- การมูฟออนจากคนรักเก่า เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะมันไม่ใช่แค่การเลิกแยกทางกันของคนสองคน แต่คือการบอกเลิก กิจวัตรนิสัยความเคยชินเก่าๆ (Old habits) บางอย่างที่เคยทำด้วยกันประจำไปในตัว
- การที่เราตั้งใจที่จะไม่ไปนึกถึง สมองกลับส่งผลลัพธ์ตรงกันข้าม สมองยิ่งจดจำได้แม่นยำชัดเจนขึ้นกว่าเดิมไปอีก ซึ่งสิ่งนี้ทำงานนอกจิตสำนึกและยากที่จะควบคุม
- การมูฟออน ไม่ได้หมายความว่าเราต้องลืมคนรักเก่า เราเดินหน้าต่อไปโดยหันมามองหลังเป็นครั้งคราวได้ ชีวิตดำเนินต่อไปกับคนใหม่ได้โดยไม่ต้องลบทิ้งข้อมูลคนเก่าออกไปในพื้นที่เก็บข้อมูลของสมอง
ความรักเป็นสวยงาม แต่ไม่ใช่ทุกความสัมพันธ์ที่จะอยู่ด้วยกันตลอดไป เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งไม่มีใครรู้ ความสัมพันธ์นั้นอาจเดินทางมาถึงจุดจบ นั่นคือ ‘การลาจาก’
เมื่อเลิกรากันไปแล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือการ ‘มูฟออน’ ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับมุมมองสายตาคนนอก คำตอบอย่าง “ก็แค่หาคนใหม่สิ” เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยากสำหรับคนในที่พบเจอเหตุการณ์กับตัว
เลิกกันไปแล้ว แต่ยังคิดถึงอยู่ทุกวี่ทุกวัน เลิกไปแล้วแต่ใจยังโหยหาและหวนคิดถึงความทรงจำเก่าๆ ที่มีร่วมกัน ภาวะอารมณ์มักรุนแรงเป็นพิเศษโดยเฉพาะกับคู่ที่ ‘เพิ่งเลิกกันใหม่ๆ’
เพราะมนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอารมณ์ความรู้สึก เราไม่สามารถกดปิดสวิตช์นี้ เพื่อไปเปิดสวิตช์ใหม่ได้แบบทันที ตามตรรกะเหตุผลเรา “รู้แหล่ะว่าต้องทำอะไร” เพียงแต่ก็ยังต้องการเวลาประมาณหนึ่งเพื่อเปลี่ยนผ่านเหตุการณ์รุนแรงบางอย่าง
แล้วทำไมการมูฟออนจากคนรักเก่า…ถึงเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก? หลายคนใช้เวลาเนิ่นนานกว่าจะทำได้ และบางคนไม่ประสบความสำเร็จในการผ่านพ้นมันไป?
บอกลาคนรักเก่า บอกลานิสัยที่เคยชิน
สิ่งแรกที่หลายคนอาจมองข้ามไปคือ การเลิกกับคนรักเก่า มันไม่ใช่แค่การเลิกแยกทางกันของคนสองคน คือการบอกเลิก กิจวัตรนิสัยความเคยชินเก่าๆ (Old habits) บางอย่างที่เคยทำด้วยกันประจำไปในตัวด้วย
- วันนั้นไม่มีอีกแล้ว วันนั้นได้จากไปแล้ว ว้าาา เสียดายแย่จัง ไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งนั้นด้วยกันอีกแล้ว
จริงอยู่ ความรักความผูกพันที่เคยมีให้กันยังคงทิ้งอาฟเตอร์ช็อกทางความรู้สึกไว้อยู่แม้จะเลิกลากันไปแล้ว โดยมีแนวโน้มถี่เป็นพิเศษหากความสัมพันธ์คบกันมาเนิ่นนาน แต่สิ่งที่หลายคนทำใจยากไม่แพ้กันคือ การหักดิบนิสัยความเคยชินที่คู่ของเราเคยทำเป็นประจำ
หนึ่งในทางออกที่ป้องกันได้แต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้ภาวะอารมณ์นี้รุนแรงเกินไป คือเมื่อรู้ว่าความสัมพันธ์มีแนวโน้มเดินทางมาถึงจุดสิ้นสบ เราอาจค่อยๆ ปรับเปลี่ยนนิสัยเดิมๆ ที่ทำด้วยกัน ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เตรียมตัวเตรียมใจสู่วันสุดท้ายของทั้งคู่
อย่างไรก็ตาม เมื่อนิสัยพฤติกรรมเก่าถูกหักดิบทิ้งไปแล้ว การค้นหาและสร้าง พฤติกรรมนิสัยความเคยชินใหม่ๆ (New habits) มาแทนที่ของเดิมก็ช่วยได้มาก โดยทั่วไปแล้ว เมื่อทำอะไรซ้ำๆ ติดต่อกัน 21 วัน สิ่งนั้นมักจะกลายเป็นกิจวัตรนิสัยใหม่ของเราได้ไม่ยาก
อย่างเช่น ถ้าปกติ 3 ทุ่มเป็นเวลาคุยกับแฟนเก่าทุกคืน ก็ลองเปลี่ยนเป็นคุยกับเพื่อนเพื่อปรึกษาระบายความรู้สึกต่างๆ หรือ หาหนังสือดีๆ อ่านสักเล่มก็น่าจะพอช่วยให้ผ่านพ้นเวลานี้ไปได้ ทั้งนี้ อย่าลืมว่ากิจวัตรด้านสุขภาพร่างกาย เช่น ตื่นมาวิ่งจ๊อกกิ้งทุกเช้า ก็เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเวลาออกกำลังกายเหนื่อยๆ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนินที่ทำให้เรามี ‘ความสุข’ แบบสุขลึกๆ ในใจ ก็น่าจะพอช่วยให้เรามูฟออนไปอีกก้าวเล็กๆ ได้บ้างก็ยังดี
ทำไมยิ่งอยากลืม ยิ่งจำได้แม่นกว่าเดิม?
นักจิตวิทยาสังคม แดเนียล เวกเนอร์ (Daniel Wegner) ได้ทำการทดลองในห้องแล็บเมื่อปี 1987 และได้สรุปออกมาเป็น ทฤษฎีกระบวนการแดกดัน (Ironic Process Theory) ชื่อนี้ฟังดูเข้าใจยากมาก แต่มีคำอธิบายที่เข้าใจง่ายและเราอาจจะเคยสัมผัสมันมาบ้างแล้วจากประสบการณ์ส่วนตัว
ทฤษฎีนี้บอกว่า การที่เราตั้งใจที่จะไม่ไปนึกถึง กดทับความคิดบางอย่าง หรือไปมีอารมณ์รู้สึกร่วมกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (หรือกรณีบทความนี้คือการที่เรา ‘ตั้งใจลืม’ คนรักเก่า) สมองกลับส่งผลลัพธ์ตรงกันข้าม สมองยิ่งจดจำได้แม่นยำชัดเจนขึ้นกว่าเดิมไปอีก! คุณอาจพบว่าความทรงจำเก่าๆ ของเราสองที่มีต่อกันกลับยิ่งพรั่งพรูออกมาแบบไม่ทันรู้ตัว
เรื่องนี้ทำงานนอกจิตสำนึกและยากที่จะควบคุม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า การที่เราพยายามควบคุมสมองให้ ‘ลืมแฟนเก่า’ เราได้นึกถึง ‘แฟนเก่า’ คนนั้นไปแล้วในตัว!
เศษเสี้ยววินาทีนั้น สมองได้ปลุกรื้อฟื้นความทรงจำที่มีต่อ ‘แฟนเก่า’ คนนั้นไปเรียบร้อยแล้ว
- ยิ่งอยากลืม…ยิ่งจำได้ฝังหัวไม่รู้ลืม
- ยิ่งอยากสลัดความคิด…ยิ่งคิดวนเวียนในหัวไม่รู้จบ
นอกจากจะทำให้คนที่เพิ่งเลิกกับคนรักเก่ามูฟออนไม่ได้แล้ว ยังอาจเกิดภาวะซึมเศร้า หม่นหมอง หมกหมุ่นกับเรื่องเก่าๆ จนไม่เป็นอันทำงานทำการอะไร และมีแนวโน้มที่อารมณ์ลบรุนแรงอื่นๆ จะทวีคูณขึ้นไปอีก
หนึ่งในทางออก คือ พยายามหา ‘เป้าหมายใหม่’ เพื่อเลี้ยวโค้งสมองให้ไปโฟกัสสิ่งนั้นแทน กรณีนี้คือการหา ‘คนคุยใหม่’ ให้ได้เร็วที่สุดนั่นเอง นอกจากนี้ การพยายามทำสมาธิเพื่ออยู่กับ ‘ปัจจุบันขณะ’ ปิดสวิตช์สมองให้ไม่คิดฟุ้งซ่าน โฟกัสที่ลมหายใจ อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไป ตอนนี้มาอยู่กับปัจจุบันตรงหน้า ก็ดูเป็นวิธีที่เวิร์กในระยะยาวไม่น้อย
มูฟออนช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม
‘หาคนใหม่ให้ได้เร็วที่สุด’ คือคำตอบแบบตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นคนคุย-คนรัก เพราะจะได้ไม่ติดกับดักพฤติกรรมนิสัยเก่าๆ ที่เคยผูกมัดเราไว้ และไม่เจอเข้ากับทฤษฎีกระบวนการแดกดัน (Ironic Process Theory) ดังที่กล่าวไป
แต่การรีบมีคนใหม่เร็วที่สุดด้วยจุดประสงค์ต้องการลืมคนเก่า ทำหน้าที่เป็นดาบสองคมได้เช่นกัน กรณีที่ตัวเราเองแค่ต้องการรีบหาใครสักคนมาคั่นเวลา แต่อีกฝ่ายคิดจริงจังระยะยาวกับเรา…อาจกลายเป็นเราเองที่ไปทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย?
การมูฟออนจากคนรักเก่าแบบช้าๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป มันทำให้เราได้ขบคิดทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมา หาจุดบกพร่องของตัวเอง หาทางปรับปรุงนิสัยตัวเอง เราอาจเป็น ‘คนที่ดีขึ้น’ ให้กับคนใหม่ในอนาคตก็ได้?
และมันก็เป็นความสุขรูปแบบหนึ่ง การมีความทรงจำดีๆ ครั้งหนึ่งในชีวิตที่มันเป็นจริง เรารู้สึกดีกับมันจริงๆ เก็บรักษาสิ่งดีๆ ไว้ก็ไม่เสียหาย?
อีกเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้เลยคือ พลานุภาพของการ ‘นอนหลับ’ แมทธิว วอล์กเกอร์ (Matthew Walker) นักวิทยาศาสตร์ด้านการนอนหลับ และผู้เขียนหนังสือขายดีระดับโลกอย่าง Why We Sleep เผยว่า หลายคนเชื่อในวลี “เวลาเยียวยาทุกอย่าง” แต่การเยียวยานั้นจะดีที่สุดก็ต่อเมื่อเกิดควบคู่ไปกับการนอนหลับที่มีคุณภาพด้วย ทุกคืนที่เรานอนหลับ สมองจะ ‘เยียวยา’ สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ให้กลับมาดีขึ้นๆ จนถึงวันที่เรามูฟออน
การมูฟออนไม่ได้หมายความว่าเราต้องลืมคนรักเก่า เราเดินหน้าต่อไปโดยหันมามองหลังเป็นครั้งคราวได้ ชีวิตดำเนินต่อไปกับคนใหม่ได้โดยไม่ต้องลบทิ้งข้อมูลคนเก่าออกไปในพื้นที่เก็บข้อมูลของสมอง และใครบอกล่ะว่ามันช่างง่ายดาย แต่ด่านที่ยากสุดหินนี้ก็เป็นเส้นทางหนึ่งในชีวิตที่เราต้องผ่านพ้นไป
ขอเป็นกำลังใจให้กับชาวมูฟ(วิ่ง)ออนทุกคน…
อ้างอิง
https://dtg.sites.fas.harvard.edu/DANWEGNER/pub/Wegner%20Ironic%20Processes%201994.pdf
https://www.vault-coaching.com/blog/breaking-up-with-old-habits
https://www.verywellmind.com/what-is-a-freudian-slip-2795851
https://www.everydayhealth.com/emotional-health/10-steps-moving-on/