- คนที่ ‘หัวร้อน’ ใส่คนอื่น ส่วนหนึ่งมักจะรู้สึกว่า การกระทำของตัวเองเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เพราะเป็นการปกป้องความถูกต้อง และความสงบเรียบร้อยของสังคม หรือมาตรฐานความดีบางอย่าง
- ความหัวร้อนนี้มีพื้นฐานมาจาก ‘ความโกรธ’ ซึ่งเป็นอารมณ์ปกติของมนุษย์ เช่นเดียวกับความยินดี ความเศร้า ความกลัว หรือความเกลียดชัง
- นักจิตวิทยาหลายคนมองว่า การเลี้ยงดูจากครอบครัวในช่วงวัยเด็ก ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้หัวร้อนมากกว่าคนอื่นๆ มีปัญหาในการจัดการอารมณ์โกรธ โดยมักมาจากครอบครัวที่ดูสับสน มีแต่เรื่องวุ่นวาย ขาดทักษะการสื่อสาร การแสดงออกทางอารมณ์อย่างถูกวิธีและสร้างสรรค์
มนุษย์ได้วิวัฒนาการจนถึงขั้นอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีอารยธรรม ตั้งแต่เมื่อราวห้าพันปีที่แล้ว แต่ทำไมมนุษย์ผู้มีอารยะ ได้รับการปลูกฝังจริยธรรม มีทั้งความรู้สึกผิดชอบ-ชั่วดี รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้สามารถรวมกลุ่มกันได้โดยสันติ ยังคงถูกครอบงำด้วยอารมณ์ความรู้สึกพื้นฐานที่เรียกว่า ‘ความโกรธ’
ในยุคปัจจุบัน ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้มนุษย์สามารถเอาชนะอารมณ์ความรู้สึกหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการลดความเจ็บปวด การรักษาอาการซึมเศร้า การเพิ่มความสุขในรูปแบบต่างๆ แต่ก็ดูเหมือนว่า เราจะยังไม่สามารถเอาชนะความรู้สึกบันดาลโทสะได้เสียที
ยิ่งไปกว่านั้น ความเกรี้ยวกราดทางอารมณ์ในสังคมสมัยใหม่ ดูจะเป็นอะไรที่รุนแรงขึ้น และไร้เหตุผลมากขึ้น ถึงขั้นที่มีข่าวว่า เราสามารถทำร้าย หรือผรุสวาทด่าทอคนแปลกหน้าคนหนึ่ง เพียงเพราะความโกรธในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น ขับรถแทรกเลน จอดรถติดกำแพงรั้วบ้านคนอื่น หรือแม้แต่การเห็นคนอื่นไม่แสดงความเคารพสิ่งที่ตนเองเคารพ
จุดร่วมที่น่าสนใจอย่างยิ่งของหลายๆ กรณีที่หยิบยกขึ้นมา ก็คือ คนที่ ‘หัวร้อน’ ใส่คนอื่น มักจะรู้สึกว่า การกระทำของตัวเองเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เพราะเป็นการปกป้องความดีงาม ความถูกต้อง และความสงบเรียบร้อยของสังคม
ความเกรี้ยวกราดจากความเข้าใจผิดๆ ยังไม่น่าตกใจเท่าข้อมูลที่นักจิตวิทยาค้นพบว่า การหัวร้อนเพื่อพิทักษ์คุณธรรม กำลังกลายเป็นสิ่งเสพติดทางอารมณ์ของคนบางกลุ่มไปแล้ว
อารมณ์ ‘โกรธ’ สัญชาตญานเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์
ความโกรธ คือ อารมณ์พื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์ เช่นเดียวกับความยินดี ความเศร้า ความกลัว หรือความเกลียดชัง ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงความรู้สึกแล้ว ความโกรธยังเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้มนุษย์อยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน
เมื่อมนุษย์พบเจอประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่พอใจ ถูกคุกคาม หรือถูกปฏิเสธ ความรู้สึกโกรธจะเกิดขึ้นตามกลไกธรรมชาติ เพื่อกระตุ้นให้มนุษย์เกิดความรู้สึกอยากต่อสู้ และเอาชนะสิ่งที่เป็นสาเหตุของความโกรธนั้น ซึ่งนั่นเองทำให้ ความโกรธ กลายเป็นตัวแปรในการผลักดันให้มนุษย์เอาชนะอุปสรรค และภัยคุกคามในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสัตว์นักล่า หรือภัยธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ
แล้วความรู้สึกฉุนเฉียว พลุ่งพล่านทางอารมณ์ เกิดขึ้นได้อย่างไร
นักจิตวิทยาหลายคนมองว่า ความโกรธ เป็นอารมณ์มือสอง (second-hand emotion) โดยอธิบายว่า ความรู้สึกโกรธ ไม่ใช่อารมณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยลำพัง แต่จะต้องเกิดขึ้นหลังจากเกิดความรู้สึกเจ็บปวด ไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจ
แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ ความเจ็บปวดเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำไปสู่ความรู้สึกโกรธได้ หากแต่จะต้องมีปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น การอนุมาน การประเมิน หรือการตีความหมายว่า สิ่งๆ นั้น หรือบุคคลนั้น เป็นต้นเหตุทำให้เกิดความเจ็บปวด ความรู้สึกโกรธจึงปะทุขึ้นโดยพุ่งเป้าหมายไปที่สาเหตุดังกล่าว
นักจิตวิทยาบางคน กล่าวว่า ความโกรธ เป็นความรู้สึกเชิงสังคม (social emotion) เพราะความรู้สึกโกรธจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ทำให้โกรธ และผู้ถูกทำให้โกรธ ซึ่งในบางครั้ง ผู้ทำให้โกรธและผู้ถูกทำให้โกรธ อาจเป็นคนๆ เดียวกัน อย่างเช่น ความรู้สึกโกรธตัวเองที่ทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ และในบางครั้ง ผู้ทำให้โกรธก็อาจไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต แต่เป็นสถานการณ์หรือเหตุการณ์ เช่น การจราจรที่ติดขัด ทำให้ผู้คนที่กำลังพลาดนัดหมายรู้สึกหงุดหงิดจนถึงขั้นโมโห
ขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า บางครั้ง ความโกรธ ถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือกลไกเพื่อลดทอนความรู้สึกเจ็บปวด ตัวอย่างเช่น เมื่อเราถูกคนอื่นทำร้ายจนเกิดความรู้สึกเจ็บปวด แต่หากเราบันดาลโทสะขึ้นมา เราจะหลงลืมความรู้สึกเจ็บปวดนั้น และความโกรธจะกระตุ้นให้เราตัดสินใจสู้เพื่อเอาชนะผู้ที่มาทำร้ายได้
ในปัจจุบัน มนุษย์ไม่จำเป็น (หรือมีความจำเป็นน้อยลง) ในการอาศัยความโกรธเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคในการดำรงชีวิต ถึงกระนั้น อารมณ์เกรี้ยวกราด การบันดาลโทสะ หรือที่ภาษาสมัยใหม่เรียกกันว่า ‘อาการหัวร้อน’ กลับยังคงอยู่คู่กับเรา และดูเหมือนจะยิ่งพัฒนาไปในทิศทางที่เลวร้าย และไร้เหตุผลมากขึ้น
เสพติดอาการ ‘หัวร้อน’ เพราะเชื่อว่ากำลังต่อสู้เพื่อความถูกต้อง
พฤติกรรมการแสดงออกถึงความโกรธ ที่พบบ่อยในสังคมสมัยใหม่ จนกลายเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง ก็คือ อาการหัวร้อนของคนดี หรือ การบันดาลโทสะของคนที่เชื่อว่า ตนเองกำลังปกป้องคุณธรรม หรือมาตรฐานความดีบางอย่าง
‘คนดี’ เหล่านี้เชื่อว่า พวกเขามีความชอบธรรมที่จะแสดงพฤติกรรมเกรี้ยวกราดและรุนแรง เพราะมันคือการกระทำในนามของ ‘ความดี’ ซึ่งพฤติกรรมที่ว่านี้มักเกิดขึ้นซ้ำๆ บ่อยๆ จนกลายเป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่า คนๆ นั้นจะควบคุมตัวเองไม่ได้
ดร.เจเรมี เชอร์แมน (Jeremy Sherman) นักจิตวิทยาผู้มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับอารมณ์โกรธ เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า Maddiction หรือ การเสพติดอาการหัวร้อน โดยอธิบายว่า
“ยิ่งเราเกรี้ยวกราดใส่คนอื่นมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดียิ่งขึ้น และพอเรารู้สึกว่าเราเป็นคนดีมากขึ้น ก็เลยคิดว่ามันเป็นพันธะหน้าที่ที่เราจะต้องหัวร้อนใส่คนอื่น ที่ทำอะไรไม่ถูกไม่ควร” ดร.เชอร์แมน กล่าว
อาการหัวร้อนของคนดี เกิดขึ้นได้จากสาเหตุที่หลากหลาย ตั้งแต่การโกหกเล็กๆ น้อยๆ การไม่เคารพกฎจราจร การจูงหมาไปขับถ่ายในที่สาธารณะ การจอดรถริมรั้วบ้านคนอื่น หรืออย่างในเมืองไทย ก็เคยมีกรณีคนดีหัวร้อนที่กลายเป็นข่าวคราวหลายครั้ง เช่น การทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกันบนท้องถนน การผรุสวาทด่าทอถึงขั้นลงไม้ลงมือ เพราะเห็นคนอื่นไม่เคารพในสิ่งที่ตนเองเคารพเทิดทูน
แน่นอนว่า การรู้สึกเดือดดาลเมื่อเห็นความอยุติธรรม เป็นสิ่งที่ดี เพราะความโกรธจะเป็นแรงกระตุ้นให้เราลุกขึ้นสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ดร.เชอร์แมน ได้ตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้ว คนที่เสพติดอาการหัวร้อน ไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาคิดว่ากำลังต่อสู้เพื่อความถูกต้อง หรืออุดมการณ์อันสูงส่งอะไรเลย พวกเขาเพียงแต่รู้สึกดี ที่ได้ระบายความเกรี้ยวกราดใส่คนอื่น ที่พวกเขาคิดเอาเองว่า ‘ไม่ดี’ เท่ากับตนเอง
“ศรัทธาหรือความเชื่อในความดี อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้คนรู้สึกโกรธและลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น แต่ความรู้สึกดี ที่ได้ระบายความโกรธใส่คนอื่น แล้วทำให้ตัวเองดูสูงส่งขึ้น เป็นตัวการทำให้พวกเขาติดอยู่ในวังวนของการเสพติดอาการหัวร้อน” ดร.เชอร์แมน กล่าว
ดร.เจอร์รี เดฟเฟนแบคเกอร์ (Jerry Deffenbacher) ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการกับอารมณ์โกรธ กล่าวว่า คนที่มีอาการหัวร้อนได้ไวกว่าคนอื่นมีอยู่จริง แม้ว่าบางครั้ง พวกเขาจะไม่ได้แสดงความโมโหออกมาอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่สังเกตได้ก็คือ คนเหล่านี้จะมีความอดทนต่ำต่อเรื่องหงุดหงิด หรือความไม่สะดวกสบายแค่เล็กๆ น้อยๆ
ที่น่าสนใจก็คือ คนกลุ่มนี้ มักจะแสดงอาการหัวร้อนออกมา เมื่อพบเจอเรื่องราวที่พวกเขาคิดว่า ไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม หรือพูดง่ายๆ ว่า ไม่ดีงาม ตามมาตรฐานที่พวกเขาเชื่อ
ถึงแม้จะมีหลักฐานทางวิชาการที่ชี้ว่า อาการหัวร้อนได้ง่ายของหลายคน เป็นผลมาจากพันธุกรรม หรือลักษณะเฉพาะตัวที่พบในยีน แต่นักจิตวิทยาหลายคนมองว่า การเลี้ยงดูจากครอบครัวในช่วงวัยเด็ก ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ใครบางคนหัวร้อนมากกว่าคนอื่นๆ
มีงานวิจัยหลายชิ้น ระบุว่า คนที่มีปัญหาในการจัดการอารมณ์โกรธ มักจะมาจากครอบครัวที่ดูสับสน มีแต่เรื่องวุ่นวาย และขาดทักษะในการสื่อสาร หรือแสดงออกทางอารมณ์อย่างถูกวิธีและสร้างสรรค์
3 ขั้นตอน จัดการอารมณ์กราดเกรี้ยวในตัวคุณ
แม้ว่าการเกิดความรู้สึกโกรธ จะเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แต่หากเรารู้สึกโกรธบ่อย หรือโกรธง่ายจนเกินความควบคุม อาจนำไปสู่ผลเสีย ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
ดร.ชาร์ลส สปีลเบอร์เกอร์ (Charles Spielburger) นักจิตวิทยา ผู้ศึกษาพฤติกรรมและการแสดงอารมณ์โกรธของมนุษย์ กล่าวว่า ความโกรธ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง หัวใจจะเต้นแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น รวมถึงระดับฮอร์โมนหลายตัว ทั้งอะดรีนาลีน และนอร์อะดรีนาลีน
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ หากเกิดขึ้นบ่อยๆ ซ้ำๆ อาจนำไปสู่การเกิดโรคหลายอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง ซึมเศร้า นอนไม่หลับ แผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงโรคเบาหวาน
ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการหัวร้อน ที่นำไปสู่การทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น ซึ่งอาจจบลงด้วยการบาดเจ็บ หรือเลวร้ายทื่สุดคือ ถึงแก่ชีวิต
ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการกับอารมณ์โกรธ กล่าวว่า ที่ผ่านมา คนมักจะจัดการกับอารมณ์โกรธอย่างผิดวิธี ด้วยการพยายามกดมันไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด เพราะโทสะที่ถูกปิดกั้นไว้ จะยิ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจและสุขภาพร่างกายของคนๆ นั้น
ดร.สปีลเบอร์เกอร์ ได้สรุป 3 ขั้นตอนในการจัดการกับอารมณ์หัวร้อน คือ 1 ปลดปล่อยอารมณ์โกรธอย่างถูกวิธี 2 เบี่ยงเบนความรู้สึกโกรธ และ 3 ทำจิตใจให้สงบลง
“การปลดปล่อยอารมณ์โกรธอย่างถูกวิธี ชัดเจน แต่ไม่ก้าวร้าว เช่น การพูดกับคู่กรณีว่า คุณกำลังรู้สึกไม่พอใจเพราะอะไร รวมถึงบอกอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่คุณต้องการคืออะไร และทั้งคู่จะมีวิธีหาทางออกของปัญหาที่เผชิญอยู่อย่างไร” ดร.สปีลเบอร์เกอร์ กล่าว
อย่างไรก็ดี นักจิตวิทยาอีกหลายคน เสริมว่า เทคนิคในการสื่อสารก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยใช้คำพูดที่ไม่ก้าวร้าว เช่น “ฉันคิดว่า เราน่าจะทำแบบนี้” แทนที่จะใช้คำว่า “คุณจะต้องทำแบบนี้”
สิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ การรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และไม่จำเป็นต้องพูดสิ่งแรกที่แวบขึ้นมาในหัว แต่ควรหยุดไตร่ตรองจนแน่ใจว่า สิ่งนั้นจะไม่ยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น
ดร.สปีลเบอร์เกอร์ กล่าวว่า ส่วนการเบี่ยงเบนความรู้สึกโกรธ คือ แทนที่จะคิดถึงอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ให้เปลี่ยนไปถึงสิ่งที่เป็นเรื่องเชิงบวกมากกว่า เช่น ถ้าคุณกำลังหัวร้อนกับรถคันอื่นที่พยายามแทรกเลนเข้าไป ให้ลองคิดว่า คนขับรถคันนั้นอาจจะไม่คุ้นเส้นทาง ถ้าคุณชะลอความเร็วเพื่อให้รถคันนั้นได้เปลี่ยนเลนเข้ามา คุณอาจช่วยให้เขาไม่พลาดนัดหมายสำคัญในวันนั้นก็ได้
ขณะที่การทำจิตใจให้เย็นลง สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการหายใจลึกๆ ช้าๆ พยายามหายใจให้ลึกไปถึงช่องท้อง ไม่ใช่แค่บริเวณทรวงอก หรือ พูดกับตัวเองว่า “ใจเย็นๆ นะ” “ไม่เป็นไรนะ” พูดช้าๆ ซ้ำๆ พร้อมกับหายใจลึกๆ
ท้ายที่สุด ดร.สปีลเบอร์เกอร์ กล่าวว่า “หากคุณปล่อยให้ตัวเองหัวร้อน โดยไม่พยายามจัดการกับอารมณ์โกรธ สักวันหนึ่ง จะต้องมีใครสักคนเจ็บตัว และคนนั้นอาจเป็นตัวคุณเองก็ได้”
อ้างอิง
1.Maddiction : Addiction to self-righteous outrage ; https://www.psychologytoday.com/intl/blog/jerkology/202108/maddiction-addiction-self-righteous-outrage
2.Psychology of anger ; https://www.mentalhelp.net/anger/
3.Control anger before it control you ; https://www.apa.org/topics/anger/control
4.Understanding anger ; https://www.verywellmind.com/what-is-anger-5120208