- Honey Boy เรื่องจริงของนักแสดงไชอา ลาบัฟ (Shia LaBeouf) กับวัยเด็กที่ต้องใช้ชีวิตกับพ่อที่เพิ่งออกจากคุกในข้อหาค้ายา ติดเฮโรอีน เพิ่งหายจากภาวะแอลกอฮอลิค อาศัยอยู่กับโอติสในโมเต็ลเก่าที่คนข้างบ้านเรียกมันว่า ‘แหล่งซ่องสุม’ บทภาพยนตร์เรื่องนี้เขียนขึ้นจากไดอารีขณะเข้าบำบัดอาการ PTSD สภาวะเจ็บ (ปวด) ป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง
- ชั้นแรกมันคือการกลับไปทบทวนชีวิตวัยเด็กที่ทิ้งร่องรอยในตัวเขาผ่านการเขียน อีกชั้น มันคือการกลับไปทำความเข้าใจคนเป็นพ่อผ่านการสวมบทเป็นพ่อเขาเองในภาพยนตร์เรื่องนี้
“The only thing that dad gave me was pain, and you are going to take that away?”
“Can I?”
สิ่งเดียวที่พ่อให้ผมมาคือความเจ็บปวด แล้วคุณยังจะเอามันไปอีกหรือ?
เอาไปได้หรือ?
สำหรับฉัน ไดอะล็อกนี้ไม่ใช่บทที่เจ็บปวดที่สุดในภาพยนตร์ Honey Boy แต่มันเหมือน ‘โอติส’ หมดสิ้นแล้วทุกสิ่งอย่าง เพราะแม้แต่ความเจ็บปวดที่พ่อทิ้งไว้และนี่คือสิ่งที่เขาใช้หล่อเลี้ยงมันในชีวิต
แค่นี้ คุณ-นักบำบัด ก็คิดว่าเราไม่ควรเก็บมันไว้ ต้องการให้เราทิ้งมันไป อย่างนั้นหรือ?
แต่แทนที่จะตอบคำถาม นักบำบัดกลับสวนกลับทันที “Can I?” ฉันเอาได้เหรอ? ก็เหมือนยิ่งตบหน้าว่า คงมีแต่เจ้าของความทรงจำเท่านั้นที่จะทำความเข้าใจแล้วค่อยๆ ปล่อยมันไป
Honey Boy คือเรื่องของ ‘โอติส’ เด็กหนุ่มอายุ 12 ปี ขณะนั้นเขากำลังเป็นนักแสดงเด็กถ่ายทำซีรีส์ครอบครัวเรื่อง Even Stevens เผยแพร่ทางช่องดิสนีย์ และ ณ วัยนั้น ณ วันนั้น โอติสเองก็ไม่รู้ว่าเขาจะไปรอดกับอาชีพนี้รึเปล่า บทของโอติสใน Even Stevens เป็นเด็กธรรมดาทั่วไปที่เรียกร้องต้องการความรักจากพ่อ ต้องการให้พ่อ (ในซีรีส์) ทำตัวเป็นพ่อที่ปกป้องลูกบ้างและทำซักที ขณะที่พ่อของโอติสในชีวิตจริงคืออดีตตัวตลกโรดิโอ (Rodeo การแสดงการขี่ม้าผาดโผนโจนทะยาน) อดีตทหารในสนามเวียดนามที่เพิ่งออกจากคุกในข้อหาค้ายา (แถมออกมาแล้วก็ยังปลูกต้นกัญชาริมถนนและมีเทศบาลเป็นคนรดน้ำให้อย่างดี, แสบชะมัด) ติดเฮโรอีน เพิ่งหายจากภาวะแอลกอฮอลิค อาศัยอยู่กับโอติสในโมเต็ลเก่าที่คนข้างบ้านเรียกมันว่า ‘แหล่งซ่องสุม’
นี่ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ของพ่อลูก แต่ยังเป็นเจ้านายกับลูกน้อง โอติสคือเจ้านาย เขาจ้างพ่อตัวเองมาเป็นคนดูแลนักแสดง ช่วยซ้อมบท และอยู่เป็นเพื่อน ขณะที่มีแบ็คกราวด์ลึกลงไปอีกว่า พ่อกับแม่โอติสเลิกกันตั้งแต่เขาอายุ 3 ขวบ โอติสอยู่กับแม่ที่ซาน เฟอร์นันโด วัลเลย์, ลอสแองเจลิส ตั้งแต่นั้นจนกระทั่งวันหนึ่งมีคนบุกเข้ามาในบ้านและข่มขืนแม่ของเขาแล้วหนีหายไป วันนั้นโอติสอายุ 10 ขวบ วันนั้นเขาอยู่ในบ้านด้วย
ทั้งหมดข้างต้นคือโอติสในพาร์ทเด็ก แต่หนังตัดสลับชีวิตของโอติสในวัยผู้ใหญ่ด้วย วัยที่เขาคุยกับนักบำบัด – ไดอะล็อกที่เขียนถึงในย่อหน้าแรก โอติสในพาร์ทนี้คือโอติสที่เป็นนักแสดงฮอลลีวูดที่ทำงานและมีชื่อเสียงตั้งแต่เด็ก โด่งดังจากซีรีส์ช่องดิสนีย์ แต่ถูกส่งเข้าสถานบำบัดเพราะนี่เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่เขาถูกจับกุมตัวข้อหาอาละวาดและดูหมิ่นเจ้าพนักงาน อ่อ… ส่วนข้อหาที่เขาถูกจับก่อนหน้าจนบันดาลโทสะใส่ตำรวจก็คือ เมามากจนขับรถชน
ในสถานบำบัดนี้ โอติสถูกวินิจฉัยว่าเป็น PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) สภาวะเจ็บ (ปวด) ป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง วิธีการบำบัดของโอติสต้องใช้ ‘การเขียน’ เป็นเครื่องมือ ในช่วงเริ่มแรกในสถานบำบัด โอติสปฏิเสธการรักษาและบอกว่า…
“พ่อไม่ได้ทิ้งร่องรอยความเจ็บปวดไว้ ที่เขาเป็นแบบนี้ไม่ใช่เพราะพ่อ”
แต่ก็สมุดเล่มนี้เองที่กลายเป็นที่มาของบทภาพยนตร์ทั้งเรื่อง เขียนโดย ไชอา ลาบัฟ (Shia LaBeouf) นักแสดงชาวอเมริกันที่โด่งดังตั้งแต่วัยเด็ก เป็นนักแสดงนำใน Even Stevens นี่เป็นเรื่องจริงของเขา และคนที่แสดงบทเป็นพ่อของโอติส ก็คือ ลาบัฟ เอง – เขาเล่นเป็นพ่อของตัวเอง
“วันที่แม่ถูกข่มขืน เขาอยู่ที่นั่นด้วย” อัลมา ฮาเรล (Alma Har’el) ผู้กำกับภาพยนตร์เชิงสารคดีชาวอิสราเอล-อเมริกัน ให้สัมภาษณ์เอาไว้
มันจะเป็นอย่างไรนะ วันที่ลาบัฟจรดมือเขียนเรื่องราววัยเด็ก นั่นหมายถึงเขาต้องกลับไปเปิดกล่องความทรงจำแล้วปลุกมันขึ้นมาใหม่ทั้งในฐานะผู้ถูกกระทำและในฐานะผู้ตรวจสอบผู้คนที่อยู่ล้อมรอบเหตุการณ์นั้นทั้งหมดอีกที นักบำบัดทำเกินไปรึเปล่า ทำไมต้องให้เขากลับไปยังวันและวัยที่เจ็บปวดที่สุดและเริ่มเปิดเทปม้วนนั้นใหม่อีกครั้งด้วย?
ฟากหนึ่ง ‘โอติส’ คือเด็กอายุ 12 ปีที่ต้องรับมือกับพ่อที่พูดคำหยาบไม่หยุด ไม่ใช่แค่กับเขาแต่พร้อมจะตะโกนจนสุดเสียงกับทุกคนรอบข้าง เล่นมุกตลกที่ไม่ขำแต่คล้ายเป็นอาวุธป้องกันตัวเองมากกว่า ไม่เคยอยู่เคียงข้างโอติส อารมณ์สวิงขึ้นลงเสมอ เดี๋ยวให้กำลังใจเดี๋ยวต่อว่า เดี๋ยวดีเดี๋ยวโมโหร้าย พ่อพร้อมจะล้อเลียน เยาะเย้ย ถากถางเขาทุกเรื่องเพื่อยืนยันว่าเขายังมีตัวตนในโลกของโอติสอยู่ หรือบางครั้งก็เพียงเพื่อจะได้ยินว่าเขายังสำคัญสำหรับลูก
แต่ทั้งหมดนั้น หนังไม่ได้เล่าภาพของลาบัฟผู้พ่อในฐานะผู้ร้าย ไม่เลย เพราะทุกไดอะล็อกที่ลาบัฟผู้พ่อพูด เราเห็นความเปราะบาง ไม่มั่นคง พยายามแล้วที่จะไม่ทำลายทุกอย่างให้ล้มครืนเพื่อจะเป็นพ่อที่ดี – ทั้งในสายตาคนอื่นและตัวเอง
“But I am in pain” คือคำพูดของลาบัฟผู้พ่อในสถานบำบัดผู้ติดสุรา และแทบจะเป็นครั้งเดียวที่เขาพูดอย่างเปิดเปลือยถึงความล้มเหลวในฐานะพ่อ แต่เขาพยายามแล้ว แต่เราก็รู้ว่านี่เป็นคำพูดที่ผ่านปลายปากกาของโอติส หรือของลาบัฟในชีวิตจริง
เขารู้ว่าลาบัฟผู้พ่อเป็นคนเส็งเคร็ง เป็นบาดแผลในชีวิต แต่ก็เป็นเขาอีกเช่นกันที่รู้ว่าพ่อพยายามแล้ว พ่อก็มีบาดแผลเหมือนกัน มันมีบางไดอะล็อกที่ลาบัฟผู้พ่อบอกเล่าว่าตัวเขาเองก็รับมรดกความเจ็บปวดผ่านพ่อของตัวเองอีกทอด และเขาก็ส่งต่อมันให้กับโอติส หรือลาบัฟตัวจริงอย่างช่วยไม่ได้
มันยากไหมนะ ที่ต้องทำงานกับ ไชอา ลาบัฟ ในฐานะผู้เขียนบท เจ้าของเรื่อง นั่งดูชีวิตของเขาวัยเด็กผ่าน ‘โอติส’ และดูเขาเล่นเป็นพ่อตัวเอง? ผู้สัมภาษณ์นาม เจมส์ มอทแทรม (James Mottram) ถามผู้กำกับ และบันทึกลงในบทความในเว็บไซต์ inews.co.uk/
“มันมากเกินกว่าจะบรรยายนะ เหมือนเรากำลังมองงูไล่กินหางตัวเองเพื่อจะผลิตไข่ทองคำออกมา หลายครั้งมากที่ฉันนั่งอยู่หลังจอมอนิเตอร์แล้วร้องไห้ หลายครั้งมากที่ฉันต้องต่อสู้กับเขาเพื่อดึงให้พวกเราออกจากภาวะกัดกินแบบนี้” ฮาเรลตอบ
มอทแทรมผู้สัมภาษณ์คนเดิมเขียนในบทสัมภาษณ์ของเขาว่าก่อนหน้านี้เขาก็เคยสัมภาษณ์ลาบัฟตอนที่เขาแสดงหนังเรื่อง Wall Street: Money Never Sleeps ครั้งนั้นลาบัฟบอกเขาว่า
“พ่อเป็นผู้ชายที่ไม่เดินจูงมือเขา เพียงเพราะกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าเป็นผู้ชายที่ตุ๋ยเด็ก นั่นแหละ คือชีวิตวัยเด็กของผม”
“ปมของลาบัฟมันลึกและกัดกินมาก” ฮาเรลกล่าว
อย่างที่บอก อย่างที่รู้สึก ไม่ว่าจะเป็น ลาบัฟ ผู้เขียนบท/เจ้าของเรื่องจริง หรือ โอติส เด็กชายวัย 12 ที่ถูกเขียนขึ้นจากความทรงจำผ่านบทที่ถูกรีไรท์ ไม่ได้เล่าให้พ่อตัวเองเป็นผู้ร้าย ไม่ได้บอกว่าโอติสดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อไปจากพ่อเส็งเคร็งนี้ กลับกัน โอติสทำทุกอย่างเพื่อให้พ่อยังอยู่ ใช้อำนาจเข้าข่มในฐานะนายจ้างก็ทำมาแล้ว แม้ว่านั่นจะเป็นการจุดไฟเผากำแพงด่านสุดท้ายของคนเป็นพ่อจนเรื่องราวบานปลายกลายเป็นปมฝังใจสุดลึก แต่นั่นก็เพราะโอติสต้องการต่อสู้ต่อรองเพื่อให้ยังมีกันและกันอยู่
“ผมรอให้พ่อ เป็น ‘พ่อ’ มาโดยตลอด” บทพูดของโอติสฉากหนึ่ง เขานั่งพูดกับตัวเอง
การเป็นพ่อที่ดีคืออะไรนะ? ตอบไม่ได้จริงๆ หรอก เพราะต่อให้ดีแค่ไหนก็ต้องมีสักจังหวะที่เราเผลอทำร้ายกันจนกลายเป็นปมได้อยู่ดี มนุษย์เราเปราะบางจะตายเนอะ แต่ไม่ว่าพ่อที่ดีคืออะไร และต่อให้ตลอดทั้งเรื่อง Honey Boy จะทำเราปั่นป่วนและเห็นใจสองพ่อลูกตรงหน้าแค่ไหน หนังจะปลอบใจเราด้วยภาพพ่อลูกนั่งสูบกัญชาริมทางหลวงและหวังว่าต่อไปนี้เราจะใช้ชีวิตในแบบของเราให้ดี
ภาพมันฟังดูบ้าชะมัด แต่มันอุ่นใจจริงๆ นะ หรืออันที่จริงอาจเป็นลาบัฟเองก็ได้ที่รู้สึกว่า ความสงบ ไว้ใจได้เพราะพ่อนั่งโอบกอดอยู่ข้างหลัง คือความหมายที่เขาเคยกระซิบกับตัวเองแล้ว …ผมรอให้พ่อ เป็น ‘พ่อ’ มาโดยตลอด
ใครๆ ก็อยากเป็นพ่อที่ดี ทำไมจะไม่? แต่พ่อก็เป็นคนหนึ่งที่ยังเจ็บปวดเหมือนกัน