- บางครั้งสิ่งที่สำคัญกว่าคำพูด ก็คือการกระทำต่อกันผ่านการสัมผัสกาย เช่น การกอดปลอบใจ หรือตบไหล่เบาๆ นี่คือความรู้สึกอบอุ่นของสิ่งที่เรียกว่า ‘Skinship’ เกิดขึ้นกับทุกรูปแบบความสัมพันธ์
- พลังของ Skinship ไม่ใช่แค่ความรู้สึกทางใจ ผลวิจัยเผยว่า การแตะต้องสัมผัส มีส่วนช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดระดับความดันในเลือด คลายความเหงา ช่วยกระชับความสัมพันธ์ ความไว้วางใจต่อกัน
- ข้อควรระวังของ Skinship สำหรับคู่รัก ที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดี ต้องมี ‘เงื่อนไข’ หรือข้อตกลงร่วมกัน เคารพให้เกียรติกัน และยอมรับความแตกต่างหลากหลายของทัศนคติ
บางครั้งเวลาที่เราเล่าปัญหาทุกข์ใจให้เพื่อนฟัง โมเมนต์นั้นอารมณ์เศร้าเสียใจสุดขีด แล้วเพื่อนแค่เอื้อมตัวมากอดคอปลอบใจเบาๆ…ก็ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นฉับพลันและมีเรี่ยวแรงกะจิตกะใจไปต่อ
บางครั้งเรานั่งทำงานในออฟฟิศแล้วหัวหน้าเดินมาตบไหล่เบาๆ ชื่นชมผลงานที่เราเพิ่งทำสำเร็จไป…ก็ทำให้วันนั้นเป็นวันที่เรารู้สึกดี
แม้เรื่องราวต่างกัน ความสัมพันธ์ต่างบริบทกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ เกิดการ ‘สัมผัสแตะเนื้อต้องตัว’ และนี่คือความรู้สึกอบอุ่นของสิ่งที่เรียกว่า ‘Skinship’
Skinship สัมผัสที่เติมเต็มความสัมพันธ์
ดังที่เราทราบกันว่า บางครั้งสิ่งที่สำคัญกว่าคำพูด ก็คือการกระทำต่อกันผ่านการสัมผัสกาย ตัวอย่างเช่น คู่รักหนุ่มสาว แค่การได้เดินจับมือกันอย่างอบอุ่น ก็สร้างความสุขล้นได้แล้วแม้ปราศจากคำพูดใดๆ ต่อกันเลยก็ตาม นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น่ารักของ Skinship
Skinship มีอิทธิพลต่อทุกจังหวะของความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะในช่วงเริ่มต้น ช่วงเปลี่ยนผ่าน ช่วงรักษา หรือแม้แต่ช่วงเลิกรา และเกิดขึ้นกับทุกรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดแค่คู่รักหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ใช้ได้ทั้งกับคนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือเพื่อนร่วมงาน เพียงแต่รูปแบบของการสัมผัสแตะต้องเนื้อตัวอาจต่างกันไปตามระดับความสนิทสนมและการยินยอมพร้อมใจ (consent) ของอีกฝ่าย
ทั้งนี้ ผลวิจัย ระบุว่าคู่รักที่มี Skinship แตะต้องสัมผัสกันและกันทางร่างกายอย่างสม่ำเสมอมีแนวโน้มที่จะมีความสุขมากกว่า ไว้วางใจกันมากกว่า พึงพอใจกับระดับความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่มากกว่า Skinship สร้างความรู้สึกสนิทสนมใกล้ชิด รู้สึกผ่อนคลายอารมณ์ และช่วยเชื่อมโยงกันทางกายและใจ
ที่มาที่ไปของ Skinship
ศัพท์คำนี้ ‘Skinship’ บางคนอาจเข้าใจว่าเป็นคำที่มีอยู่เดิมในภาษาอังกฤษอยู่แล้วและต้องมาจากฝรั่งแน่เลย แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะมีที่มาจากคนญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 แล้วต่างหาก
ยุคนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็วและเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเอิกเกริก Skinship เป็นคำที่สร้างขึ้นมาใหม่ในสไตล์คนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา โดยรวม 2 คำเข้าด้วยกัน ได้แก่
- skin (ผิวหนัง)
- kinship (ความสัมพันธ์ทางครอบครัว)
เกิดเป็นความหมายใหม่นัยว่า การมีความสัมพันธ์ที่ดีผ่านการแตะต้องสัมผัสเนื้อตัวกันนั่นเอง คนญี่ปุ่นจะออกเสียงว่า สุกินชิปปุ (スキンシップ)
พลังของ Skinship
ไม่ใช่แค่ความรู้สึกทางใจ ผลวิจัยเผยว่า การแตะต้องสัมผัสในลักษณะนี้ มีส่วนช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดระดับความดันในเลือด คลายความเหงาโดดเดี่ยว และเพิ่มระดับการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์และความไว้วางใจต่อกัน
Skinship จึงเป็นปฏิสัมพันธ์ที่สอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ เพราะเราเป็นสัตว์สังคมที่ต้องการได้รับสิ่งเร้าผ่านทางการสัมผัสทางกายภาพ (Physical touch) ไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในธรรมชาติอื่นๆ เลย
มีการทดลองหนึ่งที่สะท้อนพลังของ Skinship ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ในทศวรรษ 1950 แฮร์รี่ ฮาร์โลว์ (Harry Harlow) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้ทำการทดลองหนึ่งขึ้นมาซึ่งได้กลายมาเป็นพื้นฐานด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์หลายเรื่อง
เขาทำการสร้าง ‘หุ่นจำลองแม่ลิง’ ขึ้นมา 2 ตัว
- ตัวที่ 1 – มีผ้าขนหนูนุ่มๆ ปกคลุมเต็มตัว…แต่ไม่มีขวดนม
- ตัวที่ 2 – ไม่มีขนหนูนุ่มๆ…แต่มีขวดนมโภชนาการครบถ้วน
และปล่อยลูกลิงอายุยังน้อยออกมาเจอแม่ลิงจำลอง 2 ตัวนี้ เพื่อศึกษาพฤติกรรมว่าจะเลือกแม่ลิงจำลองตัวไหน ผลปรากฎว่า ลูกลิงเข้าหาแม่ลิงตัวที่ 2 (มีขวดนม) เป็นครั้งคราวเฉพาะเวลาหิวเท่านั้น แต่เวลาเผชิญกับความเครียด ตกใจกลัว หรือเสียงดัง กลับวิ่งซบเข้าหาแม่ลิงตัวที่ 1 (มีผ้าขนหนูนุ่มๆ) สื่อว่าลิงไม่ได้สนใจแค่ด้านฟังก์ชั่นการมีชีวิตรอดเท่านั้น แต่ดูจะใส่ใจด้านอารมณ์จิตใจ ความอบอุ่น ความไว้วางใจมากกว่าด้วยซ้ำ
แฮร์รี่ยังทดลองจับแยกลิงให้ไปอยู่กับแม่ลิงจำลองตัวที่ 2 และพบว่าเมื่อมันเติบโตขึ้น กลับมีอาการขี้กลัว หวาดระแวง และมีปัญหาการเข้าสังคมกับลิงตัวอื่น
ในเวลาต่อมาการทดลองนี้นำมาสู่ ทฤษฎีการยึดติดผูกพัน (Attachment Theory) ด้วยที่สรุปว่า การเลี้ยงดูในวัยเด็ก ทั้งความใกล้ชิด ความผูกพัน การถูกเอาใจใส่ ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและจิตใจที่ทำให้เราเป็นผู้ใหญ่แบบทุกวันนี้
Skinship ผิด Relationship พังได้
อย่างไรก็ตาม skinship ก็เป็นเรื่องที่มีความเซนซิทีฟสูงมาก มีข้อควรระวังที่ต้องท่องไว้ในใจ พึงพิจารณาให้ดี มิอย่างนั้นหากทำผิดพลาดไปแม้เพียงครั้งเดียว ก็อาจสร้างความอึดอัดคับข้องใจ หรือกระทบความสัมพันธ์ให้สั่นคลอนได้เลย
‘วัฒนธรรม’ เป็นอีกตัวแปรที่สำคัญมากและอยู่เหนือเหตุผลของปัจเจกชน ขึ้นชื่อว่าวัฒนธรรมย่อมหมายถึงสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมกระทำกันมาช้านานและให้การยอมรับโดยหมู่มาก
ตัวอย่างแรก ดูได้จากวันสงกรานต์ที่เรามีการประแป้งที่หน้ากัน จากคนที่เขินอาย ก็สามารถอนุญาตให้คนอื่นประแป้งได้กรณีร่วมเล่นงานสงกรานต์แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถและไม่ควรไปประแป้งบริเวณส่วนอื่นของร่างกายเขา เพราะจะถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศทันที
อีกขั้วตรงข้ามของสเปกตรัม ขอยกตัวอย่างญี่ปุ่น skinship ทุกรูปแบบแทบจะเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับ ‘เกอิชา’ ซึ่งบางคนอาจจะทราบกันอยู่แล้วว่า ถือเป็นมารยาทขั้นพื้นฐานที่บุคคลทั่วไปห้ามแตะเนื้อต้องตัว หยุดเพื่อขอถ่ายรูปคู่ หรือแม้แต่เรียกทักทายขณะเกอิชากำลังปฏิบัติหน้าที่เดินทางสัญจรในพื้นที่สาธารณะภายในเมือง
แต่ล่าสุดที่เมืองเกียวโต ในบางพื้นที่เชิงประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของเมืองที่มีเหล่าเกอิชาใช้เส้นทางผ่านทางเป็นประจำ ได้กำลังมีการพิจารณา ‘จำกัดพื้นที่การเข้าถึง’ ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้า เนื่องจากเกิดปัญหานักท่องเที่ยวไป ‘สัมผัสตัว’ เกอิชา แม้จะด้วยความเผอเรอไม่ตั้งใจหรือตั้งใจเพราะความอยากรู้อยากเห็นก็ตาม
เรื่องนี้ถือเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่โดยตรง ล้ำเส้นไม่ให้เกียรติอาชีพเก่าแก่ที่คนญี่ปุ่นเคารพ และถึงขั้นมองว่าเป็นการคุกคามทางเพศ (Sexual harrassment) ได้เลยทีเดียว!
นี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหายืดเยื้อมานานแล้ว โดยเฉพาะหลังจากญี่ปุ่นเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้มีการพยายามให้คำอธิบาย ให้ความรู้ด้านวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีแล้ว แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น จนทางการของเมืองอาจงัดมาตรการห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวขาติเข้าซะเลย
ข้อควรระวังของ Skinship
นอกจากนี้ เมื่อโฟกัสลงมาที่ระดับปัจเจกชน ความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นคู่ skinship ที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดี (Healthy relationship) ดูจะเป็นเรื่องที่ต้องมี ‘เงื่อนไข’ หรือข้อตกลงร่วมกัน เช่น คู่รักบางคนที่เพิ่งออกเดตทำความรู้จักกัน ฝ่ายหญิงอาจจะรู้สึกโอเคกับการแตะเนื้อต้องตัว เมื่อรู้จักรู้ใจกันดีพอจนนำไปสู่ ความไว้วางใจ (Trust) ที่มีให้อีกฝ่าย ซึ่งระยะเวลาก็แตกต่างกันไปแต่ละคนแต่ละคู่ ตอบไม่ได้ว่าเมื่อไรถึงจะเกิด Trust นั้นขึ้น
เนื่องจากกระแสการยอมรับ skinship ที่เปิดกว้างมากขึ้นกว่ายุคสมัยก่อน อีกเรื่องที่ต้องระวังคือ กลุ่มคนที่ฉวยโอกาสแตะเนื้อต้องตัวคนอื่นด้วยจุดประสงค์อื่นแอบแฝง จะเรียกว่าการ ‘แต๊ะอั๊ง’ แบบเนียนๆ ก็ไม่ผิดนัก
สำหรับคนกลุ่มนี้เราต้องไม่ไปให้ความชอบธรรมกับพฤติกรรมที่มีจุดประสงค์แอบแฝง ฉวยโอกาส เอาเปรียบเนื้อตัวผู้อื่น ซึ่งอาจมาได้หลายรูปแบบ เช่น การโอบเอวขณะถ่ายรูป การกอดเพื่อทักทาย
อีกประเด็นที่บางคนอาจเผลอมองข้ามไปคือ skinship กับเพศสภาพเดียวกัน โดยมองว่าการ skinship กับเพศเดียวกันก็ไม่น่าเป็นอะไรหรอก ซึ่งความจริงแล้ว แม้อาจดูมีความเซนซิทีฟน้อยกว่าคนต่างเพศ…แต่ก็ไม่เสมอไปอยู่ดี
เพราะแต่ละคนเติบโตมาด้วยชุดความคิดที่ต่างกันและมีประสบการณ์ชีวิตที่อาจจะทำให้เขาไม่ได้รู้สึกสะดวกใจนักที่จะ skinship ต่อกัน อย่างเช่น เด็กหนุ่มที่โตมาในโรงเรียนชายล้วนในเมืองไทยแต่ไปเรียนต่อไฮสคูลเมืองนอกและซึมซับการ ‘กอดแบบแมนๆ’ สไตล์ฝรั่ง ที่กอดแบบชนอกชนไหล่และมีการลูบหลังตบหัวเบาๆ ในหมู่เพื่อนชายด้วยกัน เมื่อโตขึ้นกลับมาไทยและทำแบบนี้กับเพื่อนชายตั้งแต่สมัยวัยเด็ก เพื่อนคนนั้นก็อาจรู้สึกแปลกๆ
นอกจากนี้ บางคนยังมีเพศวิถีซ่อนเร้นที่ไม่ได้เปิดเผยต่อผู้อื่นแม้จะสนิทสนมกันก็ตาม จุดไหนโดนได้ จุดไหนโดนไม่ได้ และถ้าโดนตัวได้ โดนได้มากน้อยแค่ไหน? ล้วนเป็นเรื่องเซนซิทีฟที่ไม่ได้จะพูดเปิดเผยกันง่ายๆ
ถ้าอยากเพิ่มความแน่นแฟ้นในความสัมพันธ์ด้วย Skinship ก็ต้องพิจารณาประเด็นอ่อนไหวเหล่านี้ด้วยเสมอ อาจเริ่มจากดูว่าแบ็กกราวด์อีกฝ่ายว่าเติบโตมายังไง นิสัยเป็นยังไง และค่อยๆ เริ่ม Skinship ทีละน้อย
Skinship ที่ดี…เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความจริงใจ
เฉกเช่นจิตใจคนเรา Skinship ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน บางครั้งคนทำไม่ได้มีเจตนาร้าย แต่กลับทำผิดวิธี-ผิดจังหวะ ก็เผลอทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่สบายใจได้ การเปิดกว้างทางความคิด ลดอีโก้มุมมองตัวเองลง เคารพให้เกียรติกัน และยอมรับความแตกต่างหลากหลายของทัศนคติ ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้าง Healthy relationship ได้
อ้างอิง
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC10073073/
https://plushcare.com/blog/advantages-of-human-touch-hugs/
https://time.com/5379586/people-hate-hugged-science/
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0273229711000025