- การเคารพซึ่งกันและกันโดยมองข้ามเรื่องเจนเนอเรชั่น ทำให้การทำงานราบรื่น ง่ายขึ้น และมีความสุขในการทำงานกับผู้อื่น
- สิ่งสำคัญในการทำงานร่วมกันคือ เด็กรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้จากคนรุ่นเก่า คนรุ่นเก่าก็ต้องเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่
- ทุกปัญหามีทางออกเมื่อเรามีสติ เราไม่ได้ถูกสร้างมาให้กระจอก เราถูกสร้างมาเพื่อให้ผ่านมันไปได้
“การทำงานร่วมกับผู้อื่น” หนึ่งในทักษะที่ทุกคนพึงมีใน ไม่มีทางที่เราจะอยู่คนเดียวในโลกหรือไม่ปฏิสัมพันธ์กับใคร ในโลกแห่งความจริง เราต้องเชื่อมโยงกับใครมากมายทั้งในระดับครอบครัว เพื่อน โรงเรียน ที่ทำงาน ซึ่งแต่ละสถานการณ์เราต่างต้องปรับตัวในลักษณะที่ไม่เหมือนกันเลย
หนังสือ ‘I hate my job อย่าปล่อยให้งานเป็นมารร้าย’ โดย ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ เจ้าของหนังสือหลายเล่ม อาทิ วัยว้าวุ่นรุ่น 30th มนุษย์สุดมโน ปัจจุบันเขาทำงานด้าน content management ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่พูดถึงปัญหาในที่ทำงาน จัดงานเปิดตัวไปเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมวงคุยชื่อเดียวกับหนังสือ ร่วมแลกเปลี่ยนอย่างสนุกสนานกับ บี อภิชาติ ขันธวิธิ จากเพจ HR The Next Gen
หัวใจสำคัญของวงสนทนาครั้งนี้ ชีวิตการทำงานที่เรียกร้องการปรับตัวของคนหลายเจเนอเรชั่น การทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นทักษะที่จะทำให้เราอยู่รอดและผ่านปัญหาไปได้
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การเห็นคุณค่าของตัวเองและเห็นคุณค่าของงานที่ทำ เพราะเมื่อไหร่ที่เราตอบตัวเองได้ว่า “เราทำงานไปเพื่ออะไร” ได้ เมื่อนั้นเราจะมีความสุขกับการทำงาน
I hate my job มาจากอะไร
ท้อฟฟี่: ทุกๆ วัน พอเราเปิดเฟซบุ๊ค นอกจากไลน์ที่เราเห็น สวัสดีวันจันทร์แล้ว เราจะเห็นคนโพสต์ว่า วันจันทร์อีกแล้ว แล้วคนรอบตัวจะเล่าให้ผมฟังเยอะว่าเบื่องานจังเลย แม้กระทั่งผม บางโมเมนต์ก็มีความรู้สึกเบื่องาน ผลสุดท้ายก็พบว่า เฮ้ย คนเรามีปัญหาเรื่องงานกันหมดเลยนี่หว่า
ตอนนั้นผมเลยตั้งคอลัมน์ใน The Standard ขึ้นมาชื่อ Game on, Bitch ให้คนส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานเข้ามาแล้วผมจะเป็นตอบ ซึ่งคำตอบที่ผมให้กลับไปมาจากการหล่อหลอมของเราที่ได้รับคำสอนจากรุ่นพี่ จากประสบการณ์ของรุ่นน้อง ตอนที่เราเป็นหัวหน้าเองกับตอนที่เราเป็นรุ่นน้องด้วย ทุกอย่างสั่งสมมาในตัวเราพอสมควร
ปัญหาระหว่าง GEN
อภิชาติ: จริงๆ เรื่องของเจเนอเรชั่นนั้นมีอยู่ ถ้าเรามองเรื่องเจเนอเรชั่น มันจะกลายเป็นปัญหาทันที 10-15 ปีที่แล้ว ทุกๆ บริษัทแม้แต่ตัวของเราเองก็โฟกัสเรื่องเจเนอเรชั่นค่อนข้างเยอะ แต่วันนี้เจเนอเรชั่นสำหรับผม ไม่ได้เป็นปัญหาหลัก เพราะไม่ว่าอย่างไรเราทุกคนต้องปรับตัวเข้าหากัน
ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเอาคำว่าเจเนอเรชั่นมาวางไว้ ปัญหาจะเกิดทันที เพราะจะเป็นการแบ่งแยก แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เรามองว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องปรับตัวเข้าหากันไม่ว่าเขาจะเป็นคนเจเนอเรชั่นไหนก็ตาม หรืออายุเท่าไหร่ก็ตาม หลายๆ ครั้ง หรือในอดีต เรามักโฟกัสว่าคนที่อยู่มาก่อนต้องปรับตัวเข้าหาเด็ก ต้องสปอยเด็ก ก็เด็กมันเป็นอย่างนี้เราต้องทำตามมันสิ จนกระทั่งตัวเด็กเองเหลิง
เหลิงในความรู้สึกว่า ก็ผมเป็นของผมแบบนี้ พวกพี่ต้องปรับหาผมนะ แต่ในปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ตัวเด็กเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะให้เกียรติคนเจเนอเรชั่นบนๆ ด้วยเหมือนกัน
วิธีการที่ทำให้ทุกเจนอยู่ร่วมกันได้ คือให้เกียรติซึ่งกันและกัน เด็กต้องเคารพผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เองก็ต้องรู้ว่าเด็กมีความเก่งบางอย่างที่เราไม่เก่งด้วยเหมือนกัน การเคารพซึ่งกันและกันโดยมองข้ามเรื่องเจเนอเรชั่น เรื่องอายุ จะทำให้การทำงานมันราบรื่น ง่ายขึ้น ไม่ว่าคุณจะอยู่เจนก็ตาม คุณจะมีความสุขในการทำงานกับผู้อื่น
ท้อฟฟี่: เจเนอเรชั่นที่ต่างกันในที่ทำงานมันเป็นเรื่องเดียวกับที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะเวลาเราอยู่ในสังคม เราไม่ได้อยู่แค่กับคนรุ่นเดียวกันตลอด เราเจอคนที่หลากหลาย
ผมมองว่าทุกคนมีประโยชน์ต่อองค์กรหมด ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานมานาน คนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ หรือกลางๆ ถ้าจะให้ดีในแต่ละองค์กรควรมีคนต่างกันสักสามเจเนอเรชั่นเพราะจะได้เห็นความหลากหลายของคน
ถ้าองค์กรมีแต่คนแก่อย่างเดียว เขาก็จะได้อย่างหนึ่ง ถ้าเด็กไปเลยก็จะได้อีกแบบหนึ่ง ไม่ได้ตอบว่าแบบไหนดีหรือไม่ดี แต่เหมือนกับการวิ่ง 100 เมตร ถ้าให้คนแก่วิ่ง 100 เมตร เขาก็จะถึงนะ แต่อาจจะใช้วิธีการอย่างหนึ่ง แต่เด็กเขาอาจมีวิธีการอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเราต้องมองให้เห็นว่าทุกคนมีศักยภาพและมีคุณค่า
คนรุ่นเก่าเป็นคนที่มีประสบการณ์ ผ่านอะไรมามากมาย แล้วผมก็บอกเด็กรุ่นใหม่ว่า เพราะเรามีคนเหล่านี้ บริษัทถึงยังอยู่นะ อยู่ให้น้องเหยียบย่ำด้วยซ้ำ น้องต้องมองให้เห็นว่า เขาเหล่านี้มีคุณค่าต่อองค์กร เด็กรุ่นใหม่ก็ต้องเป็นไปตามสเต็ปนั้นเหมือนกัน
คนรุ่นเก่าก็ต้องมองเห็นว่าเราเองก็มีศักยภาพ หลายครั้งคนรุ่นเก่าจะคิดว่าตัวเองตกรุ่นแล้ว ตอนนี้เป็นยุคดิจิตอลที่อะไรไ ก็เปลี่ยนได้ จริงๆ ต้องมองเห็นความสามารถในตัวเองจากการผ่านอะไรมาเยอะแยะ มันไม่ต่างจากตอนที่ยังเป็นจูเนียร์ แค่ตอนนี้ต้องเพิ่มเติมและเรียนรู้มากว่าเดิมเท่านั้น
เด็กรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้จากคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ก็ต้องเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่
รุ่นไหนสร้างปัญหาในที่ทำงานมากกว่ากัน
ท้อฟฟี่: จริงๆ มันก็ปนๆ กัน จะบอกว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากรุ่นไหน แต่เกิดจากใครทำอะไรมากกว่า ถ้าเราตัดสินแค่เพียงเพราะว่าเขาอยู่เจเนอเรชั่นไหน เราจะตัดสินคนได้ตื้นเขินมาก เราจะเห็นเขาได้เพียงแค่เปลือกเท่านั้น เด็กรุ่นใหม่บางคนรู้สึกว่าตัวเองเก่งมาก กร่างมาก จริงๆ มันแค่เสี้ยวเดียว ความเก่งของคุณมันน้อย ความเหลิงของคุณมันใหญ่มาก ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นเด็กหรือเขาเป็นผู้ใหญ่ แต่มันเป็นพฤติกรรมจริงๆ ของเขา คนแก่แต่กร่างก็มีเยอะแยะ ฉะนั้นอย่ามองแค่เจเนอเรชั่นแล้วตัดสิน
เราทำงานไปเพื่ออะไร
ท้อฟฟี่: คำถามที่ว่าเราทำงานไปเพื่ออะไร มันอยู่ในใจของทุกคนอยู่แล้ว ทุกวันนี้เราตื่นไปเพื่ออะไร เมื่อไหร่จะถึงวันที่ 25 สักที หรือเมื่อไหร่จะถึง 5 โมงเย็น แล้วเราก็ไม่มีความสุขกับงานเลย เราต้องถามตัวเองว่าเราทำงานเพื่ออะไร
ก่อนหน้านี้มีโอกาสทำโปรเจคท์หนึ่งในที่ทำงานเก่า ได้ไปคุยกับคนที่ทำงานว่า คุณทำงานไปเพื่ออะไร แล้วผมก็ไปรวบรวมคำตอบเหล่านี้มา
ผมพบว่าหลายคนไม่มีคำตอบกับเรื่องนี้ เพราะไม่เคยคิดว่าเราทำงานไปเพื่ออะไร มันเป็นเหมือนสเต็ปหนึ่งในชีวิตว่าจบมาแล้วก็ต้องทำงาน จนผมไปคุยกับพี่คนหนึ่ง เป็นพี่รปภ. ชื่อพี่บุญรอด ผมก็ถามเขาเหมือนกับที่ถามทุกคน “พี่ทำงานไปเพื่ออะไรครับ” สิ่งที่พี่บุญรอดตอบคือ
“ผมเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ผมดูแลความปลอดภัยของทุกคนในออฟฟิศ ถ้าทุกคนมาทำงานด้วยความปลอดภัย เขาจะกลับบ้านไปอย่างมีความสุข แล้วระหว่างที่ทำงาน จะทำอย่างมีความสุข เพราะว่าผมไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัยแล้ว ผมจะกลับเป็นคนสุดท้ายของวัน และผมจะมาเป็นคนแรกเพื่อดูความเรียบร้อย เพื่อให้ทุกคนทำงานอย่างปลอดภัย”
จากเคสพี่บุญรอดทำให้ผมถามตัวเองตลอดว่าผมทำงานไปเพื่ออะไร ผมรู้สึกว่ามันเป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง
คุณค่าของงาน คือคุณค่าของตัวเอง
ท้อฟฟี่: หลังจากได้คำตอบของพี่บุญรอด ผมกลับมาถามตัวเองว่าเราทำงานไปเพื่ออะไร ผมก็มาเจอคำตอบว่า ทุกงานมีความหมาย และผมอยากทำงานที่ทำให้คนอื่นเก่งกว่าตัวผม ผมไม่ใช่คนเก่ง ผมคือหนึ่งในคนที่มีปัญหาเหมือนกับทุกคนที่เขียนปัญหาเข้ามา ผมเป็นเหมือนเพื่อนนั่งฟังเขา ผมแค่ให้กำลังใจเขา
มีคนอ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วเขามีกำลังใจ เปลี่ยนจาก I hate my job เป็น I love my job แล้วเขาทำงานได้ดีขึ้น นั่นคือเขาเก่งกว่าผม
จริงๆ แล้วทุกงานมันไปช่วยคนอื่นๆ อยู่นะ เช่น เราเป็นช่างแต่งหน้า มันไปช่วยให้เขาสวยขึ้น ทำให้คนๆหนึ่งมีความมั่นใจมากขึ้น นี่เรากำลังช่วยคนอื่นอยู่ ถ้าเรากลับไปมองที่งานของเราเอง ถามว่างานเหล่านี้กำลังช่วยอะไรในตัวเอง และกำลังช่วยคนอื่นอย่างไร ทุกๆ วันเราจะตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกว่า “เรากำลังไปช่วยใคร”
บี อภิชาติ: ทุกงานมันทำให้เราเก่งขึ้น ทำให้เราเรียนรู้ ตอนนี้ที่เราเจอปัญหาอยู่ เราจะรู้สึกว่ามันใหญ่มาก มันต้องฆ่าเราตายแน่นอน แต่เมื่อเราผ่านมันไปแล้วปัญหามันจะเล็กมากเลย แม้ว่าระหว่างทางมันจะสาหัสมาก แต่เมื่อเราผ่านมันไปแล้ว ไม่มีอะไรฆ่าเราได้
เราต้องเชื่อมั่นก่อนว่าเราทำได้ ต้องเชื่อมั่นในตัวเอง ทุกปัญหามีทางออกหมดเมื่อเรามีสติ เวลาที่เรามีปัญหา เราจะรู้สึกกลัว เราจะคิดว่าปัญหานี้ใหญ่จังเลย ไม่มีสติ แต่เมื่อไหร่ที่เราตั้งสติได้ ทุกคนมันแก้ปัญหาได้หมด เราต้องเชื่อแบบนี้ก่อน…
…เราไม่ได้ถูกสร้างมาให้กระจอก เราถูกสร้างมาเพื่อให้ผ่านมันไปได้