- Poriin หรือ ศิรินญา ปึงสุวรรณ คือนักออกแบบของเล่นหรืออาร์ตทอยดีไซเนอร์ชื่อดังจากผลงานคาแรกเตอร์สุนัขจิ้งจอก Fenni
- กว่าจะเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ เธอต้องผ่านบททดสอบหลายอย่าง โดยเฉพาะครอบครัวที่ไม่เข้าใจและชี้นำให้เธอก้าวเดินไปบนเส้นทางสายวิทยาศาสตร์
- สำหรับเธอ สิ่งที่สำคัญกว่าผลลัพธ์คือการเรียนรู้ อีกทั้งการทำอาร์ตทอยยังเป็นเหมือนไดอารี่ที่บันทึกเรื่องราวของเธอในแต่ละช่วงชีวิต ซึ่งช่วยให้เธอได้หยุดพูดคุยและทบทวนตัวเองมากขึ้น
หนึ่งในความทุกข์ใจที่หนักหน่วงที่สุดของเด็กคนหนึ่งคือการไม่สามารถทำตามความฝันของตัวเอง เพียงเพราะความฝันนั้นไม่ตรงกับความต้องการของครอบครัว
ด้วยสถานะของความเป็นลูก เด็กส่วนมากจึงต้องยอมทิ้งความฝันของตัวเองเพื่อเดินบนเส้นทางที่ครอบครัวขีดไว้ แต่ไม่ใช่กับ Poriin (โพ-ริน) หรือ ‘ริน’ ศิรินญา ปึงสุวรรณ อาร์ตทอยดีไซเนอร์ชื่อดังที่หาวิธีบาลานซ์ความฝันของตัวเองกับความต้องการของครอบครัวผ่านการประนีประนอม ก่อนค่อยๆ ก้าวสู่การเป็นเจ้าของคาแรกเตอร์สุนัขจิ้งจอก ‘Fenni’ (เฟน-เน่) ที่นักสะสมอาร์ตทอยชาวไทยและต่างชาติอยากได้มาครอบครอง
ยอมงอไม่ยอมหัก
ย้อนกลับไปในสมัย Y2K เด็กหญิงรินพยายามชายตามองหาเพื่อนเล่นแถวบ้านสักคน แต่จนแล้วจนรอดเธอก็พบว่าเพื่อนบ้านของเธอนั้นมีแต่รุ่นพี่ที่อายุห่างกับเธอหลายปี
เธอจึงมีเพื่อนสนิทเป็นตุ๊กตาหรือไม่ก็ของเล่นที่แถมจากขนมถุง ซึ่งหากเพื่อนตัวไหนถูกใจเธอเป็นพิเศษ เธอก็จะนำเศษผ้าของแม่มาตัดเป็นชุดตุ๊กตาให้กับเพื่อนตัวนั้น
“เราดีใจที่รู้ตัวเองแต่เด็กว่าชอบของเล่น นอกจากชอบสะสมมันแล้ว เราก็ชอบการปั้นการลงสีการวาดรูปเล่นมาตั้งแต่เด็ก”
แม้สิ่งที่เธอชอบจะไม่ได้แตกต่างจากเด็กทั่วไป แต่ด้วยความชอบที่ชัดเจนแน่วแน่ในเส้นทางสายศิลปะ ทำให้ครอบครัวของเธออดไม่ได้ที่จะเป็นห่วงอนาคตของลูกสาว
“ครอบครัวเห็นว่าเราชอบศิลปะตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว แต่เขารู้สึกเป็นห่วงเรา กลัวว่าถ้าสมมติเราศึกษาเรื่องนี้ไปแล้วในอนาคตเราจะทำงานยังไง จะไส้แห้งไหม จะมีอนาคตที่ดีหรือเปล่า มันเลยทำให้ครอบครัวพยายามจะกันเราออกจากเส้นทางนี้”
ศิรินญายกตัวอย่างว่าครั้งหนึ่งเธอเคยขอไปเรียนศิลปะแต่กลับถูกปฏิเสธทันควัน ส่วนเวลาอยากวาดรูปเธอก็ต้องแอบวาด ซึ่ง ณ เวลานั้นเธอรู้สึกเครียดมากที่ไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากก้มหน้าก้มตาเชื่อฟังครอบครัวที่หวังให้เธอตั้งใจเรียนเพื่อก้าวเข้าสู่เส้นทางสายวิทยาศาสตร์ในอนาคต
“แต่สุดท้ายพอเราเริ่มโตขึ้น เริ่มเข้าใจในสิ่งที่เขาทำว่าเขาก็รักเราแหละเพราะต่อให้เป็นเราก็ยังมองไม่ออกด้วยซ้ำว่าอาชีพอาร์ตทอยดีไซเนอร์คืออะไร เหมือนสิ่งที่ดูใกล้เคียงกับศิลปะที่สุดก็คือจิตรกรรมกับประติมากรรม มันเลยทำให้เราเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์แบบที่ครอบครัวต้องการ”
ไม่กี่ปีต่อมา สาวน้อยจากอุดรธานีก็สามารถสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้สำเร็จ ดูเหมือนว่าเธอจะสามารถก้าวไปบนเส้นทางที่ครอบครัวกำหนดไว้อย่างดี แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้วนี่เป็น ‘แผนการ’ ที่เธอวางไว้แต่แรก เพื่อสร้างโอกาสให้ตัวเองได้เข้าใกล้ความฝันด้านศิลปะมากขึ้น
“เรายังชอบศิลปะและรู้ว่าตัวเองถูกกีดกันอยู่ เลยคิดว่าโอเคงั้นเรามากันคนละครึ่งทาง เลยเลือกมหาวิทยาลัยที่อยู่ไกลบ้าน เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้ของเราให้มากขึ้น สามารถเข้ามาในกรุงเทพได้สะดวก สามารถเห็นและศึกษางานศิลปะที่หลากหลายขึ้น เราเลยใช้เวลาช่วงมหาวิทยาลัยในการไปงานศิลปะรูปแบบต่างๆ ทั้งภาพพิมพ์ ภาพวาด ประติมากรรม ตามงานอีเวนต์หรือไม่ก็แกลเลอรี่ คือพยายามเอาตัวเองลงไปคลุกคลีตรงนั้นให้ได้มากที่สุด แล้วก็พยายามศึกษาทดลอง ถามตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่เราชอบจริงๆ”
อาร์ตทอย 101
พอได้อยู่ไกลบ้านและมีชีวิตเพื่อตัวเองอย่างแท้จริง ในที่สุดความภักดีต่อศิลปะก็ได้นำพาเธอไปพบกับนิทรรศการแห่งหนึ่งซึ่งจัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับแมวเก้าชีวิต
“จริงๆ ในงานมีการจัดแสดงผลงานศิลปะทั้งภาพวาด ประติมากรรม แต่สำหรับเรานี่คืองานศิลปะในรูปแบบอาร์ตทอยงานแรกที่ได้สัมผัส เราก็เริ่มรู้สึกว่าเฮ้ย…มันมีอาชีพนี้ที่สามารถทำอาร์ตทอยจริงๆ เราอยากลองเข้าไปอยู่ตรงนั้น เลยไปดูตารางว่าศิลปินจะมาวาดรูปสดในงานวันไหน พอถึงวันรินก็ไปยืนดูเขาวาดรูปทั้งวัน ได้เห็นกระบวนการทำงาน แถมมีโอกาสได้รู้จักศิลปินมากมาย ทั้งคนที่เคยออกแบบของเล่นตามถุงขนมกับคนที่ทำอาร์ตทอยเป็นอาชีพจริงๆ มันเลยทำให้รู้สึกว่าเฮ้ย..เราอาจจะทำมันได้ก็ได้นะ”
เมื่อตกหลุมรักอาร์ตทอยจนไม่อาจถอนใจ นิสิตจากรั้วมหิดลก็พยายามรวบรวมเฟซบุ๊กของศิลปินทุกคนภายในงาน เพื่อคอยติดตามผลงานและเริ่มเรียนรู้วิธีการทำอาร์ตทอยของศิลปินเหล่านั้นด้วยตัวเอง
“เราค่อยๆ ฝึกทำอาร์ตทอยจากตรงนั้น ปรากฏว่าเราชอบมันมาก ชอบการปั้น ชอบโมเดล จนเริ่มหาซื้ออุปกรณ์มาทำตามพี่ๆ ซึ่งสมมติมีข้อสงสัยหรือเกิดปัญหาอะไรเราก็ลองทักไปถามพี่ๆ เขาก็ยินดีที่จะให้คำแนะนำเราเสมอ”
นอกจากการขยันฝึกฝนทักษะขั้นพื้นฐานอย่างมีวินัย เธอได้ใช้เวลาช่วงหนึ่งออกไปหาประสบการณ์ Work&Travel ที่ซานฟรานซิสโก และได้พบกับร้านขายอาร์ตทอยร้านหนึ่งซึ่งจำหน่ายคาแรกเตอร์ที่มีชื่อว่า Dunny โดยจุดเด่นของมันคือการเป็น Platform Toy หรือของเล่นตัวเปล่าๆ สีขาวๆ ที่ผู้ซื้อสามารถนำมาสีมาเพ้นท์ตกแต่งได้ตามจินตนาการของตัวเอง ทำให้เธอปิ๊งไอเดียในการออกแบบคาแรกเตอร์ของตัวเอง
“เราได้ทำคาแรกเตอร์ชื่อ Toi (โต่ย) ตอนอยู่ประมาณปีสาม (2013) สำหรับเรา Toi คือกระดาษแผ่นหนึ่งที่เราเก็บไว้บันทึกเรื่องราวๆ ต่างๆ ที่เราเจอเพื่อถ่ายทอดให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ ตอนนั้นก็ลองปั้นน้องขึ้นมาจากดินน้ำมันบ้าง ดินสิงโตบ้าง ก่อนจะจบที่ดินเยื่อกระดาษ จากนั้นก็ทำพิมพ์เอง หล่อเอง ขัดเอง ลงสีเอง อยู่กับสารเคมี ทำทุกอย่างเองคนเดียวในหอพัก”
รินกล่าวต่อว่าถึงเธอจะหลงใหลกับอาร์ตทอยมากแค่ไหน แต่เธอก็ไม่เคยทิ้งการเรียน เพราะลึกๆ แล้ว เธอเองก็ยังมองไม่เห็นภาพในอนาคตของวงการอาร์ตทอยไทยแลนด์
“ปีนั้นเรายังมองไม่เห็นช่องทางว่าจะทำของเล่นไปตลอดชีวิต คนที่เห็นเราทำอาร์ตทอยยังคิดด้วยว้ำว่าเราทำประติมากรรมอะไรสักอย่าง เราเลยแบ่งเวลาส่วนหนึ่งมาหารายได้เพิ่มเติมด้วยการสอนพิเศษน้องๆ มัธยมควบคู่ไปด้วย
สำหรับการทำอาร์ตทอยช่วงแรกๆ ต้องบอกว่าเราได้นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่เรียนมาใช้เยอะมาก เรียกได้ว่าขุดความรู้วิทยาศาสตร์ที่มีทั้งหมดออกมาเพื่อเขียนสูตรในการหล่อเรซิ่นให้ออกมาในแบบที่เราต้องการตามระยะเวลาที่เรากำหนด โดยที่เรซิ่นไม่แตกไม่ระเบิด
ถ้าถามว่าตอนนั้นตั้งความหวังกับผลงานตัวเองมากน้อยแค่ไหน เราเป็นคนที่รู้สึกว่าถ้าจะใช้ชีวิตเราจะใช้ให้มีความสุข เราเลยไม่สนว่าสุดท้ายมันจะทำเงินให้ได้ไหม แต่เราแค่รู้สึกว่าเรามีความสุขตอนที่ทำมัน เราแฮปปี้มากๆ กับการที่เอาเรซิ่นไปหล่อแล้วพอตอนที่แกะพิมพ์ขึ้นมาแล้วได้เห็นตัวโมเดลออกมาในแบบที่เราต้องการ คือมันมีความสุขมากๆ จริงๆ เรียกได้ว่าเอาความสุขเป็นที่ตั้งสุดๆ”
เมื่อผลิต Toi ออกมาสำเร็จ ชื่อของเธอก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการอาร์ตทอยและนักสะสมกลุ่มเล็กๆ ซึ่งคำนวณแล้วยังไม่เพียงพอต่อการยึดเป็นอาชีพหลัก เธอจึงตัดสินใจไปสมัครงานประจำในตำแหน่ง ‘นักวาดการ์ตูน’ ของสำนักพิมพ์ EQ PLUS ที่โด่งดังเรื่องการผลิตหนังสือการ์ตูนความรู้สำหรับเด็ก
“ตอนสอบสัมภาษณ์เราบอกเขาไปตามตรงว่าชอบวาดรูปเล่นตั้งแต่เด็ก แต่ไม่มีพื้นฐานใดๆ ในการวาดรูปเลย จะมีก็แค่ใจที่อยากทำ พอฟังแล้วปรากฏว่าเขารับเราเข้าไปฝึก แถมยังช่วยหาคนมาสอนวาดรูปสอนลงสีรวมถึงสอนเทคนิคต่างๆ ให้เพื่อที่เราจะสามารถทำงานให้เขาได้”
เหตุนี้บัณฑิตป้ายแดงจึงได้เรียนรู้เทคนิคการวาดการ์ตูนมากมายโดยเฉพาะงานประเภทมังงะ ทั้งการออกแบบสัดส่วน การเขียนรูปร่างมนุษย์ เรียกได้ว่าเป็นงานที่ได้ทั้งเงินและความรู้
“พอผ่านไปหนึ่งปี พี่ๆ เขาให้การบ้านว่าอยากทำอะไรเพิ่มบ้าง ช่วงนั้นเราที่ทำอาร์ตทอยอยู่แล้วเลยเสนอว่าอยากทำบอร์ดเกมวิทยาศาสตร์ ซึ่งบริษัทก็สนับสนุนเต็มที่ ส่งเราไปเรียนทำโมเดล แถมซื้ออุปกรณ์ทำโมเดลราคาแพงๆ ให้ด้วย ซึ่งทุกวันนี้รู้สึกขอบคุณเขามากๆ ที่ให้โอกาสเรา หรือแม้แต่ตอนที่อาร์ตทอยของเราโด่งดังขึ้นจนไม่ค่อยมีเวลาโฟกัสกับงานประจำ เขาก็สนับสนุนให้เราออกไปทำในสิ่งที่รัก ไว้ถ้าวันหนึ่งไม่ไหวจริงๆ ค่อยกลับมาทำตรงนี้ใหม่ก็ได้”
บาดแผลคือสิ่งสวยงาม
จะด้วยกระแสงานอาร์ตทอยระดับโลกอย่าง Thailand Toy Expo หรือผลงานอาร์ตทอยของศิลปินไทยหลายคนที่ยกระดับฝีมือขึ้นมาเทียบเท่ากับอาร์ตทอยต่างประเทศ แต่ที่แน่ๆ คือตั้งแต่ปี 2019 ชื่อของ Poriin ถือเป็นหนึ่งในอาร์ตทอยดีไซเนอร์ชาวไทยไม่กี่คนที่บรรดานักสะสมและนักเก็งกำไรทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างแย่งชิงมาไว้ในครอบครอง
“ช่วงนั้นอาร์ตทอยกำลังเริ่มบูมในไทย ก็มีกลุ่มทุนจากจีนบินมา scout (แมวมอง) หาศิลปินในประเทศไทย เขาก็เจองานของรินและติดต่อมา ตรงนี้ถือเปลี่ยนจุดเปลี่ยนมากๆ ที่ทำให้เราเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในหนึ่งปี จากนั้นก็ได้เซ็นสัญญากับกลุ่มทุนที่ประเทศจีนในช่วงก่อนโควิด ซึ่งคาแรกเตอร์ตัวหลักที่ทำให้เราได้ไปจีนไม่ใช่ Toi แต่เป็น Fenni (เฟน-เน่) ซึ่งทำให้เราได้บินไปเมืองจีนทุกเดือนตามงานอีเวนต์ของเล่นต่างๆ ทำให้ผลงานได้กระจายออกไปสู่นักสะสมที่จีน ฮ่องกง ไต้หวัน จนเป็นที่รู้จักประมาณหนึ่ง”
เมื่อถามถึงที่มาของเจ้าสุนัขจิ้งจอก Fenni นักออกแบบของเล่นวัย 30 ปีกล่าวว่าเกิดจากการที่เธอรู้สึกว่าโลกใบนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ และความไม่สมบูรณ์แบบคือสิ่งที่ทำให้โลกใบนี้สวยงาม
“จริงๆ คาแรกเตอร์ทุกตัวของเราจะแฝงปรัชญาเรื่อง Wabi-Sabi ของญี่ปุ่นที่สอนให้เรามองเห็นความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ เราเลยรู้สึกว่าความไม่สมบูรณ์แบบของแต่ละคนทำให้คนๆ นั้น Unique (มีลักษณะเฉพาะ) และความ Unique คือสิ่งที่ทำให้คนแต่ละคนแตกต่างกัน นั่นคือความสวยงามและทำให้โลกของเรามีความหลากหลาย เลยถ่ายทอดออกมาผ่านอาร์ตทอยของเราโดยที่แต่ละตัวเขาก็จะมีความไม่สมบูรณ์แบบในแบบของเขา
อย่างแขนที่มีผ้าพันแผลของ Fenni จริงๆ แล้วมันเป็นกิมมิกหนึ่งที่เป็นตัวแทนของความไม่สมบูรณ์แบบที่ไม่ว่าคุณจะเป็นยังไงคุณก็ยังสามารถมีความรักดีๆ และมอบความรักดีๆให้กับคนอื่นได้”
นอกจากอิทธิพลของ Wabi-Sabi ศิลปินสาวบอกว่าชื่อและหน้าตาของ Fenni ได้รับแรงบันดาลใจจาก Fennec Fox (จิ้งจอกจิ๋วที่อาศัยอยู่ในทะเลทราย) ที่มีจุดเด่นคือการมีคู่ครองตัวเดียวเฉกเช่นนกเงือก
“ตอนเราทำ Fenni ขึ้นมาเพราะว่าเราต้องการสัตว์ที่มีคาแรกเตอร์ของความรักที่มั่นคง ประกอบกับอยู่ดีๆ ก็นึกถึงเรื่องราวตอนเด็กๆ ที่เราไม่ค่อยมีเพื่อนแถวบ้าน มันเลยทำให้เราใช้ชีวิตอยู่กับตุ๊กตา รู้สึกว่าตุ๊กตาคือเพื่อนของเรา แล้วก็รู้สึกว่ามันต้องมีคนที่รู้สึกเหมือนเราแน่ๆ เลยที่บางครั้งก็รู้สึกอ้างว้าง บางครั้งก็รู้สึกเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย เลยอยากทำคาแรกเตอร์ตัวหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้คาแรกเตอร์ตัวนั้นสามารถอยู่เป็นเพื่อนกับเขาได้ และจะไม่หนีเขาไปไหนไม่ว่าเขาจะเป็นคนยังไง คาแรกเตอร์ตัวนี้จะอยู่กับเขาเสมอ”
แม้ว่าผลงานของ Poriin จะเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ แต่เธอกลับเฮได้ไม่สุดเสียง ทั้งยังรู้สึกกระอักกระอ่วนใจเล็กน้อยเมื่อต้องบอกลาครอบครัวเพื่อเดินทางไปสานฝันในแดนมังกร
“เราไม่เคยบอกที่บ้านว่าทำงานด้านนี้ เพราะรู้สึกว่าครอบครัวอาจไม่เข้าใจ เราก็เลยลองทำให้เขาเห็นก่อนว่าเรามีความสุขกับมันและทำให้มันมั่นคงได้ เหมือนทำให้สำเร็จก่อนแล้วค่อยกลับไปบอกว่าเราทำอันนี้อยู่
ซึ่ง ณ วันที่แม่รู้คือเราต้องไปทำงานที่จีนแล้ว ด้วยความที่แม่ไม่เข้าใจเขาก็ถามเรา เราก็เอาโมเดลให้แม่ดู แม่ก็ถามว่ามันคืออะไรเอาไว้ทำอะไร ราคาสามพันมีคนซื้อเหรอ เราก็ค่อยๆ อธิบายแม่ ขอโอกาสให้เราได้ทำสิ่งที่ชอบก่อน แต่ถ้าทำแล้วไปต่อไม่ได้จริงๆ เราก็สัญญาว่าจะกลับมาเรียนต่อหรือทำงานในสายวิทยาศาสตร์อย่างที่พ่อกับแม่ต้องการ”
ผลลัพธ์ไม่สำคัญเท่าการเรียนรู้
ในฐานะหนึ่งในศิลปินรุ่นบุกเบิกที่ผ่านช่วงเวลาล้มลุกคลุกคลานกว่าจะได้ยืนอยู่ในแถวหน้าของวงการอาร์ตทอย เธอมองว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้คือการเอาความสุขเป็นที่ตั้ง
“พอเรารักอะไรมากๆ เราก็มีความสุข เราเลยรู้สึกว่ามันจะมีทางไปเสมอถ้าเราชอบมันและสู้เพื่อมันจริงๆ มันอาจจะมีอุปสรรคบ้างในบางครั้งแต่ว่าเราลองพยายามหาวิธีแก้อุปสรรคตรงนั้นเพื่อให้เราก้าวไปสู่จุดที่เราต้องการ
ที่สำคัญเราไม่เคยกลัวความล้มเหลวว่าน้อง(อาร์ตทอย) จะขายได้หรือไม่ได้ สำหรับเราการทำงานขึ้นมาอย่างหนึ่งและปล่อยมันออกมา เราก็ต้องชอบมันที่สุดอยู่แล้ว
นอกจากนี้เรามองว่าต่อให้เราไม่เก่งก็ไม่ได้แปลว่าเราจะทำมันไม่ได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือคนเราสามารถทำอะไรก็ได้ มันไม่ควรมีข้อมากำหนดว่าฉันอยากทำอันนั้น…แต่ พอ ‘แต่’ ก็ไม่ได้ทำ สำหรับเราถ้ามีคำว่า ‘แต่’ ก็อาจแปลว่าเขาอาจไม่ได้รักมันจริงๆ”
นอกจากการเอาความสุขเป็นที่ตั้ง เคล็ดไม่ลับอีกอย่างหนึ่งของเธอคือการไม่หยุดเรียนรู้
“ทุกวันนี้เราก็ยังเรียนรู้หาเทคนิคใหม่ๆ มาใส่ในชิ้นงาน เพราะการเรียนรู้มันเกิดขึ้นตลอดอยู่แล้ว ยิ่งพอมันเป็นอาร์ตทอย เราสามารถใส่เทคนิคต่างๆ แปลกๆ ประยุกต์ลงมาได้เยอะมาก เช่น ตอนดีไซน์ Toi เราจะคอยคิดภาพว่าจะให้มันออกมายังไง ไหนลองเอากากเพชรมาผสมสิ เอาสารเคมีตัวนี้มาผสมสิ ลองกวนมันข้างในดูว่ามันจะออกมาเป็นยังไง มันก็มีทั้งครั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ แต่ทุกครั้งมันก็คือการที่ทำให้เราได้เรียนรู้จากมัน
ยิ่งสมัยนี้เรื่องวัสดุการทำอาร์ตทอยก็มีหลากหลายมากขึ้น มันก็ทำให้เราได้ศึกษาไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนสิ่งที่เห็นอาจมีแค่เรซิ่นกับพลาสติกแบบแข็ง ปัจจุบันมีซอฟท์ไวนิล มีพีวีซี มีไฟเบอร์กลาส และวัสดุอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละวัสดุก็ใช้สีไม่เหมือนกัน อย่างถ้าเป็นงานเพ้นท์อาจไม่ค่อยต่าง แต่ถ้าเป็นสีพ่นจะต่างมาก เช่น ซอฟท์ไวนิลจะมีความนิ่มเพราะฉะนั้นสีจะต้องยึดเกาะและยืดหยุ่น ต่างกับเรซิ่นที่ใช้สีสเปรย์ทั่วไปตามร้านอุปกรณ์ก่อสร้างก็ได้ แต่สีบนซอฟท์ไวนิลทำแบบนั้นไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม ศิรินญาทิ้งท้ายว่านอกจากการไม่หยุดเรียนรู้แล้ว สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคืออาชีพที่เธอรักได้ช่วยให้เธอมีเวลาหันกลับมาทบทวนและพูดคุยกับตัวเองมากขึ้น
“พอทำงานแบบนี้ ด้วยความที่เราวางคาแรกเตอร์ต่างๆ ให้เหมือนกับไดอารี่ชีวิต คาแรกเตอร์แต่ละตัวจึงเป็นตัวแทนของเรื่องราวต่างๆ ที่เราประสบพบเจอในช่วงชีวิตนั้นๆ
ถ้าถามว่าได้เรียนรู้อะไรก็จะตอบว่า มันคือการได้เรียนรู้ตัวเองในแต่ละช่วงชีวิตในแต่ละช่วงวัย แล้วค่อยๆ บรรจงถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นอาร์ตทอย
มันทำให้เราคุยกับตัวเองบ่อยขึ้น มานั่งนึกนั่งวิเคราะห์นั่งตกผลึกออกมา เพราะกว่าจะออกมาเป็นคาแรกเตอร์ตัวหนึ่งได้ เราต้องทำความเข้าใจในบริบทตัวเองด้วย เลยรู้สึกว่าจริงๆ แล้วอาร์ตทอยทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ซึ่งไม่ได้ดีขึ้นแค่ในแง่ของการขายแล้วได้เงิน แต่มันดีขึ้นในด้านที่เราได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น และทำให้เราได้พยายามเข้าใจคนอื่นในแบบที่เขาเป็น ซึ่งทั้งหมดทำให้เรากลายเป็นคนที่มีความคิดหรือทัศนคติที่ดีขึ้น”