- ยุคนี้เป็นยุคของข่าวสารอัปเดตรายวินาทีที่เต็มไปด้วย ‘ข่าวลือ’ ไร้หลักฐานและสร้างความเข้าใจผิดได้ง่าย แต่น่าแปลกใจที่มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ดูมีเหตุมีผลนั้นก็ยังชอบและเชื่อข่าวลือนั้นอยู่ดี
- ในอดีตมนุษย์เราจะใช้การพูดคุยเล่าต่อๆ กันแลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่าคนไหนดีหรือไม่ดี การได้รับข่าวลือมาก่อนให้ระวัง จึงช่วยเพิ่มความอยู่รอดของมนุษย์เราได้
- เราต้องคอยหมั่นตั้งสติและรู้ตัวอยู่เสมอว่าข่าวใดมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ยิ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต้องตระหนักอยู่เสมอว่านี่ข่าวจริงหรือข่าวลือ เพราะเรามักจะเชื่อสิ่งที่ไม่มีมูลได้โดยไม่รู้ตัว
ยุคนี้เป็นยุคของข่าวสารข้อมูล เพราะสมาร์ทโฟนทำให้คนเราติดต่อ พูดคุย และรับข่าวสารต่างๆ ได้แทบตลอดเวลา ข่าวสารอัปเดตรายวินาที และแหล่งข่าวยังมีมากมายมหาศาล แต่เคยสังเกตไหมครับว่าข่าวสารที่เรารับมาในแต่ละวันหรือ ‘เรื่องของชาวบ้าน’ มักจะเป็นข่าวที่ไม่มีหลักฐาน หรือเป็นข่าวที่เล่าต่อๆ กันมา ‘เขาว่ากันว่า’ เสียส่วนใหญ่ ยิ่งเป็นข่าวของดารา ข่าวของคนดัง ผู้มีอิทธิพลทางสังคมแล้ว คนเรามีวิธีกระจายข้อมูลที่รวดเร็ว เป็นวงกว้าง แต่ไม่ค่อยแม่นยำที่เรียกกันว่า ‘ข่าวลือ’ หรือกิจกรรมที่เรียกว่า ‘การซุบซิบ’
ข่าวลือนั้นหมายถึงข่าวที่ผู้เล่าแสดงออกชัดเจนว่าไม่มีหลักฐาน และผู้ที่ฟังก็รับรู้ถึงประเด็นนั้นด้วย คือทั้งสองฝ่ายต่างรู้ตัวว่าสิ่งที่ลือนั้นอาจไม่ใช่ความจริงก็ได้ ฟังดูแล้วมักจะเป็นวิธีที่ไม่น่าจะมีประสิทธิภาพเท่าไหร่ น่าจะเกิดความผิดพลาด และสร้างความเข้าใจผิดได้ง่าย แต่ในความเป็นจริงทุกคนคงเห็นด้วยว่าข่าวลือมีอิทธิพลต่อสังคมมหาศาล และคนเราก็สนใจข่าวลืออย่างมาก บางครั้งจนถึงขั้นกับฝังใจว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานอะไรเลย ทำไมมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ดูมีเหตุมีผลถึงชอบและเชื่อข่าวลือ และหลายคนยังเป็นคนชอบลือหรือซุบซิบเสียเองนั้น วันนี้เราจะมีดูคำอธิบายทางจิตวิทยากันครับ
มนุษย์เป็นสัตว์ประเภทเดียว (เท่าที่เรารู้) ที่มี ‘ภาษา’ คือเราไม่ใช่แค่ส่งเสียงสื่อสารกันได้หลายเสียง แต่เรายังสร้างคำต่างๆ ประกอบกันเป็นประโยคได้ ทำให้มนุษย์สื่อสารข้อมูลได้ละเอียด ซับซ้อน และมีรูปแบบไม่สิ้นสุด ในทางจิตวิทยาวิวัฒนาการ หรือจิตวิทยาที่อธิบายสิ่งที่มนุษย์ทำจากหลักของความอยู่รอด ได้อธิบายถึงที่มาของภาษาว่าเกิดจากการที่บรรพบุรุษของมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มี ‘ฝูง’ ใหญ่กว่าสัตว์อื่นๆ มาก โดยเฉพาะสัตว์ที่เป็นญาติใกล้ชิดของเราอย่างลิง คือกลุ่มของมนุษย์ขยายจากหลักหลายสิบ การอยู่เป็นกลุ่มในสมัยโบราณนั้นก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือและพึ่งพากันและกัน ช่วยกันหาอาหาร แบ่งอาหารกัน ช่วยกันปกป้องฝูงจากศัตรู ช่วยกันดูแลเด็กๆ แต่พอกลุ่มใหญ่ขึ้น สิ่งที่เกิดตามมาคือมีคนที่เอาเปรียบหรือโกง ไม่ค่อยช่วยหาแต่จะขอแบ่งกิน พอเกิดเหตุอันตรายก็หนีไม่มาช่วย หากเป็นกลุ่มเล็กๆ นั้น คนที่ทำแบบนี้จะถูกไล่ออกไปทันทีเพราะคนในกลุ่มก็จะรู้ตัวทันทีที่ฝ่ายนั้นโกง แต่พอกลุ่มใหญ่คนในกลุ่มที่ยังไม่เคยถูกโกงก็จะไม่รู้ ก็ทำให้คนโกงไปโกงคนอื่นๆ ในกลุ่มต่อแทนได้
ภาษาเลยเข้ามามีบทบาทตรงนี้ คือแทนที่จะรอให้ถูกเอาเปรียบหรือโกงก่อนค่อยรู้ว่าใครโกง มนุษย์เราจะใช้การพูดคุยเล่าต่อๆ กันแลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่าคนไหนดีหรือไม่ดี คนไหนที่ชื่อเสียงแย่ มีแต่คนลือกันว่าขี้โกง สุดท้ายจะไม่มีใครในฝูงอยากอยู่ด้วยหรือช่วยเหลือ การถูกโกงในสมัยก่อนนั้นคือเรื่องใหญ่มากครับ เพราะอาจจะทำให้คนที่ถูกโกงตายได้ คนไหนที่หาอาหารไม่ได้แล้วขอแบ่งจากเราไป แต่พอถึงวันที่เราหาไม่ได้กลับไม่ยอมแบ่งให้ คนไหนที่ไว้ใจไม่ได้พอเจอศัตรูแล้วก็หนีไม่อยู่ช่วยกัน สิ่งเหล่านี้คือความเป็นความตายในโลกยุคโบราณ การได้รับข่าวลือมาก่อนให้ระวังจึงช่วยเพิ่มความอยู่รอดของมนุษย์เราได้ นักจิตวิทยาวิวัฒนาการถึงขั้นที่บอกว่ามนุษย์เรามีภาษาก็เพื่อใช้ในการลือและซุบซิบแบบนี้ก็ว่าได้ครับ
เนื่องจากการเล่าต่อๆ กันมานั้น มันไม่มีทางมีหลักฐานอยู่แล้วในโลกยุคโบราณที่ไม่มีภาพถ่าย หรือเสียงอัด ข้อมูลเดียวที่เรียกได้ว่ามีหลักฐานคือเห็นกับตา ซึ่งก็อย่างที่ว่าคือมันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเห็นว่าใครในกลุ่มทำอะไรได้ตลอดเวลา ดังนั้นมนุษย์เราจึงวิวัฒนาการมาให้ชินและยอมรับรับฟังข้อมูลที่ไม่มีหลักฐานนี้ และพร้อมจะเชื่อได้ง่ายๆ
หากเราสังเกตถึงข่าวซุบซิบดารา คนดัง หรือแม้แต่ข่าวซุบซิบนินทาคนรอบตัว ข้อมูลหลักๆ จากข่าวลือเหล่านี้มักจะเป็น ‘ข่าวฉาว’ หรือบอกว่าใครทำอะไรไม่ดีเอาไว้ เรื่องที่คนทำอะไรดีๆ นั้นมักจะไม่ค่อยนิยมเป็นข่าวลือซุบซิบเท่าไรนัก สาเหตุก็เข้าใจได้ครับ เพราะมนุษย์นั้นวิวัฒนาการมาให้ไวกับ ‘สิ่งไม่ดี’ มากกว่า ‘สิ่งดี’ ตามธรรมชาตินั้นสิ่งไม่ดีคือ ‘อันตราย’ และอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ในขณะที่สิ่งที่ดีคือ ‘รางวัล’ ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่ตาย ในทางวิวัฒนาการนั้นการเอาชีวิตรอดเพื่อสืบเผ่าพันธุ์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด สิ่งที่ป้องกันเราจากความตายเลยมีอิทธิพลกับเรามากกว่าการได้รางวัล
และเนื่องจากเราเป็นสัตว์สังคม เราไม่ได้ห่วงแค่ตัวเราเอง แต่เราห่วงคนใกล้ตัวเราด้วย และสิ่งหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนรอบตัวเราก็คือการกระจายข่าวสาร ดังนั้นข่าวฉาวที่มันเป็นเหมือนการเตือนให้ระวังไว้จึงเป็นกิจกรรมที่ฝังมากับยีนเราเลยก็ได้ครับ
ส่วนการซุบซิบดาราหรือคนดังนั้น อาจจะดูแล้วไม่เห็นภาพว่ามีประโยชน์ตรงไหน เพราะเราก็ไม่ได้เจอคนเหล่านั้นในชีวิตอยู่แล้ว การรู้ข่าวคนพวกนี้ไปก็ไม่น่าจะส่งผลกับชีวิต แต่ดารากับคนดังถ้าเทียบกับในสมัยโบราณก็คือ ผู้มีอิทธิพลหรือคนที่มีสถานะสูงในฝูง บุคคลเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของฝูงกว่าคนทั่วๆ ไป เพราะมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการแบ่งส่วนอาหาร และเป็นที่หมายปองที่ใครๆ ก็อยากเป็นคู่ด้วย เราจึงให้ความสำคัญกับข่าวพวกนี้เป็นพิเศษ แต่พอสังคมมนุษย์เปลี่ยนไป ผู้มีอิทธิพลมันเลยขยายรูปแบบไปเป็นดารา นักร้อง ที่อาจจะไม่เกี่ยวกับชีวิตเราก็ได้ แต่มันยังเป็นพฤติกรรมที่ฝังอยู่ในยีน เราเลยรู้สึกว่าข่าวพวกนี้น่าสนใจ
ข่าวลือซุบซิบประเภทหนึ่งที่คนชอบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘ชู้สาว’ การที่ใครแอบนอกใจใครนั้น อาจดูไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายในปัจจุบัน แต่ในอดีตนั้นทุกคนในฝูงเดียวกันเป็นไปได้ที่อาจจะกลายเป็นคู่รักที่จะมีลูกด้วยกัน และการมีลูกเป็นอีกประเด็นหลักของวิวัฒนาการในการสืบทอดยีนหรือพันธุกรรมของตัวเอง ผู้หญิงต้องรู้ว่าผู้ชายคนไหนในฝูงเจ้าชู้และเลี่ยงๆ เข้าไว้ เพราะผู้ชายเจ้าชู้มักจะไปมีลูกกับผู้หญิงหลายคน และอาจจะทิ้งเราไปหลังจากมีลูกกับเราแล้ว ไม่คอยมาอยู่ช่วยเลี้ยงลูก ซึ่งในสมัยโบราณการที่ผู้หญิงเลี้ยงลูกคนเดียวเป็นเรื่องลำบากมาก เพราะการหาอาหารก็ไม่ง่าย และไหนจะการปกป้องจากนักล่าที่มักเล็งตัวอ่อนที่ปกป้องตัวเองไม่ได้ อาจจะทำให้ไม่รอดทั้งแม่และลูก ส่วนผู้ชายก็ต้องเลี่ยงผู้หญิงเจ้าชู้เช่นกัน เพราะผู้หญิงเจ้าชู้อาจจะแอบไปมีอะไรกับผู้ชายคนอื่น และไปท้องลูกของคนอื่นแทนก็ได้ กลายเป็นเลี้ยงลูกที่ไม่มียีนของตัวเองเลย ดังนั้นเรื่องชู้สาวจึงเป็นข้อมูลที่ถือว่าคอขาดบาดตายมากทีเดียวในแง่มุมของวิวัฒนาการ
สังคมของมนุษย์นั้นซับซ้อนขึ้น การลือเองก็ซับซ้อนขึ้นตามไปด้วย เราเริ่มขยายความฉาวจากการขี้โกง ไปเป็นเรื่องศีลธรรมที่ซับซ้อนกว่าอื่นๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาภายหลัง
เช่น เรื่องของศาสนา จารีต ประเพณี ใครทำอะไรที่ผิดไปจากสิ่งที่สังคมยึดถือก็จะตกเป็นข่าวลือได้ง่าย เช่น ในบางสังคมรับไม่ได้ที่ผู้หญิงจะท้องก่อนแต่งงาน เรื่องนี้ก็จะกลายเป็น ‘ขี้ปาก’ ได้ไว เราขยายไปจนถึงเรื่องของค่านิยม และทัศนคติ ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ข่าวลือหนึ่งที่คนจะสนใจมากคือ ใครมีขั้วการเมืองตรงกันข้าม เช่น บางประเทศหากใครแสดงว่าตนเป็นคอมมิวนิสต์ก็จะถูกลือได้ง่ายๆ
อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยาพบว่าข่าวลืออาจจะไม่ได้พูดถึงเรื่องลบๆ เสมอไป มนุษย์มีความคิดที่ซับซ้อนขึ้น การสื่อสารเองก็เลยหลากหลายขึ้น สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้เป็นความจริงแต่เราอยากให้เป็นแบบนั้น หรือ ‘ความคาดหวัง’ ก็ขยายเป็นข่าวลือได้ด้วย เช่น อยากให้หนังสร้างภาคต่อ อยากให้หวยออกเลขอะไร อยากให้ใครคบกับใคร อยากให้หุ้นขึ้น พอพูดกันเยอะ ๆ เข้ามันก็กลายเป็นข่าวลือได้เหมือนกัน
นอกจากการที่มนุษย์นั้นวิวัฒนาการมาให้ชินกับข่าวไม่มีมูลที่เป็นเรื่องปกติในสมัยโบราณตามที่เราคุยกันไปแล้ว สมองของมนุษย์เองก็มีกลไกที่ทำให้เชื่อข่าวลือได้ง่ายอีกด้วย โดยสมองของมนุษย์นั้นวิวัฒนาการมาให้หาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ มาให้ครบถ้วนและรอบด้านที่สุด เพราะเราเป็นสัตว์ที่ชอบทำนายและคาดการณ์สิ่งต่างๆ ล่วงหน้าว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร จะได้เลือกทางที่ดีที่สุด
แต่ในความเป็นจริง เราไม่รู้ไปเสียทุกเรื่อง แถมเราก็อาจจะหาข้อมูลที่ต้องการไม่ได้ครบ พอมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องแต่เป็นเพียงข่าวลือที่ไม่มีหลักฐาน สมองก็เลยเลือกที่จะรับเอาไว้ก่อนให้ข้อมูลครบๆ แม้ฟังดูแล้วจะไม่ใช่วิธีที่ดี แต่วิวัฒนาการพิสูจน์แล้วว่าการรู้ข่าวเยอะๆ ไว้นั้นดีกว่าไม่รู้อะไรเลย ถึงแม้จะเป็นเพียงข่าวลือก็ตาม หรือหมายความว่าข่าวลือมันช่วยให้คนอยู่รอดได้เหมือนกัน มันเลยยังอยู่ในยีนเราจนถึงทุกวันนี้
กลไกที่อาจจะไม่สมเหตุสมผลเท่าไรนักของสมอง ทางวิชาการเราเรียกกันว่า ‘อคติ (bias) ของความคิด’ ซึ่งเป็นเหมือนทางลัดหรือวิธีใช้แก้ขัดของสมอง ที่ทำให้สมองตัดสินใจอะไรได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น หากสถานการณ์กำกวม หรือข้อมูลไม่พอ แต่ก็อาจจะผิดพลาดได้บ้าง
สมองมีอคติอื่นๆ อีกที่ทำให้ข่าวลือนั้นมีผลกับชีวิตเรามากกว่าที่คิด เช่น มีปรากฏการณ์ที่ชื่อว่า ‘sleeper effect’ คือสมองเรานั้นจำข้อมูลเก่งแต่มักจะลืมว่าแหล่งข้อมูลมาจากไหน เช่น เราคุยกับเพื่อนๆ ที่ทำงานตอนเที่ยง แล้วได้ข่าวลือว่า “อีกไม่นานหุ้นของบริษัทจะขึ้น” พอเวลาผ่านไป แล้วมีคนถามเราว่าหุ้นของบริษัทที่เราทำงานจะเป็นอย่างไร เราก็จะคุ้นๆ แค่ข้อมูลว่า “หุ้นจะขึ้น” แต่เราจำไม่ได้แล้วว่าแหล่งข่าวคือกลุ่มเพื่อนซึ่งมันเป็นเพียงข่าวลือ ไม่ใช่ข้อมูลจากผู้บริหารหรือนักวิเคราะห์ พอลืมว่าเป็นข่าวลือ ก็เลยให้ความสำคัญกับข้อมูลนั้นเกินจริง อีกปรากฏการณ์ชื่อว่า ‘availability heuristic’ หรืออะไรที่นึกถึงได้ง่าย สมองเราจะคิดว่าสิ่งนั้นสำคัญหรือเป็นจริง ซึ่งมันลงล็อกกับข่าวลือที่คนพูดกันหนาหูพอดี ซึ่งถึงคนจะพูดกันเยอะ แต่อาจจะไม่ใช่ความจริงเลยก็เป็นไปได้ แต่หลายๆ ครั้งเราจะลืมตัวและใช้อคติตัดสินว่า การที่ได้ยินมาบ่อยๆ คือความจริง
สรุปแล้วมนุษย์เรานั้นชอบฟังข่าวลือและชอบเล่าข่าวลือ เพราะมันเป็นเครื่องมือที่ฝังอยู่ในยีนที่ทำให้เราอยู่รอดและสืบทอดเผ่าพันธุ์ได้ดีกว่าในอดีต
ถึงสังคมจะเปลี่ยนไป ข่าวลือเริ่มไม่เป็นประโยชน์ และไม่เกี่ยวกับตัวเราจริงๆ ก็มีเยอะขึ้นทุกวันเพราะสื่อใหม่ๆ ที่เน้นปริมาณไว้ก่อน แต่เราก็ยังได้รับผลจากวิวัฒนาการให้ยังชอบเล่าชอบลือกันต่อไป
การรับมือกับข่าวลือนั้น อาจจะไม่ง่ายนักเพราะมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เราจึงต้องคอยหมั่นตั้งสติและรู้ตัวอยู่เสมอว่าข่าวใดมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน มีหลักฐานหรือไม่ ยิ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต้องตระหนักอยู่เสมอว่านี่ข่าวจริงหรือข่าวลือ เพราะเรามักจะเชื่อสิ่งที่ไม่มีมูลได้โดยไม่รู้ตัว ยุคนี้ข่าวลือซุบซิบไปได้ไวและไกลมาก เพราะมีโซเชียลมีเดียอย่าง facebook, twitter และสื่ออื่น ๆ มหาศาล ทำให้แต่ละวันเรารับข่าวลือได้ตลอดเวลา แต่การที่เทคโนโลยีก้าวหน้า การหาแหล่งข่าวนั้นก็ง่ายกว่าสมัยก่อน วิธีง่ายๆ อย่างการลองค้นดูใน google หรือเว็บไซต์ข่าวที่น่าเชื่อถือดูก็ได้ว่าข่าวลือที่ได้ยินมา มีใครกล่าวถึงบ้าง และผู้กล่าวถึงน่าเชื่อถือ และมีหลักฐานประกอบสิ่งที่พูดหรือไม่อย่างไร การตัดสินใจพลาดเพราะเชื่อข่าวลือนั้นเกิดได้ตลอดเวลา และเราคงเคยได้ยินเรื่องแบบนี้มาจนชินหู แต่เจอกับตัวเองมันไม่สนุกแน่ๆ จริงไหมครับ
รายการอ้างอิง
Hess, N. H., & Hagen, E. H. (2006). Psychological adaptations for assessing gossip veracity. Human Nature, 17(3), 337-354.
McAndrew, F. T. (2008). Can gossip be good?. Scientific American Mind, 19(5), 26-33.
McAndrew, F. T., Bell, E. K., & Garcia, C. M. (2007). Who do we tell and whom do we tell on? Gossip as a strategy for status enhancement 1. Journal of Applied Social Psychology, 37(7), 1562-1577.
Rosnow, R. L., & Fine, G. A. (1976). Rumor and gossip: The social psychology of hearsay. Elsevier.