Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Myth/Life/Crisis
14 August 2020

คางุยะ เจ้าหญิงแห่งดวงจันทร์: ที่ทางของฉันบนโลกใบนี้

เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth Life Crisis ชิ้นนี้ ภัทรารัตน์ เขียนถึงนิทาน “คนตัดไผ่” หรืออีกชื่อว่า “เจ้าหญิงคางุยะ” เรื่องเล่าแบบชาวบ้านผสานกลิ่นอายวรรณกรรมราชสำนัก กับความรู้สึกต้องทำตามความต้องการของคนอื่น ซึ่งในที่นี้คือพ่อของเธอ แต่มันคัดง้างกับตัวตนจนแบกรับไม่ได้อีกต่อไป
  • “คางุยะอยากให้พ่อของตนมีความสุข แต่ยิ่งเธอพยายามทำสิ่งที่เขาต้องการมากขึ้นเพียงใด เธอก็ยิ่งมีความสุขน้อยลงเพียงนั้น ในบริบทหรูหราอย่างใหม่ที่ความปรารถนาของเธอไม่มีความหมาย รู้สึกมีที่ทางบนโลกใบนี้ลดลงเรื่อยๆ กระทั่งในที่สุดก็จำต้องลาจากโลกนี้ไป”
  • การเจียดเวลามาทำกิจกรรม หรือเชื่อมโยงกับสถานที่หรือวัตถุอันสอดคล้องกับเนื้อแท้ของเรา อาจช่วยเพิ่มความรู้สึกว่ามีที่ทางบนโลกใบนี้ได้

“การไม่ต้องรู้สึกรู้สาและไม่ให้โลกมาแตะต้องฉันนั้น ปลอดภัยกว่ามากเหลือเกิน… ฉันไม่รู้จะตื่นขึ้นมาทำไม ในเมื่อไม่มีอะไรให้ตั้งตารอคอย” – ซิลเวีย แพลธ (Sylvia Plath)

1.

คุณเคยไหม? ที่ต้องขวนขวายอย่างหนักเพื่อตอบสนองความต้องการของคนที่เรารักและก็รู้ด้วยว่าเขาต้องการอย่างนั้นเพราะหวังดีกับเรา แต่จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ลึกลงไปแล้ว การดิ้นรนดังกล่าวกลับกลายเป็นหินก้อนหนักกดทับใจ ตัดขาดเราจากคุณค่าแท้อันสุกสว่างและอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติของตน หนักหนาราวกับว่าแสงจันทร์ผ่องใสได้ถูกคุกคามจากกรอบเกณฑ์ประดิษฐ์ กระทั่งไม่อาจส่องประสานกับโลกมนุษย์ได้อีกต่อไป เฉกเช่นเรื่องราวของ “เจ้าหญิงคางุยะ” ตำนานเจ้าหญิงจากดวงจันทร์ ซึ่งเธอได้มาเกิดบนโลกมนุษย์เพื่อใช้ชีวิตที่แท้จริง แต่เมื่อรอบตัวไม่เหลือพื้นที่ให้เนื้อแท้และความปรารถนาของเธอ เธอจึงต้องลาจากโลกนี้ไป

นิทาน “คนตัดไผ่” ซึ่งอาจเป็นที่รู้จักในอีกชื่อว่า “เจ้าหญิงคางุยะ” เป็นเรื่องเล่าแบบชาวบ้านผสานกลิ่นอายวรรณกรรมราชสำนัก นิทานเรื่องนี้มีหลายเวอร์ชั่นแต่จะขออิงเนื้อเรื่องจากการดัดแปลงของค่าย Ghibli ดังนี้… 

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีสองตายายใช้ชีวิตอยู่อย่างสมถะในชนบท วันหนึ่งคุณตาไปตัดต้นไผ่ในป่า และได้พบเด็กหญิงตัวน้อยขนาดเล็กกว่าฝ่ามือจรัสเรืองแสงอยู่ในหน่อไผ่ คุณตาเก็บเด็กหญิงนั้นมาเลี้ยง เด็กหน่อไม้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเหนือมนุษย์ เธอมีชีวิตกับเพื่อนฝูงท่ามกลางธรรมชาติและมี ซูเตมารุ เด็กหนุ่มบ้านนาคอยดูแลอีกทาง เธอร้องเพลงถึงธรรมชาติที่ “สอนข้าว่าควรรู้สึกเช่นไร หากได้ยินเจ้าคร่ำครวญหา ข้าจะคืนสู่เจ้า” ทว่าจากนั้น เมื่อคุณตาเข้าไปตัดไผ่ในป่าเหมือนเช่นเคย และได้พบกับทองคำหลั่งล้นมาให้ ตามมาด้วยผืนพัสตราภรณ์สวยงาม คุณตาก็คิดว่าสวรรค์ต้องการให้เด็กหน่อไม้เป็นเจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์แน่นอน วันหนึ่ง หลังจากเด็กหน่อไม้เก็บของกินมาจากป่าได้และเตรียมทำอาหารแบ่งปันกับเพื่อนๆ ก็กลับพบว่าตนต้องละทิ้งป่าไปยังเมืองหลวง  

เธอตื่นขึ้น ณ คฤหาสน์ใหญ่โตในเมือง พร้อมกับมีนางในวังมาอบรมศิลปะวิทยาและกริยามารยาท ในงานฉลองที่เด็กหน่อไม้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ขุนนางท่านหนึ่งได้ตั้งชื่อให้เธอใหม่ว่า “เจ้าหญิงคางุยะ” แต่กระนั้นเธอกลับรู้สึกอึดอัดกับการที่ผู้คนใส่ใจเพียงเปลือกนอกของเธอด้วยท่าทีก้าวร้าว และจากนั้นก็คงเป็นความฝันที่นำพาให้เธอวิ่งกลับสู่ชนบทตามเส้นทางใต้ดวงจันทร์กลมโต เปลื้องเปลือกอาภรณ์แห่งเจ้าหญิงออกทีละชั้นตามทางทอดยาว จนเหลือเพียงผืนผ้าเรียบง่ายด้านในสุด นั่นต่างหากคือเนื้อแท้ภายในของเธอ

วันเวลาผ่านไป เสียงร่ำลือในความงามของเธอก็ทำให้ชายชนชั้นสูงแห่งตระกูลทั้งห้าปรารถนาครอบครอง พวกเขาต่างสรรเสริญความงามของเจ้าหญิงโดยเปรียบเปรยเป็นวัตถุสมบัติอันวิจิตรพิสดาร เจ้าหญิงไม่ได้อยากแต่งงาน จึงขอให้ชายเหล่านั้นไปหาสมบัติที่ไม่มีจริงมาให้เธอ

และแล้วบรรดาชายชนชั้นสูงก็กลับมาพร้อมกับสมบัติจอมปลอม ความพยายามที่ล้มเหลว และแม้กระทั่งความตาย เจ้าหญิงโกรธในความปลอมและรู้สึกผิด กระนั้นเรื่องราวของนางก็เล็ดรอดไปถึงองค์จักรพรรดิ ความสนใจในตัวนางของพระองค์ทำให้คุณตาล้นปรี่ด้วยความสุขอีกครั้งและหลงคิดว่านี่จะเป็นความสุขของคางุยะด้วย องค์พระจักรพรรดิลอบเข้าหาเธอ นี่เองที่ทำให้หัวใจเธอกรีดร้องขอให้พระจันทร์ช่วยโดยไม่รู้ตัว ในที่สุดเธอบอกพ่อแม่ว่าจะมีคนมารับเธอในอีกไม่ช้า

วันเพ็ญ เดือนสิงหาคม ขบวนพุทธะจากดวงจันทร์ลงมารับเธอ เธอได้บอกลาพ่อแม่เป็นครั้งสุดท้ายแล้วสวมเสื้อคลุมอันจะทำให้ลืมเลือนชีวิตบนโลก ระหว่างทางสู่ดวงจันทร์ เจ้าหญิงหันกลับไปมองโลกที่แสนห่างไกล เธอมีน้ำตาซึมออกมา อย่างไรเสีย ขบวนแห่แห่งความตื่นนั้นก็ค่อยๆ เคลื่อนจนลับตาไปในวงจันทร์

2.

คางุยะตระหนักว่าตนมายังโลกใบนี้เพื่อใช้ชีวิต “ที่แท้จริง” เฉกเช่นนกและสัตว์ต่างๆ หัวใจของเธอเต็มไปด้วยอิสรภาพแห่งความดิบเดียงสา ซึ่งเกี่ยวพันกับจิตวิญญาณแห่งผืนป่า โดยในเบื้องแรกที่คุณตาใช้ชีวิตอยู่กับคุณยายอย่างเชื่อมโยงกับผืนป่าทำกินนั้น ความสัมพันธ์ของคางุยะกับโลกใบนี้ก็ล้วนงอกงามและเบ่งบาน แต่มันกลับต้องมาขาดสะบั้นลงเมื่อคุณตาละเลยความปรารถนาที่แท้จริงของคางุยะไป เพราะถูกบดบังด้วยความทะยานอยากของเขาเองที่ปรารถนาให้ “เจ้าหญิง” คางุยะสมรสกับชายผู้มียศถาบรรดาศักดิ์เพื่อเลื่อนสถานะทางสังคมของตน ทว่ายิ่งพยายามเนรมิตประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ให้สูงศักดิ์มากขึ้นเพียงไหน เขาก็ยิ่งตัดขาดจาก เนื้อแท้ ของคางุยะซึ่งมีคุณค่าอันส่องสว่างมากขึ้นเพียงนั้น   

คางุยะอยากให้พ่อของตนมีความสุข แต่ยิ่งเธอพยายามทำสิ่งที่เขาต้องการมากขึ้นเพียงใด เธอก็ยิ่งมีความสุขน้อยลงเพียงนั้น ในบริบทหรูหราอย่างใหม่ที่ความปรารถนาของเธอไม่มีความหมาย เธอรู้สึกมีที่ทางบนโลกใบนี้ลดลงเรื่อยๆ กระทั่งในที่สุดก็จำต้องลาจากโลกนี้ไป

หากเปรียบกับชีวิตคนจริงๆ ความรู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ของฉัน (ไม่ belong) ฉันไม่ไหวแล้วจนต้องอธิษฐานให้ดวงจันทร์มาช่วย กระทั่งต้องกลับคืนสู่ดวงจันทร์ ก็อาจเป็นการปรารถนาในความตาย ซึ่งเป็นการเดินทางไปยังอีกโลกหนึ่งซึ่งไม่ใช่ที่นี่ ส่วนการที่คางุยะไม่สามารถอยู่บนโลกใบนี้ได้อีกแล้ว ก็เป็นดั่งการได้ตายสมใจ

มีผู้คนมากมายที่เป็นเหมือนกับคางุยะ เขาพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้คนที่แวดล้อมพอใจ หลายคนเลือกทำวิชาชีพที่พ่อแม่อยากให้ทำ ซึ่งอันที่จริงก็สมเหตุสมในการตอบโจทย์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความยอมรับนับถือจากสังคม กระนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งในชีวิต คนเหล่านั้นกลับรู้สึกว่าถ้อยคำที่คนอื่นสรรเสริญบทบาทอันสูงศักดิ์ของตัวนั้นไม่มีความหมายอีกแล้ว กลับกลายเป็นว่าสิ่งมีค่าภายนอกมากมายที่ครองอยู่ล้วนดูแปลกปลอมและไม่อาจตอบสนองความโหยหาก้นบึ้งแห่งใจได้ เฉกเช่นที่บรรดาชายผู้ทรงศักดิ์ไม่อาจหาสิ่งเลอค่าใดมาเติมเต็มความต้องการเบื้องลึกของคางุยะได้เลย 

คางุยะเจ็บปวดเพราะรู้สึกว่าทุกอย่างมัน “ปลอม” โดยเฉพาะตัวเธอที่ต้องปลอมขึ้นมาตอบสนองพ่อ

บรรดาคนที่ต้องตัดขาดกับตัวเองถึงจุดหนึ่ง ก็จะเริ่มไม่มีความสุขอย่างมากจนถึงขั้นไม่อยากอยู่บนโลกนี้แล้วและลงมือฆ่าตัวตายไปแล้วด้วย แต่ด้วยเหตุผลบางประการ พวกเขาส่วนหนึ่งฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ เมื่อกลับมาบอกเล่าเรื่องราวก็พบว่า มีใครอีกคนในตัว อันเป็น เนื้อแท้ ของฉันที่ยังดำรงอยู่ แต่ก่อนหน้านี้ฉันไม่อนุญาตให้ออกมาใช้ชีวิตเพราะไม่อยากให้คนอื่นผิดหวัง 

เช่น เนื้อแท้ของฉันเป็นศิลปินผู้หยั่งรู้ความรุ่มรวยของโลกในนี้ ฉันถ่ายทอดความรับรู้อันซับซ้อนเช่นนั้นออกมาในบทเพลงและงานเขียนได้ดียิ่ง ในอดีตฉันไม่อยากให้พ่อแม่ไม่สบายใจ จึงเลือกทำอาชีพที่น่าจะมั่นคงกว่าการเป็นศิลปินแบบนั้น แต่วันนี้ฉันมั่งคงทางเศรษฐกิจแล้ว แถมยังปลูกผักกินเองได้ตั้งหลายชนิด ฉันอนุญาตให้ตัวตนที่เป็นศิลปินออกมาโลดแล่นได้เต็มที่แล้วนะ ไม่รอให้คนอื่นอนุญาตแล้ว แค่คิดถึงศิลปินภายในที่กำลังจะได้ออกมาแสดงความสามารถ ฉันก็มีพลังขึ้นมาอย่างท่วมท้นทันที ไม่รู้สึกว่าต้องนอนเฉยๆ โหยหาความตายอีก ฉันพร้อมคืนชีพอย่างเต็มเปี่ยมที่สุดเลย

การได้กลับไป เชื่อมโยงกับเนื้อแท้ของตัวเอง เป็นอีกหนึ่ง ขุมพลังชีวิต จริงๆ

ที่น่าสนใจคือสิ่งที่ผู้คนบอกว่าเป็น เนื้อแท้ ของเขานั้นมักมีลักษณะบริสุทธิ์(ไม่ปรุงแต่งเพื่อตอบสนองคนอื่น)และทำให้รู้สงบร่มเย็นราวกับแสงจันทร์ อีกทั้งเป็นแหล่งพลังงานที่มีความอุดมสมบูรณ์เฉกเช่นผืนป่า จึงไม่น่าเป็นเรื่องบังเอิญที่เทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งเทพแห่งการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในสมัยโบราณมากมายก็เป็นเทพแห่งดวงจันทร์ด้วย โดยเราหาตัวอย่างได้ในตำนานเทพอียิปต์ กรีก อิหร่าน และอินเดีย ฯลฯ คติของมนุษย์เชื่อมโยงพระจันทร์เข้ากับความสมบูรณ์แห่งพฤกษาอันเกื้อกูลชีวิตบนโลก และพร้อมกันนั้นเองก็เชื่อมพระจันทร์เข้ากับความศักดิ์สิทธิ์ ความเป็นอมตะนิรันดร์ และความบริสุทธิ์ยิ่งกว่าชีวิตบนโลก (อ้างอิง Moon and Its Mystique ของ Mircea Eliade)

3.

แต่เราที่เหลือ ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงจุดที่รู้สึกไม่อยากมีชีวิตก่อนหรือไม่ต้องรอให้ลูกของเราพยายามฆ่าตัวตายก่อน จึงค่อยอนุญาตให้ตัวเองหรือคนในครอบครัวได้กลับมาเชื่อมโยงกับ เนื้อแท้ อันผ่องแผ้วราวกับแสงจันทร์ ลองดูคุณตาในเรื่องเป็นตัวอย่าง เขา “รู้สึกตัว” คร่ำครวญหวนนึกถึงความสุขล้นอันเรียบง่ายตอนที่ตนได้พบและเลี้ยงดูเด็กหญิงจากปล้องไผ่ เขาเพิ่งเลิกหมกมุ่นกับความคาดหวังของตัวเองและสนใจเนื้อแท้ของลูก ก็เมื่อตอนที่รู้ว่าลูกคางุยะกำลังจะจากไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทุกคนยังต้องสัมพันธ์กับคนอื่นและบริบทซึ่งอาจเกื้อหนุนหรือไม่เกื้อหนุนเนื้อแท้ของเรา ในที่นี้จึงขอเน้นที่ความสัมพันธ์กับตัวเอง กล่าวคือ เราสามารถกลับมาสัมพันธ์กับเนื้อแท้ของตัวเองผ่านสิ่งต่างๆ ได้ เช่น

  1. เจียดเวลามาทำ กิจกรรม ที่สอดคล้องกับเนื้อแท้ของเรา เช่น สมมุติว่าเรามีวิชาชีพแพทย์หรือทนายความ หรืออาจทำงานธนาคารอยู่ แต่มันดันไม่สอดคล้องกับเนื้อในที่เป็นศิลปินของเรา เราก็อาจเจียดเวลาสักกี่ชั่วโมงต่ออาทิตย์ก็แล้วแต่ มาทำสิ่งที่ทำให้ตัวตนนั้นภายในเรามีความสุข เช่น วาดรูป ร้องเพลงเล่นดนตรี หรือแต่งนิยาย
  2. สิ่งที่สอดคล้องกับเนื้อแท้ของเราอาจเป็นเพียง สถานที่หรือวัตถุ บางอย่างก็ได้ เช่น หนุ่มอารมณ์อ่อนไหวคนหนึ่ง ก่อนกลับบ้านอันเต็มไปด้วยเสียงวิจารณ์และความคาดหวังต่อตัวเขา การได้ไปแวะจอดรถมองภูเขาเคล้าหมอกหรือธารน้ำ ก็ทำให้รู้สึกเชื่อมโยงกับเนื้อแท้ของตัวเขาเองที่ชอบความสงบแล้ว หรือใครอีกคนหนึ่งมีดินสอสีที่เป็นด้ามโปรดในวัยเด็ก เขาในวัยผู้ใหญ่ซึ่งมักตกร่องความเหี่ยวเฉา ไม่ได้ใช้ดินสอสีนั้นนานจนลืมไปแล้ว แต่พอพูดคุยกับคนอื่นก็นึกขึ้นได้ว่าเขามีดินสอสีด้ามนั้นอยู่ ซึ่งเชื่อมโยงกับความทรงจำในตอนเด็กที่เขารู้สึกว่าพ่อแม่ชอบเขาอย่างที่เขาเป็นจริงๆ เมื่อจงใจกลับมาใช้ดินสอสีด้ามนี้อีก เขาพบว่าห้วงขณะที่จับดินสอสีอยู่ช่างทำให้เขามีพลังชีวิตขึ้นมา เขาจึงกำหนดเวลาลงในปฏิทิน Google ให้ตัวเองได้ใช้ดินสอสีด้ามนี้ขีดเขียนอีกบ่อยๆ

กิจกรรม หรือ สถานที่หรือวัตถุ อันเป็นพื้นที่ให้เนื้อแท้เราได้ออกมาเริงร่าแม้ท่ามกลางบริบทที่ไม่เกื้อหนุน ก็เป็นเสมือนพื้นที่เล็กๆ ในคฤหาสน์ซึ่งยังมีกลิ่นอายชนบทคลับคล้ายบ้านในวัยเด็กของคางุยะ ณ ที่นั่น คุณยายผู้เป็นมารดาของคางุยะบนโลกมนุษย์มักปรากฏอยู่กับเธอเสมอ เปิดใจให้เธอคลี่เผยธรรมชาติที่แท้อย่างเป็นอิสระ พ้องกับสัญลักษณ์ของความเป็นไทอีกมากที่สอดแทรกอยู่ในเรื่อง เช่น คางุยะนำหินที่ทับชีวิตบรรดาสัตว์น้อยๆ ออกไปจนมันเผยความเคลื่อนไหวแห่งชีวิตให้เห็นอีกครา หรือเหตุการณ์ที่คางุยะปล่อยแมลงออกไปจากฝ่ามือ  

เมื่อเราได้ เชื่อมโยงกับเนื้อแท้ของตนเอง แล้ว เราก็น่าจะได้พลังชีวิตมาหล่อเลี้ยงมาขึ้น ทำให้เพิ่มแนวโน้มในการสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและมิตรสหายอย่างผ่อนคลายและยั่งยืนมากขึ้นเช่นกัน เราจึงเสี่ยงน้อยลงที่จะเป็นเหมือนคางุยะ ที่สุดท้ายก็ต้องจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร

         เพราะจันทร์ ก็คือจันทร์ แม้แดนฝัน จักเปลี่ยนไป… เนื้อแท้ช่างสดใส อุมดมไว้ด้วยพลัง

อ้างอิง
Connecting Childhood and Old Age in Popular Media โดย Vanessa Joosen เป็นบรรณาธิการ
บทความ Moon and Its Mystique โดย Mircea Eliade
ภาพยนตร์อนิเมะ The Tale of the Princess Kaguya หรือ かぐや姫の物語 (2013) ซึ่งมีพื้นจาก The Tale of the Bamboo Cutter กำกับโดย Isao Takahata ค่าย Studio Ghibli (สามารถดูผ่านทาง Netflix ด้วย)

Tags:

การเติบโตภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนาMyth Life Crisisชีวิตการทำงานspiritual

Author:

illustrator

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา

ชอบอยู่กับต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ผืนน้ำ เที่ยวไปในโบราณสถาน และเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในเงามืด เราเองยังต้องเรียนรู้และขัดเกลาอะไรอีกมาก รู้สึกขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้ฟังเรื่องราวของทุกคนนะ (Line ID: patrasuwan)

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • Myth/Life/Crisis
    Burn out (2) ชวนนักรบที่ไม่ยอมพัก ดู 4 ข้อเสนอและคำถามทบทวนตัวเอง โหมงานจนป่วยไข้แปลว่ามีคุณค่าและจริงหรือ?

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    ชอบวางแผนชี้ขาดหรือยืดหยุ่น สไตล์ไหนที่ใช่คุณมากกว่า?

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    ผ่านไซเรนในน่านน้ำ: เสียงวิจารณ์ภายในที่ต้อนเราให้อยู่ในวิธีคิดเดิมๆ

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Life classroom
    Perfume น้ำหอมมนุษย์: ความสัมพันธ์กับตัวเองและผู้อื่น ที่เรียนรู้มาจากผู้เลี้ยงดู

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Everyone can be an Educator
    มุมมองใหม่ในการรู้จักตัวเอง ผ่านการดูไพ่ทาโรต์

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel