- ความกลัวความใกล้ชิดเป็นกลไกในการป้องกันตนเอง เป็นความบอบช้ำทางพัฒนาการที่มีพื้นฐานมาจากความรู้สึกฝังลึก ซึ่งในตอนเด็กเราจะรู้สึกว่ามันเป็นความผิดพลาด บกพร่อง และเจ็บปวด โดยทัศนคตินี้จะคงอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงเมื่อเราโตขึ้น
- สัญญาณที่ชัดเจนคือ การพยายามที่จะเป็นที่รักของทุกคนรอบตัว ต้องการความสมบูรณ์แบบ หลีกเลี่ยงที่จะแสดงความรู้สึกหรือความต้องการของตัวเองอย่างเปิดเผย และมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ
- ความกลัวมักถูกกระตุ้นโดยอารมณ์เชิงบวกมากกว่าอารมณ์เชิงลบ เมื่อคนที่มีความกลัวอยู่ในความสัมพันธ์ที่ดีที่อีกฝ่ายรักและห่วงใยอย่างแท้จริงจะกระตุ้นความกลัวที่ฝังลึกเกี่ยวกับความสนิทสนม ทำให้เกิดระยะห่างที่ยากต่อการรักษาความสัมพันธ์
แน่ใจไหมว่าเราชอบที่จะพึ่งพาตัวเองจริงๆ ไม่ใช่เพราะกลัวความสนิทสนม?
การสานสัมพันธ์กับคนอื่นก็เหมือนกับการลงทุนที่หลายครั้งต้องใช้ใจแลกใจ ไม่มีอะไรรับประกันว่าใจที่ให้ไปจะได้ใจกลับมาเท่ากัน ทำให้บ่อยครั้งเราก็ต้องกลับมารักษาแผลใจตัวเอง แต่ก็บ่อยครั้งอีกเหมือนกันที่เราโชคดีและได้ความสัมพันธ์ดีๆ กลับมาเป็นรางวัล
ความใกล้ชิดสนิทสนมคือความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ทำให้รู้สึกปลอดภัยและสบายใจ ยิ่งสนิทแน่นแฟ้นก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าเราพัฒนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคนอื่นได้ดี ความใกล้ชิดในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่การมีความสัมพันธ์ฉันท์คนรักอย่างเดียว แต่หมายถึงความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวเครือญาติ ในกลุ่มเพื่อน ในโรงเรียน ในที่ทำงาน
เราเชื่อมความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดความเชื่อ ความรู้สึก กิจกรรม ประสบการณ์ร่วม และการสัมผัสกัน เช่น การจับมือ การกอด เมื่อเราไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้ระหว่างการลงทุนในความสัมพันธ์ความสัมพันธ์หนึ่ง การถูกกีดกันหรือทอดทิ้งในบางช่วงชีวิตทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจได้ และอาจนำไปสู่ความกลัวการใกล้ชิดด้วย
ผลจากประสบการณ์ที่ไม่ดีทำให้คนบางกลุ่มเลือกที่จะพึ่งพาตัวเองมากจนถึงขั้นสันโดษไปเลย
Brenda Wade ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศได้อธิบายพฤติกรรมสันโดษจากความกลัวนี้ไว้ว่า คนที่อาศัยอยู่ด้วยความกลัวความใกล้ชิดมักกลัวว่าจะถูกทำร้ายทางจิตใจ พวกเขาอาจกังวลว่าใครบางคนจะตัดสินว่าพวกเขาไม่ดีพอและทิ้งไปหลังจากที่เกิดความสนิทใกล้ชิดกันแล้ว และนั่นเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมากสำหรับมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคม
ความกลัวความใกล้ชิดเป็นอย่างไร
ความสัมพันธ์สามารถเปลี่ยนจากความสนุกสนานเป็นความเครียดได้อย่างรวดเร็วเมื่อเรากลัวความใกล้ชิด ในตอนแรกเริ่ม เราอาจรู้สึกสบายใจเมื่อความสัมพันธ์ของเราไม่ใกล้พอที่จะทำให้เกิดความกังวล ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เราจะสนุกกับแง่มุมทางสังคมของเพื่อนใหม่ แต่เมื่อความผูกพันแน่นแฟ้นมากขึ้น สัญญาณของความกลัวความใกล้ชิดก็จะปรากฏ เราจะเริ่มสงสัยเมื่อได้รับคำชมหรือการแสดงความรัก ไม่มั่นใจในเจตนาของอีกฝ่ายว่าดีหรือร้ายทั้งที่เขาอาจจริงใจ และเริ่มไม่ค่อยพูดสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดความรู้สึกออกมาตรงๆ มักจะเก็บความกังวลไว้ในใจ
นอกเหนือจากนี้ ยังมีสัญญาณอื่นๆ อีกที่บอกว่าเรามีความกลัวการใกล้ชิด ที่ชัดเจนเลยคือเราจะพยายามที่จะเป็นที่รักของทุกคนรอบตัว ต้องการความสมบูรณ์แบบ หลีกเลี่ยงที่จะแสดงความรู้สึกหรือความต้องการของตัวเองอย่างเปิดเผย และมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ
อะไรทำให้เกิดความกลัวความใกล้ชิด
Jason Polk นักสังคมสงเคราะห์ผู้ฝึกสอนด้านความสัมพันธ์ กล่าวว่าความกลัวความใกล้ชิดเป็นกลไกในการป้องกันตนเอง เป็นความบอบช้ำทางพัฒนาการที่มีพื้นฐานมาจากความรู้สึกฝังลึก ซึ่งในตอนเด็กเราจะรู้สึกว่ามันเป็นความผิดพลาด บกพร่อง และเจ็บปวด โดยทัศนคตินี้จะคงอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงเมื่อเราโตขึ้น เราเชื่อว่าความรู้สึกเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้
โดยหลักแล้ว ความกลัวความใกล้ชิดมักเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่กลัวการถูกกีดกันทอดทิ้งหรือกลัวการถูกโน้มน้าวจูงใจให้ขัดต่อความเชื่อของตัวเอง และหลายครั้งมักเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสองอย่าง ตัวอย่างเช่น กรณีแรก อาจเกิดจากการที่มีพ่อแม่หรือคนใกล้ตัว คนที่เราลงทุนด้านความสัมพันธ์ด้วย มีสภาวะอารมณ์อ่อนไหวและมีความห่างเหินมาก พวกเขาอาจตำหนิเมื่อเราร้องไห้ อ่อนแอ หรือหลีกเลี่ยงที่จะไม่สนทนาด้วยเมื่อเราพยายามจะแสดงความคิดความรู้สึกที่สำคัญต่อเราซึ่งขัดกันกับพวกเขาออกมาอย่างเปิดเผย อีกกรณีคือพวกเขาเหล่านี้อาจมีสภาวะอารมณ์ที่ไม่มั่นคง เอาแต่ใจและไม่เคยให้พื้นที่ส่วนตัวแก่เรา ทำให้เราเกิดกลัวว่าการแสดงความต้องการของเราออกมาจะทำให้เราโดนโน้มน้าวและชักจูงไปทางอื่นแทน
ในช่วงเวลานี้ เราจะเริ่มเรียนรู้ที่จะถ่วงดุลความสัมพันธ์โดยเพิกเฉยต่อความต้องการของตัวเอง กำจัดอารมณ์ที่จะทำให้เกิดปัญหาในความสัมพันธ์ทิ้ง และหนีจากความรู้สึกท่วมท้นโดยการรักษาระยะห่างไว้ไม่ให้สนิทเกินไป
นักจิตวิทยาคลินิก Hüdanur Akkuzu สนับสนุนหลักการดังกล่าวว่าพฤติกรรมหรือประสบการณ์ซ้ำๆ ตลอดชีวิตที่สนับสนุนให้บางคนรู้สึกว่าไม่คู่ควรกับความรักความสัมพันธ์สามารถนำไปสู่ความกลัวความใกล้ชิดได้ในอนาคตด้วย นอกจากนี้ ความกลัวความใกล้ชิดยังอาจเกิดขึ้นได้จากบาดแผลและสภาวะสุขภาพจิต เช่น ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยงหรือโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD)
อย่างไรก็ตาม ความกลัวมักถูกกระตุ้นโดยอารมณ์เชิงบวกมากกว่าอารมณ์เชิงลบ เมื่อคนที่มีความกลัวอยู่ในความสัมพันธ์ที่ดีที่อีกฝ่ายรักและห่วงใยอย่างแท้จริงจะกระตุ้นความกลัวที่ฝังลึกเกี่ยวกับความสนิทสนม ทำให้เกิดระยะห่างที่ยากต่อการรักษาความสัมพันธ์
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว รู้สึกว่าตัวเองกำลังดำเนินชีวิตอยู่กับความกลัวความใกล้ชิดหรือสังเกตเห็นสัญญาณบางอย่าง คำแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยให้เราเปิดใจและมีความกล้าที่จะไว้ใจและพึ่งพาคนอื่นได้
วิธีเอาชนะความกลัว
โปรดจำไว้ว่าสิ่งสำคัญคือเมื่อเรารับรู้ความรู้สึกกลัวความใกล้ชิดแล้ว ต้องเข้าใจก่อนว่าความรู้สึกนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ เราไม่ได้เลือกที่จะเป็น ในฐานะมนุษย์ เราถูกสร้างขึ้นเพื่อสานสัมพันธ์กับผู้อื่นในระดับที่ลึกซึ้ง เป็นการลงทุนด้านอารมณ์และจิตใจ
- พยายามสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง เมื่อเราใช้ชีวิตด้วยความกลัว เราอาจรู้สึกราวกับว่าเราไม่สมควรได้รับความรักในความสัมพันธ์ Akkuzu แนะนำว่าการมุ่งเน้นสร้างความมั่นใจ พัฒนาความสนใจ และเพิ่มคุณค่าในตนเองสามารถช่วยก้าวข้ามความกลัวได้ เราอาจเริ่มจากเรื่องง่ายๆ เช่น การเขียนบันทึกเชิงบวกสำรวจความสุขในแต่ละวัน ออกกำลังกาย เล่นกีฬาหรือหางานอดิเรกที่เน้นเป้าหมาย Polk สนับสนุนวิธีนี้ว่าอาจช่วยให้เรารู้สึกมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับการใกล้ชิดกับคนอื่น เราจะรู้ดีว่าคนอื่นสามารถควบคุมสิ่งที่พวกเขาทำและรู้สึกได้ แต่ไม่ใช่กับสิ่งที่เราทำและรู้สึก เราสามารถทำตามความต้องการได้อย่างอิสระในความสัมพันธ์ และหากล้มเหลวก็บอกกับตัวเองว่าความสัมพันธ์นี้ไม่ได้สะท้อนถึงคุณค่าของเราแล้วก้าวต่อไป
- เรียนรู้การเยียวยาตัวเองและฝึกฝนการอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด การยอมรับว่าความสัมพันธ์ในวัยเด็กขาดหายไปเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เตือนตัวเองว่าเราไม่สามารถกลับไปแก้ไขอดีตที่แหว่งเว้า แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะรักษาจิตใจของเราได้ ทุกเศษเสี้ยวของเราทั้งดีและไม่ดี เก็บมันขึ้นมา โอบกอด และรักมันอย่างตั้งใจ Polk เชื่อว่าการพยายามเยียวยาซ่อมแซมจะทำให้เรามองความเจ็บปวดผ่านกรอบความคิดที่โตขึ้นและสามารถก้าวผ่านความกลัวการใกล้ชิดได้
- จัดลำดับความสำคัญของความสัมพันธ์ คนที่กลัวความสนิทสนมหลายคนมักให้เวลาส่วนใหญ่และทุ่มเทไปกับงานจนเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของตัวตน ซึ่งอาจไม่ดีต่อสุขภาพจิตเท่าไรนัก ลองจัดลำดับความสำคัญ ให้โอกาสความสัมพันธ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของการมีชีวิตที่มีความสุขดูบ้าง เราก็สมควรที่จะได้รับความรักและความสัมพันธ์ที่ดีเหมือนกัน
ความกลัวความใกล้ชิดเป็นเรื่องปกติ แต่ก็เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ยากที่สุดที่เราจะเอาชนะได้ ประสบการณ์ในอดีตและความล้มเหลวอาจทำให้เราใกล้ชิดกับคนอื่นได้ยาก เราต้องใช้ความกล้าหาญและความมุ่งมั่นในการเปิดใจให้คนที่เรารักรวมถึงตัวของเราเองด้วย ให้เวลาตัวเองในการแก้ไขความเจ็บปวดในอดีต
จำไว้เสมอว่าไม่เป็นไรที่จะปล่อยให้คนอื่นเข้ามา เราอาจยังคงอ่อนแอและหวาดกลัว แต่เราก็สามารถเข้มแข็งได้ในเวลาเดียวกัน หลายครั้งที่การเรียนรู้ที่จะรักผู้อื่นทำให้เราเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราไม่รู้ว่าจะเปิดใจอย่างไร
ในโลกที่กว้างใหญ่ใบนี้ การก้าวเดินลำพังอาจน่ากลัวเกินกว่าที่คนคนเดียวจะสู้ไหว แน่นอนว่าการพึ่งพาตัวเองได้เป็นเรื่องที่ดี แต่จะดีกว่าถ้าเราจะมีคนรอบตัวมาช่วยแบ่งเบาลดทอนความยากลำบากลงบ้าง ให้เวลาและโอกาสตัวเองได้ลองเปิดใจ ไว้ใจ และพึ่งพาคนอื่นดูบ้าง แล้วเราอาจพบว่ามีคนรอบตัวอีกมากที่สามารถเป็นความสบายใจ ความปลอดภัย และสีสันให้ชีวิตของเรา
อ้างอิง
Fear of Intimacy: When You Are Afraid of Getting Too Close
When you’re terrified of relationships: overcoming fear of intimacy