- เมื่อมีคำว่า “ดารา” ก็มีคนคลั่งไคล้แล้ว ในแง่ของสังคมมนุษย์ที่ค่อยๆ วิวัฒนาการไปเรื่อยๆ จ่าฝูงที่มีความโดดเด่นและเคยเป็นคนคนเดียวของชนชั้นปกครอง ก็แตกสาขาออกมาหลากหลายรูปแบบ ในด้านอำนาจเป็นรัฐมนตรี ในเศรษฐกิจเป็นซีอีโอหรือเป็นไฮโซ ในทางสมรรถนะร่างกายก็เป็นนักกีฬาทีมชาติ และหนึ่งในนั้นก็คือดารานั่นเอง
- ในวัยเด็กเรามีต้นแบบเป็นพ่อแม่ แต่พอเข้าสู่วัยรุ่นจะเริ่มหาต้นแบบอื่นๆ ที่มีอิทธิพลในสังคม และคนที่แสนมีความโดดเด่นในสังคมจะเป็นใครได้อีกล่ะครับนอกจากคนดังที่ออกตามสื่อต่างๆ ซึ่งงานวิจัยสมัยใหม่ก็เลยโยงว่า การที่เด็กคลั่งไคล้ดาราเพราะดาราคือตัวอุดมคติที่ตนต้องการจะเป็นนั้นเป็นคำอธิบายที่ฟังขึ้นทีเดียว
- สิ่งหนึ่งที่เติมเชื้อไฟรักของคนให้ดาราก็คือ เทคโนโลยี ปัจจุบันเรามีโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ว่าจะเป็น facebook, twitter, intagram ที่คอยอัปเดตชีวิต บางคนรู้เรื่องชีวิตดาราดีกว่ารู้เรื่องชีวิตคนในบ้านด้วยซ้ำ ความสนิทแบบ “เสมือนจริง” ทางข่าวสารข้อมูลนี่แหละ ที่สร้างความรู้สึกหลงใหล ครั้งไคล้ได้ยิ่งขึ้น
หากถามบางคนว่าทั้งชีวิตบอก “รัก” ใครบ่อยที่สุด คำตอบอาจจะไม่ใช่คนใกล้ตัว ไม่ใช่แม้แต่พ่อแม่ และคู่รัก แต่คนที่บอกรักบ่อยที่สุดก็คือดารา นักร้อง ไอดอลในดวงใจที่เราบอกผ่านคอมเมนต์ คำบรรยายตอนแชร์ภาพ หรือตอนเพ้อให้เพื่อน ๆ ฟัง
คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครจะเห็นใครดูรูปของดาราที่ตัวเองชอบแล้วก็คิดในใจกับตัวเอง หรืออาจจะขอพูดให้เพื่อนฟังว่า “รักมาก!” ยิ่งเป็นวัยรุ่นแล้ว คำว่ารักมันไม่ใช่แค่การเปรียบว่าชอบมากๆ แต่มันคือรักแบบจริงจัง คลั่งไคล้ หลงใหล เห็นหน้าเคลิ้ม ฟังเสียงแล้วละลาย ยอมตายแทนก็ได้ สมัยก่อนยังไม่มีอินเทอร์เน็ตก็ต้องตัดรูปเก็บไว้ สมัยนี้สะดวกหน่อยเซฟภาพ หรือแชร์เอาก็ได้ หากเขาเล่นหนัง เล่นละครเรื่องไหนต้องตามดูให้ได้ ออกเพลงใหม่ต้องซื้ออัลบั้ม มีคอนเสิร์ตบัตรหายากแค่ไหนก็ห้ามพลาด บทสัมภาษณ์ตั้งใจอ่านกว่าหนังสือเรียน วันเดือนปีเกิด น้ำหนัก ส่วนสูง อาหารที่ชอบ โรคประจำตัว รู้ดียิ่งกว่าของเพื่อนๆ หรือครอบครัว เรื่องสินค้านี่เรียกว่าออกเถอะ เปย์ไม่อั้น
ยิ่งสมัยนี้มีวัฒนธรรมไอดอลเข้ามาในไทย “การจับมือ” ที่เหมือนจะเป็นของฟรี แต่เหล่า “โอชิ” ก็พร้อมเปย์ทุ่มเทเพื่อให้ได้จับมือคนที่ตนเองชอบ พลังอะไรกันหนอที่ทำให้คนจำนวนมากรักและคลั่งไคล้ดารา ซึ่งก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง แถมไม่ใช่คนรู้จักของเรา ไม่ได้สนิทกับเรา ไม่เคยคุยด้วย (อาจมีได้คุยตอนอีเวนต์นานไม่กี่วินาที) จริงอยู่ที่คนดังที่คนหลงใหลมักจะหน้าตาดี แต่คนหน้าตาดีมันก็มีถมไป วันนี้เราเลยจะมาคุยเรื่องนี้กันว่า ความรักที่มีให้แก่ดารานั้นมันมาจากไหนกัน
แต่ก่อนที่เราจะคุยกันต่อ ผมอยากให้ผู้อ่านทราบว่าบทความนี้ไม่ได้ต้องการสื่อว่าการหลงรักหรือคลั่งไคล้ดาราเป็นเรื่องถูกหรือผิด เราไม่ได้คัดค้านหรือสนับสนุน และเราไม่ได้มาฟันธงหรือจะมาชี้ว่าใครจะรักดาราในดวงใจด้วยเหตุผลที่บอกนี้เท่านั้น แน่นอนว่าหากเป็นเรื่องของความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของแต่ละคนมันละเอียดซับซ้อน มีที่มาที่แตกต่างกันไป แต่ผมอยากมาชวนดูเหตุผลเบื้องหลังปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจนี้กันว่าการวิจัยในหลากหลายวงการเขาอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไรบ้าง
การคลั่งไคล้ดารานั้นเป็นเรื่องที่มีมานานมากครับ จะบอกว่ามีคำว่า “ดารา” ก็มีคนคลั่งไคล้แล้ว และในแวดวงการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์และสังคมต่างก็ศึกษาเรื่องการคลั่งไคล้ดารากันมานานแล้ว
งานวิจัยจากศาสตร์คนละสาขาก็อธิบายในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป แง่มุมแรกที่ผมอยากนำเสนอนั้นคือเรื่องของวิวัฒนาการมนุษย์ เพราะเป็นสิ่งที่ดูเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด ในทางวิวัฒนาการนั้นสิ่งที่คนเราทำหรือรูปแบบความคิดของมนุษย์ล้วนแต่มีเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นทางวิวัฒนาการ ก็คือการเพิ่มโอกาสอยู่รอด หรือเพิ่มโอกาสการมีคู่ เพื่อมีลูกหลานสืบทอดยีนต่อไป แล้วการคลั่งไคล้ดารามันจำเป็นต่อในแง่ไหนกัน
หากท่านย้อนไปในสมัยดึกดำบรรพ์ที่มนุษย์ยังออกหาของป่าล่าสัตว์ประทังชีวิต หรือย้อนไปไกลกว่านั้นสมัยที่เรายังเป็นลิงไม่มีหาง สิ่งหนึ่งที่ยังเหมือนปัจจุบันคือเราเป็นสัตว์สังคมเหมือนเดิม แต่สังคมของเราทั้งหมดก็มีแค่ฝูงหลักสิบตัวครับ และธรรมชาติของเรานั้นก็เหมือนกับสัตว์ที่มีฝูงอื่นๆ ที่สังคมมีลำดับชั้นว่าตัวไหนแข็งแกร่งสุดเป็นจ่าฝูง หรือถ้าสมัยเราเป็นมนุษย์แล้วก็เรียกว่าหัวหน้าเผ่า
อำนาจนั้นอาจจะมีหลากหลายชั้นลดหลั่นกันลงมาตามความแข็งแกร่ง ในสมัยนั้นการจะเอาตัวรอดไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะแค่อาหารไม่ได้หาได้ง่ายๆ แล้วต้องเสี่ยงชีวิตตระเวนออกหาออกล่าในทุ่งในป่า และตอนที่ได้อาหารมาแล้วแบ่งกันในฝูงนั้น ก็จ่าฝูงนี่แหละที่จะมีอำนาจในการได้ของที่ดีๆ ไปกินก่อน หรือแม้แต่ตัดสินว่าจะให้อาหารที่ได้มากับใครมากน้อยแค่ไหน หากเราไม่พอใจก็ต้องหาทางทำให้ตัวเองแข็งแกร่งพอจะไปแย่งชิงตำแหน่งในสูงฝูงๆ มาให้ได้
แต่อีกวิธีที่อาจจะง่ายกว่าคือ ทำตัวสนิทกับจ่าฝูงเข้าไว้ ถ้าจ่าฝูงถูกใจเรา เราก็อาจจะได้ส่วนแบ่งอาหารมากตามไปด้วย เหมือนได้อาศัยบารมี การจะไปตีสนิทกับใครก็ต้องรู้ข้อมูลของอีกฝ่ายไว้มากๆ อยากสนิทกับจ่าฝูงหรือหัวหน้าเผ่าก็ต้องรู้ให้ได้ว่าเขาชอบอะไรจะได้เอาใจ เขาอยู่ที่ไหนจะได้ไปเสนอหน้า เขาเกลียดอะไรจะได้ไม่ทำ หรือในกรณีที่เป็นเพศตรงข้ามของจ่าฝูง การได้จ่าฝูงเป็นคู่การันตีทั้งยีนที่แข็งแกร่ง และส่วนแบ่งอาหารให้ลูกที่มากพอ ดังนั้นต้องรู้ไปถึงขั้นจ่าฝูงชอบใครอยู่ มีคู่หรือยัง รสนิยมแบบไหน การรู้ข้อมูลของจ่าฝูงนั้นจึงสำคัญกับการเอาตัวรอดของเราอย่างยิ่งในสมัยก่อน แต่ว่าแล้วในสังคมปัจจุบัน ดาราไปเกี่ยวอะไรกับจ่าฝูง…
สังคมมนุษย์นั้นค่อยๆ วิวัฒนาการไปเรื่อยๆ ครับ อย่างแรกคือขนาดหรือจำนวนคน ที่จากหลักสิบเพิ่มเป็นหลักร้อยหลักพัน จนตอนนี้เราไปจนถึงสังคมระดับประเทศในหลักสิบล้าน จ่าฝูงที่เคยเป็นคนคนเดียวของชนชั้นปกครอง ก็แตกสาขาออกมาหลากหลายรูปแบบ ในด้านอำนาจเป็นรัฐมนตรี ในเศรษฐกิจเป็นซีอีโอหรือเป็นไฮโซ ในทางสมรรถนะร่างกายก็เป็นนักกีฬาทีมชาติ เรามีจ่าฝูงหลากหลายสาขาและหนึ่งในนั้นก็คือดารานั่นเอง
จ่าฝูงที่โดดเด่นในด้านหน้าตา น้ำเสียง บุคลิก หรือรวมๆ ก็คือด้านเสน่ห์ แม้ความรู้สึกอาจจะแตกต่างจากการเคารพบูชาจ่าฝูงหรือหัวหน้าเผ่า แต่กลไกของจิตใจที่ใช้คลั่งไคล้ดาราเป็นกลไกแบบเดียวกัน ดังนั้นมนุษย์ก็เลยชอบติดตามข่าวสารของบุคคลเหล่านี้มากเป็นพิเศษ จะในหนังสือพิมพ์ เว็บข่าว หรือแอปโซเชียล จะมีข่าวอะไรที่มีมากและคนชอบอ่านไปกว่าข่าวบันเทิง กีฬา การเมือง เพราะว่าคนเหล่านี้ก็คือจ่าฝูงในยุคสมัยใหม่ที่ “แกร่ง” กว่าคนทั่วไปในสังคม จนยีนมันมากระตุ้นให้เราอยากรู้ อยากเห็นชีวิตของคนเหล่านั้นโดยอัตโนมัติ
จริงอยู่ครับที่การรู้ข่าวของดาราอาจไม่ได้ช่วยให้เราเอาตัวรอดในได้ดีขึ้น และคงน้อยคนที่จะหวังอย่างจริงจังที่จะมีคนรักเป็นดาราที่ตนเองชอบเพื่อที่จะคว้ายีนเสน่ห์อันโดดเด่นจากพวกเขามาให้ลูก แต่ในทางวิวัฒนาการนั้นนิสัยที่ฝังอยู่ในยีนนั้นเปลี่ยนยากมากๆ ครับ มันจะเป็นกลไกอัตโนมัติที่เราไม่รู้ตัว และมันใช้เวลาหลักแสนหลักล้านปีในการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มากับยีนของเรา
อย่างไรก็ตาม หากอธิบายด้วยวิวัฒนาการเพียงอย่างเดียว ถึงจะเห็นภาพว่าทำไมเราถึงอยากรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่การจะอธิบาย “ความรัก” ในระดับความคลั่งไคล้นั้นคงยังไม่ชัดเจนเท่าไร กลไกของความรู้สึกนั้นเป็นเรื่องซับซ้อน จนถึงตอนนี้ก็ใช่ว่าจะอธิบายได้หมด แต่สมัยก่อนมีหนึ่งในนักจิตวิทยาที่กล้าออกตัวทฤษฎีกลไกของจิตใจ “ทั้งระบบ” คือ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ คนที่หลายคนอาจจะคุ้นหูดีในเรื่องการบำบัดผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต แต่ฟรอยด์ไม่ได้มีทฤษฎีเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวชเท่านั้นนะครับ เขาพยายามสร้างทฤษฎีหลักที่ใช้อธิบายกลไกของจิตใจมนุษย์ทั้งระบบมาโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในความคิดนั้นคือชีวิตมีแรงที่ชื่อว่า “ลิบิโด” ที่เป็นพลังแห่งการสร้างสรรค์ชีวิต หรือก็คือการมีเพศสัมพันธ์นั่นแหละครับ เป็นหนึ่งในพลังสำคัญ แนวคิดของเขานั้นพอเวลาผ่านไปก็ค่อย ๆ มีคนตีตกไปทีละเรื่องๆ แต่ก็ไม่ใช่ทุกเรื่องครับ ทฤษฎีของฟรอยด์ยังมีอิทธิพลและเป็นรากฐานของจิตวิทยาในปัจจุบันอย่างยิ่ง และเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือ ตัวตนบุคลิกของผู้ใหญ่นั้นล้วนแต่ส่งผลมาจากชีวิตในวัยเด็ก
ฟรอยด์อธิบายว่า การที่เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ เด็กต้องผ่าน “ปม” หรือสิ่งสำคัญที่ต้องแก้ไขให้ได้หลายอย่างให้ได้ ปมที่เราจะพูดถึงกันวันนี้ชื่อ “ปมโอดิปุส”
สรุปง่ายๆ คือ โดยธรรมชาตินั้น เด็กผู้ชายจะเกิดมารักแม่ ส่วนเด็กผู้หญิงจะรักพ่อ ซึ่งไม่เป็นรักในแบบคนรักหรือชู้สาวนั่นแหละครับ พอเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นจะต้องการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “อัตลักษณ์” (identity) ของตนเอง เพื่อตอบคำถามว่าตนเป็นใคร มีจุดเด่นตรงไหน ตนเองควรจะเป็นคนแบบไหนถึงจะดี โดยปมโอดิปุสจะมีผลกับการสร้างตัวตนดังกล่าว จากการที่เด็กผู้ชายรักแม่ แต่แม่มีพ่อเป็นคนรักอยู่แล้ว เด็กผู้ชายเลยจะสร้างอัตลักษณ์ด้วยการเลียนแบบพ่อของตนเอง เพราะพ่อเป็นคนที่แม่รัก ถ้าตนเป็นแบบพ่อแม่ก็น่าจะรักตนด้วย เช่นเดียวกับเด็กผู้หญิงจะตรงกันข้ามกันก็คือรักพ่อ จึงเลียนแบบแม่ เพราะแม่คือคนที่พ่อรัก
ประเด็นคือเด็กนั้นไม่ได้ใช้พ่อหรือแม่เป็นต้นแบบตลอดกาล พอเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นต้นแบบในการเลียนแบบนั้นจะย้ายที่ เด็กผู้ชายจะยึดติดกับปมโอดิปุสน้อยลง และเริ่มหันมาสนใจว่าจะทำอย่างไรให้ตนเป็น “ผู้ชายในอุดมคติ” และจะเริ่มหาต้นแบบอื่นๆ ที่มีอิทธิพลในสังคม และคนที่แสนมีความโดดเด่นในสังคมจะเป็นใครได้อีกล่ะครับนอกจากคนดังที่ออกตามสื่อต่างๆ ซึ่งงานวิจัยสมัยใหม่ก็เลยโยงว่า การที่เด็กคลั่งไคล้ดาราเพราะดาราคือตัวอุดมคติที่ตนต้องการจะเป็นนั้นเป็นคำอธิบายที่ฟังขึ้นทีเดียว
งานวิจัยยังพบความสอดคล้องว่า คนดังที่เด็กวัยรุ่นผู้ชายมักจะคลั่งไคล้นั้นมักจะเป็น นักกีฬา เพราะการเล่นกีฬาเก่งมักเป็นอุดมคติของเด็กผู้ชายส่วนใหญ่ ส่วนดารานั้นผู้ชายจะชอบในรูปแบบภาพลักษณ์ที่ “แมน” ห้าม ดุดัน ไปจนถึงก้าวร้าวเลยก็ได้ ซึ่งต่างสะท้อนถึงผู้ชายในแบบฉบับของสังคมทั้งนั้น
อย่างไรก็ตามในเด็กผู้หญิงนั้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจะใช้วิธีที่ต่างจากเด็กผู้ชาย เพราะเด็กผู้หญิงจะเน้นการสร้างอัตลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับ “การหาคู่รักในอุดมคติ” ผู้หญิงที่แต่เดิมเลียนแบบแม่ จึงเปลี่ยนมาสนใจคนเพศชายคนอื่นๆ ที่นอกจากพ่อแทนว่าจะสร้างตัวตนอย่างไรถึงจะเป็นคนรักที่ดีพร้อมของชายในอุดมคติ ดังนั้นเด็กผู้หญิงจึงสนใจดาราชายแทนที่จะดูต้นแบบดาราหญิง การวิจัยจำนวนมากยังพบว่าเด็กผู้หญิงจะคลั่งไคล้ดาราชายที่รูปลักษณ์ น้ำเสียง บุคลิกภาพ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่เป็นคุณภาพของชายที่ต้องการจะมาเป็นคนรัก
การได้หลงรักดาราเป็นเหมือนสนามฝึกซ้อมความรักของเด็กผู้หญิง แถมเป็นสนามฝึกซ้อมที่ “ปลอดภัย” เพราะการคลั่งไคล้ดารานั้น น้อยคนมากที่จะคิดว่าสุดท้ายตนจะได้เป็นคนรักเขาจริงๆ แต่เหมือนแค่ซ้อมรักคนคนหนึ่งไปก่อน
การสร้างอัตลักษณ์นั้นมีผลต่อตัวตนของคนหนึ่งมากครับ บุคคลต้นแบบเรียกได้ว่าเป็นเหมือน “ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ” ก็ว่าได้ ดังนั้นจึงมีการให้ความสำคัญเหมือนมีความรักที่ท่วมท้นต่อบุคคลที่ตนใช้เป็นแนวทางการกำหนดตัวตนของตนเอง ซึ่งต้นแบบของวัยรุ่นก็มักจะเป็นดารา นักกีฬา และคนดัง ยิ่งในเด็กผู้หญิงที่ดาราเป็นเหมือนตัวแทนของคนรักแล้ว ความคลั่งไคล้ในนักร้องดาราหนุ่มของเด็กวัยรุ่นผู้หญิงจึงเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนกว่าในเด็กผู้ชายเยอะ บรรดาแฟนคลับของดารากลุ่มใหญ่ที่สุดก็คือเด็กผู้หญิงนี่แหละครับ ผู้ชายเองจะที่แสดงความคลั่งไคล้น้อยกว่า ส่วนหนึ่งเพราะการสร้างอัตลักษณ์ไม่มีเรื่องโรแมนติกมาโยงด้วย
สิ่งหนึ่งที่ทั้งเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชายจะเป็นเหมือนกันคือ พออายุมากขึ้นอัตลักษณ์จะเริ่มมั่นคง และเข้าที่เข้าทางว่าตัวตนของตนควรเป็นแบบไหน ดาราที่เป็นเหมือนต้นแบบเลยมีอิทธิพลกับชีวิตน้อยลง ดังนั้นอาการคลั่งไคล้ดาราแบบวัยรุ่นจะพบน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ
สองคำอธิบายบนนั้นอาจจะสรุปได้ว่ากลไกทั้งทางยีน และทางจิตใจของมนุษย์ถูกออกแบบมาเพื่อคลั่งไคล้ดาราอยู่แล้วก็ได้ เหมือนธรรมชาติของตัวมนุษย์เองเป็นเหมือนตัวจุดประกาย แต่ไฟรักนี้ยังรุนแรงขึ้นด้วยอีกเหตุผลครับ สิ่งหนึ่งที่เติมเชื้อไฟรักของคนให้ดาราก็คือ เทคโนโลยี ในสมัยโบราณเราจะรู้จัก สนิท ผูกพันกับใคร ก็มักมาจากการเริ่มรู้สารทุกข์สุกดิบของอีกฝ่าย สมัยก่อนหากเราไม่รู้ด้วยตนเองก็ฟังจากที่คนอื่นเล่า ซึ่งก็อาจจะไม่ละเอียดนัก แต่พอเทคโนโลยีทันสมัยขึ้น เริ่มมีสื่อ ตั้งแต่ข่าวบันเทิงบนหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ที่มาคอยอัปเดตชีวิตคนดังให้เราฟังทุกวี่ทุกวัน และในปัจจุบันเรามีโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ว่าจะเป็น facebook, twitter, intagram ที่อัปเดตชีวิตข่าวสารความเป็นไปทั้งจากนักข่าว คนวงใน รวมถึงตัวดาราเองมาอัปเองที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนรู้จักดารามากขึ้นจากนั่งอ่านนั่งฟังข่าวเหล่านั้นได้ตลอดเวลา บางคนรู้เรื่องชีวิตดาราดีกว่ารู้เรื่องชีวิตคนในบ้านด้วยซ้ำ ความสนิทแบบ “เสมือนจริง” ทางข่าวสารข้อมูลนี่แหละครับ ที่สร้างความรู้สึกหลงใหล ครั้งไคล้ได้ยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ คนเรานั้นมีกลไกทางจิตใจอย่างหนึ่งคือการ “ร่วมรู้สึก” (empathy) คือ เวลารู้ว่าใครรู้สึกอะไร เราจะเหมือนมีอารมณ์ร่วมไปด้วย บางครั้งการได้รู้ว่าคนหนึ่งที่เราชอบเรารัก มีความสุข หรือทุกข์ เราเองก็ร่วมรู้สึกในแบบเดียวกัน และข่าวบันเทิง และ tweet ทั้งหลายนี่แหละ ที่มาทำให้เราร่วมรู้สึกไปกับชีวิตของคนดังทั้งหลาย ดารามาโพสต์เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันให้เรารู้สึกอินไปกับเรื่องราวเหล่านั้นด้วย เหมือนได้เห็นคนสนิทดีใจ หรือเสียใจ มันก็ทำให้อารมณ์เราเปลี่ยนไปตามคนนั้นเหมือนกัน พอยิ่งเสพก็ยิ่งรู้สึกใกล้ชิด และยิ่งหลงรัก แล้วก็ยิ่งทำให้ตามเสพข่าวสารพวกนี้เพิ่มอีกเรื่อยๆ เป็นวัฏจักร
ที่คุยกันมาถึงตอนนี้น่าจะทำให้เห็นที่มาที่ไปของการ “รักดารา” กันมากขึ้น แต่อย่างที่เราคุยกันไว้ครับ ว่ามันไม่ได้ใช้ได้กับทุกกรณี อย่างที่เห็นภาพชัดเลยคือ คนดังในรูปแบบใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในสังคมไทยไม่นานที่เรียกกันว่า “วัฒนธรรมไอดอล” ที่คำอธิบายด้านบนนั้นอาจจะไม่ตอบโจทย์ เพราะคนที่คลั่งไคล้ไอดอลไม่ได้มีแต่เด็กผู้หญิงหรือวัยรุ่น ไอดอลหญิงอย่าง AKB48 ของญี่ปุ่นหรือ BNK48 ของไทยต่างก็มีแฟนๆ ทั้งชายหญิง วัยรุ่น จนถึงผู้ใหญ่วัยทำงาน
ถ้าแบบนั้นยังมีพลังอะไรอีกที่ทำให้คนเรากลายเป็น “โอชิ” ของไอดอล บทความนี้ขอพูดถึงเรื่องนี้ในตอนต่อไปแล้วกันครับ แล้วพบกันใหม่ครับ
อ้างอิง
Engle, Y., & Kasser, T. (2005). Why do adolescent girls idolize male celebrities?. Journal of Adolescent Research, 20(2), 263-283.
Karniol, R. (2001). Adolescent females’ idolization of male media stars as a transition into sexuality. Sex Roles, 44(1), 61-77.
Raviv, A., Bar-Tal, D., Raviv, A., & Ben-Horin, A. (1996). Adolescent idolization of pop singers: Causes, expressions, and reliance. Journal of Youth and Adolescence, 25(5), 631-650.
ดิแลน อีวานส์. (2559). จิตวิทยาวิวัฒนาการ (พงศ์มนัส บุศยประทีป, แปล). กรุงเทพฯ , มูลนิธิเด็ก.
ริชาร์ด แอพพิกนาเนซี. (2562). ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (พงศ์มนัส บุศยประทีป, แปล). กรุงเทพฯ , มูลนิธิเด็ก.
https://www.bbc.co.uk/bitesize/articles/zjgv6v4
https://www.livescience.com/18649-oscar-psychology-celebrity-worship.html