Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
How to enjoy life
22 February 2022

อินโทรเวิร์ต: อยู่เงียบๆ แต่ไม่เงียบเหงา

เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • คน ‘อินโทรเวิร์ต’ ดูเงียบๆ ทึมๆ เลยอาจจะดูเหมือนเป็นคนไม่มีความสุข แต่ไม่ได้แปลว่าจะมีสุขภาพจิตไม่ดีเสมอไป เพราะความสุขในแบบของคนอินโทรเวิร์ตที่มักจะอยู่ในรูปแบบของความสงบ อย่างการได้นั่งทำอะไรเงียบๆ คนเดียว ซึ่งตรงกันข้ามกับคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต
  • ในแง่ของความสัมพันธ์ แม้ว่าคนอินโทรเวิร์ตจะดูเหมือนใช้ชีวิตแบบเงียบเหงาเพราะไม่ค่อยชอบเข้าสังคม แต่ไม่ได้แปลว่าชีวิตด้านนี้จะไม่ดี หรือจะเหงากว่าคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต เพราะคนอินโทรเวิร์ตมักจะเน้นที่ความสัมพันธ์กับคนสนิทเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเจอคนเยอะๆ
  • สิ่งแวดล้อมส่งเสริมให้เราทำตัวแบบเอ็กซ์โทรเวิร์ตมากกว่าอินโทรเวิร์ต ในห้องเรียนจะนั่งเรียนเงียบๆ ไม่ได้ ต้องคอยตอบหรือถามคำถาม ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้คะแนนการมีส่วนร่วม หรือในที่ทำงานก็ต้องทำหมั่นทำความรู้จักคนใหม่ๆ หมั่นหาคอนเนคชัน ค่านิยมนี้เองที่สังคมกดดันให้คนอินโทรเวิร์ตไม่มีความสุขกับชีวิตการเรียนและการทำงานบางประเภท

หากเราเลื่อนผ่านเพจหรือนิตยสารที่พูดถึงเรื่องจิตวิทยา สังคม หรือไลฟ์สไตล์ เราอาจจะเคยเห็นคำว่า ‘อินโทรเวิร์ต’ มาบ้าง และคำนี้ก็เป็นคำที่ทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจกันพอสมควรทีเดียว 

คนอินโทรเวิร์ตนั้นตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจคือคนที่ชอบเก็บตัว ไม่ชอบออกไปสังสรรค์ ชอบอยู่บ้านทำกิจกรรมเงียบๆ คนเดียวอย่างอ่านหนังสือ ฟังเพลงเบาๆ เล่นเกมแนวแบบไม่ต้องคุยกับใคร ซึ่งในสายตาของหลายๆ คนมักจะรู้สึกว่าคนอินโทรเวิร์ตดูปิดกั้นตนเองเกินไปหรือเปล่า ใช้ชีวิตมืดหม่นเงียบเหงาเกินไปไหม เป็นแบบนี้จะมีความสุขหรือ ทำไมไม่รู้จักปรับตัวออกไปสังสรรค์ ออกไปเปิดหูเปิดตาสู่โลกภายนอกบ้าง วันนี้เราจะมีดูทฤษฎีและงานวิจัยของจิตวิทยากันครับว่า จริงๆ แล้วคนอินโทรเวิร์ตนั้นแท้จริงแล้วคืออะไร คนอินโทรเวิร์ตมีความสุขน้อยกว่าจริงหรือ และจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือไม่

มนุษย์เรานั้นถึงจะมีส่วนเหมือนกันเยอะแต่ก็มีส่วนที่แตกต่างพอสมควรโดยเฉพาะเรื่อง ‘นิสัยใจคอ’ จิตวิทยาที่เป็นศาสตร์มุ่งอธิบายว่ามนุษย์นั้นคิดหรือทำสิ่งใดเพราะอะไรเลยจำเป็นต้องใส่ใจความแตกต่างของมนุษย์ไว้ด้วย ในวงการจิตวิทยาหัวข้อดังกล่าวใช้คำว่า ‘บุคลิกภาพ’ (personality) ซึ่งก็คือความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยคนที่มีบุคลิกภาพต่างกันเมื่อเจอกับสถานการณ์หรือรับรู้สิ่งต่าง จะคิดหรือทำตอบสนองต่อสิ่งที่เจอไม่เหมือนกัน 

ตัวอย่างที่เราคุ้นเคยคือ บุคลิกภาพด้านการมองโลกในแง่ดีกับมองโลกในแง่ร้าย หากเจอเหตุการณ์เดียวกัน เช่น ทำเอกสารงานหาย คนมองโลกในแง่ดีอาจจะคิดว่านานๆ ก็ฟาดเคราะห์บ้างไม่เป็นไร ไม่เครียดเท่าไหร่ แต่คนมองโลกในแง่ร้ายอาจจะโทษตัวเองที่เลินเล่อ เครียดหนัก คิดมากไปหลายวัน (อ่านเพิ่มเติมที่ link บทความ: มองโลกแบบไหนถึงเรียกว่าในแง่ร้าย: https://thepotential.org/life/personality-of-pessimism/) บุคลิกภาพอีกด้าน เช่น รูปแบบความผูกพัน ถ้าสมมติไปเห็นแฟนเดินกับคนอื่น ที่ถ้าหากมีบุคลิกภาพด้านวิตกกังวลสูงก็จะรู้สึกหึงหวงมาก ระแวงว่าอีกฝ่ายจะไม่รักมากกว่าคนที่มีบุคลิกภาพด้านนี้น้อยกว่า (อ่านเพิ่มเติมที่ link บทความ: เหมือนดูเย็นชา แต่ใช่ว่าไม่รัก: https://thepotential.org/life/relationship-attachment-theory/) 

บุคลิกภาพนั้นเป็น ‘แนวโน้ม’ คืออาจจะไม่ได้ตอบสนองแบบเดียวกันทุกครั้ง แต่มักจะเป็นแบบนั้น เช่นตัวอย่างเดิม คนมองโลกในแง่ดีก็อาจจะคิดมากตอนทำเอกสารงานหายเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่เป็นแบบนั้นบ่อยเหมือนคนมองโลกในแง่ร้าย และบุคลิกภาพคือสิ่งที่ค่อนข้างคนทน เปลี่ยนได้ยาก อาจจะใช้เวลาหลายปีถึงจะเปลี่ยนได้ บางครั้งอาจเปลี่ยนไม่ได้เลย บุคลิกภาพ ‘ด้าน’ หรือ ‘มิติ’ ที่แตกต่างกันนั้นจะเป็นอิสระต่อกันหรือเกี่ยวพันกันเล็กน้อยเท่านั้น เช่น คนที่มองโลกในแง่ร้ายจะมีรูปแบบความผูกพันด้านวิตกกังวลที่สูงหรือต่ำก็ได้ หรือคนอินโทรเวิร์ตก็มีทั้งคนที่มองโลกในแง่ดีและแง่ร้าย 

มิติหรือด้านของบุคลิกภาพนั้นมีมหาศาล แต่นักจิตวิทยาก็พยายามหาบุคลิกภาพด้านหลักๆ ที่สำคัญ เพื่อแบ่งคนออกเป็นกลุ่มไม่ยิบย่อยจนเกินไป และหนึ่งในด้านหลักๆ 5 ด้านที่ได้รับความนิยมและยอมรับในแวดวงจิตวิทยาที่สุดนั้นเรียกว่า ‘Big 5’ โดย ด้านแรกใน Big 5 ชื่อว่า ‘Surgency’ ซึ่งก็คือการแบ่งว่าคนนั้นเป็นคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต (extrovert หรือ ‘เปิดตัว’) หรืออินโทรเวิร์ต (introvert หรือ ‘เก็บตัว’) ที่เรากำลังพูดถึงนั่นเอง มาลองอ่านด้านล่างแล้วจินตนาการดูนะครับว่าเราหรือและคนรอบตัวมีบุคลิกภาพด้านนี้แบบไหน

คนที่มีบุคลิกภาพแบบเอ็กซ์โทรเวิร์ต จะเป็นคนพูดเก่ง ชอบเข้าสังคม ชอบคนเยอะๆ ชอบความครึกครื้น ชอบทำอะไรเสี่ยงๆ ชอบผจญภัย คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้เหมือนได้รับพลังงานจากสิ่งภายนอก ดังนั้นเลยต้องแสวงหาสิ่งใหม่ๆ คอยเข้าสังคม สังสรรค์ ให้รู้สึกไม่เฉื่อย ไม่เนือย

คนที่มีบุคลิกภาพแบบอินโทรเวิร์ต จะเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยชอบเข้าสังคม ไม่ชอบพบคนแปลกหน้า เป็นคนระแวดระวัง ไม่ชอบเสี่ยง ไม่ชอบเสียงดัง คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้เหมือนเสียพลังงานไปกับสิ่งภายนอก การได้อยู่เงียบๆ เลยจะทำให้รู้สึกดีกว่า

เอ็กซ์โทรเวิร์ตและอินโทรเวิร์ตนั้นเป็นมิติเดียวกัน ลองจินตนาการเหมือนสีขาวและสีดำที่อยู่คนละฝั่งกัน ซึ่งความเข้มข้นของการมีบุคลิกด้านดังกล่าวแต่ละคนนั้นก็มากน้อยต่างกันไป 

หากเอ็กซ์โทรเวิร์ตมากก็จะหมายถึงอินโทรเวิร์ตน้อย คนส่วนใหญ่นั้นไม่มีใครอยู่ฝั่งดำหรือขาวร้อยเปอร์เซ็นต์แต่มักจะอยู่ในพื้นที่สีเทา คนที่เอ็กซ์โทรเวิร์ตก็เทาเข้มๆ คนอินโทรเวิร์ตก็อาจจะเทาจางๆ คนที่อยู่ฝั่งดำเข้มมากๆ หรือแทบจะขาวจั๊วะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

คำถามที่หลายคนอาจสงสัยคือแล้วทำไมคนเราถึงเกิดมาอินโทรเวิร์ตหรือเอ็กซ์โทรเวิร์ต ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบที่ฟันธง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จากสถิติพบว่า ส่วนหนึ่งบุคลิกด้านนี้สืบทอดจากพันธุกรรม และอีกส่วนมาจากการเลี้ยงดู ในแง่ของกลไกทางร่างกาย งานวิจัยพบว่าคนที่มีบุคลิกภาพด้านนี้แตกต่างกันจะมีความแตกต่างของสรีระสมองในส่วนตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น คำว่ากระตุ้นนั้นหมายถึงสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกตื่นตัว ตื่นเต้นน่ะครับ เช่น เสียง ถ้าเสียงเพลงเบาๆ ก็อาจจะไม่ได้กระตุ้นมาก อาจจะฟังแล้วหาวด้วยซ้ำ แต่ถ้าเสียงดังก็อาจจะทำให้ครึกครื้นขึ้นหน่อย แต่ถ้าเสียงดังมากเกินไปก็อาจจะเริ่มเครียด ตื่นตัวเกินไปจนรู้สึกแย่ สิ่งที่เรารับรู้ต่างๆ นั้นก็มีระดับของว่ากระตุ้นเราเบาๆ หรือรุนแรง อย่างเช่น ภาพทิวทัศน์ในเมืองของเราก็อาจจะไม่ได้กระตุ้นมากเท่าภาพสถานที่ที่เราไม่เคยไปมาก่อน การเจอคนที่เจอกันทุกวันก็ไม่กระตุ้นเรามากเท่าเจอคนแปลกหน้า การได้ทำสิ่งเดิมๆ ก็ไม่ได้กระตุ้นเท่าทำสิ่งใหม่ๆ ตามธรรมชาติแล้วมนุษย์เราจะรู้สึกดีถ้าได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม หากน้อยไปก็จะรู้สึกเบื่อ รู้สึกเนือย ง่วงเหงา หาวนอน แต่ถ้ามากเกินไป ก็จะเครียด ใจเต้นแรง กระสับกระส่าย

ประเด็นคือสมองของคนอินโทรเวิร์ตนั้นจะมีระดับการกระตุ้นที่เหมาะสมต่ำกว่าคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต  ยกตัวอย่างเช่น การฟังเพลง สมมติว่าวิทยุเร่งเสียงได้ 10 ระดับ คนอินโทรเวิร์ตอาจจะรู้สึกว่าเปิดแค่ 4-5 ก็ดังพอแล้ว มากกว่านี้จะเริ่มหนวกหูเพราะไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่า แต่คนเอ็กซ์โทรเวิร์ตที่ไวน้อยกว่าอาจจะรู้สึกว่าแค่ 4-5 มันเบาเกินไป ฟังแล้วจะหลับ ขอ 8-9 เลยแล้วกันกำลังดี แต่ถ้าเสียง 8-9 คนอินโทรเวิร์ตจะรู้สึกหนวกหูจนฟังไม่เพราะ จากความแตกต่างในด้านนี้เราเลยทำให้การใช้ชีวิตของคนเอ็กซ์โทรเวิร์ตและอินโทรเวิร์ตแตกต่างกันไป คนเอ็กซ์โทรเวิร์ตเลยต้องหาสิ่งกระตุ้นมากๆ แรงๆ จึงจะอยู่ในระดับพอดี ก็เลยชอบเสียงดังๆ ชอบเจอคนแปลกหน้า ชอบความตื่นเต้น ชอบเสี่ยง เพราะถ้าเจอสิ่งกระตุ้นเบากว่านี้พวกเขาจะรู้สึกเฉื่อย เนือย ง่วง ต้องขอไปครึกครื้น สังสรรค์ เข้าสังคม ตรงกันข้ามกับคนอินโทรเวิร์ต ที่เสียงไม่ต้องดังมากก็ถือว่าพอแล้ว การเจอคนแปลกหน้า หรือความตื่นเต้นต่างๆ มันกระตุ้นพวกเขาจนเยอะเกินไป พวกเขาเลยชอบอยู่ในที่เงียบๆ และทำกิจกรรมที่ไม่กระตุ้นมากนัก เช่น นั่งอ่านหนังสือคนเดียว

คำถามสำคัญที่เราถามไว้คือแล้วเอ็กซ์โทรเวิร์ตหรืออินโทรเวิร์ตแบบไหนที่ดีกว่ากัน ส่วนหนึ่งเพราะคนอินโทรเวิร์ตดูเงียบๆ ทึมๆ เลยอาจจะดูเหมือนเป็นคนไม่มีความสุข นักจิตวิทยาก็วิจัยเพื่อหาคำตอบนี้ครับ หากดูจากสถิติแล้วพบว่าคนเอ็กซ์โทรเวิร์ตมักมีสุขภาพจิตที่ดีกว่าคนอินโทรเวิร์ต ซึ่งก็อาจจะแปลว่าเอ็กซ์โทรเวิร์ตมีความสุขมากกว่า มีการวิจัยเรื่องนี้ต่อและพบว่าการเป็นคนเอ็กซ์โทรเวิร์ตไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่มีสุขภาพจิตดีกว่า แต่รูปแบบการใช้ชีวิตของเอ็กซ์โทรเวิร์ตนั้นมีกิจกรรมหลายอย่างที่เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพจิต เช่น การที่คนเอ็กซ์โทรเวิร์ตชอบออกไปพบเจอผู้คนบ่อยๆ นอกจากนี้เนื่องจากคนเอ็กซ์โทรเวิร์ตมักจะพยายามหาอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ หาความสุขในรูปแบบต่างๆ อยู่เสมอและความพยายามนี้เลยทำให้คนเอ็กซ์โทรเวิร์ตคงอารมณ์ดีไว้ได้นานกว่า หากเทียบกับคนอินโทรเวิร์ตแล้วกิจกรรมเหล่านี้มักไม่ใช่ตัวเลือกที่นิยมนัก อย่างไรก็ตามถึงคนเอ็กซ์โทรเวิร์ตคงอารมณ์ที่ดีไว้ได้ดีกว่าจริง แต่บุคลิกภาพด้านนี้ไม่ได้ทำนายว่าจะมีความสุขหรือทุกข์ง่ายกว่า 

อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยาให้ข้อสังเกตไว้ว่า ผลงานวิจัยนี้อาจไม่ได้แปลว่าคนอินโทรเวิร์ตจะสุขภาพจิตไม่ดีเสมอไป บางครั้งการวัดสุขภาพจิตหรือความสุขอาจจะคลาดเคลื่อนในงานวิจัย เพราะความสุขของคนเอ็กซ์โทรเวิร์ตนั้นแสดงออกชัดเจน คือ การสังสรรค์รื่นเริง แต่ความสุขในแบบของคนอินโทรเวิร์ตที่มักจะอยู่ในรูปแบบของความสงบ อย่างการได้นั่งทำอะไรเงียบๆ คนเดียวนั้นอาจจะไม่ถูกตีความว่าเป็นความสุขในงานวิจัยเหล่านั้นก็ได้ 

นอกจากนี้ในแง่ของความสัมพันธ์ แม้ว่าคนอินโทรเวิร์ตจะดูเหมือนใช้ชีวิตแบบเงียบเหงาเพราะไม่ค่อยชอบเข้าสังคม แต่ไม่ได้แปลว่าชีวิตด้านนี้จะไม่ดี หรือจะเหงากว่าคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต เพราะคนอินโทรเวิร์ตมักจะเน้นที่ความสัมพันธ์กับคนสนิทเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเจอคนเยอะๆ แบบคนเอ็กซ์โทรเวิร์ต เพียงแค่เจอคนที่สนิทเพียงไม่กี่คนก็ทำให้คนอินโทรเวิร์ตมีความสุข และหายเหงาแล้ว ยิ่งอายุมากประเด็นนี้จะยิ่งชัดเจน เพราะความสุขในด้านการเข้าสังคม การไปสังสรรค์ของคนจะลดตามอายุ และคนที่มีความสุขในความสัมพันธ์คือมีความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ คือมีคนที่สนิทชิดใกล้จริงๆ ไม่ใช่การไปเจอคนจำนวนมากๆ ดังนั้นในเรื่องของความสุขและสุขภาพจิตแล้ว เราจะเห็นว่าบุคลิกด้านนี้แต่ละแบบต่างก็มีความสุขได้ แต่อาจจะอยู่ในรูปแบบต่างกัน

ประเด็นหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่าคนอินโทรเวิร์ตเป็นบุคลิกภาพไม่ดีนั้นเป็นปัจจัยทางสังคมหรือเรื่องค่านิยมมากกว่าครับ รูปแบบชีวิตในสังคมปกติมักจะสอดคล้องกับคนเอ็กซ์โทรเวิร์ตมากกว่า 

คนในอุดมคติของสังคมมักมีภาพที่กล้าคิดกล้าแสดงออก ต้องเข้าสังคมเก่ง รู้จักคนใหม่ๆ เสมอ ต้องออกจากคอมฟอร์ตโซนหมั่นหาสิ่งใหม่ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่คนอินโทรเวิร์ตไม่ชอบ 

แต่ค่านิยมก็เป็นสิ่งที่คนจำนวนมากคิด ไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป หากเทียบแล้วเหมือนค่านิยมที่บอกว่าคนเราจะมีความสุขหรือประสบความสำเร็จในชีวิตก็ต่อเมื่อมีตำแหน่งการงานสูงๆ ต้องแต่งงาน มีบ้านของตนเอง ต้องมีชื่อเสียง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้การันตีว่าผู้ที่มีจะมีความสุขและรู้สึกประสบความสำเร็จจริงๆ 

อย่างไรก็ตามเพราะสิ่งแวดล้อมมักจะส่งเสริมให้ทำตัวแบบเอ็กซ์โทรเวิร์ตมากกว่าแบบอินโทรเวิร์ต อย่างในห้องเรียนก็จะนั่งเรียนเงียบๆ ไม่ได้ ต้องคอยตอบหรือถามคำถาม ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้รับคะแนนการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน หรือในที่ทำงานก็ต้องทำหมั่นทำความรู้จักคนใหม่ๆ หมั่นหาคอนเนคชัน ต้องไปงานเลี้ยงบริษัท และค่านิยมเหล่านี้เองที่สังคมกดดันให้คนอินโทรเวิร์ตไม่มีความสุขกับชีวิตการเรียนและการทำงานบางประเภท 

แม้มนุษย์ควรปรับตัวให้เหมาะกับสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ควรถึงขั้นกดดันให้ตัวเองต้องเปลี่ยนจนไม่ใช่ตัวของตัวเอง ทำแค่ให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับหน้าที่ก็เพียงพอแล้ว อย่าถึงขั้นต้องจากที่เกลียดการไปงานเลี้ยงก็ต้องโหมไปมันทุกงานไม่ปฏิเสธ ต้องฝืนไปทักคนนั้นคนนี้ที่ไม่รู้จัก อยากนั่งอยู่บ้านเงียบๆ วันหยุดก็ต้องฝืนใจออกไปข้างนอก ถ้ามันขัดแย้งกับบุคลิกของเรามากๆ การฝืนบ่อยๆ จะยิ่งกดดันและยิ่งเป็นผลเสียมากกว่าครับ

 นอกจากนี้การเป็นคนอินโทรเวิร์ตไม่ได้มีแต่ข้อที่ด้อยกว่าคนเอ็กซ์โทรเวิร์ตอย่างที่สังคมรับรู้ นักจิตวิทยาวิจัยและพบข้อดีของบุคลิกภาพแบบอินโทรเวิร์ตมากมาย เช่น คนอินโทรเวิร์ตมักจะเป็นคนพูดน้อย แต่ก็มักจะเป็นผู้ฟังที่ดี และถึงแม้จะไม่ชอบทำความรู้จักคนแปลกหน้าและมีรู้จักคนน้อย แต่คนอินโทรเวิร์ตให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่สนิทอย่างลึกซึ้ง ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นคุณลักษณะที่ดีของการมีความสัมพันธ์ที่มีความสุขครับ นอกจากนี้ในแง่ของการทำงานอินโทรเวิร์ตเป็นคนคิดเยอะ คิดมาก แต่นั่นก็มักทำให้เป็นผู้ที่วิเคราะห์ได้ลึกได้ละเอียด และยังมุ่งความสนใจในเรื่องที่กำลังทำอยู่ได้นาน ไม่เบื่อง่าย นอกจากนี้คนอินโทรเวิร์ตมักจะไม่ทำอะไรเสี่ยงจนเกินเหตุ เวลาทำอะไรก็มักจะรอบคอบกว่าหากเทียบกับคนเอ็กซ์โทรเวิร์ตที่บางครั้งกล้าเสี่ยงจนเกินไป 

หลายๆ ครั้งบางคนหรือสังคมเข้าใจผิดว่าคนที่ทุกข์ตรม มืดมน เงียบเหงา ไม่กล้าเข้าสังคม นั้นเรียกว่า ‘อินโทรเวิร์ต’ แต่อย่างที่เราคุยกันไว้แล้วว่าคนอินโทรเวิร์ตไม่ได้แปลว่าต้องนั่งเป็นทุกข์ เงียบเหงาแต่อย่างใด 

คนอินโทรเวิร์ตต้องการสังคม แต่ไม่ต้องมาก ขอเน้นแค่คนสนิท และไม่ต้องการแสงสีเสียงมากเกิน ขอแบบซอฟต์ๆ เช่น นั่งฟังเพลงเบาๆ นั่งทำสวนหย่อมในบ้าน ไม่ได้แปลว่านั่งนิ่งๆ ไปเรื่อยๆ ไม่คิดจะทำอะไร ซังกะตายไปวันๆ จะคนอินโทรเวิร์ตหรือเอ็กซ์โทรเวิร์ตต่างก็มีวิธีที่จะทำให้ตนเองมีความสุข ดังนั้นหากเรารู้สึกว่าเราเป็นทุกข์ อย่าคิดว่านั่นคือบุคลิกภาพของเราที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราอาจจะอยู่ในภาวะปัญหาทางสุขภาพจิตหรือปัญหาอื่นๆ ที่เราอาจจะแก้ไขให้มีความสุขขึ้นได้ หากหาคำตอบไม่ได้ว่าเพราะอะไร อย่าเก้อเขิน หรือกลัวที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์นะครับ 

ส่งท้ายกันด้วยสิ่งที่อยากเน้นอีกรอบคือบุคลิกภาพเป็นแนวโน้ม ไม่ได้แปลว่าคนอินโทรเวิร์ตจะไม่เข้าสังคมเลย วันๆ เอาแต่อยู่คนเดียวตลอดเวลา คนอินโทรเวิร์ตก็อาจจะอยากไปสังสรรค์บ้างนานๆ ครั้ง หรือคนเอ็กซ์โทรเวิร์ตก็มีช่วงเวลาที่อยากอยู่เงียบๆ และผลงานวิจัยของนักจิตวิทยาที่ผมเล่ามานั้นคือการวิเคราะห์ทางสถิติในภาพรวม นั่นแปลว่ามีโอกาสสูงที่คนเอ็กซ์โทรเวิร์ตหรืออินโทรเวิร์ตจะมีข้อดีหรือข้อเสียดังกล่าว แต่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นแบบนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ 

และท้ายสุดคือบุคลิกภาพนั้นคือความแตกต่าง ไม่ใช่เรื่องถูกผิด เราจะเป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ตหรืออินโทรเวิร์ต ต่างมีสิ่งที่เหมาะและไม่เหมาะกับเรา ที่เราควรทำคือหาทางที่เหมาะกับบุคลิกภาพซึ่งจะทำให้เรามีความสุขครับ

อ้างอิง

Buecker, S., Maes, M., Denissen, J. J., & Luhmann, M. (2020). Loneliness and the Big Five personality traits: A meta–analysis. European Journal of Personality, 34(1), 8-28.

Larsen, R. J., & Buss, D. M. (2008). Personality psychology: Domains of knowledge about human nature. New York: McGraw-Hill.

Lischetzke, T., & Eid, M. (2006). Why extraverts are happier than introverts: The role of mood regulation. Journal of personality, 74(4), 1127-1162.Walsh, B. (2012). The upside of being an introvert (and why extroverts are overrated). Time Magazine, 40-45.

Tags:

บุคลิกภาพความสุขความสัมพันธ์อินโทรเวิร์ต (Introvert Personality)

Author:

illustrator

พงศ์มนัส บุศยประทีป

ตั้งแต่เรียนจบจิตวิทยา ก็ตั้งใจว่าอยากเป็นนักเขียน เพราะเราคิดความรู้หลายๆ อย่างที่เราได้จากอาจารย์ หนังสือเรียน หรืองานวิจัย มันมีประโยชน์กับคนทั่วไปจริงๆ และต้องมีคนที่เป็นสื่อที่ถ่ายทอดความรู้แบบหนักๆ ให้ดูง่ายขึ้น ให้คนทั่วไปสนใจ เข้าใจ และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่อยากให้มันอยู่แต่ในวงการการศึกษา เราเลยอยากทำหน้าที่นั้น แต่เพราะงานหลักก็เลยเว้นว่างจากงานเขียนไปพักใหญ่ๆ จนกระทั่ง The Potential ให้โอกาสมาทำงานเขียนในแบบที่เราอยากทำอีกครั้ง

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Foely Friend-nologo
    Relationship
    เมื่อ ‘เพื่อนรัก’ กลายเป็น ‘เพื่อนร้าย’ แล้วเราจะก้าวผ่านความเจ็บปวดได้อย่างไร

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Book
    รวม 7 เล่ม หนังสือ ‘ฮีลใจ’ ที่ชวนให้หยุดโบยตีชีวิต แล้วผลิบานในจังหวะเวลาของตัวเอง

    เรื่อง พิรญาณ์ บุลสถาพร

  • Character building
    ‘บุคลิกภาพ’ สร้างได้? เข้าใจ 5 บุคลิกหลักจากมุมมองทางจิตวิทยา

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Relationship
    ทำความเข้าใจความรักกับการเมืองด้วย Balance theory

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Book
    แผลลึกหัวใจสลาย : ชีวิตสั้น..แต่ขอให้รักนั้นยืนยาว

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel