนกลับไปว่า “ไม่น่าเลย…เราน่าจะตั้งใจทำให้เต็มที่กว่านี้”
2. สนใจสิ่งที่ควบคุมได้
ดังที่กล่าวไป เพราะหลายสิ่งในชีวิตเราควบคุมไม่ได้เลย สโตอิกบอกเราว่าจะดีกว่าไหมถ้าเราโฟกัสสิ่งเล็กๆ ในกำมือที่เราพอจะควบคุมมันได้บ้าง
- เราควบคุมให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้…แต่พอจะควบคุมวินัยทางการเงินของตัวเองได้
- เราควบคุมให้คนอื่นมาชอบเราไม่ได้เวลาไปจีบเค้า…แต่พอจะควบคุมดูแลตัวเองให้ดูดีได้ทั้งรูปร่าง การแต่งกาย บุคลิกภาพ มารยาท
- เราควบคุมให้ลูกค้าเซ็นสัญญาซื้อขายกลับมาไม่ได้…แต่พอจะควบคุมการออกแบบเงื่อนไขสัญญาที่ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์ร่วมกันได้
นัยหนึ่ง เรื่องนี้ยังเป็นการยอมแพ้ (Surrender) ต่อสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ความมหัศจรรย์คือ เมื่อเรายอมรับความพ่ายแพ้ ตระหนักรับรู้ และปล่อยวางมันไปให้เพียงเกิดขึ้น บางทีเรากลับรู้สึกมีความสุขขึ้นเองอย่างน่าอัศจรรย์…
3. รับผิดชอบชะตาตัวเอง
เป็นการไม่สยบยอมต่อฟ้าลิขิต แต่ให้รับผิดชอบในเส้นทางโชคชะตาชีวิตของเราเองโดยไม่ไปโทษผู้อื่น จะไม่ไปย้อนเท้าความวนเวียนในหัวว่าทำไมเราไม่ทำอย่างโน้น-ทำไมเราไม่ทำอย่างนี้ อาจมีบ้างได้เพียงช่วงสั้นๆ แต่แล้วก็จะกลับมารับมือกับปัจจุบันตรงหน้า ทั้งนี้ทั้งนั้น สโตอิกไม่ได้เพิกเฉยต่อองค์ประกอบปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลกับเรา แต่แค่พึงระลึกว่าสิ่งสำคัญสุดคือการกระทำของตัวเราเอง
เราอาจเติบโตมาในครอบครัวที่พูดจาแย่ๆ ด่าร้ายใส่ แต่เราจะไม่ส่งต่อพูดจาแย่ๆ กับเจเนอเรชั่นรุ่นลูกตัวเองต่อ หรือเราอาจถูกคดโกงถูกปฏิบัติอย่างไร้ความยุติธรรม แต่เราจะไม่ไปทำเรื่องแย่ๆ แบบนี้กับผู้อื่น
สโตอิกอีกนิดชีวิตก็แฮปปี้
แนวคิดสโตอิกมีความร่วมสมัยในตัวอยู่ และดูเหมือนจะเหมาะเจาะกับโลกอันแสนเร่งรีบวุ่นวายแบบทุกวันนี้
ท่ามกลางวิกฤติ สโตอิกกระตุ้นให้เฝ้ามองหาโอกาสของสิ่งที่ดีกว่าเดิม คอยเตือนให้เราทำวันนี้ให้ดีที่สุดแบบที่จะไม่เสียใจเมื่อมองย้อนกลับมา ให้เราเฉิดฉายสง่างามโดยเป็นตัวของตัวเอง อดทนต่อเรื่องที่กวนใจ เผชิญหน้ากับปัญหาตรงหน้าที่พบเจอ
สโตอิกยังเตือนไม่ให้เราตกเป็นทาสของ ‘มาตรฐานทางสังคม’ จนเกินไป ที่เราต้องเป็น-ต้องมี-ต้องใช้ ของบางสิ่งบางอย่างจึงจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
และมีจริตของการปล่อยวางให้เรื่องนั้นๆ เกิดขึ้น โดยมีความหวังกับอนาคต
- อะไรที่เกิดขึ้นแล้ว…ย่อมดีเสมอ
- สิ่งไหนที่ไม่ได้ทำให้เราตาย…จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น
เพราะชีวิตคือความไม่แน่นอน ความแน่นอนที่สุดคือความไม่แน่นอน เตรียมตัวรับมือกับ…อะไรก็ตามที่พร้อมถาโถมใส่ชีวิตเรา เตรียมตัวเตรียมใจรับมือความ ‘ซวย’ ที่เกิดขึ้นได้เสมอทุกวันทุกเวลา
ไม่มีต้นไม้ใหญ่ไหนที่จะหยั่งรากลึกลงดินได้โดยไม่เคยโดนลมพายุพัดแรงใส่ แต่ฟ้าหลังฝนย่อมดีเสมอ วิกฤติผ่านพ้นไปแล้วก็ถึงเวลาโอกาสโบยบิน
จากนี้ เราอาจมีปฏิกิริยาต่างออกไปจากเหตุการณ์เดิมๆ ที่เคยก่อกวนใจเรา เพราะไม่ว่าโลกจะโยนอะไรใส่ เราก็พร้อมมีมุมมองทัศนคติและจิตใจที่ยังทำให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอยู่ได้นั่นเอง…
อ้างอิง
https://plato.stanford.edu/entries/stoicism/
https://www.thecollector.com/what-are-the-origins-of-stoicism-history/
https://philosophynow.org/issues/157/Stoicism_in_History_and_Modern_Life