- ซิกเนเจอร์อย่างหนึ่งของการ์ตูนมุนินฺคือความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่มุนินทร์ยอมรับว่าไม่ได้โตมาในครอบครัวอบอุ่น เรื่องราวทั้งหมดเขียนจากความ ‘ไม่มี’ ด้วยซ้ำ
- “เราจึงรู้สึกว่าเราอยากเขียนมันออกมา” และอยากทำให้ลายเส้นการ์ตูนมุนินฺไปถมช่องว่างในครอบครัวที่ห่างขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่างคนต่างยังมองในมุมตัวเอง
- จนถึงวันที่มีลูกเป็นของตัวเอง มุนินทร์ถึงได้รู้ว่า “ไม่มีพ่อแม่คนไหนสมบูรณ์แบบ”
ภาพ: มุนินฺ
เพราะทุกลายเส้นที่วาด มีความหมายซ่อนอยู่
จึงทำให้ มุนินทร์ สายประสาท เจ้าของการ์ตูนลายเส้นน่ารัก นามปากกา ‘มุนินฺ’ วัย 31 ยังคงยึดและมั่นคงกับการเป็นนักวาดการ์ตูนยาวนานถึง 10 ปี
แต่ถึงแม้จะชื่นชอบการวาดการ์ตูนมากแค่ไหน ถ้าย้อนกลับไปได้ มุนินทร์ก็ไม่เคยคิดจะประกอบอาชีพเป็นนักวาดการ์ตูนอย่างจริงจัง เพราะใจยังนึกหวั่นถึงภาพของนักเขียนการ์ตูนที่ต้องกินข้าวกับก้างปลาตามการ์ตูนขายหัวเราะที่ยังติดตาติดใจไม่หาย
จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญก่อนเข้ามหาวิทยาลัย มุนินทร์ตัดสินใจมองหาคณะที่มีทั้งศาสตร์ศิลป์กับวิทยาศาสตร์ร่วมกัน จนตกลงเลือกเรียนด้านสถาปัตยกรรม
จากที่เคยจับดินสอวาดแต่การ์ตูนตั้งแต่มัธยมต้น มุนินทร์ก็ต้องหันมาวาดตึก วาดอาคาร ออกแบบเชิงสถาปัตกรรมมากขึ้น มุนินทร์บอกว่าการได้เข้ามาเรียนด้านนี้มีแต่ความสนุก ได้ฝึกการคิด ฝึกทักษะการออกแบบ และการใช้ไอเดียใหม่ๆ ซึ่งมีรายละเอียดที่จริงจังมากกว่าการวาดการ์ตูนที่เธอถนัดอยู่แล้ว
แล้วเริ่มวาดการ์ตูนจริงจังตั้งแต่เมื่อไร
ย้อนกลับไปตอนเรียน ปี 4 เราได้เริ่มวาดการ์ตูนจริงจัง เพราะแฟนแนะนำให้ลองส่งการ์ตูนที่ไปสำนักพิมพ์ แล้วงานของเราก็ได้ตีพิมพ์ เลยทำมาต่อเนื่องไปจนเรียนจบ แต่ ณ ตอนนั้นยังไม่คิดว่าจะเบนเข็มไปจริงจัง
พอเรียนจบ ก็ได้มีโอกาสทำงานเป็นสถาปนิกที่โครงการหมู่บ้าน แต่ทำอยู่แค่ 2 เดือน (หัวเราะ) เพราะมีบางอย่างทำให้รู้สึกว่ามันเครียดมากไป อยู่กับการ์ตูนเรารู้สึกสบายใจกว่า
มันเป็นช่วงที่ต้องชั่งใจ เพราะเราไม่มั่นใจเลยว่าอาชีพนี้จะมั่นคงไหม แล้วไหนจะครอบครัวอีก ถ้าเราจะไปทำอาชีพนักเขียนการ์ตูนเขาคงไม่โอเค ช่วงแรกก็ยังสับสนว่าจะยังไงดี แต่ว่ามันก็มีจุดเปลี่ยนที่เรารู้สึกว่าต้องตัดสินใจ
ต้องพิสูจน์ตัวเองไหม
เราใช้การวาดการ์ตูนหาเงินเลี้ยงตัวเองตั้งแต่ปี 4 เลยรู้สึกว่า ถ้างั้นลองทำมันจริงๆ จังๆ ดูไหม ดูว่ามันจะสามารถเป็นงานที่มั่นคงได้หรือเปล่า เลยไปคุยกับที่บ้านว่าขอเวลาพิสูจน์ 1 ปี จนเขาเห็นว่าเราสามารถดูแลตัวเองได้ ดูแลครอบครัวได้ งานทุกอย่างส่วนหนึ่งมันขึ้นอยู่กับวินัย เราไม่ใช่คนที่เคร่งมากแต่ด้วยความที่เราชอบงานนี้ เราจะอยากทำมันและใช้เวลาไปกับมันเยอะๆ เลยกลายเป็นวินัย
ช่วงเวลาเป็นบทพิสูจน์ โดยทำให้เห็นและไม่จำเป็นต้องใช้คำพูด
ตอนที่เราขอพิสูจน์ตัวเองกับคุณย่า เรารู้สึกว่านั่นเป็นการพูดที่จริงจังที่สุดแล้วในชีวิต และเขาก็คงเห็นว่าเราสามารถดูแลตัวเองได้ ดูแลพ่อแม่ได้ ดูแลครอบครัวได้ เห็นเรามีความรับผิดชอบมากขึ้น บวกกับช่วง 1 ปีที่พิสูจน์ตัวเอง เราก็มีงานออกมาอยู่ตลอด มีหนังสือที่หน้าร้าน ครอบครัวเห็นว่าเราไม่ได้ทำเล่นๆ ถูกตีพิมพ์ออกมาขายทั่วประเทศ ไปออกงานหนังสือ เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดขึ้น
การ์ตูนที่เริ่มเขียนช่วงแรกๆ ต่างกับตอนนี้อย่างไร
ตอนแรกเริ่มเขียนการ์ตูนจบในตอนแล้วอาศัยการไปรวมเล่มกับนักเขียนคนอื่นๆ บ้าง บางครั้งโทนเนื้อเรื่องของเรามันโดดออกมา จนถึงเวลาที่เรารู้สึกว่ามีแนวทางของตัวเองแล้ว เริ่มมีฐานแฟนมากขึ้น รวมเล่มทำเองดีกว่า ก็ทำมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้
การ์ตูนช่วงแรกๆ มันเป็นตัวเองมาก เพราะเราเขียนจากเรื่องของตัวเอง เขียนไปตามวัย แต่ไม่ได้มีความท้าทายที่จะเขียนอะไรใหม่ๆ หรือว่าสร้างจักรวาลใหม่ขึ้นมา
พอเวลาผ่านไป ด้วยความที่เรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวเรามันไม่ได้หวือหวาหรือคึกคักเหมือนสมัยที่เราเป็นเด็กแล้ว เพื่อนเราก็ไม่ค่อยมีความรัก ไม่ค่อยหวือหวา แต่งงานมีลูกแล้ว เราก็เลยเริ่มมีโอกาสที่จะได้ทำสิ่งที่ชอบ คือ ได้ใช้จินตนาการ สร้างเรื่องขึ้นมาใหม่ สร้างโลกของตัวของละครใหม่ๆ ซึ่งมีความต่างจากช่วงแรก เรารู้สึกว่าปัจจุบันเราทำได้เยอะขึ้น ได้เป็นตัวเองมากขึ้นจากเมื่อก่อน
การเขียนเรื่องของตัวเองกับการสร้างเรื่องมาใหม่ ยากง่ายต่างกันไหม
พูดยากนะ ถ้าเขียนจากตัวเองหรือเรื่องที่เราไปฟังมา หรือเรื่องที่เพื่อนมาดราม่าใส่ แล้วเราเอามาเป็นแรงบันดาลใจ อันนั้นจะง่ายเพราะเหมือนมันรู้สึกเอง แค่เอามาบิดเพิ่มนิดหน่อยแล้วมันก็ถ่ายทอดไปได้เลยจากความรู้สึกเราที่มันเกิดขึ้นไปแล้ว
ยกตัวอย่างในหนังสือ ‘ประโยคสัญลักษณ์’ เรื่องแรกของเล่มแรก เป็นเรื่องจริงของเพื่อน ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ยังมีความเป็นวัยรุ่นอยู่ เพื่อนเราไปเจอความรักที่ไม่ชัดเจนก็มาร้องไห้ระบายให้เราฟัง เราก็ฟังและเก็บรายละเอียด เก็บสิ่งเหล่านี้แล้วเอามาคิดว่าจะขยายต่อว่ามันจะเป็นเรื่องราวอย่างไรได้บ้าง
เราเจอสเตตัสของเพื่อนเราคนนี้ที่บอกว่า ถ้าเลือกได้จะไม่ไปอยู่ตรงนั้น แล้วเรารู้สึกว่า โห คำนี้ถ้าเราไม่เจอเองเราไม่มีทางคิดได้หรอก คำแบบนี้ หรือความรู้สึกแบบนี้ เราฟังแล้วเรารู้สึกได้ว่ามันแย่แค่ไหน เราก็เลยเก็บๆ มาแล้วเอามาทำเป็นเรื่อง เริ่มนึกย้อนกลับไปถึงความสัมพันธ์แบบนี้ค่ะ ก็เอามารวมๆ กัน
แต่ว่าเรื่องที่สร้างขึ้นมาใหม่มันต้องสมมุติอะไรขึ้นมาหลายอย่าง แล้วต้องจำลองตัวเองว่าไปเจอแบบนั้นจะรู้สึกยังไง แล้วมันก็มีตัวละครหลายตัว มันก็เป็นเรื่องที่ยาก
ถ้ามันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นมาใหม่ ต้องทำการบ้านเพิ่มอย่างไร
จริงๆ แล้วมันจะมีบางส่วนที่เป็นชิ้นส่วนของตัวเรา ในตัวละครแต่ละตัว มันมีความเป็นเราอยู่ตัวละนิดหน่อย หรือว่า เราเคยมีเพื่อนแบบนี้ คนรักแบบนี้ พ่อเราเป็นคาแรคเตอร์แบบนี้ แต่ละส่วนที่เราเคยเจอมาเราก็สามารถเอาไปใส่ได้ นอกเหนือจากนั้น ส่วนตัวเป็นคนชอบดูหนัง แล้วจะชอบเก็บรายละเอียดที่มันทำให้เรารู้สึกเวลาดู คือจะดูว่าซีนแบบนี้นะ อารมณ์แบบนี้ ภาพแบบนี้ สีหน้าแบบนี้มันจะทำให้รู้สึกยังไง
ตอนนี้นักอ่านของมุนินฺเป็นใคร
ส่วนใหญ่ก็เป็นแฟนรุ่นแรกๆ ที่โตมาด้วยกัน มันก็เลยเริ่มกลายเป็นช่วงวัยทำงานและครอบครัว แต่ว่าด้วยเรื่องใหม่ๆ ที่เราทำออกมาอย่างประโยคสัญลักษณ์ มันก็สามารถดึงเด็กๆ วัยรุ่นเข้ามาได้ ตอนนี้ก็เลยเริ่มตั้งแต่ ม.ปลาย มหาวิทยาลัย และก็วัยทำงาน
ทำไมงานของมุนินฺมักอยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์ต่างๆ เช่น ความรักวัยรุ่น พ่อแม่ เพื่อน
เริ่มจากการที่เราเป็นคนชอบเล่าเรื่อง เราอยากเล่าอะไรสักอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่มันก็เป็นเรื่องที่เกิดกับเรา เรื่องคนรอบข้างเรา เรื่องเรากับครอบครัวด้วย ความที่เป็นครอบครัวขยายด้วยมั้ง มีพ่อแม่ปู่ย่าตายาย มันมีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์หลายๆ แบบในครอบครัว แล้วเราก็เป็นคนที่ชอบสังเกต ชอบเก็บรายละเอียดเลยมีเรื่องที่จะเล่าเยอะ เราเป็นคนที่ชอบคุย เพื่อนจะมาระบาย เราก็จะเห็นความสำคัญไม่ใช่แค่เรื่องที่เกิดกับเรา มันเห็นของคนอื่นด้วย
เราไม่ได้คิดเลยว่าเราจะต้องมาเขียนแนวนี้เพื่อให้คนสนใจ-ไม่เลย แต่เพราะมันเริ่มจากที่เราอยากเล่าเรื่องของตัวเอง
อย่างเรื่อง ลูกกับแม่ ที่เคยเขียนเมื่อนานมาแล้ว เป็นเรื่องที่แม่โทรมาหาลูกสาวแล้วลูกสาวไม่ค่อยรับสาย แล้วแบบ…มันเกิดกับตัวเองและเรารู้สึกแบบ เออว่ะ ทำไมเรารู้สึกแบบนี้วะ แม่โทรมาแล้วทำไมเราต้องแบบ ‘โทรมาอีกแล้ว’ รู้สึกไม่อยากรับ แต่ตอนที่เราเป็นลููก เป็นเด็กๆ เขาไม่เคยที่จะ ignore เสียงของเราเลยนะ เราคิดได้เราก็แบบ เราอยากเล่า เราอยากให้คนที่ยังนึกไม่ได้หรือเป็นเหมือนเราได้อ่าน ก็คงจะดีกับเขานะถ้าเขาไปอ่าน ก็เลยเป็นว่า พอเขียนแบบนี้บ่อยๆ เข้า คนที่อ่านเขาก็อินเนื่องจากมันเป็นประสบการณ์ที่มันเมือนที่บ้าน เราก็เขียนแบบนี้มาเรื่อยๆ
วางเป้าหมายของแต่ละเรื่องไว้ว่าอย่างไรบ้าง
ส่วนใหญ่ถ้าเป็นเรื่องแนวครอบครัว หรือเรื่องดราม่าที่เราเขียน ส่วนใหญ่เราคาดหวังจะให้คนอ่านรู้สึกอะไรขึ้นมา คิดอะไรได้หรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้ทัน เพราะว่าเราเซนซิทีฟเรื่องครอบครัว พอเราคิดได้เราก็หวังว่ามันจะเกิดเอฟเฟ็คท์แบบนั้นกับคนอ่าน เราโอเคมากที่เขาอ่านแล้วมันลิงค์กับตัวเขาได้ ส่วนเขาจะทำอะไรไหมก็คือไม่รู้แล้ว
แค่มันได้ทำงานกับคนอ่าน ให้เขาได้คิดว่าจะยังไงต่อ ก็เวิร์คแล้ว
งานที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ จุดยากที่สุดคืออะไร
จุดยากคือการหว่านล้อมให้คนรู้สึกเชื่อเพื่อไปให้ถึงจุดพีคของเรื่อง ถ้าเกิดว่าเขาไม่เชื่อ ไม่รู้สึกว่ามันจริง ระหว่างทางเขาอ่านไปเรื่อยๆ พอไปถึงจุดพีคมันจะไม่ได้อะไรเลย จะไปไม่ถึง เพราะเขาจะรู้สึกว่ามันปลอม
วิธีของเราคือ จะค่อยๆ พาตัวละครไปถึงตรงนั้น พาคนอ่านไปถึงตรงนั้นด้วยอย่างกลมกลืนมากๆ ซึ่งมันต้องอาศัยหลายอย่าง ทั้งความเป็นธรรมชาติของไดอะล็อกที่พูดคุยกัน หรือเหตุการณ์บางอย่างที่มันจะลิงค์กับคนอ่าน
เราเชื่อเรื่องความสมจริงของบทสนทนา ของเหตุการณ์ มากกว่าความสมจริงของฉาก ส่วนตัวนอกจากคำที่เขียนแล้วเราอยากให้เขาใส่บ้านของเขาลงไป ใส่โรงเรียนของเขา ใส่ห้องนอนเขา ใส่อะไรที่มันเป็นประสบการณ์ของเขาเข้าไป ตรงนี้ มันเป็น space ที่ลิงค์กับเขาได้ง่าย
ทั้งหมดมันทำให้คุณเชื่อตรงนั้นก่อนที่จะไปถึงจุดที่สำคัญของเรื่อง
ทำอย่างไรให้การ์ตูนของเรามีจุดพีค จนทำให้คนอ่านหยุดชะงัก
อันนี้ตอบยาก จริงๆ น่าจะเป็นการสั่งสมประสบการณ์เดิมที่สะสมมาจากการดูหนังเป็นส่วนมาก เรารู้สึกว่าการเขียนการ์ตูนมันเหมือนภาพยนตร์ คือเวลาที่เรารู้สึกอะไรบางอย่างกับหนัง มันจะประกอบหลายๆ อย่าง ทั้งเพลง ทั้งเรื่องราวที่มันถ่ายทอดมาทั้งหมดจนมาถึงจุดที่มันพีค เราก็เลยใช้หลักการเดียวกันในการที่จะทำไปให้ถึงตรงนั้น
ส่วนเรื่องที่มันพีค อันนี้ตอบยาก (นิ่งคิด) ถ้าอันไหนที่มันรู้สึกกับเราแล้วเราค่อนข้างมั่นใจว่ามันจะทำให้คนอ่านรู้สึกได้ด้วย เช่น ที่เราคุยกับเพื่อนแล้วเพื่อนเล่าเรื่องนี้มาแล้วเรารู้สึกว่าอันนี้ดีเราก็เอามาเก็บไว้แล้วก็ไปเขียน แต่อาจจะปรับให้มันมีรายละเอียดของยุคสมัยที่มันเปลี่ยนไป ผสมกับประสบการณ์เดิมของเราที่มีอยู่ เอามารวมๆ กัน
การดูหนังกับการวาดการ์ตูน เหมือนหรือแตกต่าง แล้วมันมีวิธีสื่อสารที่เหมือนกันไหม
ส่วนตัวเรามองว่า เราเขียนนิยายภาพที่มีบรรยากาศคล้ายๆ กับภาพยนตร์มากกว่า คือบทพูดอาจจะไม่ได้เยอะ แต่ว่าเน้นบรรยากาศเน้นอารมณ์ เน้นการสื่อสารด้วยการแสดงออกของตัวละครทั้งสอง
แล้วเรากลายเป็นคนที่มาถ่ายทอดนิยายภาพได้แบบให้มีอารมณ์ที่ใกล้คียงกับในหนัง แม้การ์ตูนเราจะไม่มีเสียงหรือ sound ประกอบเวลาคนอ่าน แต่เบื้องหลังคือ เราใช้เสียงจริงๆ ในการเขียน คือเวลาเราทำต้นฉบับจะต้องฟังเพลงที่เราเลือกมา เป็นเพลงที่เราหลงๆ ไปเจอแล้วเก็บไว้ เช่น เพลงนี้เข้าเพลลิสต์ของเล่มนี้ดีกว่า ถึงเวลาที่เราทำงานเราก็เปิดเพลลิสต์นี้กล่อมเราไปเรื่อยๆ เลย มันก็จะสร้างอารมณ์ให้กับเรา สุดท้ายแล้วไม่รู้มันจะมีส่วนมันไปถึงคนอ่านไหม แต่เราเชื่อว่าการอ่านถึงจะไม่มีเสียงแต่ว่ามันเกิดจากตัวเราที่ถูกกล่อมด้วยเพลงนั้นๆ ไปแล้ว
สังเกตว่า ตอนจบของการ์ตูนมุนินฺ มักไม่สรุป แต่จะเป็นปลายเปิดให้คนนำไปคิดต่อ จินตนาการต่อเอาเอง เป็นความตั้งใจของมุนินฺหรือเปล่า
จริงๆ แล้ว มีหลายเรื่องที่เป็นแบบนั้น คือเป็นความตั้งใจจริงๆ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เรารู้สึกว่าอยากให้มันไปทำงานต่อ เราสร้างตัวละคร สร้างโลกขึ้นมาแล้ว คิดว่ามันสามารถไปทำให้คนคิดต่อได้โดยใช้ประสบการณ์ของเขาร่วมด้วย อันนั้นเท่ากับศิลปินได้โบนัสแล้ว แต่จริงๆ แล้วเวลาที่เราให้ตัวละครมันสดใส ไม่ได้ขาวหรือดำทีเดียว
ตัวละครเราเทาๆ ไม่ได้ขาวหรือดำไปซะทีเดียว เพราะว่าเวลาเราดูหนังเรารู้สึกว่าแต่ละตัวละครมันมีเหตุผลของมันในการกระทำนั้น เราก็เลยเอาตรงนี้มามีส่วนด้วย
ในฐานะผู้เขียนเองก็คิดว่าไม่ได้มีหน้าที่ที่จะไปตัดสินว่าคนนี้ดีหรือไม่ดีด้วยหรือเปล่า
ใช่ค่ะ ยิ่งเดี๋ยวนี้มันค่อนข้างเซนซิทีฟมากเลยในการตัดสินอะไรบางอย่างในโลกโซเชียล เมื่อไหร่ที่มีการเริ่มตัดสินอะไรแล้วมันก็จะตามมาด้วยดราม่าอะไรสักอย่าง แต่เราก็พยายามที่จะให้เห็นอะไรหลายๆ มุมของตัวละครที่เราสร้างขึ้นมา เพราะว่ามันสร้างมาจากส่วนประกอบของคนที่มีอยู่จริงๆ ในชีวิตเรา ซึ่งแต่ละคนก็มีดีบ้างไม่ดีบ้าง
ซึ่งเชื่อว่าแต่ละคนมีเหตุผลในการกระทำนั้นๆ หรือคิดแบบนั้น?
ใช่ค่ะ
มองความสัมพันธ์ในครอบครัวปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร
ส่วนตัวเราคิดว่ามันยังมีความคิดเหมือนเดิม ยังมีความคลาสสิกของครอบครัวไทยอยู่ ซึ่งจริงๆ แบบนี้มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น ความเป็นลูกของแม่ โตแค่ไหนแม่ก็ยังรู้สึกว่านี่คือลูกนะ ซึ่ง ตะวันตกไม่อินอยู่แล้ว หรือทำไมเราถึงอินซีรีส์เกาหลีจังเลย เพราะมันมีดราม่าเรื่องครอบครัวเหมือนกัน
มันเป็นความคลาสสิกที่เรายังสามารถเล่นกับมันได้เรื่อยๆ อาจจะมีอะไรใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา เช่น เดี๋ยวนี้แม่กับลูกเป็นเพื่อนกันมากขึ้นนะ อันนี้เราก็ได้หยิบมาเขียน แต่ยังไงของเก่าก็ยังอยู่
แล้วคิดว่ารูปแบบความสัมพันธ์ในครอบครัวมันมีความห่างมากขึ้นไหม
ถ้ามองจากตัวเองก็รู้สึกว่าห่าง ขึ้นกับว่าเป็นใครที่อ่าน หรือ ทุกวันนี้ทุกคนมีช่องว่างในครอบครัวมากขึ้นหรือเปล่า คือเราเห็นแหละว่ามีแต่เรายังไม่ได้ปักใจเชื่อว่าอันนี้มันจะส่งผลให้รูปแบบรอบครัวมันเปลี่ยนไป
เราคิดว่ามันเป็นส่วนที่ดีด้วยนะที่เราสามารถหยิบเป็นประเด็นที่ถ่ายทอดเรื่องนี้ได้ แต่ว่ายังไม่ได้หยิบมาเขียนแบบจริงๆ จังๆ
การเป็นคุณแม่ (ของลูกชายวัย 6 เดือน) มีผลต่อการวาดการ์ตูนไหม
ต้องบอกแบบนี้ก่อนว่าตอนที่เราเขียนเรื่องครอบครัว มันไม่ได้เกิดจากการที่เราเกิดในครอบครัวที่อบอุ่นนะ มันเกิดจากการที่เราไม่มีด้วยซ้ำ เราขาดอะไรบางอย่าง และเรารู้สึกว่าเราอยากเขียนมันออกมา
ช่วงเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 40 พ่อแม่มีปัญหาหลายๆ อย่าง ทำให้ตั้งแต่ช่วงเด็กจนถึงวัยรุ่น เราเลยต้องไปอยู่ในความดูแลของอา ของย่า แต่พ่อแม่คือรากฐานที่สำคัญของตัวคนเราจริงๆ เพราะว่าเขาเลี้ยงเราตอนเด็ก ทุกคนมีส่วนในการเติบโตของเรา ทั้งที่เราเคยพยายามดีเฟนด์มัน ด้วยความที่เป็นครอบครัวขยายมันก็จะมีความแบบอะไรคานๆ งัดๆ กันอยู่…ประมาณนี้
พอเราได้เป็นแม่ก็เลยไม่ได้ตอกย้ำว่าครอบครัวในอดีตคือสิ่งที่ดีงาม ความอบอุ่นที่มันเกิดขึ้น ณ ตอนนี้ มันไม่ได้ตอกย้ำหรือทำเราให้ลึกซึ้งมากขึ้นในส่วนที่เราขาดไป แต่มันก็ทำให้เรามองอีกแบบนึง เรามองว่าสิ่งที่เราไม่มีในอดีตเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นไปอีก
การที่เราได้เป็นแม่ เรารักลูก แต่มันไม่ได้เพิ่มดราม่าหรือความละเอียดอ่อน มันกลายเป็นว่าเราเจอความชินมากๆ ในการเป็นแม่ อันนี้อาจจะเพราะเรากำลังอยู่ในช่วงแรกของการมีลูกด้วย มันมีความยากของช่วงนี้อยู่ ขณะเดียวกันมันก็มีหน้าที่และความชินในทุกวัน ไม่ได้มีมุมที่ละเอียดอ่อน หรือเราคือคนที่ต้องซัพพอร์ตลูกทุกอย่างในช่วงนี้นะ ตรงนี้มันคือหน้าที่และความรับผิดชอบที่เราต้องทำมันให้ดีที่สุดในทุกๆ วัน
เราไม่ได้ต้องการให้ลูกมาคืนอะไรให้เรา แค่เขาเกิดมา เขาต่างหากที่ให้เราแล้ว ตรงนี้เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ธรรมดาเลยนะ
อยู่กับความจริงและมีสิ่งที่ต้องทำทุกวันใช่ไหม
ใช่ค่ะ และต้องเข้าใจมากขึ้น แต่ก่อนคนเรามีลูกเพราะอะไรเราไม่รู้นะ แต่สมัยนี้การที่เราจะมีลูกหรือไม่มีมันเป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้นะ การที่จะเลือกที่จะมี สิ่งนี้มันจึงกลายเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบแล้วนะที่เราจะต้องดูแลเขาให้ดีที่สุด มันไม่ใช่เรื่องของบุญคุณ
เขาจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับเขา ให้เราได้เลี้ยง เขาก็เป็นความสุขของเรามาเรื่อยๆ ทุกวัน จนเราไม่ได้รู้สึกว่าเราอยากได้อะไรจากเขา คือเราไม่ได้เชื่อในกลไกที่ฉันทุ่มเทเลี้ยงเธอมานะเธอต้องตอบแทนกลับมาให้ฉัน
นี่คือสิ่งที่เราคิดได้ มันก็เลยกลายเป็นผลที่ทำให้เราไม่ได้คิดว่าเราคือคนให้ เราจึงไม่ได้รู้สึกว่าโตขึ้นมาเขาต้องให้อะไรเรา เพราะว่าการที่มีเขาก็คือเขาให้เราแล้วตั้งแต่วันนั้น เป็นสิ่งที่เราเลือกว่าเราอยากจะได้เอง
พอมองไปข้างหน้า เราไมได้คิดว่าโตขึ้นลูกต้องทำอะไรให้ หรือต้องเป็นอย่างไร คือเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เราไม่ได้ไปผูกอะไรกับเขา อาจจะเพราะว่าประสบการณ์ของเราตอนเด็ก ที่เราอาจจะได้รับไม่มากพอ แต่เมื่อเราโตขึ้น พ่อกับแม่กลับต้องการจากเรา ขณะที่เราไม่ต้องการอะไรจากเขา แต่เรากลายเป็นฝ่ายที่เราต้องให้ ทั้งที่ในอดีตเราไม่ได้รับ และเราก็จะมีคำถามจากเรื่องนี้มาโดยตลอดเลย ถามว่าอะไรคือการให้ อะไรคือการรับ
พอมีลูก เราก็ได้คำตอบสำหรับตัวเอง เราไม่ได้คิดว่าคำตอบนี้จะถูกสำหรับทุกคน เราคิดว่าลูกให้เราแล้วตั้งแต่วินาทีที่เขาเกิดมา ให้เราแล้วและให้มากขึ้นเรื่อยๆ เราเข้าใจพ่อแม่มากขึ้น และเรารู้สึกได้ถึงการพยายามแค่ไหนก็ไม่สมบูรณ์แบบของการเป็นพ่อแม่ คือก่อนที่เราจะคลอดเราก็อยากเป็นนั่นเป็นนี่ให้ลูก แต่ว่าเราก็รู้สึกว่ามันยังไม่สมบูรณ์ เขาน่าจะได้ดีกว่านี้
มันทำให้เรามองย้อนกลับไปตอนพ่อกับแม่ สิ่งที่เขาเคยไม่ได้ให้เรา หรือสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราขาด อาจจะเป็นเพราะเขาทำเต็มที่แล้วแต่ว่ามันไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบเลย คือทุกอย่างมันเป็นแบบนี้อยู่แล้ว
มันก็ทำให้เราใส่ใจเขา (พ่อแม่) มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้เอาไปเขียนการ์ตูนตอนช่วงที่ใกล้ๆ คลอด เราเข้าใจในมุมของพ่อแม่ที่แบบทำดีที่สุดแล้วนะ ณ ตอนนั้นเราก็อยากบอกเขาจริงๆ ว่าเราเข้าใจแล้วนะว่าเขารู้สึกอย่างไร
การวาดการ์ตูนจะช่วยเข้าไปเสริมหรือเพิ่มเติมอะไรได้บ้างในสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์
น่าจะเป็นเรื่องที่เราพูดถึงช่องว่างอะไรบางอย่างในครอบครัว ซึ่งเราพยายามสอดแทรกประเด็นแบบนี้อยู่ในการ์ตูนเรื่องใหม่ที่เราเขียน คิดว่ามันจะน่าจะมีส่วนที่ทำให้ทุกคนได้เห็นมุมของคนอื่นๆ แล้วก็จะได้เข้าใจมากขึ้น อย่างน้อยก็ไม่ได้ไปตัดสินว่า ‘เฮ้ ทำไมถึงเป็นแบบนี้’ เพียงแต่ว่าเราจะไม่บอกตรงๆ เราแค่ทำให้เห็นว่ามันมีอะไรบางอย่างในเรื่องราวของคนคนหนึ่ง
เราจะคิดเสมอว่า ในชีวิตของคนเรา ไม่ว่าเรื่องอะไรจะเกิดขึ้น เรามักเข้าใจในมุมของตัวเอง แล้วคนอื่นก็จะกลายเป็นคนร้าย เพราะว่าเรามองเห็นแค่หนังที่เราเล่นเป็นนางเอก แต่เราไม่เคยมองในมุมของคนอื่น
เลยอยากจะฉายให้เห็นในมุมคนอื่นบ้าง ว่าเขาก็มีมุมมอง มีสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ น่าจะไปเสริมช่วยในความสัมพันธ์ที่ยังมีช่องว่างอยู่ได้
ทำไมถึงเชื่อพลังของการบอกแบบเนียนๆ มากกว่าบอกแบบตรงๆ
การบอกตรงๆ เราเจอมันอยู่เยอะมากแล้วในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น โฆษณาหรือการเสพคำคม คือเราแทบไม่ต้องใช้ความคิดอะไรเลย แทบไม่รู้สึกเลยด้วย ก็เลยคิดว่าการบอกเนียนๆ มันค่อนข้างที่จะได้ผลมากกว่าในการค่อยๆ ทำให้คนรู้สึก ให้คนเห็น มันได้ผ่านสมองเขา ได้ให้เขาคิดต่อ ไม่ใช่การเสิร์ฟพร้อมทาน