- คำพูดที่ดูเหมือนหวังดี แต่แฝงไปด้วยความต้องการควบคุมหรือทำให้รู้สึกผิด, แกล้งทำดีต่อหน้า แต่จริงๆ ตั้งใจที่จะทำร้าย หรือทำให้รู้สึกแย่ด้วยแล้วบอกว่า “ก็แค่เรื่องล้อเล่น” “แกล้งเล่นไม่ได้เหรอ” พฤติกรรมเหล่านี้คือ ‘ความก้าวร้าวเคลือบน้ำตาล’ หรือ ‘Passive Aggressive’
- ความก้าวร้าวเคลือบน้ำตาลอาจเป็นผลมาจากการที่เขาไม่สามารถจัดการหรือควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ เขาจึงต้องหาวิธีระบายอารมณ์ออกมา
- หัวใจของการลดความก้าวร้าวนี้ คือการสร้างวัฒนธรรมของการพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่คือความกล้าหาญในการเผชิญหน้ากับความเปราะบางของตัวเอง และสร้างทัศนคติของการเผชิญหน้า คุยอย่างตรงไปตรงมา และซื่อสัตย์กับความรู้สึกมากขึ้น
ความรุนแรง (Aggressive) คือการกระทำความรุนแรงที่เราสามารถเห็นได้อย่างตรงไปตรงมา แล้วระบุได้ทันทีว่าความรุนแรงคือสิ่งที่ไม่เหมาะสม แล้วนั่นก็มักเป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ ซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ เชื่อว่า มนุษย์มีความก้าวร้าวเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานเพื่อที่จะมีชีวิตรอด มนุษย์ยุคก่อนฆ่าสัตว์ไม่เพื่อปกป้องครอบครัวก็เพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอด แน่นอนว่าความก้าวร้าวมีประโยชน์หากใช้ในทางที่ถูก เช่น ถ้ามีคนจะทำร้ายร่างกายคนที่เรารัก ความก้าวร้าวหรือความรุนแรงที่ใช้ต่อสู้เพื่อปกป้องคนที่รักก็เป็นสิ่งที่ประโยชน์ ถึงอย่างนั้น ความก้าวร้าวก็มีผลที่ตามมาเช่นเดียวกัน เช่น การต่อสู้อาจนำมาซึ่งการบาดเจ็บ ความเสียหายทางกายและทางใจ
เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่ตรงไปตรงมา และเพื่อหลีกหนีพฤติกรรมก้าวร้าวที่สังคมไม่ยอมรับ มนุษย์จึงเปลี่ยนรูปแบบความรุนแรงนั้นเป็น ‘ความก้าวร้าวเคลือบน้ำตาล’ หรือ ‘Passive Aggressive’ เมื่อการเผชิญหน้าตรงๆ อาจทำให้รู้สึกลำบากใจ อึดอัด หลายคนจึงใช้ดาบทิ่มแทงโดยที่อีกฝ่ายไม่ค่อยรู้ตัว (บางครั้งคนทำก็ไม่รู้ตัว) เพราะเป็นวิธีระบายความรู้สึกที่อัดอั้นในใจที่แยบยล แล้วก็ยังเป็นสิ่งที่สังคมยังรู้ทันได้ยากหากไม่ได้สังเกตดีๆ
9 เช็คลิสต์ที่อาจบอกได้ว่าคุณกำลังเจอความก้าวร้าวเคลือบน้ำตาล (Passive-Aggressive)
- เขาใช้น้ำเสียงและถ้อยคำที่แสนจะเป็นมิตรเพื่อหลอกด่าคุณ
- เขาแกล้งทำดีต่อหน้า แต่จริงๆ ตั้งใจที่จะทำร้าย
- เขาแสดงความนิ่งเฉยที่เป็นการเมินเฉยให้คุณรู้สึกแย่
- เขาพูดแซะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้รู้สึกแย่ทีละนิดทีละหน่อยแต่บ่อยครั้ง
- เขาทำให้รู้สึกแย่ด้วยแล้วบอกว่า “ก็แค่เรื่องล้อเล่น” “แกล้งเล่นไม่ได้เหรอ”
- เขาใช้คำพูดที่ดูเหมือนหวังดี แต่แฝงไปด้วยความต้องการควบคุม หรือทำให้รู้สึกผิด
- เขาประชดชันทั้งที่ตัวเองต้องการอย่างหนึ่ง แต่กลับพูดอย่างอีกอย่างด้วยความเสียดสี
- เขาพูดท้าทาย หรือต่อต้านให้คุณรู้สึกหงุดหงิดใจอยู่บ่อยๆ
- เขาแสดงออกเหมือนเป็นคนดี แต่ลึกๆ มีความเกรี้ยวกราด ขี้อิจฉาที่ก่อกวนจิตใจ
ความก้าวร้าวเคลือบน้ำตาลอาจเป็นผลมาจากการที่เขาไม่สามารถจัดการหรือควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ เขาจึงต้องหาวิธีระบายอารมณ์ออกมา
สมมุติว่าเขารู้สึกน้อยใจ ถ้าเขาเป็นคนที่จัดการอารมณ์ตัวเองได้ เขาก็จะยอมรับความรู้สึก แล้วเลือกมาบอกความรู้สึกเพื่อปรับความเข้าใจ ความรู้สึกน้อยใจก็จะหายไป แต่ถ้าเขาเป็นคนที่เก็บกดอารมณ์หน่อยเขาก็อาจจะใช้วิธีระบายอารมณ์ที่ขุ่นมัวด้วยความแยบยล หรือ Passive-Aggressive ตามตัวอย่าง 9 ข้อด้านบนนั่นเอง
การไม่สื่อสารอารมณ์ ความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมามักจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ค่อยๆ พังโดยไม่รู้ตัว หรือรู้ตัวอีกทีก็สายเกินแก้ไปแล้ว พฤติกรรมความก้าวร้าวที่แยบยลนี้จะค่อยๆ กัดกินความสัมพันธ์ เราอาจรู้สึกหงุดหงิดเล็กน้อยจากการถูกหลอกด่า ซ้ำๆ จากการถูกพูดทิ่มแทงซ้ำๆ พอมันเป็นการสะกิดทีละเล็กทีละน้อยเราก็มักจะไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่เหมือนการทำความรุนแรงแบบตรงไปตรงมา แต่พอปล่อยไว้นานวันเข้า ความรู้สึกปลอดภัยในความสัมพันธ์ก็จะค่อยๆ หายไป ความเชื่อใจก็ลดน้อยลง ดังนั้น หากคุณกำลังเจอพฤติกรรมความก้าวร้าวที่แยบยลในความสัมพันธ์ อย่าซุกปัญหาไว้ใต้พรมแล้วปล่อยทิ้งค้างไว้ให้ทับถม
สิ่งที่อยากเน้นเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ความรุนแรงแบบแยบยลมักไม่ถูกให้ความสำคัญและมองข้ามบ่อยๆ แต่ก็นั่นแหละ เพราะมันไม่ถูกให้ความสำคัญมันก็เลยสำคัญมากๆ เพราะกว่าจะเห็นว่าพฤติกรรมแบบนี้เป็นปัญหา ปัญหานี้ก็อาจจะรุนแรงเกินแก้แล้วก็ได้
3 คำแนะนำสำหรับคนที่มีรอบข้างมีพฤติกรรมก้าวร้าวแบบแยบยล (Passive-Aggressive)
- สูดลมหายใจเข้าลึกๆ พยายามจัดการอารมณ์ตัวเองด้วยการระบุอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และรับรู้ว่าไม่แปลกที่เราจะอารมณ์เสีย เศร้า เสียใจ เพราะเราต่างก็เป็นมนุษย์ธรรมดา
- พูดความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ด่าว่า (Blaming) แล้วก็พูดถึงผลกระทบของการกระทำให้เขาได้รับรู้ เช่น เรารู้สึกแย่ที่เธอพูดหลอกด่าเรานะเมื่อกี้ มันทำให้เรารู้สึกกังวลเวลาอยู่ใกล้เธอ
- หากพูดแล้วเขายังมีพฤติกรรมอยู่ ควรตั้งขอบเขต (Boundary) ให้ชัดเจนว่าถ้าเขาทำไม่ดีกับคุณ คุณจะทำอย่างไร อย่าปล่อยให้เหตุการณ์เกิดซ้ำๆ ผ่านไป เช่น ถ้าเขายังทำแบบนั้นอยู่ เราจะไม่คุยด้วยแล้วเดินออกไปทันที เขาจะค่อยๆ เรียนรู้ว่า ไม่ใช่ว่าเขาจะทำอะไรตามใจตัวเองก็ได้ เพราะไม่มีใครทนพฤติกรรมได้ตลอด ทุกอย่างการกระทำควรมีขอบเขต นอกจากนี้ การตั้งขอบเขตยังทำให้คุณรู้ว่าจุดไหนคือจุดที่คุณจะไม่ทน แล้วมันก็ยังเป็นการปกป้องสุขภาพจิตของคุณด้วย
4 คำแนะนำสำหรับคนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวแบบแยบยล
- นึกถึงผลของการมีพฤติกรรมก้าวร้าวแบบแยบยลทั้งต่อตัวเอง แล้วก็จินตนาการถึงความรู้สึกของคนที่ได้ถูกปฏิบัติแบบนั้น แล้วคิดดูว่าถ้าตัวเองถูกคนอื่นทำแบบนั้นจะรู้สึกอย่างไร และจะมุมมองความคิดอย่างไรต่อคนนั้น
- พยายามสังเกตเวลาที่ตัวเองรู้สึกเครียด อึดอัด กังวล แล้วฝึกยอมรับความรู้สึก การยอมรับไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ไม่ใช่เรื่องที่ฝึกไม่ได้ พยายามไม่วิ่งหนีหรือเก็บกดความรู้สึก “ตอนนี้เรากำลังรู้สึกอะไรอยู่นะ” แล้วก็หาวิธีระบายอารมณ์ที่เหมาะสมมากขึ้น เช่น หาเพื่อนคุย ตั้งคำถามเพื่อเข้าใจตัวเอง การปรับวิธีระบายอารมณ์เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา
- นั่งคุยกับตัวเองเพื่อหาสาเหตุของความรู้สึกแย่เหล่านั้น “อะไรทำให้เรารู้สึกแบบนั้น” “จริงๆ เราต้องการอะไร” “อะไรคือคุณค่าที่เราให้”
- แทนที่จะระบายอารมณ์ด้วยความก้าวร้าวเหมือนเคย ฝึกบอกความรู้สึก สิ่งที่ไม่สบายใจให้คนรอบข้างฟัง เช่น เรารู้สึกไม่สบายใจที่เธอไม่ได้ตอบคำถามเราเมื่อกี้ เมื่อกี้เธอทำอะไรอยู่เหรอ ? มันอาจจะรู้สึกเหมือนตัวเองอ่อนแอสำหรับบางคนที่ต้องพูดความรู้สึก แรกๆ อาจไม่ชิน แต่ให้เวลาตัวเองแล้วจะพบว่าความรู้สึกหวิวๆ ตอนพูดความรู้สึกไม่ใช่ความอ่อนแอเลย
การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อจิตใจ (Psychological Safety) เป็นสิ่งสำคัญในการมีความสัมพันธ์ที่ดี และความก้าวร้าวแบบแยบยล (Passive-Aggressive) ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนรู้สึกไม่ปลอดภัย และบั่นทอนจิตใจ เมื่อต่างฝ่ายต่างรู้สึกไม่ปลอดภัย ความสัมพันธ์ก็จะค่อยๆ บั่นทอน
คนที่มีความสุขก็มักจะส่งต่อความสุข ส่วนคนที่มีความทุกข์ก็จะมักส่งต่อความทุกข์ บางครั้งการที่เขาพูดจาไม่ดี แอบหลอกด่า ชมแบบจิกๆ ก็อาจจะมาจากการที่เขามีความทุกข์อยู่ในตัวแล้วไม่รู้วิธีจัดการ ดังนั้น หัวใจของการลดความก้าวร้าวที่แยบยล (Passive-Aggressive) คือการสร้างวัฒนธรรมของการพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่คือความกล้าหาญในการเผชิญหน้ากับความเปราะบางของตัวเอง และสร้างทัศนคติของการเผชิญหน้า คุยอย่างตรงไปตรงมา และซื่อสัตย์กับความรู้สึกมากขึ้น
ขอให้มีความอ่อนโยนต่อกันมากขึ้นครับ ☺