- ผู้คนอาจนิยาม ‘ครอบครัว’ ผ่านสายใยพันธุกรรม และ/ หรือผ่านการดูแลเอาใส่ใจกันและกัน รวมถึงผ่านความเชื่อมโยงในทางอื่นใด แต่ ดร. โซฟี ซาเดห์ นักวิจัยแห่งศูนย์วิจัยครอบครัว มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมที่มีความรักความอบอุ่นและเกื้อกูลต่อการเจริญงอกงามก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด
- อีกกรณีหนึ่งที่นิยาม ‘ครอบครัว’ ได้กว้างขวางกว่าภาพของครอบครัวตามขนบ คือกรณีของ ‘เบรนแดน’ และ ‘ททิชานา’ ที่มีการตกลงเข้ามามีลูกและเลี้ยงลูกร่วมกัน (co-parenting) โดยที่ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กันแบบคู่รักโรแมนติกและไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กัน
- หลายเรื่องราวของการเป็น ‘ผู้ปกครองร่วมคนอื่นๆ’ (co-parents) ทำให้เห็นความหลากหลายของ ‘ครอบครัว’ รวมถึงเห็นความเป็นไปได้ในการออกแบบรูปแบบอื่นๆ และหากแนวคิดเรื่องการเป็นผู้ปกครองร่วมแพร่หลายขึ้นในสังคมอื่นๆ สังคมนั้นๆ ก็ยังจำเป็นต้องถกเถียงร่วมกับภาคประชาชนและยังต้องผ่านการวิวัฒนาการทั้งเรื่องกฎหมายและจริยะสำหรับแต่ละถิ่นต่อไป
1.
ฟราน ทุสโซ (Fran Tusso) สาวน้อยจากเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา เป็นลูกคนเดียวที่เกิดมาจากการบริจาคอสุจิและได้รับการเลี้ยงดูจากแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอบอกเล่าความรู้สึกในวัยเด็กที่ไม่เจอ ‘พ่อ’ ทางชีวภาพ อีกการมี ‘พี่น้อง’ 45 คนซึ่งอาศัยอยู่คนละที่โดยที่เธอเรียกพวกเขาว่า ‘ครอบครัว’ ซึ่งโดยรวมเธอรู้สึกไปในทางบวก แม้จะมีคำวิจารณ์ในทางลบต่อสถานการณ์ของเธออยู่พอสมควร
ผู้คนอาจนิยาม ‘ครอบครัว’ ผ่านสายใยพันธุกรรม และ/ หรือผ่านการดูแลเอาใส่ใจกันและกัน รวมถึงผ่านความเชื่อมโยงในทางอื่นใด อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับคำกล่าวของดร. โซฟี ซาเดห์ (Sophie Zadeh) นักวิจัยแห่งศูนย์วิจัยครอบครัว มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เธอกล่าวว่าสิ่งแวดล้อมที่มีความรักความอบอุ่นและเกื้อกูลต่อการเจริญงอกงามก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด
ไม่ว่ารูปแบบ ‘ครอบครัว’ จะเป็นไปตามขนบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจและยอมรับหรือไม่ก็ตาม
ทั้งนี้ ดร. ซาเดห์ กล่าวว่าครอบครัวตามประเพณี (traditional family – อย่างที่มีผู้ชายกับผู้หญิงซึ่งเชื่อมโยงกับลูกร่วมกันผ่านเพศสัมพันธ์) เป็นดั่งปกรณัมร่วมของสังคม เธอเก็บข้อมูลของพ่อแม่ลูกในรูปแบบครอบครัวที่แตกต่างกัน โดยครอบครัวอาจหมายถึงแม่ 2 คนที่คนหนึ่งพันผูกกับลูกผ่านมดลูกส่วนอีกคนก็เชื่อมโยงกับลูกผ่านไข่ ครอบครัวอาจหมายถึงพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกจากการอุ้มบุญ (surrogacy) หรือแม่เลี้ยงเดียวที่มีลูกจากอสุจิบริจาค ฯลฯ (แน่นอนว่าทั้งหมดเหล่านี้มีปัญหาของมัน แต่ขอละไว้ก่อน ข้อมูลเพิ่มเติมเบื้องต้นสามารถดูตามอ้างอิง)
อีกทั้ง ครอบครัวอาจหมายถึงการตกลงเข้ามามีลูกและเลี้ยงลูกร่วมกัน (co-parenting) ระหว่างคนที่ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กันแบบคู่รักโรแมนติกและไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กัน เฉกเช่นความสัมพันธ์ของเบรนแดน และททิชานา
2.
เบรนแดนรู้ว่าตัวเองเป็นเกย์และก็ต้องการ ‘เป็นพ่อ’ มาตลอดด้วย ย้อนกลับไปหลายปีก่อนเขาอายุขึ้นเลขสี่และรู้ว่าถึงเวลาต้องมีลูกเสียที
และย้อนกลับไปหลายปีก่อนททิชานา คือหญิงสาววัยสามสิบกว่าซึ่งหย่ากับสามีแล้วแต่ยังร่วมกันเลี้ยงลูกที่เกิดกับสามีเก่า และเธอก็อยากมีลูกอีกคน
เบรนแดนและททิชานาได้พบและพูดคุยกันผ่านเว็ปไซต์แห่งหนึ่งซึ่งเป็นแหล่งค้นหาคนที่จะมาเป็นพ่อแม่/ ผู้ปกครองร่วมกันโดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงในเชิงโรแมนติกและไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์กับอีกฝ่าย (co-parenting – ซึ่งในบริบทนี้ไม่เหมือนกับศัพท์ดังกล่าวที่ใช้กับคู่สมรสที่หย่ากันแต่เลี้ยงดูลูกร่วมกัน) และถึงแม้จะมีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ และการร่วมเพศเกิดขึ้นได้ ก็ไม่ใช่เรื่องหลักเท่าการเป็นพ่อแม่ของลูก
และแล้วที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนนาดา เบรนแดนได้เจอกับ ‘แม่ของลูก’ ภายหลังททิชานาก็ผสมเทียมและในที่สุดก็คลอดน้อง ไมโล ออกมาโดยมีเบรนแดนอยู่เคียงข้างอันเป็นห้วงขณะที่พวกเขารู้สึกเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น พวกเขาแบ่งหน้าที่กันเลี้ยงลูกในลักษณะครอบครัวเดียวที่แยกเป็นสองครัวเรือนได้และเจอปัญหาเหมือนที่สามีภรรยาในครอบครัวตามขนบและผู้คนในความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ ต้องเจอ แต่ก็มีความสุขและรู้สึกว่าตัดสินใจถูกที่มาร่วมกันเป็นพ่อแม่น้องไมโล
นี่เองเป็นอีกนิยามของ ‘ครอบครัว’ ที่กว้างขวางกว่าภาพของครอบครัวตามขนบที่นอกจากคาดหวังกันและกันในหน้าที่ทั้งนอกบ้านและในบ้าน รวมถึงการดูแลสมาชิกอื่นๆ ของแต่ละฝ่ายอย่างดีที่สุดแล้ว (ซึ่งครอบครัวจำนวนมากคู่สมรสหญิงต้องแบกไว้มากกว่าชาย) ตัวคู่เองก็คาดหวังในสัมพันธ์รักโรแมนติกและเพศสัมพันธ์จากคู่ครองภายใต้กรอบผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งมักจะแปลว่าหนึ่งผัวหลายเมีย อันดาษดื่น ที่มักใช้ไม่ได้ในทางกลับกัน
3.
ยังมีเรื่องราวของผู้ปกครองร่วมคนอื่นๆ (co-parents) ซึ่งมักเริ่มในวัยสามสิบสี่สิบบวก โดยได้รู้จักกันผ่านเว็ปไซต์เพื่อหาคนมามีลูกและเป็นผู้ปกครองร่วมกันโดยเฉพาะ บ้างก็ใช้เทคโนโลยีและบ้างก็มีเพศสัมพันธ์กันเพื่อให้มีลูก บ้างก็ตกหลุมรักกันจริงๆ ในที่สุดและบ้างก็ไม่มีเพศสัมพันธ์และไม่รู้สึกโรแมนติกใดๆ แต่ต้องแกล้งเล่นบทคู่รักให้สังคมดู แม้แต่ที่สหราชอาณาจักรเองในหลายบริบท ความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นไปตามขนบแบบนี้ก็ยังถูกตัดสิน
อย่างไรก็ตาม ได้เห็นความหลากหลายของ ‘ครอบครัว’ รวมถึงเห็นความเป็นไปได้ในการออกแบบรูปแบบอื่นๆ อันหลากหลายในการที่ผู้คนจะมาร่วมกันเกื้อกูลสมาชิกครอบครัวอย่างเช่นผู้สูงอายุให้แต่ละฝ่ายในสังคมที่มีผู้สูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ และมีเด็กเกิดน้อยลงเป็นประวัติการณ์ด้วย
มีผู้คนที่แต่งงานกันและเริ่มจากความรักใคร่ มีลูกและอยู่ด้วยกันโดยผู้ใหญ่ของแต่ละฝ่ายเคารพหรือไม่เคารพชีวิตส่วนตัวของคู่ครองนั้นก็ตาม และจบลงด้วยการหย่าแสนแพงไม่ว่าร้างรากันเพราะเหตุใด ทั้งยังมีฝ่ายที่อาจไม่ได้เจอลูกเลยหลังจากนั้น
ในขณะที่การเป็นผู้ปกครองร่วมซึ่งมักไม่เน้นเรื่องรักใคร่ชู้สาวและตัดการที่จะต้องอยู่ร่วมกันตลอดออกไปก็อาจทำให้ความสัมพันธ์เสถียรกว่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะพังไม่ได้ และสามารถจะจบลงเหมือนการหย่าอันเหนื่อยยากกับคู่สมรสทั้งที่ส่วนหนึ่งของการมาเป็นผู้ปกครองร่วมลักษณะนี้ก็คือความต้องการจะตัดปัญหาดังกล่าว
หากแนวคิดเรื่องการเป็นผู้ปกครองร่วมแพร่หลายขึ้นในสังคมอื่นๆ สังคมนั้นๆ ก็ยังจำเป็นต้องถกเถียงร่วมกับภาคประชาชนและยังต้องผ่านการวิวัฒนาการทั้งเรื่องกฎหมายและจริยะสำหรับแต่ละถิ่นต่อไป
ครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกและญาติพี่น้องที่มีสายใยร่วมกันผ่านเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศตรงข้ามภายใต้กฎหมายและประเพณีบางอย่างยังคงมีความสำคัญแน่ และสามารถจะเปี่ยมไปด้วยความเกื้อกูลพอกันกับที่อาจเหงาหงอยหรือทำร้าย ในขณะที่ครอบครัวแบบใหม่ที่เพศมีความลื่นไหลหลากหลายและมีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้มีลูกโดยไม่จำเป็นต้องมีเรื่องชู้สาวและเพศสัมพันธ์กัน รวมถึงความเชื่อมโยงในทางใดกับคนที่เป็น ‘เสมือน’ พ่อแม่ พี่น้อง ปู่ย่าตายาย ฯลฯ นอกสายพันธุกรรม แม้จะมีปัญหาได้เหมือนทุกความสัมพันธ์ แต่ก็สามารถจะมีความลึกซึ้งและให้ผลทางบวกในการเดินทางของชีวิตอย่างที่สุดเช่นกัน
ส่วนในทางเลือกอื่น ผู้คนอาจเข้ามาใช้และดูแลพื้นที่และสมาชิกในพื้นที่ร่วมกัน และต่างเกื้อกูลกันในการตัดการสืบต่อบางอย่างทั้งทางชีวภาพและทางจิต เหมือนในการเคลื่อนไหวสละโลกของนักบวชก็ได้ ✝
อ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต
Assisted Reproduction: an End to traditional family values? (TEDxCambridge University) โดย Sophie Zadeh
Being Donor-Conceived and Normalizing Non-traditional families (TEDxYouth) โดย Fran Tusso
How two strangers became co-parents โดย Cyan Turan
‘I wanted to meet a mate and have a baby without wasting time’: the rise of platonic co-parenting โดย Deborah Linton, the guardian
Singles are having kids with strangers as part of the co-parenting trend โดย Melkorka Licea
On the Relationships between Buddhism and Other Contempolary Systems โดย A.K. Warder
How marriage has changed over centuries; critics of gay marriage see it as an affront to sacred, time-tested traditions. How has marriage been defined in the past?
เมื่อ ‘เมียน้อย’ กลายเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมไทย โดย แป้งร่ำ
ดู รู้จักทัวร์ ‘อุ้มบุญ’ ในโลก โดย วรากรณ์ สามโกเศศ