- ‘การสูญเสีย’ เป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับมันได้ในทันที แต่ถ้าก้าวข้ามผ่านความรู้สึกแย่ๆ ได้ ก็จะเข้าสู่สภาวะที่ยอมรับ ‘ความเป็นจริง’ ว่าคนนั้นได้จากไปแล้ว
- คนเรามักจะเสียใจกับสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ มากกว่าสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว การเรียนรู้ที่จะเห็นความหมายของสิ่งที่มีอยู่แล้วทำมันให้ดีที่สุด เหมือนเป็นวันสุดท้าย ก็อาจช่วยบรรเทาความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้
- สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณแสดงความเปราะบางในจิตใจออกมาได้คือการมีพื้นที่ปลอดภัยทางความรู้สึกให้คุณได้ระบายมันออกมา
หากวันนี้คนรักขอจบความสัมพันธ์กับคุณทั้งที่คุณก็ยังรักเขาอยู่ ตอนนั้นคุณรู้สึกเจ็บปวดที่ต้องเลิกรา แต่ก็เลือกที่จะเคารพการตัดสินใจของเขา เพราะคุณรักเขาเกินกว่าจะเอาความสุขตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่นานหลังจากนั้น คุณก็รู้ว่าเขาถูกคู่รักคนใหม่ทำร้ายร่างกายอย่างหนักจนตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงไป
คุณจะรู้สึกอย่างไรกับตัวเองที่ยอมปล่อยเขาไป ?
วินาทีที่เกิดการสูญเสียส่วนใหญ่คนมักจะรู้สึกช็อคเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความจริง มันเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับความสูญเสียทันที เมื่อเห็นว่าการสูญเสียได้เกิดขึ้นคุณอาจจะรู้สึกโกรธที่สิ่งแย่ๆ เกิดขึ้นกับตัวเอง โกรธที่ตัวเองน่าจะทำบางอย่างได้ดีกว่านี้ โกรธโลกใบนี้ที่เลือกให้เราต้องเจอสิ่งนี้ ต่อมากลไกทางจิตของมนุษย์จะคิดหาเหตุผลร้อยแปดพันอย่างเพื่อต่อรองกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามันไม่ได้เป็นจริง สมองจะพยายามหาข้อมูลว่า ถ้าฉันทำแบบนี้ตอนนั้น…..ตอนนี้ไม่น่าจะเป็นแบบนี้ แต่เมื่อพยายามต่อรองแล้วก็จะพบว่าความจริงที่ว่าการสูญเสียเกิดขึ้นแล้ว ถ้าความรู้สึกท่วมท้นมากคนที่สูญเสียก็มักจะมีความเศร้า รู้สึกผิด จมอยู่กับความรู้สึกสงสัยในตัวเอง “ที่ผ่านมาเราทำดีแล้วหรือยัง…?” “ทำไมเราเป็นคนแย่แบบนี้” แต่สุดท้ายถ้าคนนั้นก้าวข้ามผ่านความรู้สึกแย่ๆ ได้ เขาก็จะเข้าสู่สภาวะที่ยอมรับ ‘ความเป็นจริง’ ว่าคนนั้นได้จากไปแล้ว
สิ่งที่กล่าวมาคือภาพรวมของคนที่กำลังเสียใจจากการสูญเสียต้องเผชิญ บางคนอาจเจอทุกอารมณ์ที่กล่าวไป บางคนอาจเจอแค่บางอารมณ์ อันที่จริง การสูญเสียไม่ได้หมายถึงแค่การจากไปหรือเลิกราของคนรัก ครอบครัว แต่ยังรวมได้ถึงการตกงาน การไม่มีเงิน การถูกหักหลัง การพิการ ของที่รักพัง หรือหาย
อีกรูปแบบของการสูญเสียคือการสูญเสียความหมายของสิ่งนั้น ซึ่งมักจะเป็นผลจากการสูญเสียสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น ยกตัวอย่าง การสูญเสียคนรัก อาจหมายถึงการที่คุณจะไม่ได้เจอเขาต่อจากนี้ การที่คุณจะไม่มีที่พึ่งทางจิตใจ การสูญเสียลูกอาจหมายถึงการสูญเสียความหมายในชีวิต คุณมองไม่เห็นแล้วว่าคุณจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร สิ่งที่คุณสูญเสียในที่นี้จะเป็นความหมายทางความรู้สึก เช่น ตัวตน ความรู้สึกปลอดภัย ความมั่นคง ความฝัน กำลังใจ เหตุผลของการมีอยู่ คุณค่า การสูญเสียเหล่านี้จะส่งผลต่อความรู้สึกอย่างมาก โดยเฉพาะ การสูญเสียตัวตนหรือความหมายที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
สิ่งเหล่านี้มองเห็นได้ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอยู่จริง สมองมนุษย์ชอบสร้างความหมายให้กับสิ่งต่างๆ อยู่แล้ว แต่ละคนจะให้ความหมายทางความรู้สึกต่อสิ่งหนึ่งต่างกันออกไปตามประสบการณ์ บางคนมองว่าการสูญเสียรายได้เป็นเรื่องธรรมดา เดี๋ยวก็หาใหม่ได้ แต่บางคนมองว่าการมีเงินคือความมั่นคงในชีวิต ระดับความสะเทือนต่อการสูญเสียก็จะต่างกันออกไป มันเป็นเรื่องของแต่ละคนจริงๆ
การสูญเสียเป็นความกลัวพื้นฐานที่ทุกคนมีเหมือนกัน ทุกอารมณ์แง่ลบหลังเจอสิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องปกติ
บางคนเสียใจทันทีที่เหตุการณ์เกิดขึ้น บางคนเสียใจหลังจากนั้น การสูญเสียเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับมนุษย์ เพราะมันหมายความว่า เราต้องมีกิจวัตรใหม่ ผมชอบนึกถึงแม่ แม่เป็นผู้หญิงที่ชอบทำงานเป็นชีวิตจิตใจ แล้วเพิ่งเกษียณอายุช่วงนี้ สำหรับแม่มันไม่ใช่แค่การสูญเสียงาน แต่มันคือการสูญเสียคุณค่าในชีวิตที่เขาเอาไว้ยืนยันว่าตัวเองมีคุณค่า แล้วเขาต้องพยายามยอมรับชีวิตใหม่ หากิจวัตรใหม่ การต้องเผชิญหน้าสิ่งใหม่จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
อีกแง่มุมที่น่าสนใจของการสูญเสียคือการรู้สึกผิดที่ตัวเองโล่งใจ บางคนอาจดีใจที่สูญเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะคนที่สูญเสียสิ่งที่เป็นความกังวลในชีวิตเขา ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ การสูญเสียผู้ป่วยติดเตียงในครอบครัว เราต่างรู้กันดีว่าการดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นเรื่องยาก แต่ก็อาจเกิดความรู้สึกสับสนระหว่างโล่งใจและรู้สึกผิดกับตัวเอง สิ่งที่ต้องชัดเจนในตัวเองคือ การรู้สึกโล่งใจไม่ได้หมายความว่าคุณไม่รักเขา คุณสามารถเสียใจและโล่งใจได้ในเวลาเดียวกัน
ความเสียใจเป็นเรื่องปกติ แต่ความเสียใจจากการสูญเสียที่น่าเป็นห่วงคือ การจมอยู่กับความเสียใจเป็นระยะเวลานานหลายเดือนจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิม หรือการเก็บกดความรู้สึกไว้แล้วไปทำอย่างอื่น เช่น โหมทำงานหนัก เพื่อลืมความรู้สึกเจ็บปวดจนเผลอมีอารมณ์ที่รุนแรงกว่าปกติโดยไม่รู้ตัว
ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งของการสูญเสียคือการที่สิ่งนั้นไม่มีอยู่แล้วมันจะหายไปจากความทรงจำ การที่คนรักจากไปไม่ได้หมายความว่าคุณจะลืมเขา สุดท้ายคุณก็ยังสามารถเก็บเขาไว้ในความทรงจำได้อยู่ดี คุณก็ยังนึกถึงช่วงเวลาดีๆ ที่มีกันและกันได้เหมือนเดิม แต่ก็จะมีข้อยกเว้น เพราะการสูญเสียแต่ละอย่างก็มีวิธีรับมือที่ต่างกัน แนวคิดว่าเงินหายไป เงินก็ยังอยู่ในความทรงจำก็ฟังไม่ขึ้น
ความรุนแรงของความรู้สึกหลังการสูญเสียมักขึ้นอยู่ว่า เรารักคนหรือสิ่งนั้นมากแค่ไหน แล้วสิ่งนั้นมีความหมายต่อความรู้สึกเราอย่างไร เป็นแค่ของทั่วไป หรือเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ
หากสูญเสียที่ยึดเหนี่ยวจิตใจก็มีแนวโน้มที่จะเสียใจรุนแรง หากเกิดการสูญเสียอย่างกะทันหันก็จะยิ่งมีโอกาสเสียใจมากเท่านั้น เพราะไม่ได้เตรียมใจมาล่วงหน้า และหากเป็นคนที่ปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ไม่ค่อยได้ก็จะยิ่งมีความเครียดสูง
การสูญเสียเป็นเรื่องใหญ่ที่ซับซ้อนจนยากจะบอกว่าคุณจะผ่านไปอย่างไร แต่ขั้นตอนที่น่ารู้คือ คนเรามักจะเสียใจกับสิ่งที่ยังไม่ได้ทำมากกว่าสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว การเรียนรู้ที่จะเห็นความหมายของสิ่งที่มีอยู่แล้วทำมันให้ดีที่สุด ทำเหมือนเป็นวันสุดท้ายที่จะได้เจอก็อาจช่วยบรรเทาความรู้สึกสงสัยในตัวเองได้ แต่ก็อย่างว่าคุณจะเสียใจอยู่ดี แม้คุณเตรียมตัวมามากแค่ไหนก็ตาม มนุษย์ไม่ได้ถูกฝึกมาให้เตรียมตัวสูญเสีย แต่เราอาจฝึกที่จะนึกถึงความสูญเสียได้ ไม่ได้นึกถึงเพื่อให้รู้สึกกังวล แต่นึกถึงเพื่อเรียนรู้ว่า “มันอาจเกิดขึ้นได้”
เจ วิลเลียม เวอร์เดน นักจิตวิทยาเสนอว่ามี 4 สิ่งที่คนที่สูญเสียต้องทำเพื่อที่จะก้าวข้าวผ่านการสูญเสียในชีวิต
1) ยอมรับความเป็นจริงของการสูญเสีย ซึ่งไม่ใช่กระบวนการที่ง่ายเลย หากไม่รู้ว่าตัวเองรู้สึกอะไรเลย ลองหาใครสักคนที่ไว้ใจเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นให้ฟัง
2) อนุญาตให้ตัวเองรู้สึกทุกความรู้สึก ยิ่งเก็บกดความรู้สึกยิ่งจะทำให้ความเสียใจฝังลึกและแก้ยากมากเท่านั้น อย่าเพิ่งคิดว่าจะไม่มีใครสนใจความเสียใจของคุณ
3) ปรับตัวใช้ชีวิตใหม่ การปรับตัวที่ดีต้องเห็นว่าสิ่งที่คุณสูญเสียเคยเติมเต็มคุณอย่างไร แล้วการไม่มีสิ่งนั้นทำให้คุณขาดหายอะไรไป คุณจะได้รู้ว่าคุณจะใช้ชีวิตอย่างไร หากคนรักคือคนที่คุยดูหนังด้วยทุกคืน การปรับตัวอาจเป็นการทำกิจกรรมใหม่
4) หาวิธีที่จะเชื่อมโยงกับคนที่จากไป และใช้ชีวิตของตัวเอง คุณอาจจะยังนึกถึงเขา เก็บเขาไว้ในพื้นที่หนึ่งในใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันกับคนที่คุณให้ความสำคัญ หรืออาจเป็นการทำกิจกรรมที่มีความหมายต่อคุณ กิจกรรมที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า การ
กลับมาสนใจชีวิตตัวเองมากขึ้นก็จะทำให้คุณไม่จมอยู่กับการสูญเสียมากเกินไป
ดร.เออร์วิน ดี ยาโลม จิตแพทย์ชาวอเมริกา เคยกล่าวว่า ผู้ชายและผู้หญิงมีธรรมชาติในการรับมือกับความสูญเสียที่แตกต่างกัน ผู้หญิงมักมีพฤติกรรมวนเวียนอยู่กับอดีต คิดวนไปวนมา หากมองตามวิวัฒนาการของมนุษย์ก็ไม่แปลกที่ผู้หญิงจะมักมองภาพที่เป็นรายละเอียด ส่วนผู้ชายมักรับมือด้วยการเก็บกด จมอยู่กับปัญหาคนเดียว ดังนั้นวิธีรับมือเบื้องต้นคือการทำให้ผู้หญิงตระหนักถึงความสำคัญในปัจจุบัน เช่น คนรัก เป้าหมายชีวิต สิ่งที่มีความหมายของเขา สำหรับผู้ชายอาจเป็นการสร้างพื้นที่ให้เขาได้แสดงความรู้สึกมากกว่าเก็บกดความเศร้าไว้เพียงลำพัง
การสูญเสียของแต่ละคนจะใช้เวลาต่างกัน ไม่มีใครบอกได้ว่าเราควรเสียใจนานแค่ไหน เสียใจอย่างไร แต่ละคนจะมีวิธีในแบบของตัวเอง สิ่งที่คุณควรเตรียมใจคือคุณจะวนเวียนไปกับความรู้สึกต่างๆ ทั้งสงสัย โกรธ เศร้า ชินชา ช็อค ยอมรับได้ ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวแย่ ข้อมูลทางประสาทวิทยาพบว่า สมองต้องใช้เวลาในการปรับตัวเพื่อเรียนรู้กิจวัตรใหม่ เรียนรู้ว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว และหาทางสร้างความหมายใหม่ต่อการไม่มีอยู่ของสิ่งนั้น คุณอาจมองว่าการตกงานเป็นเรื่องใหญ่ แน่นอนว่ามันใหญ่มาก คุณไม่ได้รู้สึกไปเอง ถ้าวันนี้คุณรู้สึกเศร้าเสียใจก็ขอให้ได้แสดงความรู้สึกนั้นออกมา
สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณแสดงความเปราะบางในจิตใจออกมาได้คือการมีคนรอบข้างที่คอยรับฟัง เป็นพื้นที่ปลอดภัยทางความรู้สึกให้คุณได้ระบายมันออกมา
การสูญเสียเป็นเรื่องสาหัส แต่เราจะเติบโตจากมันในวันหนึ่ง