Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Myth/Life/Crisis
10 June 2021

โกลมุนด์: ความทรงจำที่ถูกฝังกลบ การเยียวยาผ่านความฝัน และสัญญาณการเปลี่ยนแปลง

เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • ความฝัน นอกจากใช้เพื่อสัมผัสถึงลักษณะของตัวเองที่เราได้ละเลยไปแล้ว บางครั้งอาจเป็นสัญญาณเตือนการใช้ชีวิตของเรา
  • เช่น ชายคนหนึ่งที่มักรู้สึกไม่มั่นคงและเกิดอาการเวียนหัวเมื่อต้องขึ้นภูเขาสูง อีกทั้งยังฝันว่าได้กลับไปบ้านเกิดแต่ทุกคนกลับไม่รู้จักเขา หรืออีกฝันหนึ่งลืมเอกสารสำคัญทำให้ไปไม่ทันรถไฟ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนว่าความทะเยอทะยานที่พยายามถีบตัวเองกำลังส่งผลให้เขาเหนื่อยล้า และยิ่งเขาไม่หยุดพักผลกระทบก็ยิ่งหนักขึ้น
  • บทความชิ้นนี้ ภัทรารัตน์ ชวนเข้าใจความฝันและการทำงานกับความฝัน ผ่านตัวละครโกลด์มุนด์ จากเรื่อง นาร์ซิสซัสและโกลด์มุนด์

“คุณคอยสังเกตนะ ผมเหนือกว่าคุณเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอง คือผมตื่นแล้ว ส่วนคุณยังครึ่งหลับครึ่งตื่นอยู่ หรือบางทีคุณอาจหลับสนิทเลยทีเดียว” – นาร์ซิสซัส กล่าวกับโกลด์มุนด์

ณ มาเรียบรอนน์ (Mariabronn) อารามยุคกลางแห่งหนึ่งในชนบทของเยอรมัน โกลด์มุนด์ (Goldmund) หนุ่มน้อยหน้าตาหล่อเหลาผมสีบลอนด์ ผู้มีจิตวิญญาณแบบศิลปินนักฝัน อีกทั้งมีความเป็นกวีและนักรัก จำต้องมาเป็นนักเรียนในอารามเพื่อในอนาคตจักได้บวชเพื่อพระผู้เป็นเจ้าตามความประสงค์ของพ่อผู้เย็นชา เนื่องเพราะพ่อเห็นว่าแม่ของเด็กหนุ่มมีความผิดบาปซึ่งโกลด์มุนด์ต้องช่วยไถ่ให้ 

ทว่า โกลด์มุนด์แทบไม่มีความทรงจำใดเกี่ยวกับแม่เลย เขารู้เพียงว่าตนสูญเสียแม่ไปตั้งแต่อายุยังน้อย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพ่อของโกลด์มุนด์อับอายที่ภรรยาของตนหนีไป เขาจึงต้องกดความทรงจำเกี่ยวกับภรรยาในตัวโกลด์มุนด์อย่างถึงที่สุด เพื่อไม่ให้โกลด์มุนด์สืบสันดาน ‘ชั่วร้าย’ ของแม่ ลักษณะต่างๆ ของเธอจะไม่มีโอกาสเบ่งบานในตัวโกลด์มุนด์

ในอารามที่พ่อนำตัวโกลด์มุนด์มาฝากไว้นั้น มีบุคคลผู้น่าเลื่อมใสอยู่สองท่าน หนึ่งในนั้นคือนาร์ซิสซัส (Narcissus) ครูหนุ่มผู้มีอายุมากกว่าโกลด์มุนด์เพียงนิดหน่อย นาร์ซิสซัสมีลักษณะของนักคิดผู้เปี่ยมปัญญาและสงวนท่าที อีกทั้งสามารถสัมผัสถึงบุคลิกภาพของคนอื่นได้ด้วยความหยั่งรู้ แม้นาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนด์จะมีความแตกต่างกันมากมายเพียงไร แต่พวกเขาก็ได้สานสายใยมิตรภาพอันลึกซึ้งต่อกัน

นาร์ซิสซัสมองเห็นว่าวิญญาณของโกลด์มุนด์ป่วยไข้มาเนิ่นนาน วันหนึ่งจึงบอกแก่โกลด์มุนด์ว่า “คุณลืมวัยเด็กของตัวเอง” เขารู้ว่าอดีตกำลังเพรียกหาโกลด์มุนด์จากเบื้องลึกแห่งวิญญาณและโกลด์มุนด์จะเป็นทุกข์จนกว่าจะหวนกลับไปดูอดีตซึ่งมีมารดาอยู่ในนั้น ถ้อยคำต่างๆ ของนาร์ซิสซัสทำให้โกลด์มุนด์เจ็บปวดมาก แต่กระนั้นก็รู้สึกว่า ‘ได้ปลดปล่อยตัวเองจากบางอย่าง’ ในส่วนลึก โกลด์มุนด์วิ่งหนีไปสลบอยู่ใต้หลังคาหินเชื่อมทางเดินกับสวนในอาราม

ในขณะกึ่งหลับกึ่งตื่นจากโลกของความฝัน โกลด์มุนด์เห็นภาพแม่ของเขา สตรีใบหน้าเปล่งปลั่ง ร่างสูง เรือนผมส่องประกายจับตา ‘ผู้หญิงผู้เป็นที่รักเกินกว่าจะพร่ำพรรณนา นัยน์ตาสีฟ้าอ่อนงามสง่าดุจเนตรพระราชินีของเธอจ้องมองมาที่เขาอีกครั้ง’

นาร์ซิสซัสกระตุ้นให้โกลด์มุนด์ระลึกถึงมารดาที่เขาลืมเลือนไป และหลังจากเขาตื่นขึ้นจากการหมดสติ ก็ดูเหมือนว่าโกลด์มุนด์ได้รับการเยียวยาไปส่วนหนึ่งแล้ว เขาได้สัมผัสรสชาติของมารดาที่มีทั้งความสง่างาม อบอุ่นละมุนละไม ฯลฯ ที่มีความหมายมากกว่าเรื่องอื้อฉาวที่เคยได้ยินจากปากคนอื่น และเขายังได้สัมผัสกับคุณลักษณะต่างๆ มากมายของตัวเองอันเหมือนกับของมารดา ซึ่งถูกกดไว้ในจิตไร้สำนึกด้วย

ความทรงจำเกี่ยวกับแม่ และต้นแบบของความเป็นแม่ (Mother Archetype) เผยตัวขึ้นในความฝันและฝันกลางวันอันกึ่งหลับกึ่งตื่นของโกลด์มุนด์ เขาได้เห็นคุณลักษณะต่างๆ ของตัวเองที่ไม่สอดคล้องกับการเป็นเพศบรรพชิต และตัดสินใจออกไปใช้ชีวิตอิสระอันเปิดกว้างต่อความรักใคร่และผัสสาการที่น่าตื่นเต้นในโลก ซึ่งรวมเอาสองขั้วตรงข้ามของโลกไว้ รอยยิ้มแห่งสุข การปลอมประโลม ความน่ากลัว ความเย้ายวน ความมืดมิด ความตะกละตะกลาม มลทินมัวหมองและความโศกาอาดูร ฯลฯ โลกที่สรรพสิ่งได้ถือกำเนิดขึ้นและถูกพรากชีวิตให้ดับสูญไป

การสัมผัสกับคุณลักษณะต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ค่อยๆ ขยายขอบเขตของโกลด์มุนด์ให้ไพศาลบริบูรณ์ขึ้นในแนวทางของตัวเขาเอง

บางด้านที่เราได้ทอดทิ้งไป  

ในครอบครัวและสังคมของพวกเราแต่ละคนก็เหมือนกับของโกลด์มุนด์ ที่ผู้ปกครองและผู้คนย่อมจะมีแนวคิดว่าอะไรดีอะไรไม่ดี และอะไรเป็นคุณลักษณะที่อยากบ่มเพาะขัดเกลาให้เรามีและไม่มี อย่างในเนื้อเรื่องนี้พ่อของโกลด์มุนด์คิดว่าลักษณะแห่งกามสุขต่างๆ และความรุ่มรวยแบบศิลปิน นักรักนอกรีต ฯลฯ ของภรรยา เป็นความชั่วร้ายและน่าอาย เขาจึงฝังกลบลักษณะเหล่านั้นในตัวลูกไว้ร่วมกับความทรงจำของลูกเกี่ยวกับมารดา

แต่ไม่ว่าลักษณะไม่พึงประสงค์สำหรับครอบครัวและสังคมที่เราอยู่ จะเหมือนกับของโกลด์มุนด์หรือไม่ สิ่งที่ถูกปฏิเสธในตัวเราทุกคน โดยเฉพาะนับแต่วัยเด็กไม่ได้หายไป มันเพียงแต่ถูกกักไว้ในจิตไร้สำนึก หรือบางทีเราก็เติบโตมาโดยรู้สึกถึงมันอย่างครึ่งๆ กลางๆ ราวกับอยู่ในภวังค์ และบ้างก็ปฏิเสธมันอย่างรุนแรงเมื่อเริ่มรู้จักมันอีกครั้ง 

มันแค่รอวันแสดงตัวออกมาในกระแสสำนึก ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็มักมีอานุภาพรุนแรงเกินจะควบคุม กระนั้น วิธีที่เราจะสามารถรับรู้มันอย่างเป็นมิตร (รับรู้ในจิตใจ ไม่ได้แปลว่าต้องทำพฤติกรรมตามสิ่งต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาทั้งหมด เพราะเรายังต้องอยู่ในสังคม) ก่อนให้มันมาควบคุมเรา ก็คือการทำงานกับภาพสัญลักษณ์ในตำนานและเรื่องราวต่างๆ อีกทั้งทำงานกับภาพที่ปรากฏในความฝัน ความกึ่งฝันกึ่งตื่น รวมไปถึงสัญญาณต่างๆ ที่รับรู้ได้ในยามตื่น เช่น ความป่วยไข้ ด้วย

ความฝัน กับความสัมพันธ์และบางด้านที่เราได้ทอดทิ้งไป  

มนุษย์สามารถใช้ความฝันช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตและเยียวยาอาการป่วยไข้มานับแต่อดีตกาล Sheila McNellis Asato อาจารย์ผู้ทำงานกับความฝัน ณ มหาวิทยาลัยมินนิโซตา เล่าว่า ในโลกโบราณมีวิหารซึ่งอุทิศแด่เทพอัสเคลเพียส (Asclepius) อันเป็นเทวสถานที่ผู้คนเข้าไปเอนกายลงนอนบนม้านั่งยาว (ภาษากรีกเรียกว่าคลิเน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าคลินิก) เพื่อจะฝันและเยียวยา 

ความเป็นจริงในตอนตื่นมิได้จริงไปกว่าตอนที่หลับฝัน และความฝันสามารถนำพาเราก้าวข้ามรูปแบบจิตสำนึกในตอนตื่นที่เราติดเป็นนิสัย ออกไปสู่ความสำนึกรู้ที่ไพศาลกว่าเดิมได้ ในขนบการเยียวยาของคาร์ล ยุง (1875-1961) จิตแพทย์ชาวสวิส ซึ่งร่วมยุคกับ เฮอร์มาน เฮสเส (1877-1962) ผู้เขียนเรื่อง นาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนด์ Narcissus and Goldmund) ที่เล่ามานี้ ข้อมูลจากความฝันเป็นสิ่งสลักสำคัญมากพอจะใส่ใจ

ยกตัวอย่าง สตรีผู้หนึ่งฝันถึงดาบที่ประดับประดาอย่างวิจิตร และเมื่อยกขึ้นพูดคุยกับคาร์ล ยุง ก็พบว่า ดาบนี้สะท้อนลักษณะที่วู่วามแต่เด็ดเดี่ยวของพ่อ รวมถึงเป็นลักษณะดังกล่าวแบบพ่อในตัวเธอเองที่เธอลืมเลือนฝังกลบไปด้วย เธอได้ก้าวข้ามขอบของตัวเองหลังจากความตระหนักรู้นั้น เฉกเช่นเดียวกันกับการปลดปล่อยข้อมูลบางอย่างซึ่งถูกฝังกลบไว้ในจิตไร้สำนึกของโกลด์มุนด์ ข้อมูลนี้คือคุณลักษณะของแม่ของโกลด์มุนด์ และอันที่จริงก็เป็นลักษณะของโกลด์มุนด์เองด้วย  

ความฝัน กับสัญญาณเตือนสู่การเปลี่ยนผ่านแห่งชีวิต

นอกจากการทำงานกับความฝันเพื่อสัมผัสถึงลักษณะของตัวเองที่เราได้ละเลยไปแล้ว ก็ยังมีการทำงานกับความฝันในฐานะที่มันเป็นสัญญาณเตือนถึงการใช้ชีวิต เทนซิน วังเกล รินโปเช (Tenzin Wangyal Rinpoche) ภาวนาจารย์สายพุทธเพิน กล่าวว่า 

หากเรา ฝันเป็นแนวเรื่องซ้ำๆ มันแปลว่า เรามิได้เป็นผู้ฟังที่ดี ด้วยเพราะความฝันจะไม่ต้องเดินทางมาพร่ำบอกเราในเรื่องเดิมอย่างซ้ำซาก หากเราตั้งใจฟังและทำงานกับมันกระทั่งสารนั้นได้รับการคลี่คลาย ถ้าเราไม่ฟังความฝันบ้าง ก็อาจต้องเจอฝันร้ายในชีวิตตอนตื่น 

เช่น มีชายคนหนึ่งมาปรึกษาคาร์ล ยุง เรื่องที่ชายคนนั้นรู้สึกไม่มั่นคงและวิตกกังวล อีกทั้งยังรู้สึกคลื่นเหียนเวียนหัวคลับคล้ายความรู้สึกป่วยเมื่อเดินทางขึ้นภูเขาสูง ชายผู้นี้ผงาดขึ้นพ้นจากภูมิหลังอันยากจนและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานด้วยความทะยานอยาก แต่แล้วอาการทางประสาทก็มาสกัดเขาไว้เสียก่อน เขามาเล่าความฝันให้คาร์ล ยุง ฟัง โดยความฝันแรก เขากลับไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตนเองเกิดมา มีชาวนาที่ร่ำเรียนมากับเขายืนอยู่แต่เขาทำเป็นไม่รู้จัก ทว่าหนึ่งในคนเหล่านั้นชี้มาที่เขาแล้วบอกว่า เขาไม่ค่อยกลับมาที่หมู่บ้าน 

ส่วนอีกฝันหนึ่ง เขากำลังรีบจะเดินทาง แต่กลับลืมกระเป๋าเก็บเอกสารสำคัญทิ้งไว้จึงต้องกลับไปเอา ทว่าพอวกกลับไปที่สถานีรถไฟ รถไฟก็เพิ่งวิ่งออกไปเป็นรูปตัว S ซึ่งถ้าคนขับเร่งเครื่องตอนวิ่งตรงไป ตู้รถไฟจะตกราง แล้วรถไฟก็ถูกเหวี่ยงออกจากรางจริงๆ 

การถีบตัวอย่างอุตสาหะจากจุดต่ำเตี้ยขึ้นสู่สถานะการงานอันสูงส่งที่ผ่านมาทำให้ชายผู้นี้เหนื่อยล้า และเขาก็ได้รับสัญญาณเตือนเป็นอาการป่วยเหมือนคนปีนขึ้นที่สูงและความฝันอันสอดรับ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการไม่สามารถถีบตัวต่อไปได้อีก แต่ทว่าเขากลับไม่ฟังและไม่หยุดพักเสียบ้าง จนในที่สุดชีวิตตอนตื่นของเขาก็พังทลายดุจรถไฟในความฝัน เห็นได้ว่าความฝันสามารถปรากฏขึ้นอย่างสอดคล้องกับปัญหาในชีวิตที่ตื่นอยู่ มันชัดเจนสำหรับคนช่างสังเกตและสามารถสดับตรับฟัง 

ร่างฝัน

แล้วถ้าเราอยากทำงานกับความฝัน มีอะไรที่ควรสังเกตบ้าง?

ความฝันไม่เพียงสามารถปรากฏร่างเป็นอาการเจ็บป่วย บางกรณีร่างฝันก็แสดงตัวเป็นการเสพติดความสัมพันธ์ให้โทษที่ไม่เข้าท่า หรือเสพติดความรู้สึกว่าต้อง nice ตลอดเวลา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาบอกว่าเรามีตำหนิ แต่เป็นดังเสียงกระซิบซาบแห่งกระบวนการเติบโตเปลี่ยนผ่านทางจิตใจ มันคือเสียงเพรียกหา (Calling) คล้ายในไพ่ The Judgement ให้ต้องใคร่ครวญตัวเองเพื่อจะเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่ามี แนวเรื่องซ้ำรอยเดิมบางอย่าง อยู่ตลอดเส้นทางชีวิตของเรา และเรามีศักยภาพที่จะก้าวพ้นขอบไปจากร่องเดิมถ้ามันเริ่มเป็นโทษ แต่บางครั้ง เราไม่เปิดรับเสียงเพรียกนี้เพราะยังไม่พร้อมเสียสละบางอย่างที่ดูเหมือนปลอดภัยกว่า เฉกเช่นโกลด์มุนด์ในตอนแรกที่ไม่รับรู้คุณลักษณะรุ่มรวยหลายอย่างในตนเองเพราะติดกรอบของพ่อซึ่งต้องการให้เขามีชีวิตแบบนักบวช    

บางทีเราจึงหลับใหลเมื่อพยายามตอบสนองเสียงจากข้างนอก แต่กลับตื่นขึ้นกว่าเดิมเมื่อใส่ใจความฝันแห่งโลกภายใน อีกทั้งข้อมูลในภาวะกึ่งหลับใหลและแม้แต่สัญญาณในยามตื่นด้วยเช่นกัน

อ้างอิง 
นาร์ซิสสัสกับโกลด์มุนด์  (Narcissus and Goldmund) โดย เฮอร์มาน เฮสเส แปลเป็นภาษาไทยโดย สดใส ขันติวรพงศ์
Dreams โดย Carl Gustav Jung แปลจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาอังกฤษโดย R.F.C Hull หากสนใจ สามารถเทียบภาษาเยอรมันโดยหาจากชื่อ “Die praktische Verwendbarkeit der Traumananalyse” ใน in Wirklichkeit der Seele 
หากสนใจอ่านกระบวนการกลายเป็นปัจเจก (Individuation) อีกทั้งการสัมผัสกับภาพลักษณ์วิญญาณฝ่ายหญิง (Anima) และเรื่องเงามืด (Shadow) สามารถหาข้อมูลเบื้องต้นได้ใน Jung A very short Introduction โดย Anthony Stevens 
The Ultimate Illustrated Guide to Dreams, Signs & Symbols โดย Mark O’Connell, Raje Airey และ Richard Craze
Tibetan Yogas of Dream and Sleep โดย Tenzin Wangyal Rinpoche 

Tags:

หนังสือจิตวิทยาปม(trauma)ความฝันนาร์ซิสสัสกับโกลด์มุนด์  (Narcissus and Goldmund)

Author:

illustrator

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา

ชอบอยู่กับต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ผืนน้ำ เที่ยวไปในโบราณสถาน และเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในเงามืด เราเองยังต้องเรียนรู้และขัดเกลาอะไรอีกมาก รู้สึกขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้ฟังเรื่องราวของทุกคนนะ (Line ID: patrasuwan)

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • Book
    ความฝันที่ล้มเหลวไม่เจ็บปวดเท่าความฝันที่ไม่ได้ลงมือทำ: คิริโกะกับคาเฟ่เยียวยาใจ

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Book
    วันนั้นฉันเจอเพนกวิน: อย่าปิดกั้นจินตนาการของเด็กด้วยคำว่า ‘เพ้อฝัน’

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Family Psychology
    ความเข้าใจผิดที่ส่งต่อกันมา EP.3 การแสดงออกซึ่งความรัก

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Family PsychologyBook
    การแบ่งปันอารมณ์ความรู้สึกในครอบครัวคือขุมพลังชีวิตของลูก

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • Family Psychology
    THEY ARE WHAT YOU TEACH ลูกพ่อแม่ชอบสั่ง ไม่ชอบสอน

    เรื่องและภาพ SHHHH

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel