- เกรอนุย ตัวละครในนวนิยายเรื่อง Perfume น้ำหอมมนุษย์ ปลิดชีพคนอื่นและตัวเองเหมือนที่แม่เขี่ยเขาทิ้ง ตัวเราเองก็อาจไม่ต่างจากเขานัก เพียงแต่เรื่องราวของเราส่วนใหญ่อาจเป็นเพียงความรู้สึกเดียดฉันท์ตัวเองเฉพาะในส่วนที่คนดูแลของเราไม่ชอบหรือที่คิดว่าคนดูแลของเราไม่ชอบ ซึ่งอาจถึงขนาดทำให้บางด้านของตัวเองดังกล่าวหายไปจากความรับรู้ของเรา
- ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา เขียนถึง เกรอนุย ในมุมมองจิตวิทยาเกี่ยวกับตัวตนที่มีผลส่วนหนึ่งมาจากการเลี้ยงดูโดยพ่อแม่หรือผู้ดูแล กล่าวคือ เราอาจมีลักษณะหรือนิสัยบางอย่างที่มาจากการพยายามทำให้พ่อแม่หรือผู้ดูแลเราพอใจ ขณะเดียวกันก็มีลักษณะหรือนิสัยอื่นๆ ที่พยายามจะไม่เป็น และอาจถึงขนาดที่ไม่ตระหนักรู้มันเลย
- เช่น ช่วงเวลาหนึ่งในวัยเด็กของใครบางคน เขามักถูกตำหนิเมื่อเข้าไปกวนพ่อแม่ และได้รับคำบอกกล่าวว่าให้ช่วยดูแลน้องเสียบ้าง เขาแปรสารนั้นไปเป็นความชิงชังส่วนหนึ่งในตัวเองที่มีลักษณะเป็น ‘ภาระ’ และพยายามรับผิดชอบการเรียน จัดการตัวเอง ช่วยเลี้ยงน้องอย่างดีที่สุด เขาโตมาโดยใช้โมเดลของการพร้อมจะแบกรับทุกอย่างไว้เพื่อคนอื่น หลีกเลี่ยงการเป็นผู้รับ เขาได้กำจัดเด็กคนที่มีสิทธิ์จะเรียกร้องการโอบอุ้มอย่างอ่อนละมุนให้ตายไปจากการรับรู้แล้ว
1.
“พ่อครับแม่ครับ แต่ถึงอย่างนั้น… ผมก็รักพ่อแม่เสมอ” – เกออร์ก เบ็นเดมันน์, The Judgment โดย คาฟคา
มนุษย์ส่วนใหญ่ เมื่อคลอดและอยู่รอดมาแล้ว ก็ย่อมอยากได้รับการยอมรับและอยากมีคุณค่า แต่หลายครั้ง นิยามคุณค่าต่างๆ เป็นสิ่งที่เราได้รับอิทธิพลมาจากคนอื่นอีกที ไม่ว่าจากคนที่เคยดูแลเราครั้งยังเด็ก หรือกระแสสังคม คนมากมายเติบมาโดยตั้งเงื่อนไขให้ตัวเองมีเฉพาะคุณลักษณะบางชุด และจะใจดีกับตัวเองไม่ได้หากชีวิตไม่เป็นไปตามเงื่อนไขนั้น จึงกลบตัวเองด้วยน้ำหอมกลิ่นสังเคราะห์อยู่ร่ำไป กระทั่งไม่ได้กลิ่นเดิมของตนเองที่รุ่มรวยเต็มเปี่ยมกว่านั้นอีกแล้ว
ทว่าหากเราพร้อมทำงานกับโลกภายใน เราก็ยังสามารถที่จะได้กลิ่นอื่นๆ ของตัวเองซึ่งซ่อนอยู่ และโอบกอดมันไว้ในความตระหนักรู้ ต่อให้คนอื่นเห็นว่าเป็นกลิ่นสกปรกน่ารังเกียจก็ตาม อีกทั้งเรายังโชคดีกว่าใครคนหนึ่งที่ไม่เคยมีแม้แต่กลิ่นของตน เขามีจมูกชั้นเลิศที่สามารถใช้รังสรรค์น้ำหอมที่ทำให้ผู้คนทั้งโลกสยบได้ แต่นั่นไม่เคยเป็นความสัมพันธ์จริงๆ เพราะเขาไม่แม้แต่จะสามารถมีความสัมพันธ์กับตัวเอง
ในศตวรรษที่ 18 ฌอง บับติสเกรอนุย (อ่านว่า เกรอ-นุย) ตัวละครใน Das parfum นวนิยายที่เขียนขึ้นในปี 1985 โดยนักเขียนชาวเยอรมัน Patrick Süskind เคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เรื่อง Perfume (น้ำหอมมนุษย์) เกิดมาในตลาดปลากลิ่นคาวคละคลุ้งแห่งนครปารีส แม่ทิ้งเกรอนุยซึ่งยังเป็นทารกน้อยไว้กับกองซากปลา ก่อนจะถูกพิพากษาประหารชีวิตด้วยข้อหาพยายามฆ่าลูกในไส้ตัวเอง เกรอนุยจำต้องเข้าไปอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่มีเด็กๆ คนอื่นคอยปองร้ายเพราะรู้สึกว่าเขามีลักษณะบางอย่างแตกต่างจากคนอื่น ทว่าเขาสามารถอยู่ในโลกแห่งกลิ่นอันไร้ขีดจำกัดแต่เพียงลำพัง ต่อมาเขาถูกขายให้ไปทำงานหนักที่โรงฟอกหนัง และภายหลังก็ถูกช่างทำน้ำหอมซื้อตัวไปช่วยงาน
ตลอดชีวิตที่ดำเนินไป ไม่มีใครรักเกรอนุยเลย หากจะมีคนที่แยแสเขาบ้างก็เพียงหวังผลประโยชน์ แต่เขาก็ยังพยายามรับมืออย่างดีที่สุดเท่าที่จะคิดได้ในตอนนั้นแล้ว เช่น ยอมทำงานหนักเกินวัยเพื่อสร้างประโยชน์ให้ผู้ใหญ่ที่เขาไปอยู่ด้วยอย่างเหลือคณานับ หรืออยู่คนเดียวในโลกของกลิ่น และมีเพื่อนเป็นกลิ่นเมื่อเพื่อนๆ ที่เป็นคนรุมแกล้ง (เหมือนเราหลายคนในวัยเด็ก ซึ่งเมื่อถูกรุมแกล้งก็อาจเลือกจะหลบลี้อยู่ในโลกของหนังสือหรือโลกจินตนาการเพื่อปลอบประโลมตนเอง)
ชีวิตเกรอนุยจะแตกต่างไปอย่างไรหากมีใครแม้เพียงหนึ่งคนรักใคร่ เอ็นดู และผูกพันกับเขาบ้าง? และหากเกรอนุยเองมีโอกาสขอบคุณและชื่นชมเด็กน้อยคนนั้นในตัวเขาที่ได้ทำดีที่สุดอย่างที่จะทำได้ในเวลานั้นแล้ว? เพราะหากทำดีกว่านั้นได้ เขาก็ทำไปแล้ว
อย่างไรก็ดี ไม่มีใครประคองเกรอนุยให้ได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านั้น และกาลก็ได้ล่วงไป เกรอนุยย้ายงานไปที่โรงทำน้ำหอมในเมืองกราสส์ และเริ่มคร่าชีวิตสาวงามพริ้งพรายเพื่อเก็บกลิ่นมาปรุงเป็นน้ำหอมอันเลอเลิศ เกรอนุยได้รับอำนาจจากน้ำหอมมนุษย์จรุงกลิ่นอันยิ่งกว่าความอภิรมย์ใดบนสรวงสวรรค์ ซึ่งสามารถโน้มนำความรักของมนุษยชาติ
กระนั้น วรรคตอนหนึ่งในภาพยนตร์กล่าวว่า “เพียงอย่างเดียวที่น้ำหอมไม่สามารถทำได้ก็คือ ไม่อาจทำให้เกรอนุยกลายเป็นบุคคลที่อาจรักและได้รับความรัก” …เกรอนุยเดินทางกลับปารีสบ้านเกิด เขาราดน้ำหอมลงบนตัวเอง ยังให้ฝูงอาชญากรกระโจนเข้ารุมทึ้งกลืนกินเขา …ในนามของความรัก
2.
ความสัมพันธ์ของเกรอนุยถูกถักทอขึ้นด้วยความตาย อันเป็นการทำซ้ำวิธีผูกสัมพันธ์อย่างเดียวที่เขารู้จักจากแม่ นอกจากสาวงามที่ต้องมาพลีชีพเป็นน้ำหอมแล้ว ผู้คนที่เกรอนุยเคยอยู่ด้วยนั้น เมื่อขายเกรอนุยหรือปล่อยให้เขาจากไปอย่างไร้เยื่อใย คนเหล่าก็นั้นจะมอดม้วยด้วยภัยต่างๆ คล้ายจะเป็นสัญลักษณ์บอกกับผู้ที่เคยอ่านหนังสือหรือดูหนังเรื่องนี้ว่า ในเมื่อคนอื่นไม่ให้ค่าเกรอนุย ชีวิตคนอื่นก็ไร้ค่าสำหรับเกรอนุยด้วย
ส่วนความตายของเกรอนุยเอง – ผู้ไม่แน่ใจว่าตนเองคือใคร แม้กระทั่งดำรงอยู่หรือไม่ – คืบคลานตามมาหลังจากที่เขารับรู้ว่า แม้น้ำหอมวิเศษกลิ่นสาวสะคราญจะทำให้มนุษย์อื่นหลงใหลเขาได้ ทว่าอย่างไรเสียผู้คนก็เพียงต้องมนตร์กลิ่นน้ำหอมที่เขาปรุงขึ้น แต่ไม่ได้พิศวาสตัวเขา อีกทั้งเขาก็ชิงชังมนุษย์ด้วย อย่าว่าแต่เขาไม่อาจรักคนอื่นเลย …เขาเองก็ไม่มีตัวเองให้รัก
ก่อนที่เกรอนุยจะเดินทางมาถึงเมืองกราสส์ เขาได้หลีกลี้ผู้คนมาพำนักอยู่ในซอกหลืบกรุ่นกลิ่นหินมรณะอันสงบบนภูเขา และ ณ ที่นั่นเอง เขารับรู้ว่าตัวเองไม่มีกลิ่น เสมือนหนึ่งว่าไร้ชีวิตที่จะมา สัมพันธ์ กับตัวเองและคนอื่นอย่างแท้จริงได้ เขาเป็นเพียงซากปลา แม้แต่สำหรับแม่.. สายใยแรกของทารกเกรอนุยและผู้ดูแลไม่เคยผูกพันมั่นคง
3.
ในหนังสือ The Highly Sensitive Person ดร. อิเลน อารอน (Elaine N. Aron) เขียนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพิ่งเกิดว่าจะติดแม่ ดังที่แม่ส่วนใหญ่ก็ต้องการ แต่ในบางกรณี แม่หรือผู้ดูแลหลักอาจมีปัญหาทางจิตหรือปัญหาอื่นๆ เกินกว่าจะใจใส่เด็ก หรือผู้ดูแลไม่ปลอดภัยต่อเด็ก หรือให้ค่าเด็กที่ทำตัวมี “ปัญหา” ให้น้อยที่สุด หรือบ้างก็เหมือนกับแม่ของเกรนุยที่ถึงขนาด “อยากให้เด็กตายไปเลย”
ทารกที่ได้รับสารเช่นนั้นจะพยายามไม่พันผูกกับผู้ดูแลอย่างที่สุด และมักหลีกเลี่ยงความใกล้ชิดหรือการปฏิสัมพันธ์เหมือนกับเกรอนุย เกรอนุยไม่เคยมีแม่แบบของความสัมพันธ์อันรักใคร่ผูกพันกับแม่และมนุษย์คนอื่น ดังนั้น ในความพยายามอันเดียงสาที่จะสานสัมพันธ์กับ(กลิ่นของ)มนุษย์อื่น เกรอนุยจึงทำได้เพียงส่งต่อความตายให้ผู้อื่นและตนเอง
พวกเราเองก็อาจจะไม่ต่างอะไรกับเกรอนุยมากนักในแง่ที่ว่า ลักษณะการตอบสนองที่ผู้ดูแลต้องการจากเรามีผลกระทบกับความรับรู้เกี่ยวกับตัวเอง อีกทั้งกำหนดพฤติกรรมของเราและวิธีการที่เราใช้สัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย
เกรอนุยเป็นตัวละครในนวนิยายซึ่งมีความสุดโต่ง กล่าวคือ เขาปลิดชีพคนอื่นและตัวเองดังที่แม่เขี่ยเขาทิ้ง แต่เรื่องราวของพวกเราส่วนใหญ่อาจเป็นเพียงความรู้สึกเดียดฉันท์ตัวเองเฉพาะในส่วนที่คนดูแลของเราไม่ชอบ และอาจถึงขนาดทำให้ด้านที่เกี่ยวกับตัวตนดังกล่าวหายไปจากความรับรู้ของเรา
ทว่านี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างผลกระทบแบบหนึ่งเท่านั้น เพราะมนุษย์มีความซับซ้อนหลากหลายและมีปัจจัยแวดล้อมไม่เหมือนกัน ต่อให้เจอประสบการณ์เดียวกันในวัยเดียวกัน ก็อาจรับรู้และตอบสนองแตกต่างกันมากถึงขั้นไปในทิศทางตรงข้ามเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ในวัยเด็กที่เราต่างก็ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ การทำตัวให้ถูกใจคนดูแลไม่เพียงเป็นความอยู่รอด แต่เด็กที่รู้ความขึ้นหน่อยแล้วก็มักรักและเห็นใจคนที่มาดูแลเรามากเช่นกัน อันเป็นส่วนทำให้เกิดการตอบสนองรูปแบบหนึ่ง(ท่ามกลางความเป็นไปได้ของรูปแบบอีกมากมาย) เป็นการทำเฉพาะสิ่งที่ทำให้ผู้ดูแลสบายใจนับแต่วัยเด็กมาเรื่อยๆ
เช่น บางคนเคยรับรู้ว่าพ่อหรือแม่เครียดมากพอแล้วและมักตำหนิเขาอยู่เนืองๆ เมื่อรู้สึกว่าเขากวน ทั้งมักบอกให้เขาช่วยดูแลน้องเสียบ้าง เขาแปรสารนั้นไปเป็นความชิงชังส่วนหนึ่งในตัวเองที่มีลักษณะเป็น ‘ภาระ’ จากนั้นก็พยายามรับผิดชอบการเรียน จัดการชีวิตประจำวันของตัวเอง ช่วยเลี้ยงน้องอย่างดีที่สุด และอื่นๆ เขาโตมาโดยใช้โมเดลของการพร้อมจะแบกรับทุกอย่างไว้เพื่อคนอื่น หลีกเลี่ยงการเป็นผู้รับ เขากำจัดเด็กคนที่มีสิทธิ์จะเรียกร้องการโอบอุ้มอันอ่อนละมุนให้ตายไปจากความรับรู้แล้ว ลึกๆ เขาไม่เชื่อว่าตัวเองควรค่าจะได้รับสิ่งดีๆ จนกว่าเขาจะทำตามเงื่อนไขบางอย่างแล้วเท่านั้น และหลายครั้ง คนอื่นๆ ที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าวก็ดูด้อยค่าในสายตาเขาด้วยเช่นกัน
การตีความรับรู้เหตุการณ์และเงื่อนไขที่แต่ละคนตั้งให้ตัวเองเพื่อตอบสนองความรับรู้ต่างๆ ย่อมไม่เหมือนกัน แต่ก็มักได้รับการพัฒนาขึ้นโดยไม่รู้ตัวในวัยเด็ก และมีกรณีมากมายในแฟ้มงานนักจิตบำบัดที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อชุดคุณลักษณะหนึ่งๆ ถูกใช้มานานเกินไป วันหนึ่งใครบางคนก็กลายเป็นผู้ใหญ่เศร้าสร้อย เหนื่อยหมดพลัง บ้างก็อยากตาย เริ่มเรียกร้องจากคนอื่นเกินงาม มักรับรู้ข้อความที่เคยถูกตัดสินในอดีตผ่านปากและสายตาของคนอื่น (โดยคนอื่นในปัจจุบันอาจตัดสินจริงหรืออาจไม่ได้คิดอย่างนั้นเลยก็ได้) หรือบางคนก็ไม่ได้คิดลบอะไรแต่ป่วยเรื้อรังทางร่างกายอย่างประหลาด อันเป็นจุดที่เขาแสวงหาหนทางเปลี่ยนแปลง
ในกระบวนการทำงานกับจิตใจ ใครคนหนึ่งตระหนักในที่สุดว่าตัวเองพิพากษาว่าเด็กในอดีตคนนั้นเป็นภาระ (ซึ่งอาจเป็นความรู้สึกที่เด็กได้รับจากผู้ดูแลอีกที แม้ว่าผู้ดูแลดังกล่าวจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม) ถ้าไม่เกิดมาผู้ใหญ่ก็คงไม่ลำบาก หรือบางคนก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้มากมาตั้งแต่เด็ก แต่เพิ่งตระหนักว่าเขากดดันตัวเองมากขึ้นไปอย่างไร้เพดานเพื่อทำสิ่งที่ผู้ดูแลเคยเคี่ยวกรำให้เขาทำ แม้ว่าจะไม่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันของเขาแล้ว อีกทั้งมักจะลืมหรือถึงขนาดไม่เคยขอบคุณสิ่งดีๆ ที่ตนเองทำเลย แต่ในกระบวนการเยียวยา เขาก็ได้หวนระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ทำให้เสียใจ ปลดปล่อยความบอบช้ำออกมากับน้ำตาอีกครั้ง และกลับไปโอบอุ้มเด็กที่เคยเสียใจคนนั้น พร้อมกับมองเห็นคุณลักษณะน่าสรรเสริญอื่นๆ อีกมากของเด็กคนนั้นในตัวเองที่เขาจงใจทิ้งไป อีกทั้งระลึกได้ถึงหลายห้วงเวลานับแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ที่พ่อแม่ชื่นชมเขามาก เขารู้สึกมีพลังขึ้นมหาศาล
4.
จะเกิดอะไรขึ้นหากเราทุกคนได้กลับไปโอบอุ้มและขอบคุณตัวเราในวัยเด็ก?
เราจะยอมรับตัวเองไปถึงส่วนที่ถูกปฏิเสธได้ไหม? เรายังจำเป็นต้องมีเฉพาะลักษณะตามอุดมคติที่ตัวเองใฝ่ฝันเสมอไป หรือตามที่ผู้ดูแลพอใจอย่างเกินพอดีต่อไปอีกหรือไม่? พวกเขาอยากให้เรามีลักษณะบางอย่างชั่วนิรันดร์ หรือเขาแค่พูดด้วยอารมณ์ที่เกิดเฉพาะในห้วงเวลานั้นๆ? และถ้าหากเรามีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้วและคู่ควรกับความรักอันปราศจากเงื่อนไขจากตัวเอง เรายังจะส่งต่อเงื่อนไขที่เคยเอามาเฆี่ยนตีตัวเองไปให้คนอื่นอย่างเลยเถิดหรือไม่?
ในกระบวนการทางจิตวิทยา มีกรณีที่ผู้เข้าร่วมตระหนักรู้ไปอีกชั้นหนึ่ง อันว่าวิธีการที่พ่อแม่ใช้สัมพันธ์กับเขาซึ่งทำให้เขาไม่ชอบบางส่วนของตนเองนั้น เขากลับใช้วิธีการดังกล่าวกับลูกเป็นอาจิณ และได้ส่งต่อไปให้ลูกของเขาอีกทอดหนึ่งแล้ว เช่น แสดงความเป็นห่วงด้วยการตำหนิเป็นเนืองนิตย์ หรือใช้ความรุนแรง หรือแสวงหาความสมบูรณ์แบบอย่างร้ายกาจ และอื่นๆ
กระนั้น ความตั้งใจที่จะเข้าใจตัวเองของเขาช่างน่าชื่นชม และมรดกกรรมของเขาก็รุนแรงน้อยลงมากแล้วเมื่อเทียบกับวิธีที่คนรุ่นก่อนใช้ดูแลเขา ถ้าเขารู้จักวิธีที่ดีกว่านี้ เร็วกว่านี้ เขาก็คงใช้ไปนานแล้ว
อีกทั้งวิธีการเหล่านั้นของคนทุกรุ่นก็ยังมีสารที่เป็นบวกซ่อนอยู่มากกว่านั้นอีก เช่น วิธีการเหล่านั้นมาจากความรัก วิธีการเหล่านั้นทำให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแกร่งและประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้ วิธีนี้ทำให้ลูกปลอดภัยได้เร็วที่สุด เป็นต้น การไม่ผลักไสความไม่พอใจที่อาจเกิดขึ้นก็จำเป็นในการเยียวยาแต่ในการตระหนักรู้ความรู้สึกดังกล่าวก็ยังมีความ รู้สึกขอบคุณ ได้เช่นกัน
ดังนั้น หากวิธีที่คนดูแลเราตอนเด็กมีผลลบต่อวิธีที่เราดูแลตัวเองและเริ่มเป็นโทษต่อคนที่เราดูแลอยู่ในตอนนี้ เราก็สามารถขอบคุณความคุ้นเคยเก่าแล้วโบกมือลาปรับโปรแกรมหาจุดสมดุลใหม่ได้เสมอ
ไม่ว่าความสัมพันธ์กับคนอื่นจะเป็นเช่นไร พวกเราก็ย่อมโชคดีกว่าเกรอนุยที่ยังมีตัวเองไว้สัมพันธ์ด้วย เรามีศักยภาพที่จะหลุดพ้นจากเงื่อนไขอันคับแคบที่เอามาขังตัวเอง เห็นคุณค่าและยอมรับตัวเองได้ แม้ในส่วนที่ไม่สอดคล้องกับอุดมคติที่เราหรือคนอื่นวาดไว้ โดยเราอาจใช้วิธีจัดการข้อมูลต่างๆ ในจิตใจอีกครั้งเหมือนที่นักเล่นแร่แปรธาตุทดลองผสมผสานธาตุต่างๆ จนเกิดธาตุใหม่ขึ้น
ดังนั้น ต่อให้บางครั้งเราต้องแหลกสลาย แต่มันก็เป็นโอกาสขยายความสำนึกรู้ใหม่ๆ อันมีอิสรภาพที่กว้างขวางออกไป และเหนือไปกว่านั้นก็อาจกระตุ้นให้เรารู้สึกขอบคุณสิ่งต่างๆ มากกว่าคนที่ไม่ตระหนักถึงความตายก่อนตายแบบนี้ด้วย
อย่าลืมสิว่า เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราก็สามารถเป็นพ่อแม่อีกคนของตัวเอง ซึ่งสามารถรักตัวเองอย่างไร้เงื่อนไขได้เสมอ
อ้างอิง
ภาพยนตร์ Perfume: The Story of a Murderer (2006) กำกับโดย Tom Tykwer ซึ่งบทภาพยนตร์อิงจากนวนิยาย Das Parfum (1985) โดย Patrick Süskind มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยชื่อ น้ำหอม แปลโดยสีมน มีทั้งที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์ และสำนักพิมพ์เวิร์ด วอนเดอร์The Highly Sensitive Person: How to Thrive When the World Overwhelms You (2011) โดย Elaine N. Aron