- ไม่เห็นอกเห็นใจตัวเอง ไม่ชอบตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าตัวเอง อยากเป็นคนสมบูรณ์แบบ คือปัญหาที่วัยรุ่นกำลังเผชิญ
- ถ้าพวกเขาไม่มีสิ่งเหล่านี้ ผลลัพธ์คือ ไม่มีความเชื่อมั่น ไม่ยอมรับและนับถือตัวเองในที่สุด ซึ่งสายเกินแก้
- วิธีแก้คือ สร้างการรับรู้ตัวตนเชิงบวก ผ่านวิธีจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก 5 วิธี
เรามักได้ยินวัยรุ่นไทยส่งเสียงบ่นถึงผู้ใหญ่อยู่เสมอว่า รู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเองเพราะต้องอยู่ท่ามกลางความกดดันจากความคาดหวังของผู้ใหญ่ รวมถึงความเครียดจากการเรียนที่ส่วนหนึ่งได้รับความกดดันมาจากครูและระบบการสอบแข่งขันที่ไม่เคยอ่อนข้อให้คนที่ไม่ใช่
ฟังดูแรง แต่เป็นเรื่องจริง
ไม่ใช่แค่วัยรุ่นไทย แต่วัยรุ่นทั่วโลกต่างกำลังเผชิญหน้ากับความวิตกกังวลและภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับความอยากเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ (ตามความคาดหวังของผู้ใหญ่และสังคม) จนทำให้พวกเขา ‘ไม่ชอบตัวเอง’ ‘ไม่ภูมิใจในตัวเอง’ และ ‘ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง’
จะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชน รัก ภูมิใจและเห็นคุณค่าของตัวเอง?
แทนที่จะผลักความคาดหวังของตัวเองไปให้เด็ก นี่ต่างหากเป็นเรื่อง ‘ใหญ่’ ที่ ‘ผู้ใหญ่’ ควรกังวลและมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด
เอมมี แอล อีวา (Amy L. Eva) ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาการศึกษา (the education content specialist) จาก Greater Good Science Centre ที่มีประสบการณ์สอนในห้องเรียนมากว่า 23 ปี และมีความสนใจเป็นพิเศษด้านประสาทวิทยา (neuroscience) จิตวิทยาการเรียนรู้ (phycology of learning) และการพัฒนาวัยรุ่น (adolescent development) ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจใน นิตยสารออนไลน์ Greater Good ว่า การช่วยให้วัยรุ่นมองเห็นศักยภาพแล้วพัฒนาจุดแข็งของตัวเอง รวมทั้งปลูกฝังให้พวกเขานึกถึงและทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น (นอกเหนือจากการทำสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของตัวเอง) จะทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า สิ่งนี้จะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงการยอมรับและนับถือตัวเองในที่สุด (self-esteem)
“ไม่มีใครอยากออกไปเที่ยวเล่นกับฉัน ฉันล้มเหลวเมื่ออยู่ที่โรงเรียน เพื่อนคนอื่นดูเหมือนมีความสุขดี แล้วมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับฉัน?” อีวา เปิดบทความด้วยเสียงสะท้อนจากเด็ก
อีวาบอกว่า ความคิดเชิงลบลักษณะนี้กลายเป็นเรื่องปกติ ที่มักได้ยินเด็กพูดถึงทั้งกับที่บ้านและที่โรงเรียน เด็กและเยาวชนกำลังประสบกับภาวะที่มีความกังวลเพิ่มขึ้น ผลการศึกษาพบว่า นักศึกษาระดับวิทยาลัยในแคนาดา สหราชอาณาจักร และอเมริกา เริ่มติดกับดักความสมบูรณ์แบบด้วยการเอาตัวเองไปวัดกับมาตรฐานที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
แม้ยังไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้น อีวามีทางออกให้เด็กและเยาวชน เพื่อให้พวกเขาปรับตัวให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้
งานวิจัยปี 2018 ชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับวัยรุ่นตอนต้น กล่าวว่า การรับรู้ตัวตน หรือ การรู้จักตัวเอง (self-concept) มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาสภาพอารมณ์ที่ดี สิ่งนี้คือ การรับรู้ถึงความเป็นตัวเองที่สร้างขึ้นจากความเชื่อที่มีต่อตนเองและจากการตอบสนองของผู้อื่น ผลการศึกษาพบว่า
บรรยากาศในห้องเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ และความสัมพันธ์ทางสังคมเชิงบวกมีผลต่อความเป็นอยู่ของวัยรุ่นซึ่งอาจไม่ส่งผลกระทบทันทีทางตรง แต่จะส่งผลทางอ้อมในระยะยาว
การรับรู้ตัวตนเชิงบวกดูเหมือนจะเป็นตัวแปรสำคัญในสมการความเป็นอยู่ที่ดี ถ้านักเรียนรู้สึกดีกับตัวเอง นักเรียนจะเข้ากับคนอื่นได้ดี แล้วจะทำให้นักเรียนได้รับประโยชน์จากการเรียนการสอนต่างๆ ในโรงเรียนอย่างเต็มที่ด้วย ส่วนจะทำอย่างไรให้นักเรียนรู้สึกดีกับตัวเองนั้น อีวา เสนอ 5 วิธีที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างการรับรู้ตัวตนในเชิงบวก ดังนี้
1. ออกกำลังกาย
เราจะเคยได้ยินมาก่อนว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์สำหรับเด็ก โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันที่เด็กมีแนวโน้มนั่งนิ่งกับที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ล่าสุด จากการตรวจสอบผลการศึกษาวิจัยในระดับนานาชาติถึง 38 ชิ้น มีการยืนยันอย่างชัดเจนว่า เพียงแค่ออกกำลังกายก็ทำให้เด็กและเยาวชนเห็นคุณค่าและสร้างการรับรู้ถึงความเป็นตัวเองในเชิงบวกได้
อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายมีส่วนสำคัญ คือ การศึกษาพบว่านักเรียนที่มีส่วนร่วมทำกิจกรรมในโรงเรียนหรือในสนามกีฬาร่วมกับผู้อื่น มีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการยอมรับและนับถือตัวเองมากกว่านักเรียนที่ออกกำลังกายอยู่กับบ้านหรือทำกิจกรรมในสถานที่ที่ต่างออกไป
การรู้จักตัวเองในวัยรุ่นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับแรงดึงดูดทางกายภาพและภาพลักษณ์ทางร่างกาย ซึ่งเป็นจุดที่สร้างปมหรือเป็นปัญหาสำหรับหลายๆ คน เพราะเหตุนี้การสนับสนุนให้มีการออกกำลังกายเป็นประจำ ทั้งระหว่างและหลังเลิกเรียน ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของกองเชียร์ การออกกำลังเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง การวิ่ง โยคะ หรือว่ายน้ำ นอกจากจะส่งผลดีต่อร่างกายแล้ว ยังส่งผลไปถึงคุณภาพจิตใจที่ดี การออกไปข้างนอกหรือทำกิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกเหมือนได้ออกกำลังกายจะทำให้รู้สึกแข็งแรงขึ้น สุขภาพดีขึ้น และมีพลังมากขึ้น
2. เห็นอกเห็นใจตัวเอง
มุ่งความสนใจไปที่การเห็นอกเห็นใจตัวเอง (self-compassion) มากกว่าการมองเห็นคุณค่าของตัวเองเพียงอย่างเดียว (self-esteem)
เราเอ่ยถึงการมองเห็นคุณค่า ยอมรับและนับถือตัวเองก่อนหน้านี้อยู่หลายครั้ง แต่จะดีกว่าหากเรามีความเห็นอกเห็นใจตัวเองก่อน
“ฉันทำอะไรสำเร็จแล้วบ้าง ฉันดีพอหรือยัง สิ่งที่ฉันทำเป็นยังไงบ้างเมื่อเทียบกับคนอื่น?”
ในหลายๆ ครั้งการพยายามหาคุณค่าของตัวเองก็อาจกลายเป็นการประเมินตัวเองในภาพรวมที่สร้างความกดดัน จนทำให้รู้สึกแย่กับตัวเองได้ เพราะคำถามทำนองนี้ ถามไม่ดีก็กลายเป็นบูมเมอแรงที่ย้อนกลับมาทำร้ายจิตใจแทนที่จะช่วยเสริมกำลังใจ
“จะเกิดอะไรขึ้นหากเราหยุดตีค่าตัวเอง?”
คริสติน เนฟ (Kristin Neff) นักวิจัยด้านจิตวิทยาการศึกษา กล่าวว่า การเห็นอกเห็นใจตัวเอง คือ การปฏิบัติต่อตัวเองด้วยความเมตตา เปิดใจ และยอมรับความเป็นตัวของตัวเอง เป็นทางเลือกที่ช่วยส่งเสริมให้คนคนหนึ่งมีความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเสริมสร้างพฤติกรรมการแสดงออกที่เชื่อมโยงกับการมองเห็นคุณค่าของตัวเอง
งานวิจัยของเนฟ พบว่า คนที่มีความเห็นอกเห็นใจตัวเองสูงจะมีความเป็นอยู่ที่ดี เพราะพวกเขายอมรับข้อบกพร่องของตนเองได้ และมีความเข้าใจว่าอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นเรื่องธรรมดา (ใครๆ ก็ทำผิดพลาดได้ ไม่ได้มีแค่เราเพียงคนเดียว) หากคิดแบบนี้ได้ เราจะรู้สึกเห็นใจและมีความเมตตาต่อตัวเอง แล้วจะส่งผลต่อพฤติกรรมที่มีต่อผู้อื่น การแสดงออกของเราต่อผู้อื่นจะเป็นไปในแนวเสริมพลังใจมากกว่าการซ้ำเติม เช่น คำพูดที่บอกว่า “ไม่เป็นไร เธอทำดีที่สุดแล้ว” เป็นต้น
3. หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบตัวเองกับสังคมรอบข้าง
เมื่อเราโฟกัสไปที่การให้คุณค่ากับตัวเองมากเกินไปอาจทำให้เราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่มักคิดเยอะ (มีความมโนสูง) เช่น มักคิดว่าคนอื่นกำลังมองรูปลักษณ์ภายนอกของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ในบทความใช้คำว่า “imaginary audience”
งานวิจัยบางชิ้น ระบุว่า พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความรู้สึกเหงา และ FOMO (fear of missing out) หรือ ความกลัวเป็นบุคคลที่ถูกลืม มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ยกตัวอย่างเช่น รู้สึกเศร้าเมื่อโพสต์ของตัวเองมียอดไลค์น้อยกว่าโพสต์ของเพื่อน หรือเกิดความรู้สึกแปลกแยก เมื่อเห็นภาพถ่ายรวมกลุ่มของเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ไม่มีตัวเองอยู่ด้วย ขณะที่ทุกคนในภาพดูเหมือนกำลังใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุข
อีวา เอ่ยถึง ‘Maverick’ แอพพลิเคชั่นใหม่สำหรับสาวๆ ที่เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้สมาชิก เชิญชวนเพื่อนๆ มาทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน ซึ่งอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า Snapchat หรือ Instagram
นอกเหนือจากสังคมออนไลน์ สิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่ในโรงเรียนก็สร้างให้เกิดการเปรียบเทียบมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการให้เกรดรายคน รายกลุ่ม หรือการให้คะแนนความประพฤติ ที่อาจไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ตามธรรมชาติที่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ
ด้วยเหตุนี้ อีวา จึงได้เสนอทางออกให้กับการเรียนการสอนในโรงเรียน ที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อลดการเปรียบเทียบตัวเองกับสังคมรอบข้างในหมู่นักเรียน ดังนี้
- การให้เกรดไม่ควรเป็นเรื่องสาธารณะ
- ให้โอกาสนักเรียนในการแก้ไขและทำงานที่ได้รับมอบหมายซ้ำได้
- หลีกเลี่ยงการแบ่งกลุ่มนักเรียนตามความเก่ง
- โฟกัสพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงเป็นรายบุคคล
- ให้ความสนใจกับความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน
4. ใช้ประโยชน์จากทักษะเฉพาะด้าน
สังเกตความสามารถและความสนใจของวัยรุ่น เพื่อบ่มเพาะจุดแข็งให้พวกเขา ยกตัวอย่างเช่น เด็กๆ อาจมองว่าตัวเองไม่เก่งหรือไม่ถนัดด้านกีฬา แต่อาจมีความโดดเด่นเมื่อได้ลงมือทำโครงงานวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่นักเรียนที่นั่งเงียบๆ หลังห้อง ไม่ชอบเข้าสังคม อาจทำให้เราประหลาดใจในความสามารถด้านภาษาศาสตร์หรือบทกวีที่เขียนขึ้นมาก็เป็นได้
ซูซาน ฮาร์เตอร์ (Susan Harter) นักวิจัยอีกท่านหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับการให้คุณค่าและการรู้จักตัวเองในวัยรุ่น กล่าวว่า การรู้จักตัวเองเป็นเรื่องเฉพาะตัว ส่วนความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองมีรากฐานเชื่อมโยงกับ 8 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ความสามารถด้านกีฬา ความสามารถด้านการศึกษา การควบคุมประพฤติ การยอมรับทางสังคม มิตรภาพ เรื่องราวของความโรแมนติกและความรัก ความพึงพอใจในการทำงาน และแรงดึงดูดทางกายภาพ
แล้วเราจะทำให้พวกเขารู้จักและเห็นคุณค่าในตัวเองได้อย่างไร?
“อะไรคือสิ่งที่หนูให้คุณค่าและให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก?” เป็นคำถามชวนคิดที่ผู้ปกครองนำไปใช้ถามลูกหลานของตัวเองได้
นอกจากการถาม อีวา แนะนำให้ผู้ปกครองทำแบบสำรวจ VIA กับเด็กและเยาวชน (www.viacharacter.org) VIA เป็นแบบสำรวจออนไลน์ ใช้เวลากรอกข้อมูลเพื่อตอบแบบสอบถามประมาณ 15 นาที ผลลัพธ์จากการประมวลผลช่วยให้เด็กและเยาวชนรู้จักคาแรคเตอร์ รวมถึงจุดแข็งของตัวเอง เช่น ความกล้าหาญ ความซื่อสัตย์ หรือ ภาวะความเป็นผู้นำ เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ปกครองอาจทดลองทำแบบสำรวจอื่นๆ ที่สามารถประเมินศักยภาพของเด็กได้ตามความเหมาะสม แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเห็นคุณค่าในตัวเอง แต่ผู้ใหญ่เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้น และเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพของเด็กและเยาวชนให้ตรงตามความสนใจและความถนัด สิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขามีความมั่นใจ มีความสามารถและมีแรงบันดาลใจมากขึ้น
5. มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น (โดยเฉพาะคนแปลกหน้า)
สุดท้ายแล้ว เมื่อวัยรุ่นมีความรู้สึกว่าตนเองได้สัมพันธ์ใกล้ชิดและมีประโยชน์ต่อผู้อื่น พวกเขาจะรู้สึกดีกับตัวเอง รายงานผลการศึกษาปี 2017 จากการสำรวจพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการมีน้ำใจและช่วยเหลือผู้อื่นของกลุ่มวัยรุ่น 618 คน (ช่วงอายุ 11-14 ปี) พบว่า วัยรุ่นกลุ่มนี้เห็นคุณค่าในตัวเอง ส่วนวัยรุ่นกลุ่มที่มีน้ำใจช่วยเหลือคนแปลกหน้ายิ่งมีแนวโน้มที่เห็นคุณค่า ด้วยการยอมรับและนับถือตัวเองมากขึ้นไปอีก
อีวา ยกตัวอย่างกรณีลูกสาวของเธอ หลังจากที่ได้เข้าไปเห็นการทำงานของลูกสาวในโครงการ ‘Change the World’ ของโรงเรียน ทิม โอเวนส์ (Tim Owens) ครูผู้สอนวิชาสังคมศาสตร์ ได้มอบหมายให้นักเรียนเกรด 8 ดำเนินโครงการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความยั่งยืน ศึกษาปัญหา หาทางแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้ ไปจนกระทั่งวางแผนและลงมือทำงาน
นักเรียนใช้เวลาทั้งวันทำงานกับชุมชน เพื่อสนับสนุนนโยบายที่ช่วยปกป้องคนที่พวกเขาไม่รู้จัก ยกตัวอย่างเช่น ผู้อพยพ และเยาวชนที่ถูกทอดทิ้ง เช่นเดียวกับการปกป้องสัตว์จากการถูกนำไปทดสอบผลิตภัณฑ์ อีวากล่าวว่า เธอไม่เคยเห็นลูกสาว และเพื่อนๆ ของลูกมีความกระตือรือร้น มีพลังงาน มีความมั่นใจ และทำงานเพื่อสังคมมาก่อน
ผู้ใหญ่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมด้วยการสนับสนุนโครงการการเรียนรู้ด้วยการบริการชุมชนของโรงเรียน รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคมที่เด็กและเยาวชนสนใจในลักษณะนี้ได้ หรือแม้แต่การทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ ทั่วโลก (NGOs)
อีวา ยกตัวอย่าง องค์กร DoSomething ที่ใช้เครือข่ายออนไลน์โปรโมทกิจกรรมเพื่อสังคมแบบออฟไลน์ใน 131 ประเทศ โดยผู้ร่วมโครงการสามารถเลือกกิจกรรมที่ตนเองสนใจ ระยะเวลาที่อยากเข้าร่วมโครงการ และประเภทของการช่วยเหลือ ยกตัวอย่างเช่น การลงทำงานในพื้นที่ งานพัฒนาพื้นที่ การประดิษฐ์ หรือการให้แบ่งปันด้านต่างๆ เป็นต้น
เมื่อเด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับผู้อื่น สิ่งนี้จะทำให้พวกเขาใช้ชีวิตด้วยการคิดถึงผู้อื่น ไม่ทำอะไรตามใจตัวเองเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้พวกเขามีทัศนคติเชิงบวก เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถ รวมทั้งมีเป้าหมายในการใช้ชีวิต
ในขณะที่วัยรุ่นจำนวนมากต้องต่อสู้ดิ้นรนกับความวิตกกังวลและความพยายามสร้างความสมบูรณ์แบบในชีวิต การกระตุ้นและส่งเสริมในลักษณะที่ว่ามาอาจช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดได้ อย่างไรก็ตาม วิธีการที่ดีที่สุด คือ การให้กำลังใจ ขณะที่พวกเขากำลังพัฒนานิสัยและจุดแข็งของตัวเองซึ่งจะเป็นอาวุธติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิต
ที่มา: