- เขียนถึง โจน จันใด ผู้สร้างพื้นที่เรียนรู้และศูนย์เมล็ดพันธุ์ ‘สวนพันพรรณ’ อ. แม่แตง จ.เชียงใหม่ และผู้บุกเบิกการทำบ้านดินในไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน กับคำพูดของเขาในงาน Sacred Mountain เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่องการมีอิสระในตน การมีชีวิตที่ดี และ จงเปลี่ยนโลกให้เป็นสนามเด็กเล่น
นับตั้งแต่เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกการรื้อฟื้นทำบ้านดินอย่างง่ายๆ ในประเทศไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน โจน จันใด ก็ได้รับการจดจำในฐานะของผู้ใช้ชีวิตง่ายๆ และมีปัญหาให้กับทุกทางออก ด้วยคำพูดติดปากเสมอว่า “ชีวิตมันง่าย ถ้าอะไรที่มันยากแปลว่ามันผิด”
เขาเริ่มต้นแบ่งปันความรู้เรื่องการทำบ้านดินเป็นอย่างแรก เพราะ ‘บ้าน’ เป็นปัจจัยสี่ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าพึ่งตนเองยากที่สุด แต่เมื่อพิสูจน์ให้เห็นจริงแล้วว่า ‘ไม่มีอะไรยากเกินความสามารถที่มนุษย์ทำได้’ เรื่องอื่นในชีวิตจึงไม่ใช่สิ่งเหลือบ่ากว่าแรงอีกต่อไป ในท่ามกลางความปั่นป่วนของโลก ของสังคม ความปั่นป่วนในใจทั้งจากภาวะโรคระบาด อากาศเป็นพิษ ฯลฯ ฉันหวนคิดถึงคำพูดของชายคนนี้ที่ได้แบ่งปันไว้ในงาน Sacred Mountain ที่เชียงดาวเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อมีความทุกข์
โจน จันใด เป็นชาวยโสธร เขาเคยพยายามใช้ชีวิตแบบที่สังคมบอกว่าดี บอกว่าถูกต้อง ด้วยการหางาน สะสมเงินมาก่อน แต่ชีวิตการดิ้นรนแบบนั้นไม่เคยทำให้เข้าใกล้ความสุขเลยสักนิด เขาตั้งคำถามและเลือกทางชีวิตใหม่ ทำในสิ่งใหม่ที่จำเป็นต้องทำ ทั้งบ้าน ทั้งแหล่งอาหารของตัวเอง และพบว่าชีวิตมีสุขได้ง่ายดายทันทีโดยไม่จำเป็นต้องสะสมความร่ำรวยอย่างที่สังคมบอกต่อกันมาแต่อย่างใด
“มนุษย์เราทุกวันนี้ถูกบอกให้ประสบความสำเร็จ ใช้ชีวิตให้จริงจังไป เราหาเงินไปซื้อของที่อยากได้ แต่ก็ยังมีชีวิตที่ลืมการเล่น เราลืมความสนุก ลืมการได้หัวเราะอย่างเปิดเผยมานานแค่ไหนแล้ว บางทีอาจจะถึงเวลาที่เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่า เราทำอะไรมากมายแบบนั้นไปทำไม”
ในความเห็นของเขา มนุษย์เกิดมาเพื่อมีเจตจำนงเสรี (free will) สามารถเลือกคิด ตัดสินใจ และใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการได้ เวลาได้ครุ่นคิดกับตัวเอง ช้า เงียบ อยู่กับธรรมชาติทั้งภายนอกและภายในตน แต่เมื่อสังคมหล่อหลอมให้มนุษย์ทำงาน หาเงิน เราได้สูญเสียอิสรภาพในชีวิตนี้ไปหมดสิ้น
“เราไม่ชื่นชมอะไรอีกแล้วในชีวิต เราทำงานทั้งวันทั้งคืน ลืมการหัวเราะ รีบกิน เพื่อที่จะกลับไปทำงาน แม้แต่อาหารเราก็กินแค่อาหารรสชาติเดียว อาหารสำเร็จรูปที่เต็มไปด้วยผงชูรส สูญเสียโอกาสในการชื่นชมความหลากหลาย ที่สำคัญกว่านั้นคือ เราไม่กล้าแตกต่าง ไม่กล้าเป็นตัวเอง ได้แต่ทำตามกันอย่างที่สังคมเขาบอกให้เราเป็น ”
(ลอง) เล่นกับชีวิต
การใช้ชีวิตตามกรอบที่สังคมกำหนดไว้คือกำแพงมองไม่เห็นขนาดใหญ่ที่เราขังตัวเองไว้ในนั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะต้องท้าทายกรอบ แต่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ “เราควรเรียนรู้การมีชีวิตจากเด็ก เด็กเล่นสนุก ใช้จินตนาการ สร้างสรรค์และกล้าคิดต่าง เราต้องลองเป็นเด็กในความหมายแบบนี้บ้าง”
โจน จันใด สร้างพื้นที่เรียนรู้และอยู่ร่วมกันชื่อสวนพันพรรณ ที่อำเภอแม่แตง จ.เชียงใหม่ เน้นการเรียนรู้เรื่องการพึ่งตนเองทุกมิติ และมีร้านอาหารมังสวิรัติชื่อเดียวกันในตัวเมืองเชียงใหม่ เขาลองท้าทายตัวเองและกลุ่มด้วยโจทย์ใหญ่ “เป็นไปได้ไหมที่ทุกคนจะอยู่ในสวนโดยไม่มีผู้นำ ไม่ต้องมีกฎระเบียบ มีร้านอาหารที่ไม่ต้องไปจัดการเลย การบริหารเรื่องเมนูหรือวันหยุด ให้สิทธิคนทำงานบริหารงานได้เต็มที่”
ผลปรากฏว่าทั้งในสวนและร้านอาหารไม่มีปัญหาอะไรเลย “สุขและสันติในใจ” คือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ เมื่อต้องการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เราจะพยายามหาหนทางสร้างความสัมพันธ์อย่างเคารพตัวเองและเคารพผู้อื่นไปเองได้ในที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎกติกาเลย แต่สำหรับฉันมองว่า พื้นฐานที่ช่วยให้ลุล่วงได้อย่างดีคือการที่คนทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเองเป็นสำคัญ
“การมีอิสระในตนจึงเป็นเรื่องเริ่มต้นที่สำคัญ โลกนี้มีทางออกเสมอแต่อยู่ที่ว่าเราจะกล้าลองไหมมากกว่า ถ้าเราตั้งคำถาม กล้าท้าทายที่จะเปลี่ยน จะทดลอง ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น มองชีวิตเราว่าสนุกได้ ลองได้ แล้วเราจะกล้าทำมากขึ้น การทำอะไรแผลงๆ หลายครั้งทำให้เราได้เห็นต่างจากคนอื่น เกิดทางเลือกใหม่ หลายครั้งเกิดการพัฒนา กลายเป็นนวัตกรรม มันจะดีแค่ไหนที่เราได้ใช้ชีวิตอย่างสำราญ ในขณะที่คนส่วนใหญ่อาจตายไปโดยไม่ได้รื่นรมย์กับชีวิตเลยแม้แต่น้อย
“จงเปลี่ยนโลกให้เป็นสนามเด็กเล่น ถ้าเราเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราต้องการรู้ เราจะได้ประสบการณ์จริงที่มีค่ามา มนุษย์เราไม่สามารถเรียนรู้ได้จากการสอน(ความจำ) แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นได้จากการลงมือทำ (ความเข้าใจ)”
สร้างใหม่ง่ายกว่าซ่อมแซม
ข้อสังเกตประการหนึ่งของฉันคือ คนสมัยใหม่ถูกสอนให้คิดมาก (ใช้ฐานคิด) บางครั้งวนเวียนในความคิดของตัวเองไปมาและแก้ปัญหาไม่ได้ แต่โจน จันใด ชวนให้เราละทิ้งการคิดนั้นมาสู่การกระโจนลงไปกับการลงมือทำ (ฐานกาย) ด้วยการ “ทำทันที”
“ผมมีความเชื่อว่า สร้างใหม่ง่ายกว่าซ่อมแซม สร้างบ้านใหม่ง่ายกว่าซ่อมบ้านที่กำลังจะพัง เรื่องไหนยากที่สุดในชีวิตสำหรับเรา นั่นแหละ เล่นเรื่องนั้นก่อนเลย ถ้าคุณทำเรื่องยากได้ เรื่องอื่นที่เหลือก็ง่ายหมด จริงไหม?”
การลงมือทำสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงโดยไม่ผ่านความคิด ไม่กลัว ไม่กังวล แค่ทำ ผลของการทำคือการที่มนุษย์ได้กลับมารู้สึกถึง “การมีอำนาจในการเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองด้วยตัวเอง” อีกครั้ง สิ่งนี้คือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเมื่อมนุษย์มั่นคง มีพลัง และตระหนักถึงอำนาจภายในที่ตัวเองมี เราจะทำทุกอย่างได้ในตลอดช่วงชีวิต
“การได้ทำสิ่งที่สำคัญ สิ่งที่เราชอบมันทำให้เราตั้งมั่น ยิ่งทำยิ่งเรียนรู้ ยิ่งมีพลัง เห็นว่าตัวเองก้าวหน้าได้ ก้าวกระโดดได้ ทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วเรามีอำนาจในตัวเอง แต่ความเด็ดเดี่ยวในการเผชิญความกลัวในใจสำคัญที่สุด เหมือนเราจะอาบน้ำในหน้าหนาวนี่แหละ ขันแรกยากที่สุด แต่ถ้าเรากล้าลอง กล้าเผชิญหน้า เราจะพบว่าหลายอย่างที่เรากลัว ความกลัวแบบนั้นไม่มีอยู่จริง เพราะความกลัวเป็นแค่ความไม่เข้าใจ แต่เมื่อเราทำ เราเผชิญหน้า เราจะยิ่งเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ”
ในสถานการณ์ของโรคระบาดรุนแรง ผู้คนต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการเริ่มต้นใหม่สำหรับทุกๆ คน
“เงินเป็นสิ่งจำเป็นแต่ไม่ใช่ความมั่นคง ความมั่นคงจริงๆ อยู่ในธรรมชาติ ในดินในน้ำ สิ่งที่ผมลงทุนคือการสร้างทรัพยากร ปลูกต้นไม้ มีแหล่งเก็บน้ำ ทำให้ดินดีขึ้น คนเราไม่มีทางยอมให้ตัวเองอดตายหรอก เราก็จะหาวิธีอยู่รอดให้ได้ ทำภูมิสังคมของเราให้ดี ให้เรามีวิถีชีวิตที่ดีได้ สำหรับผมธรรมชาติที่สร้างขึ้นเป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งเกษตร และเป็นแหล่งการศึกษาตลอดชีวิต มีความหลากหลาย และความหลากหลายนี่แหละที่เป็นความมั่งคงและยั่งยืนอย่างแท้จริง”
สู่การมีชีวิตที่ดี
เป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์คือการมีอิสรภาพและความรักในใจ ชีวิตที่ส่งเสริมและหล่อหลอมเราไปในทางนั้น จึงเป็นชีวิตที่แท้
“เราดูแลเด็กๆ ในพันพรรณให้เขาเห็นคุณค่าของความดี ความงาม ความจริง ซึ่งเป็นความสุขตามธรรมชาติ ความสุขที่ได้ชื่นชมความงามรอบตัว เพลิดเพลินกับสิ่งที่ตัวเองชอบและทำได้เก่งขึ้นเรื่อยๆ เราทุกคนสามารถออกแบบชีวิตให้เกิดการเรียนรู้และเข้าถึงความสุขได้ด้วยอิสรภาพและความรักได้ หากเราคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้เป็นสำคัญ วินัยจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เอง สุดท้ายแล้วคำว่าวินัยก็คือการเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ รู้ว่าเราทำไปทำไม ทำอย่างมีเป้าหมาย การที่เด็กได้เล่นในสิ่งที่ชอบ(อิสรภาพ)ทำให้เขาเรียนรู้ เมื่อเรียนรู้ก็เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและพัฒนาอย่างก้าวกระโดดได้ด้วยตัวเอง
“ความงามในชีวิตสำหรับผมคือการเห็นคุณค่าความงามที่ไกลออกไป ผมใช้เสื้อผ้าเก่าๆ แต่มันคือความงามในความหมายว่าการใช้ให้คุ้มค่า การมีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนขึ้น มีป่าสวยขึ้น มีน้ำสะอาดขึ้น ผมทำบ้านดินเองเพราะมันสร้างขยะน้อยสุด ไม่เป็นภาระคนอื่น พึ่งตัวเองได้ บ้านไม่ใช่เครื่องประดับ แต่บ้านควรจะเป็นพื้นที่สำหรับชีวิตและเพิ่มเสียงหัวเราะให้เราได้
“อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นว่า เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีศักยภาพ เราทำทุกอย่างที่เราต้องการได้ทุกอย่าง ขอแค่ไม่กลัว ทุกวันนี้ ผมไม่วิ่งหาความสุข ไม่วิ่งหนีความทุกข์ แค่ทำความเข้าใจชีวิต ทดลองค้นคว้าเพลิดเพลินไปกับมันทุกๆวัน เมื่อเรามีชีวิตที่ง่ายขึ้น เบาขึ้น กลัวน้อยลง และขอบคุณในชีวิตได้มากขึ้น นั่นแหละที่เราได้เข้าถึง “ชีวิตที่ดี” เรียบร้อยแล้ว”
ในความปั่นป่วนโกลาหลที่เกิดขึ้นนี้ อาจเป็นโอกาสดีที่ทำให้เราทุกคนได้กลับเข้ามาเดินทางข้างใน กลับมาเข้าใจความจำเป็นของชีวิต กินได้-อยู่ได้ ในฐานของการลงมือทำพึ่งตนเอง กลับมาภูมิใจในตัวเองและตระหนักรู้อย่างแท้จริงว่า เราล้วนต่างมีอำนาจในตนอย่างล้นพ้นที่สุดแล้ว