- ฮาวทูทิ้งของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มองพฤติกรรมของตัวละครผ่านเลนส์จิตวิทยา เมื่อความสัมพันธ์คืองานกลุ่ม แต่ทุกคนมีฮาวทูจัดการกับความสัมพันธ์ในรูปแบบของตัวเอง
- “ถ้ามองที่มาที่ไปของการที่จีนทิ้งพี่เอ็มโดยไม่เผชิญหน้า เราจะเห็นว่าเขาเองเคยถูกคุณพ่อทิ้งมาก่อน เรารู้จักความเจ็บปวดนั้น ไม่มีใครอยากตอกย้ำความเจ็บปวดที่เคยได้รับมา พอเราโตขึ้น เริ่มมีความสัมพันธ์กับใครสักคน ก็มักจะเริ่มมีความคิดแว้บเข้ามาว่าถ้าเรามีความสัมพันธ์ต่อไปเราจะถูกทิ้งไหม แทนที่เราจะรอให้ได้รับความเจ็บปวดนั้น ขอเป็นคนจากไปก่อนดีกว่า” หนึ่งในเบื้องหลังความสัมพันธ์ของตัวละครใน ฮาวทูทิ้ง นี้
หากภาพยนตร์คือการบันทึกรูปแบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ เรื่องราวที่ฉายอยู่บนจอในเวลาไม่กี่ชั่วโมงจึงเป็นทั้งความบันเทิงและพื้นที่ให้เราได้เรียนรู้ผ่านความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นๆ พร้อมทั้งได้ย้อนกลับมาทบทวนตัวเอง และอย่างที่เรารู้กันดีว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้นแสนจะเปราะบาง บางวันเราอาจจะเป็นผู้กระทำ บางวันอาจจะเป็นผู้ถูกกระทำ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ แล้วเราจะดูแลแผลของตัวเองและแผลของคนอื่นต่อไปได้อย่างไร นี่คงเป็นโจทย์ให้ได้เรียนรู้แบบไม่มีวันสิ้นสุด
ภาพยนตร์เรื่อง ฮาวทูทิ้ง… ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ ผลงานกำกับและเขียนบทเรื่องล่าสุดของ เต๋อ- นวพล ธํารงรัตนฤทธิ์ หนังเล่าเรื่องของ จีน หญิงสาวที่เพิ่งเรียนจบกลับมาจากสวีเดน และต้องการจะเปลี่ยนบ้านให้เป็นโฮมออฟฟิศสไตล์มินิมอล เธอจึงต้องการเคลียร์ของออกจากบ้านให้เสร็จก่อนปีใหม่ แต่การเริ่มหยิบของใส่ถุงดำกลับกลายเป็นการผลักโดมิโนตัวแรกใส่กองความสัมพันธ์และความทรงจำที่จีนคิดว่าทิ้งไปได้แล้วให้กลับมาใหม่แบบที่ไม่ทันเตรียมใจตั้งรับ ทั้งเพื่อน แฟนเก่า แฟนใหม่ของแฟนเก่า พ่อ แม่ และพี่ชาย หนังพาเราไปนั่งดูการกระทบกันของโดมิโนแต่ละตัวผ่านการเก็บของ ทิ้งของ และคืนของ เหตุการณ์ธรรมดาๆ ที่ใครหลายคนเคยทำ และคงเพราะเป็นแบบนั้น ตัวหนังจึงทำงานกับประสบการณ์และความทรงจำของแต่ละคนจนสร้างกระแสตอบรับและพูดถึงพฤติกรรมของตัวละครที่หลากหลายมากมาก
หากความสัมพันธ์คืองานกลุ่ม แต่ในวันที่ใครคนหนึ่งเลือกจะใช้วิธีของตัวเอง แล้วมันส่งผลเป็นโดมิโนต่อคนอื่นอย่างไร เราจะรับมือและประคับคองกันและกันไปได้อย่างไร ชวนมาฟังบทสนทนาผ่านมุมมองจิตวิทยาความสัมพันธ์ ธรรมมะ และความรัก บนเวที ฮาวทูทิ้ง Q&A Week Psychology จิตวิทยาและความสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2563 ผู้ร่วมเสวนามีดังนี้
- เต๋อ นวพล ธํารงรัตนฤทธิ์ ผู้เขียนบทและผู้กำกับ
- ดร.กุลวดี ทองไพบูลย์ นักจิตวิทยาคลินิก
- ดร. ณัชร สยามวาลา นักเขียนและนักดาบผู้สนใจเรื่องสติและสมอง
- และดีเจพี่อ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล แห่งรายการ คลับฟรายเดย์
จีน – การทิ้งและเก็บ ความรู้สึกผิดในใจ
จีนเป็นตัวละครที่มีความเห็นสะท้อนกลับมาจากคนดูแบบสุดขั้วมาก ทั้งเข้าใจ สงสาร เกลียด สมน้ำหน้า และเห็นแก่ตัว จีนคือหญิงสาวที่บอกลาแฟนที่สนามบินแล้วไม่ติดต่อเขากลับไปอีกเลย เธอเหมือนคนไม่มีหัวใจ ที่สามารถโยนทุกสิ่งลงถุงดำแล้วใช้ชีวิตต่อไปได้ แต่แท้จริงแล้วอะไรทำให้จีนทำแบบนั้น จีนยังมีหัวใจไหม แล้วเราจะเข้าใจจีนได้อย่างไร เริ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก่อนโดยดร.กุลวดี ในมุมจิตวิทยาเด็ก
“เราตั้งสมมติฐานว่าในอดีตเขาคงเจ็บปวดมามากกับการถูกคุณพ่อทิ้ง เขาเคยมีช่วงเวลาดีๆ ร่วมกัน พอวันที่คุณพ่อจากไปซึ่งเป็นช่วงที่เขากำลังเป็นวัยรุ่นหรือช่วงวัยเด็กพอดี เด็กๆ มักเกิดการตั้งคำถามว่า มันเป็นเพราะฉันรึเปล่า? ฉันมีส่วนผลักให้เขาต้องเดินออกไปจากชีวิตรึเปล่า? นี่จึงเป็นความรู้สึกที่จีนแบกไว้ เพราะฉะนั้นการที่จีนไขว่คว้าไปเรียนต่อ ก็เพื่อที่จะเขียนเรื่องราวของตัวเองขึ้นใหม่ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของตัวเอง
“พอจีนมีความสัมพันธ์แบบแฟน ถ้าเรามองที่มาที่ไปของการที่เขาทิ้งพี่เอ็มโดยไม่เผชิญหน้า เราจะเห็นว่าเขาเองเคยถูกคุณพ่อทิ้งมาก่อน เวลาถูกทิ้งเรารู้จักความเจ็บปวดนั้น ไม่มีใครที่จะอยากตอกย้ำความเจ็บปวดที่เคยได้รับมา พอเราโตขึ้น เริ่มมีความสัมพันธ์กับใครสักคน ก็มักจะเริ่มมีความคิดแว้บเข้ามาว่าถ้าเรามีความสัมพันธ์ต่อไปเราจะถูกทิ้งไหม แทนที่เราจะรอให้ได้รับความเจ็บปวดนั้น ขอเป็นคนจากไปก่อนดีกว่า
“หลายคนเลยเลือกที่จะเป็นฝ่ายทิ้งก่อน จะได้ไปต่อได้โดยไม่ต้องรับรู้ความเจ็บปวด ถ้ามองในเชิงจิตวิทยามันเป็นกลไกการป้องกันตัวเอง (Defense mechanism) แบบหนึ่ง ซึ่งในแต่ละตัวละครก็มีการป้องกันตัวเองที่ไม่เหมือนกัน
“จีนใช้การใช้เหตุผลมาอธิบายสิ่งที่ตัวเองทำ (Rationalization) เช่น เราไปเรียนต่อเพื่ออนาคตที่ดีกว่า เอ็มจะอยู่ได้ ดีแล้วที่เขาไม่มีเรา ซึ่งนี่อาจจะเป็นกลไกการป้องกันตัวเองอีกแบบของจีน ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่แย่ ทุกคนมีเหมือนกันหมด แล้วมันเป็นธรรมชาติของเราที่จะปกป้อง self ของตัวเองหรือทางจิตวิทยาเรียกว่า Ego เวลาเรารู้สึกไม่ดี เราก็อยากปกป้องตัวตนของเราไม่ให้ได้รับความเจ็บปวด เพื่อไม่ให้เราเองรู้สึกไม่ดีกับสิ่งที่ทำ”
“จริงๆแล้วจีนเขาหนีสถานการณ์หลายอย่าง หนีการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด แต่ในขณะเดียวกัน การเป็นจีนมันต้องใช้ความกล้าอย่างมาก ในการที่จะตัดสินใจทำอะไรที่เขาไม่เคยทำ เช่น เผชิญหน้ากับความรู้สึกตัวเอง กว่าเขาจะมาถึงคำพูดนี้ได้ กว่าจะตัดสินใจเอาของไปคืนคนอื่นๆ ในชีวิตได้ จีนต้องใช้พลังอย่างมากที่จะผลักดันให้ตัวเองสามารถทำได้ อยากให้เครดิตเขานิดนึง มันแค่ยังมีปมอะไรบางอย่างที่เขายังก้าวข้ามไม่ได้”
ขณะที่ดีเจพี่อ้อยเสริมว่า “ในเรื่องคือการที่จีนทิ้งของ แต่พอเราดูจบกลับรู้สึกว่าจีนไม่ได้ทิ้งอะไรสักอย่างเลย จีนสะสมความรู้สึกผิดในใจไว้ทั้งเรื่อง คิดว่าการเอาของไปคืนคือการไถ่โทษ ในคลับฟรายเดย์ เราจะเจอความสัมพันธ์ประเภทที่ถ้าบอกรักจะบอกต่อหน้า แต่ตอนบอกลาใช้หายเงียบ ซึ่งมีคนเยอะมากที่ทำแบบนี้เพราะกลัวจะรู้สึกผิด ฉะนั้นเราไม่ต้องรักหรือต้องเกลียดจีน เขาก็คือคนๆ หนึ่งที่ก็เหมือนคนคนอื่นๆ อีกมากในยุคนี้ ที่กล้าใช้คำว่า ‘มีมาก’ ในยุคนี้เพราะตอนนี้มันเป็นยุคที่เราใช้คำว่า ‘รักตัวเอง’ เยอะ รักตัวเองแต่ก็เริ่มไปเบียดเบียนคนอื่น เช่น ‘คิดว่าฉันทำขนาดนี้เธอต้องรู้แล้วล่ะ’
“สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ หนังสะกิดเราให้คิดว่าเคยมีบางพาร์ทที่เราเป็นเหมือนจีนรึเปล่า เคยมีบางพาร์ทที่เรากลัวความรู้สึกผิดจนไม่สามารถตัดความรู้สึกผิดนั้นออกไปได้ไหม ต่อให้เอาของไปคืนก็ไม่จบง่ายแค่นั้นเพราะยังรู้สึกผิดอยู่ดี ความรู้สึกผิดเป็นความรู้สึกที่ประหลาดค่ะ ยิ่งหนีมันยิ่งอยู่ ความรู้สึกผิดบางทีคือการที่เราต้องเผชิญหน้ากับมัน ไม่ต้องทิ้ง ไม่ต้องเก็บ แค่ยอมรับความจริง”
ถึงตอนนี้ นวพล ในฐานะผู้กำกับและเขียนบทกล่าวว่า “ทุกตัวละคร เราเขียนด้วยความรัก ทุกตัวมีปมบางอย่างที่แก้ไม่ได้แล้วมันไม่รู้จะทำยังไง บางอย่างเราทำผิดไปแล้ว เราควรทำไงดี? เราเหมือนจะเห็นประตูทางออกแต่เราไม่รู้จะเดินไปถึงยังไง แล้วบางทีก็เดินผิดทาง เรื่องยิ่งแย่ไปกว่าเดิม”
“อย่างฉากสุดท้ายที่เราเขียนให้จีนโกหก มันน่าจะคล้ายๆ ที่อ.กุลวดีพูดว่า มันคือการที่เขาเขียน narative (เรื่องเล่า) ขึ้นใหม่ เหมือนอย่างที่เอ็มพูดว่า ‘คนเราอยากเห็นเฉพาะสิ่งที่เราอยากเห็น’ เราจะสร้างความจริงของเราขึ้นมาให้เรารอดพ้นสิ่งนั้นไปได้ เช่น เราอาจจะทำผิดพลาดไปแล้วบอกตัวเองว่ามันไม่เป็นไร เขาน่าจะโอเค ซึ่งจริงๆ เขาอาจจะไม่โอเค แต่กูบอกตัวเองว่าแม่งโอเค ไม่งั้นเดี๋ยวกูผ่านบล็อคนี้ในจิตใจไปไม่ได้”
เอ็ม – สิทธิในการให้และไม่ให้อภัย
ชายหนุ่มที่ถูกแฟนสาวทิ้งไปแบบไม่มีสัญญาณบอกล่วงหน้าและไม่มีแม้คำลาสักคำ เขาเดินหน้าต่อกับชีวิตและมีแฟนคนใหม่ สามปีผ่านไปแฟนคนเก่าเดินกลับมาพร้อมคำขอโทษและเอ่ยปากให้เขาด่าเธอสักคำ สิ่งที่เอ็มตอบกลับมีเพียง “เธอจะให้เราด่าอะไรล่ะ เราดีใจที่ได้เจอเธอ” และการที่เขาเลือกจะเดินหน้าต่ออีกครั้งด้วยการทิ้งแฟนใหม่มันคือการเดินหน้าหรือเปล่า
“พ้อยท์หนึ่งที่ผมโน๊ตไว้ตอนเขียนบทคือ มันเป็นเรื่องที่คนชอบบอกว่าเวลาเราทำผิดต่อใคร เราควรจะเดินไปขอโทษเขาอย่างกล้าหาญ แล้วถ้าเขามาขอโทษแล้ว เราก็ควรจะให้อภัย เลยมีคำถามว่าคนเรามีสิทธิในการที่จะไม่ให้อภัยหรือเปล่า?”
นวพลกล่าวเสริมอีกว่า “เอ็มเป็นตัวละครที่ move on ในแบบของมันเอง เพราะจริงๆ แล้วเอ็มไม่เคยบอกว่า ‘เธอกลับมาหาฉันเถอะ’ มันแค่ ‘เธอไปเถอะ เธอไปแบบเธอ แล้วฉันจะไปในแบบฉัน’ ฉันจะทิ้งอีกคนมันก็เป็นวิธี move on ถ้าคนที่ไม่เคยอยู่ในความรู้สึกนี้จะรู้สึกว่าทำไมมันทำแบบนี้ หรือรู้สึกว่าเขาจม แต่จริงๆ มันเป็นวิธี move on อีกแบบหนึ่ง”
ขณะที่ดร.กุลวดี กล่าวเสริมว่า “เรามีสิทธิที่จะเลือกให้อภัยหรือไม่ให้อภัยก็ได้ บางครั้งเราอาจจะถูกคนรอบข้างกดดันว่าเราต้องให้อภัย มันผ่านมานานแล้ว ให้อภัยแล้ว move on สิ ถ้าเราเลือกที่จะให้อภัย เราควรให้เมื่อเราพร้อม เพราะการที่จะให้อภัยได้เราต้องรับรู้ว่าเราสูญเสียอะไรบางอย่าง ต้องผ่านกระบวนการสูญเสียก่อน อาจจะเป็นไอเดีย เป็นความคิด หรือความคาดหวังกับความสัมพันธ์ เมื่อเราผ่านตรงนั้นแล้ว ต่อมาเราถึงจะมาทำงานกับความเสียใจจากความสูญเสีย (grief) แล้วสเต็ปต่อไปถึงจะเป็นการให้อภัยได้ ฉะนั้นแต่ละคนมีความพร้อมที่จะให้อภัยไม่เหมือนกัน การให้อภัยมันไม่จำเป็นต้องมีคนสองคน เราทำเพื่อตัวเราเอง ทำเพื่อที่เราจะได้ไปข้างหน้าได้ ซึ่งเราไม่จำเป็นจะต้องให้อภัยถ้าเรายังไม่พร้อม เพราะบางคนเขาก็ทำกับเราแรง บางคนมันก็ให้อภัยยาก เรา move on ด้วยวิธีอื่นๆ ได้ เราจัดการกับความรู้สึกตัวเองได้”
ดร.ณัชร ให้ความเห็นว่า “ที่จีนเขาเป็นทุกข์ เพราะเขาไปขอโทษแล้วเขามีความคาดหวังว่าทุกคนจะให้อภัยหรือดีใจที่ได้ของคืน พอมันไม่เป็นไปตามความคาดหวัง เขาก็รู้สึกแย่ ถ้าเป็นทางพุทธศาสนา การให้อภัยก็เพื่อจิตใจเราเอง มันไม่ใช่การเห็นแก่ตัว แต่คือคนที่สามารถประคองใจให้เป็นกุศล คือขอโทษ ขออโหศิกรรมเขาไป เขาจะให้อภัยไม่ให้อภัยเป็นเรื่องของเขา แต่ว่าเราได้ทำแล้ว ส่วนเอ็ม มันกลับไปที่ใจของเอ็ม ถ้าเขายังไม่ให้อภัยหรือยังคิดที่จะเอาคืน ในที่สุดแล้วคนที่เสียใจมันคือตัวเอ็มเอง ถ้าในตัวเขายังไม่จบ ความรู้สึกมันก็จะตามไปทุกหนทุกแห่ง เพราะคนที่ไม่ได้พูดเรื่องจริง ในใจลึกๆมันก็รุ่มร้อนเอง”
ดีเจพี่อ้อย กล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า “พี่ไม่รู้สึกว่าเขาไม่ให้อภัยนะ เอ็มให้อภัย แต่พอเป็นในเรื่องความรัก ฉันให้อภัยแล้วทำไมไม่กลับมารักกัน บางทีมันแค่นี้ อภัยแล้วแต่เขายังไม่ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ เรารู้ว่าเวลามันเดินหน้าต่อไปแล้ว มันเหมือนเวลามีคนโทรเข้ามาในรายการ ‘พี่คะหนูนอกใจแฟน หนูทำดีกับเขาทุกอย่างชดใช้ แต่ทำไมเขาไม่ให้อภัยสักที’ อันนี้เรียกว่าเอาแต่ใจค่ะ ตอนแกทำเขาเจ็บแกเห็นภาพเขาจะลงไปตายต่อหน้าไหม แต่พอตอนที่เราจะกลับไป เราเห็นแค่ว่าชั้นอุตส่าห์ทำขนาดนี้แล้ว ทำไมเธอไม่ move on จากเรื่องเดิมๆ …ไม่ได้ค่ะ
ทุกคนมีสิทธิที่จะประคองหัวใจตัวเอง พอเราเชื่อว่าคนที่ขอโทษแล้วควรได้รับการให้อภัยเสมอ มันไม่จริงนะคะ ต่อให้ธรรมะสอนให้เราให้อภัย แต่มันได้มากได้น้อยแต่ละคนไม่เหมือนกัน
“ในอีกมุมนึง การ move on ของแต่ละคนมันต่างกัน เอ็มอาจจะใช้วิธีดึงใครสักคนเข้ามาในชีวิตและคิดว่านี่คือการ move on สิ่งนี้คือสิ่งที่เราพูดกันอยู่เสมอว่า ถ้าคนเก่ายังอยู่ในใจอย่าดึงคนใหม่เข้ามาเจ็บ การดึงคนใหม่เข้ามาประชดคนเก่า มันมีภาพแบบนี้อยู่ ซึ่งในเรื่องนี้มันเป็นอีกภาพหนึ่งให้เราเห็นว่าการที่ดึงคนใหม่เข้ามามันไม่ได้ทำให้เราเจ็บน้อยลงนะ ไม่ว่าจีนจะกลับหรือไม่กลับ มันยังมีความรู้สึกบางอย่างอยู่เสมอ แล้วอีกหน่อยมันจะไปเจอโจทย์ต่อไปว่า เห้ย เขาก็เป็นคนดีนะ ดีขนาดนี้ทำไมไม่รักเขาวะ แต่คนที่รักหรือรู้สึกรักจะเข้าใจเลยว่าความรักมันไม่เคยใช้เหตุผล เข้าใจว่าเขาดีแต่ก็ไม่ได้รักขนาดนั้น แล้วความรู้สึกทุกอย่างมันเลยชัดเจนตอนคนเก่ากลับมาว่านี่ไงคือคนที่รัก เอ็มอาจจะเป็นคนธรรมดาคนนึงที่ใช้วิธีดึงคนใหม่เข้ามาแทนคนเก่า แล้วพบว่าตัวเองใช้วิธีเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา”
แม่ – ฉันอยู่ของฉันแบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว
ผู้หญิงที่ยินดีที่จะร้องคาราโอเกะแค่เพลงเดียว อยู่ในห้องเดิม เปียโนตัวเดิม และความหวังว่าวันหนึ่งสามีคนเดิมอาจจะกลับมาเล่น การอยู่กับสิ่งเดิมๆ นับเป็นการ move on ได้หรือไม่?
นวพลเริ่มก่อนว่า “ตัวละครนี้มันลึกลงไปอีกสเต็ปหนึ่ง เขาคือคนที่ยินดีที่จะอยู่กับอดีต มันเลยเกิดการต่อสู้ระหว่างคนที่บอกว่า ‘เห้ย อยู่ในห้องนี้แล้วมันไม่ move ไปสักที ออกมาเถอะ ออกมาดีกว่า’ แต่บางคนเขาไม่ได้รู้สึกว่าเขาจะต้อง move เขาอยู่ในเซฟโซนนี้ก็ดีแล้ว แม้ว่ามันอาจจะเป็นพิษหรืออะไรก็ตาม แต่เขายินดีที่จะอยู่”
“จริงๆ ทุกตัวละครยังเชื่อลึกๆ ว่าพ่อจะกลับมา ซึ่งคนที่รู้สึกเยอะคือแม่กับจีน เพียงแต่เขามีวิธีจัดการกับความหวังนี้กันคนละแบบ จีนคือโทรไปถามแล้วแต่เขาไม่มาแล้ว จบเถอะ แล้วเราไปสู่สิ่งอื่นกันดีกว่า ส่วนแม่เขาไม่สนใจแล้ว เขาไม่อยากฟัง เขาไม่อยากเพิ่มข้อมูลใหม่อีกแล้ว เขาขออยู่แบบนี้ ลึกๆ เขากลัวว่าถ้าเขารู้แล้วเหมือนฝันมันพัง ซึ่งเขาอาจจะอยู่ในสถานการณ์นั้นไม่ได้มากกว่า ถ้าตัวละครมองกันและกัน มันจะตัดสินกันว่าตัวนี้ move ตัวนี้จม แต่ในมุมคนเขียน เรามองว่ามันเป็นวิธี move on ของเขานะ แต่มันดันโชคไม่ดีที่วันนี้ทางของแต่ละคนมันมาชนกันแล้วมันเลือกได้แค่อย่างเดียว”
ดีเจพี่อ้อยกล่าวตบท้ายหัวข้อนี้ว่า “แม่ก็มีวิธี move on ในแบบของแม่ แล้วเราอย่าลืมว่าแม่อยู่กับอดีตมานานกว่าลูกนะ ลูกเกิดมากี่ปีที่เห็นพ่อ แม่เขาเห็นตั้งแต่พาร์ทที่เขารักกัน การ move onของเขาคือการร้องเพลงเดิมๆ แต่เขาก็มีความสุขของเขา ไม่งั้นแม่คงทุกข์ทรมานมากกว่านี้”
เจย์ – คนกลางและคนซัพพอร์ท
พี่ชายที่คอยซัพพอร์ทน้อง และลูกชายที่คอยซัพพอร์ทแม่ ตัวกลางที่ประคับประคองทั้งแม่และน้องสาวให้ผ่านการถูกทิ้งไปให้ได้ เมื่อต้องรับบทเป็นพยาบาลทำแผลให้คนรอบข้างแล้วตัวเขามีวิธีจัดการกับบาดแผลของตัวเองอย่างไร
ดร.กุลวดี ให้ความเห็นในมุมจิตวิทยาว่า “เจย์คือคนกลางระหว่างการปะทะของเเม่กับจีน บางครั้งคนที่สามารถจัดการสิ่งต่างๆ ได้อย่างเจย์ จึงเป็นตัวละครหนึ่งที่ไม่แสดงความรู้สึกแล้วก็ไม่เคยมีใครถามถึงความรู้สึกของเขาเลย ตัวละครแบบนี้มันมีมากในชีวิตจริง คนแบบที่สามารถจัดการอะไรได้ในครอบครัว เช่น ลูกคนโต เรียนได้ดี จัดการบริหารชีวิตตัวเองได้ ในขณะที่คนเล็กต้องใช้ความพยายามเยอะ พ่อแม่ต้องใส่ใจเยอะกว่า พ่อแม่ก็จะไปโฟกัสกับลูกคนเล็กมากกว่า มันเลยเหมือนเป็นการทำโทษคนที่สามารถจัดการฟังค์ชั่นในชีวิตตัวเองได้ ว่าเขาต้องทำได้ตลอด แล้วก็ละเลยเขาไป ซึ่งบางครั้งในชีวิตของคนเรา เราจะมีบางพาร์ทที่รับบทนี้อยู่ เหมือนเราจัดการได้ทุกอย่าง แต่ในขณะเดียวกันเราก็เป็นคนที่ถูกละเลย ด้วยความที่เราสามารถจัดการทุกอย่างได้”
บางครั้งในชีวิตของคนเรา เราจะมีบางพาร์ทที่รับบทนี้อยู่ เหมือนเราจัดการได้ทุกอย่าง แต่ในขณะเดียวกันเราก็เป็นคนที่ถูกละเลย ด้วยความที่เราสามารถจัดการทุกอย่างได้
“เพราะงั้นถ้ามองที่ตัวเจย์ เชื่อว่าเขาเองก็เจ็บปวดไม่แพ้จีนกับเหตุการณ์นี้ แต่เจย์อาจจะต้องสเต็ปอัพขึ้นมาเพื่อที่จะประคับประคองครอบครัวนี้ทั้งแม่และจีนที่เขามีวิธี move on จากเรื่องที่เกิดขึ้นต่างกันสุดขั้ว เจย์เลยเป็นคนกลางที่ประคับประคองให้ครอบครัวนี้อยู่ได้ อาจมองสิ่งที่เจย์ทำได้ว่า เจย์เหมือนตัดขาดความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งภาษาจิตวิทยาเรียกว่า Intellectualization คือไม่อนุญาตให้ตัวเองรับรู้ความรู้สึกซึ่งเป็นกลไกการป้องกันตัวอีกรูปแบหนึ่ง ถ้าเราชวนเจย์คุย เขาจะพูดถึงความคิด แต่จะไม่พูดถึงความรู้สึกเลย เพราะว่าถ้าเขารับรู้ความรู้สึกเมื่อไหร่ ตัวตนเขาจะเซ การรู้สึกเจ็บปวดมันอาจจะไปกระตุ้นความรู้สึกและบางอย่างในตัวซึ่งทำให้เขาไม่สามารถที่จะดำเนินชีวิตหรือประคับประคองครอบครัวนี้ต่อไปได้ แต่ไม่ถึงขั้นทำหน้าที่แทนพ่อ ประคับประคองในที่นี้หมายถึง ถ้ามีการปะทะเขาจะเป็นบัฟเฟอร์ เป็นคนซัพพอร์ทคนอื่น ซึ่งจริงๆ แล้วเรามีคนแบบนี้เยอะ เราหลายคนในช่วงชีวิตก็เคยอยู่ในตำแหน่งนี้ การเป็นผู้ดูแลทุกคนจนบางครั้งเราละเลยที่จะดูแลความรู้สึกตัวเอง หรืออนุญาตให้ตัวเองรับรู้ความรู้สึก เราเจ็บได้ เราโกรธได้ แล้วเราก็แสดงออกอย่างเหมาะสมได้ในแบบเรา”
ดีเจพี่อ้อย “ในเรื่องมันจะมีการพูดว่ายุคนี้มันเป็นยุคของเราแล้วนะว้อย พี่มองว่าเจย์กับจีนเป็นคนยุคเดียวกัน แต่เจย์เป็นคนรับฟังคนอื่น รับบทที่จะพาแม่ไปเที่ยว จีนบอกให้เก็บบ้านก็เก็บ แล้วเขาก็เป็นพี่แบบที่โอบน้องอยู่ตลอดเวลา สำหรับพี่เจย์อาจจะไม่ถึงกับละเลยความรู้สึกของตัวเอง แต่เจย์เป็นคน gen นี้ที่ยังพยายามจะเข้าใจในมุมมองของคนอื่นบ้าง มันคือการหาสมดุลระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ ถึงเข้าใจในเหตุผลแต่บางทีอารมณ์มันทำให้เราอยู่กันได้อย่างมีความสุข”
มี่ – ไม่เป็นไร เราเข้าใจ
หญิงสาวคนรักใหม่ของเอ็ม ที่อยู่บนความกลัวว่าวันหนึ่งแฟนเก่าของเขาจะกลับมา และเมื่อวันนั้นมาถึงจริงๆ เธอก็ถูกเขาทิ้งอย่างที่กลัวจริงๆ ในคำว่า ’ไม่เป็นไร เราเข้าใจ’ เธอเข้าใจจริงๆไหม และไม่เป็นไรจริงๆ ใช่ไหม
ดร.ณัชร ให้ความเห็นว่า “การโดนทิ้งมันขึ้นอยู่กับว่าจบยังไง สมมติพ่อแม่เขาไม่ชอบเรา มันทำอะไรไม่ได้ นี่คือจบสวย คุยกันเข้าใจ แต่ถ้ากรณีสุภาพสตรีโดนทิ้ง เชื่อว่าคำถามแรกที่ขึ้นมาคือ ทำไมต้องเป็นฉัน? ทำไมทำให้ขนาดนี้แล้ว…? ทำไมๆๆๆ แต่ถ้าฝึกสติก็จะเข้าใจว่ามันก็แค่นี้เอง ไม่เราทิ้งเขา เขาก็ทิ้งเรา พลัดพรากเป็นเรื่องธรรมดา ทีนี้เข้าใจจริงหรือไม่ มันอาจจะพูดแค่ให้อีกฝ่ายรู้สึกดี เขาก็เข้าใจในระดับหนึ่ง เข้าใจในระดับเหตุผล สมองเขาเข้าใจแต่หัวใจเขาไม่ได้เข้าใจ มันเลยยังทุกข์มาก มันก็ยังตัดไม่ได้”
ดีเจพี่อ้อย ให้ความเห็นเสริมว่า “คนแบบมี่คือคนที่โทรเข้ามาในรายการคลับฟรายเดย์มากที่สุด ประโยคที่พูดกันบ่อยคือ ‘เข้าใจค่ะ แต่ยอมรับได้มั้ยมันคนละเรื่อง’ ฉันเข้าใจว่าเธอรักแฟนเก่ามากแล้วเขากลับมา แต่สิ่งที่ไม่ยอมรับคือ แล้วฉันไม่มีสิทธิในการเดินหน้าต่อหรือ มี่เข้าใจแหละแต่เขาก็ไม่ได้ยอมรับหรอก แต่มันทำไงได้ หลายๆ ครั้งที่เราเห็นคนคนหนึ่งแล้วรู้สึกว่าเขาทำได้ไง ยอมทำใจยอมเข้าใจได้อย่างไร แต่จริงๆ แล้วกว่าจะถึงจุดทำได้ไง มันผ่านจุดทำไงได้มาแล้วทั้งนั้นแหละ มี่เป็นคนหนึ่งที่อยู่ตรงนั้น ปัญหาไม่ใช่แฟนเก่าของเขากลับมานะ แต่คือคนของเรายังลืมแฟนเก่าไม่ได้ต่างหาก จากการที่ฟังเรื่องในรายการมาสิบห้าปี เราเห็นรูปแบบแล้วว่า บางทีคนเก่าเขาไม่ได้กลับมาด้วยนะ แต่มันมีอะไรก็ไม่รู้ที่ทำให้เรารู้สึกเสมอว่าเหมือนมีเงาอีกคนทาบอยู่บนตัวฉัน ไม่วันใดก็วันนึงไม่ว่าจีนจะกลับมาไหม วันหนึ่งข้างหน้ามันก็เดินไปไกลได้ยากเพราะความทรงจำของเขายังชัดเจนมากอยู่ แค่นั้นเอง”
ดร.กุลวดีให้ความเห็นปิดท้ายว่า “เหตุผลกับความรู้สึกมันแยกจากกันนะคะ เราเข้าใจได้ด้วยเหตุผล แต่ความรู้สึกเรามันเป็นของเรา ที่นี้ ณ วันที่หลายๆ คนพูดว่าฉันเข้าใจนะ เราทำใจได้แล้ว เราไม่โกรธ เราไม่เสียใจ เราโอเค เราเข้าใจด้วยเหตุผล แต่ก่อนที่เราจะเริ่มจัดการกับอะไรในตัวเองได้ เราต้องยอมรับก่อนว่าเรามีความรู้สึกมีอารมณ์นั้น เราเสียใจนะ เราเจ็บนะ เราโกรธเขานะ แล้วเมื่อนั้นเราถึงจะเข้าสู่กระบวนการที่เราจะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ ถ้าเรายังปฏิเสธอยู่ เราบอกตัวเองว่าเราโอเค เราทำใจได้แล้ว มันก็เหมือนเราไม่ได้เริ่มกระบวนการที่จะจัดการกับความรู้สึกตรงนั้นซะที”