- ผู้ใหญ่หลายๆ ท่านได้รับการปลูกฝังมาแต่เด็กจนยากที่จะเชื่อว่า LGBTQ+ คือสิ่งปกติทั่วไป หลายๆ คนมักจะบอกว่า ธรรมชาติสร้างให้มีชายหญิงมาคู่กันชายจะคู่กับหญิงเพื่อให้มีลูกกันได้ รวมถึงคำสอนหรือความเชื่อทางศาสนาที่กล่าวว่า LGBTQ+ คือสิ่งผิด ความคิดนี้เป็นเหมือนแก่นสำคัญที่ไม่ว่าจะมองอย่างไรก็ไม่ถูกต้อง
- แต่มนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดมาเพื่อมีลูกเท่านั้น ‘มนุษย์ต้องการความรัก’ และหากรักไม่ได้เกี่ยวข้องว่าจะมีลูกหรือไม่ แล้วร่างกายจะเป็นเพศใดนั้นจะขัดขวางไม่ให้รักกันได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้น ‘รัก’ ของมนุษย์ไม่ได้จำกัดความสุขแค่จากเพศสัมพันธ์ บางคนมีเพศวิถีที่ไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ากับเพศใดๆ เลย แต่ก็ต้องการรักมนุษย์สักคน และนั่นก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก
- ใครจะรักเพศไหน อยากเป็นเพศไหน หรือการยอมรับเรื่องนี้จะไปขัดขวางสันติสุขของสังคมมนุษย์อย่างไร เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย และไม่น่าขัดขวางแก่นสำคัญของคุณงามความดีของศาสนาที่ทุกแห่งมีร่วมกันคือการทำให้สังคมสงบสุข
ช่วงไม่กี่ปีมานี้เราคงได้ยินข่าวเรื่องการรณรงค์ความเท่าเทียมของ LGBTQ+ (ย่อจากเลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล ชายหรือหญิงข้ามเพศ บุคคลที่ไม่แน่ใจในเพศวิถี และเพศวิถีอื่นๆ) และความพยายามเปลี่ยนค่านิยมว่า ‘เพศวิถี’ หรือ การจะมีความรักกับเพศไหนหรือตนเองอยากทำตัวให้เหมือนเพศอะไรนั้นคืออิสระ การไม่ใช่ ‘ชายจริงหญิงแท้’ ไม่ใช่สิ่งที่แปลกหรือผิดปกติ เป็นเรื่องที่สังคมควรยอมรับ ซึ่งหลาย ๆ ประเทศก็ให้การตอบรับกับเรื่องนี้เป็นอย่างดี เช่น มีการแก้ไขกฎหมายให้แต่งงานกับบุคคลที่มีเพศทางร่างกายเดียวกันได้ มีการอนุญาตคู่รักที่มีเพศเดียวกันรับบุตรบุญธรรม ในวงการสื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ ที่มีเนื้อเรื่องเน้นถึงจุดยืนทางสังคมของ LGBTQ+ มากขึ้น นอกจากนี้ในมุมมองการแพทย์สมัยใหม่ เช่น ตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM) ที่วงการแพทย์ของอเมริกาใช้ในการวินิจฉัยโรคนั้นระบุว่า LGBTQ+ ไม่ใช่โรค ไม่ใช่ความผิดปกติ แต่เป็นเหมือนรสนิยมหรือความชอบส่วนตัวเท่านั้น ไม่ควรมองว่าคนกลุ่มนี้ต้อง ‘รักษา’ หรือ ‘บำบัด’ ให้หาย เพราะไม่ใช่สิ่งที่ผิดหรือไม่ดีแต่อย่างใดในเชิงการแพทย์
อย่างไรก็ตามหากเรื่อง LGBTQ+ เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสังคมระดับใหญ่ๆ เช่น ใน ‘ระดับประเทศ’ แต่หากเรามองลึกลงไปในสังคมระดับย่อยๆ คือ ‘ครอบครัว’ เรากลับพบว่าในหลายๆ บ้าน เรื่อง LGBTQ+ เป็นหัวข้อต้องห้าม เป็นหัวข้อที่ต้องเก็บเป็นความลับ บางคนเก็บเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่เด็กจนโตก็ไม่คิดจะบอกพ่อแม่ว่าตนเองเป็น LGBTQ+ เพราะรู้ว่าพูดไปพ่อแม่ก็ไม่มีวันยอมรับ ยุคสมัยผ่านไปผมเชื่อว่าคนก็น่าจะเปิดรับมากขึ้น และพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่หลายๆ ท่านก็ไม่ได้คิดรังเกียจหากไปเจอ LGBTQ+ คนอื่นๆ แต่หากเป็นลูกหลานตนเองแล้ว ให้ตายก็ต้องเป็นชายจริงหญิงแท้ ห้ามเป็น LGBTQ+ เด็ดขาด
การยอมรับไม่ได้ในเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนครับ เราต้องเข้าใจกันก่อนว่าสังคมนั้นเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และคนที่เกิดมาในยุคสมัยที่แตกต่างกันก็ให้ความสำคัญในเรื่องหนึ่งๆ แตกต่างกันออกไป จริงอยู่ที่บางคนปรับตัวหรือเปลี่ยนความคิดได้ แต่บางคนก็ไม่อาจฝืนยอมรับสิ่งที่ตัวเองยึดถือในใจง่ายๆ ในเมื่อสมัยเขายังเด็ก ยังวัยรุ่น ไม่มีใครรับเรื่องนี้ได้ หากเป็นคนอื่นยังพอเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แต่กลับคนใกล้ตัว มันยากจริงๆ ที่จะเปลี่ยนมุมมองยอมรับได้
ผู้ใหญ่หลายๆ ท่านได้รับการปลูกฝังมาแต่เด็กจนยากที่จะเชื่อว่า LGBTQ+ คือสิ่งปกติทั่วไป หลายๆ คนมักจะบอกว่าธรรมชาติสร้างให้มีชายหญิงมาคู่กันชายจะคู่กับหญิงเพื่อให้มีลูกกันได้ จะมาผิดไปจากนี้ไม่ได้ และหลายๆ ท่านอาจมีเหตุผลว่า คำสอนหรือความเชื่อทางศาสนาที่กล่าวว่า LGBTQ+ คือสิ่งผิด เหตุผลเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนหนักแน่นไม่ให้เปลี่ยนใจ ไม่ว่าสังคมปัจจุบันจะรณรงค์ให้ยอมรับเรื่องนี้แค่ไหนก็ตาม แต่ความคิดนี้เป็นเหมือนแก่นสำคัญที่ไม่ว่าจะมองอย่างไร LGBTQ+ ก็ไม่ถูกต้อง
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างพ่อแม่หรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในบ้าน กลับเป็นคนที่เราไม่อาจเปิดเผยสิ่งสำคัญอย่างเพศวิถีให้เขาได้รู้ ว่าจริงๆ ฉันรักคนแบบไหน หรือฉันอยากเป็นเพศอะไร เพราะบุคคลที่คนเรามักจะต้องการให้ยอมรับในสิ่งที่ตัวเราเป็นที่สุดก็คือครอบครัว
แต่พอเป็นเรื่องนี้หลายๆ คนพบว่าคนอื่นรับได้ แต่คนในครอบครัวรับไม่ได้ และนั่นสร้างความทุกข์ใจมหาศาลแก่ทั้งตัวเขาเอง และคนที่รับไม่ได้ด้วย ผมเลยเขียนบทความนี้เหมือนเป็นการชวนพ่อแม่ ผู้ใหญ่ ทุกๆ ท่านที่รับเรื่อง LGBTQ+ ไม่ได้มาคุยกันสักนิดว่า มันพอจะมีทางคิดไปเป็นอื่นได้ไหม ไม่ต้องถึงกับถอนรากความเชื่อของตนเอง แต่มาดูกันว่าสิ่งที่ตนเองเชื่อแต่เดิมนั้น พอจะปรับเปลี่ยนไปให้ยืดหยุ่นกว่านี้ได้หรือไม่ หากลองคิดถึงเหตุผล และมองกันในมุมอื่นๆ ให้กว้างยิ่งขึ้น
LGBTQ+ เป็นเรื่องผิดธรรมชาติจริงหรือ
ก่อนจะคุยกันในประเด็นนี้ เราคงต้องคุยกันก่อนว่า ‘ธรรมชาติ’ หมายถึงอะไร ในที่นี้ตามความเข้าใจของคนทั่วไปคือ ถูกสร้างมาให้เป็นแบบนั้น และเป็นสิ่งที่ทำหรือเกิดขึ้นทั่วไป ประเด็นแรกนั้นเหมือนจะเป็นประเด็นที่วิทยาศาสตร์ตอบคำถามให้ได้อยู่แล้ว เพราะหากมองร่างกายและการสืบพันธุ์ อาจจะสรุปได้ว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นชายและหญิงจะต้องคู่กัน เพราะมีอวัยวะสืบพันธุ์ที่รองรับกัน คนเพศเดียวกันไม่อาจมีลูกด้วยกันได้ แต่ถ้าเราจะมองเช่นนั้น อาจจะทำให้การมีชีวิตอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ นั้นแคบไปสักหน่อยตรงที่เน้นที่การมีลูกเท่านั้น
หากพูดถึงธรรมชาติ เราอาจจะต้องย้อนไปดูสัตว์อื่นๆ ที่ไม่มี ‘สิ่งปรุงแต่ง’ แบบมนุษย์ เรื่องที่น่าแปลกใจคือการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันนั้นเป็นเรื่องที่พบได้เป็นปกติตามธรรมชาติของสัตว์ ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่คนเรานิยมเรียกว่า ‘สิ่งมีชีวิตชั้นสูง’ อย่าง สิงโต ยีราฟ สุนัข แกะ แมวน้ำ หมาป่า โลมา (ที่เรายอมรับว่าเป็นสัตว์ที่ไอคิวสูงมาก) จนถึงลิงตั้งแต่มีหางหรือไม่มีหางอย่างชิมแปนซี ญาติที่ใกล้ที่สุดของมนุษย์ ต่างมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ถึงอาจจะไม่ใช่ทุกตัว แต่เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป
คำถามที่ตามมาคือแล้วสัตว์พวกนี้จะมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันทำไมให้เสียเวลา มีอะไรกันแล้วก็ไม่มีลูกอยู่ดี จริงอยู่ที่ร่างกายของเพศเดียวกันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีลูกด้วยกัน แต่การมีเพศสัมพันธ์ในสิ่งมีชีวิตชั้นสูงนั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์คือแค่มีลูก แต่คือเป็นกิจกรรมที่มีความสุขกิจกรรมหนึ่ง บางครั้งสัตว์เลยเลือกจะ ‘มีความสุข’ กับสัตว์เพศเดียวกันแทน และสรีระของสัตว์ต่างก็รองรับการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันได้เป็นธรรมชาติ ตัวที่มีพฤติกรรมแบบนี้ไม่ถือว่าแปลกหรือไม่เป็นธรรมชาติ
อย่างไรก็ตามฟังแล้วอาจจะรู้สึกขัดๆ ที่ผมยกเรื่องของสัตว์เพื่อมาบอกว่าสิ่งไหนเป็นธรรมชาติ เพราะบางคนอาจมองว่า มนุษย์ก็ส่วนมนุษย์ เราไม่เหมือนสัตว์ แต่หากมองในแง่นั้นแล้ว ความพึงพอใจว่าจะรักเพศไหนก็ได้กลับยิ่งดูสมเหตุสมผลมากกว่าในมุมมองของสัตว์เสียอีก เพราะในยุคนี้น่าจะเหลือน้อยเต็มทนกับความคิดว่า ‘ทุกคนต้องมีลูก’ ใครอยากมีหากพร้อมมีก็มีเถิด แต่ไม่อยากหรือไม่พร้อมมีก็อย่ามีจะดีกว่า
มนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดมาเพื่อมีลูกเท่านั้น และผมเชื่อว่าแทบทุกคนคงเห็นด้วยว่า ‘มนุษย์ต้องการความรัก’ ดังนั้นมันก็น่าจะสมเหตุสมผลว่า คนที่ไม่อยากมีลูกก็ต้องการความรัก และหากรักไม่ได้เกี่ยวข้องว่าจะมีลูกหรือไม่ แล้วร่างกายจะเป็นเพศใดนั้นจะขัดขวางไม่ให้รักกันได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้น ‘รัก’ ของมนุษย์ไม่ได้จำกัดความสุขแค่จากเพศสัมพันธ์ บางคนมีเพศวิถีที่ไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ากับเพศใดๆ เลย แต่ก็ต้องการรักมนุษย์สักคน และนั่นก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก เอาจริงๆ หากเราพูดว่าเรื่องรักเท่ากับเพศสัมพันธ์กลับน่าจะฟังดูระคายหูคนส่วนใหญ่เสียมากกว่าจริงไหมครับ
มนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่เราให้ค่าสิ่งนามธรรมต่างๆ มากมายในรูปแบบของความสวยงาม ความดีงามต่างๆ และผมเชื่อว่ารักก็คือหนึ่งในสิ่งมีค่าที่มนุษย์ทั้งโลกเห็นว่าสำคัญและสวยงาม
ดังนั้นหากรักคือความรู้สึกผูกพัน รู้สึกดีต่อกัน อยากใกล้ชิด สนิทสนม หรือด้วยความรู้สึกอื่นๆ เรื่องนี้หากลองคิดดูแล้ว ร่างกายจะเป็นอย่างไร ถูกสร้างมาแบบไหนก็แทบจะไม่เกี่ยวกับประเด็นนี้เลย หากคนหนึ่งจะมีรักกับใครสักคนโดยที่เขาไม่ได้อยากมีลูกกับคนคนนั้น มันก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ
ถึงผมพยายามบอกว่า LGBTQ+ ไม่ใช่เรื่องผิดธรรมชาติ แต่ผมไม่ได้ต้องการสื่อว่า เพราะเรื่องนี้เป็นธรรมชาติเลยต้องถูกต้อง แต่ผมอยากจะสื่อว่าธรรมชาติไม่เกี่ยวอะไรกับความถูกต้องมากกว่า
เดวิด ฮูม (David Hume) นักปรัชญาชาวสก็อตมีแง่คิดเกี่ยววิทยาศาสตร์ในเรื่องความถูกต้องชั่วดีที่น่าสนใจ และเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับในแวดวงจริยธรรมทาง ผมเลยขอมาแบ่งปันไว้ในที่นี้ โดยวิทยาศาสตร์นั้นขีดเส้นแบ่ง ‘ศีลธรรม’ ว่าเป็นคนละมิติกับ ‘ธรรมชาติ’ เราใช้วิทยาศาสตร์ตัดสินความจริงของธรรมชาติได้ แต่ใช้ตัดสินความผิดชอบชั่วดีไม่ได้ และนั่นอาจจะเป็นคำตอบให้เราได้ ว่า ‘ธรรมชาติ’ ไม่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องของความถูกต้องหรือความเหมาะสมเรื่อง LGBTQ+ เลย ดังนั้นการจะบอกว่าร่างกายเป็นแบบไหนไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกว่าควรทำสิ่งต่าง ๆ (เช่น มีความรัก)
เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มี ‘อารยธรรม’ เราไม่ได้ทำทุกอย่างตามธรรมชาติหรือสัญชาตญาณแบบสัตว์ แต่มนุษย์สร้างสรรค์แนวคิดที่เรามองว่า ‘ถูกต้อง’ มากมายที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข หลายครั้งแนวคิดเหล่านี้ไม่ได้ตรงกับธรรมชาติเลยหากเรามองตามวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอดแล้ว พฤติกรรมอย่างการโกง การมีชู้ การเข่นฆ่า การใช้ความรุนแรง สิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติของมนุษย์เพื่อความอยู่รอดทั้งนั้น แต่พอสังคมเปลี่ยนไป เราไม่ต้องใช้สัญชาตญาณดิบเพื่อความอยู่รอด เรื่องที่ผมกล่าวมาด้านบนเลยไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ปัจจุบันยอมรับแล้ว เพราะมันขัดกับความสงบสุขของมนุษย์ และทำให้สังคมวุ่นวาย
หากเรานำมุมมองเดียวกันมาใช้กับเรื่องความรัก การมีรักเพื่อที่จะมีลูก คือธรรมชาติตามสัญชาตญาณ แต่การมีรักเพื่อมีความสุขหรือเพื่อคุณค่าอื่นๆ นั้นคืออารยธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นมาในภายหลัง ดังนั้นหากจะมอง ‘แง่มุมของรักในแบบมนุษย์’ เราแทบไม่ต้องมองเลยว่าร่างกายเราเป็นแบบไหน ดังนั้นเราไม่อาจจะใช้เพศสภาพทางร่างกายมาตัดสินมนุษย์ที่มีความรักได้เลยว่า รักกับเพศแบบไหนถึงจะถูกต้อง เพราะมันไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับความสงบสุขที่อารยธรรมของมนุษย์พัฒนาขึ้น
LGBTQ+ คือความผิดบาปหรือไม่
หากวิทยาศาสตร์ตัดสินใจความถูกผิดไม่ได้ หลายๆ คนน่าจะคิดว่า ถ้าเช่นนั้นความถูกผิดก็ควรยกเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาเท่านั้น หากมองในแง่นี้ก็อาจจะไม่ผิดเสียทีเดียวครับ เราเลยมาคุยกันต่อว่า LGBTQ+ คือความผิดบาปทางศาสนาหรือไม่
จริงๆ แล้วผมหนักใจที่จะคุยถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เพราะศาสนานั้นมีทั้งส่วนที่เป็นเหตุผลที่อธิบายได้ และส่วนที่เป็นศรัทธาที่เชื่อมั่นในความดีที่ยึดถือโดยไม่จำเป็นต้องอธิบาย ซึ่งประเด็นหลังนั้นต่างคนต่างมอง ต่างคนต่างเชื่อ การจะถกเถียงกันเรื่องศาสนาเลยมักทำให้ทะเลาะผิดใจกันเปล่าๆ แต่ในหลายๆ บ้านที่พ่อแม่มีความเคร่งหรือความศรัทธาในศาสนาอย่างแรงกล้า และในหลายๆ ครั้งก็มีการสอนกันมาว่า ‘LGBTQ+ คือความผิดบาป’ การมีลูกเป็น LGBTQ+ จึงเป็นสิ่งที่ทำใจได้ยากเหลือเกิน เหมือนตนเองบาปเสียเอง ผมเลยคิดว่าคงต้องมีสักครั้งที่เราต้องคุยกันถึงเรื่องนี้ และไม่ใช่ในแง่มุมเพื่อจะเถียงกันว่าใครมองถูก แต่ในแง่มุมที่ว่าเราจะประนีประนอมกันได้มากแค่ไหน
ศาสนาที่คนนิยมนับถือกันในโลกนี้เกิดขึ้นมาหลักพันๆ ปี ซึ่งนานมากจริงๆ ตัวเนื้อหาเรื่องศีล ข้อความ ความถูกต้องในคัมภีร์นั้นจึงมีต้นกำเนิดอันแสนยาวนาน สังคมในหลักสองพันปีก่อนนั้นแตกต่างจากสังคมปัจจุบันมากจริงๆ ครับ หากใครศึกษาศาสนาแล้ว น่าจะเป็นเรื่องที่พบตรงกันว่ารายละเอียดของศาสนานั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปทีละช้าๆ แต่ก็คงไม่ได้เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ การเปลี่ยนแปลงหลายๆ ครั้งก็เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในยุคนั้น ข้อห้ามบางอย่างที่เคยห้ามก็อาจจะไม่ห้ามแล้ว หรือบางสิ่งที่ไม่เคยห้ามก็ต้องกลับมาห้าม ไม่เพียงแค่นั้นการที่ศาสนามีคนนับถือเป็นจำนวนมาก บางครั้งเนื้อหาหรือคำสอนต่างๆ ที่มักจะมีการบันทึกหรือการส่งต่อด้วยภาษาโบราณ หรือเนื้อหาเองก็เขียนบางครั้งก็เข้าใจได้ยาก การตีความเนื้อหาในคัมภีร์หรือคำสอนจึงมีความแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มคนนับถือ บางครั้งความแตกต่างเริ่มกว้างขึ้นจนแยกเป็นนิกายต่างๆ เพราะตีความประเด็นสำคัญไม่ตรงกัน
ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะอยากบอกว่าศาสนานั้นมีทั้งการเปลี่ยนแปลง และมีทางมุมมองที่แตกต่างไป ไม่ใช่สิ่งที่คงที่ตายตัวถึงขนาดเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย จริงอยู่ว่าแก่นของแต่ละศาสนาไม่น่าจะเปลี่ยนไปตามเวลา แต่รายละเอียดอย่างเรื่องข้อห้ามในรูปแบบการใช้ชีวิต ผมขออนุญาตเสนอความคิดเห็นว่า การจะรักชอบคนเพศใดนั้น ไม่น่าจะอยู่ในส่วนแกนหลักที่ไม่เปลี่ยนแปลง และแน่นอนว่าย่อมมีผู้คิดเห็นแตกต่างกันไปในเรื่องนี้ไม่ว่าจะในศาสนาใดก็ตาม ถึงแม้ว่าศาสนาจะมีส่วนของศรัทธาแต่ผมเองและคิดว่าหลายๆ คนน่าจะเชื่อว่าศาสนามีเหตุผลเพื่อให้คนอยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุข ผมคงตอบไม่ได้ว่าทำไมบางศาสนาถึงมีข้อห้ามการเป็น LGBTQ+ แต่หากมองในบริบทของสังคมปัจจุบันแล้ว ผมอยากให้ลองคิดกันดูว่าการเป็น LGBTQ+ หรือเรื่องที่ว่าใครจะรักเพศไหน อยากเป็นเพศไหน หรือการยอมรับเรื่องนี้จะไปขัดขวางสันติสุขของสังคมมนุษย์อย่างไร เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย และไม่น่าขัดขวางแก่นสำคัญของคุณงามความดีของศาสนาที่ทุกแห่งมีร่วมกันคือการทำให้สังคมสงบสุข
หากท่านศึกษาประวัติศาสตร์ ท่านจะพบว่าในอดีตนั้นวัฒนธรรมทั้งตะวันออกหรือตะวันตกหลากหลายแห่งยอมรับตัวตนของ LGBTQ+ และแน่นอนว่าพวกเขาต่างก็มีศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ ที่เขามองว่ามันดีงามเช่นเดียวกันในวัฒนธรรมนั้นๆ เพียงแต่มีรายละเอียดแตกต่างจากศาสนาหลักๆ ที่ขยายอิทธิพลมีผู้นับถือจำนวนมากในปัจจุบัน และแน่นอนว่ากลุ่มชนเหล่านั้นไกลจากการที่จะเรียกว่า ‘ไร้อารยะ’ นอกจากนี้ท่านจะพบว่าในประวัติศาสตร์แล้ว การรังเกียจ การต่อต้าน LGBTQ+ นั้นมีประวัติศาสตร์อันสั้นเหลือเกินหากเทียบกับอารยธรรมของมนุษยชาติอันแสนยาวนานนับหมื่นปี ดังนั้นการที่จะบอกว่าเรื่อง LGBTQ+ เป็นเรื่องที่เด็กสมัยใหม่คิดกันไปเอง คนสมัยนี้ที่ไม่ค่อยเคร่งศาสนาเชื่อกันไปเอง คงไม่ใช่คำพูดที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินัก LGBTQ+ จึงไม่น่าจะถึงขนาดไร้จุดยืนในศาสนา และความดีงามทางจิตวิญญาณ และไม่น่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงหากท่านคิดว่า LGBTQ+ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้บ้างอย่างน้อยก็ในสักแง่มุม
ผมหวังว่าการได้นั่งคิดนั่งคุยกันในเรื่องนี้จะทำให้พ่อแม่หรือคนที่ยอมรับ LGBTQ+ ไม่ได้ ยอมรับเรื่องนี้ได้มากขึ้นไม่มากก็น้อย แต่ผมก็เข้าใจดีว่าเรื่องว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิดนั้น บางครั้งคุยกันเท่าไรก็ไม่มีทางเห็นตรงกัน บางครั้งก็ยากเหลือเกินจะโน้มน้าวใจได้ หากไม่ว่าอย่างไรก็มองให้เรื่องนี้ถูกต้องในสายตาท่านไม่ได้ ผมก็ขอโน้มน้าวในประเด็นสุดท้ายคือหากท่านไม่ยอมรับแล้ว ท่านทำอะไรได้บ้าง นอกจากทุกข์ใจที่บุตรหลานของท่านเป็นในสิ่งที่ท่านไม่ต้องการ และเขาก็ทุกข์ใจที่ท่านไม่ยอมรับเขา หากคิดจะให้เขาเปลี่ยนแปลงแล้ว มันเป็นไปได้หรือไม่ คำตอบอาจจะไม่ใช่ที่ท่านต้องการนักเพราะงานวิจัยส่วนใหญ่พบตรงกันคือ เพศวิถีเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ถึงแม้ตนเองจะต้องการเปลี่ยนแปลงก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนได้
ดังนั้นการที่พ่อแม่คาดหวังให้ลูกกลับมาเป็น ‘ชายจริงหญิงแท้’ นั้นอาจจะเป็นความคาดหวังที่ยากเกินไปที่คนหนึ่งอาจจะให้ได้ ผมคิดว่าการ ‘โอนอ่อนผ่อนตาม’ หรือพยายามรับสิ่งนั้นให้ได้มากที่สุดอาจเป็นคำตอบสำหรับท่านที่ยังรับเรื่องนี้ไม่ได้ หากถามว่าแล้วเหตุใดต้องรับสิ่งนี้ได้ คำตอบคือเพื่อความสุขของคนที่ท่านรักก็คือลูกๆ หลานๆ ของท่าน ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอ ไม่ต้องถึงกับมองว่าการเป็น LGBTQ+ นั้นเป็นสิ่งสวยงาม แต่ขอแค่ไม่รังเกียจ ไม่มองว่านั่นคืออุปสรรคที่จะเป็นครอบครัวเดียวกัน ในบางครั้งนั่นก็ถือว่าเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของการยอมรับแล้ว
ความเมตตา กรุณาของพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ต่อลูกหลานนั้นคือสิ่งที่ทุกๆ ศาสนาทุกสังคมให้คุณค่า แต่คงมีขอบเขตที่พ่อแม่จะทำอะไรให้ลูกได้บ้าง ในเมื่อทุกคนมีชีวิตเป็นของตัวเอง ทุกคนมีความสุขเป็นของตัวเอง
ดังนั้นจะบุญหรือบาปจะถูกหรือผิด ขอให้ลูกหลานตัดสินเลือกตามชีวิตที่เขาต้องการในเรื่องนี้เถอะครับ และหากเป็นไปได้ท่านก็เมตตายอมรับในตัวตนของเขาตามสมควรตราบใดที่เขาไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคม
เอกสารอ้างอิง
Arfeen, A. (2017). Same-sex love in Muslim cultures through the lens of Hindustani Cinema. CINEJ Cinema Journal, 6(1), 51-70.
Mock, S. E., & Eibach, R. P. (2012). Stability and change in sexual orientation identity over a 10-year period in adulthood. Archives of sexual behavior, 41(3), 641-648.
Robinson, D. (2008). Introducing Ethics: A Graphic Guide. London, Icon Books.
Rosario, M., Schrimshaw, E. W., Hunter, J., & Braun, L. (2006). Sexual identity development among lesbian, gay, and bisexual youths: Consistency and change over time. Journal of sex research, 43(1), 46-58.
Babayan, K. (2008). ‘In Spirit We Ate Each Other’s Sorrow’: Female Companionship in Seventeenth-Century Safavi Iran. Islamicate sexualities: Translations across temporal geographies of desire, 39, 239-274.
ดิแลน อีวานส์. (2559). จิตวิทยาวิวัฒนาการ (พงศ์มนัส บุศยประทีป, แปล). กรุงเทพฯ , มูลนิธิเด็ก.
https://en.wikipedia.org/wiki/Homosexual_behavior_in_animals
https://en.wikipedia.org/wiki/Sexual_minorities_in_Japan
https://eachother.org.uk/short-history-homophobia/
https://www.webmd.com/sex-relationships/guide/sexual-orientation