- เมื่อคนสองคนสนิทสนมกัน มักถูกด่วนสรุปว่าทั้งสองมีความสัมพันธ์กันแบบคู่รัก โดยอาจลืมคิดไปว่าความรักมีหลายรูปแบบมาก ไม่จำเป็นต้องเป็นคนรักกันเสมอไป ซึ่งเราเรียกความสัมพันธ์แบบนี้ว่า ‘Platonic Love’
- Platonic Love จะไม่มีความรักในเชิงโรแมนติกเข้ามาเกี่ยวแต่อย่างใด เป็นการมีความรักให้กัน แต่ไม่ได้ตกหลุมรักกัน
- เมื่อเราเจอกับปัญหาในชีวิตจนทำให้จิตใจของเรามืดมน การมีใครสักคนคอยรับฟังและซัปพอร์ตเราก็คงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย
“สนิทขนาดนี้ต้องเป็นแฟนกันแน่”
คำกล่าวนี้มักเกิดขึ้นเมื่อเราสัมผัสได้ว่าคนสองคนมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสองคนนั้นเป็นชายกับหญิง เรามักด่วนสรุปว่าทั้งสองมีความสัมพันธ์กันแบบคู่รัก โดยอาจลืมคิดไปว่าในความเป็นจริงความรักก็มีหลายรูปแบบมาก ไม่จำเป็นต้องเป็นคนรักกันเสมอไป
สองคนนี้อาจมีความห่วงใยให้กันโดยไม่มีเรื่องเพศหรือความโรแมนติกเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นความรักฉันเพื่อน เป็นความรักแบบครอบครัว เป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน ความรักความสัมพันธ์ในแบบมิตรแท้ในรูปแบบที่เรียกว่า ‘Platonic Love’
Platonic Love คืออะไร?
Platonic Love เป็นแนวคิดจากนักปรัชญากรีกโบราณอย่างเพลโต (Plato) โดยเขาเชื่อว่าความรักรูปแบบนี้สามารถนำพาบุคคลให้เข้าใกล้อุดมคติอันศักดิ์สิทธิ์ได้ เพราะเมื่อเราค้นพบคุณลักษณะเชิงบวกของบุคคลอื่นที่ทำให้เรารู้สึกสมบูรณ์หรือเติมเต็มก็จะเกิดความรักรูปแบบนี้ขึ้นมาก
ปัจจุบัน Platonic Love หรือ Platonic Relationship หมายถึงความสัมพันธ์ที่คนสองคนมีความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมกันโดยปราศจากความรู้สึกทางเพศและความรู้สึกเชิงโรแมนติก กล่าวง่ายๆ คือ เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะเพื่อนสนิทที่คอยรักและห่วงใยกันและกัน
ความรักในลักษณะอาจเกิดขึ้นในแรกพบก็ได้ เมื่อเราพบใครสักคน เราอาจรู้สึกถูกดึงดูดใจได้ในทันที เนื่องจากเราทั้งสองมีความชอบที่คล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ตาม ในการก่อตัวของ Platonic Love จะไม่มีความรักในเชิงโรแมนติกเข้ามาเกี่ยวแต่อย่างใด
ในอีกลักษณะหนึ่งที่จะพัฒนาไปเป็น Platonic Love คือเมื่อคนสองคนได้ทำความรู้จักจนเกิดเป็นพันธะพิเศษบางอย่าง ทั้งสองต่างก็ดูแลและเคารพกันและกัน พึ่งพิงกันและกันในช่วงเวลาสุขและทุกข์ มีความชอบความสนใจที่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ต้องการความสัมพันธ์แบบคู่รักโรแมนติก
ความสัมพันธ์ลักษณะนี้หมายถึงคู่เพื่อนสนิทต่างเพศหรือเพศเดียวกันก็ได้ เช่น Bromance คู่เพื่อนชายที่สนิทกัน, Womance คู่เพื่อนหญิงที่สนิทกัน และ Work spouse คู่เพื่อนร่วมงานที่เป็นดั่งเพื่อนสนิท โดยสิ่งที่คนในความสัมพันธ์ลักษณะนี้มีร่วมกันคือ ‘การมีความรักให้กัน แต่ไม่ได้ตกหลุมรักกัน’
สัญญาณของ Platonic Love
คุณลักษณะสำคัญของ Platonic Love คือการมีความห่วงใยให้กันโดยปราศจากความโรแมนติกหรือความต้องการทางเพศ อย่างไรก็ดี Platonic Love ยังมีคุณลักษณะอื่นๆ อีกที่แตกต่างจากความสัมพันธ์ประเภทอื่น เช่น
- ความใกล้ชิด (Closeness) – มีความรู้สึกเกี่ยวดองกัน มีความสนใจและประสบการณ์ร่วมกัน
- ความซื่อสัตย์ (Honesty) – ไม่มีความลับต่อกัน สามารถบอกเล่าความคิดความรู้สึกให้กันโดยไม่ถูกตัดสิน
- การยอมรับ (Acceptance) – รู้สึกสบายใจ ยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของกันและกัน รู้สึกปลอดภัยที่จะเป็นตัวของตัวเอง
- ความเข้าใจ (Understanding) – เข้าใจและเคารพพื้นที่ส่วนตัวของกันและกัน ไม่บังคับให้อีกฝ่ายทำในสิ่งที่ไม่ชอบ ใช้การสนับสนุนมากกว่าการบังคับ
ประโยชน์ของ Platonic Love
นักประสาทวิทยาสังคม Dr. John Cacioppo (2016) กล่าวว่า “ความเหงาเหมือนกับภูเขาน้ำแข็ง” เพราะภูเขาน้ำแข็งมีส่วนที่โผล่พ้นน้ำเพียงน้อยนิด แต่ฐานรากสำคัญที่เหลือกลับจมอยู่ใต้น้ำโดยไม่มีใครเห็น เช่นเดียวกับความเหงา หลายคนรู้เกี่ยวกับความเหงาเพียงน้อยนิด แต่ในความเป็นจริงความเหงาส่งผลมากกว่าที่เราคิด
ความเหงาเรื้อรังเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 20% ซึ่งมีอัตราใกล้เคียงกับโรคอ้วน เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าความเหงาทำให้ประสิทธิภาพในการนอนหลับลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน
ทั้งนี้ ความเหงาไม่ได้หมายความว่าเราต้องอยู่คนเดียวเสมอไป เมื่อเราอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย แต่ถ้าเรารู้สึกเดียวดาย ไม่มีใครเห็นเราอยู่ในสายตา ก็เกิดความเหงาขึ้นมาได้
Dr. Cacioppo แนะนำหนึ่งในวิธีรักษาคือ ‘การสนับสนุนทางสังคม’ (Social Support) กล่าวง่ายๆ คือ การมีคนคอยช่วยเหลือ ซัปพอร์ต และให้กำลังใจ ซึ่งใน Platonic Love ก็มีการสนับสนุนทางสังคมอยู่ด้วย
เมื่อเรารับรู้ถึงการสนับสนุนทางสังคม เราจะรับรู้ว่าตัวเองได้รับความรัก ความเอาใจใส่ การเห็นคุณค่า และการยอมรับ ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและจิต โดยทางกายจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี ส่วนทางจิตใจจะช่วยให้เกิดความมั่นคงทางอารมณ์ มีแรงจูงใจในการแก้ไขปัญหา และมีความเครียดที่น้อยลง
นอกจากนี้ Platonic Love ยังช่วยพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า ‘Resilience’ (การคืนกลับสู่สภาพเดิม) โดยในทางจิตวิทยาหมายถึง ความสามารถทางอารมณ์และจิตใจในการปรับตัวและฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติหลังจากเหตุการณ์วิกฤต กล่าวง่ายๆ คือ ‘การล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ได้’
จากการศึกษาโดย van Harmelen และคณะ (2017) พบว่า ตัวแปรทำนาย (Predictor) ที่มีอำนาจมากที่สุดของความสามารถในการฟื้นตัวหลังจากเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจคือ การมีมิตรภาพที่แข็งแกร่ง
เมื่อเราเจอกับปัญหาในชีวิตจนทำให้จิตใจของเรามืดมน การมีใครสักคนคอยรับฟังและซัปพอร์ตเราก็คงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย ซึ่งความสัมพันธ์แบบ Platonic ก็จะคอยช่วยเหลือเราในลักษณะนี้อยู่แล้ว จึงเป็นเหตุผลที่ว่า Platonic Love สามารถช่วยพัฒนา Resilience ของเราได้
แม้ว่า Platonic Love จะให้ประโยชน์กับเรามากมาย แต่เราต้องไม่ลืมว่าความสัมพันธ์ลักษณะเป็นแบบสองทาง เราต้องคอยดูแลกันและกัน ไม่ใช่คาดหวังให้อีกฝ่ายดูแลเราเพียงอย่างเดียว การเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้จะช่วยรักษาความสัมพันธ์ของเราให้คงอยู่ไปได้ตราบนานเท่านาน
อ้างอิง
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2562). Social support – การสนับสนุนทางสังคม.
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2566). Resilience – การฟื้นพลัง.
Adams, T. (2016). John Cacioppo: ‘Loneliness is like an iceberg – it goes deeper than we can see’.
Cherry, K. (2022). What Is a Platonic Relationship?
Frothingham, M.B. (2023). What Is A Platonic Relationship?
van Harmelen, A.-L., Kievit, R.A., Ioannidis, K., Neufeld, S., Jones, P.B., Bullmore, E., Dolan, R., Fonagy, P. & Goodyer, I. (2017). Adolescent friendships predict later resilient functioning across psychosocial domains in a healthy community cohort. Psychological Medicine, 47(13), 2312–2322.