Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Learning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trend
  • Life
    Healing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/CrisisLife classroom
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
reverse-bucket-list-nologo
How to enjoy life
25 March 2025

Reverse Bucket List: ระลึกถึงเรื่องราวดีๆ แรงกระตุ้นมุมกลับให้เราพัฒนาตัวเองเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Reverse Bucket List (RBL) เป็นการเปลี่ยนมุมมองที่ทำให้เรารู้สึกขอบคุณต่อโอกาสต่างๆ ที่เราเคยได้รับ ความสำเร็จที่เราเคยทำได้ และเป็นแรงกระตุ้นในมุมกลับให้เรารู้สึกอยากพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นไปอีก
  • อุปสรรคอย่างหนึ่งที่อาจทำให้การทำ Reverse Bucket List ยากสำหรับบางคนก็คือ การมีความทรงจำที่เจ็บปวดหรือกระตุ้นความรู้สึกผิดหวัง เสียใจ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสีย ความล้มเหลว การพลัดพราก การทำพลาด หรือการเสียโอกาสสำคัญต่างๆ
  • ประเด็นสำคัญคือเราไม่จำเป็นต้องมองย้อนอดีตด้วยแว่นตาสีชมพูหรือต้องโปรยกลีบกุหลาบใส่ทุกเรื่องอยู่ตลอดเวลา แค่เพียงตระหนักว่าเมื่อบางอย่างไม่เป็นไปตามแผน เราเก่งพอเอาตัวรอดมาได้ดีเพียงใด และเหตุการณ์นั้นนำไปสู่สิ่งดีๆ อะไรบ้างหรือไม่

ยุคนี้มีกิจกรรมหลายอย่างที่หลายคนนิยมทำและแม้แต่เชื้อชวนให้พรรคพวกเพื่อนฝูงทำเพราะเห็นว่าดี เรื่องหนึ่งที่ผมก็ทำเพราะสมองเรามีข้อจำกัดในการรับข้อมูลแต่ละวันคือ การทำ To Do List หรือ ‘รายการสิ่งที่ต้องทำ’ จะช่วยให้เราเคลียร์งานให้จบหมดได้ทันเวลา ไม่หลงลืม และไม่ตกค้าง

แต่รายการสิ่งที่ต้องทำมักเป็นเรื่องเฉพาะหน้าหรือระยะสั้น

มีรายการอีกแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากเช่นกันคือ Bucket List ที่มีคนตั้งชื่อไว้อย่างไพเราะเพราะพริ้งว่า ‘ตะกร้าความฝัน’ หรือ ‘ตะกร้าความหวัง’ ส่วนผมขอเรียกว่า ‘รายการความฝันในถังใจ’ ซึ่งเป็นแผนระยะยาว อาจจะเป็นภายใน 1 ปีหรือ 5 ปี แต่บางคนอาจมองว่าเป็นแผนชั่วชีวิตเลยก็ได้   

ตัวอย่างเช่น จะไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง อาจเป็นอียิปต์ ปารีส หรือวาติกัน อาจตามรอยดาราหรือเซเลบที่ชื่นชอบไปสถานที่บางแห่ง อาจจะอยากไปดูแสงเหนือแสงใต้ ไปตามล่าสุริยคราสในประเทศต่างๆ ไปกระโดดบันจี้จัมป์ ดิ่งพสุธาจากเครื่องบิน หรือปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ อีกรูปแบบหนึ่งเป็นการทำภารกิจที่ยากลำบากกายใจ เช่น ขนาดเดินยังเหนื่อย แต่อยากจะไปวิ่งมาราธอนหรือเล่นไตรกีฬาให้ได้ ฯลฯ 

สำหรับหลายคนการมีเป้าหมายแบบนี้เป็นตัวฉุดดึงและผลักดันชั้นดีให้ลงมือทำอะไรต่อมิอะไรเพื่อจะได้ไปถึงเป้าหมาย แต่สำหรับอีกหลายคนกลับทำให้รู้สึก ‘เยอะ’ กับชีวิตจนแทบทานทนไม่ไหวได้เช่นกัน เพราะบางครั้งมีเป้าหมายมาก แต่กลับแทบทำไม่ได้เลย จนอาจรู้สึกละอายใจหรือล้มเหลวได้เช่นกัน [1]

มีกิจกรรมอีกแบบที่สวนทางกับที่กล่าวมาและไม่เป็นที่รู้จักดีเท่าเรียกว่า Reverse Bucket List (RBL) หรืออาจเรียกแบบลำลองได้ว่า ‘ย้อนศรความฝัน’…วิธีการแบบนี้คืออะไรกันแน่?

ในกรณีของความฝันในถังใจนั้น เราใช้เป้าหมายเป็นตัวสร้างแรงดึงดูดใจ ยิ่งเราอายุน้อย ก็ยิ่งตั้งเป้าหมายให้ใหญ่ได้มากเท่านั้น และพยายามพุ่งทะยานไปข้างหน้าเพื่อบรรลุความฝันนั้น แต่ครั้นเราอายุมากขึ้น สภาพแวดล้อมก็อาจเปลี่ยนแปลงไป ไหนจะความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น ปัญหาสุขภาพที่อาจเริ่มปรากฏขึ้นตามวันเวลา รวมไปถึงความคิดความอ่านที่อาจจะเริ่ม ‘ยึดติด’ กับความเป็นจริงในชีวิตหรือเรียกอีกอย่างว่า ‘มีกรอบความคิด’ มากขึ้น 

กลยุทธ์การทำ Bucket List จึงอาจจะใช้ได้ไม่ดีเท่าเดิมอีกต่อไป 

ตรงนี้เองที่การทำ RBL อาจจะเข้ามาทดแทน เพราะอย่างหลังนี้เป็นการเปลี่ยนมุมมองที่ทำให้เรารู้สึกขอบคุณต่อโอกาสต่างๆ ที่เราเคยได้รับ ความสำเร็จที่เราเคยทำได้ และเป็นแรงกระตุ้นในมุมกลับให้เรารู้สึกอยากพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นไปอีก โดยอาศัยการดำดิ่งลึกลงไปในอดีต เพื่อค้นหาสิ่งที่ได้เคยทำไปแล้วและอาจเป็นความสุขหรือความสำเร็จที่ดีต่อใจ อาจจะแม้แต่นำมาแบ่งปันคนอื่นได้ด้วย

มีงานวิจัยใน ค.ศ. 2025 ที่ตีพิมพ์ใน The Journal of Positive Psychology ที่ค้นพบว่า ความรู้สึกขอบคุณช่วยเพิ่มความพึงพอใจในชีวิตโดยรวมได้ [2] 

นักวิจัยทดลองโดยให้อาสาสมัครระลึกถึงเรื่องดีๆ สามเรื่องที่เกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงแล้วเขียนออกมา โดยให้ทำเช่นนี้ทุกวันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ผลลัพธ์คืออาสาสมัครรู้สึกพึงพอใจในชีวิตมากขึ้น 

นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบอีกด้วยว่าพฤติกรรมระลึกถึงเรื่องสนุกเรื่องดีทำนองนี้ช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยว ความเบื่อหน่าย และความวิตกกังวลได้ด้วย และที่น่าสนใจมากยิ่งไปขึ้นอีกก็คือ ส่งผลข้างเคียงทำให้กลายเป็นคนใจดีและใจกว้างต่อคนแปลกหน้ามากขึ้น และมีความอดทนอดกลั้นต่อคนนอกวัฒนธรรมหรือนอกกลุ่มเพิ่มขึ้นอีกด้วย [3]

ข้อดีอีกข้อคือ การทำ RBL เช่นนี้ ช่วยแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของเรา (ทำมาได้เยอะแล้ว!) แทนที่จะแสดงถึงความล่าช้าและผิดหวัง (ยังเหลือในลิสต์อีกเพียบ!) แบบใน Bucket List จึงช่วยเสริมสร้างแรงจูงใจและความภาคภูมิใจในตัวเองให้เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าและมากกว่า [1] 

คำแนะนำเบื้องต้นในการรายการย้อนรอยแบบนี้คือ อาจจะสะดวกดีถ้าจะแบ่งออกเป็นทศวรรษ ตั้งแต่เกิดจนอายุ 10 ขวบ จากนั้นก็ยาวไปจนบรรลุนิติภาวะที่ 20 ปี และต่อไปเรื่อยตามแต่อายุของคุณ คุณอาจต้องประหลาดใจว่า เราคุ้นเคยกับการตั้งเป้าแบบไปข้างหน้ามาก แต่กลับไม่ง่ายเลยที่จะมองย้อนกลับไปลิ้มรสชาติอดีตอีกครั้ง [4]

อีกแบบหนึ่งแทนที่จะแบ่งตามเวลาเป็นส่วนๆ เท่าๆ กัน คุณอาจเลือกแบ่งตามจังหวะเวลาที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น ย้ายบ้าน จบการศึกษา เปลี่ยนงาน หรือมีลูก ฯลฯ มองตัวเองในช่วงเวลาเหล่านั้น ในบทบาทเหล่านั้น เลือกดูว่าเราปรับตัวเก่งเพียงใด แสดงให้ผู้คนเห็นถึงความยืดหยุ่น เข้ากันได้กับคนอื่นมากเพียงใด มีความกระตือรือร้น มีมนุษยสัมพันธ์มากเพียงใด 

แต่ละอย่างที่กล่าวมาล้วนมองเป็นความสำเร็จได้ แม้ว่าโดยทั่วไปคุณอาจมองผ่านไป ไม่คิดว่าเป็นความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ใช่เป็นความสำเร็จแบบที่จับต้องได้มากกว่า (ซื้อบ้าน ซื้อรถ เลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ) หรือบรรลุความคาดหวังเรื่องตำแหน่ง รางวัล หรือเกียรติยศบางอย่าง 

บางคนอาจมีคำถามว่าต้องเขียนออกมามากน้อยเท่าใด ไม่มีตัวเลขที่กำหนดกะเกณฑ์ชัดเจน แล้วแต่คุณเลยครับ จะเขียนออกมา 15 เรื่องหรือ 50 เรื่อง ก็ทำได้ทั้งนั้น 

อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งที่อาจทำให้การทำ Reverse Bucket List ยากสำหรับบางคนก็คือ การมีความทรงจำบางอย่างที่เจ็บปวดหรือกระตุ้นความรู้สึกผิดหวังหรือเสียใจบางอย่างเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสีย ความล้มเหลว การพลัดพราก การทำพลาด หรือการเสียโอกาสสำคัญต่างๆ   

แต่นักจิตวิทยาระบุว่าแม้แต่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต่างๆ เหล่านั้นเกิดขึ้น แต่หากเราสามารถระบุบทเรียนที่ได้เรียนรู้หรือผลลัพธ์เชิงบวกบางอย่างได้ (เช่น สอบไม่ติดที่แรก เลยเลือกเรียนอีกแห่งหรืออีกสาขา แต่พบว่าเรากลับชอบมากกว่า) ก็ถือได้ว่าช่วงเวลาหรือเหตุการณ์ยากลำบากนั้นมีคุณค่าให้ระลึกถึงและมอบบทเรียนบางอย่างให้กับเราได้ 

ประเด็นสำคัญคือเราไม่จำเป็นต้องมองย้อนอดีตด้วยแว่นตาสีชมพูหรือต้องโปรยกลีบกุหลาบใส่ทุกเรื่องอยู่ตลอดเวลา แค่เพียงตระหนักว่าเมื่อบางอย่างไม่เป็นไปตามแผน เราเก่งพอเอาตัวรอดมาได้ดีเพียงใด และเหตุการณ์นั้นนำไปสู่สิ่งดีๆ อะไรบ้างหรือไม่ 

การพลาดรถไฟเที่ยวนั้นอาจทำให้เราได้มีโอกาสเดินสำรวจใกล้ๆ สถานีและค้นพบบุคคล สถานที่ หรือความรื่นรมย์บางอย่างที่ไม่อยู่ในแผนการท่องเที่ยวเดิมก็เป็นได้ 

ระหว่างการทำทั้งหมดนั้น เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเราเองเป็นอย่างมาก ได้รู้ว่าเราทำอะไรได้ท่ามกลางเหตุการณ์ที่ยากรับมือ เราสามารถภาคภูมิใจในตัวเองได้มากเพียงใด ขณะเดียวกันก็อาจแยกแยะผู้คน สถานที่ และเป้าหมายในชีวิตของตัวเองได้แจ่มชัดมากขึ้น

สำหรับคนที่ยังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นไปอีกได้อย่างไร มีคำแนะนำกว้างๆ ดังนี้คือ ข้อแรก ใช้การเขียนบันทึกเป็นประจำ อาจเป็นบันทึกลับสำหรับคุณไว้ดูคนเดียว จึงไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาวิพากษ์วิจารณ์อะไร บางคนอาจถนัดบันทึกเป็นเสียงซึ่งก็ทำได้  

หากใช้วิธีการและมุมมองใหม่เช่นนี้แล้ว ก็อาจคาดหวังได้ว่าคุณจะสามารถเลือกลงทุนเวลาและพลังงานกับเรื่องในอนาคตได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น มีกำลังใจและความมั่นใจจากผลงานในอดีตช่วยสนับสนุนให้รับมือกับเรื่องในอนาคตได้ดีมากขึ้น 

คุณอาจจะมี ‘จุดมุ่งหมาย’ หรือ ‘ความหมาย’ ในการใช้ชีวิตมากขึ้นก็เป็นได้  

เอกสารอ้างอิง

[1] https://www.fastcompany.com/40497651/how-making-a-reverse-bucket-list-can-make-you-happier เข้าถึงข้อมูลวันที่ 17 มี.ค. 2025

[2] Watkins, P. C., Uhder, J., & Pichinevskiy, S. (2014). Grateful recounting enhances subjective well-being: The importance of grateful processing. The Journal of Positive Psychology, 10(2), 91–98. https://doi.org/10.1080/17439760.2014.927909

[3] https://www.nytimes.com/2013/07/09/science/what-is-nostalgia-good-for-quite-a-bit-research-shows.html?pagewanted=all เข้าถึงข้อมูลวันที่ 17 มี.ค. 2025

[4] Jenny Rowe (2023) The Joy of a Tick List. Psychology Now, vol. 7, pp. 14-15

Tags:

การพัฒนาตนเองการขอบคุณ (Gratitude)Reverse Bucket List (RBL)การตั้งเป้าหมาย

Author:

illustrator

นำชัย ชีววิวรรธน์

นักอณูชีววิทยา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักแปล และนักอ่าน ผู้มีความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาขับเคลื่อนสังคม

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Movie
    Blue Giant: ในวันที่ก้าวสู่ฝัน…หวังว่าเราจะเป็นลมใต้ปีกที่คอยพยุงกันและกันไปให้ถึงจุดหมาย

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Everyone can be an Educator
    ‘การอ่าน’ คือต้นทุน(เปลี่ยน)ชีวิตเด็ก กำหนดอนาคตประเทศไทย: พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี – หมอแพมชวนอ่าน

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • Book
    ชวนอ่าน 7 เล่ม รับปี 2024: ปรับ Mindset เพื่อเข้าใกล้ความสำเร็จในแบบของตัวเอง

    เรื่อง พิรญาณ์ บุลสถาพร

  • How to enjoy life
    ฮุกกะ (Hygge): สุขแบบไม่หิวแสง จริตชีวิตในแบบฉบับคนเดนมาร์ก

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • How to enjoy life
    ‘สุขสำเร็จ’ เมื่อสมดุลของความสำเร็จคือความทะเยอทะยานและความสุข

    เรื่อง จณิสตา ธนาธรชัย ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel