- คนที่มักมีคำพูดยืดยาว (Overexplaining) เพื่ออธิบายบางอย่าง แต่กลับมีเนื้อหาน้อยมาก คนเหล่านี้มีความสับสนและกังวลใจอยู่ว่าคำตอบที่ตรงไปตรงมาและสั้นๆ อาจ ‘ไม่ดีพอ’ หรือ ‘ไม่มากพอ’ จึงเริ่มคิดมากจนสับสนและพยายามเติมข้อมูลให้เข้าไปให้มาก
- ในทางจิตวิทยาอธิบายว่า มีความเป็นไปได้ที่รากที่มาของนิสัยแบบนี้อาจเกิดขึ้นในตอนที่ยังเป็นเด็กอยู่ และอาจเป็นกลไกการรับมือกับความบาดเจ็บทางจิตใจซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน
- การพูดมากเกินจำเป็นส่งผลเสียได้มากมาย เช่น ทำให้คนฟังสับสนมากขึ้น จับสาระที่แท้จริงยากขึ้น และยังทำให้คนฟังเริ่มไม่สนใจหรือขาดความอดทนจะฟังต่อ นอกจากนี้ ยังทำให้คนอื่นมองดูว่าผู้นั้นเป็นคนขาดความมั่นใจ ไม่มั่นคงกับคำพูดหรือการตัดสินใจของตนเองได้อีกด้วย
เชื่อว่าทุกคนน่าจะมีประสบการณ์ได้พูดคุยหรือบังเอิญ (หรืออาจโดนบังคับ) ให้ต้องไปฟังคนบางคนพูดแบบน้ำท่วมทุ่ง เช่น หัวข้อที่ควรพูดจบใน 30 นาที กลับพูดล่วงเลยเวลาไปกว่า 1 ชั่วโมง แต่กลับมีเนื้อหาน้อยมาก อีกรูปแบบหนึ่งของคนจำพวกนี้คือ เวลาเจอคำถามหรือคำขอร้องให้เล่าให้ละเอียดเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากขึ้นอีกสักเล็กน้อย ก็กลับพูดเสียยืดยาว (Overexplaining) แต่กลับแทบไม่มีคำตอบอยู่ในนั้นเลย เรียกว่าพูดแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรงจริงๆ
อีกรูปแบบหนึ่งที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง แต่ก็อาจจะพอจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันก็คือ ‘การออกตัว’ เสียมากมายก่อนจะพูดหรืออธิบายอะไรสักอย่าง
อาการแบบนี้ในทางจิตวิทยาระบุว่า บ่งบอกอะไรได้บ้าง?
ตอบแบบสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ “คนเหล่านี้มีความสับสนและความกังวลใจอยู่ครับ” ในขณะที่เราซึ่งเป็นคนถามอาจอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกแค่เพียงเล็กน้อย แต่ผู้ตอบอาจกังวลใจว่าคำตอบที่ตรงไปตรงมาและสั้นๆ อาจ ‘ไม่ดีพอ’ หรือ ‘ไม่มากพอ’ จึงเริ่มคิดมากจนสับสนและพยายามเติมข้อมูลให้เข้าไปให้มากๆ
จนในที่สุดก็กลายเป็นว่า มากเกินไปและไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราถาม [1]
ยกตัวอย่าง เพื่อนคนหนึ่งมาทำงานสายเป็นครั้งแรกในรอบปี เมื่อโดนถามว่าทำไมมาสาย? เขาหรือเธออาจตอบอย่างสั้นๆ ว่า ลูกไม่สบายเลยต้องจัดการหลายอย่างก่อนมาทำงาน แต่คุณกลับเล่าตั้งแต่ตัวเองตื่นมาแล้วพบว่าลูกตัวร้อน ก็เลยต้องให้นอนพัก แล้วก็เลยต้องเตรียมข้าวต้มเป็นอาหารกลางวันให้ เพราะให้นอนพักอยู่ที่บ้านคนเดียว กลัวว่าจะไม่มีอะไรกิน ทำจนเสร็จแล้วจึงสามารถมาทำงานได้
คำตอบทำนองนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลใจมากมาย ทั้งเรื่องความเจ็บป่วยของลูกและ ‘ความผิดปกติ’ ของการเป็นคนมาทำงานเช้าหรือมาทันเวลางานทุกวัน
อีกสาเหตุที่พบบ่อยคือ ความเป็นคนยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) ดังนั้น จึงพยายามหาข้อแก้ต่างให้กับตัวเองเวลาที่ประสบกับปัญหาหรือทำไม่ได้ตามเป้าหมายหรือไม่เป็นไปตามอุดมคติ คำอธิบายจึงยืดยาวกว่าที่ควรจะเป็น [2]
แม้เปลี่ยนหัวข้อคำถาม เช่น ทำไมส่งงานช้า? ทำไมชิ้นงานดูไม่ประณีตเหมือนเดิม? ทำไมยอดขายตก? ทำไมผลการเรียนไม่ดี? ฯลฯ แต่คำตอบก็ยังเป็นไปในทำนองเดียวกันหมดคือ มีข้อแก้ตัวมากมาย
ทั้งนี้คนผู้นั้นจะไม่คิดในขณะนั้นเลยว่า ตอบสั้นๆ ตรงๆ ไปเลยน่าจะพอ หรือหากคนถามอยากรู้เพิ่ม ก็คงถามเพิ่มเองอีก แต่กลับคิดว่าน่าจะตอบแบบหมดไส้หมดพุง หรือมีแถมให้ครบถ้วน (จนล้น) ในคราวเดียว เพราะเกรงว่าคนฟังจะไม่เข้าใจหรือเข้าใจไม่ตรงความเป็นจริง
ทำไมเรื่องแบบนี้จึงไม่ได้เกิดกับทุกคน? และทำไมบางคนจึงมีพฤติกรรมแบบนี้บ่อยกว่า?
ในทางจิตวิทยาอธิบายว่า มีความเป็นไปได้ที่รากที่มาของนิสัยแบบนี้อาจเกิดขึ้นในตอนที่ยังเป็นเด็กอยู่ และอาจเป็นกลไกการรับมือกับความบาดเจ็บทางจิตใจซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า อาการอธิบายเป็นวรรคเป็นเวรนั้นเกิดจากความกระวนกระวายใจและความกังวลใจ จึงเป็นไปได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงการขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง หรือหากมีก็มีน้อย (Low Self-Esteem) แต่คิดเอาว่าจำเป็นต้องแสดงออกให้คนอื่นเห็นว่า ตนเป็นคนมีความสามารถ มีศักยภาพจริงมากกว่าที่เห็นจากหลักฐานตรงหน้า หากอาการหนักมากขึ้นไปอีกก็อาจจะถึงกับเป็น Imposter Syndrome คือ มีความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ไร้ความสามารถ ทั้งที่ความจริงแล้วอาจทำได้ดีประมาณหนึ่ง คนแบบนี้จึงถูกกระตุ้นให้ต้องแสดงออกให้คนอื่นเห็นอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองเป็นคนเก่ง
อีกเรื่องหนึ่งที่พบได้บ่อยคือ คนกลุ่มนี้มักเป็นพวก ‘ชอบเอาอกเอาใจคนอื่น’ มากเป็นพิเศษ
เด็กที่โตมาในครอบครัวที่พ่อหรือแม่ไม่ค่อยรับฟังและถูกลงโทษบ่อย โดยไม่มีโอกาสได้พูดอธิบายหรือแก้ตัว ก็อาจเกิดเป็น ‘ปมชีวิต’ ที่ส่งผลกระทบในตอนโตได้เช่นกัน เพราะในจิตใจลึกๆ แล้วรู้สึกว่าตัวเองอาจจะไม่โดนลงโทษ หากมีโอกาสได้อธิบายทุกอย่างให้ชัดเจนและละเอียดลออ
การพูดเยอะ พูดมาก พูดวนมั่วซั่วไปหมด จึงอาจเป็นกลยุทธ์ที่จิตใจเลือกใช้เป็นกลไกป้องกันตัวหลังจากเผชิญหน้ากับการลงโทษหรือเรื่องร้ายๆ อยู่บ่อยครั้งในวัยเด็ก โดยเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหักห้ามตัวเองได้ และอาจพบมากและมีอาการหนักหน่วงเป็นพิเศษ เมื่ออยู่ในภาวะกลัวการถูกปฏิเสธหรือทอดทิ้งจากคนรัก
สำหรับกลไกการป้องกันตัวเองนั้น ในทางจิตวิทยาชี้ว่าจะเป็นแบบ ‘ลุยหรือหลบ (fight or flight)’ การพูดมากมีลักษณะของ ‘การประจบ’ และ ‘ยอมลงให้’ ถือเป็นอาการแบบหลบประเภทหนึ่ง [3]
การพูดมากเกินจำเป็นส่งผลเสียได้มากมาย เช่น แทนที่จะทำให้คำตอบชัดเจนมากขึ้น กลับทำให้คนฟังสับสนมากขึ้นจากข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องที่เพิ่มเข้ามา ทำให้จับสาระที่แท้จริงยากขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้คนฟังเริ่มไม่สนใจหรือขาดความอดทนจะฟังต่อ จนอาจนำไปสู่ความเสียหายในรูปแบบต่างๆ ได้
นอกจากนี้ ยังทำให้คนอื่นมองดูว่าผู้นั้นเป็นคนขาดความมั่นใจ ไม่มั่นคงกับคำพูดหรือการตัดสินใจของตนเองได้อีกด้วย [2]
อีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นไปได้คือ อาจเนื่องมาจากมีนิสัยเป็นคนคิดมากและขี้กลัว คนที่มีนิสัยแบบนี้จะคอยมองหาปฏิกิริยาตอบสนองในทางลบจากคนรอบข้าง และพยายามควบคุมสถานการณ์นั้นด้วยการอธิบายเพิ่มเติมให้มากขึ้น แม้ว่าบางครั้งการตีความดังกล่าวของคนเหล่านั้นอาจจะไม่ถูกต้องก็ตาม [3]
จะเห็นได้ว่าที่มาของนิสัยแบบนี้อาจมีต้นเหตุได้หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องมีสาเหตุแบบเดียวกันหมด การแก้ไขจึงอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคนด้วย
จะแก้นิสัยแบบนี้ได้อย่างไร?
ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าหากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ก็จะแก้ไขยากหน่อย วิธีการที่ตรงไปตรงมา แต่ไม่ง่ายคือ ฝึกสติให้รู้เท่าทันว่ากำลังทำแบบนั้นอยู่ (พูดมากเกินควร) ก็จะเริ่มเหยียบเบรกได้ แต่ความเคยชินก็อาจทำให้รู้สึกยากอยู่ไม่น้อย อาจรู้สึกคันปากยุบยิบอยากพูดใจจะขาด [1]
แต่เชื่อได้เลยว่ายิ่งฝึกก็จะยิ่งทำได้ง่ายขึ้น
อีกวิธีก็ต้องฝึกเช่นกันคือ การฝึกเลือกคำและคำตอบที่สั้นกระชับกว่าที่ทำอยู่ สถานการณ์ที่ยากจริงๆ ก็คือ การปฏิเสธสั้นๆ ว่า “ไม่ (ครับ/ค่ะ)” เพราะการอธิบายเหตุผลพ่วงไปด้วย ทำให้เรารู้สึกดีกว่าพูดสั้นๆ ห้วนๆ และยังช่วยลดความรู้สึกผิดจากการไม่ช่วยเหลือคนอื่นได้อีกด้วย แต่ในหลายสถานการณ์นั้น การตอบสั้นๆ ว่า ไม่สะดวก ไม่พร้อม หรือไม่สามารถช่วยได้ กลับเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และอันที่จริงแล้วก็ทำได้ แต่เรากลับคิดไปเองว่าทำได้ยากหรือทำไม่ได้
การถามตัวเองก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า จำเป็นต้องแบ่งปันข้อมูลเพิ่มหรือขยายความสิ่งเหล่านั้นจริงหรือไม่ ก็อาจช่วยได้เช่นกัน [2]
การใจดีกับตัวเอง โอบกอดตัวเองด้วยความรัก ลดหรือหยุดการตั้งข้อสงสัยหรือวิพากษ์ตัวเองซ้ำๆ ด้วยความคลางแคลงใจ โดยเฉพาะเรื่องการตัดสินใจและการเลือกคำอธิบายก็เป็นทางออกอีกทางหนึ่ง การยอมรับการตัดสินใจและไม่วนเวียนคิดสงสัยผลลัพธ์ของการกระทำของตัวเอง ก็อาจช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและความสงบในจิตใจได้ [3]
หากทำไปจนครบแล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น ก็อาจต้องอาศัยมืออาชีพเข้ามาช่วย โดยไปพบกับจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด เพื่อคลี่คลายปมที่เป็นสาเหตุของพฤติกรรมแบบนี้ต่อไป
เอกสารอ้างอิง
[1] Julie Bassett (2025) Let me (Over)explain, Psychology Now, Vol. 10, pages 24-25
[2] https://medium.com/survived-nation/the-psychology-behind-overexplaining-why-we-do-it-and-how-to-stop-263588421e7e เข้าถึงข้อมูลวันที่ 1 ก.ค. 2025
[3] https://soulmechanicstherapy.com/over-explaining-a-trauma-response/ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 1 ก.ค. 2025