- ความวิตกกังวลกับความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่การจมอยู่กับความผิดพลาดจนสูญเสียตัวตนไประหว่างทางนั้นไม่ใช่เรื่องที่ปกติ
- ความวิตกกังวลที่มากเกินไปอาจทำให้คุณไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข การออกไปนำเสนองานหน้าชั้นเรียนหรือห้องประชุมก็อาจเป็นเรื่องที่ยากจนทนไม่ได้ เพราะคุณกลัวว่าจะทำพลาดและคนอื่นๆ อาจหัวเราะเยาะหรือล้อเลียนคุณตลอดไปตราบที่ยังพบกัน
- แต่แน่ใจแล้วหรือว่าคนอื่นๆ กำลังจ้องจับผิดคุณ สปอตไลต์ที่ฉายส่องลงมาเป็นของพวกเขาหรือของตัวคุณเองกันแน่
เราทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์น่าอับอายเกิดขึ้นในชีวิต เช่น การใส่ชุดผิดไปโรงเรียน เข้าร่วมประชุมสาย หกล้มในที่ที่คนพลุกพล่าน หรือกระทั่งลืมรูดซิปกางเกง เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ แต่หากความทรงจำดังกล่าวทำให้คุณรู้สึกวิตกกังวลอย่างมากทุกครั้งที่นึกถึง จนคุณรู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเองเมื่อต้องเข้าสังคมและอยากจะลบความทรงจำเหล่านั้นทิ้งไปให้หมด หรือทำให้คุณพยายามหลีกเลี่ยงพยานที่เคยร่วมพบเห็นความผิดพลาดของคุณ นี่อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงอาการ Spotlight effect
Spotlight effect คือ อาการของกลุ่มคนที่มีความวิตกกังวลว่าจะโดนคนในสังคมตัดสินความผิดพลาดแม้จะเป็นแค่อุบัติเหตุหรือเรื่องเล็กน้อย เพราะมีความเชื่อว่าทุกคนกำลังจับตาและจ้องจับผิดอยู่ทุกฝีก้าวราวกับมีสปอตไลต์ส่องมาที่ตนเอง ซึ่งความคิดนี้ถือเป็นความคิดที่มีอคติ โดยที่ไม่มีใครรู้ตัวว่าการคิดแทนผู้อื่นนั้นถือเป็นการปรุงแต่ง อย่างไรก็ตาม ก็มีบางคนที่พอจะรู้ตัวแต่ก็ยังไม่สามารถห้ามความคิดของตัวเองได้ คนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่มองเห็นตัวเองเป็นศูนย์กลาง
แน่นอนว่ามนุษย์เราไม่สามารถอ่านจิตใจของกันและกันได้ แต่ทำไมเราถึงรู้ว่าอาการ Spotlight effect มีอยู่จริง เราคงต้องย้อนไปช่วงราวๆ ปี ค.ศ. 2000 ณ มหาวิทยาลัย Cornell ที่ซึ่ง ศาสตราจารย์ Thomas Gilovich ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับสมมติฐานเรื่องความเชื่อเกินจริงของมนุษย์เกี่ยวกับมุมมองที่ผู้อื่นมีต่อพฤติกรรมของตนเอง การทดลองนี้มีชื่อว่า T-shirt experiment
การทดลองเสื้อยืด (T-Shirt Experiment)
ศาสตราจารย์ Thomas ได้สุ่มเลือกกลุ่มนักศึกษาตัวอย่างจากในมหาวิทยาลัย และได้ให้พวกเขาสวมเสื้อยืดที่สกรีนภาพบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น Martin Luther King Jr. หรือ Bob Marley ก่อนจะทำให้พวกเขาเข้าห้องเรียนช้าไปสัก 5 นาที และเมื่อนักศึกษาคนดังกล่าวเดินเข้าไปในห้องเรียน พวกเขาจะพบกับสายตานับสิบคู่ที่จ้องมองมา เพราะศาสตราจารย์ตั้งใจให้นักศึกษาในห้องเรียนนั่งหันหน้าเข้าหาประตูนั่นเอง
เมื่อการทดลองนี้สิ้นสุดลง ศาสตราจารย์ได้สอบถามกลุ่มนักศึกษาตัวอย่างและพบว่าหลายคนคิดว่าประสบการณ์นี้เป็นเรื่องที่น่าอับอายมากจนทำให้พวกเขารู้สึกไม่ดีทุกครั้งเมื่อนึกถึงหรือนึกขึ้นได้ พวกเขาคิดว่ามีนักศึกษาในห้องนั้นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งที่จะจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ทว่า เมื่อศาสตราจารย์ได้สอบถามคนที่นั่งอยู่ในห้องในวันนั้นเกี่ยวกับนักศึกษาที่สวมเสื้อแปลกๆ และมาสาย เขากลับพบว่ามีเพียง 10% ของเด็กทั้งหมดเท่านั้นที่จำได้ นั่นหมายความว่าความเข้าใจของกลุ่มนักเรียนตัวอย่างนั้นเกินจริงไปเอง
ดังนั้น คุณสามารถปล่อยใจสบายๆ เมื่อเข้าสังคมได้แม้ว่าคุณอาจเคยทำผิดพลาด เพราะเป็นที่แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่อาจจำไม่ได้ว่าเกิดเรื่องราวน่าอายอะไรขึ้น พวกเขาอาจไม่ได้สังเกตหรือสนใจคุณตั้งแต่แรกอยู่แล้ว อาจฟังดูใจร้ายไปสักหน่อย แต่นี่ก็คือธรรมชาติของมนุษย์อีกเช่นกัน
การรับมือกับ Spotlight Effect
เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกว่าตัวเราเป็นศูนย์กลางของโลก แต่การใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการกังวลว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรเกี่ยวกับการกระทำของเรานั้นสามารถก่อให้เกิดผลเสียต่อความมั่นใจและนำไปสู่โรคกลัวสังคม (Social anxiety) ได้ในที่สุด หากงานวิจัยในข้างต้นยังไม่มากพอที่จะช่วยบรรเทาอาการ Spotlight effect วิธีการต่อไปนี้อาจช่วยให้คุณมีความมั่นใจและก้าวผ่านความคิดแย่ๆ เหล่านั้นได้
- ย้ำเตือนตัวเองเกี่ยวกับ Spotlight effect
วิธีการที่ง่ายที่สุด คือ การรับรู้ถึงการมีอยู่ของมัน เมื่อคุณรู้ว่าคนอื่นไม่ได้สนใจคุณมากเท่าที่คุณคิด แสงสปอตไลต์ที่ส่องลงมาจะไม่สว่างจ้าพอที่จะทำให้คุณเสียความมั่นใจ ดังนั้น หากเกิดเรื่องน่าอายขึ้น คอยย้ำกับตัวเองไว้ว่าไม่ได้มีคนใส่ใจคุณขนาดนั้น และหากมีคนสนใจจำได้ เขาก็จำได้ไม่นานแล้วก็จะลืมไปเอง
- ใช้อารมณ์ขันเข้าสู้
บางครั้งเมื่อทำผิดพลาด การใช้อารมณ์ขันที่เป็นทางแก้ปัญหาที่ฉลาดไม่เบา เพราะนอกจากจะทำให้บรรยากาศไม่ตึงเครียดแล้วยังทำให้ผู้คนจดจำความอารมณ์ดีและพลังบวกจากคุณได้มากกว่าเหตุการณ์ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ การทำสมาธิหรือตั้งสติเพื่อให้เราจดจ่ออยู่กับตัวเองก็ยังเป็นอีกวิธีที่ทำให้เราสามารถเอาชนะ Spotlight effect ได้ หากคุณยังไม่มั่นใจว่าวิธีการในข้างต้นจะสามารถช่วยได้จริง ให้ลองถามตัวเองดูว่าคุณจำเรื่องราวความผิดพลาดน่าอายที่คนอื่นทำได้มากน้อยแค่ไหน จำไว้ว่านั่นแหละคือคำตอบ
ในโลกที่กว้างใหญ่ เราเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตตัวเล็กจิ๋ว แม้ว่าในมุมมองของเรานั้นนักแสดงหลักจะเป็นตัวเราเองก็ตาม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนส่วนใหญ่จะให้ความสนใจกับคุณมากขนาดนั้น เพราะในมุมมองของเขาก็มีตัวเขาเองที่เป็นนักแสดงหลัก ดังนั้น ปิดสปอตไลต์ที่ส่องลงมาแล้วหันไปสนใจอย่างอื่นนอกจากตัวเองดูบ้าง แล้วคุณจะค้นพบว่าความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอาย และที่สำคัญคือไม่มีใครคอยจ้องจับผิดนอกจากคุณที่คิดไปเอง
อ้างอิง
Spotlight Effect: Definition, Examples, and Experiments