- ความรู้สึก ‘เหงา’ เป็นเหมือนสัญญาณที่กำลังบอกเราว่า “เรากำลังต้องการความผูกพันที่ลึกซึ้ง” ซึ่งไม่เกี่ยวกับจำนวนคนรอบตัว หากแต่เป็นความลึกซึ้งและคุณภาพของความสัมพันธ์นั้นต่างหาก
- ความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพเกิดจากการที่เราใช้ตัวตนที่แท้จริงในการปฏิสัมพันธ์ ซื่อตรงกับความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง โอกาสที่จะเจอความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพก็จะมากขึ้น
- การอยู่ลำพังไม่ได้หมายความว่าเหงาเสมอไป เราจะรู้ว่าตัวเองเหงาก็ต่อเมื่อเรารู้สึกว่าไม่มีใครอยู่ในจิตใจของเรา
ความรู้ทางจิตวิทยาสมัยใหม่เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีความต้องการพื้นฐานในการสร้างความผูกพันกับผู้อื่น (attachment) เช่น พ่อแม่ คู่รัก หรือเพื่อน ความผูกพันจะเป็นสิ่งหล่อหลอมการพัฒนาตัวตนให้มีความมั่นคงทางจิตใจและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม–เราอาจพูดว่ามันคือความอบอุ่นหัวใจที่ทำให้เราไม่เหงาเกินไป
ความเหงามักเกิดขึ้นเมื่อความต้องการพื้นฐานอย่างการมีความผูกพันไม่ได้รับการตอบสนองที่เพียงพอ ซึ่งอาจเป็นเพราะการขาดความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง หรือการไม่มีความเชื่อมโยงทางความรู้สึก ดังนั้น ความรู้สึกเหงาจึงเป็นเหมือนสัญญาณที่กำลังบอกเราว่า “เรากำลังต้องการความผูกพันที่ลึกซึ้ง” ซึ่งไม่เกี่ยวกับจำนวนคนรอบตัว หากแต่เป็นความลึกซึ้งและคุณภาพของความสัมพันธ์นั้นต่างหาก
ความเหงากับตัวตนที่ปลอม
ช่วงวัยเด็กเรามักแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาอย่างไร้ความกังวล โดยเฉพาะเมื่อมีผู้เลี้ยงดูที่ใส่ใจอย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อเติบโต เราอาจปรับเปลี่ยนตัวตนเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อม สิ่งนี้ทำให้ตัวตนที่แท้จริงถูกซ่อนไว้แล้วใช้ตัวตนที่ปลอมแทนที่ ตัวตนที่ปลอมสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องเราจากความเจ็บปวด เช่น การไม่ถูกยอมรับ การไม่เป็นที่รัก การเป็นคนไม่สำคัญ แต่แท้จริงแล้วมันกลับทำให้เราเจ็บปวดเหมือนเดิม เพียงแค่รูปแบบความเจ็บปวดนั้นเปลี่ยนไป บางคนอาจสร้างตัวตนที่ปลอมขึ้นมาเพื่อกลบความรู้สึกเปราะบางด้วยการทำตัวเป็นคนที่เข้มแข็งเหมือนไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ตัวตนที่ปลอมนั้นก็ยิ่งทำให้เขารู้สึกว่าลึกๆ แล้วเขาก็ยังเจ็บปวดที่คนไม่สนใจความรู้สึกเขาอยู่ดี
ราคาของตัวตนที่ปลอมคือ กำแพงที่ขวางกั้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง – แล้วนำมาซึ่ง ‘ความเหงา’
ความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพเกิดจากการที่เราใช้ตัวตนที่แท้จริงในการปฏิสัมพันธ์ ตัวตนที่แท้จริง (true self) ซึ่งเป็นแนวคิดของ Donald Winnicott นักจิตวิเคราะห์ชาวอังกฤษ หมายถึง ตัวตนที่เขาเป็นจริงๆ แม้มันจะรู้สึกเปราะบางมากเพียงใดก็ตาม ทั้งการแสดงออก ความรู้สึก หรือพฤติกรรมต่างๆ โดยไม่ได้ทำออกมาเพราะความกลัวไม่ถูกยอมรับ อารมณ์เหมือนเป็นเสียงเรียกร้องจากข้างในหัวใจ เราอาจจะบอกตรงๆ ไม่ได้ว่าคนที่ใช้ตัวตนที่แท้จริงเป็นอย่างไร แต่เราสามารถบอกได้ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราอยู่ใกล้เขาเราจะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเป็นแล้วแสดงออกมา “มันจริง”
สิ่งที่ได้มาของการซื่อตรงกับความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองคือ โอกาสที่จะเจอความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพได้มากขึ้น
ความเหงาจะยิ่งเพิ่มทวีคูณขึ้นเมื่อเราไม่ได้ใช้ตัวตนที่แท้จริงในการปฏิสัมพันธ์ เพราะเมื่อเราใช้ตัวตนที่ปลอมจะทำให้เรารู้สึกว่า แม้คนอื่นจะเข้ามาหาหรือคุยด้วยมากเพียงใด เราก็ยังคงรู้สึกว่า “ไม่มีใครเข้าใจตัวตนเราจริงๆ” ยิ่งมีตัวตนที่ปลอมเยอะและนานเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสรู้สึกเหงาและห่างเหินผู้คนมากเท่านั้น แต่ถ้าเราใช้ตัวตนที่ปลอมแบบยังพอรู้ตัวอยู่บ้างว่าตัวตนข้างในรู้สึกอย่างไร ความรู้สึกเหงาก็จะไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับคนที่มีตัวตนที่ปลอมเยอะ หรือไม่ได้เชื่อมโยงกับความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง
เวลาอยู่ใกล้คนที่ใช้ตัวตนที่ปลอมเยอะ เรามักจะรู้สึกว่ามันมีความไม่สอดคล้องกันระหว่างคำพูด การแสดงออก และอารมณ์ที่แท้จริง เวลาที่คุยกันก็จะรู้สึกไม่เป็นธรรมชาติ อาจไม่สามารถอธิบายได้ชัด แต่เป็นเหมือนความรู้สึกแปลกแยกออกไป เช่น พูดโดยไม่มีความรู้สึก มีความห่างเหิน หรือแสดงท่าทีบางอย่างที่ดูขัดแย้งกัน
เวลาที่เราจะมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับใครสักคนมักเกิดจากการที่เราสามารถเป็นตัวเองได้อย่างแท้จริง – แม้มันจะเปราะบางเพียงใดก็ตาม แต่คนที่มีตัวตนที่ปลอมมักจะหลีกเลี่ยงการแสดงความเปราะบาง หรือแม้แสดงออกมาก็ดูเหมือนมีกำแพงบางอย่างที่มองไม่เห็น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง เหมือนเป็นความสับสนที่ยากจะอธิบายเป็นคำพูด คนที่มีตัวตนที่ปลอมก็จะไม่สามารถเข้าใจตัวตนที่แท้จริงของตัวเองได้ เขาอาจจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าตัวตนเขาเป็นแบบไหน เขาเป็นใคร เขาต้องการอะไร
ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ที่จะหลีกหนีความเจ็บปวด การจะมาเปิดเผยแล้วยอมรับว่าฉันมีตัวตนที่ปลอมจึงเป็นเรื่องยาก
การอยู่ลำพังไม่ได้หมายความว่าเหงา
ความเหงาเกิดจากการไม่มีความผูกพัน แต่ทำไมบางคนที่มีความผูกพันจึงยังเหงาอยู่ ?
หนึ่งแนวคิดสำคัญที่อธิบายเรื่องความเหงาคือ ‘Object Constancy’ ลองนึกภาพง่ายๆ ว่า เด็กจะชอบเล่นจ๊ะเอ๋ เหมือนเราหลบอยู่หลังโซฟาแล้วเด็กก็จะหัวเราะชอบใจเหมือนเราหายไปจากโลกใบนี้แล้วอยู่ดีๆ ก็โผล่มา เด็กยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่า แม่ยังอยู่ตรงนี้ แม้จะมองไม่เห็น เด็กรับรู้เพียงว่า แม่อยู่กับเขาก็ต่อเมื่อแม่ปรากฎตัว แต่ถ้าเด็กได้รับการตอบสนองจากพ่อแม่อย่างเหมาะสม ได้รับความรักที่อบอุ่นและสม่ำเสมอ เขาจะค่อยๆ พัฒนาความรู้สึกมั่นคงและไว้วางใจพ่อแม่ว่าไม่ว่าเขาจะอยู่ไหนพ่อแม่จะอยู่ในใจเขาเสมอ
Object Constancy คือ ความสามารถในการรักษาความรู้สึกผูกพันและความมั่นคงทางอารมณ์ต่อบุคคลสำคัญ แม้ตอนนั้นจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน หรือมีความขัดแย้งกัน เขาจะยังรู้สึกเสมอว่าความรักยังอยู่ ความรักไม่ได้หายไปไหน นั่นหมายความว่า การอยู่ลำพังไม่ได้หมายความว่าเหงาเสมอไป เราจะรู้ว่าตัวเองเหงาก็ต่อเมื่อเรารู้สึกว่าไม่มีใครอยู่ในจิตใจของเรา เคยเป็นไหมครับ เวลาที่เราเดินไปสักที่แล้วอยู่ดีๆ ก็ได้ยินเสียงคนรักก้องขึ้นมาในใจ หรือทำอะไรอยู่ก็รู้สึกถึงความรัก ความอบอุ่นของคนรอบกาย กระบวนการนั่นเกิดขึ้นจากการที่จิตใจมีความมั่นคงมากพอที่จะเรียนรู้และเข้าใจได้ว่า ความรักของพ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งในจิตใจเขา แล้วพ่อแม่ไม่ได้หายไปไหน
ในทางกลับกัน หากคนนั้นไม่ได้รู้สึกถึงความผูกพันและความมั่นคงทางอารมณ์ที่มีกับคนอื่น เขาก็มีแนวโน้มที่จะรู้สึกเหงาได้มากกว่าคนทั่วไป แล้วถ้าเหงามากๆ แล้วยังไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้สึกกับคนอื่นได้ มันก็จะพัฒนาเป็นความรู้สึกอ้างว้างและรู้สึกโดดเดี่ยว
คำแนะนำในการจัดการความรู้สึกเหงา
1. ใช้ตัวตนที่แท้จริงในการปฏิสัมพันธ์: เริ่มจากการเป็นตัวของตัวเองในความสัมพันธ์ โดยไม่ต้องกลัวว่าคนอื่นจะไม่ยอมรับตัวตนที่แท้จริง แม้มันจะรู้สึกเปราะบางก็ตาม เมื่อเราใช้ตัวตนที่แท้จริง เราจะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและมีคุณภาพได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเหงาลงได้อย่างมาก
2. พัฒนาความมั่นคงทางอารมณ์: ความมั่นคงในความรู้สึกและการผูกพันสามารถช่วยลดความเหงาได้ แม้ไม่ได้อยู่ใกล้กัน การรักษาความรักและความผูกพันในใจสามารถทำให้เรารู้สึกอบอุ่นและมีความสุขได้ แม้จะอยู่คนเดียวก็ตาม หากรู้สึกว่าความรักยังคงอยู่ในใจเราก็จะไม่รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว
3. รักษาความสัมพันธ์และการเชื่อมโยง: ความสามารถในการรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น แม้ในช่วงเวลาที่ห่างไกล จะช่วยให้เรามีความรู้สึกผูกพันที่มั่นคง ทำให้ไม่รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว แม้จะไม่ได้พบเจอคนอื่นบ่อยๆ
4. เปิดใจและรับรู้ความรู้สึกของตัวเอง: ควรสำรวจและเข้าใจว่าเรากำลังเหงาจากเหตุผลใด เช่น หากเรารู้สึกเหงาจากการไม่สามารถใช้ตัวตนที่แท้จริงในการปฏิสัมพันธ์ ควรพยายามเปิดใจและเป็นตัวเองในความสัมพันธ์ หากเหงาเพราะขาดความผูกพันทางจิตใจ ควรพัฒนาแนวคิดเรื่องการรักษาความรักและความมั่นคงในใจ
5. ไม่ละเลยการพบปะและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น: แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ห่างเหินหรือโดดเดี่ยว อย่าลืมที่จะออกไปพบปะและติดต่อกับคนอื่น การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจะช่วยเติมเต็มความรู้สึกผูกพันและลดความเหงาได้มาก
คำถามชวนคิด
• คุณเคยรู้สึกว่ามีตัวตนที่แท้จริงที่คุณไม่ได้แสดงออกหรือไม่ ?
• คุณสามารถยอมรับความเหงาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเองได้หรือเปล่า ?
ทุกความรู้สึกกำลังพยายามบอกอะไรบางอย่างแก่เราเสมอ ความรู้สึกเหงาก็เช่นกัน เวลาเหงาให้ลองถามตัวเองว่า ความรู้สึกนี้กำลังบอกอะไรเราอยู่ ผมเชื่อว่าความเหงาไม่ใช่สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงแต่คือโอกาสให้เราได้สำรวจตัวตนและความต้องการที่แท้จริงของเรา อย่ากลัวที่จะเผชิญหน้ากับความรู้สึกเหล่านี้ เพราะมันอาจนำพาคุณไปสู่ความเข้าใจในตัวเองและการสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายมากยิ่งขึ้น
เมื่อเราเรียนรู้ที่จะเชื่อมต่อกับตัวตนของเราอย่างแท้จริง เราก็จะสามารถเชื่อมต่อกับผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้งเช่นกัน
บทความนี้ท้าทายมากเลยครับ เพราะมีคนเขียนเรื่องความเหงาเยอะแล้ว พยายามหามุมมองใหม่ๆ มาเขียนให้มีแนวคิดที่หลากหลาย อ่านแล้วเป็นอย่างไรแวะมาคุยกันได้นะครับ เผื่อว่าเราจะได้เชื่อมโยงกัน
และเหงาน้อยลง