- เป็นเรื่องราวของหญิงสาวธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ผ่านจุดเปลี่ยนเร็วและเยอะกว่าคนวัยเดียวกัน ทำให้พบศักยภาพตัวเองที่ไม่เคยคิดว่าจะมี
- จุดเปลี่ยนของ พลอยแพรว-ณิชา พัฒนเลิศพันธ์ นอกจากจะช่วยค้นพบศักยภาพ ยังพาก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง เปลี่ยนจากเด็กสาวที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล เป็นคนที่เข้าอกเข้าใจคนอื่นและใช้การประนีประนอมเป็นหัวใจของงานปัจจุบัน
- “สำคัญคืออย่ากดดันตัวเองว่าจะต้องดีขึ้นเดี๋ยวนั้น และต่อให้เก่งแค่ไหน มนุษย์ก็แก้ปัญหาไม่ได้ทุกเรื่อง แต่เราเผชิญหน้าและค่อยๆ สะสางมันอย่างไม่จำเป็นต้องตีโพยตีพายได้” พลอยแพรว ว่าไว้อย่างนั้น
เรื่อง: นลินี มาลีญากุล
ไม่มากก็น้อย แม้จะเป็นชีวิตที่ดูสามัญและเรียบง่ายที่สุด ก็ล้วนต้องผ่านจุดเปลี่ยนเล็กบ้างใหญ่บ้าง และในจำนวนครั้งที่ต่างกันไปตามประสา
และไม่มากก็น้อย แม้จะเป็นชีวิตที่ดูสามัญและเรียบง่ายที่สุด บทพายุจะโหมกระหน่ำเข้ามา มันก็พร้อมจะสาดเข้ามาไม่ยั้ง รู้ตัวอีกทีเราก็อาจจะบอบช้ำ โดดเดี่ยว และร้องตะโกนแสนเงียบอยู่ในใจว่า ชีวิตจะเอาอะไรจากกูอีกวะ แถมต่อให้คุ้นเคยกับความปั่นป่วนมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ก็ใช่ว่าบางคนจะรับมือกับมันได้ดีกว่าคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์อะไรเลย
ไม่ต่างจาก พลอยแพรว-ณิชา พัฒนเลิศพันธ์ ที่ต่อให้พูดย้ำแล้วย้ำอีกระหว่างบทสนทนาถึงภาพจำของวันที่ไม่มีเงินกระทั่งจะจ่ายค่าแปรงสีฟันในราคา 15 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในร้านสะดวกซื้อตอนนั้น แต่เธอก็ยังยืนยันว่า ตราบใดที่ยังตื่นเช้าขึ้นมา เราก็ไม่มีทางรู้หรอกว่าชีวิตจะเจอเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องที่สุดของที่สุดได้อีกบ้าง
สำคัญคืออย่ากดดันตัวเองว่าจะต้องดีขึ้นเดี๋ยวนั้น และต่อให้เก่งแค่ไหน มนุษย์ก็แก้ปัญหาไม่ได้ทุกเรื่อง
แต่เราเผชิญหน้าและค่อยๆ สะสางมันอย่างไม่จำเป็นต้องตีโพยตีพายได้
จุดเปลี่ยนครั้งที่ 1: พ่อแม่เลิกกัน แต่มันไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
สำหรับคนส่วนหนึ่งที่เติบโตมากับชุดความคิดของความสมบูรณ์แบบของครอบครัว อย่างน้อยก็ต้องมีพ่อแม่ลูก จูงมือกันไปเที่ยววันหยุด ถ้าเป็นครอบครัวใหญ่หน่อย อย่างน้อยเราก็จะมีมายาคติภาพทุกคนพร้อมหน้าพร้อมตากินข้าว แต่สำหรับพลอยแพรวที่พ่อกับแม่อยู่คนละบ้าน แม่คือภรรยาคนที่สาม และหลังจากแยกย้ายชีวิตคู่ไปคนละทาง พ่อเลือกให้พลอยแพรวอาศัยอยู่กับเขา ในบ้านที่มีภรรยาคนแรกและลูกๆ อีกหลายคนของพ่ออยู่ร่วมด้วย
แต่เธอก็ไม่เคยคิดว่าครอบครัวที่ต้องขยายความยาวเหยียดขนาดนี้มีปัญหาอะไร
“แต่เด็กมา เราไม่เคยรู้เลยว่าเขาเลิกกันหรือว่ายังไง เพราะว่าเราต้องไปทั้งสองบ้าน สลับไปสลับมา ศุกร์เสาร์อาทิตย์พ่อจะพาไปหาแม่ที่อยู่อีกที่หนึ่ง ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าคืออะไร แต่ว่าก็สนุกดีนะ มีสองที่ให้ไป เด็กแหละ มันได้ออกไปข้างนอกเนาะ ก็สนุกดีนะ”
จนเข้าสู่ชั้นอนุบาล 3 ซึ่งอายุก็น่าจะอยู่ราวๆ 5-6 ขวบ พลอยแพรวถึงเพิ่งได้รับคำชี้แจงจากพ่อว่าความรักและครอบครัวที่สร้างมานั้นจบลงไปแล้ว
“โตมาสักพักหนึ่งถึงได้รู้ว่าพ่อกับแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน จากที่ไม่เคยคิดอะไรเลยเพราะสถานการณ์ตอนนั้นก็ยังไปๆ มาๆ ทั้งสองบ้าน ไม่ได้รู้สึกอะไร เราว่ามันเริ่มรู้สึกแปลกแยกตอนเมื่อมีคนมาถามเราว่า อ้าว วันนี้ทำไมป๊าแกมาส่ง แต่อีกวันทำไมแม่แกมาส่ง เราก็ถามป๊า ป๊าก็ถามกลับว่าเราโอเคหรือเปล่า รู้สึกว่าเขาดูแลไม่ดีหรือเปล่า ถามตอนเราอยู่ในช่วงอนุบาล 3 หรือ ป.1 นี่แหละ เราก็งงๆ ก็โอเคมั้งป๊า ก็ยังมีข้าวกิน มีเพื่อนเล่น เด็กอะ มันไม่ได้คิดอะไรขนาดนั้น เพราะว่าภรรยาคนแรกของป๊าก็ดีกับเรามากๆ เราจึงไม่ได้ตั้งคำถามอะไร”
“แต่ก็จะมีสะกิดใจ เวลาผู้ใหญ่ชอบมาถามว่าพ่อแม่หย่ากันเหรอ เราว่าเป็นเพราะคนนอกที่ทำให้เด็กรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติ เพราะว่าจริงๆ เราไม่ได้รู้สึกอะไรนะ เราโอเคกับสิ่งที่เป็น”
จุดเปลี่ยนที่ 2: ลาออกจากมหาวิทยาลัย ไม่มีเงินจ่ายค่าแปรงสีฟันราคา 15 บาท
ในวัยกำลังเป็นดอกไม้บาน ใครๆ ก็อยากหาอากาศและแสงแดดที่เหมาะสมกับการเติบโต พลอยแพรวสอบติดคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เนื่องจากเป็นลูกคนสุดท้อง พ่อทั้งหวงและห่วงมาแต่เด็ก สุดท้ายเธอจึงเข้าเรียน ปี 1 ด้านแฟชั่น ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งก็ยังคงเป็นศาสตร์ที่เธอสนุกกับมันอยู่ดี
เริ่มเรียนไปได้ไม่นาน พ่อที่มีงานหนักชนิดไม่ยอมพักผ่อนและความป่วยไข้เป็นเพื่อนคู่กายมาสักพักแล้วก็เริ่มมีอาการหนักขึ้น โรคประจำตัวที่เพิ่มขึ้นหมายถึงค่ารักษาพยาบาลที่มากขึ้นไปด้วยเช่นกัน ตัดเรื่องความปวดหัวต่อทรัพย์สินและมรดกที่ต้องถูกแบ่งเป็นหลายก้อนตามจำนวนภรรยาและลูกของพ่อออกไปก่อน สิ่งที่เธอพบว่าเปลี่ยนแปลงไปแล้วจริงๆ ก็คือ “ทำไมวันนี้พ่อไม่ให้ค่าขนม?”
“ช่วงที่พ่อป่วยมันก็กระทบเยอะเหมือนกัน เพราะหนึ่งเราเรียนแฟชั่นที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ สองคือเราไม่เคยลำบากเลยเว้ย อยู่บ้านก็จะมีคนทำนู่นทำนี่ให้ตลอด พ่อก็เอาใจ พอพ่อไม่ใช่คนที่ลุกขึ้นมาทำอะไรได้มากอีกต่อไป มันมีเรื่องทรัพย์สินที่ต้องจัดการแบ่งให้เท่าๆ กันทุกฝ่าย จากปกติที่พ่อเป็นคนจ่ายค่าขนม ค่าดูแลเรามาตลอด มันก็ค่อยๆ หายไป เขาก็ดูอ๊องๆ งงๆ ป่วยมาเยอะแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง ต้องถามเขายังไงว่าค่าขนมวันนี้ไม่ได้เหรอ พอวันที่เขาไม่มีให้ เราก็แบบ ฉิบหายแล้ว ทำยังไงดีวะ ต้องไปขอใคร”
มองจากคนนอก พ่อดูจะสร้างปัญหาให้เธอโดยที่ไม่ได้ตั้งใจเยอะพอสมควร แต่พลอยแพรวยืนยันว่า ไม่เคยโกรธพ่อไม่ว่าจะเรื่องอะไร เพราะว่าพ่อทำหน้าที่ของคนเป็นพ่อได้ดีที่สุดเท่าที่พ่อคนหนึ่งจะทำได้ และดูแลทุกคนในบ้านอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนเรื่องภรรยาเยอะลูกมาก นั่นก็เป็นเรื่องของพ่อ ที่เธอไม่ก้าวก่ายและไม่ได้มองว่าเสียหายอะไรเลย
จนเงินเริ่มร่อยหรอ พี่น้องแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ กดดันให้เธอเลือกข้างเพื่อแบ่งสมบัติ พลอยแพรวที่ตอนนั้นการเงินเริ่มไม่มั่นคงนักจึงตัดสินใจลาออกจาก ม.กรุงเทพ แล้วกำเงินเก็บที่ได้มาจากค่าขนมของพ่อไปหาหอพักอยู่ และหางาน part-time ทำเพื่อให้มีรายได้ เมื่อถามว่าเสียดายไหม เด็กสาวไม่น่าจะคิดอยากออกจากการเรียนมหาวิทยาลัยกันได้ง่ายๆ พลอยตอบเต็มเสียงว่า “เสียดายค่ะ”
“เสียดาย ไม่บอกใครด้วย ไม่บอกเพื่อน เราเป็นคนมีอีโก้คนหนึ่งอะ คิดว่าทำไมต้องมาลำบากอะไรขนาดนี้ เพราะอยากได้อะไรพ่อก็หามาให้ ช่วงนั้นเราก็เลยหายไปเลย หายไปจากสังคม หายไปจากทุกอย่าง หายจากคนรอบข้าง หายจากเพื่อนมัธยม เพราะเราไม่อยากให้ใครรู้ว่าวันหนึ่งเราต้องมานั่งทำนู่นทำนี่เอง”
ไม่ใช่แค่นั้น ตอนเลือกลาออกจากระดับอุดมศึกษา เธอยังค้างจ่ายค่าเช่าหออยู่ 2-3 งวด แม้สุดท้ายจะจัดการได้ด้วยความช่วยเหลือของคนในครอบครัว แต่นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเห็นว่า ชีวิตจากนี้เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ
“เราออกมาทำงานเพื่อให้มีเงินใช้ก่อน เพราะตอนนั้นเราจำได้ว่าเราไปเฝ้าป๊าที่โรงพยาบาล ยังไม่ได้เช็คว่าตัวเองมีเงินเก็บเท่าไหร่ยังไงบ้าง แล้วตอนนั้นลืมเอาแปรงสีฟันแพ็คไปนอนโรงพยาบาลด้วย ก็จะไปซื้อแปรง แปรงอันละ 15 บาทถูกสุดแล้วในร้าน แต่ตอนนั้นมันไม่มีเงินเลย ต้องยืมพยาบาล เลยจำตอนนั้นได้แม่น ทำให้ต้องออกมาหาเงินให้ตัวเองใช้ ให้ตัวเองมีข้าวกิน มีเงินจ่ายค่าหอ”
จุดเปลี่ยนที่ 3: เพื่อนดันมาร้านกาแฟที่ทำงานอยู่
พลอยแพรวยอมรับว่าตัวเองเคยเป็นคุณหนูนิสัยไม่ดี เอาแต่ใจ อยากได้ต้องได้ ทำอะไรเองไม่ค่อยเป็น จนวันที่พ่อมาจากเธอไปจริงๆ และพี่น้องเริ่มแบ่งฝ่าย หญิงสาวเริ่มตั้งคำถามกับความเชื่อใจและคุณค่าในมนุษย์ จนค้นพบว่าตัวเอง “โดดเดี่ยวจังเลย อยากคุยกับใครสักคนที่สนิทใจ อยากมีครอบครัวให้คุย แต่ก็ไม่รู้ว่าครอบครัวที่ดีเป็นยังไง เพราะว่ามันหายไปแล้ว”
แต่โดดเดี่ยวยังไง เศร้าขนาดไหน จะต่อว่าทุนนิยมก็ไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ว่า หากไม่ทำงาน วันพรุ่งนี้อาจไม่มีข้าวกิน
“เราอายเพราะเราไม่เคยลำบากเลย ตอนต้องทำงานพาร์ทไทม์ก็ไปเลือกที่ไกลๆ เพราะไม่อยากให้ใครมาเจอ ตอนพ่อเสียแล้วเรากลับมาอยู่ที่บ้าน แล้วในระยะใกล้ๆ กันมันมีร้านกาแฟเปิดอยู่ ก็ทำไป แต่วันหนึ่งเพื่อนสมัยมัธยมเดินเข้ามาเจอ เพราะร้านมันอยู่ใกล้โรงเรียนมากๆ แล้วทุกคนกลับมาโรงเรียนกันบ่อยอยู่แล้ว ไม่ก็มาทำอะไรแถวนั้นกัน เราตกใจมาก เห็นเพื่อนก่อนแล้ว ก็คิดในใจว่าจะหลบยังไงดี ก็หันหลังไปเปิดตู้เย็นจัดของ ก็ดันเดินเข้ามาสั่งอีก แล้วทั้งร้านมีเราคนเดียว ก็ต้องหันมา หวัดดี ทุกคนก็ตกใจ ชวนเราคุยว่าทำอะไรอยู่ แล้วก็ได้รู้ว่าไม่ได้เรียนต่อเหรอ โอเคไหม ตอนนั้นก็เริ่มอยู่ไม่สุขละ ก็เริ่มเล่า ร้องไห้ไปนิดหนึ่งแหละ รู้สึกพ่ายแพ้
“เราหนีมาตลอด หลบมาได้ 4-5 เดือน แล้วมาตกม้าตาย สุดท้ายก็ต้องเจออยู่ดี แล้วเพื่อนก็มาถามในสิ่งที่กระทบใจเรา เราไม่ได้อยากเล่าให้ใครฟัง แต่ว่าจุดนั้นมันเหมือนว่าต้องเล่าออกมา ถึงจะเล่าไปสุดแต่เราก็รู้สึกพ่ายแพ้ว่ะ จากนั้นก็เฟล กดดันตลอดว่าจะเจอใครอีกไหม พยายามหลีกเลี่ยงสถานที่ที่เคยไป ถ้าเจอคนรู้จักเดินเข้ามาถามจะทำยังไง ตอบว่าหายไปไหน ไปเรียนซัมเมอร์มาอย่างนี้เหรอ หรือจะโกหก จะพูดอะไรดี ไม่รู้ไปหมด ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรให้ตัวเองโอเคที่สุด”
แต่ความมหัศจรรย์ของมนุษย์คือการเรียนรู้และสะสมภูมิต้านทาน พอเจอคนรู้จักเรื่อยๆ เข้า จากความอายก็เปลี่ยนมาเป็นการทำความเข้าใจว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะหลบหนีหรือปิดบังอะไร เพราะคุณค่าของมนุษย์อยู่ที่การทำความเข้าใจกับความเป็นจริง และเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่หรือ
“ยังไงมันก็ต้องเจอคนรู้จักอยู่ดี คิดว่าหลบดีแค่ไหนก็ต้องเจออยู่ดี โอเค งั้นช่างมัน เงินสำคัญกว่า อายก็อายแต่ก็เพราะท่าทีที่คนรอบข้างแสดงออกมา มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าผิดแปลกอะไร เขาไม่ได้มองเราว่าต่างจากเขาที่ได้เรียนหนังสือ เขาเข้าใจว่าเราเหนื่อย หลังจากนั้นเลยรู้สึกว่าไม่มีอะไรต้องอายอีกแล้ว เป็นช่วงที่คุยกับตัวเอง และยอมรับตัวเองได้แล้วว่าเป็นแบบนี้”
จุดเปลี่ยนที่ 4: อยู่กับสิ่งที่มี และฝันเท่าที่อยากฝัน
พลอยแพรวบอกว่าการยอมรับตัวเองดูเป็นเรื่องที่พูดกันง่ายๆ แต่ว่าอย่างไรก็มีขั้นตอนที่ค่อยเป็นค่อยไปของมัน ส่วนวิธีนั้นแสนเรียบง่าย นั่นคือการทบทวนที่มาที่ไป มองให้เห็นสภาวะนั้น เมตตาและรู้จักขอบคุณตัวเอง
“ตอนที่ลาออกมาทำงานพาร์ทไทม์ เราเจอเพื่อนร่วมงานที่ดีมาก เจอคนที่สนับสนุนเรา เจอคนชวนไปทำงานที่นู่นที่นี่ ตอนงานศพของพ่อเรา ตอนนั้นเราทำงานพาร์ทไทม์อยู่ที่ร้าน Happening Shop ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ พี่วิป (วิภว์ บูรพาเดชะ) กับพี่หยกที่เป็นเจ้าของร้านก็มางานศพพ่อเรา แล้วเราก็เริ่มรู้สึกว่าเราเก่งเหมือนกันว่ะ เราหาเงินเองได้นะ เริ่มให้รางวัลตัวเอง ซื้อนู่นซื้อนี่ที่ไม่ได้ซื้อมานานให้ตัวเอง”
แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ พลอยแพรวบอกว่าอยู่ที่การนั่งรถเมล์เองครั้งแรก
“เริ่มแรกเลยที่รู้สึกภูมิใจมากคือนั่งรถเมล์เป็น มันดูเป็นเรื่องเล็กสำหรับคนอื่นนะ แต่เรารู้แล้วว่ามันต้องขึ้นลงป้ายไหน หรือว่าไอ้วนซ้ายวนขวานี่มันคืออะไร ที่เพื่อนชอบพูดว่าลงป้ายนี้แล้วไปต่ออีกสายหนึ่งมันจะได้ใกล้กว่าต่ออีกสายคืออะไร หรือว่าตอนที่จ่ายค่าหอเองครั้งแรก ภูมิใจมาก ดูสิจ่ายเองได้แล้ว เริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่าย แล้วพอมันเป็นเรื่องการจัดการแบบนี้ที่ไม่มีใครมาเกี่ยวข้องเลย เป็นเรื่องการตัดสินใจที่เรารู้สึกว่าเป็นทักษะที่สำคัญมาก เพราะครั้งแรกๆ เราจะตัดสินใจเป็นวันๆ ว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ดีไหม A B C มันมีทางไหนได้บ้าง แบบนี้มันจะดีจริงหรือเปล่า เลือกทางไหนจะเป็นยังไงได้บ้าง ซึ่งสุดท้ายมันคือทักษะติดตัวที่เอามาใช้ในการทำงานตอนนี้ด้วย ที่ต้องประสานงานกับคนหลายฝ่าย หาจุดพอใจที่สมดุลกันระหว่างทุกฝ่าย…”
นั่นทำให้เป้าหมายในชีวิตของพลอยดูเรียบง่ายสำหรับคนทั่วไป เพราะหลังจากที่ผ่านประสบการณ์ไม่มีเงินซื้อแปรงสีฟันครั้งนั้นจนถึงขั้นเคยหลอนเข้ามาในความฝัน เมื่ออะไรๆ เริ่มอยู่มือ เธอจึงฝึกเมตตาตัวเองด้วยการขอบคุณในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตมากกว่าจะพุ่งเป้าไปที่อะไรที่ดูเกินตัว
แน่นอน พออะไรเริ่มเข้าที่เข้าทาง ความต้องการและความฝันในชีวิตก็เริ่มขยับขึ้นไปอีกนิด หลังจากที่ตอนนี้เรียนจนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยแล้ว เธอเริ่มอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ มีงานประจำที่รักและสนุกกับมัน และเริ่มวางแผนการใช้ชีวิตที่ไม่ใช่เพื่อการอยู่รอดและทำอะไรเพื่อความต้องการส่วนตัวอย่างเดียว
นอกจากนั้น ประสบการณ์ในวันมรสุมทั้งหมดที่ผ่านมา ยังเป็นเชื้อไฟชั้นดีที่ทำให้พลอยแพรวนำมาประยุกต์กับการทำงานในฐานะ Creative Content Creator ในองค์กรแห่งหนึ่ง ทำให้ความรักในการอ่านซึ่งปลูกฝังจากพ่อมาตั้งแต่วัยเยาว์ รวมกับประสบการณ์ช่วงที่ทำงานพาร์ทไทม์กับร้านหนังสือและคนในแวดวงการหนังสือมาพอสมควร รวมกันเป็นผลลัพธ์ของการจัดการปัญหา ที่เธอไม่ได้พุ่งเข้าชนมันเพื่อแก้ไข แต่จะใช้วิธีทำความเข้าใจสมการในแต่ละฝ่าย ด้วยการนำตัวเองเข้าไปนั่งในใจและความต้องการของคนที่เธอต้องประสานงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน ลูกค้า หรือว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย เพราะไม่มีทางที่ใครจะเหมือนกัน แต่เธอต้องพยายามคิดในมุมของบุคคลนั้นๆ ให้มากที่สุด
ซึ่งนั่นคือศาสตร์ของการประนีประนอมที่ทำให้ความต้องการของแต่ละฝ่ายมาเจอกันในจุดที่พอใจ และไม่รบราฆ่าฟันกันเอง
“เราว่าเราเป็นคนที่เข้าใจเก่ง รู้ทันตัวเอง และจัดการมันได้แบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป จำได้เลยว่าตอนป๊าตาย เสียใจนะ แต่ตอนเช้าตื่นมาต้องไปทำงานต่อว่ะ ไม่งั้นจะเอาอะไรกิน แบ่งส่วนรายละเอียดของชีวิตได้ อันนี้เศร้าแหละ แต่อันนี้ก็ต้องทำ จมไม่ได้ ต้องไปต่อ”
“แต่บางทีก็มีวันที่อยากอยู่เงียบๆ หายไปเลย ไม่อยากติดต่อใคร บางทีก็ถามตัวเองว่าทำไมมีปัญหาให้ต้องมาแก้อีกแล้ว แต่เราพยายามจัดการกับทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะเคยกดทับมันไว้แล้ววันหนึ่งมันก็ย้อนมาบู้ม ทำร้ายเราเอง มันไม่คลี่คลาย ถ้าอะไรที่เคลียร์ไม่ได้จริงๆ ก็ pause มันไว้ก่อนได้ แต่อย่าลืมว่ามันมีอยู่ แล้วเราต้องหาวิธีดีลกับมัน ซึ่งทุกอย่างเป็นไปเพื่อตัวเราทั้งนั้น”
พลอยแพรวบอกว่าสำคัญที่สุดคือการงานปกป้องเธอจากความทุกข์ ดึงคุณค่าบางอย่างออกมาจนทำให้เธอรู้สึกดีกับตัวเอง ทำให้เธอรู้สึกว่าชีวิตมันมีความหมายของมันอยู่ แต่ถามว่าตอนนี้เวลาเจอปัญหาแล้วหนีเหมือนเดิมไหม เธอตอบอย่างมั่นใจว่าไม่แล้ว
“ไม่ ไม่พอสมันแล้ว ก็เข้าใจมัน เข้าใจมันให้มากๆ แล้วปลีกตัวจากสิ่งที่ต้องทำตอนนั้นมาอยู่กับมันก่อนแป๊บหนึ่ง ให้เวลากับมัน เข้าใจมัน ยอมรับความจริงให้เยอะๆ ถ้าเรายอมรับว่ามันมีก้อนทุกข์นี้ได้เร็วเท่าไหร่เราว่ามันยิ่งดีกับตัวเราเอง เราจะรู้ว่าเราจะต้องจัดการกับอะไร เรารู้สึกว่าเรารับมือกับหลายๆ เรื่องได้ดีมากขึ้น รู้ว่าเศร้าก็เศร้า เสียใจก็เสียใจ เข้าใจมันมากขึ้น รู้ว่าปัญหามันมาให้เจอทุกวันแหละ แต่เจอมันแล้วต้องไม่ตีโพยตีพาย”
แต่ถามว่าต้องคาดคั้นให้ทุกอย่างดีขึ้นราวกับเสกได้ไหม เธอตอบแบบเร็วจนคำถามยังไม่ทันจบเลยว่า
“ไม่จำเป็น เพราะว่าเราก็คงแก้ไม่ได้ทุกเรื่องหรอก”
แต่จะเข้าใจและรับมือกับมันอย่างไรต่างหาก