- กระแส ‘มูเตลู’ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ปรารถนาความสุขความสำเร็จในยุคที่เต็มไปด้วยความกดดันจากสังคมและปัญหาต่างๆ น่าสนใจว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ซึ่งมักออกปากว่าไม่อินกับศาสนาจึงหันมาทุ่มเทกับการมูเตลูกันมากขึ้น?
- ชวนทำความเข้าใจว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้คนหันมาพึ่งพาความเชื่อเรื่องมูเตลู และผลกระทบที่ตามมาทั้งด้านบวกและด้านลบ รวมไปถึงคำแนะนำ และมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิธีรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตในยุคปัจจุบัน กับ ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์
- “มูเตลูอาจจะไปช่วยซัพพอร์ตในเชิง Emotional Focus ในระดับหนึ่ง ที่ทําให้เรารู้สึกว่าอาจจะมีใครสักคนพอเป็นที่พึ่งให้กับเราได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราพึ่งแต่มูเตลู ก็เท่ากับว่ายังไม่ได้จัดการกับปัญหาอย่างจริงจัง ดังนั้นในแง่ของการช่วยแก้ปัญหา การมูเตลูอาจจะแค่ช่วยบรรเทาทําให้รู้สึกสบายใจได้ในระยะสั้นๆ เท่านั้น”
‘รีวิวไหว้ขอแฟนจากพระแม่ลักษมี‘
‘แจกพิกัดวัดฮ่องกงที่คนโสดไม่ควรพลาด‘
‘มูเรื่องเรียน ต้องพระพิฆเนศห้วยขวาง‘
‘5 วัดดัง ไหว้ขอพรเรื่องงานเงินเสริมความปัง‘
จากกระแสในสื่อโซเชียล ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ไม่ว่าจะเรื่องไหนหลายคนก็พึ่งพา ‘มูเตลู’ กันหมด
สำหรับใครที่คุ้นๆ หรืออาจจะยังคลุมเครือ คำอธิบายชัดๆ ของ ‘มูเตลู’ หรือ ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘มู’ ก็คือ คำที่ใช้เรียกความเชื่อเกี่ยวกับการเสริมดวงชะตา ซึ่งผสมผสานความเชื่อหลายรูปแบบหลายวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อทางพุทธ พราหมณ์ เทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เพื่อขอพรให้ชีวิตมีความสุข มีโชค มีลาภ หรือประสบความสำเร็จในสิ่งที่ต้องการ ผ่านการทำพิธีกรรมต่างๆ เช่น การไหว้ การขอพร การเสี่ยงทาย หรือการใช้เครื่องรางของขลัง
ถึงแม้ว่าในสังคมไทย การพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่ในช่วงหลัง กระแสการหันไปสนใจ ‘มูเตลู’ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ปรารถนาความสุขความสำเร็จในยุคที่เต็มไปด้วยความกดดันจากสังคมและปัญหาต่างๆ จนกลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ซึ่งมักออกปากว่าไม่อินกับศาสนาจึงหันมาทุ่มเทกับการมูเตลูกันมากขึ้น?
มากไปกว่านั้น คำถามที่ไม่อาจมองข้ามก็คือ การมูเตลูเกี่ยวข้องอย่างไรกับปัญหาสุขภาพจิตที่หลายคนกำลังเผชิญ? รวมถึงเบื้องหลังพฤติกรรมเหล่านี้คืออะไร? และการมูเตลูสามารถช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่?
The Potential ชวนมาหาคำตอบกับ ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ รองคณบดี และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม และอาจารย์ประจำแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำความเข้าใจว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้คนหันมาพึ่งพาความเชื่อเรื่องมูเตลู และผลกระทบที่ตามมาทั้งด้านบวกและด้านลบ รวมไปถึงคำแนะนำ และมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิธีรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตในยุคปัจจุบัน
ปัจจุบันมีการพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มคนรุ่นใหม่กันมาก ในมุมมองของนักจิตวิทยาอะไรคือปัจจัยสำคัญ?
จริงๆ แล้ว ปัญหาสุขภาพจิตก็มีมาโดยตลอดทุกยุคสมัยนะคะ เพียงแต่ว่าในยุคนี้แต่ละคนต่างมีความรู้สึกที่ต้องการความสําเร็จสูง จึงเกิดการเปรียบเทียบและความคาดหวังสูง แต่ถ้าเราแบ่งว่าทําไมคนถึงมีปัญหาสุขภาพจิตเยอะ อาจารย์มองเป็นสองส่วนคือ ปัจจัยส่วนบุคคล และปัจจัยทางสังคม
สำหรับปัจจัยส่วนบุคคล เราอาจสังเกตเห็นได้ว่าคนยุคใหม่หลายๆ คนอาจจะได้รับการเลี้ยงดูจากคุณพ่อคุณแม่ในรูปแบบที่ถูกทะนุถนอม และถูกปกป้องมากขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยก่อนๆ ซึ่งด้วยเหตุผลนี้เลยอาจจะทําให้บางคนไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้กับความล้มเหลวมากนัก พอเจออุปสรรคสักอย่างที่ไม่เคยเจอ ก็อาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ และก่อให้เกิดความท้อแท้ ภาษาชาวบ้านคือ ล้มแล้วลุกไม่เป็น ซึ่งบางคนก็อาจจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทําไมต้องล้มด้วย เพราะเกิดมาไม่เคยล้มเลย มีทั้งครอบครัวหรือสังคมในโรงเรียนคอยประคองตลอด
และถ้าเทียบกันกับแต่ก่อน วิธีการเลี้ยงดูของคนในยุคสมัยก่อนก็จะเห็นว่าค่อนข้างล้มลุกคลุกคลาน ซึ่งพอพ่อแม่เติบโตมาแบบนั้น ก็จะไม่อยากให้ลูกหลานเป็นแบบตัวเขาในอดีต จึงพยายามดูแลปกป้อง ทะนุถนอม ทําให้เด็กๆ ยุคใหม่อาจจะไม่มีโอกาสได้ฝึกปรือกับความผิดพลาดหรือความล้มเหลวในชีวิตมากนัก ก็เลยเหมือนไม่มีเหมือนภูมิคุ้มกันทางจิตใจมากเพียงพอที่จะรับมือกับความล้มเหลว
แต่ว่าถ้าคนๆ นึงสามารถเผชิญกับความรู้สึกล้มเหลวและผิดพลาดได้ อยู่กับมันและมูฟออนด้วยตัวเองได้ ก็จะเกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่กับอุปสรรคหรือปัญหาในชีวิต และทําให้เขามีสภาพจิตใจที่แข็งแกร่ง มีความสามารถในการจัดการกับปัญหาหรืออุปสรรคที่จะเข้ามาได้
ส่วนปัจจัยทางสังคม เราจะสังเกตเห็นได้ว่าโลกทุกวันนี้มีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ และยุคนี้มันก็ยังคงสูงขึ้นอยู่ ประกอบกับโลกออนไลน์ที่กระแสและข้อมูลมันมาไวไปไว อย่างเมื่อก่อนเวลาดูสื่อ เราอาจจะมีความอยากเป็นอยากเหมือนคนโน้นคนนี้ประมาณนึง แต่ตอนนี้แค่เข้าไปในอินเทอร์เน็ตก็จะเห็นหมดทุกอย่าง ซึ่งพอเห็นในปริมาณเยอะๆ ก็เกิดการเปรียบเทียบ เกิดความอยากมี อยากเป็นอย่างคนอื่นเพิ่มขึ้นตามไปเรื่อยๆ เพราะธรรมชาติของคนจะมีการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างตัวเองกับคนอื่นตลอดเวลายิ่งเราเห็นข้อมูลคนอื่นเยอะเท่าไหร่ เราจะเริ่มรู้สึกแย่กับตัวเองมากเท่านั้น
พอเกิดการเปรียบเทียบ สิ่งที่ตามมาคือความเครียด เพราะอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกว่า ‘ฉันไม่มีค่าเลย’ เพราะสภาพแวดล้อมทำให้รู้สึกแบบนั้น
นี่ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งด้วย ที่ทําให้คนมีโอกาสหรือมีแนวโน้มที่จะเจอกับความทุกข์เศร้า หรือสุขภาวะทางจิตที่ไม่ได้เป็นไปในทิศทางบวก เพราะเราเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ทําไมคนนั้นสวย ทําไมคนนั้นสําเร็จ แต่เราทําไม่ได้แบบเขา ความคิดหรือความรู้สึกพวกนี้ก็สะสมมาเรื่อยๆ และอาจจะทําให้เรื่องปัญหาสุขภาพจิตเด่นชัดมากขึ้นในยุคนี้
แต่ทั้งหมดอาจมีหลายๆ ส่วนที่ประกอบรวมๆ กัน ไม่สามารถบอกได้เลยว่าเป็นเพราะสิ่งนั้นหรือสิ่งนี้ แต่มิติโดยรวมบอกได้ว่าอาจจะเป็นปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทําให้คนในปัจจุบันรับมือกับปัญหาและอุปสรรคได้ยากขึ้น และรู้สึกว่าอุปสรรคมันใหญ่ไม่สามารถจัดการมันได้ค่ะ
เมื่อรู้สึกว่าปัญหาที่เราเผชิญกำลังส่งผลกระทบต่อจิตใจ น่าสนใจว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงใช้ความเชื่อ หรือสิ่งที่เรียกว่า ‘มูเตลู’ เป็นที่พึ่ง
จริงๆ เรื่องไสยศาสตร์เรื่องความเชื่อพวกนี้มันอยู่กับวัฒนธรรมไทยมานานแล้วทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่ายุคไหนก็ยังมีคนเชื่ออยู่ตลอด แต่สิ่งที่น่าสนใจในปัจจุบันคือ ยุคสมัยมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ทำไมเธอยังเชื่อการมูอยู่เลย ซึ่งก็เหมือนเป็นการที่เขาหาที่พึ่งทางใจ และทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้น บางคนก็เชื่อมั่นในตัวเองอยู่แล้วว่าสามารถทำได้ แต่ก็มีความรู้สึกอยากขอเพิ่มพลังอื่นอีกสักนิดให้อุ่นใจ ซึ่งการมูนั้นทำไปก็ไม่ได้เสียหายอะไร มันจึงเป็นการเสริมความมั่นใจที่จะทําสิ่งต่างๆ ในชีวิต
จริงๆ การที่เราพึ่งพาไสยศาสตร์ หรือพึ่งพาการมูเตลู หรือคำที่คนนำมาใช้เรียกแทนเวลาที่เราเชื่อในสิ่งลี้ลับหรือสิ่งที่มองไม่เห็น อาจจะเป็นได้ตั้งแต่การแต่งตัวสีมงคล กระเป๋ามงคล ดูดวง ไปจนถึงเชื่อเรื่องภูติผี ปีศาจ เทวดา ที่จะมาคุ้มครอง หรือพระแม่ต่างๆ ที่จะให้พร ให้โชค ให้คู่
แต่ถามว่าจริงๆ แล้ว คนแบบไหนที่จะเชื่อเรื่องพวกนี้ ในเชิงจิตวิทยาจะมีตัวแปรหนึ่งที่น่าสนใจ เรียกว่า ‘Locus of Control’ (ความเชื่อในอำนาจควบคุม) หรือความรู้สึกที่ว่า ‘ชะตาชีวิตของเราใครเป็นคนควบคุม’ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ Internal locus of control (ความเชื่อในอำนาจควบคุมภายใน) และ External locus of control (ความเชื่อในอำนาจควบคุมภายนอก)
โดยคนที่มีวิธีคิดแบบ Internal locus of control หมายความว่า เขาจะเชื่อว่าชีวิตเขาลิขิตด้วยตัวเอง เขาอยากได้อะไร เขาก็จะทํา และความพยายามของเขาจะนํามาซึ่งสิ่งที่เขาอยากได้ โดยคนที่มีลักษณะนี้จะรับรู้ได้ว่า ตัวเองมีความสามารถ ซึ่งตัวเขาต้องผ่านความสําเร็จมาบ้าง จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่า ‘ฉันมีความเชื่อมั่นในความสามารถของฉัน’ จนกลายเป็นคนที่มีบุคลิกลักษณะนิสัยที่เชื่อในชะตาชีวิตว่า ฉันเป็นคนกุมชะตาชีวิต เราจะเห็นได้ว่า คนแบบนี้จะเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นกับตัวเองใช้ความเพียรพยายามมากๆ ในการจะทําอะไรบางอย่าง
ส่วนคนที่มีแนวโน้มจะมีลักษณะแบบ External locus of control คือคนที่เชื่อว่าโชคชะตาฟ้าลิขิต หรือชีวิตฉันไม่ได้ลิขิตเอง เขาลิขิตมาแล้ว แปลว่า เขาเชื่อว่าต่อให้เราทําดีแค่ไหน พยายามแค่ไหน ผลลัพธ์ก็ไม่เปลี่ยน เพราะเราควบคุมไม่ได้ อาจจะเป็นลักษณะของคนที่รู้สึกว่าตัวเองควบคุมอะไรไม่ได้ ไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง หรือเคยทําอะไรไปแล้วแต่ไม่สําเร็จ เขาเลยคิดว่าอาจจะเป็นเพราะเวรกรรม และพยายามจะหาคําอธิบายให้กับการไม่ประสบความสําเร็จ หรือการทําไม่ได้ของตัวเอง
เพราะถ้าจะให้บอกตัวเองว่า เราทําไม่ได้เพราะว่าเราไม่เก่ง ก็อาจจะทำให้รู้สึกแย่กับตัวเอง เแต่พอคิดไปเสียว่าเพราะโชคชะตาลิขิตมาแบบนี้ ก็อาจจะทำให้สบายใจขึ้นนิดนึง ซึ่งพอเราคิดแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เชื่อว่าชะตาชีวิตของเรามันถูกกําหนดมาแล้วจริงๆ
พอเชื่อเรื่องแบบนี้ เวลาเจอปัญหาอะไรที่สามารถแก้ได้ง่ายๆ ก็อาจจะเลือกที่จะไปบนเพิ่มอยู่ดี เพราะเชื่อไปแล้วว่าเขาเป็นคนกําหนดชะตาชีวิต และจะช่วยเปลี่ยนแปลง หรือสามารถปรับเส้นชะตาชีวิตของเราได้ ซึ่งอาจารย์มองว่าทุกรุ่นก็เชื่อเรื่องสิ่งลี้ลับ ไสยศาสตร์ เวรกรรม หรือเชื่อว่ามีคนกุมชะตาฟ้าลิขิตเหมือนกัน เพียงแต่ว่าในยุคนี้มันอาจจะไปขัดกับความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากถูกมองว่างมงาย
แต่ระดับของการเชื่อเรื่องมูเตลูก็อาจจะมีตั้งแต่ระดับอ่อนๆ ไปจนถึงมากๆ เช่น ก้าวเท้าต้องก้าวเท้าไหนออกจากบ้าน ต้องเปลี่ยนชื่อ นามสกุล เปลี่ยนรถ เปลี่ยนบ้าน หรือไปจนถึงเปลี่ยนแฟน แบบนี้เรียกว่ามาก เพราะว่าไปกระทบกับชีวิตประจําวัน ถ้าหมอดูทักแล้วเราเปลี่ยนทุกอย่างเลย แสดงว่าเราแบบเราไม่มั่นคงในตัวเอง แล้วไม่เชื่อมั่นในตัวเองมากขนาดที่มีแค่คนมาทักแค่คนเดียวเราพร้อมจะเปลี่ยน
แต่ถ้าระดับเบาๆ อาจจะแค่ใส่เสื้อสีนี้แล้วจะสําเร็จ หรืออะไรที่ทําให้เรารู้สึกมั่นใจ ด้วยว่าแบบนี้ก็มีพวกจิตวิทยาสีที่สามารถส่งผลต่อความรู้สึกคนได้จริงๆ เพราะสิ่งนี้ก็มีคอนเซ็ปต์เรื่อง Self-fulfilling Prophecy (ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง) คือ ถ้าเราเชื่อว่าเราจะเป็นแบบไหนก็จะเป็นแบบนั้นได้จริงๆ
มีงานวิจัยสมัยก่อนที่คุณครูเชื่อว่าเด็กห้องนี้เป็นเด็กเก่ง สุดท้ายเด็กก็ได้ A ทั้งห้อง ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ว่าเพราะเด็กเก่งอย่างที่ครูเชื่อ แต่ที่ได้ A ทั้งห้องเพราะครูเชื่อแบบนี้ ครูก็เลยมีวิธีการสอนที่ใส่ใจเด็ก เพราะหากเราเชื่อแบบไหนก็จะมีพฤติกรรมแบบนั้น เช่น เราเชื่อว่าวันนี้ฉันใส่สีดําฉันต้องสําเร็จเราเดินด้วยความมั่นใจ ซึ่งสิ่งนี้ก็จะนํามาสู่ Positive Interaction หรือ การได้รับผลป้อนกลับทางบวก และพอเรามั่นใจ สง่าผ่าเผย ความมั่นใจก็จะอยู่ในตัวเรา จึงทำให้มีแนวโน้มที่จะประสบความสําเร็จ ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากพฤติกรรมและวิธีคิดของเรา
อะไรคือเหตุผลที่หลายคนตัดสินใจไม่ปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ แต่กลับไปใช้การมูเตลูแทน
อาจารย์ว่ามันยังมีการตีตราทางสังคม หมายความว่า สังคมยังคงมองว่าใครที่ไปหานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์คือไม่ปกติ แต่ถ้าไปปรึกษาพี่อ้อยพี่ฉอด หรือการไปหาพระ หาหมอดู หรือบนบานศาลกล่าวกลับรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะสังคมมองว่าเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ก็ทำกันโดยทั่วไป ส่วนการไปปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เขารู้สึกว่ามีแค่ไม่กี่คนที่ไปกัน และมองว่าต้องรุนแรงจริงๆ ถึงไป พอเป็นภาพนั้นเราก็ไม่อยากให้คนมองเราในทางที่ไม่ดี แต่ถ้าถึงจุดที่สังคมมองเป็นปกติว่า ถ้ามีปัญหาก็ไปปรึกษาจิตแพทย์สิ อาจารย์ก็เชื่อว่าคนจะไปหานักจิตวิทยากับจิตแพทย์มากขึ้น
อย่างเวลาที่เราลาป่วย เราไปบอกหัวหน้าว่า ไมเกรนขึ้น วันนี้ขอลาป่วยเจ้านายเขาก็ให้ลา แต่ถ้าไปบอกเขาว่าวันนี้ขอลาป่วยเพราะหนูรู้สึกเป็นซึมเศร้าค่ะ เขาก็คงไม่ให้ เพราะสังคมโดยส่วนใหญ่อาจจะมองว่าโกหกหรืออุปทานไปเองหรือเปล่า เพราะมันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและอยู่ข้างใน หรือแม้แต่พวกประกันสังคม ประกันสุขภาพ ก็ต้องยื่นหลักฐานอะไรมากมายจนทําให้เรารู้สึกว่าการจะเข้าถึงการรับบริการเป็นสิ่งที่ยากลำบาก อีกประเด็นคือค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการหลายๆ ที่ก็ไม่ได้ถูกๆ บางคนเลยรู้สึกว่าถ้าอย่างนั้นเราก็ไปแบบนั่งสมาธิ ไปไหว้พระแทนละกัน
แต่ว่ามันยังไม่ได้แก้ที่ตัวปัญหา คือเราอาจจะรู้แหละว่าปัญหาอยู่ที่ไหนแต่พอไม่มีคนรับฟังหรือมีผู้เชี่ยวชาญที่เขาพอจะไกด์เราได้ว่าคุณควรทำอย่างไร เราอาจจะคิดไม่ออก แต่ถ้ามีคนรับฟังก็อาจจะรู้สึกเหมือนได้ยกภูเขาออกจากอกมากขึ้น
ถ้าเชื่อมโยงกับสุขภาพจิต อาจารย์มองว่าการมูเตลูสามารถช่วยเยียวยาปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างไรบ้าง
การมูก็สามารถช่วยเยียวยาปัญหาจิตใจสุขภาพจิตได้บางส่วน เพราะเป็นสิ่งที่ทําให้คนรู้สึกสบายใจมากขึ้น แต่ถ้าปัญหายังอยู่โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ลงไปแก้ด้วยตัวเอง สุดท้ายปัญหาก็ยังอยู่ สมมติเราไปหาหมอดู หลายๆ คนเขาก็จะมีทักทั้งเรื่องดีและไม่ดี ถ้าดีแล้วเราแฮปปี้ แต่ถ้าไม่ดีมันจะคาใจเรา และเกิดความกังวลถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
เพราะคนเราจะมีความสุขได้ก็ต้องอยู่กับปัจจุบัน มีความสุขกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งพอโดนทักว่าในอนาคตเราจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราอาจจะรู้สึกว่าจะทำยังไงดี
จริงๆ ในแง่การเยียวยา มองว่ามันเป็นไปทั้งสองทาง แบบแรกคือ เราอาจจะไปบนเพราะอยากสอบติด แต่ขณะที่เราไปบนมันเป็นการเหมือนเราสัญญาตั้งมั่นกับตัวเอง ที่เราตั้งปณิธานว่าฉันจะตั้งใจทำนะ ซึ่งถ้าเราสำเร็จ ส่วนหนึ่งคือผลลัพธ์จากความตั้งใจของเราด้วย แต่เราก็จะไปพูดว่าไม่ใช่แค่เพราะความพยายามของเรา ส่วนหนึ่งเพราะเราไปบนบานด้วย แต่ส่วนใหญ่คนที่ไปขอพรว่า ขอให้ตัวเองได้อย่างนู้นอย่างนี้สักทีเถอะ จริงๆ มันเป็นการเหมือนพูดกับตัวเองในระดับหนึ่ง ว่าเราจะปรับปรุง จะทําตัวใหม่ จะพยายามตั้งใจให้มากขึ้น เพียงแต่การทำแบบนี้ก็เหมือนเราหาคนรับฟังที่มองว่าเขายิ่งใหญ่ และคิดว่าเขาอาจจะให้ผลดีกับเรา แต่โดยรวมแล้ว การที่เราตั้งปณิธานกับตัวเอง ก็จะทำให้โฟกัสกับตัวเองมากขึ้น และมีความพยายามมากขึ้น
อีกแบบหนึ่งคือ สมมุติว่าเรามีปัญหา ช่วงนี้อารมณ์ดิ่ง เจอแต่ปัญหาถาโถมเข้ามาจนรู้สึกหมดไฟหมดแรง เราอาจจะเชื่อว่าเป็นเพราะเวรกรรมตั้งแต่ชาติไหน แล้วก็ไปแก้บน แก้กรรม แต่ว่าสุดท้ายถ้าตัวเราไม่พยายามที่จะปรับปรุงตัวเอง มันก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะถ้าคนที่บนแล้วไม่ได้ทําอะไรเพื่อตัวเองเลย ความทุกข์ตรงนั้นก็จะยังอยู่ ทั้งความเครียด ความเศร้า อุปสรรคและปัญหาในชีวิตก็จะคงอยู่
จริงๆ วิธีจัดการกับปัญหาของคนเราส่วนใหญ่จะมี 3 แบบ คือ Problem Focus หรือ การจัดการที่ตัวปัญหา สองคือ Emotional Focus หรือ การทําความเข้าใจกับจิตใจของตัวเอง โดยอย่างที่ 2 นี้ช่วยเยียวยาได้ระดับหนึ่ง เพราะเวลาเราเจอปัญหาอะไรก็ตามที่ทําให้เครียดมันจะช่วยผ่อนใจให้เบาลงและสบายใจมากขึ้น แต่วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ Problem Focus หาเลยว่าปัญหาอยู่ที่ไหนก็แก้ตรงนั้น แต่ส่วนใหญ่คนในสังคมไทยมักจะเลือก Emotional Focus เสียมากกว่า เพื่อที่จะปลอบใจตัวเอง แต่สุดท้ายปัญหาก็ยังอยู่ แค่ใจเราเบาขึ้นเท่านั้นเอง
อีกวิธีหนึ่งคือ Avoidance หรือ การหลีกเลี่ยงปัญหา เป็นวิธีการที่คนหลายคนเลือก ยิ่งถ้ามีปัญหาในเชิงความสัมพันธ์กับเพื่อนกับแฟน หรือคนในครอบครัว คือเลี่ยงไปเลยไม่พูด ปัญหายังอยู่แต่เราแค่ไม่พูดถึง ซึ่งถ้าปัญหามันสะสมเรื่อยๆ ก็สามารถที่จะกลายเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ได้
ถามว่าตัวการมูเตลูเนี่ยอาจจะไปช่วยตรงไหน อาจารย์มองว่ามูเตลูอาจจะไปช่วยซัพพอร์ตในเชิง Emotional Focus ในระดับหนึ่ง ที่ทําให้เรารู้สึกว่าอาจจะมีใครสักคนพอเป็นที่พึ่งให้กับเราได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราพึ่งแต่มูเตลู ก็เท่ากับว่ายังไม่ได้จัดการกับปัญหาอย่างจริงจัง ดังนั้นในแง่ของการช่วยแก้ปัญหา การมูเตลูอาจจะแค่ช่วยบรรเทาทําให้รู้สึกสบายใจได้ในระยะสั้นๆ เท่านั้น
แล้วถ้าเราพึ่งพาวิธีการมูเตลูเพียงอย่างเดียวในการแก้ปัญหาสุขภาพจิต จะส่งผลกระทบในระยะยาวอย่างไร
จริงๆ การใช้วิธีมูเตลูเพื่อเป็นที่พึ่งพาทางจิตใจก็ไม่ใช่เรื่องงมงาย แค่เป็นเหมือนหนทางในการหาที่พึ่งทางจิตใจสําหรับคนที่รู้สึกว่าไปต่อไม่ไหว หรือพยายามแล้วแต่ไม่มีหนทางในการแก้ไขปัญหา เขาเลยมองว่าที่พึ่งที่ดีที่สุดอาจจะเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น ซึ่งนี่ก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ว่าถ้าถึงจุดที่เริ่มบั่นทอนกิจวัตรประจําวันของเรา สิ่งนี้อาจจะเรียกว่าไม่ปกติ เช่น ไม่สามารถทํากิจวัตรประจําวันตามปกติได้ หรือมีปัญหากับคนรอบข้าง ทั้งวันแทบไม่ได้คิดถึงอะไรเลย ดูแต่ดวงทั้งวัน หรือทําตามหมอดูตลอดเวลา แบบนี้คือเริ่มกระทบกับชีวิตส่วนตัว และกระทบกับความสัมพันธ์
แต่ถ้าเราอยากจะแก้ไขปัญหาหรือมีความเครียด ก็ไม่มีใครช่วยได้นอกจากตัวเรา เพราะความเครียดอยู่ที่วิธีคิดเรา ต่อให้พ่อแม่หรือคนรอบตัวเราคิดบวก แต่ถ้าเราไม่ยิ้ม ไม่แฮปปี้ มันขึ้นอยู่กับตัวเรา ซึ่งถ้าเราจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในเชิงสุขภาวะทางจิต ต้องเริ่มจากการที่ต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่าตอนนี้เราเหมือนไม่มีความสุขจริง ตระหนักว่าเราไม่มีความสุข แล้วยอมรับว่าเราก็เป็นคนนึงที่ไม่มีความสุขได้เหมือนคนอื่นๆ เราก็จะค่อยๆ มองออกว่าอะไรที่ทําให้เราไม่มีความสุข และต้องทำยังไงถึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้
แต่การแก้ไขปัญหามันก็มีหลายวิธี ถ้าเราแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ต้องขอความช่วยเหลือ แต่หลายคนจะรู้สึกว่าไม่อยากไปปรึกษาใคร หรือไม่อยากไปกวนคนอื่น หรือกลัวว่าเรื่องของเขาเป็นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เลยเลือกที่จะไม่ไปปรึกษาคนอื่น แล้วพยายามจัดการกับสิ่งนั้นด้วยตัวเองเพียงคนเดียว ซึ่งพอจัดการไม่ได้ แล้ววนซ้ําๆ ระยะยาว ก็อาจจะรู้สึกว่าท้อแท้ สิ้นหวัง และหมดหวัง รวมถึงอาจจะนํามาสู่ความความเศร้าในชีวิต และความทุกข์ระทมที่มากขึ้นและนําไปสู่โรคทางจิตใจก็ได้
สุดท้ายอาจารย์อยากฝากคําแนะนำอะไรบ้างในการดูแลสุขภาพจิตในกลุ่มคนรุ่นใหม่
อันดับแรกที่จะช่วยดูแลสุขภาพจิตได้คือ ต้องรักตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง จากงานวิจัยพบว่า สิ่งที่ช่วยลดความเครียด และเป็นหนึ่งในหนทางในการแก้ไขปัญหาคือการที่มีคนรอบข้าง มีมิตรที่ดี และมี Social Support (การสนับสนุนทางสังคม)
เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดคุณต้องมีเพื่อนที่รู้สึกว่าเป็นเพื่อนคู่คิด มีอะไรก็ปรึกษาคนนี้ได้ ซึ่งจริงๆ เราไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนเยอะมากก็ได้ แต่ขอให้มีเพื่อนที่มีคุณภาพในความสัมพันธ์ได้ ตรงนี้ก็จะช่วยเซฟความเสี่ยงที่เราจะทําอะไรไม่ดีกับตัวเอง เพราะสมมติเรามีสุขภาพจิตใจที่ย่ําแย่แบบสุดกู่ แต่หากเรามีเพื่อนหรือคนที่อยู่ข้างๆ มีคนในครอบครัวคอยแบบค้ําชูจิตใจอยู่ก็จะช่วยได้มาก
หรือถ้าเป็นคนรอบข้าง ก็อยากให้หมั่นสังเกตคนรอบข้าง เพราะถ้าเราใส่ใจเพียงพอก็จะรู้ว่าคนรอบข้างเขาเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า มันมีงานวิจัยหลายงานที่บอกว่า บางครั้งการอยู่คนเดียวนานๆ ก็อาจจะนํามาซึ่งความคิดวนลูปไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งถ้าเราสังเกตคนรอบข้างว่าเขาดูแปลกๆ ดูเศร้าลง ดูมีความทุกข์มากขึ้น เราก็ลองพาเขาไปเปลี่ยนบรรยากาศ ลองพูดคุยแล้วก็อยู่ข้างๆ เขา และที่สําคัญเลยคือต้องไม่ตัดสินเขา
เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดีไม่ไปตัดสินคนอื่น เวลาที่เราเห็นว่าคนรอบข้างเราต้องการความช่วยเหลือต้องฮึบใจตัวเองให้ได้ อย่าเพิ่งไปแนะนําอะไรเขามาก ให้เขาได้ระบายออกมาจนหมด และพยายามทําความเข้าใจเขา
เพราะถ้าเราตัดสินเขาไปแล้ว คนที่มาปรึกษาเราก็จะรู้สึกว่าไม่มีใคร ไม่รู้จะหันไปหาใคร เพราะกลัวว่าพอไปปรึกษาเพื่อนจะมองยังไง เพราะฉะนั้น เราต้องทําตัวเป็นคนที่เป็นนักฟังที่ดีที่เพื่อนจะสบายใจ สามารถมาเล่าเรื่องราวความทุกข์ในใจได้โดยที่ไม่รู้สึกอึดอัดค่ะ