- ภัทรารัตน์ เขียนถึงตำนานแห่งนางไซเรน (Siren) สัตว์ประหลาดที่กลายเป็นเรื่องเล่าขานในหมู่นักเดินทางข้ามทะเล เสียงร้องเย้ายวนของไซเรน ทำให้ผู้ที่ได้ยินต้องเดินเรือชนหินโสโครกบริเวณเกาะที่พวกนางอาศัยอยู่ หรือไม่ก็ว่ายน้ำไปเป็นอาหารของพวกนาง ทำให้นักเดินทางและกะลาสีเรือไม่อาจรอดชีวิตไปถึงอาณาจักรอีกฟากฝั่งดังหวัง
- นางไซเรนเปรียบได้กับกระแสเสียงภายใน ซึ่งมักเป็นผลผลิตจากอดีตที่ทำให้เสียใจ เสียงนั้นคอยต่อว่า ข่มขู่ และต้อนเราให้กลับเข้าไปในอาณาเขตและวิธีคิดแบบเดิมๆ
- ต่อเมื่อเรารู้วิธีจัดการกับเสียงวิจารณ์ภายในแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถผ่านขอบแดนที่มันเฝ้าอยู่ไปได้ เช่น เราสามารถขอบคุณเสียงวิจารณ์ภายในที่จริงๆ แล้วเจตนาปกป้องไม่ให้เราเสียใจซ้ำ โดยเน้นย้ำให้มันรู้ว่าเราไม่ได้กลัวเสียใจอีกต่อไปแล้ว เพราะเราใจดีกับตัวเองแล้ว
“ร่วงหล่นลึกลง ลึกลงไป ไซเรนกำลังร้องเพลงของคุณอยู่” – นิรนาม
ตำนานแห่งนางไซเรน (Siren) เป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อมาในหมู่นักเดินทางข้ามทะเลหฤโหด แม้ลักษณะของไซเรนจะถูกพรรณนาอย่างหลายหลากแต่โดยรวมคือ “ไซเรน” เป็นสิ่งมีชีวิตครึ่งคนครึ่งนก หรือครึ่งคนครึ่งปลาที่อันตรายถึงตาย ว่ากันว่าเมื่อเรือของใครก็ตามแล่นเข้าไปในน่านน้ำอันเป็นถิ่นของพวกนาง พวกนางจะร้องเพลงด้วยเสียงอันเย้ายวนชวนหลง ทำให้ผู้ที่ได้ยินต้องเดินเรือชนหินโสโครกตรงบริเวณเกาะที่พวกนางอาศัยอยู่ หรือไม่เช่นนั้นก็ว่ายน้ำไปเป็นอาหารของพวกนาง เหล่านี้ล้วนทำให้นักเดินทางและกะลาสีเรือไม่อาจรอดชีวิตไปถึงอาณาจักรอีกฟากฝั่งดังหวัง
กระนั้น ตำนานก็ได้ชี้ทางรอดเอาไว้คือ หากต้องการจะฝ่าฝูงไซเรนไปจะต้องอุดหูไม่ให้ได้ยินเสียงไซเรน หรือต้องหาเสียงอันเพราะเสนาะมากกว่ามาบรรเลงกลบเสียงหวานของพวกนาง หากนักเดินทางรอดชีวิตไปได้ พวกนางก็จะจิตตกไม่มายุ่งอีกหรืออาจถึงขั้นฆ่าตัวตายไปเลย
ไซเรนปรากฏตัวสองครั้งสำคัญในเทพปกรณัมกรีก หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องราวของเจสัน (ในที่นี้ความหมายของชื่อ เจสัน แปลว่า “การเยียวยา” หรือ “ผู้เยียวยา”) ผู้ที่ต้องผจญภัยไปเอาขนแกะทองคำด้วยหวังกู้บัลลังก์ที่ถูกช่วงชิงไปจากพ่อของเขาซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งอิโอลคอส เหตุการณ์ตอนหนึ่งของการผจญภัยนั้น เจสันและลูกเรืออาร์โก (เรือที่เขาใช้เดินทาง) ต้องเดินทางผ่านน่านน้ำอันคลาคล่ำไปด้วยฝูงไซเรน โชคดีที่เจสันมีไครอน อาจารย์ทรงปัญญาผู้ลึกซึ้งในการเยียวยาและคีตศิลป์เป็นผู้แนะนำ เขาจึงทำตามคำชี้แนะของอาจารย์ โดยพาออร์เฟอุส นักดนตรีกวีชั้นเลิศขึ้นเรือมาด้วย เสียงดนตรีของออร์เฟอุสนี้เองที่ดังหวานแว่วกลบเสียงนางไซเรนได้เสียสิ้น เจสันและลูกเรือจึงข้ามผ่านน่านน้ำสยองขวัญไปได้
สัตว์ประหลาดหรืออมนุษย์ที่เฝ้าอาณาเขตและทางผ่านเข้าออกของอาณาจักรต่างๆ อยู่นั้น มิได้มีเพียงในตำนานของเจสัน โดยในตำนานอื่นๆ มันอาจปรากฏเป็นยักษ์ หรือบางเรื่องก็เป็นสฟิงซ์ (Sphinx) ครึ่งคนครึ่งสิงโตและมีปีกที่เฝ้าทางเข้าเมืองคอยถามคำถามผู้ที่เดินทางผ่านมาและจะฆ่าผู้ที่ไม่สามารถตอบคำถามได้ สัตว์รูปโฉมพิลึกเหล่านี้มักดูน่ากลัวและเจ้าเล่ห์แสนกล ซึ่งหากเราเพลี่ยงพล้ำก็จำต้องพลีชีพเป็นอาหารอันโอชะแก่มัน
ในชีวิตจริง สัตว์เหล่านี้เปรียบได้กับกระแสเสียงที่อยู่ภายในตัวเราที่คอยวิจารณ์และต้อนเราให้อยู่แต่ในอาณาเขตพื้นที่วิธีคิดแบบเดิมๆ และกลืนกินพลังชีวิตของเราไปด้วยไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ต่อเมื่อเรารู้วิธีจัดการกับมันแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถผ่านขอบแดนที่มันเฝ้าอยู่ไปได้ ดั่งตัวอย่างจากเรื่องราวของรูดอล์ฟ
รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) อธิบายว่า ตัวเองอยู่คนเดียวแล้วมีพลังงานมากขึ้น แต่ลึกๆ แล้วรูดอล์ฟก็ชอบให้เพื่อนชวนไปทำกิจกรรมต่างๆ บางครั้งรูดอล์ฟเห็นผ่านทาง social media ว่าเพื่อนไปเที่ยวด้วยกันหรือสังสรรค์ด้วยกันโดยไม่มีเขา ลึกๆ เขารู้สึกว่าตนเป็นตัวแถมที่ ‘ถูกคัดออก’ แต่รูดอล์ฟก็ไม่ได้บอกสิ่งนี้กับใคร
รูดอล์ฟสำรวจโลกภายตนเอง ผ่านบทสนทนากับขั้วตรงข้าม “ทำไมไม่ชวนเพื่อนล่ะ?”
รูดอล์ฟฉุกคิด จริงสินะ ทำไมเขาถึงต้องเป็นเพียงฝ่ายรอให้เพื่อนชวนแล้วแค่ตอบรับ ทำไมเขาไม่เป็นผู้ริเริ่ม รูดอล์ฟพบว่ามีผู้หญิงอีกคนที่มีพฤติกรรมทำนองเดียวกับเขา เธออยากให้เพื่อนชวนไปทำกิจกรรม แต่เมื่อเพื่อนๆ โทรมาเธอจะรีบบอกว่ากำลังยุ่งอยู่ ซึ่งทำให้สุดท้ายเธอก็นั่งเหงาเปล่าเปลี่ยว แท้จริงแล้วผู้หญิงคนนี้เคยถูกพ่อแม่ทิ้งตั้งแต่เด็ก ลึกลงไป เธอจึงไม่อยากสัมพันธ์กับใครมากนักเพราะกลัวจะสูญเสียอีก
รูดอล์ฟตั้งคำถามว่าตนเป็นเช่นนั้นด้วยหรือไม่ ทว่าคำตอบก็ไม่เหมือนกัน เขานึกย้อนอดีตว่าตนเคยไม่ใยดีเพื่อนที่รักเขามาก เขาทำให้เพื่อนเจ็บและเขาก็เคยมีพฤติกรรมหลายอย่างที่ตัวเขาไม่ชอบ เช่น บางครั้งเขาฉุนเฉียวใส่คนใกล้ชิด ซึ่งทำให้เขาแอบลงทัณฑ์ตนเองโดยการบอกตนเองว่าคงไม่คู่ควรจะได้รับมิตรภาพอันลึกซึ้งจากใคร หนำซ้ำยังพากย์เสียงวิจารณ์ของเขาเองนี้ลงในสายตาและท่าทางของผู้อื่น ดังนั้น การที่เขาไม่ค่อยกล้าชวนเพื่อนๆ มาสังสรรค์เรื่อยเปื่อย มิใช่เป็นเพียงเพราะเขากลัวคนอื่นรำคาญหรือกลัวคนอื่นปฏิเสธ แต่หากชวนแล้วคนอื่นไม่เอาด้วย มันจะยิ่งตอกย้ำความเชื่อว่าเขามีพฤติกรรมน่าละอายบางอย่างอันไม่ควรค่าแก่ความรัก ต่อให้ใครหลายคนไม่เคยเห็นด้านที่เขาคิดว่าไม่น่ารัก แต่เขาเคยเห็นด้านเหล่านี้ของตนเอง มันกลายเป็นเสียงวิจารณ์ภายในของเขามาตลอด
รูดอล์ฟได้ยินเสียงวิจารณ์กึกก้องคล้ายเสียงนางไซเรนอย่างนั้นมามากพอแล้ว วันหนึ่งเขาจึงหาวิธีปลดล็อคตนเองโดยไปนั่งอยู่ตามลำพังบนโขดหินกลางสายธารน้ำตกอันเชี่ยวกราก ในชั่วขณะนั้นเอง เขาพร้อมจะเผชิญกับเสียงวิจารณ์ภายในด้วยเสียงอันไพเราะยิ่งกว่า “ใจดีกับตัวเองนะ”
นี่กระมังคือหนึ่งในทำนองดนตรีของออร์เฟอุสซึ่งไครอนต้องการให้พวกเราได้ยิน เสียงดังกล่าวเท่านั้นที่จะทำให้เสียงวิจารณ์ภายในอันเปรียบเสมือนเสียงล่อลวงแห่งนางไซเรนสิ้นฤทธิ์ลงได้ หากห้วงน้ำเป็นภาพสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกและพื้นที่กักเก็บข้อมูลซึ่งเรายังไม่ตระหนักชัดแล้ว ห้วงน้ำก็สามารถจะมีไซเรนอาศัยอยู่ได้มากพอกับที่มีราชินีถ้วยใจดีสถิตย์อยู่ด้วย หากเสียงของนางไซเรนทำให้จิตเราหมดความรู้สึกตัวแล้วไหลไปกับการปรุงแต่งลบๆ กระทั่งร่วงหล่นลงในความหม่นเศร้าสูญเสียพลังงานชีวิต เสียงของราชินีถ้วยก็เป็นยาถอนพิษได้เช่นกัน กล่าวคือเป็นเสียงของความใจดีต่อตนเอง ความหยั่งรู้ อารมณ์อันหยั่งรากมั่นคง ความไหลลื่นไม่ติดขัดดุจสายน้ำที่คอยชำระล้างเยียวยา
รูดอล์ฟสนทนากับเสียงภายในของตนด้วยพลังงานของราชินีถ้วยทำให้เขาเห็นเจตนาส่วนหนึ่งของเสียงวิจารณ์ว่า มันแค่อยากปกป้องเขาจากความเสียใจในอนาคต
และครั้นเมื่อเขาเห็นการปฏิเสธตนเองของเขาเอง เขาก็น้อมรับการปฏิเสธของคนอื่นได้มากขึ้นด้วย รูดอล์ฟบอกเสียงวิจารณ์ว่า “ขอบคุณมากนะ แต่ไม่ต้องปกป้องเราแล้ว เราไม่ได้กลัวจะถูกปฏิเสธขนาดนั้นอีกแล้ว”
“ต่อให้ถูกปฏิเสธก็ไม่มีอะไรจะเสีย ถ้าไม่ชวนเพื่อนเลยจะเสียโอกาสที่จะเชื่อมโยงกับคนอื่นมากกว่าอีก”
รูดอล์ฟก้าวข้ามความกลัวของตน ฝูงไซเรนสิ้นเสียงไปแล้ว เขาเพิ่งรับรู้ว่าตนมีเพื่อนมากมายมหาศาล เมื่อเขากล้าชวนเพื่อนๆ ทำกิจกรรม เพื่อนส่วนใหญ่ก็เอาด้วยทั้งนั้น อีกทั้งเขาพบความจริงอีกอย่างว่า เพื่อนหลายคนก็ชื่นชอบเขาและอยากสนิทกับเขาทว่าล้วนแล้วแต่เคยชินกับการเป็นฝ่ายตั้งรับเหมือนกับเขา
รูดอล์ฟไม่เพียงพลิกวิธีการที่คุ้นชิน เขายังก้าวข้ามไปมากกว่านั้นอีกเมื่อมีเพื่อนถามเขาว่า
“ตกลงเราสนิทกันไหม?”
รูดอล์ฟใคร่ครวญครู่หนึ่ง แล้วก็ตระหนักว่าหากไม่มีการเอื้อยเอ่ยกันออกมาชัดเจนแล้ว ตนไม่กล้านับใคร ยิ่งเพื่อนที่เป็นคนของประชาชนด้วยแล้ว เขายิ่งไม่กล้านับเป็นเพื่อนสนิทถึงแม้จะรู้สึกสนิทและต่างก็มีพฤติกรรมซึ่งสนิทกันก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาคิดว่าเพื่อนที่ได้รับความนิยมชมชอบนั้นคงเป็นมิตรกับทุกคนเช่นนี้และเขาก็ย่อมเป็นเพียงหนึ่งในผองเพื่อน
“เราไม่ค่อยกล้านับว่าเพื่อนที่มีเพื่อนเยอะมากเว่อร์ หรือเป็นคนดังว่าเป็นเพื่อนสนิทนะ”
“อ้าว อย่างนี้คนดังก็ซวยเลยดิ!” เพื่อนของรูดอล์ฟอุทาน
ฉับพลันนั้น ม้วนฟิล์มแห่งความทรงจำของรูดอล์ฟก็ฉายภาพตอนที่เขาเคยเป็นรุ่นพี่ที่ได้รับความนิยมชมชอบมากคนหนึ่ง ซึ่งแน่ล่ะว่ามันไม่ได้มีแต่แง่ดี เพราะมันมีส่วนที่ทำให้เขารู้สึกโดดเดี่ยวด้วย ความทรงจำผุดขึ้นว่าเพื่อนเคยเดินหนีเขาเมื่อกลุ่มน้องๆ มาเดินตามและรุมล้อมพูดคุยกับเขาด้วยความชื่นชม และพร้อมกับการจากไปนั้นเพื่อนก็พูดว่า “หึ แฟนคลับ”
เสียงสะท้อนจากเพื่อนอีกคนดังเสริมขึ้นมา “ไม่ใช่กูไม่ชอบมึง แต่บางทีมึงก็ทำให้กูรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง”
และอีกหนึ่งกระแสเสียง “ถ้าเราเดินไปซื้อน้ำด้วยกันนอกโรงเรียน แล้วขากลับรูดอล์ฟก็ต้องทิ้งเราไปกับคนอื่นใช่ไหม?” รูดอล์ฟก็เคยทำให้คนอื่นเหงาเหมือนกัน ความกลัวถูกปฏิเสธของเขาส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาเคยทำให้เพื่อนรู้สึกถูกทอดทิ้ง
ด้วยการย้อนเห็นอดีตและได้ยินเสียงภายในต่างๆ ของตนซึ่งหลายเสียงก็รับมาจากคนอื่นอีกทอด บัดนี้ รูดอล์ฟกล้าชวนผู้คนที่เขาอยากชวนมาสังสรรค์เสวนากันโดยมองทะลุภาพภายนอกของแต่ละคนไปยังความต้องการภายใน คนส่วนใหญ่ต่างยินดีที่จะได้รับมิตรไมตรีและได้พูดคุยกับเพื่อนที่มีความสนใจร่วมกัน อีกทั้งคุยกันเข้าใจ
นี่คือการเรียนรู้ของรูดอล์ฟในการก้าวข้ามน่านน้ำที่ตนไม่รู้จัก เพื่อแผ่ขยายประสบการณ์ไปในอาณาจักรอื่นๆ และได้สัมผัสกับคุณลักษณะที่ตนเคยทอดทิ้งไป แต่ก่อนที่เขาจะผ่านน่านน้ำนั้น เขาก็ต้องทำความรู้จักกับเสียงวิจารณ์ภายในซึ่งมักจะมีผลมาจากอดีตที่ทำให้เสียใจ หากเสียงวิจารณ์นั้นเป็นดั่งเสียงชวนหลงของนางไซเรนเราคงอดใจไม่ฟังไม่ไหว แต่เราก็อาจใช้วิธีฟังโดยไม่ฟัง คือรับฟังแบบรู้สึกตัวไปเฉยๆ โดยไม่ตัดสินตัวเอง และไม่หลงด่ำดิ่งไปกับมัน หรืออาจสดับเสียงสะกดนั้นร่วมกับการใช้เสียงอื่นที่เป็นบวกมากกว่ามาไดอะล็อกดั่งที่รูดอล์ฟทำด้วยก็ได้
แล้วคุณล่ะ กล้าข้ามน่านน้ำแห่งเสียงวิจารณ์เหล่านี้ไหม?