- ‘สติ’ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้เรามองเห็นความหลงใหลของตัวเองได้ชัดเจน
- นั่งหรือเดินช้าๆ อยู่กับลมหายใจและความรู้สึก แล้วพิจารณาว่า อะไรที่เรายอมลงทุนลงแรง สละเวลาทำสิ่งนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก นั่นคือความหลงใหล
- ความหลงใหลทำให้คนๆ หนึ่งทำเรื่องน่าเหลือเชื่อได้ แต่ก็อาจทำให้เลือกในสิ่งที่เสียใจภายหลังได้เช่นกัน การมีสติจึงต้องเข้ามาเติมเต็ม
การจะรู้และเข้าถึงแพชชั่น หรือ ความหลงใหล ของตัวเอง อาจเป็นเรื่องง่ายสำหรับบางคน แต่ก็เป็นเรื่องยากสำหรับอีกหลาย ๆ คน เพราะเราใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่ขีดไว้ด้วยกรอบ กรอบแต่ละกรอบก็มีความพิเศษแตกต่างกันไป กรอบการเรียนการศึกษา กรอบการงาน กรอบความสัมพันธ์ หรือกรอบการใช้ชีวิต จนเราไม่รู้ว่าหากลบกรอบเหล่านั้นออกไปบ้าง อะไรคือสิ่งที่หลงเหลืออยู่ แล้วอะไรกันแน่ที่เป็นตัวตนของเราจริง ๆ หรืออะไรกันที่สำคัญขนาดทำให้ชีวิตของเรามีชีวิตชีวาขึ้นมาได้
มิราบาย บุช (Mirabai Bush) โค้ชด้านการฝึกพัฒนาจิตใจ ผู้เป็นที่ปรึกษาให้กับนักกฎหมาย นักการศึกษา นักเคลื่อนไหว และนักเรียน รวมทั้งเคยเป็นนักพัฒนาให้กับโครงการเสิร์ช อินไซต์ ยัวร์เซฟล์ (Search Inside Yourself) ของกูเกิ้ล (Google) บอกว่า ‘สติ’ (Mindfulness) เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้เรามองเห็นความหลงใหลของตัวเองได้ชัดเจน โดยปราศจากความคลุมเครือสงสัย
การมีสติอยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร จะทำให้เราโฟกัสไปยังสิ่งที่กำลังหรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ชัดขึ้น
นอกจากนี้ สติยังทำให้รู้ทันความคิดและอารมณ์ของตัวเอง รวมทั้งความทรงจำที่เจ็บปวดหรือเหตุการณ์ร้ายๆ ในชีวิต ที่จะทำให้เรายอมรับและรักตัวเองได้มากขึ้นจากบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ร่องรอยของอดีตและความเป็นอยู่ในปัจจุบันป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ ‘ความหลงใหล’ ก่อตัวขึ้นและยังคงอยู่
สติ ทำงานอย่างไร?
ไม่บ่อยนักที่จะได้ยินใครพูดถึง ‘สติ’ กับการค้นหา ‘ความหลงใหล’ การมีสติทำให้เรามองเห็นพฤติกรรมหรือความสนใจของตัวเอง อันที่จริงวิธีการดึงสติให้อยู่กับปัจจุบันของบุชก็ไม่ต่างจากการฝึกสมาธิ
บุช แนะนำวิธีการฝึกด้วยการนั่งหรือเดินช้าๆ ไม่สนใจสิ่งรอบข้างแต่อยู่กับลมหายใจและความรู้สึก แล้วพิจารณาดูว่า อะไรที่เรายอมลงทุนลงแรง สละเวลาเพื่อทำสิ่งนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
บุช ย้ำว่า ความหลงใหลอาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นสิ่งที่ทรงพลัง สามารถนำทางให้คนๆ หนึ่งทำเรื่องน่าเหลือเชื่อได้ ขณะเดียวกันก็อาจทำให้เลือกในสิ่งที่ต้องมาเสียใจภายหลังได้เช่นกัน การมีสติจึงเข้ามาช่วยเติมเต็มในส่วนนี้
ยกตัวอย่างเช่น เนลสัน เมนเดลา (Nelson Mandela) อดีตประธานาธิบดีประเทศแอฟริกาใต้ แพชชันทำให้เขาอุทิศตนต่อสู้เพื่อล้มล้างการเหยียดผิว และผลักดันให้เกิดสันติภาพทั่วโลก จนต้องโดนจำคุกถึง 27 ปี แต่นั่นก็ไม่ทำให้ความตั้งใจของเขาลดน้อยถอยลงไป
จูเลีย ชายด์ (Julia Child) หญิงผู้ปฏิวัติวงการอาหารฝรั่งเศส ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการทำอาหารช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้การลงมือทำอาหารที่บ้านเป็นเรื่องน่าสนุก
สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ผู้ร่วมก่อตั้งแอปเปิลคอมพิวเตอร์ สร้างนวัตกรรมด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้คนปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ออกมาได้ง่ายขึ้นผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ หรือแม้แต่ จอร์จ ลูคัส (George Lucas) ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง อย่าง สตาร์ วอร์ส (Star Wars) ที่มักนำเทคนิคพิเศษใหม่ ๆ มาใส่ในภาพยนตร์ของเขาอยู่เสมอ
กุญแจสำคัญ 3 ข้อ ที่จะทำให้ค้นพบความหลงใหลของตัวเอง
หนึ่ง บอกได้ไหมอะไรเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิต
อะไรสำคัญกับชีวิต? อะไรคือสิ่งที่เราเชื่อ? อะไรทำให้ชีวิตมีชีวิตชีวาและมีสีสัน?
คำตอบของคำถามเหล่านี้มีได้หลากหลาย เป็นได้ทั้งเรื่องส่วนตัว สังคม หรือแม้กระทั่งไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต
วิธีการ คือ อยู่นิ่งๆ หายใจเข้าออกลึกๆ นึกถึงสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิต หลังจากนั้นลองพิจารณาดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในความคิดหรือความรู้สึกเมื่อนึกถึงสิ่งนั้น ปล่อยให้ความคิด ภาพหรือความรู้สึกเกิดขึ้นโดยไม่ตัดสิน
สอง ปัญหาหรืออุปสรรคในชีวิต
การใช้ชีวิตในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราเห็นว่ามีคุณค่าไหม? เราอาจให้เวลากับมันไม่มากพอ เราอาจมีเรื่องกวนใจมากเกินไป ไม่มีความรู้ว่าต้องทำอย่างไร หรือกำลังขาดจินตนาการหรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม คนเรามักมีข้ออ้างต่าง ๆ บอกตัวเองว่าทำไม่ได้เสมอ
วิธีการ คือ แทนที่จะบ่นบอกกับตัวเองว่า “ฉันคงไม่สามารถเริ่มธุรกิจของตัวเองได้เพราะไม่มีทักษะความรู้” ให้ใช้คำว่า ‘ยัง’ เพื่อสร้างความเป็นไปได้
“ฉันคงไม่สามารถเริ่มธุรกิจของตัวเองได้เพราะ ‘ยัง’ ไม่มีทักษะความรู้”
สาม จำไว้ว่าทุกคนมีพลังพิเศษ (superpowers) และต้องไม่ลืมพัฒนาทักษะต่างๆ อยู่เสมอ
อะไรที่ทำได้ดี? แล้วมีพื้นที่ให้ตัวเองได้ลงมือทำสิ่งนั้นหรือเปล่า?
แปลกดี หากลองถามคำถามนี้กับเด็กๆ พวกเขาสามารถตอบได้อย่างไม่ลังเล แต่เมื่อโตขึ้น เรากลับคิดติดสินใจได้ไม่เป็นธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น เหมือนเราหลงลืมหรือละทิ้งความกล้าหาญที่เคยมีตอนเด็กๆ ไปหมดแล้ว
วิธีการ คือ ลองจิตนาการว่าตัวเองเป็นเด็ก
อะไรที่เราเคยรักและอยากทำ? อะไรที่เราเคยทำได้ดี? ปล่อยให้จินตนาการทำงาน แล้วจดจำความรู้สึกที่เกิดขึ้น ความรู้สึกจากการจินตนาการเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แล้วถามตัวเองต่อไปว่า “มีอะไรบ้างที่มีหรือเป็นอยู่ตอนนี้ ที่ทำให้รู้สึกแบบเดียวกันได้?”
ด้านมืด ๆ ของความหลงใหลที่ไม่มีใครอยากรู้
ความหลงใหลอาจครอบงำเราบ้างในบางครั้ง แต่คงไม่ดีแน่ๆ หากกลายสภาพเป็นความหลงใหลลวงตาจอมปลอม หลายคนอาจกำลังประสบปัญหา เมื่อความหลงใหลไม่ได้เป็นสิ่งยั่วยวนใจอีกต่อไป แต่กลับเป็นการทำด้วยความจำเป็น เช่น เพื่อหารายได้หรือเพื่อให้ได้ครอบครองสิ่งที่ต้องการ ปล่อยแรงขับให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อรายได้เพียงอย่างเดียว แถมยังเกิดความรู้สึกกลัวว่าสักวันหนึ่งจะสูญเสียสิ่งนั้นไป ทั้งที่มีตัวอย่างให้เห็นทั่วไปว่าชื่อเสียงเงินทองไม่มีความยั่งยืนและไม่ได้การันตีความสำเร็จ
การปล่อยให้ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นจะทำลายความหลงใหลเชิงบวกในชีวิต ร้ายแรงกว่านั้นอาจทำให้เกิดความทะเยอทะยานในทางลบเข้ามาแทนที่ แต่สติจะทำให้เราก้าวเดินต่อไปกับความหลงใหลได้อย่างชาญฉลาด และช่วยปลุกความหลงใหลด้านบวกให้ปรากฎตัวขึ้นด้วย
จะว่า ‘ความหลงใหล’ คือการไขว่คว้าตามหาก็คงไม่ใช่ บุช ทำให้เห็นว่าการรู้ตัวและอยู่กับสิ่งที่มีต่างหากที่จะช่วยให้รู้จัก มองเห็นและเข้าถึงความหลงใหลของตัวเอง แล้วเมื่อได้ลงมือทำสิ่งที่ใช่อย่างตั้งใจ ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินฝัน
อย่างที่ มายา แองเจลู (Maya Angelou) นักเขียน และกวีผิวสีชาวอเมริกัน บอกว่า “คุณสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างแท้จริงได้จากการทำสิ่งที่คุณรักเท่านั้น อย่าปล่อยให้เงินเป็นเป้าหมายในชีวิตคุณ แต่ให้มุ่งมั่นทำสิ่งที่รัก เชื่อเถอะว่าเมื่อทำสิ่งนั้นจะไม่มีใครมองข้ามคุณได้”