- ดร.จูลี่ สมิธ นักจิตวิทยาคลินิก มองว่าอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เป็นเพียงกลไกปกป้องตัวเองจากภัยคุกคาม ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องรู้เท่าทันและกล้าเผชิญหน้ากับความรู้สึกเหล่านั้น
- ในบทที่ว่าด้วย ‘การรับมือกับคำวิจารณ์และการไม่เป็นที่ยอมรับ’ ดร.จูลี่ บอกว่ามนุษย์ถูกสร้างมาให้ใส่ใจคำพูดของคนรอบตัว ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะรับมือกับคำวิจารณ์และการไม่เป็นที่ยอมรับด้วยวิธีที่เหมาะสมถือเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญมาก
- คนคนหนึ่งจะลุกขึ้นอีกครั้งได้ก็ต่อเมื่อเราหยุดทุบตีเขาเสียก่อน ดังนั้นกุญแจสำคัญของการใช้คำวิจารณ์ให้เป็นประโยชน์ คือการเป็นฝ่ายสนับสนุนให้ตัวเอง โดยเราต้องเห็นอกเห็นใจตัวเองมากพอที่จะพิจารณาและตัดสินใจว่าควรเก็บหรือทิ้งคำวิจารณ์ใด
ผมเป็นคนหนึ่งที่สงสัยในศักยภาพของตัวเอง ผมมักรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพออยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องงาน แม้ว่าหลายครั้งผู้คนมากมายชื่นชมผม แต่หากพ่อแม่วิจารณ์ในทางตรงกันข้าม จิตใจของผมก็มักจะออกอาการรวน คือเปลี่ยนให้เสียงของพ่อแม่กลายเป็นเสียงของคนรอบข้าง จนในที่สุดเสียงของพ่อแม่ก็กลายเป็นเสียงเดียวที่ผมได้ยิน ต่อด้วยการตำหนิตัวเองซ้ำไปซ้ำมาในหัว ซึ่งอาการแบบนี้ติดตัวผมมาตั้งแต่เด็ก
ผมเรียกอาการนี้ว่ามองโลกในแง่ร้ายและไม่มั่นใจในตัวเอง จนวันนี้ผมเองก็ยังอยู่ในช่วงฝึกฝนเพื่อก้าวข้ามปัญหาของตัวเองไปให้ได้
ระหว่างการพัฒนาตัวเอง ผมมีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง ‘วิชาสำคัญที่คุณควรรู้ก่อนที่ชีวิตจะสอนคุณ’ (Why Has Nobody Told Me This Before?) ของ ดร.จูลี่ สมิธ (Dr. Julie Smith) นักจิตวิทยาคลินิกชื่อดัง ซึ่งจุดเด่นของดร.จูลี่ คือการชวนให้เราอยู่กับความเป็นจริงและมองว่าอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เป็นเพียงกลไกปกป้องตัวเองจากภัยคุกคาม ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องรู้เท่าทันและกล้าเผชิญหน้ากับความรู้สึกเหล่านั้น เพราะวิธีที่จะก้าวผ่านอุปสรรคทั้งหลายในจิตใจไม่ใช่การหลีกหนีหรือหลอกตัวเอง แต่เป็นการเผชิญหน้ากับมันอย่างกล้าหาญและชาญฉลาดผ่านการใช้อุปกรณ์จากกล่องเครื่องมือทางจิตวิทยาที่เธอแนะนำในแต่ละบท
สำหรับบทที่ผมชอบเป็นพิเศษคือเรื่อง ‘การรับมือกับคำวิจารณ์และการไม่เป็นที่ยอมรับ’ ซึ่งในบทนี้ดร.จูลี่ บอกว่ามนุษย์ถูกสร้างมาให้ใส่ใจคำพูดของคนรอบตัว ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะรับมือกับคำวิจารณ์และการไม่เป็นที่ยอมรับด้วยวิธีที่เหมาะสมถือเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญมาก
ในบทนี้ ดร.จูลี่ ค่อยๆ คลี่ให้ผมเห็นตัวเองว่า ผมเป็นคนที่มี ‘ภาวะเอาอกเอาใจผู้อื่น’ ซึ่งมันไม่ใช่แค่การหยิบยื่นไมตรีให้ผู้คน แต่หมายถึงการให้ความสำคัญกับความจำเป็นและความต้องการของคนอื่นมากกว่าตัวเองเสมอ แม้สุดท้ายสิ่งเหล่านั้นจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายสุขภาพใจของผมก็ตาม
“การเป็นที่ยอมรับคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ แต่สำหรับคนที่มีภาวะเอาอกเอาใจผู้อื่น มันไม่ใช่แค่สิ่งที่ต้องการเท่านั้น
การเติบโตมาในสภาพแวดล้อมซึ่งไม่ปลอดภัยที่จะแสดงความไม่เห็นด้วย หรือทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป ไม่ก็เหยียดหยามหรือแสดงความเดือดดาลใส่คนที่พวกเขาไม่ยอมรับ จะทำให้เราเรียนรู้ตั้งแต่เด็กว่าต้องเอาตัวรอดในสภาพแวดล้อมเช่นนั้นอย่างไร”
เมื่อหัดเรียนรู้ที่จะเอาอกเอาใจคนอื่นในสภาพแวดล้อมดังกล่าว ทำให้หลายคนพอโตขึ้นจึงมักรู้สึกว่าตกที่นั่งลำบากกับการต้องคอยสังเกตผู้คนรอบข้างและคอยคิดกังวลว่าเขาจะคิดยังไงกับเรา ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความกลัวว่าตัวเองจะไม่เป็นที่ยอมรับ
“สิ่งที่ทำให้การใช้ชีวิตของผู้ที่มีภาวะเอาอกเอาใจผู้อื่นวุ่นวายยิ่งขึ้นก็คือ ความจริงที่ว่าผู้คนไม่ได้แสดงความไม่ยอมรับด้วยการพูดออกมาตามตรงเสมอไป ดังนั้นเราจึงอาจกลัวและรู้สึกไม่เป็นที่ยอมรับแม้จะไม่มีใครพูดแบบนั้นเลย เมื่อไม่มีข้อมูลว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับเรา สมองก็จะเริ่มเติมเต็มข้อมูลนั้นเอง”
เมื่อสมองเริ่มเติมเต็มข้อมูลนั้น แปลว่าสิ่งที่เราคิดอาจจะเดาถูกหรือผิดก็ได้ เราจึงตกอยู่ในความกังวลอย่างไม่หยุดหย่อนว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับเรา ดังนั้นดร.จูลี่จึงมอบคำแนะนำให้ไปลองปฏิบัติ เช่น การเปิดใจรับการวิจารณ์เชิงลบจากผู้อื่นเพื่อมาพัฒนาตัวเอง แต่หากความเห็นนั้นเป็นเพียงคำพูดที่สะท้อนค่านิยมของคนอื่น การหัดปล่อยวางคำพูดบ้างก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี
ดร.จูลี่ บอกว่าคนที่ชอบวิจารณ์คนอื่นส่วนมากมักจะชอบวิจารณ์ตัวเองด้วยเช่นกัน โดยพวกเขาวิจารณ์เพราะทำจนติดเป็นนิสัย แถมการวิจารณ์ต่างๆ ก็มักกล่าวออกมาจากมุมมองและค่านิยมส่วนตัวของพวกเขาที่มีต่อโลก โดยไม่ได้คำนึงว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีประสบการณ์ชีวิตในรูปแบบที่ต่างกัน
“การเข้าใจความจริงที่ว่าผู้คนมักวิจารณ์คนอื่นตามกฎเกณฑ์ในการใช้ชีวิตของตัวเองเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะกับคนที่มีแนวโน้มว่าจะมีภาวะเอาอกเอาใจผู้อื่น เพราะถึงเราจะต้องการเป็นที่ยอมรับของคนอื่น แต่ในเมื่อทุกคนต่างก็มีความคิดและมุมมองเฉพาะตัว เราย่อมไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจตลอดเวลาได้ ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเรามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับใคร เราก็มักให้คุณค่ากับความคิดเห็นของเขามากเป็นพิเศษ”
ในส่วนของกล่องเครื่องมือนั้น ดร.จูลี่ได้แนะนำให้พิจารณาว่าการตัดสินต่างๆ ที่แฝงมากับคำวิจารณ์เป็นความจริงหรือไม่ มีประโยชน์หรือไม่ ในกรณีที่มีประโยชน์เราก็ควรนำคำวิจารณ์นี้มาแก้ไขข้อผิดพลาดเพื่อพัฒนาตัวเอง แต่หากการวิจารณ์นั้นเป็นเพียงคำด่าทอ เราก็ควรโยนถ้อยคำเหล่านั้นทิ้งไปเพื่อรักษาการเห็นคุณค่าในตัวเอง
“หมั่นเตือนตัวเองว่าความไม่สมบูรณ์แบบ การทำพลาด และการล้มเหลวล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์ การยอมรับว่าเราอาจทำพลาดได้ หมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องรู้สึกไร้ค่าเมื่อล้มเหลว และสามารถใช้ประโยชน์จากทุกประสบการณ์ได้ด้วยการเรียนรู้จากมัน
ระวังคำพูดที่คุณใช้กับตัวเอง ไม่ว่าอย่างไรคำวิจารณ์ก็ทำให้เราเจ็บปวดเสมอ นี่คือกลไกของสมองในการปกป้องเรา เพราะมันมองว่าคำวิจารณ์คือภัยคุกคาม ไม่มีสิ่งใดจะช่วยป้องกันความเจ็บปวดจากคำวิจารณ์ได้ตลอดเวลาโดยทำหน้าที่เหมือนเกราะกำบัง อันที่จริงถึงจะมีเกราะกำบังแบบนี้ก็คงไม่มีประโยชน์ เพราะคำวิจารณ์ที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นในหัวของเราเอง…
คนคนหนึ่งจะลุกขึ้นอีกครั้งได้ก็ต่อเมื่อเราหยุดทุบตีเขาเสียก่อน ดังนั้นกุญแจสำคัญของการใช้คำวิจารณ์ให้เป็นประโยชน์ คือการเป็นฝ่ายสนับสนุนให้ตัวเอง โดยเราต้องเห็นอกเห็นใจตัวเองมากพอที่จะพิจารณาและตัดสินใจว่าควรเก็บหรือทิ้งคำวิจารณ์ใด โดยเลือกเก็บคำวิจารณ์ที่มีประโยชน์ และทิ้งคำวิจารณ์ที่ไร้ประโยชน์ซึ่งทำลายการเห็นคุณค่าในตัวเองและบดขยี้ความมั่นใจของเรา”