- สิ้นปีเหมาะเป็นเวลาทบทวน เลือกเก็บสิ่งดีและทิ้งสิ่งร้าย คือสิ่งที่ วิรตี ทะพิงค์แก ได้เรียนรู้และปฏิบัติจาก ‘ค่ายหลุดโลก’ ที่เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
- ‘ค่ายหลุดโลก’ ชวนให้คนหลุดพ้นจากความคาดหวัง ความเคยชินเดิมๆ ไปเจอสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ไม่สะดวกสบาย อีกมุมหนึ่งคือการเชื้อเชิญให้หลุดไปจากตัวตนที่ทำให้ชีวิตหนักอึ้ง ทุกข์ ทรมาน เพื่อพบความกระจ่างภายใน
- ด้วยการ ผลัดใบ ผลัดจิต ผลัดใจเก่าทิ้งไป หากต้นไม้ไม่เรียกใบไม้ร่วงว่าการสูญเสีย การสิ้นสุดของบางสิ่งในชีวิตก็อาจเป็นโอกาสของการเกิดบางอย่างขึ้นใหม่ได้เช่นกัน
ยามฤดูหนาว ใบไม้เปลี่ยนสี หล่นร่วงเพื่อเปลี่ยนผ่านชีวิต มนุษย์เราเองก็ควรมีช่วงเวลาเช่นนั้น ผลัดใบเพื่อสิ่งใหม่สามารถงอกงามเติบโต
พี่อ้วน-นิคม พุทธา แห่งค่ายเยาวชนเชียงดาวจังหวัดเชียงใหม่ มีประสบการณ์เปลี่ยนผ่านตัวเองจากการภาวนาในป่ามาหลายครั้ง และพบว่าเป็นสภาวะที่งดงามและมีคุณค่าความหมายมาก จึงเปิดพื้นที่เรียนรู้ให้คนทั่วไปได้เรียนรู้จากธรรมชาติ ด้วยบรรยากาศทรงพลังจากดอยหลวงเชียงดาว ลำธารใสสาดซ่าจากป่าต้นน้ำ และเสียงบรรยากาศความเงียบ เพียงเท่านี้ก็เป็นของขวัญมากพอแล้วที่จะช่วยให้เรากลับคืนไปสู่ภาวะตื่นรู้ภายในได้อย่างรวดเร็ว
พี่อ้วนเรียกการเรียนรู้ครั้งนี้ว่า ‘ค่ายหลุดโลก’ มุมหนึ่งเหมือนเป็นการล้อเลียนให้รู้สึกตลก อยากชวนให้คนหลุดพ้นจากความคาดหวัง ความเคยชินเดิมๆ ที่ห่อหุ้มชีวิตประจำวันอย่างแน่นหนา ไปเจอสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ไม่สะดวกสบาย ในอีกมุมหนึ่งคือการเชื้อเชิญให้หลุดไปจากตัวตนบางอย่างที่ทำให้ชีวิตหนักอึ้ง ทุกข์ ทรมาน เพื่อพบความกระจ่างภายในได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องกังวลเรื่องรูปแบบการปฏิบัติ
ปิดข้างนอกเพื่อเปิดข้างใน
พระพุทธเจ้าเคยกล่าวเอาไว้ว่า “จิตเดิมแท้ของมนุษย์ทุกคนนั้นใสกระจ่างดังดวงจันทร์ บางครั้งอาจมีเมฆหมอกคล้อยผ่านไปบ้าง หากความหม่นมัวนั้นเคลื่อนจากไป พระจันทร์ย่อมกลับมาเจิดจ้าอีกครั้ง” สิ่งที่จะเอื้อให้เปิด (การตระหนักรู้) ภายในได้อย่างมีพลัง คือ การปิด (ผัสสะการรับรู้) ภายนอก
เราเดินทางไปที่หมู่บ้านแม่คองซ้ายเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขาบนดอยเชียงดาว มีชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่กันมาสามสี่ชั่วคนประมาณ 30-40 ครอบครัว แต่ดูแลรักษาป่าต้นน้ำนับหมื่นไร่ ที่นี่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เป็นสิ่งแวดล้อมที่เอื้อเฟื้อให้เราได้ปิดการรับรู้โลกภายนอกเพื่อให้กลับไปได้ยินเสียงภายในของตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ช่วงที่เราไปอากาศหนาวมากเพราะอุณหภูมิเพิ่งลดฮวบลงเรื่อยๆ จนมีโอกาสลุ้นความหนาวแบบเลขตัวเดียว พี่อ้วนนำพวกเราเดินในพื้นที่รอบหมู่บ้านเพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละคนมองหาสถานที่กางเต็นท์ (ภาวนา) ที่ถูกใจ ฉันเองชอบเสียงน้ำ แอบตั้งใจว่าอยากกางเต็นท์ริมน้ำ แต่ด้วยความที่ป่าร่มครึ้มทำให้อากาศเย็นเยือกและชื้นอยู่ตลอด ฉันเลยเปลี่ยนใจไปเลือกนอนในทุ่งนา (ที่เกี่ยวข้าวหมดแล้ว) แทน
เบสแคมป์หรือพื้นที่ส่วนกลางของเรา ตั้งอยู่ริมลำธาร เมื่อถึงเวลาทำกิจกรรมและกินข้าว ทุกคนต้องเดินทางมาที่นี่ บางคนต้องเดินผ่านป่า บางคนต้องข้ามลำธาร ขึ้นอยู่กับว่าเลือกตั้งเต็นท์อยู่ที่ไหนในหมู่บ้าน บางคนบอกฉันว่านี่เป็นการเข้าป่าครั้งแรก เธออยู่แต่ในเมืองและไม่คุ้นเคยกับความเงียบเลย การเผชิญภาวะความเงียบครั้งแรกในชีวิตเป็นโจทย์การทำงานกับตัวเองที่ท้าทายไม่น้อย …หลายคนคงคิดเช่นนั้น
หลังอิ่มอร่อยกับมื้อเย็นในป่า เรามายืนล้อมวงรอบกองไฟ พี่อ้วนชวนทุกคนกลับมาเปิดใจเรียนรู้จากธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าหน้าหนาวที่ใบไม้เริ่มผลัดใบทิ้ง ใบไม้ร่วงหล่นทำหน้าที่ห่มดิน กอดเก็บความชื้น สร้างระบบนิเวศให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อยู่อาศัย จนดินชุ่มฉ่ำก่อเกิดเป็นธารน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต หากเราเปิดตาและเปิดใจให้กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ย่อมเรียนรู้จากธรรมชาติได้มากมาย ตั้ม-วิจักขณ์ พานิช แห่งวัชรสิทธา ชวนเรามาตั้งเจตจำนงการเรียนรู้กับตนเองด้วยการหยิบใบไม้แห้งมาหนึ่งใบ สำรวจจิตใจในสิ่งที่เราต้องการผลัดทิ้งเช่นเดียวกับต้นไม้ผลัดใบ แล้วโยนใบไม้นั้นเข้าไปในกองไฟ
ฉันเองเลือกทำงานกับความกลัวในใจ รู้เสมอว่าหากข้ามผ่านสิ่งนี้ไปได้ เราจะไม่ถูกเหนี่ยวรั้งและพบศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ในตัวเองได้ในที่สุด ในระหว่างที่โยนใบไม้แห้ง (ที่เป็นตัวแทนของความกลัว) ลงไปในกองไฟ ไฟลุกฟู่ขึ้นมาเผาใบไม้แห้งในพริบตา เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นที่งดงามเหลือเกิน
ความเงียบอันประเสริฐ
ฉันเองเคยไปนิเวศภาวนามาครั้งหนึ่งและอาจด้วยบรรยากาศป่าของหมู่บ้านแม่คองซ้ายให้ความรู้สึกเป็นมิตรและมีพลังโอบอุ้ม ทำให้ไม่มีความกลัวในใจเลย ตอนทุกคนแยกย้ายกลับเต็นท์และอยู่ท่ามกลางความมืด ฉันอยู่ในบรรยากาศเปิดโล่งในทุ่งนา จึงมองเห็นแสงจันทร์สว่างเป็นพิเศษทั้งที่เป็นจันทร์แค่ครึ่งดวงเท่านั้น ยามค่ำคืนหรีดหริ่งเรไรร้องเพลง เสียงกระพรวนห้อยคอควายที่ผูกอยู่ข้างๆ ส่งเสียงกรุ๋งกริ๋ง ได้ยินเสียงน้ำไหลจากที่ไม่ห่างกัน ฉันนั่งภาวนาอยู่ท่ามกลางความเงียบ รับรู้ถึงความงดงามของทุกสิ่งรอบข้าง ระลึกได้ว่าความสุขนั้นเกิดได้ง่ายดายเหลือเกิน
‘ความเงียบ/ที่ว่าง/การไม่ต้องทำอะไร/กลมกลืนไปกับภาวะรอบกาย’ กลายเป็นสิ่งที่หล่นหายไปจากชีวิตรีบเร่งของเรา และนั่นคือความงามที่จริงแท้ ดวงดาวสุกสกาวเหมือนเพชรส่องประกายบนผืนฟ้าดำขลับ เราเป็นดั่งผงธุลีเล็กจ้อยเมื่อเทียบกับทุกสิ่งในจักรวาล อากาศหนาวจนเสื้อผ้าเริ่มเปียกชื้น ดวงดาวค่อยๆ เคลื่อนคล้อยไป สิ่งที่ดวงดาวบอกเราคือ ความจริงในโลกนี้คือการหมุนวนไป ไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่งอยู่กับที่ เราจึงต้องเข้าใจความจริงที่เคลื่อนไปเสมอ ทุกการเปลี่ยนผ่านคือโอกาสของการเติบโต
การได้กลับมาอยู่กับความเงียบ อยู่กับตัวเอง อยู่กับธรรมชาติรอบกาย จึงเป็น ‘การหลุด (โลก)’ ก้าวแรกที่สำคัญ หลายคนค้นพบว่าชีวิตของตนวิ่งวุ่นเหมือนหนูถีบจักรเพียงใด ก็เมื่ออนุญาตให้ตัวเองได้หยุดนี่เอง ความเงียบจึงไม่ได้เงียบงัน หากเป็นประตูสู่การใคร่ครวญจนเกิดแสงสว่างทางปัญญาจากภายในได้ด้วยตัวเอง
เรียนรู้จากธรรมชาติ
อากาศในค่ำคืนแรกเหน็บหนาวจนเป็นความทรมาน ฉันเองนอนดิ้นไปดิ้นมาตลอดทั้งคืน (มารู้ภายหลังว่าเมื่อคืนอุณหภูมิประมาณ 4 องศาเซลเซียส) ความชื้นสูงจนผ้าเต็นท์ด้านในเปียกชื้นทำให้ทั้งเปียกทั้งหนาวสั่น มารู้ตัวอีกครั้งตอนที่ผล็อยหลับไปได้เพียงครู่สั้นๆ เพราะแสงอาทิตย์ฉายแสงอ่อนลอดเข้ามา ฉันตื่นขึ้นมาโดยน้ำตารื้น เกิดความรู้สึกขอบคุณท่วมท้นใจ เพราะเหน็บหนาวเราจึงได้รู้คุณความอบอุ่นจากดวงอาทิตย์ แดดเช้าของวันใหม่จึงเป็นเหมือนอ้อมกอดอันยิ่งใหญ่ที่โลกนี้มอบให้กับผู้ที่รอคอยเป็น
ประเด็นสนทนาหลังอาหารเช้าจึงมีแต่เรื่องความเหน็บหนาวของคืนที่ผ่านมา ที่น่าสนใจคือ ในตอนแรกทุกคนคิดว่าตัวเองลำบากที่สุด ทรมานที่สุด แต่เมื่อได้รับฟังกันและกัน จึงได้ตระหนักว่าตนไม่ได้ทุกข์อยู่คนเดียว แต่ละคนก็ทุกข์ในแบบของตัวเอง อยู่ที่ว่าเราเรียนรู้และมีท่าทีตอบสนองต่อความทุกข์นั้นอย่างไรมากกว่า
ช่วงเวลามหัศจรรย์สำหรับฉันคือตอนนั่งลำพังริมลำธารยามเช้า ด้วยอากาศที่หนาวจัดทำให้น้ำเย็นยะเยือก เมื่อแดดส่องฉายลงมาให้ความอบอุ่น เราจึงมองเห็นกรุ่นไอลอยอ้อยอิ่งเป็นดั่งลมหายใจของสายน้ำ เป็นชั่วขณะที่สัมผัสได้อย่างลึกซึ้งถึงคำว่า ‘เป็นหนึ่งเดียวกัน’ ที่ตัวเรา ต้นไม้ สายน้ำ กำลังใช้ลมหายใจร่วมกัน เรามีชีวิตโดยดำรงอยู่บนการพึ่งพาอาศัย ทุกสิ่งในโลกใบนี้มีความสัมพันธ์กันและกัน ในทางใดทางหนึ่งเสมอ ไม่ว่าเราจะตระหนักรู้หรือไม่ก็ตาม
เพื่อนร่วมภาวนาคนที่เข้าป่าครั้งแรกแบ่งปันความรู้สึกว่า เธอเองไม่เคยเข้าใจว่าป่าไม้ สายน้ำจะเกี่ยวข้องอย่างไรกับชีวิตของเธอ ในตอนที่อยู่เมืองหลวง เพราะแค่เปิด ทุกอย่างก็ปรากฏ แต่เมื่อเธอมาอยู่ที่นี่ ตอนแรกก็กลัวความเงียบ แต่เธอกลับพบว่าในความเงียบนั้นเธอสัมผัสถึงความเป็นมิตรจากธรรมชาติได้มากกว่ายามอยู่ในท่ามกลางผู้คนเสียอีก เมื่อได้นั่งลงเห็นไอน้ำลอยกรุ่นเธอจึงได้ตระหนักรู้เป็นครั้งแรกว่า ต้นไม้อยู่ในกายของเธอ แม่น้ำก็อยู่ในกายของเธอ ผ่านลมหายใจที่เราใช้ร่วมกัน
ผู้นำของหมู่บ้านพาพวกเราเดินรอบพื้นที่เพื่อดูว่าชาวบ้านแม่คองซ้ายอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างไร ชาวบ้านที่นี่อยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ มีป่าไม้เขียวครึ้มสุดลูกหูลูกตา มีลำธารไหลทั่วไปหมด ชาวบ้านทำไร่หมุนเวียนเพื่อปลูกข้าวและสารพันอาหารไว้ในผืนดิน เช่น เผือก มัน ฟัก และพืชสวนครัวต่างๆ ทุกอย่างทำเพื่อกิน หากมีเหลือจึงจะขาย “ผืนดินที่มีอาหาร ผู้คนที่มีกิน คือความร่ำรวยแท้จริง” พะตีคนหนึ่งบอกกับเรา ชวนให้คิดว่าพวกเราคนในเมือง ร่ำรวยหรือยากจนในนิยามความหมายเช่นนี้?
เมื่อแล้งไร้จึงเห็นค่าและขอบคุณ
ช่วงบ่ายพี่อ้วนเชื้อเชิญให้ทุกคนภาวนาตามลำพังในธรรมชาติ หากเป็นไปได้อยากให้ลองอดอาหารมื้อเย็นในวันที่สองนี้ ก่อนแยกย้ายพี่อ้วนบอกว่า ถ้าใครหนาวจนทนไม่ไหว จะขอไปนอนบ้านชาวบ้านก็ได้ เวลาที่เราต้องร้องขอความช่วยเหลืออะไรสักอย่างจากคนอื่น เราจะรับรู้ถึงการสลายตัวตนและความรู้สึกขอบคุณได้อย่างชัดเจน
ฉันเองตัดสินใจอดอาหารและตั้งใจย้ายตำแหน่งกางเต็นท์จากทุ่งนาไปนอนใต้ชายคาโรงเรียนเพราะสู้ความชื้นไม่ไหว จากนั้นจึงนั่งภาวนาอยู่ริมสายน้ำ เสียงซัดซ่าของน้ำไหลเป็นเครื่องมือชำระใจให้โปร่งเบาสบาย
“ทุกอย่างไหลไปตามธารของมัน บ้างคดเคี้ยว บ้างเป็นเส้นตรง ไม่มีอะไรเป็นไปตามที่ใจต้องการ มีเพียงแต่สิ่งที่ต้องเป็นไปตามดั่งที่มันควรเป็น หากเราไม่กำหนดความจริง (ของเรา) ไว้เพียงอย่างเดียวตามความต้องการของตน ทุกอย่างคือความเป็นไปได้ทั้งสิ้น” นี่คือสิ่งที่ฉันเรียนรู้จากสายน้ำ
ด้วยความที่เป็นหมู่บ้านในหุบเขา แค่ตะวันลับฟ้าอุณหภูมิก็ลดฮวบทันที ฉันเดินเข้าไปหมู่บ้านเพื่อขอไฟจากชาวบ้านมาจุดเทียนหน้าเต็นท์ สี่โมงเย็นชาวบ้านก็ก่อฟืนผิงไฟหน้าบ้านกันแล้ว ฉันเดินตามควันไฟเข้าไปจนถึงบ้านหลังหนึ่ง ขออนุญาตต่อไฟเพื่อจุดเทียน พะตีกับหมื่อกา (ลุงกับป้า) ชวนนั่งผิงไฟด้วยกันก่อน ถามไถ่พูดคุยกันเล็กน้อยแล้วหมื่อกาก็บอกว่า “ไม่ต้องอดข้าวหรอก ที่นี่มีข้าวเยอะ มากินด้วยกัน นอนข้างนอกมันหนาว มานอนที่บ้านก็ได้ ผ้าห่มมีเยอะ” พูดอย่างนี้ซ้ำๆ หลายครั้งตลอดการสนทนา ฉันเองน้ำตารื้นด้วยความขอบคุณ ลองถามตัวเองดูบ้างก็ได้ว่า คุณเองเคยได้รับน้ำใสใจจริงจากคนที่ไม่เคยรู้จักกันครั้งสุดท้ายเมื่อไร
ด้วยความเคารพจากใจจริงนะ คนที่นี่อยู่ท่ามกลางป่าขนาดใหญ่ มีต้นไม้หลายคนโอบหลายต้น หากพวกเขานึกถึงแต่ตัวเอง เขาเลือกมีบ้านหลังใหญ่กว่านี้ก็ได้ ตัดไม้ไปขายเพื่อมีเงินมากกว่านี้ก็ได้ ถางป่าปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อหาเงินก็ได้ แต่เขาก็ไม่ทำ ทั้งที่อยู่กันมาสามสี่ชั่วคนแล้ว แต่บ้านของแต่ละคนก็ยังเป็นแค่บ้านหลังเล็กๆ ใส่เสื้อผ้าไม่กี่ชุด ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกอะไรเลยแม้แต่ไฟฟ้า
แต่อะไรเล่าทำให้หัวใจของพวกเขาร่ำรวยความสุข รู้สึกเปี่ยมล้นจนเต็มใจแบ่งปันได้มากมายเช่นนี้
มื้อเช้าหลังอดอาหาร ข้าวต้มธรรมดาที่มีเพียงข้าว มัน และฟักทอง ดูอร่อยพิเศษกว่าที่มันเคยเป็น กองไฟทำหน้าที่ให้กายอบอุ่นมีความหมายอย่างพิเศษ พี่เล็กผู้ดูแลกองไฟเล่าให้ฟังว่า น้องคนหนึ่งตื่นมา (คงด้วยความหนาว) ตั้งแต่ตีห้า มานั่งอยู่หน้ากองไฟที่เบสแคมป์แล้วหลับต่อ ความอบอุ่นจึงหมายถึงความปลอดภัยและไว้วางใจ ชีวิตในเมืองที่เราแลกเปลี่ยนทุกสิ่งได้ด้วยเงิน ไม่เคยมีสิ่งใดมีค่าในความสำนึกรู้ของเรา แต่ในชั่วขณะที่เหน็บหนาวเช่นนี้ กิ่งไม้แห้งหรือฟืนแม้สักท่อนก็มีความหมายถึงขั้นต่อชีวิตเราได้เลยทีเดียว
หวนคิดถึงชีวิตในเมือง คนที่มีพร้อมทุกอย่าง แต่เราก็ไม่เคยพอใจอะไรสักอย่าง เราคิดเอาเองว่าแค่มีเงินตราก็สรรหาได้ทุกสิ่ง ชีวิตที่อยู่ท่ามกลางป่าต้นน้ำอันสมบูรณ์จึงเป็นการเผชิญหน้ากับความจริงแท้ว่าชีวิตของเรานี้เล็กจ้อยนัก เราเป็นหนี้บุญคุณของความเอื้ออาทรจากธรรมชาติทั้งภูเขา ป่าไม้ สายน้ำ และสรรพสิ่งอย่างพึ่งพาอาศัย ชวนให้ใคร่ครวญว่าเราเรียนรู้ที่จะขอบคุณชีวิตนี้มากน้อยแค่ไหนกัน
ชีวิตคือความศักดิ์สิทธิ์
แม้จะเป็นเวลาแสนสั้น แต่ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติอันบริสุทธิ์ได้ช่วยโอบอุ้มให้หลายคนเกิดการเรียนรู้ภายในอย่างลึกซึ้ง ก่อนจาก พะตีอาวุโสในหมู่บ้านจัดพิธีผูกข้อมือรับขวัญผูกดวงใจเราไว้ให้อยู่กับตัวอยู่กับธรรมชาติทั้งภายนอกและภายใน ด้ายฝ้ายสีขาวผูกคล้องมือจึงราวคล้ายการรับขวัญการเกิดใหม่สำหรับใครหลายคน
ออกจากหมู่บ้านแม่คองซ้ายกลับมาที่ค่ายเยาวชนเชียงดาว อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ตามมาสบทบตอนค่ำ บทเพลงหนึ่งที่ถูกขับขานรอบกองไฟ กล่าวถึงการสลายความกลัวเพื่อบ่มความรักในหัวใจ เป็นประเด็นสนทนาต่อเนื่องในยามเช้าที่เราแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ต่อกัน
อาจารย์ประมวลกล่าวว่าตามแนวคิดของฮินดูเรื่องอาศรมสี่ (พรมจรรย์-คฤหัสถ์-วนปรัสถ์-สัณยาสี) ถึงช่วงเวลาหนึ่งคนเราก็ต้องออกจากบ้านไปสู่ป่า บ้านหรือคฤหัสถ์หมายถึงการที่เราควบคุมพื้นที่หรือสถานการณ์ให้เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของเรา แต่ป่าหรือวนปรัสถ์ หมายถึง การทำใจหรือดัดแปลงใจให้ยอมรับและสัมพันธ์กับสิ่งที่อยู่ภายนอก การที่ทุกคนได้เข้าป่าและได้พบประสบการณ์เรียนรู้ที่มีค่าจึงเป็นความหมายที่สำคัญสำหรับชีวิตที่ทุกคนได้มอบให้แก่ตนเอง
ความกลัวมักเป็นสิ่งดึงรั้งใจ เป็นเหตุผลใหญ่ที่เราควบคุมสิ่งต่างๆ ให้เป็นดังใจต้องการของตัวเอง เพราะการควบคุมได้ทำให้เราปลอดภัย (ในความรู้สึกของตัวเอง) แต่ชีวิตที่เต็มไปด้วยความกลัวไม่อาจเติบโต การสลายความกลัวจึงเป็นหนทางของการบ่มเพาะความรักในหัวใจ ความรักคือการเปิดกว้าง ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นอย่างไม่ควบคุม อาจารย์กล่าวต่อว่าชีวิตของคนสมัยใหม่เปราะบางขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เกิดในยุคสมัยของความสะดวกสบายที่ทุกอย่างเสกได้ในชั่ววินาที
“เกษตรกรหรือชาวบ้านธรรมดาเขาต้องอดทนรอคอยผลผลิตตามฤดูกาล ต้องรอการก่อไฟจึงจะได้ความอบอุ่น วิถีชีวิตแบบนั้นทำให้การรอของเขาเป็นเรื่องปกติ แต่พวกเราคนในเมืองที่ใช้เงินแลกเปลี่ยนทุกสิ่ง เราไม่เคยรู้จักการรอคอย การได้กลับไปอยู่กับธรรมชาติจึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเรียนรู้ที่จะรอคอยได้ รอคอยเป็น เพราะเรียนรู้ว่าไม่อาจเร่งทุกสิ่งให้เป็นอย่างใจ สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การทำความเข้าใจว่า ‘ชีวิตคือการเรียนรู้’ หน้าที่ของเราทุกคนคือการเปิดใจ น้อมใจกับสิ่งที่ปรากฏตรงหน้าแล้วเรียนรู้จากมัน ไม่ใช่คาดหวังให้เป็นอย่างใจ ชีวิตเช่นนี้เราจึงจะเติบโต”
อาจารย์ประมวลใช้โอกาสกล่าวลาทุกคน เนื่องเพราะสัมผัสรู้ถึงความแก่ชราในตนและอยากพักผ่อน จึงขอวางมือจากการทำงานแบ่งปันความคิดตามแวดวงต่างๆ เป็นเสมือนการนำพาชีวิตเข้าสู่อาศรมสี่ในช่วงสัณยาสีกล่าวคือ บำเพ็ญธรรมในความสันโดษ หลายคนมีน้ำตาเมื่ออาจารย์กล่าวถึงตรงนี้ ท่านเล่าต่อว่า
“ชีวิตคนเราเหมือนรถไฟฟ้า เมื่อถึงสถานีของเรา เราก็ลง ไม่จำเป็นต้องไปกังวลถึงอนาคตข้างหน้า แค่ใช้เวลากับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างมีความหมาย ทำทุกช่วงขณะชีวิตให้มีคุณค่าเสมอ เราจะไม่เสียดายเวลา แม้เกิดความพลัดพรากก็ยังเป็นความงดงามได้ทั้งสิ้น”
ฉันเองเลือกผลัดใบกับความกลัว และดูเหมือนว่าความกลัวได้ถูกพร่าผลาญไปกับใบไม้แห้งที่โยนเข้ากองไฟนั้นไปแล้วจริงๆ ด้วยความรู้สึกที่เปิดกว้างในหัวใจ ยอมรับทุกประสบการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ควบคุมผลักไส คล้ายดังภิกษุณีเพม่า โชดรัน ได้บรรยายไว้ในหนังสือ ‘เมื่อทุกอย่างพังทลาย’ ว่า “การมีชีวิตอยู่อย่างเต็มเปี่ยมและตื่นรู้อย่างสมบูรณ์นั้น คือการถูกจับโยนออกจากรังอันสะดวกสบายอยู่ตลอดเวลา มีประสบการณ์ด้วยความสดใหม่เสมอ ดังการยอมตายครั้งแล้วครั้งเล่าและนี่คือชีวิตที่ตื่นรู้แท้จริง”
ใบไม้หล่นร่วง แล้งใบ รอวันเติบใหญ่ จิตของเราก็ต้องการโอกาสเช่นนั้น ถึงเวลาผลัดใบ ผลัดจิต ผลัดใจเก่าทิ้งไป หากต้นไม้ไม่เรียกใบไม้ร่วงว่าการสูญเสีย การสิ้นสุดของบางสิ่งในชีวิตก็อาจเป็นโอกาสของการเกิดบางอย่างขึ้นใหม่ได้เช่นเดียวกัน
หมายเหตุ: สนใจการเรียนรู้ในธรรมชาติสอบถามรายละเอียดได้ที่ค่ายเยาวชนเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ facebook: Nikom Putta