- นอนไม่หลับ เกิดได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งสภาพของร่างกายก็ทำให้นอนไม่หลับอย่างความเจ็บป่วย หรือความเครียดและความวิตกกังวล
- ปัญหาตัวร้ายของคนนอนไม่หลับเรื้อรังคือ การกังวลว่าจะนอนไม่หลับ กังวลว่าจะนอนไม่พอ คิดถึงผลเสียของการนอนน้อยว่าจะเกิดผลร้ายแรงเกินจริง และหมกมุ่นว่าตัวเองมีชั่วโมงที่นอนหลับน้อยเกินไป
- ข้อแนะนำที่ลดความเครียดตอนนอนไม่หลับได้ดีคือ ‘ไม่หลับก็ไม่หลับ’ เราทำอะไรกับมันไม่ได้ ให้ร่างกายได้พักผ่อนแบบอื่นไป แม้สมองจะไม่ได้พักดีเท่านอนหลับ แต่จะพักได้ดีกว่าตอนเครียดแน่นอน
‘นอนไม่หลับ’ เป็นเรื่องที่ฟังดูธรรมดามากๆ แต่เป็นปัญหาใหญ่กว่าที่คิดครับ คนที่ไม่เคยนอนไม่หลับหรือนานๆ ทีถึงจะเป็นอาจจะไม่เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ตรงไหน แต่การนอนไม่หลับนั้นสร้างความทุกข์ทรมานให้กับคนจำนวนมากทีเดียว และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ในประเทศไทยเองกรมสุขภาพจิตเคยสำรวจไปใน พ.ศ. 2563 พบว่ามีผู้ใหญ่ที่เคยมีปัญหานอนไม่หลับถึงร้อยละ 40 ทีเดียว ผมเองก็เป็นคนหนึ่งในคนที่ทรมานกับเรื่องนี้จนวันหนึ่งทนไม่ไหวจนตัดสินใจไปปรึกษาจิตแพทย์ ตอนนี้แม้จะอาการจะดีขึ้นแต่ก็ยังพบปัญหานี้เป็นบางครั้ง จากที่ผมเองมีประสบการณ์ตรงในการพยายามแก้ไขปัญหานี้ ได้ความรู้จากการพบแพทย์และนักจิตวิทยา รวมถึงจากการอ่านงานวิจัยต่างๆ เลยคิดว่าข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านหลาย ๆ ท่าน วันนี้เลยมาขอชวนคุยเรื่องนอนไม่หลับกันครับ
นอนไม่หลับนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งสภาพของร่างกายก็ทำให้นอนไม่หลับอย่างความเจ็บป่วย โรคบางอย่างทำให้รู้สึกเจ็บปวดบางที่จนรบกวนการนอน หรือบางคนต้องกินยาบางประเภทที่มีผลข้างเคียงคือนอนไม่หลับ นอกจากนี้อีกสาเหตุสำคัญของการนอนไม่หลับคือภาวะของจิตใจ เราคงจะคุ้นเคยกันดีว่าความเครียดและความวิตกกังวลทำให้นอนไม่หลับได้ บางครั้งนอนไม่หลับก็เกิดขึ้นเองอย่างไม่มีสาเหตุ นานๆ เป็นที ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่มีอันตรายอะไร แต่หากการนอนไม่หลับเกิดขึ้นบ่อยและเกิดเรื้อรังจนรบกวนชีวิต การทำงาน สุขภาพ นั่นอาจจะถือว่าเริ่มเป็น ‘โรค’ ตัวผมเองและคนใกล้ตัวหลายคนนั้นเป็นโรคนอนไม่หลับด้วยสาเหตุอย่างหลังคือเรื่องของความวิตกกังวล วันนี้ผมจึงขอเน้นประเด็นดังกล่าวในบทความนี้ครับ
เมื่อคนเราอยู่ในภาวะวิตกกังวล ไม่ใช่เพียงแค่จิตใจจะฟุ้งซ่าน และรู้สึกกระสับกระส่าย แต่อวัยวะในร่างกายจะตอบสนองให้ร่างกายจะตื่นตัว หัวใจจะเต้นแรง และไวต่อการรบกวนต่างๆ สร้างภาวะที่หลับได้ยากขึ้นอีกด้วย
หากมองในแง่ของวิวัฒนาการแล้ว อารมณ์ทางลบคือการรับรู้อันตราย ทำให้คนต้องระวัง และการหลับไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ดีตอนเราอยู่ในภาวะอันตราย แต่อารมณ์ของมนุษย์นั้นก็ซับซ้อนมากขึ้นไปตามสังคม เราเครียดและกังวลกับสิ่งที่ไม่ถึงกับเป็นอันตรายก็ได้ เรามีเรื่องกังวลเยอะไปหมด นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่การนอนไม่หลับนั้นกลายเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสังคม
หากเจ้าตัวรู้ว่ากำลังกังวลเรื่องอะไร เช่น เรื่องงาน เรื่องเรียน เรื่องครอบครัว เมื่อคลี่คลายปัญหานั้นได้ การนอนไม่หลับอาจจะดีขึ้น เพราะความกังวลก็จะลดลงไป แต่ปัญหาตัวร้ายของคนนอนไม่หลับเรื้อรังคือ การกังวลว่าจะนอนไม่หลับ กังวลว่าจะนอนไม่พอ กังวลเพราะรู้ว่านอนไม่หลับแล้วร่างกายจะแย่ จะรู้สึกอ่อนเพลีย ง่วงเกินไปในวันพรุ่งนี้ ความกังวลแบบนี้อาจจะกำเริบได้ง่าย ๆ เช่น นอนไม่หลับหากวันต่อไปต้องตื่นเช้ากว่าปกติ เหตุผลหนึ่งที่การนอนกลายเป็นหัวข้อกังวลเสียเองเพราะการนอนไม่ใช่สิ่งที่เราควบคุมได้สมบูรณ์ เราสั่งให้ตัวเองหลับไม่ได้ทุกครั้ง (ถึงคนที่นอนหลับง่ายๆ อาจจะทำได้ก็ตาม) อยากจะหลับเพราะเหนื่อย พรุ่งนี้ก็ต้องตื่นแต่เช้า แต่ทำยังไงมันก็ไม่ยอมหลับ การควบคุมไม่ได้ตรงนี้จึงสร้างความวิตกกังวลจนถึงความกลัว
พอนอนไม่หลับบ่อยๆ จะทำให้รู้สึกกังวลทุกครั้งที่เข้านอน ความกังวลก็จะยิ่งกระตุ้นร่างกายให้หลับยาก และส่งผลให้นอนไม่หลับจริงๆ กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ยิ่งทำให้คนนั้นกังวลเรื่องการนอนขึ้นไปอีก และกลายเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง
งานวิจัยพบว่าคนที่นอนไม่หลับส่วนหนึ่งเพราะคิดถึงผลเสียของการนอนน้อยว่าจะเกิดผลร้ายแรงเกินจริง และหมกมุ่นว่าตัวเองมีชั่วโมงที่นอนหลับน้อยเกินไป ตระหนกเกินไปเมื่ออยู่ๆ ก็นอนไม่หลับ ว่าจะเป็นอะไรร้ายแรงหรือเปล่า พอนอนไม่หลับก็กังวลว่าร่างกายจะพัง จะทรุดโทรม พรุ่งนี้จะง่วงจนทำอะไรไม่ได้ไปต่างๆ นานา จริงอยู่ครับว่าการนอนน้อยไปเกิดผลเสียคือเรื่องจริง แต่การกดดันตัวเองที่นอนน้อยเพราะนอนไม่หลับมีผลเสียกว่า เพราะกลายเป็นสร้างความเครียดให้กับร่างกายเพิ่ม แถมคนที่หมกมุ่นกับผลเสียของนอนไม่หลับยิ่งทำให้นอนไม่หลับ
หากจะคิดง่ายๆ ว่า ก็เลิกกังวลเสีย ปัญหานอนไม่หลับก็จะดีขึ้นเอง นั่นก็เป็นคำตอบที่ถูกนะครับ แต่มันเป็นเรื่องพูดง่ายแต่ทำยากมาก เพราะหลายๆ คนคงรู้ดีว่าการห้ามอะไรห้ามได้ แต่ห้ามไม่ให้กังวลนั้นมันยากเหลือเกิน แล้วเราจะทำอย่างไรกับการนอนไม่หลับเพราะความวิตกกังวลได้บ้าง
หากอาการนอนไม่หลับยังไม่หนักหนามากนัก และยังคิดว่ายังอยากแก้ไขด้วยตนเองก่อน ก็มีคำแนะนำมากมายที่สื่อสุขภาพและแพทย์หลาย ๆ ท่านนิยมแนะนำ เช่น อย่าทำอย่างอื่นในห้องนอนนอกจากใช้นอน อย่านอนกลางวัน นอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา ออกกำลังกายให้ร่างกายเหนื่อยจะได้หลับง่าย ทำสมาธิเพื่อให้ไม่ฟุ้งซ่าน ปรับอุณหภูมิของห้องนอนให้ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป หรือถ้านอนไม่หลับให้ลุกมาทำสิ่งอื่นแทน อย่าทนนอนไม่หลับบนเตียงนานๆ ให้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมอื่นจนกว่าจะง่วงแล้วค่อยกลับไปนอน อย่าใช้อุปกรณ์ที่มีแสงสีฟ้าอย่างคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือก่อนนอนหนึ่งชั่วโมง อย่าดูหรืออ่านอะไรที่ทำให้ตื่นเต้นเกินไป
วิธีพวกนี้ลองดูก็ไม่เสียหายนะครับ เป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับกันทั่วไปว่าส่งผลต่อการนอนจริงๆ หากทำแล้วแก้ปัญหาได้ก็ถือว่าดีไป อย่างไรก็ตามหากทำข้อไหนไม่ได้ก็ไม่ควรฝืนทำ เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน ข้อจำกัดของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อย่างบางคนที่อยู่ห้องเช่าหรือคอนโดอาจจะต้องใช้ห้องนอนทำกิจกรรมอื่นอย่างเลี่ยงไม่ได้ บางคนด้วยงานทำให้ต้องนอนไม่เป็นเวลา และอย่าคิดว่าถ้าทำสิ่งดังกล่าวไม่ได้จะนอนไม่หลับแน่ๆ อย่าให้ ‘ทางที่อาจช่วย’ กลายเป็น ‘เรื่องทำให้เครียด’ หรือ ‘เรื่องที่กดดันให้ทำ’ หรือถ้าทำตามทุกอย่างแล้วยังไม่หลับก็ไม่ต้องวิตก ยังไม่มีวิธีไหนทำให้นอนหลับร้อยเปอร์เซ็นต์ และวิธีที่ทำให้นอนหลับของบางคนอาจจะทำให้อีกคนไม่หลับ ส่วนตัวผมเองการลุกออกจากเตียงไปทำสิ่งอื่นนั้นไม่ใช่วิธีที่ได้ผลเลย เพราะพอลุกจากเตียงยิ่งไม่ง่วงและไม่อยากกลับไปนอนเข้าไปใหญ่ แต่กลับคนอื่นอาจจะได้ผลก็ได้
หากลองแก้ปัญหาด้วยตนเองแล้วยังไม่ได้ผล ทางเลือกหนึ่งที่แนะนำคือการปรึกษาจิตแพทย์ หลายๆ ท่านไม่อยากไปหาจิตแพทย์เพราะไม่อยากใช้ยาแก้ไขปัญหานี้ มองว่ายาควรกินเมื่อจำเป็นเท่านั้น กลัวว่ายาจิตเวชจะมีผลข้างเคียง กลัวว่าจะกินยาเยอะเกินไป แต่ผมอยากบอกว่าหากท่านยังมีอาการนอนไม่หลับเรื้อรังอยู่ ผมคิดว่าจำเป็นแล้วที่จะต้องลองพึ่งยาดูบ้าง
ส่วนใหญ่แล้ว การใช้ยารักษาอาการนอนไม่หลับเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาในระยะยาว แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของการรักษา ยาอาจทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะถ้าเรา ‘ถูกกับยา’ ตัวนั้นด้วยจะหลับได้ง่ายจนน่าทึ่ง เมื่อใช้สักระยะจนผู้ป่วยนอนหลับได้ดีขึ้น ซึ่งจะไปช่วยลดความกลัวและความกังวลว่าจะนอนไม่หลับ การลดความกังวลตรงนี้จะช่วยตัดวงจรอุบาทว์ที่ทำให้นอนไม่หลับเรื้อรังที่เราได้พูดถึงกันไปแล้ว และเมื่อตัดวงจรได้ ก็ทำให้หลับง่ายขึ้นแม้ไม่ต้องใช้ยา
ท่านไม่ต้องกังวลว่ายาจิตเวชที่แพทย์สั่งจะอันตรายหรือเกิดผลข้างเคียงที่น่ากลัว จริงๆ แล้วยาที่เราใช้กันแบบสนิทใจอย่างยาแก้ปวด ยาฆ่าเชื้อ (ที่เรานิยมเรียกกันว่ายาแก้อักเสบ) ยาแก้ไอ ทุกอย่างนี้ล้วนแต่มีผลข้างเคียงทั้งนั้น แต่ผลข้างเคียงรุนแรงของยาทุกประเภทที่ใช้กันมักจะมีโอกาสเกิดน้อยมากหากใช้อย่างเหมาะสม (เราเลยไม่กลัวกันเวลาใช้ยาที่เราคุ้นชิน) ยาจิตเวชส่วนใหญ่ก็เช่นกัน และถ้าเกิดบังเอิญเกิดผลข้างเคียง ก็แค่เปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่น เช่นเดียวกับหากเริ่มกินยาแล้วไม่ได้ผล ยังไม่หลับเหมือนเดิม ก็อย่าเพิ่งสิ้นหวัง เพราะยาจิตเวชมีหลากหลายประเภทมากที่ช่วยในกลไกที่ต่างกันไปด้านการนอน
หลายๆ คนนอนไม่หลับเพราะโรคทางจิตและประสาทอื่นๆ เช่น โรควิตกกังวล คือมีแนวโน้มที่จะวิตกกังวลในชีวิตมากเกินไป และไปกระทบให้ร่างกายตื่นตัวตอนที่จะนอนเลยนอนไม่หลับ การได้รับยาลดวิตกกังวลจะช่วยทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
บางคนไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรควิตกกังวล รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุข แต่พอไปหาจิตแพทย์เพราะว่านอนไม่หลับ ก็ทำให้พบว่าที่นอนไม่หลับก็เพราะโรควิตกกังวลนี่เอง
ซึ่งการรักษาในส่วนนี้นอกจากจะทำให้นอนหลับง่ายขึ้นแล้วยังพัฒนาชีวิตในด้านอื่น ๆ ด้วย
ยาทางจิตเวชที่เกี่ยวกับการนอนหลับนั้นหาซื้อนอกโรงพยาบาลไม่ได้ครับ และถึงบังเอิญหาได้ก็อย่าซื้อใช้เองจะดีกว่า เพราะขนาดของยาที่เหมาะสมและประเภทของยาที่เหมาะกับอาการยังเป็นเรื่องซับซ้อนที่ให้แพทย์เป็นคนพิจารณาจะมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากกว่า
นอกจากยาแล้ว หลายๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินเรื่องการกินอาหารเสริมอย่างเมลาโทนินเพื่อช่วยเรื่องการนอนหลับ และตอนนี้เมลาโทนินยังมีในรูปแบบของยาที่งานวิจัยแนะนำว่าได้ผลที่ดีกว่าในรูปแบบอาหารเสริมในการบำบัดอาการนอนไม่หลับ เมลาโทนินนั้นหาซื้อได้ไม่ยากนัก แต่เท่าที่ผมถามคนรอบตัวแล้ว มีทั้งคนที่กินแล้วได้ผล และคนที่กินแล้วไม่ได้ผล และถึงแม้ว่าเมลาโทนินไม่น่าจะมีอันตรายอะไร แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้หากไม่แน่ใจ โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว
การปรึกษากับนักจิตวิทยาก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ไขปัญหาทางจิตและการนอนไม่หลับ โดยวิธีการช่วยเหลือหรือบำบัดนั้นจะไม่ได้ใช้ยาแต่จะใช้วิธีการปรับพฤติกรรมและความคิดให้เหมาะสมกับการนอนมากขึ้น หลายๆ ข้อนั้นก็จะตรงหรือใกล้เคียงกับคำแนะนำที่ผมเล่าไว้ด้านบน แต่นักจิตวิทยา (หรือจิตแพทย์บางท่าน) อาจมีเทคนิคในการที่ทำให้เรานำข้อแนะนำเหล่านั้นไปใช้ได้ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพขึ้น
หลายๆ คนนั้นเป็นเหมือนกันคือรู้ว่าต้องทำอะไร แต่ไม่ค่อยอยากทำเอง ต้องรอให้ใครสักคนหรือหมอมาสั่งเสียก่อน หากท่านอย่ากลองวิธีที่ไม่ใช้ยาก่อน อาจจะไปพบนักจิตวิทยาก่อนก็ได้ถ้าสะดวกใจกว่า และถ้าเกิดนักจิตวิทยาคิดแล้วว่าท่านอาจจะต้องใช้ยาเพิ่ม เขาจะแนะนำให้ท่านพบกับจิตแพทย์ต่อเองครับ
สิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่ข่าวดีแต่ขอให้ท่านรู้ไว้ว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีหนทางใดๆ รักษาอาการนอนไม่หลับได้ 100% แต่ส่วนใหญ่แล้วเข้ารับการบำบัดจะช่วยให้อาการดีขึ้น ไม่มากก็น้อย บางคนหายไว แต่บางคนก็ใช้เวลานาน ขอให้ท่านอย่าคาดหวังว่าไปหาหมอหรือนักจิตวิทยาแล้วจะหายทันที และยิ่งหากท่านนอนไม่หลับเรื้อรังมานานก็ควรจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญดีกว่าทนกับปัญหานี้ต่อไป อาจจะไม่ได้ดีขึ้นทันตาเห็นแต่ก็ดีกว่าไม่ยอมรักษาเลย
หลายๆ คนอาจได้รับคำแนะนำมากมายจากคนรู้จักว่าทำแบบนั้นแบบนี้แล้วช่วย ความจริงแล้ววิธีพื้นๆ ต่างๆ ที่ฟังดูแล้วไม่น่าจะช่วยเท่าไรนัก เช่น ดื่มอะไรอุ่นๆ ก่อนนอน ดื่มชาสมุนไพร (สมุนไพรที่ไม่มีคาเฟอีนเช่น คาโมไมล์) ฟังเพลงเบาๆ อ่านหนังสือยากๆ ก่อนนอน จินตนาการถึงความมืดตอนนอน พวกนี้ก็ทำได้นะครับถ้าทำแล้วสบายใจ และพิจารณาแล้วว่าไม่ได้เกิดผลเสียอะไร จากประสบการณ์ของผม คำพูดที่ว่า ‘ลางเนื้อขอบลางยา’ หรือแต่ละคนก็ถูกกับวิธีรักษาที่แตกต่างกันไปเป็นเรื่องจริงอย่างมากในเรื่องการรักษาการนอนไม่หลับ ท่านอาจจะได้พบวิธีส่วนตัวง่ายๆ ที่ทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นก็ได้
ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์ให้เมาแล้วหลับอาจจะได้ผลกับบางท่าน แต่จากผลการวิจัยแล้วแอลกอฮอล์มักจะส่งผลเสียต่อผู้ให้นอนหลับยากขึ้นแทนในระยะยาว และยาจิตเวชทุกชนิดห้ามกินร่วมกับแอลกอฮอล์ และช่วงที่บำบัดด้วยยาก็ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เพราะอาจทำให้ผลของยาได้ผลไม่เต็มที่ ดังนั้นขอให้ชั่งใจและระวังผลเสียตรงนี้ให้ดี ส่วนท่านที่ติดชาหรือกาแฟก็ระวังเรื่องการดื่มที่อย่าให้ใกล้ช่วงเย็นจนเกินไป คนเราไวต่อคาเฟอีนต่างกัน บางคนคาเฟอีนก็อยู่ในร่างกายนาน ขนาดดื่มตอนเที่ยงวันก็ทำให้นอนไม่หลับถึงเที่ยงคืนได้ ถ้ารู้สึกว่าตัวเราเป็นแบบนั้นก็เลี่ยงๆ ไว้อย่าไปเสี่ยงดีกว่า หรือถ้าดื่มแล้วไม่หายง่วงก็ไม่ต้องดื่มก็ได้นะครับ ลดโอกาสที่รับคาเฟอีนที่ทำให้นอนหลับยากไว้ย่อมดีกว่า ส่วนท่านที่ดื่มชาหรือกาแฟแล้วกลับหลับสบาย ถ้าดื่มจำนวนแก้วไม่มากไปก็ดื่มเถอะครับ เพราะ ‘ลางเนื้อขอบลางยา’ แต่ถ้าดื่มทั้งวันอันนี้ไม่แนะนำครับเพราะแม้จะเป็นฤทธิ์ที่อ่อน แต่คาเฟอีนก็เป็นยาเสพติดประเภทหนึ่งที่ส่งผลร้ายหากใช้มากๆ ในระยะยาว
ไม่ว่ากิจกรรมใดๆ ก็ตามที่รักษาเรื่องนอนหลับ อย่าทำด้วยความคาดหวังในระดับที่ตั้งหน้าตั้งตารอว่าทำแล้วจะหลับได้ในกี่นาทีหรือชั่วโมง เพราะนั่นยิ่งทำให้หมกมุ่นกับการนอนและทำให้ยิ่งไม่หลับ นอกจากนี้คนที่มีปัญหานอนไม่หลับ อย่าพยายามใส่ใจสื่อที่รณรงค์ให้คนนอนให้เพียงพอซึ่งขยันกรอกหูเราว่านอนน้อยนั้นส่งผลเสียอย่างไรบ้าง สื่อเหล่านั้นไม่ได้กำลังบอกคนที่นอนไม่หลับครับ แต่พวกเขาเน้นเรื่องนี้กับคนที่ไม่นอนด้วยความตั้งใจของตัวเองมากกว่า ส่วนคนที่นอนน้อยเพราะนอนไม่หลับอย่างเรานั้น การเสพสื่อพวกนี้มีแต่จะเพิ่มความกังวลว่าจะนอนไม่หลับและส่งผลเสียตามที่เขากล่าวแทน
ช่วงที่นอนไม่หลับบ่อยๆ นั้น การจัดการกับชีวิตในวันถัดไปก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ ขอให้ฮึดสู้กับความง่วงและทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทำเป็นปกติให้รอดผ่านวันไปให้เท่าที่จำเป็น สิ่งนี้จะช่วยให้เราสบายใจขึ้น ความเชื่อที่ผิดๆ หนึ่งอย่างของการนอนไม่หลับคือคิดว่าพอไม่หลับแล้วพรุ่งนี้จะ ‘พินาศ’ ทำอะไรก็รวนไปหมด ไม่มีความสุขแน่ๆ ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ถึงขนาดนั้นหรอกครับ ต่อให้นอนไม่หลับพรุ่งนี้ก็ไม่ตาย เรายังใช้ชีวิตได้บ้างตามปกติ แม้ตะกุกตะกักไปบ้างก็ตาม
การทำใจยอมรับได้ว่าในชีวิตจะมีบางวันที่รู้สึกไม่ดีที่นอนไม่หลับ เหมือนเรื่องอื่นที่คงไม่ได้ดั่งใจไปทั้งหมดก็เป็นอีกวิธีคิดที่ดี เพื่อให้เราไม่ต้องรู้สึกแย่ทุกครั้งเวลานอนไม่หลับ คิดเสียเหมือนตอนที่เราเป็นหวัดหรือท้องเสียอย่างช่วยไม่ได้ เรายังไม่เครียดอะไรมากมายเลย
ผมเคยได้รับคำแนะนำของอาจารย์จิตวิทยาการปรึกษาท่านหนึ่ง และผมคิดว่ามีคำแนะนำท่อนหนึ่งที่ช่วยลดความเครียดตอนนอนไม่หลับได้ดีคือ ‘ไม่หลับก็ไม่หลับ’ มันฟังดูกำปั้นทุบดิน แต่มันคือความจริงครับ เพราะการนอนหลับไม่ได้จากมาการพยายาม เราจะเครียดไปทำไมถ้าทำอะไรกับมันไม่ได้ ดังนั้นสู้ให้ร่างกายได้พักผ่อนแบบอื่นไป การนอนไม่หลับแต่ไม่เครียดอย่างน้อยมันก็ได้พักกาย และสมองเองถึงจะไม่ได้พักดีเท่านอนหลับ แต่จะพักได้ดีกว่าตอนเครียดแน่นอน ลองปล่อยวาง ให้มันผ่านคืนนี้ไปแล้วค่อยว่ากันใหม่พรุ่งนี้ พรุ่งนี้จะโทรมเป็นศพไปอีกวันก็ช่างปะไร ที่แน่ๆ เราจะไม่ตายเพราะนอนไม่หลับ เพราะถ้าถึงจุดหนึ่งร่างกายมันสุดทน จะเหมือนฟิวส์ขาดจนเราหลับแบบสลบไปเองครับ และคนทั่วไปมักจะไม่ค่อยถึงจุดนั้นกันหรอก ยกเว้นว่าจงใจหรือถูกบังคับให้ไม่นอน
ยาจิตเวชเองก็พัฒนาขึ้นทุกวัน ๆ ในอนาคตก็อาจจะมียาหรือหนทางรักษาอื่นๆ ที่ได้ผลกว่านี้ และทำให้รักษาง่ายกว่านี้ก็ได้ ขอให้มิตรรักชาวนอนไม่หลับทั่วโลกหลายพันล้านคนมีความหวังเข้าไว้ เพราะความหวังนั้นเป็นสิ่งสำคัญเหลือเกินกับการรักษาอาการทางใจทุกอย่างครับ
เอกสารอ้างอิง
Harvey, A. G., & Tang, N. K. (2012). (Mis) perception of sleep in insomnia: A puzzle and a resolution. Psychological bulletin, 138(1), 77.
Morin, C. M., Stone, J., Trinkle, D., Mercer, J., & Remsberg, S. (1993). Dysfunctional beliefs and attitudes about sleep among older adults with and without insomnia complaints. Psychology and aging, 8(3), 463
Trauer, J. M., Qian, M. Y., Doyle, J. S., Rajaratnam, S. M., & Cunnington, D. (2015). Cognitive behavioral therapy for chronic insomnia: a systematic review and meta-analysis. Annals of internal medicine, 163(3), 191-204.